Skip to main content

ในการเดินทาง เรามักใช้ยานพาหนะช่วย   แต่ในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical)
เราใช้อะไรเป็นเครื่องมือหรือเป็นพาหนะ

 


องค์ประกอบของเนื้อหา

1.  ทำไมทักษะการคิดเชิงวิพากษ์จึงสำคัญ
2.  ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์สามารถเรียนรู้ได้และจะอยู่ติดตัวเรา
3. 
ความหมายของการคิดเชิงวิพากษ์
4.  ลักษณะของนักคิดเชิงวิพากษ์

5. 
อุปสรรคของการคิดเชิงวิพากษ์
6.  สรุป


1. ทำไมทักษะการคิดเชิงวิพากษ์จึงสำคัญ

อาจารย์ของผมท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า
เมื่อครูของลูกชายสอนนักเรียนในชั้นว่า อุณหภูมิของดวงอาทิตย์สูงเท่านั้นเท่านี้องศา ลูกชายเกิดความสงสัยพร้อมตั้งคำถามว่า แล้วเขาวัดได้อย่างไรครับ  ปรากฏว่าครูสวนกลับมาด้วยน้ำเสียงไม่ค่อยพอใจว่า . . . ไปถามพ่อเธอซิ 
ปัจจุบันเด็กชายคนนี้เป็นดอกเตอร์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังเรียบร้อยไปแล้ว

วัฒนธรรมไทยเราค่อนข้างอ่อนแอในเรื่องการรู้จักตั้งคำถาม ก่อนเข้าโรงเรียนทุกคนจะเป็นเด็กช่างถาม แต่พอโตขึ้นกลายเป็นคนไม่ค่อยกล้าถามและค่อนข้างจะเชื่อง สำหรับวัฒนธรรมในการตอบคำถามยิ่งอ่อนด้อยมากทั้งในระดับโรงเรียนและในระดับนักการเมือง


ผมเองในสมัยเป็นเด็ก พอได้ฟังอะไรแล้วมักจะคล้อยตามเขาไปทั้งหมด ไม่คิดที่จะแย้งและไม่รู้ว่าจะแย้งตรงไหน  แต่พอมาเรียนระดับมหาวิทยาลัยกับอาจารย์ฟิสิกส์ท่านหนึ่ง (ดร. วุฒิ พันธุมนาวิน)  ท่านเล่านอกเรื่องฟิสิกส์ที่สอนนิดเดียว ทำให้ผมได้รู้จักคิดและถือว่าการคิดเป็นสิ่งสำคัญมากตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


คนเราทุกคนคิด เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต้องคิด และมีเรื่องเข้ามาให้เราต้องคิดกันทุกวันไม่รู้จักจบสิ้น  ออกจะเป็นการดูถูกกันด้วยซ้ำหากจะกล่าวหาว่าใครคนหนึ่งไม่รู้จักคิด แต่การคิดของคนเรามักจะลำเอียง บิดเบือน เพราะได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนแล้วตัดสินผู้อื่นไปก่อน แล้วยึดเอาคำตัดสินนี้เป็นสรณะหรือจะรู้สึกเสียหน้าถ้าต้องเปลี่ยนความคิด 


ดังนั้น คุณภาพชีวิตของคนเรารวมทั้ง ผลการเรียน และคุณภาพของงานที่เราทำจึงขึ้นอยู่กับคุณภาพของความคิดของเราเป็นสำคัญ  การคิดอะไรแบบลวกๆ ชุ่ย ๆ  นอกจากจะทำให้เสียเงิน เสียเวลาแล้วยังทำให้เสียคุณภาพชีวิตด้วย บางคนถึงขั้นฆ่าตัวตายตามดาราก็มี

ในเชิงรายบุคคล เป็นที่ประจักษ์กันทั่วแล้วว่า ผู้ที่มีทักษะการคิดในระดับสูงจะสามารถสร้างผลงานได้มากกว่าผู้ที่ไม่มี  ซึ่งจะส่งผลตามมาว่าตำแหน่งงานที่ต้องการทักษะการคิดในระดับสูงจะมีรายได้มากกว่า 

ในเชิงสังคม มันเป็นสิ่งที่อันตรายมาก หากในสังคมมีคนเพียงจำนวนน้อยนิดที่มีทักษะการคิดระดับสูงหรือคิดเก่ง แต่ส่วนที่เหลือไม่มี  ระบอบประชาธิปไตยจะประสบกับความล้มเหลวในสังคมเช่นนี้


ในการเรียนการสอนทุกระดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมหาวิทยาลัยมีความมุ่งหมายสำคัญให้นักศึกษาคิดเป็น  วิเคราะห์ได้


ดังนั้นทุกคนจึงควรมีทักษะการคิดในระดับสูง ทักษะในการคิดเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ เพาะฟัก และพัฒนาให้สูงขึ้นกันได้เสมอ 


บางคนอาจแย้งว่า
ไม่เห็นต้องเรียนก็คิดได้ เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว คำตอบนี้ก็มีส่วนถูกต้องอยู่บ้าง  แต่ให้ลองคิดเปรียบเทียบการวิ่ง ทุกคนสามารถวิ่งได้ แต่ถ้าได้รับการฝึกสอนจากครูที่สอนนักกีฬาระดับทีมชาติ เขาผู้นั้นก็จะวิ่งได้ดีขึ้นกว่าเดิมมากๆ

การคิดไม่ใช่การท่องจำอย่างนกแก้ว นกขุนทอง ไม่ใช่การเลียนแบบได้อย่างลิง แต่เป็นอะไรที่มากกว่านั้น

2. ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์สามารถเรียนรู้ได้และจะอยู่ติดตัวเราตลอดไป

ทักษะการคิดเป็นสิ่งที่แยกออกจากตัวความรู้ (
knowledge)  คนที่มีความรู้มากเพียงอย่างเดียวไม่จำเป็นต้องเป็นคนมีทักษะการคิดระดับสูงเสมอไป ในการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง เราจำเป็นต้องใช้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น บวกกับ ทักษะการคิดด้วย

นักการศึกษาท่านหนึ่ง (จาก
Bloom’s Taxonomy) ได้จำแนกความแตกต่างระหว่าง การรู้ (knowing)” กับความเข้าใจ (understanding หรือ comprehension)”  ว่า การรู้คือการจำ การรักษาความจำไว้ได้ และการทำซ้ำเดิมได้  แต่ความเข้าใจคือความสามารถที่จะอธิบายได้ ทบทวน (review) และอภิปรายถกเถียงได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งความรู้และความเข้าใจได้ถูกจำแนกให้เป็น 2 ขั้นต่ำสุดในบรรดา 6 ขั้นในความสามารถของมนุษย์ (ดังภาพแสดง-แต่ไม่ขออธิบายในที่นี้ เพียงแต่จะบอกว่ายังมีเรื่องเราต้องถามต้องเรียนอีกมาก)

 

 

ถ้าเรามีทักษะการคิดในระดับสูง เราสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาใหม่ (ที่ไม่เคยเรียนมาก่อน)ได้  โดยการเรียนรู้ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวข้อง บวกกับทักษะการคิดที่มีอยู่เดิม  ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ท่านหนึ่งสามารถนำทักษะการคิดที่ตนมีไปแก้ปัญหาการเล่นเรือใบได้   การตรวจสอบว่าหลอดไฟฟ้าไม่ติดเพราะเหตุใดก็ต้องอาศัยทักษะการคิดเดียวกับการเดินเรือ  เป็นต้น

ไอนสไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า
การศึกษาคืออะไรสักอย่างหนึ่งที่เหลืออยู่หลังจากที่เราได้ลืมทุกสิ่งทุกอย่างจากการเรียนในระบบโรงเรียน อะไรที่เหลืออยู่นั้นก็คือทักษะการคิดที่ระบบโรงเรียนสอนเรานั่นเอง

ในความเห็นของผม สิ่งที่ยังเหลือติดตัวเราอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือ ทักษะในการแสดงออกโดยไม่กลัวหรือสั่นประหม่ามากนักในหมู่คนจำนวนมาก 


ครูสอนเรขาคณิตของผมท่านหนึ่งบอกผมว่า
ข้อใดที่เธอคิดไม่ออกและยังจำโจทย์ไม่ได้ แสดงว่าเธอยังคิดไม่มากพอ ให้ไปคิดต่อ   สมมุติว่า เราลืมทฤษฎีเรขาคณิตหมดแล้ว   แต่สิ่งที่เหลือติดตัวเราอยู่ คือ ความอดทน ความมุ่งมั่น ใคร่ครวญ สมาธิ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของทักษะการคิด เป็นต้น

 
3. ความหมายของการคิดเชิงวิพากษ์ (
Critical Thinking)

มีผู้ให้ความหมายและคำแปลที่แตกต่างกัน แต่ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กัน ในบทความนี้ ผมขอสรุปจากหลายส่วนและบนพื้นฐานประสบการณ์ของผมด้วย  ดังต่อไปนี้

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า
การคิดคืออะไร มีผู้อธิบายว่า การคิดคือกิจกรรมทางสติปัญญาเพื่อที่จะช่วยในการทำความเข้าใจหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ

(หมายเหตุ โปรดสังเกตว่า ผมใช้วิธีการตั้งคำถามเป็นเครื่องมือหรือยานพาหนะเป็นตัวช่วย จากนั้นก็ค่อย ๆ ตั้งคำถามต่อไปอีกว่า  คิดอย่างไร เป็นต้น)

คำว่า
Critical Thinking   มีการแปลเป็นภาษาไทยแตกต่างกัน โดยในช่วงแรก ๆ ที่ผู้เขียนได้ยินคำนี้ มีการแปลว่า การคิดเชิงวิพากษ์

ในระยะหลัง นักวิชาการบางท่าน ( เช่น รศ. ชูชีพ  อ่อนโคกสูง) แปลเป็นภาษาไทยว่า
การคิดอย่างมีวิจารณณาณ  พร้อมขยายความและให้ตัวอย่างประกอบว่า
หมายถึง ความสามารถในการสร้างและประเมินข้อสรุปจากหลักฐานหรือสภาวการณ์ใดได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น อ่านบทความฉบับหนึ่งจบลงแล้วสามารถสรุปสาระสำคัญได้ และประเมินได้ว่าข้อสรุปนั้นถูกต้องตรงตามความเป็นจริงหรือไม่


ท่านยกตัวอย่างว่า
หากเพื่อนเล่าให้ฟังว่า ขณะเขายืนบนรถเมล์ที่กำลังแล่นด้วยความเร็วสูง จู่ ๆ ก็เบรกอย่างกะทันหัน เนื่องจากมีคนวิ่งตัดหน้า ทำให้เขากระเด็นไปติดอยู่ที่เบาะท้ายรถ หากเราคิดอย่างมีวิจารณญาณ เราคงไม่เชื่อว่าเขากระเด็นไปติดที่เบาะหลังเพราะขณะรถเมล์กำลังแล่น ความเร็วของคนบนรถจะเท่ากับความเร็วของรถยนต์ เมื่อเบรกยังมีแรงเฉื่อยอยู่ คนบนรถจึงต้องกระเด็นไปทางด้านหน้า จะกระเด็นมาท้ายรถได้อย่างไร

ผมคิดว่าข้อความดังกล่าวน่าจะเป็นคำอธิบายที่สามารถทำให้เราเข้าใจได้ดีระดับหนึ่ง ในบทความนี้ผมขอมองให้กว้างกว่านี้และขอเลือกใช้คำแปล  
Critical Thinking   ว่าเป็น การคิดเชิงวิพากษ์

สำหรับความหมายของ  
Critical Thinking   ผมขอให้คำอธิบายดังต่อไปนี้
ในที่นี้คำว่า
“Critical”  ไม่ได้แปลว่า  วิกฤติ หรือสภาพที่  รอพินิจ  ว่าจะพ้นสภาพนักศึกษาหรือไม่  การคิดเชิงวิพากษ์ ไม่ได้หมายถึง การคิดในแง่ลบเสมอไป แต่เป็นการคิดที่สร้างสรรค์ ที่ใช้เหตุผล ใช้หลักฐานประกอบ

นักภาษาศาสตร์ (ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล) อธิบายว่า วิพากษ์ เป็นคำมาจากภาษาสันสกฤตว่า วิวากฺษ แปลว่า ตัดสิน ในภาษาไทยใช้ว่าพิพากษา หมายถึงพิจารณาคดีความตามหลักฐานที่ปรากฏแล้วตัดสินว่า ผู้ใดเป็นฝ่ายผิด ผู้ใดเป็นฝ่ายถูกตามข้อบัญญัติแห่งกฎหมาย


การคิดเชิงวิพากษ์เป็นการคิดที่ประกอบด้วย 5 อย่าง คือ (1) การคิดอย่างมีวัตถุประสงค์ (2) มีเหตุผล (3) เป้าหมายเป็นตัวกำหนดทิศทางการคิด (4) มีความสามารถในการวิเคราะห์อย่างระมัดระวัง บนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลอย่างมีตรรกะ และ (5) มีแนวคิดจากหลากหลายมุมมอง


ในสมัยหนึ่งมีการโต้วาทีในญัตติว่า
หมาดีกว่าคน (แล้วฝ่ายเสนอเป็นฝ่ายชนะ) ในความเห็นของผมแล้ว การคิดในประเด็นนี้เป็นเรื่องไร้สาระ ไม่มีเป้าหมาย แม้จะมีเหตุผลก็ตาม จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการคิดเชิงวิพากษ์  


4. ลักษณะของนักคิดเชิงวิพากษ์


นักคิดเชิงวิพากษ์ควรจะมีลักษณะ  5  ต่อไปนี้ (อ้างถึงในผลงานของ  
Dr. Liu  Woo  Chia)

1) ชอบตั้งคำถามหรือสงสัยในปัญหาสำคัญ ๆ อยู่เสมอ พร้อมทั้งก่อรูปหรือทำปัญหานั้นให้มีความชัดเจน  แน่นอนและกระชับขึ้น   ลักษณะของคำถามมักขึ้นต้นด้วยอักษรในภาษาอังกฤษ 5 W  และ 1 H คือ   What, When, Where, Who, Why  และ How

ปัญหาเรื่องการวัดอุณหภูมิของดวงอาทิตย์ที่ได้เล่ามาตั้งแต่ต้น จัดเป็นประเภท
How  คือวัดอย่างไรครับ  เราไม่ทราบว่าเด็กที่ถามคิดอะไรอยู่ลึกๆ เขาอาจจะแค่สงสัยว่า จะเอาเทอร์โมมิเตอร์ที่ไหนไปวัดเพราะที่เขาเห็นก็แค่ 100 องศาเซียลเซียส ในขณะที่อุณหภูมิดวงอาทิตย์สูงนับล้านองศา หรือจะเอาเทอร์โมมิเตอร์ไปเสียบไว้ตรงไหนของดวงอาทิตย์   หรือจะเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์ได้อย่างไร เป็นต้น

กุญแจสำคัญของการคิดที่มีพลังก็คือการตั้งคำถามที่มีพลัง  ถ้าเราตั้งคำถามได้ถูกต้องเราก็จะประสบผลสำเร็จในฐานะนักคิด เพราะคำถามคือแรงที่ทำให้เกิดพลังในการคิด
 ในการคิดแต่ละครั้งเราสามารถคิดได้นับร้อยนับพันทิศทาง  มีเพียงบางทิศทางเท่านั้นที่นำไปสู่คำตอบ คำถามจะเป็นตัวกำหนดประเด็นของการคิด ลักษณะคำถามจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และเมื่อตั้งคำถามต่อไป ทิศทางที่เป็นไปได้ก็จะเหลือน้อยลง

ถ้าจะพูดถึงการก่อรูปปัญหาให้ชัดเจนขึ้น  ผมขออนุญาตเปลี่ยนตัวอย่างใหม่เพราะตัวเดิมถูกครูดุไปแล้ว (ฮา
!)  เช่น

การจัดตารางสอนที่มีการพักระหว่างคาบเพียง 10 นาที เคยใช้ได้ในสมัยที่อาคารเรียนอยู่ไม่ไกลกันมาก ก็ไม่มีปัญหาอะไร  แต่เมื่ออาคารเรียนห่างกัน (เพราะมีการสร้างอาคารใหม่) เกินกว่าจะเดินทางได้ทัน (เช่น 1,500 เมตร)  คำถามที่น่าตั้งแรก คือ
ทำอย่างไรนักศึกษาจึงจะเข้าชั้นเรียนทันเวลา คำถามที่สอง มหาวิทยาลัยจะจัดรถรับส่งได้อย่างทั่วถึงหรือไม่

2) รวบรวมและประเมินข้อมูลที่เกี่ยวข้อง  ใช้แนวคิดที่ยังเป็นนามธรรมเพื่อตีความปัญหานั้นให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ


หลังจากค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว พบว่าไม่มีทางอื่นใดนอกจากให้นักศึกษาเหาะกันไป (ฮา
!)  เราจึงควรตั้งคำถามที่ถูกทิศทางคือ เราควรจะเพิ่มเวลาพักระหว่างคาบหรือไม่ เป็นเท่าใด แล้วอย่างไรต่อไป  จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบและไม่กระทบต่อคุณภาพการศึกษา

จากปัญหาการเดินทางระหว่างคาบเพียง 10 นาที  โดยเรียนคาบละ 50 นาที ถ้าขยายเวลาพักเป็น 30 นาที เพื่อให้นักศึกษาเดินทัน  เราจะต้องปรับปรุงอะไรบ้าง นี่เป็นตัวอย่างของการทำปัญหาให้ชัดเจนขึ้น


3) ทำให้ปัญหามีข้อสรุปที่มีเหตุผล ตรวจสอบกับแนวคิดและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่กล่าวมาดูมีเหตุผล แต่ได้มาตรฐานไหม มาตรฐานการเรียนระบุว่า วิชา 3 หน่วยกิตต้องเรียนสัปดาห์ละ 3 คาบ รวม 150 นาที  สิ่งที่เราแก้ปัญหาจะต้องอยู่ในมาตรฐานนี้  ดังนั้นเราต้องตั้งคำถามว่า
เป็นไปได้ไหมถ้าเราจัดสัปดาห์ละ 2 คาบ ๆ ละ 90 นาที รวมสัปดาห์ละ 180 นาที

4) เป็นผู้ที่ตั้งใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและคิดอย่างใจกว้างกับระบบความคิดใหม่รวมทั้งการปฏิบัติที่จะตามมา

มีผู้แย้งว่า
คาบละ 90 นาทีอาจจะนานเกินไปสำหรับเด็กยุคใหม่ที่ไม่ค่อยจะอดทน  เรื่องนี้เราต้องเปิดใจรับฟัง  แต่ 180 นาทีที่มากกว่ามาตรฐาน ก็สามารถยืดหยุ่นให้มีการพักย่อยในคาบได้

5) เป็นผู้สื่อสารที่มีประสิทธิภาพต่อคำตอบใหม่ที่ได้รับ (โปรดอ่านตอนที่ 4 ประกอบ)

ปัญหาการจัดตารางสอนนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในวิทยาเขตที่ผมทำงานอยู่  ผมได้สื่อสารกับประชาคมมหาวิทยาลัยจนผู้บริหารได้ตั้งกรรมการมาปรับปรุง  แต่น่าเสียดายเวลาได้ล่วงเลยมานานเกือบ 2 ปีแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าจากผู้บริหารเลย


5. อุปสรรคของการคิดเชิงวิพากษ์

Dr. Liu Woon Chia ได้สรุปไว้ในเอกสารของเธอว่า  อุปสรรคของการคิดเชิงวิพากษ์มี 2 ประการคือ  (1) พวกที่คิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลาง (self-centered thinking)  คือคิดว่าตนเองดีกว่าค่าเฉลี่ยเสมอ และ (2) พวกที่คิดโดยการอิงกับสังคม (group-centered thinking)  คือคิดตามที่สังคมคิดซึ่งเป็นความคิดที่อันตรายมาก

ปัญญาชนชาวอเมริกันท่านหนึ่ง (
Walter Lippmann)  กล่าวว่า  เมื่อทุกคนคิดเหมือนกันหมด ก็จะไม่มีใครคิด (When all think alike, no one is thinking)”  ซึ่งเป็นสภาพที่น่ากลัวมากกว่าพวกแรกเสียอีก

6. สรุป

แม้บทความนี้ได้นำเสนอรายละเอียดไม่ครบถ้วนดีนัก (เพราะเกรงใจพวกสมาธิสั้น)  แต่ก็มีความมั่นใจว่า ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญรวมทั้งขั้นตอนของการคิดเชิงวิพากษ์ไว้มากพอสมควรแล้ว  พอที่จะเป็นประกายไฟให้นักศึกษานำไปใช้งานรวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมได้


ผมขอจบบทความนี้ด้วยวาทะอันเลื่องลือนักผู้ที่ได้ชื่อว่า
บิดาแห่งนักปรัชญาสมัยใหม่  และเป็นนักคณิตศาสตร์คนสำคัญของโลกชาวฝรั่งเศส  คือ เรเน เดส์การ์ด (Rene Descartes)  ว่า
ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่ (I think, therefore I am.)”


แต่ใครจะเข้าใจความหมายของวาทะอันเลื่องลือนี้สักปานใด ก็โปรดไปคิดเชิงวิพากษ์กันเอาเองครับ และนี่คือการบ้านสำหรับทุกท่านทุกคนเทอญ.

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
เราเคยสงสัยและตั้งคำถามเสมอมาว่า ทำไมราคาน้ำมันสำเร็จรูป (รวมทั้งราคายางพารา) ในภูมิภาคเอเซียจึงถูกกำหนดจากประเทศสิงคโปร์
ประสาท มีแต้ม
ตลอดช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันที่ปั๊มในบ้านเราได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้ราคาน้ำมันดิบจะสูงถึง 85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยที่ราคาเมื่อต้นเดือนมิถุนายนได้ขยับจาก 62 ถึง 68 ภายในเวลาเจ็ดวันเท่านั้น
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ บทความนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง ให้เห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของคนไทยโดยเฉลี่ยซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้ และหากแผนผลิตไฟฟ้าดังกล่าวมีปัญหาแล้วจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างไร สอง เพื่อเล่าถึงการจัดทำแผนผลิตไฟฟ้าที่ผูกขาดโดย "กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ" จำนวนน้อยตลอดมาและจะชี้ให้เห็นถึงบางสิ่งที่ผมคิดว่า "น่าจะไม่ถูกต้อง" สาม หากท่านผู้อ่านได้เห็นปัญหาในข้อสองแล้ว จะได้เห็นความจำเป็นของ "การเมืองภาคประชาชน" ในการตรวจสอบโครงการของรัฐมากขึ้น
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ตัดสินใจว่าจะอ่านบทความนี้ต่อไปหรือไม่ ผมขอนำประเด็นสำคัญมาเสนอก่อน  ประเด็นคือการวางแผนผลิตก๊าซที่ผิดพลาดทำให้คนไทยทุกคนต้องควักเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น จากรายงานประจำปี 2551 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พบว่า ในปี 2551 บริษัท ปตท. ต้องจ่ายค่า "ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย" ก๊าซจากโครงการไทย-มาเลเซีย (ซึ่งเป็นโครงการสร้างความขัดแย้งมาตั้งแต่รัฐบาลชวน หลีกภัย และทักษิณ ชินวัตร จนถึงปัจจุบัน) เป็นจำนวน 13,716 ล้านบาท
ประสาท มีแต้ม
ในขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เริ่มต้นจากถนนวอลล์สตรีทในสหรัฐอเมริกากำลังลุกลามไปอย่างรวดเร็วราวกับลาวาภูเขาไฟไปสู่ทุกถนนของโลก ในภาคใต้ของประเทศไทยโดยหน่วยงานของรัฐและการนิคมอุตสาหกรรมก็กำลังดำเนินการให้มีแผนพัฒนาภาคใต้ด้วยโครงการต่าง ๆ มากมาย ทั้งโดยเปิดเผยและแอบแฝง ตัวอย่างของโครงการเหล่านี้ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในจังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ จังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี โครงการขุดเจาะน้ำมันของบริษัทเซฟรอน ที่นครศรีธรรมราช ตลอดจนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 3 โรง นอกจากนี้ยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดตรัง และท่าเทียบเรือน้ำลึกในจังหวัดสงขลาและอีกหลายจังหวัด…
ประสาท มีแต้ม
  เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 กระทรวงพลังงานในฐานะผู้รับผิดชอบหรือจะเรียกว่าผู้จัดทำแผนผลิตไฟฟ้าเองได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อปรับปรุง "แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า" ในช่วงปี 2551 ถึง 2564 ซึ่งเป็นแผนที่ได้จัดทำไว้ก่อนปี 2551 ในการรับฟังครั้งนี้ก็เพื่อจะได้ปรับปรุงเป็นครั้งที่ 2 สาเหตุที่ต้องปรับปรุงก็เพราะปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศไทยด้วยนักวิชาการอิสระด้านพลังงานที่ไม่ใช่ข้าราชการของกระทรวงพลังงานก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจหลายอย่าง ขณะเดียวกันกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าก็ได้ตั้งคำถามพร้อมแผ่นผ้าด้วยข้อความสั้น ๆ แต่เข้าใจง่ายว่า "…
ประสาท มีแต้ม
คำนำ เมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประสบปัญหาขายไม่ได้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของโลก นักการเมืองรวมทั้งว่าที่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ได้เสนอมาตรการลดหย่อนภาษีค่าโอนบ้าน โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป ผมขออนุญาตไม่แสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวข้างต้น แต่ขอใช้หลักคิดเดียวกันนี้เพื่อตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการพืชน้ำมันซึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล และแก๊สโซฮอล์ ซึ่งโยงใยเกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่เจ้าของโรงงานจนถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชน้ำมัน ( ปาล์มน้ำมัน อ้อย ฯลฯ ) เหล่านี้บ้างเล่า?
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ เมื่อราคาน้ำมันลดลงมาจากลิตรละราว 40 บาทจากเมื่อ 4-5 เดือนก่อนมาอยู่ที่ราว ๆ 20 บาท ทำให้คนไทยเราก็รู้สึกสบายใจ บางคนถึงกับกล่าวว่า “ตอนนี้จะไปไหนมาไหนก็ไม่ค่อยได้คิดมากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว” ในยุคที่การเมืองที่เต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง ผู้บริโภคจะพอใจอยู่กับตัวเลขที่อิงอยู่กับความรู้สึกเช่นนี้เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เราจะต้องลุกขึ้นมาช่วยกันตรวจสอบ ถามหาความความเป็นธรรม ความพอดีอยู่ตลอดเวลา เมื่อพูดถึงความรู้สึกที่สบายใจขึ้นของคนไทยในขณะนี้ ทำให้ผมนึกเรื่อง “นัสรูดิน” ชายชาวอาหรับโบราณที่คนรุ่นหลังยังตัดสินไม่ได้ว่า เขาเป็นคนเฉลียวฉลาดหรือคนโง่กันแน่…
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ก่อนจะเริ่มต้นเนื้อหา เรามาดูรูปการ์ตูนสนุก ๆ แต่บาดใจและอาจจะบาดตากันก่อนครับ ความหมายในภาพนี้ ไม่มีอะไรมาก นอกจากบอกว่านี่ไงหลักฐานที่พิสูจน์ว่าโลกเราร้อนขึ้นจริง สำหรับภาพนี้บอกว่า ผลการศึกษาพบว่าอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น นักวิชาการ (และนักการเมือง) กำลังระดมกันแก้ปัญหาอย่างขยันขันแข็ง ขอขอบคุณเจ้าของภาพทั้งสองด้วย คราวนี้มาเข้าเรื่องกันครับ ขณะที่โลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ 4 ด้านพร้อม ๆ กัน คือ (1) วิกฤติภาวะโลกร้อน (2) วิกฤติพลังงานที่ทั้งขาดแคลน ราคาแพง ผูกขาดและก่อวิกฤติด้านอื่น ๆ (3) วิกฤติการเงินที่เพิ่งจะเกิดขึ้นหยก ๆ…
ประสาท มีแต้ม
คำนำ “...เวลานี้สังคมไทยมีอาการป่วยอย่างร้ายที่สุด คือ ป่วยทางปัญญา ขอให้พิจารณาดูเถิด เวลานี้ปัญหาสุขภาวะที่น่ากลัวที่สุดคือ ความป่วยทางปัญญา...” พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) มีนาคม 2551 ท่ามกลางกระแสการคิดค้นเรื่อง “การเมืองใหม่” ซึ่งขณะนี้สังคมบางส่วนเริ่มเห็นภาพราง ๆ บ้างแล้วว่ามันเป็นอย่างไร แต่ยังไม่มีความชัดเจนมากนักว่า สังคมไทยจะก้าวไปสู่สภาพนั้นได้อย่างไร และสมมุติว่าเราสามารถเข้าไปสู่สภาพนั้นได้จริง ๆ แล้ว เราจะรักษาและพัฒนาการเมืองใหม่ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีกได้อย่างไร ในที่นี้ ผมจะขออนุญาตนำเสนอหลักการพื้นฐานมาใช้ตอบคำถามดังกล่าว ผมเรียกหลักการนี้ว่า “กฎ 3…
ประสาท มีแต้ม
เมื่อต้นเดือนเมษายน 2551 หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงข่าวว่า "พลังงานเผยไทยผลิตน้ำมันดิบสูงกว่าบรูไน คุยทดแทนนำเข้าปีนี้มหาศาล" (ไทยรัฐ 2 เมษายน 2551)    สาเหตุที่ผู้ให้ข่าวซึ่งก็คือข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานได้นำประเทศไทยไปเทียบกับประเทศบรูไน ก็น่าจะเป็นเพราะว่าคนไทยเราทราบกันดีว่าประเทศบรูไนเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายหนึ่งของภูมิภาคนี้ ดังนั้นเมื่อประเทศไทยเราผลิตน้ำมันดิบได้มากกว่าก็น่าจะทำให้คนไทยเราหลงดีใจได้บ้าง  นาน ๆ คนไทยเราจะได้มีข่าวที่ทำให้ดีใจสักครั้ง   หลังจากอ่านข่าวนี้แล้ว ผมก็ได้ค้นหาความรู้เพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตก็พบว่า…
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ขณะนี้มีผู้คนจำนวนหนึ่งกำลังครุ่นคิดถึง "การเมืองใหม่" ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดนักว่ามันคืออะไรกันแน่ ทราบแต่ว่า "การเมืองเดิม" ซึ่งก็คือการเมืองแบบตัวแทน (representative democracy) กำลังมีปัญหาหลายอย่างและรุนแรงขึ้นทุกขณะบทความนี้จะนำเสนอความล้มเหลวของ "การเมืองแบบตัวแทน" อย่างสั้นๆ พร้อมกับนำเสนอ "การเมืองแบบไฮเพอร์ (hyperpolitics)" ให้พอเป็นประกายเบื้องต้น หากสังคมนี้สนใจก็มีช่องทางให้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมกันต่อไป2. สาเหตุความล้มเหลวของการเมืองแบบตัวแทนเราท่องกันจนขึ้นใจมาตั้งแต่วัยเด็กแล้วว่า สาเหตุสำคัญของการมี "การเมืองแบบตัวแทน" คือเป็นเพราะคนมันเยอะ…