การแปรรูป ปตท. คือการปล้นประชาชน!
ในช่วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศกำลังเดือดร้อนกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบสองเท่าตัว แต่บริษัทน้ำมันต่างๆในประเทศไทยกลับมีกำไรเพิ่มสูงขึ้นมากกว่านั้น
ในบทนี้ จะกล่าวถึงกิจการของบริษัท ปตท. จำกัดมหาชน และบริษัทอื่นๆบ้าง โดยย่อๆ เป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
๑. บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ได้แปรรูปมาจาก การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ ตอนเริ่มต้นการแปรรูป กระทรวงการคลังถือหุ้น ๖๙% ปัจจุบันเหลือเพียง ๕๒.๔๘%
ดังนั้น กำไรของ ปตท. ซึ่งเดิมเคยตกเป็นของรัฐทั้งหมด ๑๐๐% ก็จะเหลือเพียงตามสัดส่วนที่รัฐถือหุ้น คงจำกันได้นะครับว่า หุ้น ปตท. ขายหมดในเวลา ๑ นาที ๑๗ วินาที โดยมีนักการเมืองที่เรารู้จักกันดีจำนวนไม่กี่คนและนอมินีที่เราไม่รู้จักอีกจำนวนหนึ่งได้หุ้นไปถือครอง
๒. ในปี ๒๕๔๘ มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งประเทศเท่ากับ ๖๔๔,๙๓๓ ล้านบาท [1] แต่เฉพาะกิจการโรงกลั่นน้ำมันในเครือของ ปตท. และของบริษัทเอสโซ่ RPC, TPI ฟาดกำไรรวมกันถึงประมาณ ๑๑๐,๓๓๒ ล้านบาท คิดเป็น ๑๗.๑% สำหรับข้อมูลค่าการกลั่น ผมได้มาจากการบรรยายของคุณโสภณ สุภาพงศ์ และตรวจสอบกับเอกสารของ บริษัท ปตท. จำกัดด้วย พบว่ามีรายละเอียดตรงกัน
๓. ในปี ๒๕๔๕ ค่าการกลั่นน้ำมันอยู่ที่อัตรา ๒.๖ ดอลลาร์ต่อบาเรลล์ แต่ได้เพิ่มเป็น 3.4, 7.5 และ 7.7 ดอลลาร์ต่อบาเรลล์ ในปี พ.ศ. 2546,2547 และ 2549 ตามลำดับ [2]
๔. ก่อนการแปรรูป ปตท. มีกำไรสุทธิประมาณ ๑ หมื่นล้านบาทต่อปี (ปี ๒๕๔๓) ในปี ๒๕๔๘ บริษัท ปตท. มีกำไรสุทธิ ๘๕,๕๒๑ ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๖ ถึง ๓๖% กำไรต่อหุ้น ๓๐.๕๗ บาท โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ๑๑๔,๐๔๕ ล้านบาท (ที่มา รายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2549)
ในช่วง ๙ เดือนแรกของปี ๒๕๔๙ บริษัท ปตท. มีกำไรก่อนหักภาษี ๑๑๒, ๒๙๙ ล้านบาท ถ้าจะประมาณการอย่างคร่าวๆ โดยใช้ข้อมูลของปีก่อน คาดว่า กำไรก่อนหักภาษีของปี ๒๕๔๙ น่าจะประมาณ ๑๔๗,๔๐๐ ล้านบาท และกำไรสุทธิก็คงจะประมาณ ๑๐๓,๐๐๐ ล้านบาท
๕. ในปี ๒๕๔๘ ร้อยละ ๘๑ ของกำไรของบริษัท ปตท. มาจากกิจการก๊าซธรรมชาติ (คือส่วนที่เขียนว่า Gas และ PTTEP ในรูปข้างล่าง) ที่เป็นดังนี้เพราะเป็นกิจการผูกขาดรายเดียวในประเทศไทย ก่อนการแปรรูป ปตท. เคยสัญญาในหนังสือเชิญชวนว่า จะแยกกิจการท่อก๊าซฯออกมา แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการแยก
๖. ก่อนการแปรรูป พนักงาน ปตท. มีรายได้เฉลี่ยคนละ ๘๑๐,๐๐๐ บาทต่อปี ในปี ๒๕๔๗ กลายเป็น ๑,๓๒๐,๐๑๓ บาทต่อปี
๗. ในปี ๒๕๔๗ มีการประชุมคณะกรรมการทั้งหมด ๑๓ ครั้ง ซึ่งคณะกรรมการคนหนึ่งจะได้เงินจากการประชุมเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๔๗,๐๐๐ บาท / ครั้ง
รายนามคณะกรรมการ ปรากฏตามเอกสารข้างล่างนี้
1.นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ (ประธาน) ปลัดกระทรวงพลังงาน
2.นายมณู เลียวไพโรจน์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
3.พลตำรวจเอก สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
4.นายพละ สุขเวช อดีตผู้ว่า ปตท., กรรมการ กฟผ.
5.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
6.นายพิษณุ สุนทรารักษ๋ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
7.นายจักราวุธ ศัลยพงษ์ วิศวกรอาวุโส,ที่ปรึกษาบริหารบริษัท อินเตอร์เอนจิเนียริ่งมาเนจเมนท์
8.นายโอฬาร ไชยประวัติ กรรมการบริษัทชินคอร์ป, นายกสภามหาวิทยาลัยชินวัตร
9.นายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการ
10.นายสันทัด สมชีวิตา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
11.นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมธนารักษ์
12.พลเอก ชัยศึก เกตุทัต ที่ปรึกษานายกฯ
13.นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและพลังงาน
14.นายประพันธ์ นัยโกวิท รองอัยการสฃูงสุด
15.นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ปตท.
๘. กลุ่มพลังไทย ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการอิสระได้สรุปเรื่องการแปรรูปได้ว่า
จากเรื่องราวทั้ง ๘ ข้อที่กล่าวมาแล้ว คงเป็นการตอกย้ำถึงความจำเป็นในการร่วมกันสร้างนโยบายสาธารณะด้านพลังงาน ความไม่รู้ และความเฉยเมยของผู้บริโภค คือเหยื่ออันโอชะของพ่อค้าพลังงาน
หมายเหตุ
เพื่อความสมบูรณ์ของบทความนี้ ท่านผู้อ่านควรย้อนไปอ่านบทความเรื่อง “ความเคลื่อนไหวด้านพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญในระดับโลก: ตัวอย่างของ The Tipping Point” ซึ่งเคยเสนอในประชาไทนานมาแล้ว
----------
[1] สถานการณ์พลังงาน, กระทรวงพลังงาน
[2] ข้อมูลจากคุณโสภณ สุภาพงศ์ อดีต ส.ว.