ชายชราผู้ล่องเรือชีวิตเหนือสายน้ำโบราณ ตอน ๖

26 November, 2007 - 00:41 -- sumart

หลังกลับมาถึงบ้าน ผมหวนคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่แกเล่าให้ฟัง ห้วงอารมณ์นั้น ผมคิดถึงหนังสือเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนี้เล่าถึงการรอนแรมออกทะเล เพื่อตกปลาของชายแก่คนหนึ่ง การเดินทางออกทะเลของชายชราในหนังสืออาจแตกต่างกับการเดินทางออกสู่แม่น้ำของชายชราแห่งโลกของความจริงอยู่บ้าง แต่ในวิถีของชายเฒ่าทั้งสองคน มีเรื่องราวทั้งเหมือน ทั้งแตกต่างรวมอยู่ด้วยกัน

การเดินทางไปสู่วิถีของการเป็นนักล่าของชายทั้งสองอาจจะไม่ต่างกันมากนักในการกระทำ แต่เป้าหมายในการออกเรือ เพื่อเป็นนักล่าของชายทั้งสองอาจแตกต่างกัน คนหนึ่งออกเรือไปล่าเพื่อความสุขตามคิดความเชื่อของตัวเอง แต่อีกคนหนึ่ง การออกเรือไปล่ากลับเป็นไปเพื่อการฝากชีวิตไว้กับปลาเหล่านั้น

เมื่อพูดถึงคนหาปลาแล้ว มิใช่เพียงชายชราคนเดียวในแม่น้ำสายนี้ที่ต้องฝากชีวิตไว้กับปลา แต่คนหาปลาคนอื่นก็เป็นดุจเดียวกัน คงไม่เกินเลยไปนักที่จะบอกว่า การตายของปลาตัวหนึ่งคือการตายเพื่อต่ออายุของคนอีกหลายคน

ช่วงไหนคนหาปลาออกเรือหาปลาแล้วได้ปลา ก็หมายความว่า เมื่อกลับไปถึงบ้าน สินทรัยพ์จากการขายปลาก็จะเกิดขึ้น สินทรัพย์ที่ได้จากการขายปลาจะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นค่าใช้จ่ายต่างกันออกไปตามแต่ความจำเป็นของแต่ละคน แต่ถ้าหากวันไหนการเดินทางกลับบ้านของคนหาปลา มีเพียงถังแช่ปลาเปล่าเปลี่ยว แน่นอนว่ารายรับ-รายจ่ายบางส่วนต้องผ่อนผันออกไป

ในการขายปลาแต่ละครั้งเงินจากการขายปลาผู้เฒ่าทั้งสองก็แบ่งคนละครึ่ง แต่ส่วนมากแม่เฒ่าจะได้ส่วนแบ่งมากกว่า เพราะแม่เฒ่าอยู่บ้านจึงมีความจำเป็นในการใช้เงินมากกว่า หากวันไหนขายปลาได้เงินสองร้อยก็แบ่งกันคนละร้อย สำหรับบางคน เงินหนึ่งร้อยบาทอาจใช้จ่ายได้ไม่ถึงวัน แต่สำหรับผู้เฒ่าทั้งสอง เงินหนึ่งร้อยบาทสามารถใช้จ่ายได้ ๓-๔ วันเลยทีเดียว

สำหรับชายชราวันที่หาปลาไม่ได้มีน้อยกว่าวันที่หาปลาได้ ค่าใช้จ่ายทั้งหลายตั้งแต่ลูกยังเล็กจนถึงตอนนี้ กล่าวได้ว่าแม่น้ำคือธนาคารของชายชรา แต่การถอนเงินจากธนาคารแห่งนี้ในแต่ละครั้งต้องใช้ทั้งแรง ทั้งประสบการณ์ และความสามารถอีกหลายอย่าง อีกทั้งจำนวนเงินที่สามารถถอนได้ในแต่ละวันก็ไม่เท่ากัน ธนาคารแห่งนี้อาจแปลกกว่าธนาคารอื่นตรงที่คนฝากเงินไม่ได้ฝากเพียงเงินอย่างเดียว แต่ยังต้องฝากชีวิตเอาไว้กับธนาคารแห่งนี้ด้วย

หลังได้ฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องจากชายชรา ในความรู้สึกของผม เรื่องราวของชายชรากับปลาบางตัว จึงเป็นเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องราวเรื่องใดบนแม่น้ำสายนี้

เมื่อพูดถึงคนหาปลาในแม่น้ำสายนี้แล้ว ไม่มีผู้ใดทราบได้อย่างแน่ชัดว่า คนหาปลารู้จักเรียนรู้การหาปลาในแม่น้ำนี้คนแรกเป็นใคร ถึงแม้ว่าไม่มีใครรู้ว่าคนหาปลาคนแรกเป็นใคร แต่คนทั่วไปก็ได้รู้ว่า บัดนี้ลูกหลานของคนหาปลาคนแรกในแม่น้ำสายนี้ พวกเขาได้เดินตามรอยของคนหาปลาคนแรกในแม่น้ำแห่งนี้สืบต่อมาหลายชั่วอายุคนเช่นกัน

ดังที่กล่าวมา แม่น้ำก็มีจังหวะชีวิตของการดำรงอยู่เช่นกัน ในช่วงแต่ละจังหวะชีวิตถ้าเปรียบไปก็คงเป็นฤดูแต่ละฤดูนั่นเอง  

ฤดูฝนปีนี้ก็เหมือนหลายปีที่ผ่านมา ฝนยังคงตกลงมาอยู่สม่ำเสมอ แม้ฝนนี้ไม่ใช่ฝนแรกของปี แต่สายลมในม่านฝนในบางวันยังดูน่ากลัวอยู่เช่นเดิม ในช่วงฝนแรกเข้ามาเยือน เมฆฝนสีดำทะมึนจะปรากฏเหนือขอบฟ้า ความทะมึนดำขับความน่ากลัวของยามค่ำคืนให้แจ่มชัดขึ้น แต่ก็นั้นแหล่ะ ใช่ว่าสายฝนจะไม่ขาดจากฟ้า สายฝนก็เหมือนกับสายลม บางวันก็มีลม บางวันก็มีฝน แต่ ๒ วันที่ผ่านมาฝนไม่ตก ฟ้าเป็นสีฟ้า อากาศแจ่มใสกลับมาเยือนอีกครั้ง เมื่อฟ้าใสไร้เมฆฝน ชายชราจึงเอาเรือออกวางไซลั่น และวางเบ็ดอีกครั้ง หลังจากจมอยู่กับสายฝนบนกระท่อมเปล่าเปลี่ยวเพียงลำพังมา ๒ วันเต็ม

แม้ว่าการออกเรือหาปลาในแต่ละครั้งจะเหมือนกันทุกวัน แต่ในครั้งนี้กลับไม่เหมือนครั้งผ่านมา เพราะการออกหาปลาในครั้งนี้ ชายชราเอาเรือออกไปหาปลาไกลจากกระท่อมมาก

การออกไปหาปลาในที่ไกลๆ เช่นนี้ สำหรับชายชราถ้าในหลายปีก่อนมันเป็นเรื่องราวปกติ แต่ในยามแก่เฒ่าเช่นนี้ การตื่นแต่เช้าไปดูเบ็ดนั้นมีความเสี่ยงต่อชีวิตอยู่บ้าง เนื่องเพราะสายตาอาจพร่ามัว แต่นั้นก็เป็นเพียงความกังวลของคนอื่น ชายชราได้แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้จะต้องไปหาปลาไกลเพียงใดก็ไม่ได้ทำให้ชายชราหวั่นวิตก แต่สิ่งที่ทำให้ชายชราหวั่นวิตกกลับเป็นการไม่ได้ออกไปหาปลามากกว่า

“ถ้าให้นั่งๆ นอนๆ ฟังเสียงฝนอยู่ในกระท่อมกับออกไปหาปลา ออกไปหาปลายังสนุกกว่า มีความสุขกว่า แม้ว่าบางทีเราจะไม่ได้ปลา แต่เราก็มีความสุข เพราะเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ และเราเลือกที่จะทำ”

บริเวณที่ชายชราสร้างกระท่อมเอาไว้พักเวลามาหาปลาห่างออกมาจากหมู่บ้านมาก จึงไม่มีบ้านเรือนของผู้คน แต่ก็นั้นแหละ แม้ว่าจะไม่มีผู้คนมาปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณกระท่อมของชายชรา และบริเวณที่ชายชราใช้วางเบ็ดก็ไม่มีคนอื่นไปวาง แต่พื้นที่วางเบ็ดก็มีน้อย ยิ่งช่วงหน้าน้ำมาก เกาะแก่งจะจมอยู่ใต้น้ำ พื้นที่มนการวางเบ็ดก็มีน้อยลง และที่สำคัญน้ำเป็นน้ำใหญ่ พอน้ำใหญ่ปลาก็มีอิสระแหวกว่ายเข้าไปหากินยังริมฝั่งตรงไหนก็ได้ เมื่อพื้นที่มีน้อย การแสวงหาพื้นที่ในการวางเครื่องมือหาปลาไกลออกไปจากจุดเดิมจึงเกิดขึ้น

หากไม่กล่าวจนเกินเลยนัก ทุกครั้งที่ชายชราออกหาปลา ก็ไม่ต่างกับการเสี่ยงดวงตามวงพนัน เพราะการวางเบ็ดไว้ในน้ำ เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าปลาจะผ่านมากินเหยื่อช่วงไหน ถ้าปลาเข้ามากินเหยื่อถือว่าเทพีแห่งโชคชะตาเข้าข้าง โชคชะตาจึงเป็นสิ่งตัดกันไม่ขาด แม้ว่าการฝากความหวังไว้กับแม่น้ำจะเป็นเหมือนเอาโชคชะตาไปผูกแขวนไว้กับความเนิ่นช้าที่ไกลห่างการไปถึงเป้าหมายก็ตามที

พูดตามความจริงแล้ว การหาปลาในแม่น้ำใช่ว่าใครจะหาก็ได้ แต่การหาปลาในแม่น้ำต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่คนหาปลา การหาปลานั้นยาก และซับซ้อน พอๆ กับคนไม่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ต้องไปทำข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ คนหาปลาแต่ละคนก็จะมีวิธีการหาปลาแตกต่างกันออกไป และเครื่องมือหาปลาบางชนิดก็เป็นเครื่องมือพิเศษ คนหาปลาบางคนไม่เคยใช้ก็ใช้ไม่เป็นเอาเสียเลย การหาปลาจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในคราวเดียวกัน

ชายชราเล่าให้ฟังว่า ช่วงวัยหนุ่มมีเรี่ยวแรงก็ไหลมอง แต่ในยามแก่เฒ่าการหาปลาด้วยการใส่ไซลั่น และวางเบ็ดดูเป็นการหาปลาที่แกทำได้ และทำได้ดี

“สมัยเป็นหนุ่ม เขาชวนไปหาปลาตรงไหนไปหมด ออกไหลมองแต่ละรอบได้ปลาไม่ต่ำกว่าสิบ แต่ก็อย่างว่านั่นมันเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้ว สมัยก่อนน้ำมันไม่เป็นอย่างนี้ คนหาปลาก็ไม่ค่อยเยอะ เราออกไหลมองรอบหนึ่งก็เลยได้ปลามาเยอะ ได้มาทีเรียกว่ากินปลากันจนไม่อยากกิน สมัยก่อนนี่ไม่ขายกันเป็นกิโล ปลาตัวใหญ่เราก็ขายแพงหน่อย ปลาตวเล็กเราก็ขายถูก ก็ขายตามขนาดของปลา แต่ตัวใหญ่มากๆ ก็จะขายกันเป็นกำ อย่างปลาบึกสมัยก่อนเขาก็ขายกันเป็นกำ--การขายเป็นกำเป็นวิธีการค้าขายของคนท้องถิ่นก่อนยุคที่จะมีตราชั่ง วิธีการขายคือใช้เชือกวัดรอบสิ่งที่เราจะขาย สมมุติว่าจะขายปลาก็เอาเชือวัดรอบตัวปลา จากนั้นก็เอาเชือกนั้นมาพับครึ่ง พอพับครึ่งเสร็จก็ใช้มืออีกข้างหนึ่งกำเชือกไปจนสุดปลาเชือก เพื่อให้รู้ว่าได้กี่กำ”

วันและคืนได้หมุนเวียนผ่านไปเหมือนสายน้ำมีน้ำท่วมแล้วก็ลด เมื่อแล้งก็มีฝนตกลงมาให้น้ำอีกครั้ง การเปลี่ยนผ่านในบางครั้งเป็นดั่งการตอกย้ำให้หวนนึกถึงเรื่องราว และจดจำเรื่องราวในห้วงยามที่ผ่านมา แต่การจดจำเรื่องราวในหนหลัง หลายคนบอกว่ายิ่งแก่ตัวไป ความจำยิ่งลดลง แต่สำหรับชายชราผมกับรู้สึกว่ายิ่งแก่ ยิ่งลายคราม สมกับวันวัยแห่งประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน

บางครั้งบางทีหลักไมล์การเดินทางของชายชราอาจอยู่บนใบหน้าที่แข็งแกร่ง การสะสมไมล์เดินทางของชายชราล้วนแล้วแต่คือรอยทางของเกลียวคลื่นจากเรือหาปลาที่พุ่งเข้ากระทบฝั่ง และปลานับจำนวนไม่ถ้วนที่ชายชราหาได้ในแต่ละปีคือ หลักไมล์แสดงระยะทางของการเดินทางบนสายน้ำของชายชรา

“ปลามันไม่ได้น้อยลง คนเยอะขึ้นก็จริงอยู่ ดูอย่างพ่อเฒ่าไปหาปลาทุกวัน ใส่มอง ใส่เบ็ด ก็ได้ปลามากิน หากคนหาปลาทุกคนทำอย่างนี้ไม่เอาเปรียบปลาจนเกินไป ปลามันก็มีเยอะเหมือนเดิม บางคนนี่เอาระเบิดไประเบิด แล้วปลาที่ไหนจะเหลือ คนเราเอาเปรียบปลาเกินไป ปลามันก็ไม่อยากให้คนได้กินบ้างเป็นการตอบแทนกัน คนเราอยู่อย่างนี้หาอยู่หากินต้องพึ่งพาอาศัยกัน ปลาตัวไหนมันติดเบ็ดติดมองของเราก็เพราะมันเกิดมาเพื่อเรา แต่ตัวไหนที่มันโดนระเบิดตาย บางทีมันก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อเรา แต่เราไปเอามันมาไปฆ่ามันก่อน

ปลาติดมองกับปลาโดนระเบิดมันไม่เหมือนกัน ปลาติดมองนี่ไม่ตาย มันว่ายมาติดเอง ชีวิตมันถูกลิขิตมาแล้ว แต่คนเอาระเบิดไประเบิดปลานี่ มันเอาเปรียบปลาเกินไป ปลามันว่ายน้ำอยู่ๆ ดี ไม่รู้เหนือรู้ใต้ เสียงตูมดังขึ้นใต้น้ำ ถ้าอยู่ในรัศมีของคลื่นแรงระเบิดนี่ร้อยทั้งร้อยหงายท้องหมด พวกระเบิดปลามันหากินไร้คุณธรรม มันอยากได้ปลาตัวใหญ่ไปขาย มันก็เลยเอาระเบิดมาใช้ พอระเบิดทีหนึ่ง มันเอาแต่ปลาตัวใหญ่ ปลาตัวเล็กไม่เอา ความจริงปลาตัวเล็กนี่มันจะโตได้ แต่โดนระเบิดตายก่อน ปลามันก็เลยน้อยลง ถ้าคนหาปลาใช้วิธีการหาปลาแบบพื้นบ้าน ปลามันก็ยังมีมาก อย่างเราอยากกินปลาใหญ่เราก็ใส่มอง--ตาข่าย, อวน ตาใหญ่ พอปลาเล็กมันว่ายมามันก็ผ่านไปได้ แต่ถ้าเราอยากกินปลาตัวเล็กด้วย เราก็ใช้มองตาเล็ก ถ้าเราทำอย่างนี้เหมือนกันหมด เมื่อเราตายไป รุ่นลูกรุ่นหลาน เหลนของเราก็จะมีปลากินกันต่อไป เราอย่าไปคิดว่ากูมาก่อน กูกินก่อน กินหมดกูก็ไป ไม่เหลือไว้ให้ใคร คนคิดอย่างนี้ มันเป็นคนโง่ คิดแต่จะได้เพียงคนเดียวไม่แบ่งคนอื่น มันไม่มีความสุขหรอก”

“แล้วพ่อเฒ่าไม่ขึ้นไปเหนืออีกหรือ”
“ไม่ได้ไป ช่วงนี้หยุดก่อน ถึงขึ้นไปหาปลาก็หาปลาไม่ได้ ไปเปลืองน้ำมันเปล่าๆ”
“ตอนนี้พ่อเฒ่าไปหาปลาถึงไหน”    
“แถวผากันตุง แก่แล้วไปไกลไม่ค่อยได้”

‘ผากันตุง’ ที่ชายชราว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มหินผาที่มีอยู่หลายแห่งในแม่น้ำ กลุ่มผาเป็นแท่งหินเหล่านี้ส่วนใหญ่จมอยู่ใต้น้ำตลอดปี กลุ่มหินผาอีกประเภทหนึ่งจะมีสันดอนทรายอยู่รอบๆ ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอน กลุ่มหินผาลักษณะนี้จะมี ‘ดอน’ และ’หาด’ ประกอบอยู่ด้วย

ตรงผากันตุงมีเรื่องเล่าขานกันมาว่า “ผากันตุงเป็นผาขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางสายน้ำโขงตรงข้ามกับผาพระ ผากลางน้ำโขงซึ่งมีน้ำล้อมรอบ ในอดีตหลังจากชาวบ้านเคารพสักการะผาพระเสร็จก็จะพากันนำ ‘ตุง’ หรือธงยาวของทางเหนือที่ใช้ในพิธีกรรม มาปักไว้ตรงแก่งหินก้อนใหญ่กลางแม่น้ำ ชาวบ้านจึงเรียกสืบต่อกันมาว่า ผากันตุง”

บริเวณผากันตุงทำหน้าที่เป็นพื้นที่หาปลาของชายชรามาอย่างยาวนาน--นานขนาดที่แกรู้ว่า รอยที่เกิดจากการกัดเซาะบนหินเป็นรอยของปลาชนิดไหนมาฝากรอยคมเขี้ยวของมันเอาไว้ ความรู้เรื่องรอยฟันปลานี้ ชายชราได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกหลานอย่างไม่หวงแหน  โดยเฉพาะกับตี๋หลานชาย ชายชราได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่หลานชายคนนี้อย่างเต็มที่ ตี๋เองก็ออกหาปลากับชายชราตั้งแต่เล็ก บ่อยครั้งคนหาปลาด้วยกันจะเห็นเด็กชายตัวเล็กถือคันเบ็ดเดินตามหลังชายชราลงเรือ

สำหรับคนหาปลาแล้ว ไม่ใช่ว่าพวกเขาพอใจอยากหาปลาตรงไหนก็ทำได้ แต่คนหาปลาต่างมีพื้นที่หาปลาของตัวเอง คนหาปลาจะรู้ว่าพื้นที่ของตนจะหาปลาด้วยวิธีการใด เมื่อใด หากรู้จังหวะ ช่วงเวลา คนหาปลาก็จะได้ทรัพย์ในน้ำกลับมา

การวางเครื่องมือหาปลา คนหาปลาต่างต้องเคารพในกันและกัน และหลักการนี้ทำกันมาแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อ คนหาปลาต่างยึดถือกฏเกณฑ์ของการไม่เอาเปรียบกันและกัน ในการวางเครื่องมือหาปลาแต่ละครั้งจะไม่มีการวางเครื่องมือหาปลาบริเวณพื้นที่หาปลาของคนอื่นเด็ดขาด แต่ถ้าจะวางเครื่องมือหาปลาในพื้นที่ของคนอื่นก็ต่อเมื่อ เจ้าของพื้นที่อนุญาตหรือไม่ใช้พื้นที่แล้ว คนหาปลาคนอื่นจึงจะเอาเครื่องมือหาปลาของตัวเองไปวางได้ การพึ่งพาอาศัย และการให้เกรียติกันของคนร่วมน้ำเดียวกันล้วนอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในความเท่าเทียมกันของมนุษย์เป็นสำคัญ

“เราคนหาปลาด้วยกันเอาเปรียบกันมันไม่ดี เราเคยหาที่ไหนเราก็หา อย่าไปหาที่ของคนอื่น เรามี’ลั้ง’ ของเรา คนนอื่นเขาก็มีลั้งของเขา แต่ถ้าไหลมองนี่ก็มาไหลด้วยกันได้ เพราะมันต้องใช้พื้นที่ส่วนร่วม แต่พวกวางเบ็ด วางไซลั่นนี่ เราต้องหาพื้นที่เอาเอง ไม่ใช่ว่าเห็นคนอื่นวางตรงไหนได้ปลา เราก็ไปวางที่ของเขาอย่างนี่ไม่ดีหากินไม่หมาน เราต้องเคารพเขา แต่ถ้าเขาไม่วางเบ็ด เราอยากได้ปลาเราก็ไปขอเจ้าของพื้นที่เขาวางได้ จริงอยู่แม่น้ำมันไม่ใช่ของใคร แต่พื้นที่ทำกินเราก็ต้องแสวงหาเอากันเอง แม่น้ำสายใหญ่อยู่ข้างหน้า มันต้องมีสักที่แหละที่พอให้เราหาอยู่หากินได้”

ในชีวิตจริงสำหรับชายชราแล้วไม่ได้มีเรื่องเคร่งเครียดจริงจังตลอด ชีวิตก็มีจังหวะของมัน ไม่ได้ต่างอะไรกับแม่น้ำ สำหรับชายชราในบางครั้งแกก็มีเรื่องราวชวนหัวให้ได้อำกันบ้างในบรรดาคนคุ้นเคย อย่างเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่องนี้

วันหนึ่งมีคนเห็นชายชราเอาเรือขึ้นเหนือไปตอนเช้า แต่ตอนเย็นก็เห็นแกกลับมา เลยถามว่าทำไมรีบกลับมาได้ปลาเยอะหรือ ชายชราก็ตอบกลับมาว่า กลับมานี่ยังไม่ได้หาปลาหรอก แต่ลืมเอาข้าวสารไปด้วย เลยย้อนกลับมาเอาข้าว เพราะเดี๋ยวจะไม่มีข้าวกิน

แม้เรื่องราวอย่างนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เมื่อคนหาปลาอาวุโสมีเรื่องแบบนี้ จึงเป็นเรื่องที่ใครๆ พากันพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ทุกครั้งที่ใครพูดเรื่องนี้ ชายชราก็จะหัวเราะอย่างอารมณ์ดีเสมอ ยิ่งเวลาได้น้ำใสหนักดีกรีเข้าไปหลายจอก แกก็จะร้องเพลงรำวงอย่างสนุกสนานอยู่เสมอ...

มาเถิด มาเถิดแก้วตา รำวงดีกว่าร่าเริงหัวใจ รำวงดีกว่าร่าเริงหัวใจ...

ความเห็น

Submitted by ´เก-ลอ ยี on

แต่กับชายชรา ผู้ไปตัดหวายในดงลึก เมื่อถึงป่าหวายเวลาใกล้เที่ยง แต่แล้วตาเฒ่าต้องกลับออกมามือเปล่า ผู้คนทักถาม "ไปไม่ถึงดงป่าหวายหรือ?กลับแต่หัววันเชียว" "เปล่า" ตาเฒ่าตอบ "ทำไมล่ะ?"....."ลืมโป้ยาสูบ"ตาเฒ่าตอบพร้อมพึมพำ " ลืมห่อข้าวสิไม่ว่า...

เสียงแคน มิตรภาพ และความหวัง

1 April, 2010 - 00:00 -- sumart

สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน

พญามังกร แม่น้ำ และความตาย

23 March, 2010 - 00:00 -- sumart

แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ

๑๔ มีนา วันหยุดเขื่อนโลก

16 March, 2010 - 00:00 -- sumart

แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง

ความแห้งจะไม่ใช่ภัยพิบัติอีกต่อไปหากเราเข้าใจในธรรมชาติ

7 March, 2010 - 00:00 -- sumart

ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้งคนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่