Skip to main content

แสงแดดยามบ่ายคลี่ม่านกระจายโอบไล้ยอดไม้ แรงลมพัดยอดไม้เอนไหว ดอกไม้ป่าสีขาวของฤดูฝนกำลังร่วงหล่นลงพื้นดิน แม้ว่าดอกไม้จะจากไป แต่ธรรมชาติก็ได้มอบความเขียวชะอุ่มของผืนป่ามาทดแทนเช่นกัน

ยามบ่ายขณะหลายคนยังวุ่นอยู่กับงาน ผมเดินเตร็ดเตร่ตามถนนมาถึงหน้าบ้านหลังหนึ่ง หลังอ่านป้ายก็รู้ว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านของชายชรา ผมมองหาเจ้าของบ้านอยู่นอกรั้วในใจยังหวั่นอยู่ว่าจะได้พบเจ้าของบ้านหรือเปล่า เมื่อมองดูอยู่ครู่หนึ่ง ผมก็เห็นชายชราผู้เป็นเจ้าของบ้านกำลังก้มๆ เงยๆ อยู่กับกองไม้ไผ่ข้างห้องครัว

ผมร้องเรียกชายชราอยู่นอกรั้ว เมื่อได้ยินเสียงเรียก แกก็เงยหน้าขึ้นมาดู และเรียกผมเข้ามาในบ้าน หลังเปิดประตูรั้วแง้มออกมาพอให้ตัวเองเดินเข้าไปได้ ผมก็เดินตรงเข้าไปยังลานบ้าน เมื่อผมเดินเข้าไปถึงชายชราเปลี่ยนจากนั่งมาเป็นลุกขึ้นยืน ด้านข้างของม้านั่งมีเศษไม้ไผ่กองอยู่จำนวนมาก

“พ่อเฒ่าทำอะไรอยู่”
“กำลังทำคันเบ็ดกับตุ้มปลาเอี่ยน—ปลาไหล”
“ทำมานานหรือยัง”
“ทำมาแต่เช้าแล้วยังไม่เสร็จสักที มันสานยาก ต้องค่อยๆ สาน รีบไม่ได้เดียวไม้ไผ่จะได้กินเลือดเรา”

หลังยืนคุยกับผมครู่หนึ่ง ชายชราก็นั่งลง และลงมือสานตุ้มปลาเอี่ยนต่อ ผมนั่งมองชายชราทำงานของแก่ และครุ่นคิดเรื่องราวบางอย่าง ในห้วงนั้น ผมคิดถึงการเดินทางของเบ็ดจากมือของชายชราค่อยๆ ทยอยลงสู่แม่น้ำ และกลับมาพร้อมกับปลา ความสุขไม่มากก็น้อยจะเกิดขึ้นหลังจากคนหาปลากลับมาพร้อมปลาติดเบ็ด

“คนหาปลาอย่างเรานี่ต้องรู้จักทำเครื่องมือหาปลาเอง อย่างไหนทำได้ก็ทำ แต่ถ้าอย่างไหนทำเองไม่ได้ก็ซื้อ พอซื้อแล้วก็เอามาแต่งใหม่ อย่างมองซื้อมาแล้วก็เอามาทำใหม่ ขอเบ็ดก็เอามาผูกสายเอาเอง เพราะซื้อคนอื่นมามันไม่ค่อยมั่นใจว่าจะหมานหรือเปล่า แต่ถ้าเอามาทำเองมันจะรู้ว่าต้องผูกเบ็ดอย่างไรถึงจะหมาน เรามีวิธีผูกของเรา เขามีวิธีผูกของเขา มันไม่เหมือนกัน”   

“พูดเรื่องคนหาปลาแล้ว คนไม่ได้หาปลาไม่ค่อยรู้หรอกว่า คนหาปลามันมีความเชื่อหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องโชคลางนี่สำคัญ เพราะถ้าไม่เชื่อ บางทีก็หาปลาไม่หมาน บางคนกำลังจะออกไปหาปลามีคนทักเดินกลับเลย ไม่ไป เพราะเดี๋ยวไม่หมาน อย่างเวลาไปเอาไส้เดือนมาทำเหยื่อตกปลา เราจะทำท่ารังเกียจถ่มน้ำลายไม่ได้ ถ้าใครทำหาปลาไม่หมาน อย่างเรือก็เหมือนกัน ถ้าจะเอาเรือออกหาปลา เราต้องเลี้ยงเรือให้ดี ถ้าเลี้ยงดีแม่ย่างนางเรือก็จะช่วยให้ได้ปลาเยอะ เรือพ่อเฒ่าแต่ก่อนเอาไก่เลี้ยง เดี๋ยวนี้เอาขนมเลี้ยง เรือมันแก่แล้ว คงไม่ฟันเหมือนคนนี้แหละ พอไม่มีฟันก็กินไก่ไม่ได้ กินได้แต่ขนม“
พอพูดเสร็จชายชราก็หัวเราะขึ้นมาเบาๆ

ผมได้พูดคุยเรื่องราวต่างๆ กับชายชรามากมาย ช่วงไหนพูดถึงปลา ชายชราจะเล่าเรื่องปลาที่แกเคยหาได้ให้ฟังอย่างออกรสชาติ บางครั้งพอถามถึงขนาดของปลา แกก็จะยกมือขึ้นทำท่าประกอบบ่งบอกถึงความใหญ่และความเล็กของปลาไปด้วย บางครั้งก็แกก็เอาไม้ไผ่วาดรูปปลาลงบนพื้นดินให้ผมดู

“มีอยู่ครั้งหนึ่งหลายปีก่อน พ่อเฒ่าไปหาปลาคนเดียว ตอนไปก็นอนตามหาดทรายริ่มฝั่ง ใส่เบ็ดไว้ตอนกลางคืน พอเช้ามาใกล้แจ้งก็ไปไจ--ไปกู้เบ็ด พ่อเฒ่าเอาเรือออกไปเก็บกู้เบ็ดค่าวหลังก้อนหิน ตอนแรกนึกว่าไม่ได้ปลา พอเอาเรือเข้าไปใกล้แล้วดึงเชือกดู เชือกมันตึง ก็แปลกใจ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าเป็นปลา ดึงอยู่พักหนึ่งมันก็ไม่ขึ้นเลยเอาหินผูกใส่เชือกหย่อนตามสายเบ็ดลงไปดู พอหินหล่นลงน้ำ มันไปโดนอะไรไม่รู้ใต้น้ำ พ่อเฒ่าก็นึกว่าโดนหิน ก็ลองดึงอีกทีปรากฏว่าเชือกมันค่อยๆ เคลื่อนไปข้างหน้า พ่อเฒ่าก็จับไม้พายค่อยๆ พายเรือตาม ตอนนั้นคิดว่าน่าจะเป็นผีเงือกหลอก (ความเชื่อเรื่องผีเงือกเป็นความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่ในแถบอำเภอเชียงแสน,เชียงของ,เวียงแก่น) เพราะเชือกเบ็ดมันวิ่งไปข้างหน้าได้สักพักมันก็หยุด หยุดแล้วก็ไปต่อ พ่อเฒ่าเริ่มเห็นท่าไม่ดีก็ออกแรงดึง แต่ยิ่งดึงมันก็ยิ่งดึงตอบ มันพาเรือวิ่งไปเรื่อยๆ เราก็ปล่อยเรือไป เพราะเราไม่รู้ว่า เรากำลังสู้กับอะไร ถ้ารู้ว่าสู้กับอะไรอยู่ ก็พอคิดวิธีการสู้ได้ นี่เราไม่รู้ เรารู้เพียงว่า ถ้ามันดึงเราก็หยุด พอมันหยุด เราก็ดึง สู้กันอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ตี ๔ ไปจนเกือบ ๖ โมงเช้า

ตอนค่อยรุ่ง มันหยุดดึง พอเห็นมันหยุด พ่อเฒ่าก็เลยดึงมันไปเรื่อยๆ จนใกล้ถึงฝั่งก็เอาเรือเข้าฝั่งขึ้น พอขึ้นไปบนฝั่งได้ เราก็ดึงอยู่บนฝั่ง พออยู่บนฝั่งแรงเราเยอะกว่า เราก็ดึงจนหัวมันพ้นน้ำขึ้นมา เห็นตัวปลาแล้วตกใจเกือบปล่อยสายเบ็ด ปลาตัวใหญ่มากหนัก ๖๐ กว่ากิโลได้ พอเอาขึ้นมาบนฝั่งได้นี่ดีใจเลย เพราะเกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นปลาตัวใหญ่อย่างนี้ ถ้าตอนนั้นมันสู้จริงๆ นะ มันดิ้นทีพลิกเรือคว่ำได้เลย ตัวมันใหญ่ขนาดเอาขึ้นเรือแล้วยังต้องมัดหนวดมันใส่กับข้างเรือไว้กลัวมันดิ้น เรือจะคว่ำ ปลาแข้นี่ถ้ามัดหนวดมันแล้ว มันทำอะไรไม่ได้จะดิ้นยังไม่มีแรงเลย แต่ถ้าไม่มันหนวดมันไว้จะได้มานั่งพูดอยู่ตรงนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้”

พอพูดมาถึงตรงนี้ ชายชราก็หยุดพูดแล้วหันไปยกบุหรี่ขึ้นมาจุดสูบ ตั้งแต่คุยกันมาชายชรา ผมสังเกตเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของชายชราเสมอ บางคนเคยบอกว่าการยิ้มบ่อยๆ ทำให้อารมณ์ดี เมื่ออารมณ์ดีก็ทำให้อายุยืนตามไปด้วย ชายชราก็คงเป็นเช่นนั้น เพราะตอนนี้แกอายุ ๗๖ ปีแล้ว แต่แกยังแข็งแรงเหมือนคนอายุ ๕๐ 

ใน ๗๖ ปีของชีวิต หากเปรียบเทียบระหว่างคนอายุขนาดนี้ที่อยู่ในเมืองกับชายชรา คนในเมืองบางคนอาจต้องพ่ายแพ้ เพราะในวัย ๗๖ สำรับคนในเมืองก็เป็นคนที่เกษียณตัวเองออกจากทุกอย่าง ได้เพียงแต่นั่งๆ นอนๆ ให้ลูกหลานป้อนข้าวป้อนน้ำ แต่สำหรับชายชราแล้วอายุเป็นเพียงริ้วรอยที่ปรากฏบนใบหน้า และผมขาวโพลนบนศีรษะเท่านั้น เพราะชายชรายังแข็งแรง เดินขึ้น-ลงท่าน้ำเอาเรือออกไปหาปลาได้โดยไม่ต้องบ่นว่าปวดเมื่อย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำรงอยู่ของคนเราในวงรอบของชีวิตแต่ละปี บางครั้งคนเราก็ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการใช้ชีวิต ชายชราเองก็เช่นกัน กว่าจะทำเครื่องมือหาปลา และใช้เครื่องมือหาปลาแต่ละชนิดได้ แกก็ต้องอาศัยเวลาในการทดลองใช้ ทดลองทำด้วยตัวเอง บางครั้งการทดลองก็มีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้าง แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็สอนประสบการณ์ชีวิตให้กับชายชรามากมาย

หลังแสงแดดของความร้อนยามพลบลาลับไปไม่นาน ควันไฟก็ลอยล่องขึ้นจากเตาไฟในครัว ที่กองไฟนั้น แม่เฒ่ากำลังก่อไฟนึ่งข้าว เพื่อเตรียมอาหารมื้อเย็น หลังจากพูดคุยกับชายชราเนิ่นนาน ผมจึงได้รู้ว่า บ้านหลังนี้มีคนอยู่สองคน เพราะลูกหลานต่างแยกย้ายกระจัดกระจายไปทำมาหากิน และมีครอบครัวอยู่ที่อื่น แต่ลูกหลานก็ไม่เคยทอดทิ้งให้สองผู้เฒ่าต้องเหงา เพราะนานๆ ครั้งพวกเขาก็กลับมาเยี่ยมพอให้หายคิดถึง

บางวันเมื่อชายชราเอาเรือขึ้นไปหาปลา แม่เฒ่าจะอยู่เพียงลำพังในบ้านหลังใหญ่ ผมไม่รู้ว่าในห้วงยามอย่างนี้ แม่เฒ่าจะหว้าเหว่บ้างหรือเปล่า หรือว่าแม่เฒ่าเป็นอย่างนี้จนเคยชิน บางครั้งถ้านับเทียบเป็นเวลาแล้ว การพลัดพรากชั่วครู่ชั่วยามซ้ำแล้วซ้ำเล่าสำหรับผู้เฒ่าทั้งสองคนมันคงเป็นเวลาหลายปี

เมื่อผมอดกลั้นต่อความรู้สึกที่อยู่ใจไว้ไม่ไหว ผมเลยตัดสินใจถามแม่เฒ่าว่า
“แม่เฒ่าอยู่คนเดียวไม่เหงาหรือ”
“ในช่วงแรกมันก็คิดถึงกันบ้าง ตอนนั้นเรายังหนุ่มกันอยู่ กำลังมีลูกด้วย เราก็ไม่อยากให้เขาไป พอเขาไปภาระทุกอย่างก็เป็นของเรา หลังจากลูกหลานมันโตแต่งงานกันหมด เราก็ไม่ได้ห่วงอะไรแล้ว ตอนลูกหลานแยกย้ายกันออกเรือนไป แรกๆ ก็คิดถึงอยู่บ้าง เพราะบ้านเราคนมันอยู่กันเยอะ พอมาอยู่น้อยคนมันก็คิดถึงเป็นธรรมดา มองไปตรงไหนก็คิด อย่างมองไปบันไดเราก็คิดว่า วันนั้นตอนเย็นลูกคนหนึ่งนั่งร้องไห้อยู่ตรงนั้น แต่พอนานเข้าก็ไม่เป็นไรแล้ว ยิ่งตอนนี้ก็ไม่ได้คิดถึง แต่เป็นหว่ง เพราะเรามันก็แก่กันแล้ว กลัวไม่สบาย พอไม่สบายก็กลัวว่าจะไม่มีคนดูแล อย่างพ่อเฒ่าเราก็ห่วงแก เพราะแกไปหาปลาคนเดียวไปอยู่ไกลจากบ้านด้วย แต่ก็อย่างว่าคนเราแก่เฒ่าแล้วไม่ค่อยได้คิดอะไรมากหรอก กลางวันก็ไปอยู่กับกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ตอนเย็นกลับมาบ้านก็ทำกับข้าว กินเสร็จแล้วก็นอน ชีวิตก็เป็นอยู่อย่างนี้”

ในวิถีแห่งชีวิตของสองคนเฒ่า เหมือนมีสายใยแห่งความห่วงใยซุกซ่อนอยู่ภายในตาข่ายแห่งการจากพราก ช่วงที่ชายชราขึ้นไปหาปลา แม่เฒ่าต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง ชายชราเองก็คงไม่ต่างกัน เพราะในแต่ละครั้งที่ออกไปหาปลา แกก็ต้องพักค้างอ้างแรมคนเดียวในกระท่อมริมฝั่งน้ำ
“พ่อเฒ่าไปหาปลาแต่ละครั้งนานไหม”
“บางครั้งก็ ๓-๔ วัน บางครั้งก็วันเดียว แล้วแต่ได้ปลาไม่ได้ปลา ถ้าได้ปลาก็ไปนาน ถ้าไม่ค่อยได้ปลาก็กลับมาเร็ว รอจนปลาขึ้นมาก็ไปใหม่ แต่ตอนนี้ไปนาน ไปทีเป็นครึ่งเดือน ได้ปลาก็ฝากลูกมาขาย เรามันแก่แล้วไม่อยากเดินทางบ่อย”
“พ่อเฒ่าหาปลามานานหรือยัง”
“ประมาณ ๔๐ กว่าปีได้อยู่หรอก”

เมื่อพูดถึงการขายปลาแล้ว สำหรับบางวันที่ชายชราคืนสู่บ้านพร้อมกับปลา แม่เฒ่าจะเป็นคนนำปลาไหขาย เรื่องขายปลาบางทีดูเหมือนว่าผู้หญิงจะทำได้ดีกว่าผู้ชาย แต่บางครั้งหลังจากกลับมาจากหาปลา ชายชราก็จะเป็นคนเดินเอาปลาไปเร่ขายเอง ชายชราให้เหตุผลว่า ปลาบางตัวมันก็น่าจะขาย แต่บางตัวมันก็ไม่น่าจะขาย ยิ่งคนคุ้นเคยกันแล้ว บางทีปลาบางตัวก็ไม่เหมาะจะถูกซื้อ แต่มันเหมาะสำหรับการให้กันกินมากกว่า

ในแต่ละวันชีวิตของสองผู้เฒ่าต่างเป็นอยู่อย่างนี้แทบไม่มีอะไรวิจิตรพิสดารมากมายนัก อาหารการกินก็กินอย่างชาวบ้านทั่วไป แม้ว่าในบางวันอาจมีอาหารพิเศษเพิ่มเข้ามาบ้าง แต่นั้นก็นานๆ ครั้ง แต่อาหารหลักสำหรับสองผู้เฒ่าคือปลาที่ชายชราหามาได้นั่นเอง...

ฟ้ามืดหลังแสงสุดท้ายของวันหายไปจากฟ้า ผมลาผู้เฒ่าทั้งสองกลับบ้าน ก่อนจาก ชายชราเดินออกมาส่งผมหน้าประตูรั้วบ้าน หลังชายชรากลับเข้าไปในบ้าน ผมก็หันหลังให้บ้านหลังนั้น แล้วเดินฝ่าความมืดไปตามถนนคืนสู่บ้าน

ขณะเดินไปตามถนนผมหวนคิดถึงรอยยิ้มของชายชรา เวลาแกเล่าเรื่องตลกให้ฟัง แกจะหัวเราะอยู่เสมอ ถ้าจำไม่ผิด เพื่อนคนหนึ่งเคยพูดกับผมไว้ว่า คนแก่มักอารมณ์ดีกับลูกหลานอยู่เสมอ แต่บางครั้งผมก็ไม่ค่อยเชื่อเพื่อนคนนั้นเท่าใดนัก เพราะบางทีคนแก่บางคนก็อารมณ์ร้าย การที่จะอารมณ์ดีได้มันคงมาจากปัจจัยหลายสาเหตุ ตัวชายชราเองก็เช่นกัน การไม่ต้องวุ่นวายอยู่กับเรื่องราวต่างๆ มากนัก และการได้อยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบมันคงทำให้แกอารมณ์ดี..

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’