หากจะลองค้นหาดูว่าในสังคมไทยเรารักเทิดทูนบูชาอะไร เป็นสิ่งสูงสุดในชีวิต อาจทำได้ด้วยการหาหลักฐานมาบอกว่าเราแสดงความรักกับอะไรมากที่สุด มูลค่าและราคาของสิ่งที่เรารักจนยอมเสียเงินซื้อหามา น่าจะเป็น "ตัวชี้วัดที่ดี" ได้อย่างหนึ่ง
วัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลัง เป็นสิ่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงมาก ถึงขนาดที่มีราคาสวนทางปัญหาเศรษฐกิจ กล่าวคือ ยิ่งเศรษฐกิจตกต่ำ มีความผันผวนความไม่แน่นอนสูง คนกลับจับจองซื้อหามาด้วยราคาที่แพงขึ้นเรื่อยๆ เสมือนว่าเป็นสิ่งที่ต้องได้มาเพื่อแสดง "ความรัก" และหวงแหน บูชา อย่างเข้มข้น
การคลั่งไคล้บริโภคและสะสมวัตถุมงคลหรือลัทธิบูชาคลั่งสินค้าทางศาสนา (religious commodity fetishism) เกิดจากมโนทัศน์เรื่องการหลุดพ้น ที่มีในศาสนาพุทธ เป็นการสะท้อนให้เห็นความปรารถนาที่จะหาคำตอบในเรื่องเป้าหมายสุดท้ายของชีวิต และการตระหนักถึงความไม่สมบูรณ์ ความเปราะบางและความไม่แน่นอนของชีวิต ดังเช่นตัวอย่างงานของ แม็กซ์ เวเบอร์ ที่ศึกษาเปรียบเทียบโลกทัศน์เรื่องการหลุดพ้นของโปรเตสแตนท์นิกายคาลวิน ที่การหลุดพ้นจะเกิดขึ้นโดยการได้รับเลือกจากพระเจ้าให้ไปอยู่กับพระองค์ และการปฏิบัติงานในอาชีพของตนอย่างขันแข็งที่สุดให้ประสบความสำเร็จ คือเครื่องยืนยันว่าพระเจ้าได้ทรงเลือกเขาแล้ว
ส่วนในคำสอนเรื่องการนิพพานของศาสนาพุทธนั้นเป็นหลักคำสอนที่เน้นการละโลกย์โดยสิ้นเชิง จึงเป็นสิ่งที่ปุถุชนปฏิบัติตามได้ยาก การทำบุญจึงเป็นกิจกรรมหลักทางศาสนา อีกทั้งคำสอนในเรื่องกฎแห่งกรรม ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดก็มีผลทางจิตวิทยาที่ทำให้คนไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดในอนาคต ความรู้สึกไขว่คว้าหาความมั่นคงในโลกนี้และการดิ้นรนหนีผลของกรรมในอดีตจึงแสดงออกทางหนึ่ง ในรูปการนิยมดูหมอดู การทำบุญสะเดาะเคราะห์ การนิยมเครื่องรางของขลัง การบนบานศาลกล่าวและการเปิดพื้นที่ให้แก่เทพต่างศาสนาที่สามารถต่อรองอ้อนวอนขอให้ช่วยได้
ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ความผันผวนและปั่นป่วนของโลกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วรุนแรง ทั้งทางด้านการเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ดูเหมือนจะไม่มีจุดสิ้นสุด เศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ที่ผันผวนไปตามมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและมีคู่แข่งขันมากขึ้นทุกที ด้านสังคมที่เครือข่ายความสัมพันธ์และสถาบันทางสังคมเดิมๆค่อยๆสูญเสียพลังในการหลอมรวมผู้คนให้พึ่งพาอาศัยและเป็นหลักประกันซึ่งกันและกัน หรือแม้กระทั่งความโกลาหลทางวัฒนธรรม ซึ่งผู้คนจำนวนมากกำลังเผชิญกับวิกฤตอัตลักษณ์ ไม่อาจสร้างพื้นที่ให้กับตนเอง หรือไม่สามารถผนวกตนเข้ากับอัตลักษณ์ที่มีสถานะ บทบาท อำนาจนำในสังคมนั้นๆ การแสวงหาวัตถุจึงเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วกว่าการสร้างอัตลักษณ์และพื้นที่ผ่านกระบวนการอื่นที่ต้องใช้เวลาและยาก
ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้คนในสังคมนั้นขาดความสามารถในการสร้าง “ประเด็นร่วม” ให้เกิดคำอธิบายและเสนอทางออกแก่ปัญหาที่ดึงคนจำนวนมากมาเข้าใจและสามารถร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหาให้กับสังคม และเอาตัวเองให้รอด คนในสังคมนั้นยิ่งแสวงหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจตน หรือสามารถเชื่อมโยงกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างกว้างขวาง อันเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง หรืออย่างน้อยๆ สร้างความอุ่นใจในฐานะที่พึ่งทางใจ ซึ่งตนสามารถอ้อนวอนร้องขอผ่านพิธีกรรมบูชาที่เข้าใจและปฏิบัติได้ง่ายสอดคล้องกับวิถีชีวิตประจำวันที่รีบเร่งและต้องแข่งขันในแทบทุกวินาทีและทุกพื้นที่ของชีวิตทางสังคม การบูชาวัตถุมงคลจึงดูเป็นทางเลือกที่ผู้คนจำนวนมากในสังคมใช้เสริมสร้างความมั่นใจ และคาดหวังให้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากับการสรรหาวัตถุมงคลเหล่านั้นมาครอบครอง
นอกจากนี้จักรวาลวิทยาของโลกแห่งวัตถุมงคลซึ่งเป็นมรดกทางความคิดแบบสังคมจารีตก็ยังเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และปฏิบัติง่ายกว่าแนวทางอื่นๆ โดยเฉพาะแนวคิดแบบหลังโครงสร้างนิยม เพราะจักรวาลวิทยาแบบสังคมจารีตมีการกำหนด “ความเป็นจริง” ที่แน่นอน และมรรควิธีในการบรรลุเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน และมีลักษณะแยกแยะอย่างจำเพาะจงจงกับกลุ่มคน เช่น การบูชาพระประจำวัน การกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ราศีประจำเดือน การปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับนักษัตรประจำปี ซึ่งบอกผลของการกระทำด้วยว่าหากกระทำแล้วจะประสบผลสำเร็จ และแก้ไขป้องกันเภทภัยที่อาจจะมาถึงตัว เมื่อเทียบกับความคิดของสำนักหลังโครงสร้างนิยม ที่กล่าวถึง ภาวะโลกหลังสมัยใหม่ที่ไม่แน่นอนตายตัว เต็มไปด้วยความหลากเลื่อนที่พร้อมจะไถล และแปรเปลี่ยนสภาพออกไปทุกขณะ และต้องใช้กลยุทธ์อย่างหลากหลายในการจัดการกับความโกลาหลเหล่านั้นแล้ว การสมาทานความความคิดและการปฏิบัติตามแนวทางของจักรวาลวิทยาแบบสังคมจารีตนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจและปฏิบัติง่ายกว่ามาก
อย่างไรก็ดีบริบทของสังคมไทยที่เต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรงและอำนาจอิทธิพลที่อยู่นอกเหนือกลไกการกำกับควบคุมของรัฐ กฎหมาย และบรรทัดฐานทางสังคมรูปแบบต่างๆแล้ว ยิ่งเป็นการบีบทางเลือกของคนในสังคมไทยให้หันเหไปนับถือบูชาวัตถุมงคลให้ดลบันดาลสิ่งที่ปรารถนาซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของตนให้เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็น การอยู่ยงคงกระพัน การเอาชนะไพรีให้พินาศสิ้นไป หรือเป็นที่ชื่นชอบปรารถนามีเมตตามหานิยม ก็แล้วแต่บุคคลว่ามีเงื่อนไขใดที่ต้องฝันฝ่าทะลุทะลวงไปให้ได้
การวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมด้วยทฤษฎีมาร์กซิสม์ จำต้องวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของโครงสร้างส่วนล่างที่เป็นเรื่องเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อ การกำหนดโครงสร้างส่วนบนที่เป็นเรื่องวัฒนธรรมอย่างสัมพันธ์กันกับ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนที่อยู่ในสังคมนั้น การบูชาวัตถุมงคลถือเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนบนของคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย หากวิเคราะห์มูลค่าการซื้อขายเพื่อให้ได้ครอบครองวัตถุมงคลจะเห็นว่ามีมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี และวัตถุมงคลบางรุ่นมีมูลค่าต่อชิ้นนับสิบล้านบาท ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ที่แสวงหาวัตถุมงคลเป็นผู้ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจในระดับชนชั้นกลางตั้งแต่ ชนชั้นกลางระดับบนไปจนถึงชนชั้นกลางระดับล่างที่แสวงหาวัตถุมงคลบางอย่างที่มีราคาถูกและเข้าถึงได้ง่ายกว่าจนทำให้เกิดกระแสการสร้างวัตถุมงคลเชิงพาณิชย์แบบอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองต่อการบริโภคของมวลชน ดังที่เป็นกระแสของ จตุคามรามเทพ รุ่นโคตรมหาเศรษฐีทั้งหลายที่ผลิตกันในช่วงปี 2549-2551
หากวิเคราะห์ว่าเหตุใดผู้คนจึงแห่กันแสวงหาจตุคามรามเทพมาคล้องคอ ก็พบว่า ชื่อรุ่นทั้งหลายที่มักมีคำว่า “เศรษฐี” รวมทั้งเรื่องราวซึ่งร่ำลือกันในเชิงความสำเร็จเชิงเศรษฐกิจ และหน้าที่การงานทั้งหลาย ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนในสังคมอยู่ในวังวนของการแข่งขันในระบบทุนนิยมอย่างรุนแรง และความคาดหวังต่อความสำเร็จเป็นสิ่งที่ยากเย็นมากเสียจนต้องพึ่งพาทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การแสวงหาวัตถุมงคลมาบูชาจึงเป็นวิธีการหนึ่งในการแข่งขัน
จากกระแสการสร้างจตุคามรามเทพ และการทำพระเครื่องของเกจิอาจารย์ดังทั้งหลาย ล้วนเป็นประจักษ์พยานของกระบวนการ “การทำพระเครื่อง เครื่องราง ของขลัง ให้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม” ตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งต้องการบริโภคความหมาย สัญญะ หรือแม้กระทั่งต้องการสร้างอัตลักษณ์ให้กับตนเอง การแสดงออกของบุคคลที่เด่นดังในสังคม เกี่ยวกับการบูชาวัตถุมงคลจนเกิดเป็นกระแสหรือแฟชั่น เอาอย่างไอดอล ต้นแบบ เพื่อหวังว่าจะประสบผลสำเร็จในเรื่องเดียวกับเรื่องที่บุคคลต้นแบบเหล่านั้นบอกเล่า หรือแสดงภาพตัวแทน ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของ ดารา นักแสดง นักธุรกิจ ทั้งหลาย ที่มักแสดงออกทั้งในทางตรงและทางอ้อมว่าได้เข้าร่วมพิธีกรรมบูชาวัตถุมงคลรูปแบบต่างๆ และคนในสังคมก็เห็นถึงความสำเร็จของดารา นักธุรกิจ เหล่านั้น ได้ผลักดันให้เกิดการบริโภคตามอย่างแพร่หลาย เนื่องจากภาพลักษณ์เกี่ยวกับวัตถุมงคลที่ดาราเหล่านั้นสะท้อน และเรื่องราวที่เกิดจากการบอกเล่าของเขาเหล่านั้น ได้ก่อให้เกิดเครือข่ายวาทกรรมที่สามารถแทรกซึม ทำซ้ำ และครอบงำผู้คนที่เห็นสัญญะและรับรู้เรื่องราว จนสามารถบงการความคิดและการกระทำของผู้อยู่ใต้วาทกรรมอย่างแพร่หลายและลึกซึ้ง
ดังตัวอย่างของ การสักยันตร์ห้าแถวกับอาจารย์หนู หรือบูชาตะกรุดของเกจิอาจารย์ หากได้สลักตัวของตนเข้ารวมอยู่กับสังกัดที่มีคนดังอยู่ร่วมสำนักเดียวกันก็จะสร้างความภาคภูมิและเชื่อมั่นไม่น้อยว่า นอกจากตนจะได้ที่มีอิทธิฤทธิ์ในด้านต่างๆ ดังที่บอกเล่ากันแล้ว ตนก็จะกลายสภาพเป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่มสังกัดที่มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ในเครือข่ายเดียวกันเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับเรื่องนี้อีกกรณีก็คือ การเป็นลูกศิษย์ของพระเกจิอาจารย์ดัง การปฏิบัติธรรมกับวัดในเครือข่ายนิกายดัง หรือฤาษีแห่งอาศรมเลื่องชื่อ ก็ได้ช่วยให้คนในเครือข่ายเหล่านั้นสามารถอุ้มชูและอุปถัมภ์กันและกันจนประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า คนที่ดิ้นรนด้วยตัวคนเดียว
เมื่อวิเคราะห์ในประเด็น “การประกอบสร้างตัวตน” โดยอาศัยพิธีกรรมบูชาวัตถุมงคล ก็จะเห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเริ่มเข้าวงการบูชาวัตถุมงคลด้วยเหตุผลเกี่ยวกับการทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่สาธารณะ เช่น การเข้าวงเพื่อนฝูงในหมู่ผู้ชายตามโต๊ะพระเครื่อง หรือการตระเวนทำบุญไปตามท้องถิ่นต่างๆของสตรี ก็ล้วนเป็นกิจกรรมทางสังคมโดยมีวัตถุมงคลเป็น “สื่อกลาง” เพื่อสร้างลักษณะร่วมกับผู้อื่น แต่ก็มีความหลากหลายอยู่ในการเลือกใช้ สัญญะและความหมาย ทำให้เกิดความหลากลื่นทางสถานะ ดุจดัง การสะสม พระสมเด็จชุดเบญจภาคีที่ถือเป็นสุดยอดพระเครื่อง ซึ่งในชุดก็มีพระสมเด็จต่างๆ เช่น พระรอด พระนางพญา พระผงสุพรรณ ฯลฯ ซึ่งมีพุทธคุณแตกต่างหลากหลายกันออกไป
ทำให้ผู้ครอบครองสามารถบิดหมุนนำพุทธคุณของพระในชุดมาแสดงพุทธานุภาพให้เหมาะกับสถานการณ์ของตนได้อย่างกว้างขวางและหลากหลายเหมาะกับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญมากขึ้น และเมื่อประกอบรวมเข้ามาเป็นชุดก็สร้างพุทธนุภาพเพิ่มพูนเจิดจรัสเป็นที่สุด กิจกรรมได้ให้กำเนิดการรวมกลุ่มของผู้ที่นับถือบูชาพระสมเด็จชุดเบญจภาคีซึ่งเป็นที่นับหน้าถือตาของคนในวงการ กระนั้นผู้เป็นเจ้าของแต่ละคนก็ย่อมมีเหตุผลหรือความรู้สึกต่อพระชุดนี้ในเชิงที่มาที่ไป และการนำไปใช้เป็นการเฉพาะแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละบุคคลด้วย เช่น นักธุรกิจต้องการร่ำรวย นักการเมืองต้องการคะแนนนิยม ข้าราชการต้องอำนาจ เซียนพระต้องการความเชื่อถือ ฯลฯ
ในท้ายที่สุดการบูชาวัตถุมงคลยังถือเป็นกลยุทธ์เชิงรุกในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ เครือข่าย และต้นทุนให้กับตนเอง เพื่อใช้ปฏิบัติการเชิงอำนาจในชีวิตประจำวัน เนื่องจากวัตถุมงคลแต่ละชิ้นมีการอัดแน่นความหมายและคุณค่าทั้งหลายไว้ในวัตถุมงคลเหล่านั้น และสามารถพลิกผันเอาวัตถุมงคลนั้นมาเป็นต้นทุนในการแข่งขันในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย กล่าวคือ วัตถุมงคลบางชิ้น มีทั้งราคาซึ่งเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ มีทั้งเครือข่ายทางสังคมของคนที่ได้ครอบครองและบูชาวัตถุมงคลซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคม มีทั้งคุณค่าในเรื่องความหายากและเงื่อนไขของการได้มาซึ่งถือเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม และอาจจะมีภาพลักษณ์สูงส่งจากที่มาซึ่งมีปูชณียบุคคลเป็นผู้จัดสร้างขึ้นมา
ดังปรากฏในตัวอย่างของ พระสมเด็จจิตรลดาของแท้ที่จะได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น จนทำให้คนจำนวนมากแทบพลิกแผ่นดินหาพระที่มีจำนวนจำกัดและทรงคุณค่าชุดนี้ จากความฝันอันสูงสุดที่ไม่อาจเป็นไปได้นำมาซึ่งปรากฏการณ์พระกำลังแผ่นดินของ เสี่ยอู๊ด ซึ่งเป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจนไปรษณีย์และธนาคารหลายแห่งรับสั่งจอง จนเป็นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งเมื่อมีการตรวจสอบว่า พระรุ่นนี้มีการโฆษณาที่แอบอ้างมวลสารของพระสมเด็จจิตรลดา แต่ไม่ได้รับพระราชานุญาตให้ใช้มวลสารและตั้งชื่อ จนสุดท้ายกลายเป็นคดีการฉ้อโกง จนเสี่ยอู๊ดต้องโทษทางอาญา ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการวัตถุมงคลมาบูชาไว้กับตนเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนความคิดของคนในสังคมไทยที่มีความต้องการเสริมสร้างต้นทุนให้กับตนเองทุกวิถีทาง เพื่อเพิ่มอำนาจในการแข่งขัน ต่อสู้ และต่อรอง อันเป็นการเปิดพื้นที่เพื่อประทับอัตลักษณ์ของตนให้ปรากฏแก่สังคม
คงเห็นกันบ้างแล้วนะว่า ทำไมในสังคมทุนนิยมและวิทยาศาสตร์ที่วัดกันด้วยตัวเลข จึงมีคนแสดงออกได้สวนทางกับเหตุผลทางเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ได้มากขนาดนั้น คำตอบที่คนไทยทั้งหลายคงสัมผัสได้ร่วมกัน ก็คือ "ความเสี่ยง" ที่เกิดจาก "ความไม่แน่นอน" ที่เกินจะคาดเดาและเหนือการควบคุมของเรา และมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งนั่นเอง
ยิ่งเรารู้สึกว่าเสี่ยงที่จะเสียไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งแสดงความรักออกไปเพื่อฉุดรั้งไว้มากเท่านั้น เราต้องรักตัวเองและความมั่นคงในชีวิตตัวเองมากก็เพราะสังคมนี้ไม่กล้าพอที่จะเสียสละร่วมกันเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาจัดการกับความเสี่ยงสารพัดอย่างนั่นเอง