Skip to main content

พันธกุมภา


ถึง มีนา

 

ปลายปี 2551 นี้ ผมมีโปรแกรมไปเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตอีกครั้ง ภายหลังจากเมื่อสิ้นปี 2550 ที่ผ่านมาผมได้เดินทางไปที่วัดป่าสุคะโตแล้วและได้พบหลัก พบหนทาง หลายอย่างที่เหมาะสมกับตัวเองยิ่งนัก

 

แต่การเดินทางไปครั้งนี้ไม่เหมือนปีก่อน....มีหลายเรื่องเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง ไปตามกาลเวลา สิ่งที่เข้ามารับรู้ทำให้อารมณ์ของผมเกิดขึ้นไปต่างๆ นานา และสิ่งที่เสียใจที่สุด ทำให้ใจหม่นหมองมาหลายวัน นั่นคือการมรณภาพของ "หลวงปู่" เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน

ย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อน, ในตอนที่ผมเพิ่งรู้เรื่องการอาพาธของหลวงปู่ จาก "พี่อุ๊" พี่สาวผู้เป็นญาติธรรมที่แสนดี ได้โทรศัพท์มาบอกกับผมว่า หลวงปู่ไม่สบายและกำลังจะเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬา

 

"หลวงปู่เป็นอะไรครับ" ผมถามด้วยความตกใจ

พี่อุ๊ ตอบด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า "หลวงปู่เป็นมะเร็งตับ ไม่รู้ระยะที่ไหน แต่ท่านฉันอาหารไม่ได้แล้ว ยังไงเราไปเยี่ยมทันกันไหม เพราะท่านจะมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ ที่โรงพยาบาลจุฬา"

 

ผมตอบตกลง และในใจรู้สึกถึงความเศร้าที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น ผมทำอะไรไม่ถูก พยายามรู้สึกตัว และตั้งสติ ก่อนที่จะติดต่อไปยังโรงพยาบาลจุฬา เพื่อถามนัดหมายเกี่ยวกับการเข้ารักษาอาการของหลวงปู่ หรือ "พระอาจารย์วรเทพ ฉนฺทพหุโล"

 

เมื่อติดต่อโรงพยาบาลจุฬา ได้แล้ว และรับรู้ การเดินทางเข้ารักษาตัวของหลวงปู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมติดต่อทางหลวงปู่ไมได้ จึงเลือกติดต่อโดยตรงกับโรงพยาบาลจุฬาเลย และเมื่อทราบแล้ว ผมจึงได้ติดต่อกลับไปหาพี่อุ๊ เพื่อเดินทางไปเยี่ยมหลวงปู่

 

เมื่อไปถึง เราพบหลวงปู่กับหลวงพี่ตุ้ม หรือ "พระอาจารย์ สันติพงศ์ เขมปญฺโญ" หลวงปู่นอนพักอยู่บนเตียง ใบหน้าซีดผอมลงมากกว่าเดิม ปากซีดจาง หลวงปู่ยิ้มและทักทายเราสองคนด้วยความเอ็นดู หลวงพี่ตุ้ม ยืนอยู่ปลายเตียงนอน และร่วมทักทายเราสองคนด้วยเช่นกัน

 

ผมสอบถามอาการป่วยของหลวงปู่ ท่านเล่าให้ฟังว่าอาการป่วยด้วยมะเร็งตับนี้เกิดขึ้นนานมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน และก็ค่อยๆ เบาลง และหลังจากที่ท่านได้ไปที่สวนแสงอรุณ ท่านก็เกิดอาการกินอะไรไม่ได้ และอาหารดูจะหวานๆ ในตอนนั้นหลวงพี่ตุ้มได้พาไปตรวจและภายหลังทราบว่าเกิดจากมะเร็งที่ตับออกอาการ

 

หลวงปู่เล่าด้วยรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา แวบตาของท่านมีเมตตาต่อผมมาก ส่วนผมนั่งบนเก้าอี้ข้างๆ ท่าน พี่อุ๊ ยืนอยู่ถัดไป หลวงปู่บอกว่าท่านคิดไว้เสมอว่าวันหนึ่งจะต้องเกิดอาการนี้ขึ้น เพื่อเมื่อก่อนที่ท่านจะบวช ท่านก็เคยดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และรับประทานอาหารที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์เท่าไหร่นัก ท่านยังคิดอยู่ว่าจะเป็นอะไรก่อน จะเป็นที่ตับหรือที่ปอด

 

"หลวงปู่คงจะอยู่กับตัวนี้ เราเคยรับรู้มาแล้วว่าเป็นอย่างไร อาการที่เราเป็น จิตเราบันทึกได้ มีความจำ มันอยู่ในความจำ แต่ถ้าให้ยา อาการคงแรง ไม่รู้จะทนได้ไหม เพราะจิตเรายังไม่เคยรับรู้อารมณ์นั้น แต่ยังไงก็จะพยายามดู ต้องอยู่กับเขาให้ได้ กายป่วยแต่ใจเราไม่ป่วยด้วยอยู่แล้ว" หลวงปู่เล่าด้วยรอยยิ้มแล้ว ทำให้ผมสัมผัสถึงธรรมที่ท่านถ่ายทอด

 

ขณะที่ผมฟังและสนทนากับท่าน ผมไม่กล้าที่จะร้องไห้ให้ท่านรู้ว่าผมเสียใจเพียงใด ในใจมีแต่ความกลัว กลัวหลวงปู่จะมรณภาพ และท่านเองก็ดูเหมือนจะเลือกที่จะอยู่กับมะเร็งและไม่ขอฉีดคีโม ผมน้ำตาเอ่อนองเล็กน้อย พี่อุ๊ ปลอบผมโดยลูบที่ไหล่เบาๆ ....

 

ในช่วงที่สนทนากับหลวงปู่ หลวงพี่ตุ้มท่านก็ได้ร่วมพูดคุยกับเราด้วย ท่านแนะนำเรื่องการปฏิบัติธรรม สอนให้เรา "ดูจิต" เหมือนเรา "แอบมอง" คนที่เราชอบ คือมองเขาแบบไม่ให้เขารู้ตัว ไม่งั้นเขาจะอาย เหมือนกับการดูจิตที่ค่อยๆ ดู ไม่จงใจไปเพ่ง แต่ให้รู้ไปทีละนิดๆ สะสม สภาวะไปเรื่อยๆ และจิตจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่จิตของเรา

 

ผมและพี่อุ๊รับฟังด้วยความตั้งใจ และเราคุยกันว่า คืนนี้จะให้ผมเฝ้าดูแลหลวงปู่ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องสุขภาพของผมที่ต้องรับการตรวจไตและข้อหัวเข่า ทำให้ไม่สามารถอยู่ดูแลท่านได้ จนสุดท้ายต้องขอลาท่าน และกลับไปทำภารกิจของตัวเอง....ก่อนกลับ ผมเอื้อมมือไปจับกับมือของหลวงปู่ เรากุมมือกันไว้ แม้ไม่มีคำพูดใดๆ ออกมา แต่ผมก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ได้รับจากท่าน

 

ภายหลังจากกลับออกมาจากโรงพยาบาลจุฬา ผมก็ไม่ได้มีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมท่านอีกเลย เพราะงานที่ต้องจัดการมากมาย และภาระที่ทำไม่เสร็จ แต่ผมก็ได้บอกกับพี่อุ๊ไว้ว่า ปลายปีนี้ ผมจะไปหาหลวงปู่ เพราะตอนที่คุยกับหลวงปู่ ผมได้บอกท่านแล้วว่าจะไปหาตอนปลายปี

 

ผมจำได้ว่าเมื่อครั้งที่เดินทางไปวัดป่าสุคะโตตอนแรกนั้น หลวงปู่ได้รับผมไว้สอนปฏิบัติ น้ำเสียงฉะฉานของท่าน ความอ่อนโยนและเมตตาที่ได้รับจากท่านทำให้ผมรู้สึกดีใจที่ได้พบครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบท่านหนึ่ง และ "ดงไผ่" คือพื้นที่ฝึกตนอันเปี่ยมด้วยความสงบ สัปปายะ อย่างยิ่ง

 

แม้ว่าตอนแรกผมจะคิดว่าหลวงปู่คือ หลวงพ่อไพศาล วิสาโล แต่เมื่อผมได้รู้ว่าท่านไม่ใช่ ผมก็ไม่ได้เสียใจ แต่กลับดีใจมากกว่าที่ได้พบกับท่าน และท่านยังเมตตาพาผมและพี่ๆ บางท่านไปพบหลวงพ่อไพศาล ที่ "ภูหลง" หรือวัดป่ามหาวัน ซึ่งห่างจากวัดป่าสุคะโตประมาณ 13 กิโลเมตร

 

ต่อมาเมื่อกลับจากวัดป่าสุคะโตในครานั้น ผมก็ได้ติดต่อ โทรศัพท์นมัสการหลวงปู่ และส่งการบ้าน รายงานผลของการปฏิบัติให้ท่านรับทราบและสอนอยู่เสมอๆ ผมจำได้ว่าท่านคอยเตือนผมเรื่องการทำงาน เรื่องการแบ่งเวลา การไม่ส่งใจไปไว้กับคนอื่นมากเกินไป และยังเตือนให้รู้สึกกายและมีสติอยู่เสมอๆ

 

ผมดีใจที่ได้พบและเป็นศิษย์คนหนึ่งของท่าน และผมยังได้บอกกับท่านว่าจะไปนมัสการท่านอีกครั้งตอนปลายปี 2551 ประมาณ 5 วัน แต่ท่านก็เสนอว่าน่าจะมาสัก 10 วัน จะได้อะไรมากกว่ามาสั้นๆ และผมก็บอกกับท่านว่าคงต้องดูก่อน แต่คิดว่าจะไปที่วัดอย่างแน่นอน

 

วันคืนผ่านล่วงมา ภายหลังจากที่ผมได้ไปเยี่ยมหลวงปู่ที่โรงพยาบาลจุฬาได้ไม่กี่อาทิตย์ พี่อุ๊ได้โทรมาบอกกับผมว่า "หลวงปู่เสียแล้ว" ท่านได้มรณภาพไปแล้ว ซึ่งทางวัดป่าสุคะโตจะทำพิธีเพียงไม่กี่วัน เพราะหลวงปู่ท่านได้บริจาคร่างกายให้กับทางโรงพยาบาล

 

ผมร้องไห้ ใจสั่น ทำอะไรไม่ถูก รู้สึกผิดที่ไม่ได้อยู่ดูแลหลวงปู่มากกว่านี้ ตอนที่ท่านมารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬา เสียใจที่ตัวเองจัดการอะไรไม่ได้ และต้องสูญเสียครูบาอาจารย์ที่ผมเคารพและนับถือไปอย่างไม่หวนกลับมาได้...

 

ช่วงขณะที่ผมเสียใจนั้น จิตภายในก็บอกกับผมว่า เราเสียใจไปจะได้อะไร สู้เราตั้งใจพากเพียรปฏิบัติและตั้งมั่นในหนทางธรรม ตามที่หลวงปู่สอนไว้จะดีกว่า และอย่าลืมว่าทุกชีวิตไม่เที่ยง ความตายคือความจริงที่ทุกคนต้องพบเจอไม่ช้าก็เร็ว ฉะนั้นจึงควรใช้เวลาที่มีอยู่ของชีวิตให้ดีที่สุด และควรมุ่งมั่นกับการภาวนา พาใจให้พบกับธรรมอันสูงสุด

 

ผมตระหนักรู้ถึงความจริงในแง่ที่ว่าความตายคือการแปรเปลี่ยนสภาพจากแบบหนึ่งไปสู่สภาวะอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแม้หลวงปู่จะละสังขารทิ้งกายเนื้อไว้คืนแก่ผืนโลกและธาตุขันธ์ต่างๆ แต่ผมก็รู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าท่านอยู่ข้างๆ และเฝ้าดูผมอยู่เสมอ

 

หลวงปู่ทำให้ผมคิดถึงวัดป่าสุคะโต คิดถึงวันเก่าๆ ที่ผมได้เรียนรู้หลายอย่างจากที่นั้น เรียนรู้ธรรมที่นำพากายและใจนี้ให้เกิดสติปัญญา .....

 

ปลายปีนี้ ผมตัดสินใจไปที่วัดป่าสุคะโต ตามคำมั่นที่ให้ไว้กับหลวงปู่ และผมได้ชวนเพื่อนผองให้ร่วมเดินทางไปด้วยกันในครั้งนี้ด้วย หลายคนยินดีไปร่วมด้วย หลายคนอนุโมทนาในการเดินทาง พี่ๆ หลายคนนัดแนะการเดินทางและเตรียมที่จะไปที่นั่น

 

ณ เวลาปัจจุบันนี้ ความคิดของผมอยู่ในสภาวะที่ว่า ถ้าไปวัดป่าสุคะโต ในวันที่ไม่มีหลวงปู่...จะเป็นอย่างไร....

 

 

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
พันธกุมภา ถึง มีนา เมื่อได้ยิน...... “ทำไมคุณโง่แบบนี้” “งานชุ่ยๆ แบบนี้เหรอที่ทำเต็มที่แล้ว” “มีหัวไว้ใส่หมวกเปล่าๆ” สารพัดมากมาย คำด่าทอที่เรามักไม่ชอบ – ในที่นี้ก็มีผมอยู่ด้วยแหละครับ เวลาที่มีใครมาต่อว่า มานินทาในทางร้ายๆ แล้วมักจะต้องเดือดร้อนเป็นฝืนเป็นไฟอยู่เสมอ อืม...คิดในใจ นี่ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้เป็นคนแบบนั้น เราไม่ใช่คนอย่างที่เขาว่านะ..... ขณะที่คำชม อาทิ “คุณทำงานเก่งจัง” “ทำได้แค่นี้ สุดยอดเลยทีเดียว ยอดเยี่ยมมากๆ๐ “คิดได้แค่นี้ ก็เจ๋งเลย” คำพูดชื่นชม เยินยอในทางบวกเหล่านี้ หลายคนไม่ปฏิเสธ หรือไม่ได้มีท่าทีต่อต้านเหมือนคำพูดร้ายๆ หรือลบๆ แต่กลับมองว่าใช่ๆ…
พันธกุมภา
มีนา ถึง พันธกุมภา มีเรื่องอยากเล่าให้พันธกุมภาฟัง... ช่วงที่ห่างหายกันไป พี่ยังติดตามข่าวคราวการทำงาน การเดินทาง และระลึกถึงเธออยู่เสมอ เพียงแค่รู้ว่าเธอสบายดี พี่ก็สบายใจ เมื่อไม่นานมานี้ พี่เดินทางไปเชียงใหม่ ไปกับกลุ่มคนที่คุ้นเคยบ้าง ไม่คุ้นเคยกันบ้าง หลายคนเคยรู้จักกันมาก่อน หลายคนไม่ได้รู้จัก แม้ว่าจะรู้จักก็ตาม ก็ไม่ได้ลึกซึ้งถึงเรื่องด้านในต่อกัน ไม่เหมือนเพื่อนบางคน แม้ว่าจะไม่ได้พบเจอกันมากนัก แต่เราก็ยังสนิทใจมากกว่า รู้สึกสัมผัสได้ถึงความอาทรที่มีต่อกัน...อย่างน้อง
พันธกุมภา
มีนา ถึง พันธกุมภา จดหมายฉบับก่อน พี่เล่าเรื่องความรักของแม่ที่มีต่อลูกคนหนึ่ง และยังติดใจในสาส์นของท่านดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณ ชาวธิเบตอยู่ ... เมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ่ง พี่อยากจะให้น้องและเพื่อน คนรู้จักหลายๆ คนได้อ่านมันอย่างพิจารณาหลายๆ ครั้ง หลายข้อของสาส์นฉบับนี้ เป็นความรักที่มีต่อตนเอง รักตนเอง แบบที่ไม่ได้ตามใจตนเอง ไม่ตามใจในสิ่งที่บำรุงบำเรอให้ตนเองให้ได้ทุกสิ่งที่ตนต้องการ โดยเฉพาะข้อแรกเป็นสิ่งที่ท่านลามะผู้ยิ่งใหญ่ได้ตักเตือนคนสมัยใหม่ได้อย่างเฉียบคม (ระลึกเสมอว่า การจะได้พบความรักและความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ก็ต้องประสบกับความเสี่ยงอันมหาศาลดุจกัน)…
พันธกุมภา
มีนาถึง พันธกุมภาพี่ได้รับจดหมายที่ส่งต่อๆ กันมา (Forward mail) ฉบับด้านล่างนี้ เป็นครั้งที่เท่าไรไม่รู้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (เพราะนี่เข้าเดือนที่ 6ของปีแล้ว...)“สาส์นจากท่าน Dalai Lama ที่ได้กล่าวไว้สำหรับปี 2008 นี้ แล้ว…คุณจะได้พบกับสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ที่คุณจะยินดีมากข้อแนะนำในการดำเนินชีวิต
พันธกุมภา
มีนาถึง พันธกุมภาพี่ชอบจดหมายรักฉบับนี้มาก เมื่ออ่านแล้วรู้สึกได้ถึงความรักที่สดใส และความเป็นคน “ธรรมดา” ของน้องที่ผ่านมา พี่ออกจะห่วงใยอยู่ลึกๆ ว่าน้องจะรีบโตมากไปหรือเปล่า รีบที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต รีบมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากไปไหม...จนอาจจะทำให้พลาดความสดใส ความรัก หรือสิ่งต่างๆ ที่เราน่าจะได้เรียนรู้ และเดินผ่านมันมาด้วยความสง่างาม หรือเจ็บปวดไปบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่ต้องเรียนรู้พี่ก็ผ่านช่วงเวลา “หวาน” “ขมๆ” ของชีวิตมาบ้าง เช่นเดียวกับคนทั่วๆ ไป ที่มักจะมีความรักที่สมหวัง ผิดหวัง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป พี่มักเลือกที่จะจดจำสิ่งที่ดี …
พันธกุมภา
พันธกุมภาถึง มีนาอย่าเพิ่งตกใจนะครับพี่ที่ผมจะขอระบายเรื่องรัก ให้พี่รับรู้.....
พันธกุมภา
มีนาถึง พันธกุมภาอายุ...วัย หากเราเพียงแบ่งแค่ผู้ใหญ่กับเด็กเหมือนกับสังคมทั่วๆ ไปเขามองกัน เราอาจจะมองเห็นคนแค่ 3 กลุ่มในช่วงชีวิต คือเด็ก วัยทำงาน และผู้ใหญ่ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงของชีวิต ทั้งการเข้าสู่การเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตทั่วไป เราต้องเคารพคนที่อายุมากกว่าเราหรืออาจจะต้องนับถือคนที่อายุน้อยกว่าเราแต่มีคุณสมบัติมากกว่าคุณสมบัติทั้งการศึกษา การใช้ภาษาอังกฤษ ครอบครัวมีฐานะดี พ่อแม่เลี้ยงดูมาอย่างดี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ พี่ขอเรียกว่าเป็น “คุณสมบัติทางโลก” ซึ่งอาจจะไม่ใช่ “ความดี” ที่เมื่อก่อนได้รับการให้คุณค่าอย่างสูง ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยใด ความดีไม่มีอายุ หากแบ่งแยกกับความไม่ดี/…
พันธกุมภา
พันธกุมภาถึง มีนาช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรุ่นพี่คนหนึ่งมาหาผมที่บ้าน เราสองคนไม่ได้เจอกันมานานหลายปี พอมาเจอกันอีกหนจึงเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นไม่น้อยที่ได้พบเจอกัน รุ่นพี่คนนี้ชื่อ “นนท์” พี่นนท์ เป็นรุ่นพี่ที่เคยสอนผมเต้นเชียลีดเดอร์ เมื่อตอนเรียนมัธยมต้น อายุของพี่นนท์ห่างจากผม 2 ปี พี่นนท์เป็นคนต่างหมู่บ้าน แต่เราอยู่ในตำบลเดียวกัน ผมค่อนข้างแปลกใจที่พี่นนท์เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการพูด ท่าที การแสดงออก จากเมื่อก่อนที่ค่อนข้างกรี๊ดกร๊าด พูดไม่หยุด และชอบนินทาคนอื่นอยู่บ่อยๆ มาคราวนี้พี่นนท์ไม่เหมือนเดิม คือ นิ่งขึ้น ท่าทีสุขุมเยือกเย็น ไม่ทำท่ารุกรี้รุกรนตอนคุยกันเหมือนเมื่อก่อน…
พันธกุมภา
มีนาถึง...ลูกปัดไข่มุกและพันธกุมภาความระลึกถึงวัยเยาว์เมื่อครั้งยังเป็นเด็กสาวสดใสอย่างลูกปัดไข่มุก อดรู้สึกไม่ได้ว่าน้องช่างมี “ทาง” ที่ดีเสียจริง น้องได้เติบโตจากครอบครัวที่หล่อหลอมสิ่งที่ดีงามให้ ทั้งการทำบุญ ทาน และเสริมให้สร้างบารมี ต้องขอบคุณแม่และพ่อที่ปูทางที่ดีให้กับลูก หากมีธรรมแล้ว ไม่ต้องกลัวเลยว่าเด็กสาวและคนรุ่นใหม่จะไม่เติบโตอย่างมีรากเหง้า รู้คิด เพราะกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ไม่ใช่แค่ได้ “ความรู้” หากยังได้ “สติ” และ “ปัญญา” ซึ่งความรู้สมัยใหม่ไม่มีความลึกซึ้งพอเมื่อเราปฏิบัติหรือยังไม่ปฏิบัติก็ตาม เรามักยึดติดกับตัวตน (Ego) และเราไม่ได้พยายามลดมัน…
พันธกุมภา
พันธกุมภาถึง มีนาผมได้อ่านเรื่องราวของ “ลูกปัดไข่มุก” แล้ว ขออนุโมทนากับน้องอย่างยิ่ง และยังรู้สึกยินดีกับสิ่งที่น้องได้กระทำลงไป และได้พบการหนทางที่จะนำพาความสุข สงบมาให้กับตนเอง เป็นการเรียนรู้จากตัวเอง มากกว่าการเรียนรู้จากคนอื่นๆ ที่เล่าให้ฟังสู่กันมาการได้ทำสมาธินั้นได้ช่วยให้น้องได้พบกับจิตที่สงบ และเป็นจิตที่นิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้จิตใจเริ่มปรับความละเอียดเพิ่มขึ้น สู่การเจริญสติในระดับต่างๆ ต่อไป....จะว่าไปแล้ว เดี๋ยวนี้ วัยรุ่นรุ่นเดียวกับเราๆ ก็หันมาสนใจเรื่องทางธรรมเยอะเหมือนกันนะ, ช่วงหนึ่งก็มีคนมาถามผมว่า วัยรุ่นสนใจธรรมะเพิ่มขึ้น เป็นกระแสที่ดีแบบนี้ คิดยังไง?…
พันธกุมภา
ลูกปัดไข่มุก ถึง พี่พันธกุมภา และ พี่มีนา....   “เส้นทางที่เรากำลังพยายามจะมุ่งไปอยู่นี้ มันคือหนทางแห่งความสุขและความสำเร็จที่แท้จริงของเราจริงๆหรอ” ....นั่นคือความคิดที่ฉันคิดมาตลอด ฉันโชคดีที่ได้เกิดมาท่ามกลางครอบครัวที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในวันว่างๆ เรามักจะได้ไปวัดแทนการไปเที่ยวเสมอๆ ซึ่งด้วยความเป็นเด็ก ฉันจึงไม่คิดว่ามันดีนัก.....จะว่าไปฉันทำบุญมาตั้งแต่จำความได้ เพราะถูกสั่งสอนมาให้ทำแบบนั้น ว่าถ้าทำบุญเยอะๆ จะได้ไปสวรรค์ ถ้าทำบาปก็จะตกนรก รวมถึงนิทานต่างๆที่แม่ได้เล่าให้ฟังมาตลอด ฉันจึงพูดได้เต็มปากว่า ฉันเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี…
พันธกุมภา
มีนาถึง พันธกุมภาจุดหมายปลายทาง การเดินทางธรรมของเธอครั้งนี้อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ที่...ซึ่งฉันไม่เคยไป หากหลายคนอยากไป ก็คงไม่ได้คิดถึงเรื่องการเดินทาง หากมักนึกถึงปลายทาง และในที่สุด...แม้รู้ว่าเธออาจจะเดินทางถึงวัดป่าสุคะโตแน่นอน เธอก็น่าจะเรียนรู้ระหว่างทางดังที่เธอเล่าให้เราฟังฉันเคยพูดถึงเรื่องความกลัวระหว่างการเดินทาง “ในความกลัว” มาก่อนแล้ว ด้านหนึ่งฉันนึกเสมอว่า คนธรรมดาทั่วไปอย่างฉัน ร่ำเรียนมาด้วยวิธีคิดแบบมีเป้าหมาย โดยไม่สนใจระหว่างทาง หรือกระบวนการเรียนรู้ก่อนที่จะถึงเป้าหมาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว “ระหว่างทาง” เป็นสิ่งสำคัญมาก…