Skip to main content

สายโขงยังตัดไม่ขาด สายสวาทตัดขาดอย่างไร
ตัดบัวก็ยังไว้ใย ตัดน้ำใจยังมีเมตตา
ค่อยอิง ค่อยอาศัยกัน เอาไว้รักกันในวันข้างหน้า
มาเถิด มาเถิดแก้วตา รำวงดีกว่าร่าเริงหัวใจ รำวงดีว่าร่าเริงหัวใจ....

เสียงเพลงแหบพร่าลอยตามสายลมไกลออกไป จนเงียบหายไปกับโค้งขอบฟ้ากลางคืน นานครั้งชายชราจะร้องเพลง แต่บทเพลงที่ชอบร้องสม่ำเสมอคือเพลงนี้

ค่ำคืนนี้อากาศหนาวเย็นลง ชายชราจึงก่อกองไฟ เพื่อผ่อนเบาความหนาว เนิ่นนานที่กองไฟสว่างไสว แต่เมื่อฟืนที่กองสุมไว้ในตอนเย็นใกล้หมด แสงไฟก็สลัวลง เปลวไฟมีอยู่น้อยนิดเหมือนจะมอดดับลงทุกครั้งยามสายลมพัดเข้ามา พอสายลมพัดผ่านไป แสงไฟก็สว่างขึ้นมา หลังแสงไฟสว่าง แสงตะเกียงในกระท่อมก็ดับวูบลง ในกระท่อมมีเสียงกระแอมไอดังขึ้น แล้วทุกอย่างก็เดินทางไปสู่ความเงียบ...

ฟ้ากลางคืน พระจันทร์แรมหนึ่งค่ำเปล่งแสงสีเหลืองนวล เงาจันทร์บนสายน้ำสั่นไหวไร้รูปทรงตามแรงไหลของสายน้ำ สายลมกลางคืนหนาวเหน็บอย่างที่เคยเป็นมา

เดือนนี้ลมเหนือเริ่มพัดลงใต้เป็นสัญญาณบอกกล่าวการเปลี่ยนผ่าน ฤดูหนาวมาเยือนแล้ว สายน้ำสีขุ่นเหลืองในฤดูฝนลดความขุ่นเหลืองลงบ้าง สายน้ำไหลเอื่อยแผ่วเบา เรียวคลื่นเล็กๆ จากการไหลของน้ำเคลื่อนเข้าหาฝั่งช้าๆ หลังคลื่นลูกเก่าหายไป คลื่นลูกใหม่ก็เข้ามาแทน แม่น้ำได้ทอดตัวข้ามผ่านทุกสิ่งทุกอย่างที่เดินทางไปถึง แม่น้ำเป็นอยู่อย่างนี้มาชั่วนาตาปี และจะเป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยไป...

ชีวิตของคนเราก็ไม่ต่างอะไรกับแม่น้ำ เพราะบางครั้งแม่น้ำก็เป็นถนนให้เรือ และสรรพชีวิตได้เดินทางผ่าน แม่น้ำนิ่งเฉยเพื่อรองรับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็นั้นแหละ ในบางครั้งแม่น้ำอาจแสดงความโกรธออกมาบ้าง ทุกครั้งที่แม่น้ำแสดงความโกรธออกมา น้ำจำนวนมหาศาลก็จะไหลบ่าท่วมทุกสิ่งทุกอย่าง ชีวิตคนเราก็เช่นกัน บางครั้งเราต่างทอดกายเป็นถนนให้เรื่องราวต่างๆ ได้ข้ามผ่าน บางครั้งเราก็นิ่งเฉยเพื่อรองรับเรื่องราวทั้งดี-ร้ายเช่นกัน

เมื่อชายชราเดินทางไปสู่การหลับ เบื้องล่างตรงท่าน้ำ เรือหาปลาถูกผูกโยงอยู่กับเสาไม้ไผ่โคลงเคลงไปตามจังหวะของคลื่น เสียงร้องของแมลงกลางคืนสะท้อนไปทั่วป่าริมฝั่งน้ำ ตุ๊กแกบนต้นไม้ส่งเสียงร้องขึ้นมาอีกครั้ง ความจริงแล้ววันนี้ทั้งวัน มันร้องมาไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้ง สิ้นเสียงร้องของตุ๊กแกตัวนั้น ตุ๊กแกอีกตัวหนึ่งที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำก็ร้องขึ้นมา เหมือนว่าตุ๊กแกสองตัวกำลังพูดคุยโต้ตอบกันข้ามฝั่งน้ำ หากสามารถรับรู้ภาษาของมันได้ เราคงได้รู้ว่าตุ๊กแกสองตัวพูดคุยโต้ตอบกันเรื่องอะไร

ฤดูหนาวหลังน้ำลด หาดทรายโผล่พ้นน้ำเป็นแนวยาวไปตามริมฝั่ง หาดทรายบางส่วนมีต้นไคร้ขึ้นคลุม ตรงหาดทรายที่ไม่มีต้นไคร้ขึ้นคลุมและราบเรียบเสมอกัน ชายชราได้สร้างกระท่อมขึ้นมาหลังหนึ่ง ข้างกระท่อมเป็นแปลงผัก ๔-๕ แปลง มีผักหลายอย่างอยู่ในแปลง ผักเหล่านี้ชายชราไม่เคยต้องบำรุงด้วยปุ๋ยชนิดใด เพราะตะกอนทรายที่น้ำพัดมาทับถมกัน ในนั้นจะมีชากพืชที่ถูกน้ำท่วมตายและเป็นปุ๋ยชั้นดี ผักจึงงามไร้สารเคมี

พูดถึงเรื่องกระท่อมแล้ว ปีที่ผ่านมา กระท่อมหลังนี้ไม่ได้อยู่ตรงนี้ มันถูกผูกโยงอยู่ในน้ำเป็นเรือนแพ หน้าฝนปีนี้กระท่อมถูกนำกลับขึ้นมาบนฝั่ง โดยเจ้าของกระท่อมให้เหตุผลว่า มันอยู่ในน้ำนานไป ไม้ไผ่ผุ ปีนี้ก็เลยเอาขึ้นมาไว้บนฝั่ง

เมื่อมองดูกระท่อมและหันกลับมามองดูเจ้าของ ในความคิดของผมทั้งสองสิ่งมีบางอย่างเหมือนและแตกต่างกัน กระท่อมสร้างขึ้นมาเพื่อคุ้มแดดคุ้มฝน เสาของมันโย้ไปโย้มาจะพังแหล่มิพังแหล่ เจ้าของก็เช่นเดียวกัน ด้วยอายุที่มากขึ้น บางครั้งก็เจ็บป่วยนอนซมอยู่หลายวัน แต่กระท่อมและเจ้าของแตกต่างกันตรงที่เจ้าของยังแข็งแรง และยังทำงานที่ตัวเองถนัดได้ดี อีกทั้งสุขภาพก็ยังดี ส่วนกระท่อมโดนฝนโดนลมอีกไม่กี่ครั้งก็คงพังครืนลง

บางครั้งการปลูกสร้างบางสิ่งขึ้นมาใช่ว่ามันจะดีพร้อมเสมอไป การสร้างกระท่อมของชายชราก็เช่นเดียวกัน แม้ในสายตาของคนอื่นมันดูไม่แข็งแรง แต่ก็นั่นแหละไม่มีใครเข้าใจชายชราอย่างแท้จริงว่า ทำไมแกจึงไม่สร้างให้แน่นหนา

ในความรู้สึกของชายชรา แกอาจไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องกระท่อมเท่าใดนัก เพราะกระท่อมที่มีอยู่หาได้เป็นสิ่งที่ชายชรายึดถือในความเป็นอยู่ของมัน ใจต่างหากที่ชายชรายึดถือ เพราะถ้าทำใจให้เป็นสุขพอเพียงกับทุกๆ สิ่งที่มีอยู่ ชีวิตก็จะมีความสุข แม้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องราวเล็กน้อยก็ตามที

แม้ช่วงนี้จะเป็นหน้าแล้ง แต่สายน้ำก็ยังไหลวนกระทบแก่งหินน่ากลัว ความกลัวเช่นนี้อาจเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงกลางวัน แต่ในเวลากลางคืนคงไม่น่ากลัวมากนัก เพราะมองไม่เห็น บางทีการมองเห็นของมนุษย์ บางครั้งมันก็นำเราไปสู่ความกลัว พูดถึงเรื่องความกลัวแล้ว มีบางคนบอกว่าสิ่งที่มองไม่เห็นน่ากลัวกว่าสิ่งที่มองเห็น เราไม่รู้หรอกว่าในความจริง ความกลัวของมนุษย์เกิดจากอะไรกันแน่

ว่ากันว่า ในฤดูหนาวกลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ขณะเวลาเดินทางผ่านไปจากนาทีเป็นชั่วโมง จากชั่วโมงเป็นหลายชั่วโมง ความหนาวเหน็บยาวนานในค่ำคืนก็ผ่อนคลายลง เมื่อแสงแรกแห่งวันปรากฏขึ้นเหนือยอดดอยด้านทิศตะวันออก เมื่ออรุณเบิกฟ้า นกจอนทรายฝูงหนึ่งก็โผบินขึ้นจากดอนทรายกลางน้ำ การดำเนินชีวิตในวันใหม่ของสิ่งมีชีวิตได้เริ่มขึ้นอีกครั้งแล้ว

หลังอรุณเบิกฟ้า เปลวไฟจากเตาไฟข้างกระท่อมค่อยๆ ดับลง ควันไฟสีขาวหม่นลอยล่องขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วจางหายไป ยามเช้าก่อนพระอาทิตย์จะมาเยือน ทุกอย่างรอบกระท่อมสลัวรางในม่านหมอกสีเทา หลังจมอยู่กับการหลับในค่ำคืนตอนค่อนรุ่งชายชราก็ตื่นนอน เพื่อหุงข้าว ก่อนจะออกไปหาปลา หากพูดถึงการนอนของชายชราแล้ว ในความเป็นจริงหนึ่งคืน ชายชราได้นอนเพียงเล็กน้อย เพราะช่วงตี ๒ แกจะเอาเรือออกไปช้อนกุ้งตามฟดที่วางไว้ริมฝั่ง กว่าจะกลับมาก็เกือบตี ๔ พอตี ๕ กว่าก็ตื่นขึ้นมาก่อไฟนึ่งข้าว หลังจากจัดแจงข้าวนึ่งลงในแอ๊ปข้าวเรียบร้อย ชายชราก็เดินลงไปยังเรือที่ผูกไว้ ทุกยามเช้าไม่ว่าฝนตก แดดออก สิ่งที่ชายชราทำมาเป็นประจำคือเอาเรือออกหาปลา เช้านี้ก็เช่นกัน ยามเช้าจึงเป็นจุดหมายสำหรับการเริ่มต้นของสรรพชีวิตรวมทั้งชายชราด้วย...

หากสังเกตให้ดีจะพบว่า คนหาปลาที่มีเรือนิยมผูกเรือไว้กับริมฝั่ง เพื่อให้เรือได้โดนน้ำอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าหากเรือไม่ได้โดนน้ำ เวลาเอาไปใช้ ไม้ที่นำมาทำเรืออาจแตก และเรือก็จะใช้การไม่ได้ เพราะต้องนำขึ้นมาอุดรูแตกร้าวด้วยการชัน เพื่อสมานแผลแตกร้าวที่เกิดขึ้นกับเนื้อไม้ เรือหาปลาลำหนึ่งหากดูแลรักษาดีก็จะใช้ได้ ๔-๕ ปี แต่ถ้าดูแลไม่ได้ อย่างมากก็ใช้ได้เกิน ๓ ปี

เมื่อพูดถึงเรือ คนหาปลาหลายคนรวมทั้งชายชราด้วย พวกเขาจะมีวิธีการเลือกไม้มาทำเรือแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนมากไม้ที่นำมาทำเรือคือไม้ตะเคียน เพราะไม้ตะเคียนเป็นไม้ที่หนักกว่าไม้อื่น เวลาเอาลงน้ำแล้วจะลอยน้ำดี ทนแดดทนฝน ในการเลือกไม้มาทำเรือ ช่างทำเรือคือ คนชี้เป็นชี้ตายให้กับเรือแต่ละลำ ในการเลือกไม้มาทำเรือ ช่างที่มีความเป็นมืออาชีพจะเลือกสรรไม้ที่ถูกต้องตามตำราเท่านั้น เมื่อเรือแต่ละลำทำจากไม้ถูกต้องตามตำรา พอเอาเรือลงน้ำเจ้าของเรือก็จะหาปลาได้เยอะ

ในการเลือกไม้มาทำเรือแต่ละครั้ง ช่างทำเรือจะเลือกเอาไม้ การเลือกเรือเพื่อใช้หาปลานั้น คนหาปลาที่มีฝีมือ และเป็นช่างไม้จะตัดไม้มาทำเอง ส่วนคนหาปลาที่ไม่ใช่ช่าง และทำเรือไม่เป็นก็จะซื้อหรือให้ช่างทำเรือให้ โดยเจ้าของเรือจะเลือกไม้ทำเรือด้วยตัวเอง

ในการทำเรือนั้น การดู ‘ตาเรือ’ หรือการดูวงรอบที่อยู่ในเนื้อไม้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับคนหาปลาที่คิดจะทำเรือ เพราะตาเรือที่ดีที่ทำให้หมานมีอยู่ไม่กี่แห่งบนไม้หนึ่งแผ่น

สำหรับการดูตาไม้มาทำเรือนั้น ช่างทำเรือจะเลือกไม้มีตา ๔ แบบอันเป็นตำราที่ตกทอดกันมา ตาบนไม้ ๔ ลักษณะคือ ‘ตาห้อยเงิบ’ หมายถึงตาบริเวณกาบเรือข้างที่คนหาปลาใช้ห้อยปลา ‘ตาสามเส้า’ หมายถึงตาสามตาบนพื้นเรือเหมือนก้อนเส้า ‘ตาซะน้ำ’ หมายถึงตาที่อยู่ระหว่างเครื่องยนต์เรือกับคนนั่ง     ’ตาปลดปลา’ หมายถึงตาที่อยู่ข้างเรือที่คนหาปลาปลดปลาออกจากเครื่องมือหาปลา คนหาปลาเชื่อว่า ตาเรือที่ทำให้หมานต้องเป็นตาด้านหัวเรือเท่านั้น

นอกจากตาเรือทำให้หมาน-หาปลาได้เยอะแล้ว ยังมีตาเรือที่ไม่ทำให้หมานคือ ’ตาจี้ง่อน’ คือหมายถึงไม้ที่มีตาอยู่ข้างหลังบนพื้นเรือ เรือแบบนี้จะทำให้เจ้าของต้องเจ็บป่วยหรือหาปลาได้ไม่หมานอยู่ตลอด ’ตาปั่นพื้น’ ซึ่งอยู่ตรงกลางเรือก็จะทำให้เรือจะล่มได้บ่อย เพราะตาเรือปั่นเจาะลงไปในพื้นคล้ายสว่าน เรือลำใดที่มีตาชนิดนี้ เรือจะเสียบ่อย และหาปลาไม่ค่อยได้ วิ่งก็ไม่ค่อยออก

ถึงแม้ว่ากฏเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาเหล่านี้ คนตั้งขึ้นมา และคนเรานี่เองเปลี่ยนแปลงกฏอันนั้น เมื่อคนหาปลาหรือช่างทำเรือบางคนเลื่อยไม้มาแล้ว แต่ไม้มีตาหมานอยู่ทางโคนไม้ ช่างก็จะแก้เคล็ดด้วยการเอาทางโคนไม้มาเป็นหัวเรือ เพราะมีตาหมานอยู่ แต่ส่วนมากเวลาทำเรือจะไม่ค่อยเอาทางโคนไม้มาไว้ทางหัวเรือหรอก

การทำเรือนอกจากช่างทำเรือหรือเจ้าของเรือจะดูลักษณะไม้แล้ว เรือลำหนึ่งยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่าง แต่องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ ไม้ที่ถูกเลือกมาทำเรือนั่นเอง

หลังจากทำเรือลำหนึ่งเสร็จสิ้นลง เมื่อเอาเรือลงน้ำครั้งแรก เจ้าของเรือก็จะทำการเลี้ยงเรือ การเลี้ยงเรือก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของเจ้าของเรือแต่ละคน เจ้าของเรือบางคนก็ให้ผู้หญิงเดินเข้าไปเหยียบย่ำตามพื้นเรือตั้งแต่หัวเรือจนถึงท้ายเรือ เวลาเหยียบก็ให้พูดไปด้วยว่า เรือลำนี้ทำไมไม้อ่อนจัง เพื่อจะได้พูดปราบแม่ย่านางเรือ พอพูดเสร็จเวลาจะลงจากเรือก็ให้ออกด้านท้ายเรือไม่ให้กลับมาออกด้านเดิม

เมื่อเอาเรือออกหาปลาครั้งแรกหลังจากเลี้ยงเรือเสร็จ ปลาที่ได้ในครั้งแรก คนหาปลาจะนำปลานั้นมาทำอาหารเลี้ยงคนหาปลาคนอื่นๆ เพื่อเอาโชคเอาชัย การเลี้ยงเรือเป็นสิ่งที่คนหาปลาผู้เป็นเจ้าของเรือต้องทำอย่างเคร่งครัด และต้องปฏิบัติอยู่สม่ำเสมอ เรือของชายชราลำนี้เองก็เช่นกัน แม้ว่าไม้ที่นำมาทำเรือจะถูกต้องตามตำราในการทำเรือทุกประการ และในการเอาเรือออกหาปลาครั้งแรก ปลาที่ได้มาแกก็เอาไปทำลาบเลี้ยงคนอื่นจนหมด แต่ก็นั้นแหละในความเชื่อที่กล่าวมา มันคือเส้นแบ่งระหว่างตะวันตกกับตะวันออก และก็เป็นเรื่องยากเต็มทีที่จะให้ด้านตรงกันข้ามทั้งสองด้านเดินทางมาพบกัน

หลังอรุณเบิกฟ้า เช้านี้เป็นอีกเช้าที่ชายชราเอาเรือออกหาปลา หลังขึ้นไปนั่งบนเรือแล้ว แกก็ค่อยๆ พายเรือออกจากฝั่งแล้วติดเครื่องยนต์ทางด้านท้ายเรือหลังทรงตัวได้ ชายชราก็บังคับเรือเคลื่อนไปข้างหน้า เมื่อใกล้ถึงเป้าหมาย เครื่องยนต์ถูกผ่อนให้เบาลง พอถึงเป้าหมาย ชายชราก็ดับเครื่องปล่อยหางเสือหันมาจับไม้พายแล้วจ้วงพายบังคับเรือไปยังเป้าหมาย

เป้าหมายของชายชราคือขวดพลาสติกสีขาว ตรงขวดน้ำมีเชือกผูกขอเบ็ดจมอยู่ใต้น้ำยาวหลายเมตร หลังจากเรือจอดนิ่ง ชายชราก็ลุกขึ้นเปลี่ยนที่นั่ง โดยเปลี่ยนจากนั่งทางท้ายเรือมานั่งหัวเรือ หลังจากนั่งเรียบร้อย แกก็ใช้มืออีกข้างหนึ่งดึงเชือกขึ้นมาอย่างช้าๆ

เชือกที่ดึงขึ้นมาเป็นเชือกผูกขอเบ็ดที่ใส่เหยื่อเอาไว้ตั้งแต่ตอนเย็นวันก่อน เช้านี้จึงเป็นเวลากลับมาดูผลงาน ชายชราดึงสายเบ็ดขึ้นมาจนสุดปลายสายก่อนจะส่ายหน้าไปมา หลังจากปล่อยสายเบ็ดกลับลงน้ำ ชายชราก็บ่ายหัวเรือไปยังเป้าหมายใหม่ต่อไป

เสียงเครื่องยนต์เรือดังขึ้นอีกครั้ง แล้วเรือและชายชราก็มุ่งหน้าไปยังเป้าหมายต่อไป เรือเคลื่อนไปข้างหน้าพุ่งตัดสายน้ำหมุนวนกลบแก่งหิน ใบหน้าของชายชราเรียบเฉยไม่หวั่นไหวต่อสายน้ำเบื้องหน้า บางทีคงเป็นความคุ้นชิน บางครั้งประสบการณ์ที่ได้จากการใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำมาเนิ่นนานจึงทำให้ความหวาดกลัวของชายชราหายไป สำหรับผมแล้ว บนสายน้ำหมุนวนกับครั้งแรกบนเรือลำเล็กกลางแม่น้ำสายใหญ่ ดูเหมือนว่าความกลัวจะเกิดขึ้นทุกชั่วยามแห่งแรงเต้นของหัวใจ

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
หากท่วงทำนองของสายน้ำในฤดูฝนคือท่วงทำนองของเพลงร๊อคที่โหมกระหน่ำดุเดือดด้วยเสียงกระเดื่องกลองสลับกับเสียงเบสหนักๆ ปนกับเสียงร้องอันแหลมคม และสูงปรี้ดของนักร้อง สำหรับท่วงทำนองของสายน้ำในหน้าแล้งที่อยู่ในฤดูหนาว ท่วงทำนองของสายน้ำอันปกคลุมไปด้วยหมอกหนาวคงเป็นเสียงเพลงบูลล์หม่นเศร้า และในช่วงหน้าแล้ง ท่วงทำนองของสายน้ำคงเป็นท่วงทำนองของเพลงแคนอันเศร้าสร้อยอ้อยอิ่ง ชวนให้คิดถึงบรรยากาศของท้องทุ่ง และดินแตกระแหงของผืนดินอีสาน ฤดูแต่ละฤดูที่ผ่านไป หากแม่น้ำพูดได้ น้ำคงอยากบอกอะไรกับมนุษย์ผู้ได้ชื่อว่าใช้ประโยชน์จากแม่น้ำมากที่สุด อย่างน้อยคนที่ผิดหวังพลาดหวัง…
สุมาตร ภูลายยาว
ในชีวิตผมถือว่า สองปีที่ผ่านมา ผมโชคดีไม่น้อยที่มีโอกาสได้ไปยังสถานที่ที่ตัวเองไม่คาดคิดว่าจะได้ไป สถานที่ที่ว่านั่นคือ ‘สันเขื่อน’ และจุดสำรวจที่จะมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในตอนล่าง ไล่ตั้งแต่ปากแบ่ง หลวงพระบาง ไซยะบุรี ปากลาย ปากชม และบ้านกุ่ม จำนวนพื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมดแถบทุกพื้นที่ได้มีการสำรวจศึกษาความเป็นไปได้ของพื้นที่ในการก่อสร้างเขื่อนหมดแล้วการไปในแต่ละครั้ง บางทีก็ต้องทำตัวให้กลมกลืนกับพื้นที่โดยการปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวผู้อยากรู้อยากเห็น และที่สำคัญต้องตีสนิทกับคนท้องถิ่น เพื่อจะได้เดินทางไปสู่เป้าหมายง่ายขึ้น ในจำนวนพื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมด หากไม่นับรวมปากชมแล้ว…
สุมาตร ภูลายยาว
-ห้องพัก ๒๐๑, เฮือนพักเพียงจัน,หลวงพระบาง- สายฝนที่โปรยสายลงมาอย่างหนักตั้งแต่ตอนกลางคืนหายไปเมื่อตอนเช้าตรู่ ฟ้ากลับมาเป็นสีฟ้าใสอีกครั้ง หลังจากผู้คนของเมืองตื่นจากหลับใหลในอ้อมกอดของบ้านพักอบอุ่น ความเคลื่อนไหวจึงปรากฏ ถนนแต่ละสายผู้คนเริ่มพลุกพล่านโดยเฉพาะส่วนที่เป็นตลาด หลายครั้งที่มาถึงเมืองนี้ในการดำรงอยู่ของเมืองยังคงมีเรื่องราวให้น่าค้นหาในมุมมองอันหลากหลายมากขึ้น การมาถึงเมืองนี้ในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันย่อมมีเรื่องเล่าแตกต่างกันออกไปด้วย การมาหลวงพระบางในครั้งนี้ก็เช่นกัน เรามาถึงในตอนเกือบ ๓ ทุ่ม สายฝนยังตกลงมา…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามยอดเขามา ตอซังข้าวลู่ลงแนบพื้นดิน น้ำในแม่น้ำหมันแห้งขอดลงตามฤดูกาล ถัดจากแม่น้ำขึ้นไปเป็นภูเขา แม่น้ำหมันมีต้นกำเนิดจากภูโลมโลอันเป็นเทือกเขาของเทืือกเขาเพชรบูรณ์ สายน้ำเล็กๆ ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนอำเภอด่านซ้ายไหลเอื่อยช้าคล้ายคนเพิ่งหายจากการป่วยไข้ แม่น้ำหมันช่วงที่ไหลผ่านอำเภอด่านซ้ายไปจนถึงบ้านปากหมัน ตรงที่แม่น้ำหมันเดินทางไปบรรจบกับแม่น้ำเหืองมีความยาวทั้งสิ้น ๖๖ กิโลเมตร ตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำจะมีต้นไผ่จำนวนมากขึ้นอยู่เป็นระยะ ต้นไผ่-แม่น้ำหมัน-คนริมฝั่งน้ำมีความสำคัญต่อกันจนแยกขาดจากกันไม่ได้
สุมาตร ภูลายยาว
หลังได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินภาพวาดของเด็กๆ ที่ประกอบไปด้วยเด็กจากช่วงชั้นต่างๆ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ของโรงเรียนบ้านคกเว้า ตำบลหาดคำภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย ข้าพเจ้าเองแบ่งรับแบ่งสู้ในตอนแรก เพราะโดยส่วนตัวแล้วการเป็นกรรมการประเภทนี้มีเงื่อนไขหลายอย่าง สำคัญกรรมการควรมีความรู้ทางศิลปะมาบ้าง เพื่อให้ผลการตัดสินออกมาดูน่าเชื่อถือ แต่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ทางศิลปะเอาเสียเลย อย่างมากก็พอรู้ว่ารูปไหนสวยไม่สวย ซ้ำร้ายเรื่องของทฤษฏีสีแล้ว ข้าพเจ้าไม่รู้เอาเสียเลย แม้จะเคยลองวาดรูปอยู่บ้าง แต่ก็งูๆ ปลาๆ…
สุมาตร ภูลายยาว
โศกนาฏกรรมสองฝั่งน้ำ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสายน้ำเรื่องหนึ่งที่ผู้เฒ่าปกากะญอ มักเล่าให้ลูกหลานฟังอยู่เสมอ เรื่องเล่าเรื่องนี้มีอยู่ว่า ‘นานมาแล้วมีเจ้าเมืององค์หนึ่งจะตึกแค-กั้นน้ำ เพื่อจับปลาในแม่น้ำสาละวิน ให้ลูกที่อยากกิน ปลาตัวนี้ใหญ่มาก ส่วนหัวของปลาอยู่โจโหละกุย-วังน้ำใหญ่อยู่ในเขตสาละวินตอนกลาง ลำตัวของปลายาวลงไปตามลำน้ำ ส่วนหางอยู่ที่แจแปนทีลอซู แต่ก็มีเรื่องที่ทำให้ชาวบ้านชาวเมืองตกอกตกใจ เพราะหากว่าเลือดหรือน้ำมันจากปลาตัวนี้ไหลลงพื้นดินเมื่อใด แผ่นดินก็จะลุกเป็นไฟ เมื่อชาวบ้านทราบข่าวก็เกิดความกังวลว่า เมื่อน้ำท่วมบ้านแล้วไม่รู้ว่าจะหนีไปอยู่ที่ไหน…
สุมาตร ภูลายยาว
การพัฒนาบนคราบน้ำตาคนชายขอบ ในอดีตอันยาวไกลของแม่น้ำสายนี้เคยไหลอย่างอิสระมาตลอด แต่แม่น้ำนานาชาติสายสำคัญแห่งนี้อาจมิได้ไหลอย่างอิสระต่อไปอีกแล้ว เพราะปัจจุบันแม่น้ำสายนี้ได้ถูกผลักดันให้เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาต่างๆ แผนพัฒนาที่สำคัญ คือแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะกับประเทศไทย แม่น้ำสาละวินกลายเป็นแม่น้ำยุทธศาสตร์สำคัญสายหนึ่งที่น้ำในแม่น้ำจะถูกนำมาแปรเป็นกระแสไฟฟ้า ภายใต้วาทะกรรมของนักพัฒนาที่ว่า ‘พื้นที่ชายขอบของประเทศมีคนอยู่น้อย และผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมมีส่วนน้อยเช่นกัน’
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้คนแห่งสาละวิน  สาละวิน ถือเป็นสายน้ำแห่งกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแท้จริง เพราะสองฟากฝั่งลุ่มน้ำสาละวิน ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยลงมาจนถึงอ่าวเมาะตะมะ ในเขตหุบเขาอันไกลโพ้นในประเทศจีนก็มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๔ กลุ่ม โดยส่วนใหญ่เป็นชาวนู ลีซู และตู๋หลง เมื่อล่องตามน้ำลงมาจนถึงพรมแดนพม่า-จีน พม่า-ไทยก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่มากมายไม่ต่ำกว่า ๑๖ กลุ่ม เช่น นู ลีซู ไทยใหญ่ กะยา กะยัน กะเหรี่ยง และมอญ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ล้วนมีภาษา ตัวอักษร วรรณคดี ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของตนเอง ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่หลากหลายบนลุ่มน้ำแห่งนี้ กลุ่มยินตาเล…
สุมาตร ภูลายยาว
สาละวินบนนิยามของความหลากหลาย สาละวิน บนเส้นทางงานวิจัยชาวบ้าน งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ตลอดแนวพรมแดนไทย-พม่า โดยได้มีการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในประเด็นพันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน การทำเกษตร พรรณพืชในป่า และสังคมวัฒนธรรมของชาวปกาะกญอ เพื่อนำมาอธิบายความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำสาละวิน และวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมของชุมชนที่ตั้งอยู่บนฐานของระบบนิเวศดังกล่าว ตลอดจนพิธีกรรม และความเชื่อของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผลการศึกษาพบว่า แม่น้ำสาละวิน ตลอดพรมแดนไทย-พม่า มีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อน อาทิ แก่ง วังน้ำ หาดทราย…
สุมาตร ภูลายยาว
ระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวิน ระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวิน ถือว่า มีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากแม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติสายสุดท้ายในภูมิภาคนี้ที่ยังไม่ได้ถูกล่ามโซ่ด้วยเขื่อน นักนิเวศวิทยาได้จัดให้แม่น้ำสาละวินเป็นศูนย์กลางของการกระจายพันธุ์ไม้สักของโลก พื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีระบบนิเวศสลับซับซ้อนเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างเขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินโดจีนกับพื้นที่ต่อเนื่องจากชีวภูมิศาสตร์สิโนหิมาลายันหรือเขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินเดีย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การศึกษาระบบนิเวศวิทยาของแม่น้ำสาละวิน มีอยู่น้อยมาก…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหราชอาณาจักรได้คืนอิสรภาพให้กับพม่า ภายหลังพม่าได้รับอิสรภาพ ในปี ๒๔๙๐ นายพลอู่อองซาน ผู้นำพม่าในขณะนั้นก็ถูกสังหารเสียชีวิต การล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงของสัญญาปางโหลง จึงเกิดขึ้น เมื่อคำมั่นในสัญญาปางโหลงไม่เป็นผล ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ จึงได้จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อแยกตัวเป็นรัฐอิสระและปกครองตนเอง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน จึงเกิดกองกำลังปลดปล่อยขึ้นหลายกลุ่ม เขตรอยต่อพรมแดนไทย-พม่าริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ด้านตะวันตก เป็นดินแดนที่กล่าวได้ว่า กฎหมายอาจไม่มีความสำคัญ ทุกชีวิตที่ยังมีลมหายใจ จึงอยู่ภายใต้กฎของปืน และความเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิต…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อตู้เริญได้เล่านิทานเรื่องนี้ให้ผมฟังขณะเรานั่งหย่อนอารมณ์ในบ้านของแก เพื่อรอฝนหายจากฟ้า เดือนตุลาคมแล้ว ฝนยังมิจากจางเลย ลมหนาวมิมีทีท่าว่าจะพัดมา สายฝนเทลงมาจั่กๆ พ่อตู้เริญต้องเล่านิทานเรื่องนี้ด้วยเสียงดัง เพื่อจะให้ผมได้ยินถนัด ผมกดเครื่องบันทึกเสียงเพื่อบันทึกเสียงการเล่านิทานของพ่อตู้เอาไว้ เพราะคิดว่าจะเก็บเอามาเล่าต่อให้คนอื่นได้ฟังด้วย พ่อตู้เริญเล่าว่า... นานมาแล้ว ยุคสมัยก่อนการเกิดขึ้นของพุทธศาสนา องค์อินทร์ผู้เป็นนายของทุกสิ่ง และทรงสร้างทุกสิ่งในจักรวาลได้นั่งตรวจยามสามตา เพื่อตรวจดูทุกสรรพสัตว์ใตอานัติของตนเอง แล้วในญาณนั้นก็ปรากฏการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา…