ความเคลื่อนไหวล่าสุดของโครงการจัดทำ แผนแม่บททางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฉบับที่ 2 ของประเทศไทย เพื่อประกาศใช้ระหว่าง พ.ศ. 2552 – 2556 ยังอยู่ในระหว่างการเร่งจัดทำร่าง เพื่อประกาศใช้ให้ทันการเริ่มต้นใช้งานในปีหน้า
ข้าพเจ้ามีโอกาสได้อ่านแผนแม่บทฉบับร่างดังกล่าว ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เตรียมเพื่อใช้ประกอบการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ระหว่างวันที่ 4-13 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะเป็นฉบับล่าสุด ที่กระทรวงฯเปิดเผยและประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะ (ท่านผู้อ่านสามารถอ่านข้อมูลของโครงการจัดทำแผ่นแม่บทนี้ เพิ่มเติม รวมทั้ง download เอกสารประกอบต่างๆได้ที่ http://ictmasterplan.setec.nectec.or.th/)
หลักจากได้อ่านร่างแผนแม่บทข้างต้นแล้ว ทำให้เกิดประเด็นหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าอยากนำมาพูดถึงในวันนี้คือ ประเด็นเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของแผนฯ ซึ่งมีใจความว่า
“ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand) มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารอย่างชาญฉลาด ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนทุกระดับมีความรอบรู้ สามารถเข้าถึงและใช้สารสนเทศอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน (Smart People: Information Literate) มีการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีธรรมาภิบาล (Smart Governance) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน”
จากสาระสำคัญข้างต้น ข้าพเจ้ามีความเข้าใจว่า กระทรวงฯในฐานะตัวแทนของรัฐบาลซึ่งอยู่ในฐานะตัวแทนของประชาชนในการบริหารประเทศ ให้ความสำคัญกับการมุ่งสู่การเป็นประเทศแห่งเศรษฐกิจพอเพียง ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเทคโนโลยีอย่างมีธรรมภิบาลของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ภาคประชาชน
และหากความเข้าใจข้างต้นของข้าพเจ้าถูกต้อง 2 ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าสำคัญมากและจำเป็นต้องรีบหาคำตอบ รวมทั้งการทำให้เกิดความสอดคล้อง ทั้งในระดับนโยบายและในระดับปฏิบัติ นั่นคือ
หากรัฐต้องการสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศโดยใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง การใช้งาน ICT จะเข้าไปมีบทบาทอย่างไร และต้องมีนโบาย แผนการดำเนินการ และการประเมินผลที่สะท้อน ความสอดคล้องของผลการดำเนินการกับเป้าหมาย อย่างมีประสิทธิภาพ ได้อย่างไร
ปัญหาสำคัญทางด้าน ICT ที่รัฐตระหนักตอนนี้คือ ปัญหาการใช้งานและบริหารจัดการ ICT อย่างไม่มีธรรมภิบาลของทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นปัญหาที่ที่มีมิติทางสังคม มากกว่าทางเทคโนโลยี โดยต้องการการรณรงค์แก้ไขทัศนคติ จิตสำนึก และค่านิยมทางสังคม มากกว่าการใช้การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งสะท้อนภาพสำคัญที่ว่า กระทรวงฯต้องเน้นการดำเนินการในมิติทางสังคมมากขึ้น คำถามก็คือกระทรวงจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร และจะมีการประเมินผล ที่สะท้อน ความสอดคล้องของผลการดำเนินการกับเป้าหมาย อย่างมีประสิทธิภาพ ได้อย่างไร
สิ่งที่ข้าพเจ้ากังวลจากปัญหาแรกข้างต้น คือ ข้าพเจ้าไม่เห็นภาพสะท้อน ของการให้ความสำคัญกับการประยุกต์หลักการเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อใช้เป็นพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ ในส่วนอื่นของร่างแผนฯ นอกจากในวิสัยทัศน์เท่านั้น
อีกทั้งตัววัดผลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ยังเป็นการนำตัวชี้วัดจากระดับสากลมาใช้ ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรหากประเทศไทยจะอิงกับมาตรฐานสากล แต่แน่นอนว่าเป็นแนวทางการวัดผลที่ใช้ประยุกต์ใช้หลักการทางเศรษฐกิจอื่น มากกว่าที่จะสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจพอเพียง
ประเด็นสอดคล้องกับปัญหาข้อที่ 1 ซึ่งข้าพเจ้าอยากเพิ่มเติมคือ กระทรวงฯและรัฐควรให้ความสำคัญกับ การพัฒนาการใช้งาน ICT ของภาคการเกษตร อย่างมากถึงมากที่สุด ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าภาคการเกษตรยังคงเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในความคิดของข้าพเจ้า ยังคงเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีอัตราการรับรู้ ยอมรับ และใช้งาน ICT เพื่อการพัฒนาความสามารถ อยู่น้อยมากถึงน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบระหว่างภาคอุตสาหกรรมหลักต่างๆของประเทศ
ในส่วนของปัญหาข้อที่ 2 ข้าพเจ้ามีความกังวลใจเกี่ยวกับ แนวโน้มความต้องการการดำเนินการในมิติทางสังคมที่มากขึ้น ซึ่งต้องการการวัดผลที่สะท้อนความสอดคล้อง ระหว่างผลการดำเนินการกับเป้าหมาย อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งข้าพเจ้ายอมรับว่ามีความยาก ทั้งในส่วนของการกำหนดวิธีการวัดผล และในส่วนของการดำเนินการวัดผล ด้วยความเข้าใจในมิติทางสังคม ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าต้องการการวัดผลเชิงคุณภาพ เช่นการทำวิจัยเชิงคุณภาพ มากกว่าเป็นการวัดผลผ่านตัวแปรเชิงปริมาณ เช่นการสำรวจทางด้านปริมาณต่างๆ อย่างเช่นที่ได้กำหนดไว้ในร่างแผนแม่บทดังกล่าว
ข้าพเจ้าเห็นว่า ร่างแผนแม่บททางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฉบับที่ 2 ของประเทศไทย เพื่อประกาศใช้ระหว่าง พ.ศ. 2552 – 2556 ซึ่งมีวิสัยทัศน์หลักคือ การมุ่งสร้างประเทศไทยให้เป็นสังคมอุดมปัญญา เป็นแผนที่มีความตั้งใจและมีเป้าหมายที่ดี โดยเปลี่ยนความสนใจจากการมุ่งสร้างและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานทางเทคโนโลยีด้าน ICT พื้นฐานของประเทศ มาเป็นการมุ่งให้ความสำคัญมากขึ้นกับการใช้งาน ICT อย่างมีธรรมภิบาล
อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าเห็นว่า ร่างแผนแม่บทดังกล่าว ซึ่งต้องใช้เวลาและผ่านหลายขั้นตอนในช่วงของการพัฒนาแผน เกิดปัญหาการตกหล่นและความไม่สอดคล้อง ระหว่างความตั้งใจในตอนต้น(วิสัยทัศน์) กับผลลัพธ์ในบั้นปลาย(เป้าหมายทางยุทธศาสตร์) ดังที่ได้ชี้ให้เห็นในประเด็นปัญหาที่ 1
นอกจากนี้ ดังที่ได้ชี้ให้เห็นในประเด็นปัญหาที่ 2 ข้าพเจ้ามีความห่วงใยเกี่ยวกับแนวทางการวัดผลภายใต้ร่างแผนแม่บทนี้ เนื่องจากเป้าหมายการดำเนินการส่วนใหญ่ มีแนวโน้มของการมีมิติทางสังคมมากขึ้น ซึ่งต้องการการวัดผลเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ เพื่อสะท้อนความสอดคล้องระหว่างผลการดำเนินการกับเป้าหมาย อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การวัดผลการดำเนินการส่วนใหญ่ภายใต้ร่างดังกล่าว ยังมีแนวโน้มการวัดผลในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ
ประเด็นปัญหาข้างต้น เป็นประเด็นที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในการจัดทำนโยบายของภาครัฐ ซึ่งต้องใช้เวลานานและมีความเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย การทบทวนใน 2 ประเด็นปัญหาข้างต้น ย่อมจักทำให้เกิดความสอดคล้องตลอดการดำเนินการนามแผน และทำให้การวัดผลสะท้อนภาพความสำเร็จที่แท้จริง ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของแผนการดำเนินการดีๆฉบับนี้ได้อย่างแน่นอน
อยากเห็นประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา โดยไม่ลืมปิดจุดบกพร่องสองจุดข้างต้นนี้เร็วๆ เพราะเบื่อสังคมไทยที่อุดมแต่ปัญหาในปัจจุบันเต็มที