Skip to main content
บนเทือกเขาสูงอันไกลโพ้นในดินแดนที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหลังคาโลก บนเทือกเขาสูงกว่า ๕,๐๐๐ ฟุตจากระดับน้ำทะเลถูกปกคลุมด้วยหิมะเย็นจัด หลังการปกคลุมของหิมะ หลายร้อยหลายพันปี เมื่อความร้อนชื้นของอากาศมาเยือน หิมะจึงถูกหลอมละลายจนก่อเกิดเป็นต้นธารของแม่น้ำอันยิ่งใหญ่สายหนึ่งของโลก


ในตอนบน แม่น้ำสีเขียวมรกตอันเกิดจากการละลายของหิมะสายนี้อุดมไปด้วยความหนาวเย็น แม่น้ำได้ไหลจากต้นกำเนิดบนที่สูงลงสู่ด้านต่ำตามกฏแรงโน้นถ่วงของโลกผ่านซอกหุบเขาอันสลับซับซ้อน ผ่านผืนแผ่นดินอันอุดมไปด้วยความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม และลัทธิการเมืองการปกครอง ทุกพื้นที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน ผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำได้ใช้ประโยชน์แตกต่างกันออกไป ในแถบชายแดนธิเบต-จีนอันเป็นต้นธารของแม่น้ำ ผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำถือเอาแม่น้ำเป็นดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนจึงใช้แม่น้ำอันเนื่องด้วยการดำเนินวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณ แต่หากว่าเมื่อแม่น้ำไหลลงมาจนถึงเขตที่ราบลุ่มในเขตปกครองตนเองสิบสองพันนา ผู้คนกลับได้พึ่งพาประโชยน์จากแม่น้ำในด้านของการดำรงอยู่ของชีวิต แม่น้ำจึงเป็นทั้งแหล่งอาหาร เส้นทางคมนาคม


นอกจากแม่น้ำได้หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตอันหลากหลายแล้ว แม่น้ำยังได้ให้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎเกณฑ์ความเป็นไปของธรรมชาติ ขณะเดียวกันนอกจากแม่น้ำจะให้ประโยชน์กับผู้คนแล้ว แม่น้ำยังสอนให้เรารู้จักการอยู่กับธรรมชาติอย่างนอบน้อม ในฤดูฝนกลางสายน้ำเชี่ยวกราก แม่น้ำได้สอนให้เราคารวะความยิ่งใหญ่ของสายน้ำด้วยความหวาดกลัวอันเดินทางสู่เบื้องลึกของหัวใจ


ว่ากันว่าแม่น้ำที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้นี้มีความยาวจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำรวม ๔,๙๐๙ กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก ไหลผ่าน ๖ ประเทศ มีผู้คนกว่า ๑๐๐ ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ใช้ประโชยน์จากแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ แตกต่างกันออกไป และแม่น้ำก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ผู้คนในมณฑลยูนนานเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘หลานชางเจียง’ ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาผู้คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำล้านช้าง’ เมื่อแม่น้ำไหลผ่านทางตอนใต้ของชายแดนจีนเข้าสู่ชายแดนลาว-ไทย คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำของ-โขง’


อยากยิ่งนักที่มนุยษ์เช่นเราๆ จะเรียนรู้แม่น้ำได้ทั้งหมด แม้ว่าจะมีบันทึกหลายหลายเกี่ยวกับแม่น้ำ เราก็ไม่อาจรู้จักแม่น้ำสายนี้ได้ทั้งหมด แต่ในวันนี้เรื่องราวบางเรื่องราว เราได้รู้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายนี้


เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเจตนาของการใช้แม่น้ำสายนี้ของหลายประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงล้วนมุ่งสู่การตอบสนองระบบทุนนิยมเป็นหลัก โครงการพัฒนาในด้านต่างๆ จึงถาโถมลงมาสู่แม่น้ำสายนี้อย่างต่อเนื่อง


ย้อนหลังไปในปี พ.ศ ๒๕๓๓ ธนาคารพัฒนาเอเชียได้เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อแผนพัฒนาแม่น้ำโขงแทนคณะกรรมการประสานงานชั่วคราวในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาพลังน้ำในแม่น้ำโขง และดำเนินโครงการต่อเนื่อง โครงการใหญ่ๆ ที่สำคัญหลายโครงการสำหรับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น


ปี พ.ศ ๒๕๓๖ จีนเริ่มแสดงบทบาทอย่างเป็นรูปธรรมโดยการเสนอแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เริ่มด้วยการเปิดเส้นทางเดินเรือขาดใหญ่ในแม่น้ำโขงพร้อมกับการแต่งตั้งคณะสำรวจร่วมระหว่าง จีน พม่า ไทย ลาว เป็นที่มาของโครงการระเบิดแก่ง และขุดลอกสันดอนทรายในแม่น้ำหลานซาง-แม่น้ำโขง


ภายหลังการลงนามข้อตกลงใหม่ในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (The Mekong River Commission) แทนคณะกรรมการแม่น้ำโขง (The Mekong committee) ในปี ๒๕๓๘ จากการพลักดันโดยธนาคารพัฒนาเอเชียโดยมีแนวคิดสำคัญคือ การนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มกำลัง ประโยชน์ที่กล่าวถึงคือ การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งประมาณกันว่าตลอดแม่น้ำโขงทั้งสายหากมีการสร้างเขื่อนสามารถมีมีกำลังผลิตได้ถึง ๓๗,๐๐๐ เมกวัตต์ และภายหลังการก่อตัวของโครงการนี้เริ่มขึ้น ประเทศจีนจึงลงมือก่อสร้างเขื่อนในปีต่อมา โดยเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงคือเขื่อนมันวานในบริเวณแม่น้ำโขงตอนบน


เมื่อเขื่อนแห่งแรกเกิดขึ้น เขื่อนอีกหลายเขื่อนก็ตามมา หลังการสร้างเขื่อนกระแสการไหลของน้ำได้เปลี่ยนไป น้ำที่เคยท่วมหลากในฤดูฝนก็กลายเป็นน้ำขึ้นน้ำลงตามอิทธิพลของการเปิดประตูเขื่อน ผลกระทบที่ตามมาคือระบนิเวศของแม่น้ำก็เปลี่ยนแปลงไป จำนวนปลาที่คนหาปลาเคยหาได้ก็ลดน้อยลง คนหาปลาหลายคนต้องเลิกหาปลา เพราะปลาลดน้อยลง ที่อยู่อาศัยของปลา เช่น คก บางแห่งก็ตื้นเขิน บางแห่งก็เกิดตะกอนทรายทับถมจมไม่เหลือร่องลอยอีกต่อไป


บทเรียนจากเขื่อนปากมูนได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การสร้างเขื่อนคือการปิดกั้นการอพยพของปลาที่ต้องขึ้นไปหาแหล่งเพาะพันธุ์ยังบริเวณแก่งหินต่างๆ รวมทั้งยังทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งจะอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือที่ราบน้ำท่วมรวมทั้งแก่งหินที่เป็นที่อยู่อาศัยของปลา


เขื่อนจึงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำเพียงด้านเดียว แต่หากว่าเขื่อนยังส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมสองฝั่งแม่น้ำด้วยเช่นกัน


วันนี้ชีวิตของผู้คนริมสองฝั่งยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ต่างอะไรกับแม่น้ำ บางครั้งก็ไหลหลากเกรี้ยวกราด กระชากกระชั้น บางครั้งเรียบเรื่อยนิ่งสงบ แต่ทว่าความเกรี้ยวกราดของแม่น้ำเป็นแค่เพียงภาวะแปรปรวนของธรรมชาติ ต่างจากความกราดเกรี้ยวในจิตใจของมนุษย์ผู้เต็มไปด้วยความมุ่งหวังที่จะอยู่เหนือธรรมชาติ และยึดครองธรรมชาติให้มาอยู่ภายใต้อาณัติของตนเอง


แท้จริงแล้ว การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งและชีวิตของมนุษย์ คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมอย่างเอื้ออาทรกับธรรมชาตินั่นเอง เมื่อเราอยู่ร่วมกับธรรมชาติภายใต้ระบอบสังคมของมนุษย์ เราก็ควรเคารพในธรรมชาติ และเคารพในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ด้วยเช่นกัน


แม่น้ำโขงภายใต้แท่งปูนซีเมนต์มหึมายังคงหลากไหล เพื่อต่อลมหายใจแห่งแม่น้ำได้เดินทางต่อ แต่หากว่าลมหายใจของแม่น้ำในตอนนี้กำลังขาดห้วงลง เสียงของการหายใจไม่สม่ำเสมอเช่นก่อนมา และที่แม่น้ำเป็นเช่นนี้ก็คงจะเป็นการคาดเดาได้อย่างยิ่งว่า ลมหายใจสุดท้ายของแม่น้ำจะเดินทางมาถึงเมื่อไหร่ และก่อนลมหายใจสุดท้ายของสายน้ำ เราผู้ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำได้ถามตัวเองแล้วหรือยังว่า ‘วันนี้เราดูแลแม่น้ำที่ให้ประโยชน์กับเรากันแล้วหรือยัง ถ้ายังเราควรทำเช่นไร ตัดสินใจลงมือทำเสียแต่วันนี้ก่อนที่เราจะได้เห็นลมหายใจสุดท้ายของสายน้ำ’


(ตีพิมพ์ครั้งแรกในแท็บลอยหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๑)

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’