พันธกุมภา
ถึง มีนา
อ่านเรื่องความกลัวของมีนาแล้ว ฉันเริ่มมองมาที่ตัวเองแล้วว่า ฉันกลัวอะไร? มาถึงตอนนี้ก็คิดได้ว่าคงไม่มีความกลัวอะไรที่น่ากลัวไปกว่าการที่เรา “ไม่รู้” ว่าตัวเอง “กลัว” อะไร
ความกลัวเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น – ใครสักคนเคยบอกเช่นนั้น
ฉันมักเลือกสร้างความกลัวเพื่อให้ตัวเองกล้าหาญ และเอาชนะความกลัวให้ได้ เพราะความกลัวคือสิ่งที่ท้าทายจิตใจและมานะในตัวของฉัน แต่ยังไงก็ตามมีน้อยคนนักที่จะสามารถพัฒนาความกลัวที่มีอยู่ในตนให้กลายเป็นความเข้มแข็งในการดำรงชีวิต
บางที เราอาจอยู่อย่างโดดเดี่ยวจนไม่มีใครเป็นเพื่อนคอยแนะนำ ให้คำปรึกษา หรือหารือกันเรื่อง “ด้านใน” ของตนก็เป็นได้ ฉันเองหากไม่มีเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ก็คงจะไม่ค่อยปฏิบัติเท่าไหร่ คงจะเตร็ดเตร่ไปมา ทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่พอเรามีเพื่อนคอยกระตุ้น ดูแล พูดคุย มันก็ทำให้เรามีกำลังใจในการกระทำ
เพื่อนจึงช่วยให้เราพยุงความกลัว เท่าทันและเอาชนะความกลัวได้
เรื่องเพื่อนทางธรรมนี่ก็สำคัญมาก
ตอนที่ฉันไปปฏิบัติที่วัดป่าสุคะโตนั้น แม้จะมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมาก แต่เรื่องการปฏิบัตินั้นฉันก็คิดว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องหรือคนที่สนใจจะได้เรียนรู้ด้วยตนเอง นั้นคือเป็น ภาวนามยปัญญา คือ การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงด้วยตัวของตน แม้ว่าปัญญาในมรรคองค์ที่ ๘ จะได้กล่าวถึง สุตตมยปัญญา และ จิตตมยปัญญา คือ ปัญญาจากการอ่านและฟัง และปัญหาจากการพิจารณาไตร่ตรอง แต่ปัญญาที่สำคัญสุดๆ ก็คือ “ปัญญาจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง”
หลายคนที่ปฏิบัติ มักพบหนทางที่ตนคิดว่าเหมาะสมกับจริตของตัวเอง แน่นอนว่าภูมิปัญญาของแต่ละคนต่างกัน ฉันหรือเธอก็มีภูมิปัญญาต่างกัน มีความคิด มีจริตที่ต่างกัน ฉะนั้นการที่จะบอกว่าเราจะให้คนนี้ปฏิบัติแบบที่เราปฏิบัติก็คงจะไม่ได้หมายความว่ามันจะเหมาะกับเขามากน้อยเพียงใด
ฉันจำได้ว่ามีอาจารย์หลายท่านที่บอกว่าให้เราลองที่จะศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมกับจริตของเรา เช่น หากใครที่เป็นคนคิดมาก มีอารมณ์แปรปรวนไปมา โกรธง่าย กลัวง่าย อาจจะเน้นที่การ “ดูจิต” เป็นหลัก ส่วนใครที่ติดกับร่างกาย หน้าตา รูปร่าง ความสวยงาม เป็นต้น ก็อาจเน้นที่การ “ดูกาย”– ซึ่งการดูกายดูจิต ถือเป็นหนทางกว้างๆ ของสติปัฏฐานหรือการเจริญสติวิปัสสนานั่นเอง
การเรียนรู้ของแต่ละคนจำเป็นต้องเกิดจากประสบการณ์ของแต่ละคน ที่จะได้พบ ได้เผชิญ ได้รู้ตามจริงที่ปรากฏ ทั้งกาย เวทนา จิต และธรรม ทั้งนี้หลังจากที่แต่ละคนปฏิบัติกับครูบาอาจารย์แล้ว เมื่อต้องกลับมาปฏิบัติเองก็เป็นความท้าทายอย่างยิ่งของคนนั้นๆ
แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าการปฏิบัติจะปฏิบัติที่ไหนก็ได้ เราจะนั่งสมาธิที่ไหนก็ได้นั้น ฉันคิดว่าไม่ผิด แต่บางครั้งหากเราปฏิบัติ โดยที่ไม่รู้แนว ทำไปโดยไม่มีหลักที่ชัดเจนหรือทำด้วยความลังเลสงสัย เช่น บางคนนั่งสมาธิแล้วอาจเจอนิมิตต่างๆ หากใครที่รู้ก็จะเท่าทันนิมิต แต่บางคนก็อาจหลงนิมิต ไปยึดติด คิดว่าตนได้หลุดพ้นก็ว่าได้ หรือบางคนอาจจะทำไปแบบช้างตาบอด คือสักแต่ทำแต่ไม่รู้ว่าทำแล้วจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นตามมาบ้าง ดังนั้น การที่เราไปแสวงหาความรู้จากผู้รู้ จากอาจารย์ต่างๆ นั้น ก็น่าจะเป็นส่วนช่วยตัวเราได้ดีไม่น้อย ที่จะทำให้เราเห็นหนทาง เห็นวิธีการและแนวปฏิบัติได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้เมื่อเราไปปฏิบัติในวัด หรือสถานปฏิบัติธรรม แน่นอนว่า สภาพแวดล้อมในพื้นที่ต่างๆ นั้น ย่อมเหมาะสมแก่การปฏิบัติ คือเงียบ และสงบ หรือ “สัปปายะ” ต่อเรานั้นเอง หรือแม้แต่บางครั้งก็มีกระแสกิเลส ที่ไม่มากและเอื้อต่อการปฏิบัติของเรากว่าที่บ้านหรือที่หอพักหรือที่ทำงาน
เพื่อนที่ปฏิบัติเหมือนกัน ปฏิบัติแนวเดียวกันนี้เองจะช่วยให้เรามีคนที่คอยเกื้อกูลกันและแนะนำ ตลอดจนสอบถามแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับอารมณ์ของเราได้เป็นอย่างดี – ฉันเชื่อว่าการที่ปฏิบัติแล้วมีเพื่อนๆ พี่น้องทางธรรมมาช่วยแนะนำและชี้แนะ จะทำให้เรารู้ความก้าวหน้าของตน และมีเพื่อนที่คอยให้กำลังใจ เป็นแรงกระตุ้นให้เราปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง
ต่อเนื่องในระดับชีวิตประจำวันของเรา คือให้การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน คือการทำชีวิตให้เป็นปกติธรรมดา “ธรรมะ” คือ ธรรมดาของชีวิต คือ ธรรมชาติ และคือความเป็นสากล ความทุกข์ไม่ได้แบ่งแยก ศาสนา ความเชื่อ อายุ เพศ อาชีพ ความทุกข์คือสิ่งปรากฏอยู่ทั่วไป คือสากล ฉะนั้น ธรรมะที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ นั้นก็คือหลักสากล ที่ไม่ได้หมายถึงคนที่เป็นพุทธศาสนิกชนเท่านั้น คนที่นับถือศาสนาอื่นๆ ก็สามารถเข้าถึงหนทางแห่งการพ้นทุกข์นี้ได้โดยไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นต้องนับถือศาสนาพุทธ หากแต่คนๆ ได้พบกับหนทางสายกลางแห่งการดำเนินชีวิตให้เท่าทันทุกข์ และพบสุขอย่างแท้จริง
การปฏิบัติในชีวิตประจำวันของฉัน คือ เช้า ค่ำ นั่งวิปัสสนา ครั้งละ ๓๐ – ๖๐ นาที แล้ว เวลาที่เหลือ ที่ต้องทำงานคือกำหนดตามดูลมหายใจ เป็นหลัก และ เวลากลางวัน ก็เดินจงกรม เวลาทำงาน นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ พิมพ์งาน อ่านหนังสือ ขับรถ กระพริบตา เคี้ยวอาหาร กลืนน้ำลาย ก็ตามรู้กายที่รู้สึก คือเมื่อรู้สึกที่ไหนของกายก็รู้ สักแต่เพียงรู้ รู้แล้วไม่ปรุงแต่ง วางใจเป็นกลาง มีอุเบกขา และมีสติเท่าทันความคิด ความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ ไม่คิดว่าชอบหรือไม่ชอบ เพราะหากชอบเราก็จะมีความโลภเกิดขึ้น ถ้าไม่ชอบเราก็จะมีความโกรธ ยิ่งเป็นการเพาะเชื้อกิเลสขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงดู สักแต่รู้ อย่างเดียว
ทั้งนี้ คนที่ปฏิบัติวิปัสสนา ไม่ได้เป็นคนที่พิเศษไปกว่าคนอื่น หรือต้องมีอะไรที่วิเศษแตกต่างจากคนอื่นๆ หรือทำตัวสุดโต่ง ปรามาสคนอื่นว่า คุณไม่ปฏิบัติธรรมคุณดีไม่เท่าฉันหรอก หรือ ยึดติดกับตัวตนของตนเพิ่มขึ้น คนที่คิดเช่นนี้ไม่ใช่นักวิปัสสนา หรือนักปฏิบัติธรรมที่ดี เพราะยิ่งสร้างอุปาทานเกิดขึ้น สร้างความยึดมั่นถือมั่นเพิ่มขึ้น ทางตรงกันข้าม นักวิปัสสนาทั้งหลายควรจะมีเมตตา กรุณา ต่อผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงธรรมะ เพราะเขาอาจจะยังไม่ถึงเวลาธรรมะจัดสรรก็ได้ ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยได้คือการแผ่เมตตา แบ่งปันความสุข สงบ ที่ได้รับจากการปฏิบัติให้แก่คนที่ยังเข้าไม่ถึงธรรม เพื่อให้เขาได้พบกับธรรมอันประเสริฐเช่นตัวเรา
ธรรมะของนักพัฒนา
นักพัฒนาหลายท่านที่ฉันรู้จัก ตอนนี้หลายคนก็เริ่มจะเข้าหาธรรมะ เข้าหาการปฏิบัติทางสำนักปฏิบัติ หรือวัดสายต่างๆ ฉันมักได้ยินเรื่องราวของพี่ๆ ที่รู้จักและนำมาเล่าสู่กันฟัง บางคนก็จับกลุ่มเจอกันและคุยกันในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ หรือบางคนก็นัดกันไปปฏิบัติธรรมร่วมกัน
นักพัฒนาที่ได้ออกเดินทางด้านภายในเริ่มมีมากขึ้น การแสวงหาทางจิตวิญญาณมีให้เราได้เห็น เช่น หลายเวทีที่มีการจัด มักจะมีเรื่องเหล่านี้ผนวกรวมเข้าไปอยู่ด้วย
แม้ว่าจะมีหลายคนมองว่านักพัฒนาที่ปฏิบัติธรรมนั้นเป็นพวกที่เห็นแก่ตัว และแสวงหาความสุขของตน จนบางครั้งลืมความทุกข์ของชาวบ้านหรือคนอื่นๆ นั้น ฉันกลับมองว่านี่เป็นการมองของคนที่ยังไม่เข้าใจ และอาจจะยังไม่ชัดเจนกับสิ่งที่ผู้ปฏิบัติคนนั้นเป็นอยู่ เพราะ บางคนที่ปฏิบัติก็ปฏิบัติจนไม่คิดถึงคนรอบข้าง พูดยกตนข่มท่าน หรือ ทำตัวแปลกแยกแตกต่างอย่างสุดโต่ง
เรื่องต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นกับฉัน ที่เปลี่ยนไปหลังจากปฏิบัติวิปัสสนาครั้งแรกเมื่อสองปีก่อน เพื่อนพี่ๆ ที่รู้จักกันหลายคน มองว่าเป็นจริตศรัทธา คือมองว่าเป็นค่านิยมชั่วครู่ หรือเป็นความฮิตชั่วคราว บางคนถึงกับบอกว่าฉันเปลี่ยนไป พูดไม่รู้เรื่อง และทำตัวไม่ค่อยคุ้นเคย
ฉันบอกเสมอว่าไม่ผิดที่ฉันจะเปลี่ยน – และไม่ผิดที่คนๆ หนึ่งจะเปลี่ยนเมื่อได้พบกับธรรมะ อันที่จริงคนเราเปลี่ยนแปลงทุกๆ วัน ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ไม่ว่าจะดีใจหรือเสียใจ ไม่ว่าจะเหนื่อยหรือมีพลัง ไม่ว่าจะกลัวหรือเข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพวกเราทุกๆ วัน และทุกๆ ลมหายใจ....
เธอว่าอย่างนั้นไหม มีนา......