๑.
การเมืองของนักเลือกตั้งเร่าร้อนยิ่งขึ้นทุกขณะ
การแถลงข่าวของบุคคล กลุ่ม ก๊วน และพรรค ตลอดจน "อนาคตพรรคการเมือง"
มีขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับตลาดนัดในอดีต ที่มีทั้งปาหี่ คนเล่นกล พ่อค้าเร่
และแม่ค้า "เจ้าประจำ" คุ้นหน้า
สถานที่พบปะระหว่าง "ผู้ซื้อ" กับ "ผู้ขาย" นั้น
เรียกกันง่ายๆ ว่า "ตลาด" โดยมี "สินค้า" เป็นสื่อกลาง
แลกเปลี่ยนความพึงใจระหว่างกัน...
ในที่ชุมนุมเช่นนี้
ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง "คุณค่า" และ "มูลค่า"
นอกจากจะมี "ความจริง" เป็นเครื่องเทียบเคียงแล้ว
ดูเหมือนว่า การโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็มีส่วนอยู่ไม่น้อย
สำหรับการตัดสิน หรือชี้วัดความพึงใจ
ตลาดโดยทั่วไปมักเปิดเป็นประจำ และสม่ำเสมอ
น่าเสียดายที่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ยังไม่อยู่กับร่องกับรอย
"ตลาดการเมือง" หรือ "ตลาดซื้อขาย ส.ส." จึงเปิดบ้างปิดบ้าง
อย่างกะปริบกะปรอย ไม่คงเส้นคงวาเป็นวาระ
คำว่า "ตลาดการเมือง" อาจฟังดูแสลงหูอยู่บ้าง
สำหรับผู้เกี่ยวข้อง และคิดเอาว่า "ตลาด" เป็นของต่ำ
รวมทั้ง การนับเอา "นักการเมืองผู้ทรงเกียรติ" ให้เป็นเพียง "สินค้า"
เช่นเดียวกับพริก หอม กระเทียม เนื้อหมู เนื้อวัว และเป็ดไก่
ใน ตลาดนัด - ตลาดสด
แต่... ว่าก็ว่าเถอะ
เรายังมีนักการเมืองที่สูงเกียรติ ด้วยคุณธรรมจริยธรรม
หรือด้วย อุดมคติ-อุดมการณ์สูงส่ง อยู่อีกล่ะหรือ?
ใครลองหลับตา
แล้วนึกย้อน ครุ่นคิด-ใคร่ครวญ ด้วยใจที่เป็นธรรมดูสักหน่อยเถิด
ว่า... ประสาคนอ่านหนังสือพิมพ์ กินข้าวแกง นั่งรถเมล์ ดูฟรีทีวี ฯลฯ
อย่างที่เป็นๆ กันอยู่ทั่วไปนี้
เรามีรายชื่อ "นักการเมืองในฝัน"
มี "นักการเมืองในอุดมคติ" แห่งยุคสมัย ถึง ๑๐ รายชื่อหรือไม่?
รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดจำนวน ส.ส. ไว้ ๔๘๐ ท่านเชียวนะ
แค่หาทำยาสัก ๑๐ - ๒๐ คน ก็ยังหาไม่ได้เอาเลยเชียวหรือ?
๒.
ในแวดวงการเมืองนั้น "อำนาจ" และ "ผลประโยชน์" เป็นเรื่องใหญ่
จะเป็น "ทางตรง" หรือ "ทางอ้อม" ของ "ตัวเอง" หรือ "พวกพ้อง"
หรือเพื่อ "มหาประชาราษฎร์" ก็คงยากที่จะไปกะเกณฑ์จำกัดความ
แต่ที่แน่ๆ ก็คือ "อำนาจ" และ "ผลประโยชน์" นี่เอง
ที่เป็นตัวเลือกสรรค์คัดกรอง "นักการเมือง" ยุคปัจจุบันในเบื้องต้น
หาใช่ "กรรมการคัดตัวผู้สมัคร" หรือ "ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" ไม่...
ด้วยว่า หากใครสักคนมีมโนธรรมสำนึก
และตรึกตรองโดย ทางธรรม/ทางโลกย์ ได้แจ่มชัดพอสมควรแล้ว
โดยสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ "ใครคนนั้น"
จะหาญกล้าเข้าไปเกลือกกลั้วกับปลักตมที่เห็นอยู่ตรงหน้า
อันมีพร้อมทั้งกับดักและขวากหนาม ฯลฯ อยู่ละหรือ?
ต่อให้มีความกล้าหาญทางจริยธรรมอยู่เต็มเปี่ยมก็เถอะ...
"อย่าเอาไม้สั้นไปรันขี้" โบราณมีสอนมีเตือนไว้แล้วทั้งนั้น
พอเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะหา "ตัวแทนประชาชน"
เข้าไปทำหน้าที่ "ผู้แทนปวงชนชาวไทย" กันโดยวิธีใด?
และถ้าตัวแทนในระบบเลือกตั้งมันเลว
แล้วเราจะหาตัวแทนโดยธรรมชาติ หรือตัวแทนโดยตรงจากที่ไหน?
โจทย์เหล่านี้เป็นเรื่องยาก
และนักเลือกตั้งก็รู้ดี
สามารถนำมาใช้ประโยชน์ นำมาทำมาหากินอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
จึงไม่มีใคร "ปฏิรูปการเมือง" ให้ตรงเป้า
อย่างพร้อมที่จะทำลายหม้อข้าวตัวเอง
เพื่อเติมเต็มหม้อข้าวของประชาชน
ได้แต่อาศัยช่องว่างช่องโหว่
แก้ปัญหาหิวโซตามใจกิเลสไปวันๆ
๓.
ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษธานี
เทศนาชี้แนะเกี่ยวกับ "ธรรมะกับการเมือง" เอาไว้หลายแง่มุม
ทั้งกว้างขวางและลึกซึ้ง ด้วยหลักการอันเป็นอกาลิโก
แต่น่าเสียดาย ที่ดูเหมือนกับว่า
แม้ศิษยานุศิษย์ของท่านเอง โดยเฉพาะวงในใกล้ชิด
ก็ไม่ค่อยจะเอาด้วย หรือเห็นด้วย กับท่านนัก
หลังจากท่านละสังขารไปใน พ.ศ.๒๕๓๖
"ท่านอาจารย์" ของใครต่อใคร จึงกลายเป็นโน่นนี่ ไปหลายต่อหลายอย่าง
ยกเว้นองค์คุณเกี่ยวกับการประยุกต์ธรรม เพื่อนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน "ระดับโครงสร้าง" หรือ "ระดับอำนาจรัฐ"
อันเนื่องอยู่ด้วยสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ตลอดจนวัฒนธรรม
ที่มีหลักพุทธธรรม หรือศาสนธรรมเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นต้นเงื่อน
ซึ่งนักคิดฝ่ายพุทธเถรวาทน้อยคนนัก จะจับประเด็นได้ลึก และแหลมคม
ดังที่ "พุทธทาสภิกขุ" ชี้ชวนและนำทางไว้...
มัวทำตัวเป็นไก่ได้พลอย สุนัขได้ปลากระป๋อง
จนทำให้เกิดโศกนาฏกรรม และความสูญเสีย ไปอย่างสูญเปล่า
ทำนองว่าคนดีไม่ได้เครื่องมือ ไม่มีธรรมะใช้
ปล่อยคนร้ายอ้างผิดๆ ถูกๆ หากินกับ "ท่านอาจารย์"
ตั้งแต่อดีตนายกฯ ยันเอ็นจีโอใหญ่ๆ และนักวิชาการมากอัตตา
ตลอดจนปัญญาชนหน้าไหว้หลังหลอก พระเณรเถรชี มากรูปหลายนาม...
จับพลัดจับผลู "ธรรมะ" จึงกลายเป็นเครื่องมือของ "ทุนนิยม" ไปเสียเอง
ด้วยว่า เหลือเพียงแง่มุมระดับปัจเจก และ "ส่งเสริมการหลุดพ้นส่วนตัว"
เสียเป็นด้านหลัก หลงลืมการสร้างเหตุปัจจัย และการบำเพ็ญเพียรเพื่อเสริมบารมี
อย่างชนิดที่หนุนช่วย และนำพากันไปนิพพาน
ตามหลัก "อิทัปปัจจยตา-ปฏิจจสมุปบาท" อันเป็นแก่นแกนมาแต่เดิม
ทันทีที่ธรรมะถูกใช้ให้ทำหน้าที่สร้างและพัฒนาปัจเจกบุคคล
ทุนนิยม-บริโภคนิยม ก็หัวร่อร่า
ค่าที่ช่วยผลิต "นักบริโภคคุณภาพสูง" ให้กับตลาด
โดยบริษัทบรรษัท ข้ามชาติ-ในชาติ เหล่านั้นไม่ต้องลงทุนลงแรง
หรือสิ้นเปลืองต้นทุน วัตถุดิบ และพลังงานแต่อย่างใด
เมื่อเป็นกันอย่างนี้ "นักเลือกตั้ง-นักกินเมือง" ทุศีล
จึงพากันอาศัยบางหัวข้อธรรม อาศัยการสละทรัพย์ซื้อเสียง
ซื้อศรัทธา "สมาชิกวัด"
ด้วยการทุ่มทุนสร้างกุฏิริฐาน สร้างซุ้มประตูสร้างรั้ววัด
ไต่บันไดโบสถ์ บันไดเมรุ เข้าสภาฯ
มีเจ้าอาวาสเป็นหัวคะแนนทางอ้อม ฯลฯ กันอยู่เนืองๆ
เป็นอันว่า "ธรรมะกับการเมือง" หลงเหลือเพียงเท่่านั้น
และมหาเถรสมาคม หรือภาครัฐ โดยสำนักงานพุทธฯ ก็ดูจะพอใจ
ที่พระ วัด และหลักธรรม(บางข้อ) เคาะประตูการเมืองได้เพียงที่กล่าวมาแล้ว
๔.
ผู้เขียนเองเคยรับนิมนต์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ไปร่วมการเสวนาระหว่างศาสนา ว่าด้วย "จริยธรรมของผู้นำ(ทางการเมือง)"
เมื่อครั้งที่ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" จัดเวทีอยู่ที่ใกล้สะพานมัฆวาฬ
คราวขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
คืนนั้นกล่าวกันถึงตัวผู้นำรัฐและนโยบายของเขา
ด้วยมุมมองของชาวพุทธ คริสต์ และอิสลาม
โดยมีพระภิกษุ บาทหลวง และนักวิชาการมุสลิม ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะ
ผู้ฟังหน้าเวที และผู้ชมผ่านระบบการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์
มีท่าทีการตอบรับที่น่าสนใจ
หากวันรุ่งขึ้นอธิบดีกรมศาสนากลับออกมาแสดงท่าทีที่น่าสนใจยิ่งกว่า
กล่าวคือ ท่านอธิบดีได้แถลงข่าวอย่างฮึกเหิมมุ่งมั่น
ว่าการที่พระไปร่วมกิจกรรมเช่นนั้น
หากมิใช่ถูกหลอก และไปอย่างรับรู้ก่อน ว่าจะมีกิจกรรมเช่นไร
ถือเป็นความผิดทางวินัยสงฆ์ขั้นร้ายแรง ถึงขั้นต้องบังคับให้สึกหาลาเพศ
ว่ากันถึงขนาดนั้น...
โดยไม่ดูดำดูดีกับวินัยสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ ตามธรรมวินัยเอาเลย
โชคยังดี ที่เมื่อนักข่าวนำความที่ว่า
ไปสอบถามกรรมการมหาเถรสมาคมท่านหนึ่ง
พระมหาเถระท่านนั้นได้มีเมตตา ตอบนักข่าวไปว่า
ฝ่ายสงฆ์มีสายงานปกครองดูแลอยู่แล้ว หากมีความผิดจริง
คณะสงฆ์ตั้งแต่ระดับเจ้าคณะตำบล คงดำเนินการไปตามลำดับชั้นปกติ
และโดยส่วนตัว ท่านไม่เห็นว่าการแสดงทัศนะดังกล่าวจะสลักสำคัญอะไรนัก
เพราะผู้แสดงความคิดเห็นเป็นเพียงพระเล็กพระน้อย ไม่ได้มีชื่อเสียงสมณศักดิ์
ที่พอจะมีอำนาจชี้นำสังคม...
ผู้เขียนเองได้ทราบข่าวเรื่องนั้นผ่านสื่อ
จึงมีโอกาสไปค้นคว้าในเว็บไซต์ของกรมศาสนา
แล้วพบว่า อันที่จริง เวทีเสวนาดังกล่าว
น่าจะจัดโดยกรมการศาสนาเองเสียด้วยซ้ำ
เพราะกิจกรรมที่มีเนื้อหาดังกล่าว
ระบุอยู่ในนโยบายและเป้าหมายหลักของกรมศาสนาเองโดยตรง
นับแต่ย้ายไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม
(เดิมกรมศาสนาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ)
พร้อมๆ กับการจัดตั้งหน่วยงานใหม่
ชื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี)
อันรับผิดชอบเกี่ยวกับแวดวงพระพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งปวง
ภารกิจหลักของกรมศาสนา ตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ของหน่วยงานแห่งนั้น
คือการสร้างความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างศาสนา
รวมทั้งการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในสังคม เป็นด้านหลัก
เมื่อสื่อมวลชนสอบถามมาที่ผู้เขียน ว่าคิดเห็นเช่นไร
ก็ได้แต่ตอบไปว่า ท่านอธิบดีกรมการศาสนา คงต้องการเอาใจนายกฯ ทักษิณ
ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน จึงรีบเร่งออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยอารมณ์ความรู้สึก
มากกว่าจะตอบคำถามโดยข้อเท็จจริง หรือโดยหลักการที่ควรจะเป็น
เพราะสิ่งที่ท่านตอบนั้นอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ ที่จะบังคับสั่งการ
นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ กรณีหนึ่ง
ซึ่งสะท้อนภาพความสับสนในบทบาทหน้าที่
หรือสะท้อนความบกพร่องหละหลวมในการปฏิบัติหน้าที่
ตลอดจน ความไม่รู้จริง และ/หรือ ไม่รู้ในเรื่องที่ควรรู้
ของรัฐ ของคนของรัฐ หรือของผู้อยู่ในอำนาจรัฐ
เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของพุทธบริษัท
อันมีสาเหตุมาจากความอ่อนด้อย ในการเข้าใจธรรมะ
โดยมิพักจะต้องกล่าวถึงการประยุกต์ใช้ธรรมะ
หรือการนำหลักพุทธรรม หลักศาสนธรรม มาใช้ในระดับโครงสร้าง
ของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนวัฒนธรรม
ในแง่ของวิถีชีวิตของผู้คน
๕.
กล่าวเฉพาะใน "ตลาดนัดการเมือง" ที่กำลังตะโกนขายสินค้า
กำลังประแป้งแต่งหน้าพ่อค้าแม่ขาย หรือที่กำลังตกแต่งหน้าแผง หน้าร้านกันอยู่นี้
กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง หรือวันตัดสินใจครั้งใหญ่ของผู้บริโภค
เราคงได้ยินได้ฟังได้ดู การประชาสัมพันธ์ กันอีกหลายรูปแบบ
ทั้ง สรรพคุณของสินค้า สรรพคุณของคนขาย และสรรพคุณของร้านค้า
ตลอดจนโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ฯลฯ
ก็น่าสนใจ ว่าอะไรจะเป็นที่มา ของการตัดสินใจสุดท้าย ของผู้บริโภค
เพราะนั่นจะเป็นคำตอบ หรือภาพสะท้อน "ตลาดนัดการเมือง" ของประเทศนี้
ว่ามีคุณภาพแค่ไหน และเพียงใด?
ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยการก่อรัฐประหารของคนกลุ่มหนึ่ง
เราพากันวิพากษ์วิจารณ์สภาพการณ์ทางคุณธรรมและจริยธรรม
ของอดีตผู้นำและรัฐบาลภายใต้การกำกับของเขาอย่างหนักหน่วง
จนเป็นเหตุให้บางคนบางกลุ่มนำเงื่อนไขนี้เข้าช่วงชิงล้มล้างอำนาจรัฐเดิม
ด้วยข้อเสนอ และข้ออ้าง ว่าจะสร้างสิ่งที่ดีกว่าขึ้นมา
พร้อมๆ ไปกับการปัดกวาดเช็ดถูปฏิกูล ที่อดีตรัฐบาลและพวกพ้องทำเรี่ยราดไว้
นี่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ ว่าหากกล่าวโดยเวลากันแล้ว
วันคืนที่ผ่านมา มีอาจมใดๆ ของคุณทักษิณที่ถูกเช็ดล้างออกไปได้บ้าง
หรือว่า การที่เราได้กลิ่นเน่าเหม็นของรัฐบาลไทยรักไทยน้อยลง
จะเป็นเพียงเพราะปฏิกูลกลุ่มใหม่ถ่ายของเสียชนิดใหม่กลบทับเอาไว้แทนที่
หรือจะเป็นว่า พออยู่ร่วมกับของเหม็นหลายชนิดเข้า
เราทั้งหลายก็เริ่มคุ้นชินกันไปเอง...
ซึ่งถ้าเป็นไปอย่างที่กล่าวมาแล้ว
ว่าเราคุ้นเคยกับความเน่าเหม็น
จนไม่รู้สึกรู้สา ไม่ยินดียินร้าย กันสักเท่าไร
ก็อย่าได้แปลกใจกันเลย ว่าทำไมพ่อค้าแม่ขายในตลาดการเมือง
ไม่ว่าร้านใดๆ แผงใดๆ จะมิได้ส่งเสียง
หรือส่งสัญญาณ ด้าน "คุณธรรม-จริยธรรม"
ออกมาให้ฝ่ายศาสนาชื่นอกชื่นใจกันบ้างเลย
ดูเหมือนว่า
เราใช้ศาสตราด้านความดีงาม ความถูกต้อง
เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามให้ดับดิ้น
ให้พ้นไปจากเวที ที่เราอยากจะเข้าไปร่วมด้วยเท่านั้น
โดยมิได้ปรารถนาจะใช้เครื่องมือทางศาสนา
มาแก้ปัญหาอย่างถาวรหรือยั่งยืนแต่ประการใด
"ตลาด" ต่างๆ พากันโตขึ้น
"พื้นที่ทางศาสนธรรม" หรือ "พื้นที่แห่งความดีงามก็เล็กลงไปทุกที
ดูเหมือนกับว่า พวกเราต่างก็รับรู้
แต่ไม่มีใครยอมเจ็บปวด เพื่อจะสวนกระแส และก้าวไปสู่สิ่งสูงกว่า
อีกต่อไปแล้ว...