วารสารวรรณศิลป์บนแผ่นดินลาว
ลมหนาวและความร้อนแล้งโชยผ่านยอดขุนเขาด้านทิศตะวันตกแห่งเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านนามาแผ่วๆ แล้วฤดูกาลแห่งความเหน็บหนาวก็เดินทางมาอีกครั้งพร้อมกับลมสายลมนั้น
\\/--break--\>
ในสายลมหนาวของยามค่ำวันหนึ่ง ข้าพเจ้าหวนนึกถึงเรื่องราวบางเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเพียงชั่วไม่กี่เดือน ข้าพเจ้าลองไล่เรียงลำดับความสัมพันธ์ระหว่างข้าพเจ้ากับเรื่องราวแห่งสวนอักษรที่งอกงามขึ้นมาในใจเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ามันช่างเป็นความสัมพันธ์ที่เล็กน้อยเสียเหลือเกิน เล็กน้อยถึงขนาดที่ใครบางคนบอกกับข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้ายังรู้จักมันน้อยเกินไป ไม่ต้องไปฟูมฟายกับมันมากนักก็ได้ ใช่ !! เมื่อเรารู้จักเรื่องราวบางเรื่องราวเพียงเล็กน้อย เราจะไปตัดสินใจว่า มันดีหรือเลวไม่ได้
เรื่องราวที่ข้าพเจ้ากำลังย้อนคืนความทรงจำในครั้งนี้ มันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือเล่มหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าพบโดยบังเอิญขณะเดินย่ำไปบนถนนสายหนึ่งในเมืองหลวงพระบางยามค่ำคืน หนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ ขนาดกระดาษ A ๔ ราคา ๕,๐๐๐ กีบ (๒๕๐ กีบเท่ากับ ๑ บาท) ที่ข้าพเจ้าพบเจอนั้นชื่อ “วารสารวรรณศิลป์”
แรกพบสบตาซึ่งกันและกัน ทั้งที่ยังไม่ทันได้เอ่ยเอื้อนทำความรู้จักกัน หนังสือ ๔ เล่มก็มาอยู่ในมือของข้าพเจ้า
ยามเมื่อเรือทวนคืนสายน้ำของกลับมายังประเทศไทย ข้าพเจ้าก็ได้รู้จักวารสารเล่มนี้มากขึ้น ข้าพเจ้าเฝ้าสังเกตความเป็นไปของมันด้วยการอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรื่องสั้นบางเรื่อง บทกวีบางบท ที่ข้าพเจ้าเฝ้ามองและเฝ้าอ่าน ในที่สุดข้าพเจ้าก็ค้นพบว่า การเขียนกวีแบบลาวคือการเขียนกวีแบบผญาอีสาน
ในเรื่องสั้นบางเรื่องมีกลิ่นอายของประเทศรัสเซียปรากฏ โดยเฉพาะเรื่องสั้นของ บุญเสิน แสงมณี นักเขียนลาวที่ไปร่ำเรียนในประเทศรัสเซีย ฉากบางฉาก เรื่องเล่าบางเรื่องเล่า ล้วนมีกลิ่นอายของหิมะแห่งแผ่นดินรัสเซียโปรยปรายอยู่
ข้าพเจ้าได้รู้จักนักเขียนเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ของประเทศลาวในปี ๑๙๙๙ จากหนังสือเล่มนี้ แม้ว่างานเขียนของเขาจะแผ่วเบาทางอารมณ์ลงไปบ้างก็คงไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก แต่หากว่า ความสำคัญของมันคือ การเปลี่ยนผ่านจากนักเขียนผู้เฒ่าสู่พัฒนาการของนักเขียนรุ่นใหม่
จันที เดือนสะหวัน คือนักเขียนผู้เฒ่าคนนั้นที่ได้แสดงให้นักเขียนรุ่นใหม่ได้เข้าใจว่า เขาคือนักเขียนที่เขียนได้หลากหลายเรื่องราว ดุจเดียวกันกับพญาอินทรีแห่งดอยโป่งแยงได้แสดงให้คนรุ่นหลังได้ประจักษ์เช่นกัน
เมื่อต้นเดือนธันวาคมมาเยือนพร้อมกับการเฉลิมฉลองวันชาติของลาวได้ผ่านพ้นไป ข้าพเจ้าก็ได้รับวารสารวรรณศิลป์ปี ๒๐๐๔ จำนวน ๑๑ ฉบับ จากความปรารถนาดีของเพื่อนนักเขียนคนหนึ่งที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากนครหลวงเวียงจัน ข้าพเจ้าพินิจวารสารจำนวน ๑๑ ฉบับนั้นกลับไปกลับมา แล้วสายตาของข้าพเจ้าก็สะดุดเข้ากับตัวหนังสือแถวหนึ่งในถ้อยแถลงของบรรณาธิการคือ ท่านทองใบ โพธิสาน ในถ้อยคำนั้นมีเนื้อความว่า “ปีนี้เป็นปีครบครอบ ๒๕ ปี ของวารสารวรรณศิลป์ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี ๑๙๗๙ ” ถ้าเป็นคนหนุ่มก็เลยเบญจเพสมาหลายปี
ห้วงยามปัจจุบันวารสารวรรณศิลป์ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก (แต่ราคาคงเดิม) เนื้อหาต่างเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทั้งเรื่องสั้น บทกวี สารคดี เรื่องแปลจากต่างประเทศ และในปีนี้เองที่วารสารวรรณศิลป์ได้จัดประกวดรางวัลสินไช-รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ดีเด่นปี ๒๐๐๔ ขึ้นมา ในจำนวนเรื่องราวที่ส่งเข้าประกวดแล้ว นอกจากกรรมการเป็นผู้ตัดสิน ผู้อ่านยังมีส่วนร่วมในการตัดสินด้วย เรื่องที่ส่งเข้าประกวดรางวัลสินไชนั้นมีทั้ง เรื่องสั้น บทกวี และนิยาย ซึ่งเรื่องที่ส่งเข้าประกวดได้ทยอยตีพิมพ์ในวารสารวรรณศิลป์เพื่อให้ผู้อ่านได้อ่าน
นอกจากเรื่องสั้น บทกวี และนิยายแล้ว วารสารวรรณศิลป์ยังมีนิทานพื้นบ้านเพิ่มเข้ามาเป็นสีสันให้คนอ่านได้อ่านสนุกสานอีกด้วย
ยิ่งข้าพเจ้าเพ่งพินิจวารสารวรรณศิลป์มากเท่าใดก็ยิ่งเกิดคำถามมากขึ้นเท่านั้นว่า “แล้ววารสารฉบับนี้ใครเป็นเจ้าของ” ในที่สุดคำตอบของคำถามก็ถูกเฉลยไว้ในหน้าแรกของวารสารนั่นเอง กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมคือผู้เป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้ โดยการผลิตหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้เป็นวารสารเพื่อวัฒนธรรม และเป็นเวทีส่งเสริมวรรณคดีและศิลปะ
ในประเทศเล็กๆ ที่ไม่เจริญและล้าหลังในสายตาของคนไทย ข้าพเจ้าเชื่อว่ายังมีบ้างสิ่งที่ไม่ล้าหลัง แต่ในประเทศที่เจริญอย่างประเทศไทยต่างหากเล่าที่กำลังล้าหลังลงเรื่อยๆ ทั้งที่เราอยากเป็นเมืองแห่งศิลปะ เมืองแห่งแฟชั่น ถ้าไม่เชื่อลองเอาเรื่องราวเหล่านี้ไปถามกระทรวงวัฒนธรรมดูก็คงจะรู้เอง
วารสารวรรณศิลป์บนแผ่นดินลาวต่างมีเรื่องเล่าให้เล่าขานได้ไม่รู้จบจากการถือกำเนิดและการดำรงอยู่ของวารสารเล่มนี้ และข้าพเจ้าแอบหวังว่า มันคงอยู่อย่างเนิ่นนานและรับใช้ผู้อ่านไปอีกเนิ่นนานเช่นกัน