Skip to main content

ในขณะที่คนทั่วโลกกำลังเดือดร้อนกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  แต่ผลกำไรของบริษัทน้ำมันขนาดยักษ์ของโลกกลับเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา มันช่างฝืนความรู้สึกในใจของมนุษย์ธรรมดาๆ ที่คิดว่า “เออ! เมื่อสินค้าราคาสูงขึ้น เขาน่าจะลดกำไรลงมามั่ง เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อนมากนัก”   แต่มันกลับเป็นตรงกันข้าม คือเพิ่มกำไรมากกว่าเดิม  โดยไม่สนใจใยดีกับเพื่อนร่วมโลก

ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยอย่างกรรมกรได้สะท้อนออกมาในวันแรงงานแห่งชาติว่า “ค่าครองชีพแพง แต่ค่าแรงเท่าเดิม”

บทความนี้จะนำเสนอทั้งข้อมูลและความคิดเห็นใน 4 เรื่องต่อไปนี้ คือ (1) ผลประกอบการล่าสุดของบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ 6 อันดับแรกของโลก (2) เส้นทางการค้าน้ำมัน รวมทั้งพ่อค้าน้ำมันที่มีอำนาจทางการเมืองของโลก  ผมจะนำเสนอด้วยภาพที่เข้าใจง่ายและดูสบายๆ  (3) เปรียบเทียบระบบภาษีน้ำมันของประเทศต่างๆ ที่มีผลก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน และ (4) ความไม่รับผิดชอบสังคมของบริษัทยักษ์ทั้งหก  เริ่มกันเลยครับ

(1) ผลประกอบการล่าสุดของบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ 6 อันดับแรกของโลก    

สำนักข่าวบีบีซี (29 เมษายน 2551) รายงานว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทเชลล์ (Royal Dutch Shell) เพียงบริษัทเดียว มีผลกำไรสุทธิถึง 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  ถึง 13%  ถ้าคิดออกมาเป็นเงินบาทก็ประมาณ  2.48 แสนล้านบาท นี่เพียงแค่ 3 เดือนนะครับ ถ้าทั้งปีที่นับรวมช่วงฤดูหนาวเข้าไปด้วยจะเป็นเท่าไหร่

ประเด็นสำคัญของเรื่องข้างต้นนี้ก็คือ  กำไรกลับสูงกว่าปีก่อนถึงถึง 13% นั่นแปลความได้ว่า น้ำมันดิบยิ่งแพง บริษัทน้ำมันยิ่งกำไรขึ้น

เพื่อไม่ให้เรารู้สึกมึนงงกับตัวเลขที่ยังไม่ครบทั้งปีและไม่ครบทุกบริษัท  เรามาดูข้อสรุปผลกำไรประจำปี 2550 ของบริษัทค้าน้ำมันใหญ่ๆ 6 อันดับของโลกซึ่งรวบรวมโดยกลุ่ม “เพื่อนของโลก (Friends of the Earth)”  พบว่า บริษัทใหญ่ 6 อันดับแรกของโลก (คือ  ExxonMobil (บริษัทแม่ของเอสโซ่), Royal Ducth Shell(ของเนเธอร์แลนด์), BP (ของอังกฤษ), Chevron (ซื้อกิจการบริษัทยูโนแคล บริษัท Chevron กำลังจะมาขุดเจาะน้ำมันในทะเลบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช), ENI (ของอิตาลี), TOTAL (ของฝรั่งเศส)) มีผลกำไรรวมกัน 124.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ประชาชาติของไทย

จากข้อมูลที่ผมค้นเพิ่มเติมพบว่า ในปี 2548 บริษัทกลุ่มนี้มีกำไรรวมกัน 95.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  นั่นคือ กลุ่ม 6 บริษัทนี้มีกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี  เป็นไปตามกติกาที่เขากำหนด คือยิ่งวัตถุดิบแพง กำไรยิ่งมาก

(2) เส้นทางการค้าน้ำมัน รวมทั้งพ่อค้าน้ำมันที่มีอำนาจทางการเมืองของโลก

ถ้าถามว่าบริษัทเหล่านี้เป็นของใครบ้าง ชาติใดบ้าง เขาขุดน้ำมันจากประเทศใดไปขายประเทศใด และเกี่ยวข้องกับนักการเมืองระดับโลกอย่างไร   ลองดูจากภาพข้างล่างนี้ครับ

ภาพแรกแสดงแหล่งน้ำมันดิบว่าขุดจากไหน ไปขายที่ไหน

20080506 (1)

สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนจากภาพนี้ก็คือว่า  น้ำมันดิบส่วนใหญ่ถูกส่งไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก  ประชากรอเมริกันมีประมาณ 5% ของโลกแต่ใช้พลังงานถึง 25% ของโลก  ประเทศของตนก็มีน้ำมันดิบจำนวนมาก แต่ไม่ยอมขุดขึ้นมาใช้

สำหรับประเทศผู้ขายน้ำมัน ส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศตะวันออกกลาง  ซาอุฯ อีรัก อิหร่าน  เวเนซุเอรา เม็กซิโก ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ที่น่าตกใจกว่านั้น คือ ประเทศในจีเรีย ทั้งๆที่เป็นประเทศส่งออกน้ำมันดิบอันต้นๆของโลก แต่ประชากรของประเทศนี้กลับยากจนเกือบจะเป็นที่สุดในโลก

มันเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจน้ำมันครับ?

พูดถึงพ่อค้าน้ำมันกับการเมืองโลก  ลองดูรูปเรือข้างล่างนี้ดีๆซิครับ

20080506 (2)

เป็นเรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่ของบริษัท Chevron ข้างเรือมีชื่อ   Condoleezza  Rice ซึ่งเป็นชื่อของผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ธรรมดา

เธอเป็นอดีตผู้อำนวยการของบริษัทนี้ Chevron   แต่ได้ลาออกมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ  เธอเป็นผู้หญิงผิวดำที่เราเห็นในจอทีวีบ่อยๆในข่าวต่างประเทศ  เธอเป็นแม่ค้าน้ำมันและมีอำนาจสำคัญในการตัดสินใจว่าจะยกทหารไปยึดครองบ่อน้ำมันของประเทศใดบ้าง เช่น อีรัก อิหร่าน เป็นต้น

นักการเมืองอีกคนหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ Dick Cheney  ผู้มีตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐ  ผู้นี้เคยทำงานในบริษัท chevron ที่มีความสัมพันธ์และร่วมกิจการกันกับบริษัท Halliburton  (Dick Cheney เป็นประธานบริษัท Halliburton ด้วย)

หลังสหรัฐอเมริกาบุกอิรักจนเกิดความเสียหายยับเยิน  บริษัท  Halliburton ก็ได้รับงานจากรัฐบาลสหรัฐจำนวน  2.5  พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อไปฟื้นฟูประเทศอิรัก   โดยไม่มีการประมูลใดๆ

แน่จริงๆ

สำหรับปัจจัยใดบ้างที่อิทธิพลต่อการกำหนดราคาน้ำมัน  ผมว่าดูจากภาพก็คงเข้าใจนะครับ  ว่าขึ้นกับ 7 ปัจจัย เช่น ขึ้นกับ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ  ยิ่งค่าเงินดอลลาร์ตก ราคาน้ำมันก็สูงขึ้น(สำหรับหลายประเทศ)  การประท้วงของชาวเวเนซูเอรา รวมทั้งนโยบายของประธานาธิบดี เป็นต้น

20080506 (3)

(3) เปรียบเทียบระบบภาษีน้ำมันของประเทศต่างๆ ที่มีผลก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน

ญาติผมคนหนึ่งซึ่งเพิ่งกลับจากการท่องเที่ยวสหรัฐอเมริกาเล่าให้ผมฟังว่า “คนอเมริกันใช้น้ำมันกันอย่างสิ้นเปลืองมาก ราคาน้ำมันก็พอๆกับในบ้านเรา แต่รายได้เขาสูงกว่าเราหลายเท่าตัว”

การที่ราคาน้ำมันของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ส่วนมากแล้วขึ้นกับระบบภาษี ค่าการกลั่น ค่าการตลาดของแต่ละประเทศ  ในที่นี้ผมจะยกมาเปรียบเทียบกันเพียง 3 ประเทศเท่านั้น คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และไทย

กรณีของประเทศไทย ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 ลิตรละ 32.59 บาท โดยมีองค์ประกอบของราคาดังนี้คือ  น้ำมันดิบ 64.0% (20.86 บาท,โดยประมาณ)  ภาษีทุกชนิดรวมกัน 17.7% ค่าการกลั่น 8.8% (เฉลี่ย 2.8665 บาท) ค่าการตลาด 8.8% (2.5772 บาท) ค่ากองทุนน้ำมันและอนุรักษ์พลังงาน 1.53% ( 50 สตางค์)

สำหรับราคาของประเทศสหรัฐอเมริกา ค่าเฉลี่ยของปี 2550  เป็นดังภาพข้างล่างนี้

20080506 (4)

คือเป็นค่าน้ำมันดิบ 58% (ของไทย 64%) เป็นค่าการกลั่น 17% ค่าการตลาด 10% และภาษี 15%  

สำหรับราคาขายปลีกที่ปั๊มในรัฐนิวยอร์ค  เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2551 คิดออกมาเป็นเงินไทยแล้วประมาณลิตรละ 29.36 บาท ซึ่งถูกกว่าในประเทศไทย

สำหรับประเทศเยอรมนี  เท่าที่ผมค้นได้ล่าสุด น้ำมันเบนซินชนิดไร้สารตะกั่วเมื่อเดือน 8 มีนาคม นี้ ราคาลิตรละ  72.82 บาท  ใช่  70 กว่าบาท ในจำนวนนี้  ในจำนวนนี้เป็นภาษีถึง  64% ( 46.60 บาท)

การที่ประเทศเยอรมนี (รวมทั้งประเทศในยุโรปอื่นๆ) คิดภาษีในอัตราสูงเช่นนี้  ทำให้คนบางส่วนออกมาเรียกร้องให้ลดภาษีลง แต่ผลดีที่รัฐบาลมีนโยบายเช่นนี้ ก็คือ ทำให้น้ำมันที่ผลิตจากพืช ไม่ว่าจะเป็นไบโอดีเซล แก๊สโซฮอล สามารถเข้ามาแข่งขันกับน้ำมันฟอสซิลได้

ในช่วงเวลา 15 ปี จาก  2534-2548  ทำให้ยอดการใช้น้ำมันไบโอดีเซลในเยอรมนีเพิ่มขึ้นถึง 7 พันกว่าเท่า ในปี 2548 น้ำมันไบโอดีเซลเข้ามามีส่วนแบ่งการตลาดถึง 12% ในขณะที่ประเทศไทยมีเพียง 0.06% เท่านั้น (ข้อมูลปี 2546)

การที่น้ำมันแพงทำให้คนหันมาประหยัด รถยนต์ส่วนบุคคลในเยอรมนีส่วนมากเป็นคันเล็กๆ ไม่เหมือนในอเมริกาที่ยาวคันละหลายวา

การทำให้น้ำมันราคาถูกอย่างในอเมริกา ทำให้คนไม่รู้จักการประหยัด ใช้อย่างสุรุยสุร่าย จนซดน้ำมันไปถึง 25% ของโลก

อย่าลืมว่าน้ำมัน 1 ลิตรก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 2.5  กิโลกรัม  และก๊าซนี้แหละที่ทำให้ปัญหาโลกร้อน
กราฟข้างล่างนี้แสดงให้เห็นราคาน้ำมันของประเทศญี่ปุ่น ยุโรป และประเทศอเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกากับแคนาดา) ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นว่าราคาน้ำมันในยุโรปเกือบเป็น 3 เท่าของราคาในอเมริกาเหนือ หรือในสหรัฐอเมริกานั่นเองแหละ

ถ้าเราคิดว่าน้ำมันที่เกิดจาการทับถมของซากพืชและสัตว์มานับล้านปีนี้เป็นสมบัติของคนรุ่นหลังด้วย การกำหนดภาษีในอัตราต่ำเกินไป นอกจากจะเป็นการกีดกันไม่ให้ไบโอดีเซลและพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นการเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจของผู้นำการเมืองของอเมริกันรุ่นนี้อีกด้วย  พวกเขาไม่สนใจว่าคนรุ่นหลังจะใช้อะไร พร้อมกับทิ้งพิษภัยโลกร้อนไว้อย่างยากที่จะแก้ไข

20080506 (5)

(4) ความไม่รับผิดชอบสังคมของบริษัทยักษ์ทั้งหก

ผมร่ายยาวใน 3 ประเด็นแรกมากไปหน่อยครับ  ประเด็นสุดท้ายจึงขอนำเสนอเพียงสั้นๆ ว่า กลุ่มสหภาพยุโรป ได้เสนอให้กลุ่มบริษัทน้ำมันช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจำนวน 10%  ในปี 2020  โดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงจากพืช  แต่ให้หันมาใช้วิธีใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ  ปรับปรุงระบบการกลั่น (ซึ่งเป็นเรื่องที่อธิบายยากในที่นี้)  และอื่นๆอีก

แต่ปรากฏว่า บริษัทผลิตน้ำมันไม่สนใจ ทั้งๆที่มีกำไรจำนวนมหาศาลทุกปี ขณะเดียวกันก็โฆษณาว่าลวงโลกว่า ตนเองสนใจแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสียเหลือเกิน

มีโอกาสเหมาะๆแล้วจะนำมาเล่าต่อไปนะครับ

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
    “คดีโลกร้อน” เป็นชื่อที่ใช้เรียกคดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ฟ้องผู้บุกรุกป่า ผู้บุกรุกต้องชดใช้ค่าเสียหาย  ที่ผ่านมามีเกษตรกรถูกฟ้องดำเนินคดีไปแล้วหลายสิบรายทั่วประเทศ ในช่วงปี 2549-52 ในจังหวัดตรังและพัทลุงมีราษฎรถูกดำเนินคดีไปแล้ว 13 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว 7 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินคดี 6 ราย กรมอุทยานฯ ได้เรียกค่าเสียหาย 20.306 ล้านบาท แต่ศาลพิพากษาให้จ่าย 14.76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ประสาท มีแต้ม
    ขณะนี้รัฐบาลกำลังคิดค้นโครงการประชานิยมหลายอย่าง คาดว่าจะประกาศรายละเอียดภายในต้นปี 2554   ทั้งนี้เพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ทำไปทำมานโยบายประชานิยมที่เริ่มต้นอย่างประปรายตั้งแต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช (2518) และเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้ว บทความนี้จะกล่าวถึงนโยบายประชานิยมในเรื่องค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้ารายย่อยไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน โครงการนี้เกิดในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (2551) และใช้ต่อกันมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันและในอนาคตด้วย ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในชนบท…
ประสาท มีแต้ม
    คำนำ เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยเรากำลังมีความขัดแย้งรุนแรงครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาหลายชุด หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) โดยมีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดนี้ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้น โดยขึ้นคำขวัญซึ่งสะท้อนแนวคิดรวบยอดของการปฏิรูปประเทศไทยว่า “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ผมเองได้ติดตามชมการถ่ายทอดโทรทัศน์จากรายการนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ทราบถึงเจตนารมณ์ในการรับฟังความคิดเห็น ได้ชมวีดิทัศน์ที่บอกถึง “ความเหลื่อมล้ำ” …
ประสาท มีแต้ม
  “...ถ้าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 1 องศาเซียลเซียส ความถี่ที่จะเกิดพายุชนิดรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอีก 31% ... ในปี พ.ศ. 2643 อุณหภูมิดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 องศา”   “ผลการวิจัยพบว่า ค่าความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจจะมากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของคนทั้งโลก ทั้งนี้ภายในก่อนปี พ.ศ. 2608”  
ประสาท มีแต้ม
ขณะนี้ทางรัฐบาลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (หรือ กฟผ.) กำลังเสนอให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 700 เมกกะวัตต์  ชาวหัวไทรที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้อาจเกิดความสงสัยหลายอย่าง เป็นต้นว่า 1.โรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกกะวัตต์นั้น มันใหญ่เท่าใด ไฟฟ้าที่ผลิตมาได้จะใช้ได้สักกี่ครอบครัวหรือกี่จังหวัด
ประสาท มีแต้ม
    คำว่า “ไฟต์บังคับ” เป็นภาษาในวงการมวย  หมายความว่าเมื่อนักมวยคนหนึ่ง(มักจะเป็นแชมป์) ถูกกำหนดโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องว่า ครั้งต่อไปนักมวยคนนี้จะต้องชกกับใคร จะเลี่ยงไปเลือกชกกับคนอื่นที่ตนคิดว่าได้เปรียบกว่าไม่ได้
ประสาท มีแต้ม
  ๑.  คำนำ บทความนี้ประกอบด้วย 6 หัวข้อย่อย ท่านสามารถอ่านหัวข้อที่ 6 ก่อนก็ได้เลย เพราะเป็นนิทานที่สะท้อนปัญหาระบบการศึกษาได้ดี เรื่อง “โรงเรียนสัตว์”   ถ้าท่านรู้สึกสนุกและเห็นคุณค่าของนิทานดังกล่าว (ซึ่งทั้งแสบ ทั้งคัน) จึงค่อยกลับมาอ่านหัวข้อที่ 2  จนจบ หากท่านไม่เกิดความรู้สึกดังกล่าว  ก็โปรดโยนทิ้งไปได้เลย ๒. ปัญหาของการศึกษากระแสหลักคืออะไร
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ชื่อบทความนี้อาจจะทำให้บางท่านรู้สึกว่าเป็นการทอนพลังของการปฏิรูป ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แต่ผมขอเรียนว่า ไม่ใช่การทอนพลังครับ แต่เป็นการทำให้การปฏิรูปมีประเด็นที่เป็นรูปธรรม สัมผัสได้ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้ง่าย รวดเร็ว  เมื่อเทียบกับการปฏิรูปมหาวิทยาลัย ปฏิรูปการศึกษาที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ผมได้ตรวจสอบประเด็นของการปฏิรูปของคณะกรรมการชุดที่คุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธานแล้วพบว่า ไม่มีประเด็นเรื่องนโยบายพลังงานเลย บทความนี้จะนำเสนอให้เห็นว่า (1) ทำไมจะต้องปฏิรูปนโยบายพลังงานในทันที  (2) จะปฏิรูปไปสู่อะไร และ (3) ทำอย่างไร เริ่มต้นที่ไหนก่อน  …
ประสาท มีแต้ม
“ในการเดินทาง เรามักใช้ยานพาหนะช่วย   แต่ในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical) เราใช้อะไรเป็นเครื่องมือหรือเป็นพาหนะ”
ประสาท มีแต้ม
“คุณรู้ไหม คนเราสามารถคิดได้เร็วกว่าที่อาจารย์พูดถึงสี่เท่าตัว ดังนั้น เราสามารถฟังและจดโน้ตดี ๆ ได้”   1.    คำนำ ในแต่ละปีผมพบว่า นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง (ซึ่งยังสด ๆ และมองชีวิตในมหาวิทยาลัยแบบสดใสอยู่) จำนวนมากใช้วิธีจดเลคเชอร์ของแต่ละวิชาลงในสมุดเล่มเดียวกัน  เมื่อสอบถามได้ความว่า ค่อยไปลอกและทั้งปรับปรุงแก้ไขลงในสมุดของแต่ละวิชาในภายหลัง  
ประสาท มีแต้ม
1.    คำนำ เราคงยอมรับร่วมกันแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในระดับความคิด ความเชื่อทางการเมือง และวัฒนธรรมซึ่งนักสังคมศาสตร์จัดว่าเป็นโครงสร้างส่วนบน และความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและการทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคม  ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทั้งสองระดับนี้กำลังวิกฤติสุด ๆ จนอาจพลิกผันนำสังคมไทยไปสู่หายนะได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้เป็นปกหน้าและหลังของเอกสารขนาดกระดาษ A4 ที่หนาเพียง 16 หน้า แม้ว่าหลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับศัพท์แสงที่ปรากฏ แต่ผมเชื่อว่าแววตาและท่าทางของเจ้าหนูน้อยในภาพคงทำให้ท่านรู้สึกได้ว่าเธอทึ่งและมีความหวัง บรรณาธิการกรุณาอย่าทำให้ภาพเล็กลงเพื่อประหยัดเนื้อที่ เพราะจะทำให้เราเห็นแววตาของเธอไม่สดใสเท่าที่ควร เอกสารนี้จัดทำโดย “สภาเพื่ออนาคตโลก” หรือ World Future Council (WFC) ค้นหาได้จาก www.worldfuturecouncil.org