Skip to main content

ตุลาการที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ :คติกฎหมายไทยโบราณ พร้อมบทวิจารณ์ปรีดี พนมยงค์โดยสังเขป

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

"เมื่อใดกษัตริย์ใช้อำนาจนั้นโดยมิชอบก็มีสิทธิ์เป็นเปรตได้เช่นกันตามคติของอัคคัญสูตรและพระธรรมสาสตร"

ผู้พิพากษาตุลาการบางท่านทั้งใน ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ของไทย ท่านนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อในชีวิตหลังความตาย ตลอดจนผีสางนางไม้ต่างๆ แต่บรรดาท่านเหล่านั้น มักประพฤติชั่ว บิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทั้ง ในคดีการเมือง (ผู้กระทำผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง, มาตรา ๑๑๒, ผู้บงการ ตัวการ และสมุนรับใช้คณะรัฐประหาร) คดีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ (กิจการโทรคมนาคม เป็นต้น) ตลอดจนคดีทั่วไปบางคดี

ผมจึงเห็นสมควรเล่าเรื่องผีๆ เรื่องเปรตๆ เสียบ้าง อาจต้องอัชฌาสัยของผู้พิพากษาตุลาการเหล่านั้นเป็นประมาณ ถ่ายทอดผ่านกฎหมายตราสามดวงซึ่งบางลักษณะเป็นกฎหมายที่คัดมาจากอินเดียซึ่งไทยนำมาใช้ในยุคก่อนทำประมวลกฎหมาย (หรือ ก่อนยุค "สิทธิสภาพนอกอาณาเขต") และพระไตรปิฎก ที่จะยกมาในบทความนี้เป็นเรื่องการใช้อำนาจตุลาการในทางมิชอบ ตามคติจารีตกฎหมายไทย บางลักษณะมีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย บางลักษณะเป็นคำสาปแช่งหรือความเชื่อทางศีลธรรมปะปนกันไป โดยจะวิเคราะห์ประกอบตามสมควร

เก่าแก่ที่สุดคงจะเป็น พระธรรมสาตร มาตรา ๒ บรรยายไว้น่าสนใจความว่า  "อันบุคคลผู้ใดผู้เปนกระลาการล่วงเสียซึ่งยุติธรรมด้วยอะคติ ๔ ประการ คือรักษ แลโกรธ แลกลัว แลหลง แล้วพิจารณาความผิดจากพระธรรมสาตรแลลำเอียงเข้าด้วยฝ่ายโจทจำเลย อันว่าเกีรยดิยศแลโภคศรีสวัศดิแห่งกระลาการนั้นก็จะถอยเสี่ยมสูญไปประดูจพระ จันทรในวันกาลปักข จถึงซึ่งเดียดร้อนเปนอันมาก...ถ้ากระลาการผู้ใดให้กำลังแก่คู่ความผู้เทจ์ กินสีนจ้างมิได้บังคับบัญชาโดยพระธรรมสาตร อันว่ากระลากาลผู้นั้นครั้นกระทำกาลกิริยาตายแล้ว ก็จะไปไหม้อยู่ในอบายภูมทนทุกขเวทนาอยู่จิรังกาล เปนเปรตมีเล็บมือใหญ่เท่าใบจอบมีเปลวไฟลุกรุ่งเรีองควักเอารุธิระมังสะแห่ง ตนบริโภคเปนภักษาหาร ครั้นพ้นจากอบายภูมแล้ว มาบังเกีดเปนมนุษ ปาปะกาวะเศศนั้นจตามสนอง มีองคไวยวะวิกลทุพลภาพ มีปากเหมนเปนต้น นับด้วยชาติเปนอันมาก" (ข้อความเดียวกันนี้ปรากฏซ้ำใน คำปรารภ ของ พระไอยการลักษณตระลาการ เริ่มใช้ในสมัย พ.ศ.๑๘๙๙ สมัยพระเจ้าอู่ทอง)

เราจะเห็นได้ว่า ความใน พระธรรมสาสตร อันพรรณนาถึงลักษณะของ 'เปรต' ซึ่งก่อนตาย เคยเป็นผู้พิพากษาแล้วประพฤติมิชอบ (มีอคติ ๔ ประการ ตามหลักอินทภาษ) มีเนื้อความใกล้เคียงกับข้อความใน พระไตรปิฎก "เปรตนั้นแม้เมื่อเดินไป ย่อมยกอัณฑะเหล่านั้นแหละขึ้นพาดบ่าเดินไป แม้เมื่อนั่งก็ย่อมนั่งบนอัณฑะเหล่านั้นแหละ" (ขนาดใหญ่วิกลจริงๆ แต่อัณฑะจะพาดบ่าอย่างไรไหว?) ซึ่งสมัยพุทธกาลน่าจะเป็นยุคสมัยที่สังคมอินเดียได้ใช้พระธรรมสาสตรเป็น กฎหมายอยู่ในขณะนั้น

เราจะพบข้อแตกต่างกัน ระหว่าง 'เปรต' ตาม พระธรรมสาสตร กับ พระไตรปิฎก ดังนี้

๑.ในเขิง "พรรณนา" ตามพระไตรปิฎก จะเห็นภาพความ "วิกล" ของอวัยวะ ที่เห็นภาพพจน์ชัดเจนยิ่งกว่าในธรรมสาสตร และ

๒.ในเชิง "วัตถุกรรม" ได้แก่

     ๒.๑. 'องคไวยวะ' ใน พระธรรมสาสตร ซึ่งน่าจะหมายถึง 'อวัยวะส่วนองคชาต' คำใน ภาษาอังกฤษคือ penis มาจากภาษาละติน penis หมายถึง หาง

     ๒.๒. แต่ความที่ปรากฏใน พระไตรปิฎก ใช้คำว่า 'อัณฑะ' คำใน ภาษาอังกฤษ คือ testis มาจากภาษาละติน testis ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ก็คือ พยาน

ในพระธรรมสาสตร มีบัญญัติโทษหลังความตายเป็นเปรต (ซึ่งก่อนตายนั้นเคยเป็นพยานเท็จ) ด้วยเช่นกัน แต่ดูจะมีความรุนแรงมากกว่าโทษของผู้พิพากษาตุลาการ ปรากฏตาม พระไอยการลักษณภญาณ (เริ่มใช้สมัยพระเจ้าอู่ทอง พ.ศ.๑๘๙๔) ใน คำปรากฎ ของ ประกาศพระราชบัญญัติ พิจารณาตามกฎหมายดังกล่าวปรากฏแล้วเห็นได้ว่า การพรรณนาโทษหลังความตาย กรณีผู้พิพากษา-ตุลาการ นั้น จะปรากฏสำนึก "เพศชาย" หรือ "ความเป็นชาย" ของผู้ถูกลงโทษ แสดงออกผ่าน อวัยวะเพศ

แต่กรณีพยาน นั้น จะปราศจากการแสดงออกถึงสำนึกดังกล่าว คือจะเป็นเพศใดก็เป็นพยานได้ อย่างไรก็ดี ผู้ลงโทษเป็น "นายนิริยบาล" ซึ่งมีคำนำหน้านามที่แสดงเพศ "ชาย" เช่นกัน แสดงออกถึงบทบาทหน้าที่ทางเพศของอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีทางเพศของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ตามสำนึกของผู้ลิขิตกฎหมายหรือคัมภีร์นั้น

บทบัญญัติเหล่านี้ก็จะเป็นการพรรณนาถึงบาปเคราะห์ของ บุคคลในกระบวนการยุติธรรม ที่กระทำ "ชั่ว" ทั้งผู้พิพากษาตุลาการ พยาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้พิพากษาตุลาการ หากพิจารณาคติโบราณตามพระไตรปิฎก ของศาสนาพุทธ ใน อัคคัญสูตร ก็จะเห็นได้ว่า กำเนิดของผู้ปกครองที่ "มหาชนสมมติ" มาเป็นกษัตริย์นั้น พิจารณาในแง่ของ "หน้าที่" จะเห็นได้ว่า หน้าที่หลักของกษัตริย์หรือผู้ปกครองก็คือ การตัดสินคดี (มีอำนาจ ว่ากล่าว, ตักเตือน, ขับไล่บุคคลที่ควรขับไล่) อาจพิจารณาต่อไปได้ว่า ผู้ปกครองในสังคมเริ่มแรกตามพระไตรปิฎกนั้น อำนาจตุลาการถือเป็นอำนาจหลัก (เครื่องมือ) ของกษัตริย์

ด้วยเหตุนี้ เมื่อกษัตริย์กระทำตัดสินบรรดาอรรถคดีด้วยอคติ หรือมีพระราชดำริในทางตุลาการเพื่อตัดสินคดีให้เป็นไปในทางใดทางหนึ่ง หากพิจารณาภายใต้ข้อความคิดจากพระไตรปิฎกแล้ว - กษัตริย์ (หรือตุลาการ) ก็ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมนี้เช่นกัน กล่าวคือ เมื่อใดกษัตริย์ใช้อำนาจนั้นโดยมิชอบก็มีสิทธิ์เป็นเปรตได้เช่นกันตามคติของอัคคัญสูตรและพระธรรมสาสตร

ตามคติข้อความคิดดังกล่าวข้างต้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้ยกขึ้นประกอบการตอบโต้ "คำพิพากษาคดีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘" ปรากฏใน คำฟ้องของโจทก์ คดีหมายเลขดำที่ ๘๖๑๒/๒๕๒๑ (นายปรีดี พนมยงค์ โจทก์ นายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์และพวก จำเลย) ศาลแพ่ง วันที่ ๒๘ ก.ค.๒๕๒๑ ระบุใน ข้อ ๑๑.๙ (๓), (๔) ความว่า

"(๓) ขณะที่คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ๕ ท่านตัดสินคดีสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๗ นั้น ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ยังใช้อยู่ ซึ่งบัญชีต่อท้ายประมวลฯ นั้นได้ระบุยกเลิกเฉพาะกฎหมายบางลักษณะแห่งกฎหมายตรา ๓ ดวง (ที่บัญญัติโดยพระพุทธยอดฟ้า) เท่านั้นโดยมิได้ระบุยกเลิกลักษณะ "อินทภาษ" และอีกหลายลักษณะไว้ ฉะนั้นลักษณะ "อินทภาษ" จึงเป็นสารบัญญัติที่ยังคงใช้อยู่ในขณะ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๗ และใช้อยู่ต่อมาจนปัจจุบันนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ยกเลิก...(บท บัญญัติแห่งลักษณะ "อินทภาษ" นั้นศักดิ์สิทธิ์นัก เพราะปรากฏว่าผู้ที่ละเมิดลักษณะ "อินทภาษ" ได้รับผลทันตามเห็นไปแล้วหลายราย อาทิ ผู้นั้นต้องตายด้วยความวิบากประดุจที่ท่านกล่าวไว้ในตอนท้ายข้อความดังกล่าว นั้นว่า "แลผู้นั้นครั้นดับชีวิตินทรีแล้ว ก็จะไปเสวยเวทนาสาหัสอยู่ในอะบายภูมิ์อันหาโอกาสแห่งความศุขมิได้" คือท่านเปรียบประดุจดังที่คำพังเพยของไทยแต่โบราณกาลกล่าวไว้ว่า "ตกนรกหมกไหม้อยู่ในไฟไม่รู้ดับ" แม้ผู้ประพฤติผิดนั้นจะยังมีชีวิตอยู่โดยมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ แต่ก็หาความสุขทางใจมิได้เพราะครอบครัวของบางคนนั้นก็ให้มีอันเป็นไป เช่น วิกลจริตบ้าง กระโดดน้ำฆ่าตัวตายบ้าง อันเป็นเหตุให้ผู้ประพฤติผิดนั้นแม้ยังมีชีวิตอยู่แต่ก็ต้องโศกเศร้าไม่รู้ วาย)...

...(๔) คำพิพากษาของท่านผู้พิพากษาศาลฎีกา ๕ ท่านนั้นได้กล่าวเกี่ยวกับโจทก์ ที่มิใช่จำเลยในคดีสวรรคตไว้ตอนหนึ่งมีความดังต่อไปนี้...

....และได้กล่าวลับหลังโจทก์โดยท่านผู้พิพากษาเหล่านั้นมิได้ดำเนินให้ ถูกต้องตามวิธีพิจารณาความอาญาและตามลักษณะ "อินทภาษ"...จึงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่แสดงว่า คำพิพากษาคดีสวรรคตซึ่งผู้พิพากษา ๕ ท่านเป็นผู้ตัดสินนั้นเป็นคำพิพากษาที่โมฆะ"

ทั้งนี้ การอ้างลักษณะอินทภาษดังปรากฏในคำฟ้องของนายปรีดี พนมยงค์ คงเป็นเพียงการประชดประชัดเท่านั้น ผู้พิพากษาในองค์คณะที่ประพฤติขัดหลักอินทภาษก็หาได้ส่งผลให้คำพิพากษาในคดีนั้นตกเป็นโมฆะไม่ เนื่องจากลักษณะอินทภาษเป็นเพียงคำสาปแช่งตามความเชื่อทางศีลธรรม หาได้มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งนี้ สืบเนื่องจากฐานคิดมนุษยนิยม กฎหมายมีบทลงโทษสำหรับ "มนุษย์" เท่านั้น หาได้บังคับผลหรือลงโทษสำหรับ "คนตาย/อมนุษย์" ไม่ การบังคับโทษต่อคนตายเป็นการบัญญัติถึงสภาพบังคับทางกฎหมายอย่างสุดวิสัยที่ "เขตอำนาจทางการศาล" (jurisdiction) จะไปบังคับโทษได้ถึง "อมนุษย์" ได้ แต่ในคติเทวราชา ซึ่งถือว่ากษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในทุกโลก (คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ก็มีที่มาจาก "กำแพงจักรวาล" ซึ่งฤาษีเหาะขึ้นไปลอกลงมาจารึกไว้) การที่กษัตริย์ (เทวดาจุติลงมาเกิด) อนุวัตรับเอาข้อบัญญัติของจักรวาลมาใช้เป็นลายลักษณ์อักษรบังคับแก่มนุษย์และอมนุษย์ก็สะท้อนสภาวะของอำนาจควบคุมของกษัตริย์ที่แม้ว่าตายไปแล้วก็มิอาจหลีกหนีอำนาจโองการของพระองค์ไปได้พ้น.

___________________________

เชิงอรรถ

"อันบุคคลผู้ใดผู้เปนกระลาการล่วงเสียซึ่งยุติธรรมด้วยอะคติ ๔ ประการ คือรักษ แลโกรธ แลกลัว แลหลง แล้วพิจารณาความผิดจากพระธรรมสาตรแลลำเอียงเข้าด้วยฝ่ายโจทจำเลย อันว่าเกีรยดิยศแลโภคศรีสวัศดิแห่งกระลาการนั้นก็จะถอยเสี่ยมสูญไปประดูจพระ จันทรในวันกาลปักข จถึงซึ่งเดียดร้อนเปนอันมาก...ถ้ากระลาการผู้ใดให้กำลังแก่คู่ความผู้เทจ์ กินสีนจ้างมิได้บังคับบัญชาโดยพระธรรมสาตร อันว่ากระลากาลผู้นั้นครั้นกระทำกาลกิริยาตายแล้ว ก็จะไปไหม้อยู่ในอบายภูมทนทุกขเวทนาอยู่จิรังกาล เปนเปรตมีเล็บมือใหญ่เท่าใบจอบมีเปลวไฟลุกรุ่งเรีองควักเอารุธิระมังสะแห่ง ตนบริโภคเปนภักษาหาร ครั้นพ้นจากอบายภูมแล้ว มาบังเกีดเปนมนุษ ปาปะกาวะเศศนั้นจตามสนอง มีองคไวยวะวิกลทุพลภาพ มีปากเหมนเปนต้น นับด้วยชาติเปนอันมาก" ดู กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑, กรุงเทพ : สุขภาพใจ, ๒๕๔๘,หน้า ๑๕-๑๖.

กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑, กรุงเทพ : สุขภาพใจ, ๒๕๔๘, หน้า ๓๕๓-๓๕๔.

"สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระลักขณะกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ... ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า อาวุโส ผมลงจากคิชฌกูฏบรรพต เขตพระนครราชคฤห์นี้ ได้เห็นกุมภัณฑเปรตชาย มีอัณฑะโตเท่าหม้อ ลอยไปในเวหาส เปรตนั้นแม้เมื่อเดินไป ย่อมยกอัณฑะเหล่านั้นแหละขึ้น พาด บ่าเดินไป แม้เมื่อนั่งก็ย่อมนั่งบนอัณฑะเหล่านั้นแหละ ฝูงแร้ง เหยี่ยว และนกตะกรุม พากันโฉบอยู่ขวักไขว่ จิกสับโดยแรง จิกทึ้ง ยื้อแย่ง สะบัดซึ่ง เปรตนั้นอยู่ไปมา เปรตนั้นร้องครวญคราง ... ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ... สัตว์นั้นเคยเป็น ผู้พิพากษาโกงชาวบ้าน อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง" ดู พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้า ๔๑๘-๔๓๗. (ดู ฉบับออนไลน์ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=01&A=10876&Z=11364 )

กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑, กรุงเทพ : สุขภาพใจ, ๒๕๔๘,หน้า ๒๙๓-๒๙๕.

"ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุม กัน ครั้นแล้ว ต่างก็ปรับทุกข์กันว่า พ่อเอ๋ย ก็การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ ให้จักปรากฏ การติเตียนจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏ การถือท่อนไม้จักปรากฏ ในเพราะบาปธรรมเหล่าใด บาปธรรมเหล่านั้นเกิดปรากฏแล้วในสัตว์ ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักสมมติสัตว์ผู้หนึ่งให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควร ว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ ส่วนพวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น" ดู พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค หน้า ๗๑-๘๘. (ดู ฉบับออนไลน์  http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=11&A=1703&Z=2129 )

สันติสุข โสภณสิริ บรรณาธิการ, คำตัดสินใหม่ : กรณีสวรรคต ร.๘, พิมพ์ครั้งที่ ๑, กรุงเทพ : เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๔๓, หน้า ๑๑๐-๑๒๕.

กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑, กรุงเทพ : สุขภาพใจ, ๒๕๔๘,หน้า ๑๓.

บล็อกของ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
โต้ จิตติ ติงศภัทิย์ เรื่อง "ยิ่งจริงยิ่งหมิ่นประมาท" ตามกฎหมายอาญา พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล อ.จิตติ ติงศภัทิย์ เป็นปรมาจารย์ทางกฎหมายอาญาของไทย และเป็นนักนิติศาสตร์ผู้หนึ่งซึ่งสนับสนุน  "คำพิพากษาประหารจำเลย(แพะ)ในคดีสวรรคตรัชกาลที่ ๘" [ดู หมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๔๔/๒๔๙๗]  ภายหลังท่านดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ถาม-ตอบ ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสถานะของกฎหมายมณเฑียรบาล 
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ลำดับชั้นในทางกฎหมายของ "กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์" พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
กษัตริย์และคณะรัฐประหารของไทยผ่านคำอธิบายเรื่องพระราชนิยมของวิษณุ เครืองาม พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล [บันทึกความจำ] หมายเหตุ : ขอให้ท่านใคร่ครวญค่อย ๆ อ่านดี ๆ นะครับ คำอธิบายของ "วิษณุ เครืองาม" เช่นนี้ เป็นผลดีต่อกษัตริย์หรือไม่ อย่างไร
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวฯ : ว่าด้วยการจัดการองค์กรของรัฐสู่"ระบอบใหม่" พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
คำว่า"ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด" ในทรรศนะนายอุดม เฟื่องฟุ้ง ผู้บรรยายกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาและอดีตกรรมการ คตส. (ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐) : พร้อมข้อสังเกต พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
คดีคณะโต้อภิวัฒน์ (๒๔๗๘) ขับไล่รัชกาลที่ ๘-สังหารผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วจะอัญเชิญรัชกาลที่ ๗ ครองราชย์อีกครั้ง
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
โต้ธงทองฯ กรณีเทียบเคียงมาตรา ๑๑๒ กับกรณีหมิ่นประมุขต่างประเทศ, เจ้าพนักงานและศาล* พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ตุลาการที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ :คติกฎหมายไทยโบราณ พร้อมบทวิจารณ์ปรีดี พนมยงค์โดยสังเขป พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล "เมื่อใดกษัตริย์ใช้อำนาจนั้นโดยมิชอบก็มีสิทธิ์เป็นเปรตได้เช่นกันตามคติของอัคคัญสูตรและพระธรรมสาสตร"
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ร.๕ "ประกาศเลิกทาส" ภายหลังจากระบบไพร่ทาสได้พังพินาศไปเรียบร้อยแล้วในทางข้อเท็จจริง
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
รัชกาลที่๕ ตั้ง"เคาน์ซิลออฟสเตด"เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง มิใช่จะตั้งศาลปกครอง/กฤษฎีกาแต่อย่างใด พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล 
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
อำนาจบาทใหญ่ของคณะเจ้ารัชกาลที่ ๗ ช่วงก่อน ๒๔๗๕ : เจ้าทะเลาะกับราษฎร (กรณีนายจงใจภักดิ์) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล, ค้นคว้า-เรียบเรียง