Skip to main content

พระยาพหลฯมิได้อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ ๑ ในย่ำรุ่ง ๒๔ มิ.ย.๒๔๗๕ (เทียบเคียงบันทึกความทรงจำและบทความคุณปรามินทร์)

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

(เผยแพร่ครั้งแรกทางเฟซบุค ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๕)

ผมมีข้อสังเกตสั้นๆ เกี่ยวกับบทความ "พระยาพหลฯ อ่านประกาศอะไรในนาทีปฏิวัติ ๒๔๗๕?" ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับล่าสุด (มิ.ย.๒๕๕๕) หน้า ๗๒ ผู้เขียน (ปรามินทร์ เครือทอง)  โดยคุณ ปรามินทร์ฯ อ้างอิงข้อมูลจาก "นายหนหวย" ในหนังสือ ทหารเรือปฏิวัติ (๒๕๒๑) ในประเด็น "พระยาพหลฯ อ่านประกาศเวอร์ชั่นสั้นๆ" นั้นในเบื้องต้น เป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับ คำบรรยายของ "ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์" ในหนังสือ ตัวตายแต่ชื่อยัง (๒๕๐๘) แต่ว่า เนื้อหาใจความของข้อความสั้นๆ ที่พระยาพหลฯ อ่านนั้น ไม่ตรงกันครับ

เรามาดูฉบับของ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ กันก่อนนะครับ

"บัดนี้บุคคลคณะหนึ่งมีนามว่าคณะราษฎร ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลไว้ได้หมดแล้ว ทั้งได้จับเจ้านายและบุคคลสำคัญเอามาไว้เป็นตัวประกันด้วย เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชให้เป็นประชาธิปไตย จึงขอประกาศห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดขัดขวางหรือต่อสู้เป็นอันขาด ถ้าใครฝ่าฝืนจะถูกลงโทษประหารชีวิต ด้วยการยิงเป้าในทันที" (จงกล ไกรฤกษ์, หน้า ๘๖)

ส่วน "ประกาศคณะราษฎร" ที่นายปรีดี พนมยงค์ ตีพิมพ์จากโรงพิมพ์นิติสาส์น จำนวน ๓,๐๐๐ แผ่นนั้น ก็ได้ให้ ร้อยตรีเที่ยง นั่งเรือแจว นำไปมอบให้ พระยาทรงสุรเดช (จงกล ไกรฤกษ์, หน้า ๗๒) เมื่อรับใบปลิวมาแล้ว "พระยาทรงสุรเดช" จึงนำ 'ประกาศคณะราษฎร' (ที่เรารู้จักกัน) อ่านให้ "ที่ประชุมนายทหาร" ฟัง (จงกล ไกรฤกษ์, หน้า ๘๗)

แต่ในฉบับของ "นายหนหวย" (๒๕๒๑) ที่ คุณปรามินทร์ฯ นำมาอ้างอิง ศิลปวัฒนธรรม ฉบับล่าสุด หน้า ๗๒ นั้น  มีเนื้อความดังนี้

"บัดนี้คณะราษฎร, ทหาร, พลเรือน ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองไว้แล้วโดยเด็ดขาด เพื่อลบล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอันเก่าแก่ลง และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นแบบอารยะชาติทั้งหลาย

ขอให้นาย ทหารที่มิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติอยู่ในความสงบอย่าทำการขัดขวาง และออกจากลานพระรูปฯ ไปไม่ได้จนกว่าจะได้สั่งให้กลับไป หากจะพอใจให้ความร่วมมือสนับสนุนแก่คณะราษฎร ซึ่งยึดอำนาจการปกครองก็ยินดียิ่ง ทั้งนี้เพื่อความเจริญของชาติบ้านเมือง" (นายหนหวย, หน้า ๑๓๔)

และในบทความเดียวกันนี้เอง คุณปรามินทร์ฯ ได้นำข้อความต้นฉบับลายมือของพระยาพหลฯ มายกไว้ด้วย ซึ่งจะพบว่า สอดคล้องกับฉบับ "ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์" ทีเดียว ข้อความของต้นฉบับลายมือพระยาพหลฯ เล่าความทรงจำ นั้นมีความว่า

"ข้าพเจ้าได้ยืนกล่าวสุนทรพจน์เพื่อปลุกใจเพื่อนที่เคยร่วมตายทั้งหลาย และได้สั่งการอย่างเด็ดขาดในการที่จะดำเนินการต่อไป และได้กำหนดโทษไว้อย่างหนัก ถ้าผู้ใดขัดขืนคำสั่งและละเมิดวินัยในการกระทำหน้าที่ ซึ่งเกี่ยวแก่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น" (ศิลปวัฒนธรรม,ปีที่ ๓๓ ฉบับ ๘, มิ.ย.๒๕๕๕, หน้า ๗๒)

อันบ่งชี้ "ความรับผิด" สอดคล้องกับฉบับ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ (ประหารชีวิตในทันที) คือ "กำหนดโทษไว้อย่างหนัก" แต่ฉบับของนายหนหวย นั้น "ไม่ระบุความรับผิด" ไว้โดยชัดแจ้ง จึงไม่น่าจะเรียกได้ว่า "คำบรรยายของนายหนหวย สอดคล้องต้องกัน กับต้นฉบับลายมือเขียนของพระยาพหลฯ" ดังที่คุณ ปรามินทร์ เครือทอง ได้ด่วนกล่าวอ้าง (ศิลปวัฒนธรรม, มิ.ย.๒๕๕๕, หน้า ๗๒).

หมายเหตุ : ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ เป็นอดีตกบฏ ๒๔๗๖ และถูกส่งไปอยู่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล (รุ่นแรกๆ) เป็นระยะเวลา ๑๑ ปี.

__________________

หนังสืออ้างอิง

จงกล ไกรฤกษ์. ตัวตายแต่ชื่อยัง. พิมพ์ครั้งที่ ๑. พระนคร : เกื้อกูลการพิมพ์, ๒๕๐๘.

นายหนหวย. ทหารเรือปฏิวัติ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพ : วัชรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๑.

........................................

ภาคผนวกเพิ่มเติม

คำเล่าเหตุการณ์ของลูกศิษย์และเป็น นายทหารคนสนิท (คือ นายสำรวจ กาญจนสิทธิ์) ของพระยาทรงสุรเดช ซึ่งเขาอยู่ร่วมเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เล่าบรรยากาศและยืนยันตรงกันกับบันทึก ๒ ฉบับข้างต้นว่า พระยาพหลฯ มิได้อ่าน "ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ ๑" ในตอนยึดอำนาจการปกครอง ดังนี้

"เช้ามืด ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

นำทหารใหม่ ๑ กองร้อย ฝึกริมคลองติดถนนพระราม ๕ ตามคำสั่ง ร.อ.หลวงวรณสฤช ออกมาที่สนามควบคุมใกล้ชิดด้วย
รุ่งสางผ่านไปได้ไม่กี่นาทีเห็นขบวนรถยนต์บรรทุกทหารจากเชิงสะพานแดง บ่ายโฉมหน้าไปทางนางเลิ้ง เป็นขบวนยาวเหยียด บางคันบรรทุกทหารเต็มคัน ตอนท้ายขบวนประมาณ ๑๐ คันยังว่าง พัเอกพระยาทรงสุรเดช อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหารลงจากรถเดินข้ามสะพานกวักมือเรียกร้อยเอกหลวงวรณสฤชเร่งให้ทหารขึ้นรถ...รถเคลื่อนที่เป็นขบวนยาว นายทหารแยกย้ายกันนั่งคุมทหารคันละหนึ่งคน หัวขบวนเลี้ยวขวาข้ามสะพานหน้าวัดเบญจะ มุ่งไปสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า ที่นั่นมีทหารเรือขยายแถวถือปืนแบบนอนยิงจุกตามช่องทางโดยรอบ นักเรียนนายร้อยทั้งหมดมาถึงก่อนเพราะระยะทางใกล้ รวมทหารทั้งหมดประมาณ ๒ พันคน ไม่ทราบว่าเป็นทหารเหล่าใดมาจากไหนเข้าแถวยาวและซ้อนกัน นายทหารยืนเป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่รู้จักและจำได้ เพราะเป็นครูอาจารย์ และผู้บังคับบัญชาในโรงเรียนนายร้อยทหารพก พันตรีหลวงรณสิทธิ์พิชัย ร่างเตี้ย ตัวเล็ก แต่กระฉับกระเฉงว่องไว รับคำสั่งจากพันเอกพระยาทรงสุรเดช ให้ทหารทั้งหมดตีวงเข้ามาล้อมรอบาย ทหารผู้ใหญ่หลายคน นักเรียนนายร้อยอยู่แถวหน้าสุด พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ตะโกนเสียงดังให้ทหารเงียบสงบ แล้วแนะนำให้รู้จัก พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งยืนอยู่ใกล้กัน

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ถือกระดาษแผ่นหนึ่งในมือ กล่าวแก่ทหารทั้งปวง เสียงดัง แต่สั่นด้วยความตื่นเต้น ข้าพเจ้ายืนแถวหน้าสังเกตเห็นถนัด สำนึกรู้ทันทีว่าอะไรจะเกิดขึ้น

"นายทหาร นักเรียนนายร้อยและทหารทั้งปวง" ท่านพูดเสียงเครือสั่นเนื่องด้วยความประหม่า และต่อไปพอสรุปใจความได้ว่า "การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่เหนือกฎหมาย ไม่มีความเหมาะสมแก่ประเทศไทยในปัจจุบัน ราษฎรมิได้รับความร่มเย็น ปราศจากอิสรภาพเสรีภาพ คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนจึงเห็นควรขอพระราชทานธรรมนูญ การปกครองประเทศ จากองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อจัดการปกครองโดยราษฎร เพื่อราษฎรโดยแท้จริง" และสงท้ายด้วยเสียงอันดังว่า "ท่านผู้ใดเห็นด้วยกับคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนแล้ว ขอให้ก้าวเท้าออกมาข้างหน้า หนึ่งก้าว !"

บรรยากาศอันสงบเงียบ ณ ที่นั้น ถูกทำลายทันทีด้วยเสียงตบเท้าก้าวไปหนึ่งก้าวของนักเรียนนายร้อยทหารบกก่อน และติดตามด้วยทหารเหล่าต่าง ๆ พร้อมกับเสียงไชโยกระหึ่มก้องบริเวณลานพระรูปทรงม้า...

ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านได้ทราบบทความสำคัญชิ้นสุดท้ายของพันเอกพระยาทรงสุรเดช ซึ่งได้เขียนไว้เกี่ยวกับเหตุการณ์ยึดอำนาจครั้งนี้ โดยเริ่มเขียนเมื่อเดินทางไปพนมเปญและไซ่ง่อน ปี ๒๔๘๑ ณ บ้านที่พักเลขที่ ๓๖ ซอยที่ ๓ ถนนรีโซ ตำบลดาเกา ชานเมืองไซ่ง่อน เมืองหลวงญวนภาคใต้ ตอนหนึ่งกล่าวว่า

"...การปฏิบัติครั้งนี้เกิดขึ้นได้จริง ๆ เพราะนายทหารบกผู้เป็นหัวหน้าตกลงใจเด็ดขาดให้ลงมือทำ เพราะฉะนั้น เหตุผลผู้เป็นหัวหน้าจึงน่าจะต้องถือเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดขึ้นโดยแท้

เหตุผลข้อที่ ๑ ก็คือ เป็นที่ประจักษ์แน่แล้วว่าระบอบพระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย ไม่สามารถบริหารงานของชาติเจริญรุ่งเรืองได้

เหตุผลข้อที่ ๒ พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แทบทั้งหมด มุ่งแต่เพียงทำตัวให้เป็นที่โปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจจากพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าด้วยวิธีใด ตลอดทั้งวิธีที่ต้องสละเกียรติยศด้วย

ทั้งสองข้อนี้นี้ประกอบกัน ย่อมเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ชาติไทยทรงกับทรุดเท่านั้น ควรเปลี่ยนวิธีให้ราษฎรได้มีโอกาสรู้จักวิธีปกครองตัวเอง และรับผิดชอบกันเองในความเจริญหรือความเสื่อมของชาติ แทนที่จะให้พระมหากษัตริย์องค์เดียวรับผิดชอบ..."

ข้อความข้างต้นทั้งหมด เขียนโดยพันเอกพระยาทรงสุรเดช มิได้ต่อเติมแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ เพราะข้าพเจ้าเคารพบูชาท่านผู้นี้เป็นยอดอาจารย์ที่จะละเมิดล่วงเกินมิได้ และถือว่าเป็นเอกสารสำคัญสุดในการยึดอำนาจการปกครอง ๒๔ มิ.ย. ๗๕ เพราะเขียนโดยทหารเสือผู้เป็นมันสมองของคณะทหาร ท่านผู้นี้เป็นทั้งเสนาธิการและแม่ทัพบงการทั้งปวงจนสำเร็จลุล่วงด้วยดี อนึ่งข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ท่านได้เขียนด้วยมือของท่านเอง เขียนเสร็จตอนหนึ่งก็จะส่งให้ข้าพเจ้าอ่านและเก็บไว้"
________________________
ที่มา : สำรวจ กาญจนสิทธิ์, "ท.ส.เจ้าคุณทรงสุรเดช : สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง", กรุงเทพ : ประมวลสาส์น สยาม, ๒๕๒๔, หน้า ๔๖-๕๑.

บล็อกของ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
กระบวนการสร้างมโนทัศน์ต่อความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ ว่าด้วยเหตุยกเว้นความผิดพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล๑. ข้อพิจารณาเบื้องต้น
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ปัญหาบางประการเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของ(ร่าง)หลักเกณฑ์การประมูลดิจิตอลทีวี : กรณีให้เปิดเผยผู้ถือหุ้นตั้งแต่ลำดับที่ ๓ ขึ้นไปและทุกทอดตลอดสายนายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
วิพากษ์สุรพล นิติไกรพจน์ (ภาค ๒)๑ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล คำอภิปรายในงานรำลึกครูกฎหมาย (อาจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม) โดย สุรพล นิติไกรพจน์ วันนี้๒  ถ้าอย่างในคัมภีร์ก็คงได้เพียงอุทาน "โมฆะบุรุษหนอ" หรือแปลเป็นภาษาลูกทุ่ง ก็คือ "อ้ายชิบหาย" ครับ
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อน่าพิจารณาบางประการ : กรณีศาลฎีกายกฟ้อง"คดีถาวร เสนเนียม ฟ้องอดีต กกต."(๒๕๔๙) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล มูลเหตุของคดีนี้เริ่มต้นเพื่อ "สนับสนุนให้รัฐประหาร ๑๙ ก.ย.๒๕๔๙" (เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง โจมตีการเลือกตั้ง) และเป็นชนวนในการสร้างสุญญากาศทางการเมือง  คดีนี้เริ่มต้น จะเห็นภาพพจน์ "ชัดแจ้งยิ่งขึ้น" เมื่อพิจารณาลำดับเหตุการณ์ก่อนพิเคราะห์รายละเอียดที่สำคัญของคดี เราจะเห็นได้ว่า "เหตุการณ์ ๒๕๔๙" นั้นเกิดขึ้นเป็นลูกระนาดเลย คร่าว ๆ ดังนี้[๑]
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล : เรื่องบันทึกการขออภัยโทษคดีสวรรคต พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
จอมพล ป. ในตำแหน่ง"ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และนายกรัฐมนตรี"โดยการทำรัฐประหาร พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
โต้บวรศักดิ์ อุวรรณโณ : การนิรโทษกรรมของคณะราษฎร (๒๖ มิ.ย.๒๔๗๕) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
อุปสรรคในการร่าง"ประมวลกฎหมายแบบตะวันตก"ฉบับแรกของสยาม พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
การใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญครั้งแรกของไทยเมื่อ ๒๔๗๖ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ชวนอ่าน "เรื่องเล่า" โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ (๒๕๑๑) หมายเหตุ : บังเอิญผมได้อ่าน ข้อเขียนของ "ราชินี" (ดังที่จะคัดให้อ่านด้านล่าง) ในคราวเสด็จเยือนประเทศออสเตรเลียกับในหลวง พบว่าน่าสนใจ จึงคัดมาให้ท่านทั้งหลายได้อ่านกัน - ข้อความด้านล่างนี้เป็นข้อเขียนของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ -------------------------------------------------------
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บริบทของพระราชดำรัสสดวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘(อนุญาตให้วิจารณ์กษัตริย์?) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล หลายท่านที่คัดค้านการบังคับใช้ "ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๑๑๒" มักอ้างอิง (โดยขาดบริบท) พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ซึ่งในโอกาสนั้น "ในหลวง" ตรัสเกี่ยวกับ (ทรง)อนุญาตให้ประชาชนวิจารณ์พระองค์ได้ ขอให้สังเกตพระราชดำรัสดังกล่าวในความว่า :
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ดีเบตกรณีสวรรคต ร.๘ ระหว่าง จิตติ ติงศภัทิย์ vs หยุด แสงอุทัย พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๔๔/๒๔๙๗ (คดีสวรรคต ร.๘) กรณีนายเฉลียว จำเลย นั้น ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า "ได้ช่วยปกปิดไม่เอาความนั้นไปร้องเรียนขึ้นจนมีเหตุบังเกิดการประทุษร้ายแด่พระองค์"