Skip to main content

 

พิจารณาการต่อต้านโดยพลเรือน: การใช้กลยุทธ์ไร้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือของขบวนการทางสังคมในประเทศไทย และที่อื่น ๆ[*]

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เขียน
ธรรมชาติ กรีอักษร แปล
การต่อต้านโดยพลเรือน[1]ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำซ้ำความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมได้ หากนักกิจกรรมและนักวิชาการสันติวิธีไม่เรียนรู้เพื่อพัฒนายุทธวิธีสำหรับตรวจจับการกระทำ “ความไม่รุนแรงเชิงลบ” ที่สนับสนุนการกดขี่อยู่

สันติวิธีเพื่ออะไร ? เป็นหนึ่งในคำถามหลัก ๆ ที่ถามโดย Iain Atack นักปฏิบัติและนักวิชาการสันติวิธีชาวไอริช ในระหว่างการประชุมสมาคมสันติภาพศึกษานานาชาติ (IPRA) ครั้งที่ 24 ซึ่งจัดที่นครอิสตันบูล คำถามนี้เกิดขึ้นประจวบเหมาะกับการโต้เถียงว่าด้วยเรื่องกิจกรรมสันติวิธีและการต่อต้านโดยพลเรือน ซึ่งตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมาติดอยู่กับการแบ่งแยกระหว่างสันติวิธีเชิงหลักการและสันติวิธีลเชิงกลยุทธ์ ด้านหนึ่ง ภาคปฏิบัติการของสันติวิธีมีรากฐานมาจากการอบรมสั่งสอนทางศาสนา ส่วนอีกด้านหนึ่ง จากต้นกำเนิดทางศาสนา นักสังคมศาสตร์สมัยใหม่ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาได้พยายามทำให้ความคิดเรื่องสันติวิธีได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในฐานะปฏิบัติการทางการเมืองที่มุ่งเปลี่ยนแปลง “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ”

วาทกรรมสันติวิธีเชิงปฏิบัติถูกคิดค้นขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับองค์ความรู้และปฏิบัติการสันติวิธีโดยไม่ต้องอิงกับศาสนา การคิดค้นเช่นนี้ถือเป็นเรื่องอุดมการณ์ โดยเฉพาะนักวิชาการอเมริกาเหนือนั้น มองกิจกรรมสันติวิธีว่าเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพและชอบธรรมที่สุดในการเปลี่ยนสังคมให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม ข้อมูลกรณีศึกษาต่าง ๆ เกี่ยวกับการลุกฮือโดยปราศจากความรุนแรงได้ถูกเก็บบันทึกและวิเคราะห์ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเพื่อทำความเข้าใจประสิทธิภาพของยุทธวิธีไร้ความรุนแรง กระแสองค์ความรู้ด้านสันติวิธีสายนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สังเกตได้จากงานที่ทรงอิทธิพลชื่อว่า “เหตุใดปฏิบัติการไร้รุนแรงจึงได้ผล: ตรรกะยุทธวิธีของความขัดแย้งแบบสันติวิธี” ของ Erica Chenoweth และ Maria J. Stephan ขบวนการเคลื่อนไหวหลังปี 2000 เป็นต้นมาหลายกลุ่มใช้ยุทธวิธีไร้ความรุนแรง แต่การอภิปรายเกี่ยวกับคำถามว่า “สันติวิธีเพื่ออะไร” กลับเลือนรางหายไป ทั้ง ๆ ที่นักวิชาการเน้นย้ำว่าสังคมประชาธิปไตยและเป็นธรรมคือเป้าหมายอันพึงปรารถนาของการใช้สันติวิธี

ในบทความเรื่อง “สีของทางเลือกการไม่ใช้ความรุนแรง: การพิจารณาสันติวิธีใหม่ในศตวรรษที่ 21” ซึ่งนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการสันติวิธีของ IPRA ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ยืนยันว่าลักษณะทางจริยธรรมของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงในช่วงเริ่มต้นของทศวรรษที่ 21 กลายเป็นเรื่องคลุมเครือและน่าสับสน เขาเสนอตัวอย่างว่าการขว้างรองเท้า ปาอุจจาระ และสาดเลือดต่อฝ่ายตรงข้ามของขบวนการบางขบวนการนั้น ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงได้แต่ไม่สะดวกนัก ข้อเสนอของเขาคือธรรมชาติอันน่ากังขาของปฏิบัติการเหล่านี้สามารถผลักดันให้เราคิดได้ว่าทางเลือกการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นสีเทา เมื่อสันติวิธีเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมจากขบวนการต่าง ๆ ที่ต่อสู้ทางการเมือง สันติวิธีจึงกลายเป็นเรื่องปกติ สำหรับการต่อสู้ของประชาชนทั่วไป การหาเหตุผลเพื่อใช้อาวุธเป็นเรื่องยากกว่าการใช้วิธีไร้ความรุนแรง

เป็นไปได้ว่าข้อเสนอของชัยวัฒน์สอดคล้องกับข้อเสนอที่ส่วนใหญ่แล้วสนับสนุนโดยนักวิชาการสันติวิธีเชิงปฏิบัติ ซึ่งไม่ประเมินคุณภาพของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงจากมุมมองทางจริยธรรมหรือจากมุมมองแบบคานธี (ไม่เช่นนั้นแล้วการปาอุจจาระจะถูกพิจารณาว่าเป็นความรุนแรงอย่างแน่นอน) ทางเลือกของวิธีการใช้สันติวิธีที่เพิ่มขึ้นในสถานการณ์ความขัดแย้งได้นำไปสู่เส้นแบ่งอันคลุมเครือระหว่างความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์และกิจกรรมไร้ความรุนแรง แต่กระนั้นข้อวิเคราะห์ของชัยวัฒน์ก็แตกต่างจากผู้สนับสนุนสันติวิธีเชิงปฏิบัติ เนื่องจากเขายืนกรานว่าผู้กระทำการโดยไม่รุนแรง (not-violent act) แตกต่างจากผู้ปฏิบัติการไร้รุนแรง (nonviolent action) เนื่องจากอย่างแรกนั้นผู้กระทำการมีแนวโน้มจะใช้วิธีการเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนผู้สนับสนุนไปสู่เป้าหมายเท่านั้น แม้วิธีการขับเคลื่อนและต่อต้านจะไม่รุนแรง แต่ผลของการที่มนุษย์ใช้วิธีการเป็นเครื่องมือเพื่อลุแก่ความทะเยอทะยานทางการเมืองกลับนำไปสู่การบั่นทอนความเป็นมนุษย์ และดังนั้นจึงจัดว่าเป็นความรุนแรงประเภทหนึ่ง

ยิ่งกว่านั้น ประเด็นที่กลายเป็นเรื่องคลุมเครือยังรวมถึงเรื่องความเกี่ยวพันกันระหว่างวิธีการและเป้าหมายที่ขบวนการสันติวิธีกล่าวอ้าง ซึ่งความคลุมเครือนี้ได้ท้าทายการนิยามความสำเร็จของขบวนการเคลื่อนไหวโดยนักวิชาการสันติวิธีด้วย สิ่งที่เป็นที่รับรู้กันเมื่อไม่นานมานี้ คือ กระแสมวลชนและการประท้วงที่ไม่มีความรุนแรงในระดับหนึ่งซึ่งโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในยูเครน อียิปต์ และไทย 

ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้โดยทั่วไปแล้วอ้างว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นรัฐบาลที่มีลักษณะฉ้อฉลและเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง แม้ข้ออ้างเหล่านี้อาจพิจารณาดูแล้วชอบธรรม แต่การทำลายทรัพย์สินสาธารณะซึ่งมาพร้อมกับการใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเพื่อรบกวนระบบ (เช่น การยึดสถานที่ราชการ การปิดถนน และ การสร้างสิ่งกีดขวางเพื่อไม่ให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานทำงานได้) ได้สร้างเงื่อนไขยกระดับไปสู่การรัฐประหารโดยทหาร และก่อให้เกิดการกลับมาของการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมในเวลาต่อมา ไม่ว่าขบวนการจะมีเจตนาหรือไม่ การแทรกแซงโดยทหารก็เป็นผลโดยตรงมาจากการใช้ปฏิบัติการไร้รุนแรงของขบวนการ โชคร้าย ที่เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในสภาพบริบทที่เป็นอำนาจนิยมและมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ (หรือที่เรียกว่า “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” ) ที่ซึ่งความวุ่นวายโกลาหลที่เกิดขึ้นอย่างแจ่มแจ้งและจงใจจากการรบกวนด้วยการใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ได้ปูทางให้ชนชั้นนำจารีตก้าวเข้ามาเพื่อรักษา “กฎหมายและความสงบเรียบร้อย”

ในบางกรณี เช่น การประท้วงในประเทศไทยเมื่อปี 2013 ถึง 2014 แกนนำของขบวนการนั้นมาจากวงการชนชั้นนำจารีตดังกล่าวเหล่านั้น เป็นที่ชัดเจนว่าการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยแกนนำเหล่านี้เป็นไปเพื่อรักษาสถานะของตน และคุณค่าต่าง ๆ ที่สามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานได้ แนวโน้มเป้าหมายของพวกเขาคือการหาแนวร่วมจากมวลชนชนชั้นกลางในเมืองที่เคลือบแคลงต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วและถอนรากถอนโคน ซึ่งมักเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในชนบท ขบวนการดังกล่าวพร้อมที่จะใช้การโฆษณาชวนเชื่อแบบชาตินิยมและเหยียดต่างชาติเพื่อเร่งให้มวลชนออกมาชุมนุมเพิ่มขึ้น ซึ่งนี่ถือเป็นการสนับสนุน “ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม” (ชุดบรรทัดฐานและความเชื่อที่ให้ความชอบธรรมแก่การใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มที่ถูกมองว่าต่ำกว่ามนุษย์หรือไม่ใช่มนุษย์) ไปพร้อมกันด้วย

ปูมหลังเหล่านี้ทำให้นักวิชาการสันติวิธีต้องพบกับวิกฤติทางแพร่งที่เลือกลำบาก ถ้าเป้าหมายและวิธีการของสันติวิธีสามารถนำมาวิเคราะห์โดยแยกขาดจากกันได้ ขบวนการที่ใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเพื่อเป้าหมายที่ส่งเสริมความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมให้ดำเนินต่อไปจะยังคงเป็นขบวนการที่ปราศจากความรุนแรงอยู่หรือไม่ ? บทบาทของเราในฐานะนักวิจัยสันติวิธีควรเป็นอย่างไรในวิกฤติทางแพร่งเช่นนี้ ? ถ้าเราสนับสนุนให้ขบวนการหนึ่งใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ซึ่งทำให้ขบวนการสามารถบรรลุเป้าหมายที่เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมได้ หมายความว่าเรากำลังสนับสนุนความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมเพื่อทำให้กิจกรรมสันติวิธีเป็นที่นิยมอยู่หรือไม่ ?

เพื่อตอบคำถามอันน่าปวดใจเหล่านี้ ดิฉันเห็นว่าเราควรศึกษาและตระหนักถึงปฏิบัติการไร้ความรุนแรงแบบรวมหมู่ต่อไป โดยไม่ต้องคำนึงถึงเป้าหมาย เพื่อขยายทางเลือกให้กับการต่อสู้แบบสันติวิธี

แต่นั่นหมายความว่า การพัฒนาควรก้าวขึ้นไปอีกขั้นด้วย เราต้องสนับสนุน “สันติวิธีเชิงบวก” และไม่ส่งเสริม “สันติวิธีเชิงลบ” ไปพร้อมกัน  การแบ่งประเภทเช่นนี้แตกต่างจากวิธีที่ Johan Gultung เสนอตอนที่เขาถกเถียงกับ Gene Sharp เมื่อปี 1965 สำหรับการรื้อวิธีแบ่งประเภทเป็นเชิงบวกและเชิงลบใหม่นั้น ดิฉันเสนอว่าสันติวิธีเชิงบวกหมายถึงกลวิธีปฏิบัติการไร้ความรุนแรงที่ช่วยให้นักกิจกรรมมีวิสัยทัศน์เล็งเห็นสังคมที่ปราศจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรม ส่วนสันติวิธีเชิงลบหมายถึงการใช้กลวิธีปฏิบัติการไร้ความรุนแรงโดยขบวนการเคลื่อนไหวซึ่งทำให้เกิดการตอกย้ำความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมผ่านการโฆษณาชวนเชื่อที่บั่นทอนความเป็นมนุษย์ที่ เหยียดต่างชาติ คลั่งชาติ ก้าวร้าวไม่ฟังเหตุผล และทำซ้ำความรุนแรงเชิงโครงสร้างผ่านระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานได้ และการดูดทรัพยากรธรรมชาติเข้าสู่ศูนย์กลาง

อย่างไรก็ตาม กรอบมโนทัศน์แบบนี้ไม่ควรถูกมองเป็นการแบ่งประเภทแบบขาวกับดำ แต่ควรเข้าใจว่าเป็นขั้วที่อยู่สองด้านซึ่งระหว่างขั้วดังกล่าวมีเฉดสีต่างกันมากกว่า ให้พูดก็คือ บทบาทสำคัญของนักวิจัยการไม่ใช้ความรุนแรง คือ การตรวจจับความริเริ่มต่อสู้แบบไร้ความรุนแรงของกลุ่ม โดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายที่ระบุไว้หรืออุดมการณ์ที่แฝงอยู่ เราตอบว่า “ใช่” เพราะพวกเขากำลังใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม บทบาทต่อไปของเราคือการนำพวกเขาไปสู่เป้าหมายที่มุ่งสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรม ถ้าความพยายามมีสัญญาณว่าจะล้มเหลว เราควรพิจารณาไม่ยอมรับต่อความชอบธรรมของกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าว การฝืนให้ความชอบธรรมแบบเต็มตัวต่อไปถือเป็นการมีส่วนร่วมกับการทำซ้ำความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม  พูดอีกอย่างคือ เราตอบว่า “ใช่ วิธีการต่อสู้ของพวกเขาปราศจากความรุนแรง” แต่เราตอบว่า “ไม่ เป้าหมายของพวกเขาเป็นความรุนแรง” กลยุทธ์เพื่อบั่นทอนขบวนการเคลื่อนไหวแบบอนุรักษ์นิยมควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากพวกเรา หรือจากการเข้าร่วมกับกิจกรรมที่เสนอทางเลือกการไม่ใช้ความรุนแรงและมีเป้าหมายที่ปราศจากความรุนแรง   

ที่จริงแล้ว ความท้าทายในการพิจารณาเฉดสีของทางเลือกการไม่ใช้ความรุนแรงนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และดังนั้นเราจึงควรระมัดระวังในการตัดสินว่าอะไรเป็นการไม่ใช้ความรุนแรงและอะไรที่ไม่เป็น แต่กระนั้น ดิฉันเสนอว่าการพัฒนาควรก้าวไปอีกขั้น เนื่องจากวิชาสันติวิธีไม่ใช่การสืบสวนทางปรัชญา แต่ยังเป็นการทำกิจกรรมอย่างมีวิสัยทัศน์ด้วย นักวิจัยสันติวิธีจึงควรสามารถวิจารณ์และลดบทบาทของขบวนการที่ใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ที่อาจนำไปสู่การส่งเสริมความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมที่มีอยู่ให้จงได้ 

[*] แปลจากบทความเรื่อง “Assessing civil resistance: social movements' instrumentalisation of nonviolent tactics in Thailand and beyond,” openDemocracy, 13 September 2014

[1] ผู้แปล: “การต่อต้านโดยพลเรือน” แปลมาจากคำว่า Civil Resistance ซึ่งมีนัยยะในภาษาอังกฤษหมายถึง “การใช้ปฏิบัติการไร้รุนแรงอย่างต่อเนื่องโดยพลเรือนที่ต่อสู้อยู่ภายใต้ความขัดแย้งที่สองฝ่ายไม่เท่าเทียมกันซึ่งฝ่ายตรงข้ามไม่ปฏิเสธที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน” โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Kurt Schock, “The Practice and Study of Civil Resistance,” Journal of Peace Research ฉบับที่ 50 ปี 2013 หน้า 277 

 

บล็อกของ Thammachart Kri-aksorn

Thammachart Kri-aksorn
หมายเหตุผู้เขียนวันที่ 7 เมษายน ผมได้โพสต์ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับการอดอาหารประท้วงของเพนกวิน รุ้ง และฟ้าลงบนเฟสบุ๊ค และได้รับความสนใจกว่าโพสต์ปกติทั่วไปของผม พี่กุ้ย ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของประชาไทอยากให้ผมนำโพสต์ดังกล่าวมาเผยแพร่บนบล๊อกกาซี
Thammachart Kri-aksorn
รวมเว็บไซต์ข่าวเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของไทย เอาไว้ประกอบการทำงานมอนิเตอร์ข่าวของตัวเอง และอาจเป็นประโยชน์กับคนในแวดวงหรือผู้ที่สนใจ
Thammachart Kri-aksorn
แนวทาง 10 ขั้นตอนเพื่อรับมือการข่มขู่คุกคามจากครู เมื่อตัดสินใจจะใส่ไปรเวทเพื่อต่อสู้แบบอารยะขัดขืน
Thammachart Kri-aksorn
ซาอิด จีลานี เขียนลงวารสาร Jacobin วันที่ 8 มกราคม​ 2562 แปลโดย ธรรมชาติ​ กรีอักษร​อลิซาเบธ วอร์เรน​ใช่ว่าจะเป็นนักการเมืองสายกลาง​ แต่​เบอร์​นีย์​จะ​เ
Thammachart Kri-aksorn
(แปล) ความซับซ้อนของอุตสาหกรรมการกุศล ปีเตอร์ บัฟเฟต เขียนธรรมชาติ กรีอักษร แปล 
Thammachart Kri-aksorn
(แปล) คิดใหม่เกี่ยวกับปฏิบัติการสันติวิธีในยุคประชานิยมปีกขวาจันจิรา สมบัติพูนศิริ เขียนธรรมชาติ กรีอักษร แปล
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 4 เผด็จการมีจุดอ่อนภาคิน นิมมานนรวงศ์ แปล
Thammachart Kri-aksorn
บทที่ 3 เมื่อใดจึงมีอำนาจ ?
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 2 อันตรายของการเจรจา
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 1 เผชิญหน้ากับเผด็จการอย่างเป็นจริง
Thammachart Kri-aksorn
 บทนำ - จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย : กรอบมโนทัศน์เพื่อการปลดแอก