Skip to main content

ลำเซียงทา

ล่องไหลมาเนิ่นนาน.....
ทานทน ฝน-ร้อน-หนาว
ปล่อยไอหมอกขาวลอยล่องสู่ท้องฟ้า
เมฆมหึมาก่อฝน....เหนือโป่งขุนเพชร
ในหุบห้วยล้วนร่องธารที่ผ่านมา
เวลานาฑีไม่มีใครรู้
เพียงกระพริบไหวของสายตาแห่งหมู่เมฆ
ลมโยกเยกฝนใหญ่โปรยปราย
ลำเซียงทามาจากหุบห้วยใหญ่
ไหลล่องผ่านปี-เดือน
ไผ่ไหวเหนือสายน้ำลำเซียงทายามลมผ่านผิว
ปลิดปลิวเคว้งคว้างพลิ้วไหวอ่อนโยน
ลำเซียงทาโอบอุ้ม-อุ่นเอื้อ

โป่งขุนเพชร,เทพสถิตย์, ชัยภูมิ ,๒๕๔๗

 

หลังการเดินทางแรมคืนเราจึงมาถึงหมู่บ้าน ลมดึกของค่ำคืนวูบไหวผ่านใบหน้า สุนัขที่นองนิ่งอยู่ใต้พื้นบ้านส่งเสียงทักทาย เจ้าของบ้านหลายคนออกมานอกบ้านพร้อมส่งเสียงไล่มันให้เงียบเสียงลง หากเป็นหมู่บ้านทั่วไป ผู้บุกรุกในเวลาวิกาลเช่นนี้คงถูกแจ้งความดำเนินคดีตามกฏหมายไปแล้ว แต่ที่นี้ไม่ใช่หมู่บ้านอย่างหมู่บ้านทั่วไป ที่นี้คือทัพของนักรบสิ่งแวดล้อม นักรบผู้มีหน้าที่ปกป้องทัรพยากรด้วยอาวุธคือความคิด มันสมอง และสองมือเปล่า การต้อนรับผู้คนทั้งแปลกหน้าและคุ้นหน้าจึงไม่ใช่เรื่องราวอันแปลกประหลาดแต่ประการใดสำหรับคนในหมู่บ้าน

เมื่อเจ้าของบ้านหลังนั้นรู้ว่าผู้มาเยือนในเวลาวิกาลเป็นใคร และมีจุดมุ่งหมายใด ผู้มาเยือนก็ถูกเชื้อเชิญให้เดินตามทางไปยังเป้าหมาย หมู่บ้านจมอยู่ในความมืด การเดินไปตามทางเดิน เพื่อไปสู่เป้าหมายอาจดูเป็นเรื่องยาก เพราะหมู่บ้านไร้แสงไฟตามถนน แต่พอเป้าหมายอยู่ไม่ไกล ความยากในการเดินฝ่าความมืดจึงยุติลง

“หัวหน้า...หัวหน้า มีคนมาหา”
หลังได้ยินเสียงร้องเรียก เจ้าของบ้านก็เปิดไฟใต้ถุนบ้านและเดินตามบันไดลงมา
“ซำบายดีอยู่บ๋อ หัวหน้า”
“กะพออยู่ได้อยู่ คือพากันมาฮอดดึกแท้”
“โอย! ค้าแต่หลงทางนั่นแล้ว กว่าสิหาทางเข้าบ้านได้เกือบตาย”
“ผมว่าแล้ว มันต้องมีคนหลง ให้เขาไปปักธงเขียวไว้อยู่ ถ้ามาตามธงเขียวคือสิบ่หลงดอก”
“ธงมันผืนน้อยโพด กว่าสิเห็น เป็นหยังคือบ่เอาธงผืนใหญ่ๆ แด่”
“เอาผืนใหญ่บ่ได้ดอก เดียวเพิ่นสิฮู้ ความสิแตก มันสิบ่ม่วนทั้งผู้อยู่ ผู้มา”
“แล้วมีคนมาฮอดหลายคนอยู่บ่อ”
“บ่ นี่แหละซุดแรก”

หลังพูดคุยถามไถ่กันได้ไม่นานทั้งเจ้าของบ้าน และผู้มาเยือนก็แยกย้ายกันพักผ่อน หลังแสงแรกของวันพรุ่งนี้มาเยือน เรื่องราวต่างๆ ในหมู่บ้านก็จะถูกนำมาเล่าอีกครั้ง

หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านไม่ใหญ่มากซุกซ่อนอยู่ในซอกหลืบของป่าที่สำคัญหมู่บ้านได้กลายมาเป็นฐานบัญชาการรบกลับอำนาจรัฐอย่างปฏิเสธเสียไม่ได้ เพราะหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณจุดที่จะมีการสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชรพอดี ถัดจากหมู่บ้านไปไม่ไกลมีแม่น้ำสายหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ลำเซียงทา’ แม่น้ำสายนี้แหละที่ชาวบ้านบอกว่า เขาจะมีการกั้นเขื่อน ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าเขื่อนที่จะสร้าง เขาจะเอาไว้เก็บน้ำเพื่อการเกษตร แต่ความจริงอีกด้านหนึ่ง หากว่าเมื่อมีการสร้างเขื่อนแห่งนี้ น้ำก็จะท่วมพื้นที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งมีอยู่คนละไม่มาก แต่หลายร้อยคน

“บ่สู้กะบ่ได้ดอกหัวหน้า น้ำสิท่วมดั้งตี้ละ ท่าเพิ่นมาเฮ็ดเขื่อน”
“น้ำแม่บ่ใหญ่กะหยังสิมาเฮ็ดอยู่เหนาะ”
“ผมกะว่านั้นละ”


ดังที่เล่ามา เพราะแม่น้ำสายนี้ไม่ใหญ่มาก แต่มันมีความสำคัญกับชาวบ้านผู้ได้ใช้ประโยชน์มาชั่วนาตาปี หากว่ามีการทำเขื่อน (อันที่จริงกรมชลรับประทาน-กรมชลประทานบอกว่ามันเป็นแค่ฝายกักเก็บน้ำ) น้ำจากอ่างเก็บน้ำก็จะไหลท่วมพื้นที่ทำกิน หมู่บ้านก็จะถูกย้าย ชาวบ้านจึงเริ่มรวมตัวกันคัดค้าน และเริ่มเดินทางออกสู่ท้องถนน เพื่อร่วมขบวนการต่อสู้ในนามของสมัชชาคนจน

“หัวหน้านอนก่อนเด้อ มื้ออื่นจั่งเว้ากัน”
“ครับตามซำบายเลยหัวหน้า เดี๋ยวหมู่ผมกะสินอนคือกัน”


เจ้าของบ้านเดินจากไปแล้ว แสงตะเกียงถูกดับลง เสียงไก่ขันจากป่าแว่วมา ขณะล้มตัวลงนอน ผมหวนคิดถึงเรื่องราวบางเรื่องอันน่าฉงน แปลกแต่จริงประเทศเราถูกหลอกเสมอว่า เราสร้างเขื่อนเพื่อเอาน้ำมาเป็นไฟฟ้า แต่บางหมู่บ้านก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ แล้วไฟฟ้าจากเขื่อนมันไปไหน นั่นสิไฟฟ้าจากเขื่อนมันไปไหน

สายลมดึกค่อนแจ้งพัดมาแผ่วเบา ทั้งที่ง่วงเต็มทน ผมกลับพบว่า ตัวเองข่มตาหลับลงยากเสียเต็มประดา

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
วารสารวรรณศิลป์บนแผ่นดินลาว ลมหนาวและความร้อนแล้งโชยผ่านยอดขุนเขาด้านทิศตะวันตกแห่งเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านนามาแผ่วๆ แล้วฤดูกาลแห่งความเหน็บหนาวก็เดินทางมาอีกครั้งพร้อมกับลมสายลมนั้น
สุมาตร ภูลายยาว
สี่พันดอน: บ้านของคนและปลา เมื่อเอ่ยถึงสี่พันดอนเชื่อว่าหลายคนที่เคยไปเยือนคงจินตนาการถึงได้ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยไปเยือนคงงุนงงไม่น้อยว่าหมายถึงอะไร คำว่า ‘สี่พันดอน’ เป็นชื่อเรียกเกาะ ดอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสัก ภาคใต้ของประเทศลาว ดินแดนแห่งนี้ได้ถูกเรียกขานว่า สี่พันดอน เพราะเต็มไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่มีจำนวนมากมายเรียงรายอยู่ในแม่น้ำโขงที่มีความกว้างกว่า ๑๔ กิโลเมตร เกาะต่างๆ เริ่มขึ้นที่เมืองโขงและยาวลงไปจนถึงชายแดนลาว-กัมพูชาที่บ้านเวินคามกับเมืองสตรึงเตร็ง ในจำนวนเกาะที่มีอยู่มากมาย เกาะใหญ่ที่สุดชื่อ ‘ดอนโขง’ คำว่า ‘ดอน’…
สุมาตร ภูลายยาว
เจ้าม้าศึกสีเทา ๒,๒๐๐ ซีซี ทะยานไปตามทางลูกรังสีแดงเบื้องหลังฝุ่นคลุ้งตลบ หากมีรถวิ่งตามมาคงบอกได้คำเดียวว่า ‘ขอโทษ’ ก่อนจะถึงทางแยกเสียงโทรศัพท์ของผู้ไปถึงก่อนก็บอกให้ตรงมาตามทางอย่าได้เลี้ยวซ้ายเป็นอันขาด เพราะนั่นหมายถึงการหลงทางจะเกิดขึ้น
สุมาตร ภูลายยาว
การเดินทางเที่ยวนี้มีผู้หญิงนำ เช้านี้เป็นอีกวันที่ตื่นเช้ากว่าวันอื่น แต่หากว่าเมื่อเทียบกับชาวบ้านทั่วไปแล้ว ถือว่ายังสาย โดยเฉพาะกับพ่อค้าแม่ค้าการตื่นนอนตอน ๖ โมงเช้านั้นถือว่าสายมากแล้ว เช้านี้กว่าจะเปิดเปลือกตาตื่นช่างหนักหนาสาหัส ราวกับว่าเปือกตาทั้งสองข้างถูกปิดทับไว้ด้วยเทปกาวชั้นดี หลังล้างหน้าแปรงฟันเสร็จ สมองยังคงงุนงง อาจเป็นเพราะช่วงนี้พักผ่อนไม่ค่อยพอ รวมทั้งมีเรื่องหลายเรื่องให้ได้คิด แต่เพราะงานที่ทำจึงต้องบังคับตัวเองให้ลุกจากที่นอน
สุมาตร ภูลายยาว
จะแกคนเลี้ยงวัวผู้ไม่เคยขุ่นมัวในหัวใจ ผมจำได้ว่าพบชายคนนี้ครั้งแรกเมื่อเข้าไปบ้านสองพี่น้อง เขาดูแปลกกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน เพราะเขาเป็นผู้ชายคนเดียวในหมู่บ้านที่ไว้ผมยาว เค้าโครงใบหน้าของเขาราวกับถอดแบบออกมาจากหัวหน้าชนเผ่าของอินเดียนแดง
สุมาตร ภูลายยาว
การงานของชีวิตที่ตกค้าง ฝนเทลงมาอีกวันแล้ว...เสียงสังกะสีดังราวกับมีก้อนหินนับล้านร่วงลงมาใส่ เย็นวันนี้มีเรื่องราวให้ขบคิดมากมาย กลับมาจากการประชุมที่เคร่งเครียด อันนับว่าเป็นการงานส่วนหนึ่งของชีวิต เล่นเอาเหนื่อยสายตัวแทบขาด แล้วยังมีงานอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีกไหมนี่
สุมาตร ภูลายยาว
บันทึกในค่ำคืนที่เปลี่ยนผ่านกับนิทรรศการที่ไม่ได้จัด สายฝนของเดือนกันยายนโปรยสายลงมาทั้งวัน เราออกเดินทางจากเชียงของมาแต่ตอนเช้าด้วยรถคันเล็ก บนกระบะทางตอนท้ายบรรทุกเอกสารต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการมาเต็ม รถต้องจดหลายครั้ง เพื่อห่มผ้ายางกันฝนให้ของบนกระบะรถ เราผ่านมากว่าครึ่งทาง ฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก ซ้ำร้ายยังตกลงมาหนักกว่าเดิม รถวิ่งทำความเร็วได้ไม่มากนัก ทั้งที่ความเป็นจริงแม้ฝนจะไม่ตก มันก็ไม่เคยวิ่งได้เร็วกว่าที่วิ่งอยู่เท่าใดนัก
สุมาตร ภูลายยาว
เมฆสีดำเหนือฟ้าด้านตะวันออกส่งสายฝนลงมาตั้งแต่เช้าจนล่วงบ่าย แม่น้ำเป็นสีชานมเย็น เศษขยะ ขอนไม้ ท่อนไม้ และต้นไม้ลอยมากับสายน้ำ และไหลไปตามแรงเฉื่อยของกระแสน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
เช้านี้เหมือนกับทุกเช้าในช่วงนี้พ่อท่อน ยาแก้วเดินทอดน่องในสวนบนดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อดูแปลงมะเขือราว ๔ ไร่ ในใจพ่อท่อนเองไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้แม้ว่าจะถึงช่วงเวลาในการเก็บแล้ว สาเหตุที่ทำให้พ่อท่อนไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้ เพราะราคามะเขือต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ปีนี้มะเขือหนึ่งหมื่น (๑๒ กิโลกรัม) ขายส่งจากสวนได้เงิน ๑๒ บาท
สุมาตร ภูลายยาว

รถตู้วิ่งไปบนถนนลาดยางมะตอยที่บางช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนสายนี้เป็นเส้นทางจากจังหวัดกระแจะไปอำเภอสามบอ เพราะถนนไม่ค่อยดีนัก ระยะทาง ๓๕ กิโลเมตรต้องใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงจึงถึงจุดหมาย เมื่อรถตู้ทั้ง ๓ คันจอดสงบนิ่งลงตรงประตูหน้าวัด ผู้โดยสารในรถตู้ก็พากันทยอยลงจากรถ เบื้องล่างของถนนเป็นแม่น้ำสายใหญ่ คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘โตนเลของ-แม่น้ำของ-โขง’ แม้ยังไม่สายมากนัก แต่แสงแดดก็ส่องประกายร้อนแรงเหนือสายน้ำ ฟ้ากว้างเปล่าแปนเป็นสีฟ้าไกลสุดสายตาหยั่งถึง บนสายน้ำเรือหลายลำจอดลอยลำอยู่ ใกล้กับเรือตรงโคนต้นจามจุรีมีเด็ก ๓-๔ คนนั่งอยู่ ถัดจากโคนต้นจามจุรีไปมีเรือลำหนึ่งลอยลำอยู่…
สุมาตร ภูลายยาว
จากพื้นที่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ผู้คนสองฝั่งได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำที่มีความยาว ๔,๙๐๔ กิโลเมตรสายนี้ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ล้าน ลักษณะการใช้ประโยชน์ก็แตกต่างกันออกไปตามแต่สภาพของพื้นที่ ในช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีผู้คนไม่จำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์ในด้านแตกต่างกันออกไป ผู้ใหญ่ใช้หาปลา และใช้พื้นที่ตามหาดทรายที่โผล่พ้นน้ำ และริมฝั่งทำการเกษตร เด็กๆ ใช้เป็นห้องเรียนสำหรับฝึกหาปลา และว่ายน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
  ผาชันเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มแรกเดิมทีก่อนเดินทางไปถึง ผมจินตนาการถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในรูปแบบต่างๆ และพอเดินทางไปถึงบ้านผาชันเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในหน้าฝน ผมก็พบว่า ในฤดูฝนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นเกาะขนาดย่อมๆ ชาวบ้านบอกว่า "ในฤดูฝน น้ำจากห้วยจะไหลจนท่วมสะพาน และถนนที่เข้าสู่หมู่บ้าน การเดินทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เรือข้ามลำห้วยแล้วไปต่อรถ" ร่องรอยของคำพูดปรากฏให้เห็นเมื่อผมเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน รถข้ามสะพานที่น้ำในลำห้วยเริ่มปริ่มอยู่ใต้สะพาน…