Skip to main content

ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้งคนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่


เมื่อยุคอุตสาหกรรมการเกษตรเจริญรุ่งเรือง น้ำท่าที่ไม่มีก็มีตามมา ด้วยการทำเขื่อน ทำคลองในการกระจายน้ำออกสู่ภาคเกษตร ยุคสมัยใหม่ไม่ได้สนใจในธรรมชาติ แต่เรียนรู้ที่จะเอาชนะธรรมชาติด้วยการพัฒนาระบบการชลประทานต่างๆ เข้ามา


คลองส่งน้ำจึงกระจายผ่านไปทุกหนทุกแห่งที่อำนาจของผู้แทนในจังหวัดนั้นๆ จะนำไปสู่การปูทางเพื่อการเข้าไปเป็นสมาชิกสภาอีกสมัย


วาทกรรมที่ว่าด้วยความแห้งแล้งคือภัยธรรมชาติก็เดินทางมาพร้อมกับนักการเมืองเหล่านั้น เดินทางมาพร้อมกับการตอดเล็กตอดน้อยจิกเอางบประมาณที่มีอยู่จำกัดในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง หากมองในเรื่องของการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แทบทุกปีเมื่อถึงฤดูกาลหลังปลายหนาว เราจะได้เห็นนโยบายต่างๆ ที่มุ่งไปเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างมากมาย แต่บางครั้งงบประมาณเหล่านั้นกลับสูญเปล่า เพราะการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด


หากเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง เราจะพบว่า ในแต่ละช่วงเวลา ธรรมชาติได้บอกเราแล้วว่า ในช่วงเวลาไหน เราน่าจะทำเกษตรแบบไหน ในช่วงหน้าแล้ง การปลูกพืชผักที่ใช้น้ำจำนวนมากจึงเป็นสิ่งที่คนในยุคสมัยก่อนเกษตรอุตสาหกรรมเรืองอำนาจไม่นิยมนำมาใช้


ในสภาวการณ์ผู้มีอำนาจหรือแม้แต่ผู้คนในสังคมมองเรื่องความแห้งแล้งคือการขาดน้ำเพียงอย่างเดียว การมองเช่นนี้เป็นการปิดกั้นการมองเห็นในภาคส่วนอื่นๆ ด้วย แต่ถ้าหากเราลองเปิดใจ เปิดตามองอย่างรอบด้าน เราจะพบว่า น้ำแห้ง ไม่ได้มาจากฝนขาดฟ้าเพียงอย่างเดียว บางทีการทำเกษตรแบบอุตสาหกรรมที่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไว้เพื่อขายให้ได้เงินมาเร็วๆ ก็มีส่วน เพราะบางครั้งการปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนที่ลาดเอียงของภูเขา เราต้องตัดไม้ และทำลายดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุโดยการใช้สารเคมี


เมื่อธรรมชาติถูกทำลายลงทีละน้อย ความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศที่เคยเป็นมาย่อมถูกทำลายลงด้วย


ภายใต้สายตาที่มองว่า ความแห้งแล้งคือภัยธรรมชาติ สิ่งที่เห็นต่อมาคือการหาน้ำเพื่อมาบรรเทาความแห้งแล้ง การหาน้ำที่ง่ายที่สุดคือการสร้างเขื่อน สร้างฝาย แต่ในความเป็นจริงการสร้างเขื่อน สร้างฝายกลับกลายเป็นสร้างความแห้งแล้งเสียเอง กรณีชัดเจนมากเกี่ยวกับเรื่องเขื่อนบนแม่น้ำโขง เพราะยิ่งมีเขื่อนมากน้ำยิ่งแห้ง เขื่อนไม่ได้มีไว้เพื่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเลย แต่กลับกลายเป็นตัวสร้างปัญหาภัยแล้งเสียเอง


ความแห้งแล้งตามฤดูกาลจะไม่เป็นภัยพิบัติอีกต่อไป หากเราเข้าใจในธรรมชาติ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง ปล่อยให้ใบไม้ได้แห้ง ปล่อยให้น้ำแล้ง ปล่อยให้ไฟป่าได้จัดการกับใบไม้แห้งเสียเอง แล้วเราได้แต่มองดู และเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาเพื่อปรับความสมดุลยให้กับตัวเอง เข้าใจธรรมชาติ และเข้าใจกับตัวเอง แล้วเราจะเห็นความงามของความแห้งแล้งอย่างแท้จริง

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
วารสารวรรณศิลป์บนแผ่นดินลาว ลมหนาวและความร้อนแล้งโชยผ่านยอดขุนเขาด้านทิศตะวันตกแห่งเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านนามาแผ่วๆ แล้วฤดูกาลแห่งความเหน็บหนาวก็เดินทางมาอีกครั้งพร้อมกับลมสายลมนั้น
สุมาตร ภูลายยาว
สี่พันดอน: บ้านของคนและปลา เมื่อเอ่ยถึงสี่พันดอนเชื่อว่าหลายคนที่เคยไปเยือนคงจินตนาการถึงได้ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยไปเยือนคงงุนงงไม่น้อยว่าหมายถึงอะไร คำว่า ‘สี่พันดอน’ เป็นชื่อเรียกเกาะ ดอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสัก ภาคใต้ของประเทศลาว ดินแดนแห่งนี้ได้ถูกเรียกขานว่า สี่พันดอน เพราะเต็มไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่มีจำนวนมากมายเรียงรายอยู่ในแม่น้ำโขงที่มีความกว้างกว่า ๑๔ กิโลเมตร เกาะต่างๆ เริ่มขึ้นที่เมืองโขงและยาวลงไปจนถึงชายแดนลาว-กัมพูชาที่บ้านเวินคามกับเมืองสตรึงเตร็ง ในจำนวนเกาะที่มีอยู่มากมาย เกาะใหญ่ที่สุดชื่อ ‘ดอนโขง’ คำว่า ‘ดอน’…
สุมาตร ภูลายยาว
เจ้าม้าศึกสีเทา ๒,๒๐๐ ซีซี ทะยานไปตามทางลูกรังสีแดงเบื้องหลังฝุ่นคลุ้งตลบ หากมีรถวิ่งตามมาคงบอกได้คำเดียวว่า ‘ขอโทษ’ ก่อนจะถึงทางแยกเสียงโทรศัพท์ของผู้ไปถึงก่อนก็บอกให้ตรงมาตามทางอย่าได้เลี้ยวซ้ายเป็นอันขาด เพราะนั่นหมายถึงการหลงทางจะเกิดขึ้น
สุมาตร ภูลายยาว
การเดินทางเที่ยวนี้มีผู้หญิงนำ เช้านี้เป็นอีกวันที่ตื่นเช้ากว่าวันอื่น แต่หากว่าเมื่อเทียบกับชาวบ้านทั่วไปแล้ว ถือว่ายังสาย โดยเฉพาะกับพ่อค้าแม่ค้าการตื่นนอนตอน ๖ โมงเช้านั้นถือว่าสายมากแล้ว เช้านี้กว่าจะเปิดเปลือกตาตื่นช่างหนักหนาสาหัส ราวกับว่าเปือกตาทั้งสองข้างถูกปิดทับไว้ด้วยเทปกาวชั้นดี หลังล้างหน้าแปรงฟันเสร็จ สมองยังคงงุนงง อาจเป็นเพราะช่วงนี้พักผ่อนไม่ค่อยพอ รวมทั้งมีเรื่องหลายเรื่องให้ได้คิด แต่เพราะงานที่ทำจึงต้องบังคับตัวเองให้ลุกจากที่นอน
สุมาตร ภูลายยาว
จะแกคนเลี้ยงวัวผู้ไม่เคยขุ่นมัวในหัวใจ ผมจำได้ว่าพบชายคนนี้ครั้งแรกเมื่อเข้าไปบ้านสองพี่น้อง เขาดูแปลกกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน เพราะเขาเป็นผู้ชายคนเดียวในหมู่บ้านที่ไว้ผมยาว เค้าโครงใบหน้าของเขาราวกับถอดแบบออกมาจากหัวหน้าชนเผ่าของอินเดียนแดง
สุมาตร ภูลายยาว
การงานของชีวิตที่ตกค้าง ฝนเทลงมาอีกวันแล้ว...เสียงสังกะสีดังราวกับมีก้อนหินนับล้านร่วงลงมาใส่ เย็นวันนี้มีเรื่องราวให้ขบคิดมากมาย กลับมาจากการประชุมที่เคร่งเครียด อันนับว่าเป็นการงานส่วนหนึ่งของชีวิต เล่นเอาเหนื่อยสายตัวแทบขาด แล้วยังมีงานอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีกไหมนี่
สุมาตร ภูลายยาว
บันทึกในค่ำคืนที่เปลี่ยนผ่านกับนิทรรศการที่ไม่ได้จัด สายฝนของเดือนกันยายนโปรยสายลงมาทั้งวัน เราออกเดินทางจากเชียงของมาแต่ตอนเช้าด้วยรถคันเล็ก บนกระบะทางตอนท้ายบรรทุกเอกสารต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการมาเต็ม รถต้องจดหลายครั้ง เพื่อห่มผ้ายางกันฝนให้ของบนกระบะรถ เราผ่านมากว่าครึ่งทาง ฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก ซ้ำร้ายยังตกลงมาหนักกว่าเดิม รถวิ่งทำความเร็วได้ไม่มากนัก ทั้งที่ความเป็นจริงแม้ฝนจะไม่ตก มันก็ไม่เคยวิ่งได้เร็วกว่าที่วิ่งอยู่เท่าใดนัก
สุมาตร ภูลายยาว
เมฆสีดำเหนือฟ้าด้านตะวันออกส่งสายฝนลงมาตั้งแต่เช้าจนล่วงบ่าย แม่น้ำเป็นสีชานมเย็น เศษขยะ ขอนไม้ ท่อนไม้ และต้นไม้ลอยมากับสายน้ำ และไหลไปตามแรงเฉื่อยของกระแสน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
เช้านี้เหมือนกับทุกเช้าในช่วงนี้พ่อท่อน ยาแก้วเดินทอดน่องในสวนบนดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อดูแปลงมะเขือราว ๔ ไร่ ในใจพ่อท่อนเองไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้แม้ว่าจะถึงช่วงเวลาในการเก็บแล้ว สาเหตุที่ทำให้พ่อท่อนไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้ เพราะราคามะเขือต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ปีนี้มะเขือหนึ่งหมื่น (๑๒ กิโลกรัม) ขายส่งจากสวนได้เงิน ๑๒ บาท
สุมาตร ภูลายยาว

รถตู้วิ่งไปบนถนนลาดยางมะตอยที่บางช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนสายนี้เป็นเส้นทางจากจังหวัดกระแจะไปอำเภอสามบอ เพราะถนนไม่ค่อยดีนัก ระยะทาง ๓๕ กิโลเมตรต้องใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงจึงถึงจุดหมาย เมื่อรถตู้ทั้ง ๓ คันจอดสงบนิ่งลงตรงประตูหน้าวัด ผู้โดยสารในรถตู้ก็พากันทยอยลงจากรถ เบื้องล่างของถนนเป็นแม่น้ำสายใหญ่ คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘โตนเลของ-แม่น้ำของ-โขง’ แม้ยังไม่สายมากนัก แต่แสงแดดก็ส่องประกายร้อนแรงเหนือสายน้ำ ฟ้ากว้างเปล่าแปนเป็นสีฟ้าไกลสุดสายตาหยั่งถึง บนสายน้ำเรือหลายลำจอดลอยลำอยู่ ใกล้กับเรือตรงโคนต้นจามจุรีมีเด็ก ๓-๔ คนนั่งอยู่ ถัดจากโคนต้นจามจุรีไปมีเรือลำหนึ่งลอยลำอยู่…
สุมาตร ภูลายยาว
จากพื้นที่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ผู้คนสองฝั่งได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำที่มีความยาว ๔,๙๐๔ กิโลเมตรสายนี้ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ล้าน ลักษณะการใช้ประโยชน์ก็แตกต่างกันออกไปตามแต่สภาพของพื้นที่ ในช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีผู้คนไม่จำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์ในด้านแตกต่างกันออกไป ผู้ใหญ่ใช้หาปลา และใช้พื้นที่ตามหาดทรายที่โผล่พ้นน้ำ และริมฝั่งทำการเกษตร เด็กๆ ใช้เป็นห้องเรียนสำหรับฝึกหาปลา และว่ายน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
  ผาชันเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มแรกเดิมทีก่อนเดินทางไปถึง ผมจินตนาการถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในรูปแบบต่างๆ และพอเดินทางไปถึงบ้านผาชันเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในหน้าฝน ผมก็พบว่า ในฤดูฝนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นเกาะขนาดย่อมๆ ชาวบ้านบอกว่า "ในฤดูฝน น้ำจากห้วยจะไหลจนท่วมสะพาน และถนนที่เข้าสู่หมู่บ้าน การเดินทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เรือข้ามลำห้วยแล้วไปต่อรถ" ร่องรอยของคำพูดปรากฏให้เห็นเมื่อผมเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน รถข้ามสะพานที่น้ำในลำห้วยเริ่มปริ่มอยู่ใต้สะพาน…