Skip to main content

(แปล) คิดใหม่เกี่ยวกับปฏิบัติการสันติวิธีในยุคประชานิยมปีกขวา

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เขียน

ธรรมชาติ กรีอักษร แปล

ประชานิยมปีกขวากำลังแพร่กระจายไปทั่วโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นเบร็กสิต ประธานาธิบดีทรัมป์ หรือ ความสำเร็จหนแล้วหนเล่าในการหาเสียงของมารีน เลอ แปนในฝรั่งเศส

นักวิเคราะห์และนักวิชาการได้แสดงความเป็นห่วงว่าขบวนการที่ว่านี้อาจเป็นภัยคุกคามต่อชะตากรรม และชัยชนะที่ต่อสู้ได้มาอย่างยากลำบากของระบอบเสรีประชาธิปไตยเหนืออุดมการณ์ทางการเมืองอื่น ๆ ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา 

หรือกล่าวอีกอย่าง “จุดจบของประวัติศาสตร์” ที่ฟรานซิส ฟูกูยามา นักปรัชญาการเมืองชาวอเมริกันเคยได้พรรณนาเอาไว้ อาจจะต้องจบลงแล้วก็เป็นได้

การผงาดขึ้นมาของประชานิยมปีกขวาอาจเปิดโอกาสให้นักปลุกปั่นออกมาส่งเสริมวาระเกลียดกลัวชาวต่างชาติได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากคำสั่งห้ามคนเดินทางเข้าประเทศของโดนัล ทรัมป์

เรียกร้องการต่อต้านด้วยสันติวิธี

มีความกลัวอย่างหยั่งลึกว่าผู้นำประชานิยมทั้งหลาย เช่น โดนัล ทรัมป์ ที่ได้รับคำแนะนำจาก สตีฟ แบนนอน ซึ่งเป็นนักปลุกปั่นปีกขวา จะทำลายการตรวจสอบถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตยทิ้งเสียเพื่อรวบอำนาจให้เบ็ดเสร็จ

เพื่อโต้กลับ นักกิจกรรมได้เรียกร้องการต่อต้านลัทธิอำนาจนิยมด้วยสันติวิธี และออกมาประท้วงอยู่บนท้องถนนอยู่ในขณะนี้เพื่อเตือนใจผู้นำประชานิยมเหล่านี้ว่าอำนาจเป็นของประชาชน

การพิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยด้วยปฏิบัติการสันติวิธีเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องยอมรับข้อเท็จจริงด้วยว่าผู้นำทั้งหลายเหล่านี้มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยและได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่าง ๆ จำนวนมากในสังคม

เราอาจเชื่อว่าผู้ลงคะแนนให้พรรคการเมืองประชานิยมปีกขวาเห็นดีเห็นงามกับความเห็นชาตินิยมและคลั่งชาติของผู้นำเผด็จการ อย่างไรก็ตาม ความน่าดึงดูดเหล่านี้เป็นที่นิยมเพราะความเสื่อมโทรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งผู้ลงคะแนนเสียงในโลกตะวันตกกำลังประสบพบเจออยู่ และปัญหานี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขหากเราต้องการสู้กับระบอบเผด็จการต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาวะเกียรติภูมิขาดดุล (dignity deficit)

กระบวนการ “คณาธิปไตยาภิวัตน์” (oligachization) ในสังคมเสรีประชาธิปไตยต่าง ๆ เป็นรากฐานที่นำไปสู่ภาวะเกียรติภูมิขาดดุล โดยเฉพาะในหมู่ประชากรคนขาว ที่เป็นชนชั้นแรงงาน และไม่ได้อยู่ในชุมชนเมือง

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชนชั้นกลางในโลกตะวันตกต้องประสบกับความไม่มั่นคงในชีวิตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะอัตราว่างงานที่สูงขึ้นและไม่มีประกันสังคม ยุคหลังสงครามเย็นได้เหยียบย่างเข้าสู่เงื้อมมือแห่งพลังครอบงำของลัทธิเสรีนิยมใหม่

ความเร็วของกระบวนการโลกาภิวัตน์ทำให้ตำแหน่งงานต่าง ๆ ในภาคการผลิตย้ายไปอยู่ในประเทศที่ค่าแรงต่ำ ขณะที่นโยบายรัดเข็มขัด ซึ่งก่อให้เกิดการหั่นงบประมาณสวัสดิการสังคม ก็บ่งชี้ว่าในช่วงเวลาส่วนใหญ่แล้ว แต่ละคนจะถูกทอดทิ้งให้ต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลและค่าเล่าเรียนที่ยิ่งนับวันยิ่งแพงขึ้นแต่เพียงลำพัง มิพักต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ อีกมาก

การพัฒนาจักรกล และคนพลัดถิ่นที่เข้าหามางานทำในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะต่ำหรือสูงก็ตาม ล้วนแต่ทำให้ชนชั้นกลางชาวอเมริกันและยุโรปตั้งคำถามต่ออนาคตของอัตราการจ้างงาน แต่คำถามเหล่านี้ก็ไม่ได้รับการตอบ

ในบริบทเช่นนี้ ผู้มีอันจะกินเป็นคนได้รับผลประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ เช่นเดียวกับคนในชุมชนเมืองที่ท่องเที่ยวทำงานไปทั่วโลกและปรับตัวเข้ากับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างเท่าทัน

ขณะเดียวกัน ชนชั้นนำในกรุงวอชิงตัน ปารีส และลอนดอน ก็โดนเพ่งเล็งว่าเพิกเฉยต่อวิกฤติความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น เพราะคนเหล่านี้ยังคงใช้นโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ทำร้ายชนชั้นแรงงานอันเป็นกลุ่มซึ่งมักมองว่าตนเองเป็นกระดูกสันหลังของชาติอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างเช่น ชุดข้อตกลงการค้าเสรีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่าง ๆ ว่าเป็นแผนการอันแสนชาญฉลาดของระบอบเสรีประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงเหล่านี้กลับเสริมกำลังให้กับบรรษัทรายใหญ่ของโลก และเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้สาหัสขึ้นอีก แทนที่จะช่วยพัฒนาสภาพการทำงานและโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตของสามัญชน

ตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) ที่สามารถลดทอนระเบียบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มบรรษัทอย่างสุดขั้ว ท้าทายต่ออำนาจอธิปไตยเหนือเขตอำนาจศาลของรัฐต่าง ๆ ทั้งยังกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญหาให้ฉกาจฉกรรจ์มากขึ้นอีก

นักวางแผนนโยบายยังชี้ให้เห็นด้วยว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่ลงนามและให้สัตยาบันแล้วสามารถส่งผลให้คนตกงานและค่าแรงต่ำลงได้

โวหารต่อต้านกลุ่มอำนาจเก่า

ประชานิยมปีกขวาเป็นอาการป่วยของสังคมที่แบ่งขั้ว เพราะความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการล่มสลายลงของระบอบเสรีประชาธิปไตยได้เพิ่มช่องว่างระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองและผู้ลงคะแนนเสียงให้กว้างขึ้น

นักประชานิยม เช่น โดนัล ทรัมป์ และ เลอ แปน สามารถเรียกเสียงสนับสนุนได้มากพอที่จะท้าชิงกับผู้สมัครปีกเสรีนิยมหรือสายกลางได้ เพราะโวหารต่อต้านกลุ่มอำนาจเก่า

คนเหล่านี้รับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมและความอัปยศอดสูที่เกิดขึ้นกับผู้ลงคะแนนเหล่านี้ ซึ่งเห็นได้จากภาวะตกงานและความเพิกเฉยของชนชั้นนำการเมือง

 บ่อยครั้ง ความโกรธแค้นของประชาชนได้ถูกหักเหไปหากลุ่มคนพลัดถิ่น ซึ่งโดนตีตราว่าเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม นำไปสู่การโจมตีเชิงเกลียดกลัวต่างชาติที่ขยายตัวขึ้น การผลักใสกลุ่มคนพลัดถิ่นให้กลายเป็นแพะรับกลายเป็นการแสดงออกซึ่งความกลัวและความเปราะบาง

ชีวิตความเป็นอยู่ที่หาความมั่นคงได้น้อยลงทุกทีของประชากรกลุ่มนี้นำมาสู่ทัศนะที่มีอยู่ทั่วไปเกี่ยวกับแนวคิดว่าชาติที่ยิ่งใหญ่ของตนกำลังอยู่ตกอยู่ในอันตราย

สโลแกนประชานิยม เช่น “Make America Great Again” (ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง) หรือ “Take Back Our Country” (ทวงคืนประเทศของเรา) ตอบสนองต่อทัศนะที่ว่านี้และอารมณ์ร่วมที่คนเหล่านี้รู้สึกร่วมกัน

เนื่องจากไม่มีทางเลือกทางการเมืองอื่น ๆ ประชาชนจึงเห็นความหวังในวาทกรรมประชานิยมปีกขวา กระทั่งในยามที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งเหล่านี้ผลักดันวาระที่สุดโต่ง

ในแง่นี้ ความแบ่งแยกทางสังคมได้เกิดขึ้นคู่ขนานกับวิกฤติของระบอบเสรีประชาธิปไตย การจัดการกับประชานิยมปีกขวาจำเป็นต้องต่อต้านผู้นำที่มีลักษณะอำนาจนิยม แต่ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าทำไมประชาชนจำนวนมากถึงเห็นว่าประชานิยมเป็นทางเลือกที่เปี่ยมหวังซึ่งควรเข้ามาแทนระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แก้ไขการแบ่งขั้วทางสังคม

การต่อต้านด้วยการประท้วงบนท้องถนน และการคว่ำบาตรยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องประชาธิปไตย แต่กระนั้น วิธีการเหล่านี้กลับแทบไม่ได้ช่วยแก้ไขการแบ่งขั้วทางสังคมที่เกิดขึ้นอยู่เลย

เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่าผู้สนับสนุนประชานิยมปีกขวาซึ่งแสนจะชิงชัง “ความถูกต้องทางการเมือง” (Political Correctness) และเห็นว่าวาระของเสรีนิยมไม่เกี่ยวข้องสำคัญต่อความเป็นอยู่ของตนแม้แต่น้อย จะมาเข้าร่วมกับการประท้วงของปีกก้าวหน้า เช่น การเดินขบวนเพื่อผู้หญิง (Women’s March) ได้

เป็นไปได้หรือไม่ว่าการประท้วงได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นเพียงแหล่งรวมของคนอวยกันเอง ที่ซึ่งวาระของปีกก้าวหน้าวนเวียนอยู่ในกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับแนวคิดก้าวหน้าอยู่แล้ว สิ่งนี้เป็นเครื่องบ่งชี้หรือไม่ว่าขณะที่กลุ่มเสรีนิยมต่อต้านทรัมป์ด้วยปฏิบัติการสันติวิธีหลากหลายรูปแบบ พวกเขากลับสอบตกเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับต้นตอของแนวโน้มประชานิยม และชวดโอกาสที่จะสื่อสารกับกลุ่มที่ลงคะแนนให้กับผู้นำประชานิยม

เป็นไปได้หรือไม่ว่าการประท้วงทั้งหลายทั้งปวงนี้จะทำให้สังคมแบ่งขั้วหนักยิ่งกว่าเดิม เพราะหลายครั้งกลุ่มผู้ประท้วงมักอวดอ้างว่าตนเองศีลธรรมเหนือกว่าฝ่ายตรงข้ามที่สนับสนุนประชานิยม

คิดใหม่เกี่ยวกับการต่อต้าน

ถึงเวลาต้องคิดใหม่แล้วว่าปฏิบัติการสันติวิธีจะสามารถต่อต้านประชานิยมปีกขวาได้อย่างไร

ปฏิบัติการสันติวิธีไม่ใช่แค่การออกไปรวมตัวกันบนถนน แต่เป็นกิจกรรมทางการเมืองที่สร้างพลวัต ซึ่งมาพร้อมกับเครื่องมือการวิเคราะห์ที่ช่วยให้สามารถมองเห็นเสาสนับสนุนที่ค้ำจุนรัฐบาลผู้ปกครองอยู่ ซึ่งปกติแล้วจะรวมถึงกลุ่มผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง หน่วยงานราชการ และสื่อมวลชน

ข้อความที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีควรทำให้สาธารณชนทั่วไปเห็นว่าชนชั้นนำขาดความชอบธรรม พร้อมกับที่ชี้ให้เห็นด้วยว่าทางเลือกใหม่ทางการเมืองเป็นสิ่งมีอยู่จริง

 ข้อความที่ทวีเพิ่มขึ้นจากการรณรงค์อย่างเสมอต้นเสมอปลายควรก่อให้เกิดการจัดรื้อฝั่งพันธมิตรขึ้นใหม่ในที่สุด การย้ายฝั่งพันธมิตร โดยเฉพาะการถอนตัวของผู้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนรัฐบาล จะแผ้วทางให้นักกิจกรรมมีพลวัตทางการเมืองเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองขึ้นให้จงได้   

หมายความว่า ผู้ที่ยึดมั่นในปฏิบัติการสันติวิธีไม่สามารถต่อต้านผู้อยู่ในอำนาจแต่เพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องวิเคราะห์ด้วยว่าวาทกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มผู้ปกครองสำคัญต่อความขุ่นเคืองของประชาชนอย่างไร แล้วนำไปสู่การปลุกเร้าเสียงสนับสนุนซึ่งค้ำจุนความชอบธรรมของคนเหล่านี้อีกทอดหนึ่งได้อย่างไร

ความเข้าใจที่ว่านี้จะช่วยให้นักกิจกรรมสามารถออกแบบการรณรงค์ที่แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจต่อกลุ่มที่อยู่ในปีกการเมืองต่าง ๆ ได้

เพราะประชานิยมปีกขวา การรณรงค์เหล่านี้จึงจำเป็นต้องชี้ให้เห็นถึงสาเหตุต้นตอที่ทำให้กลุ่มอำนาจเดิมล่มสลายลง และเสนอเวทีพูดคุยที่จริงใจ เพื่อถกเถียงหารือเกี่ยวกับทางเลือกใหม่ซึ่งวางอยู่บนรากฐานของการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองและประชาชน และการคืนดีทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความใฝ่ฝันไม่เหมือนกัน

การสื่อสารกับคนที่คุณไม่เห็นด้วย แทนที่จะอยู่แต่กับกลุ่มที่อวยกันเอง เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เป้าหมายทั้งหมดเหล่านี้ประสบความสำเร็จ

การสื่อสารหันหน้าเข้าหากัน

แนวคิดต่าง ๆ ข้างต้นไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว

ตัวอย่างของการสื่อสารหันหน้าเข้าหากันปรากฏอยู่ในการรณรงค์เพื่อสิทธิพลเมืองของสหรัฐอเมริกาตอนที่ผู้นำกลุ่มผิวสีพยายามชักชวนดึงดูด “สำนึกของคนขาว” ด้วยการหยิบยื่นสารทางการเมืองที่เอื้อกับนักบวชและผู้ลงคะแนนเสียงผิวขาวและโน้มน้าวให้คนเหล่านี้ให้หันมาสนับสนุนเส้นทางการต่อสู้ของคนผิวสี

ในการขับไล่ สโลโบดัน มิโลเชวิก ผู้มีฉายา “นักฆ่าแห่งบอลข่าน” ขบวนการประชาธิปไตยของเซอร์เบียได้จัดกิจกรรมรณรงค์ในพื้นที่ท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานเสียงของมิโลเชวิก และก่อนหน้านี้เคยสนับสนุนลัทธิชาติพันธุ์นิยม (ethno-nationalism) ของเขา

ความสำเร็จของขบวนการประชาธิปไตยเซอร์เบียปรากฏให้เห็นอยู่ในกิจกรรมการรณรงค์ที่เกี่ยวข้องกับ “ชาตินิยมที่แข็งแรง” (healthy nationalism) ซึ่งเกิดขึ้นร่วมกับการลงจากอำนาจของมิโลเชวิก และการสร้างประเทศเซอร์เบียที่สันติและเป็นประชาธิปไตย สารของการรณรงค์มีเป้าหมายเพื่อการสร้างความสามัคคีในประเทศเซอร์เบียซึ่งครั้งหนึ่งความเห็นทางการเมืองเคยแบ่งขั้วออกเป็นสองฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านมิโลเชวิก

นอกเหนือจากการโค่นล้มเผด็จการ การรณรงค์ที่ได้รับการบริหารจัดการอย่างดีสามารถทอดสะพานเพื่อเชื่อมความเหินห่างระหว่างทัศนะต่าง ๆ ที่สร้างความแตกแยกให้กับประเทศเข้าหากัน และเตือนใจเราให้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างอนาคตร่วมกันบนฐานของความคิดว่าด้วยความโอบอ้อม (inclusiveness) เกียรติภูมิ และความยุติธรรม 

บล็อกของ Thammachart Kri-aksorn

Thammachart Kri-aksorn
หมายเหตุผู้เขียนวันที่ 7 เมษายน ผมได้โพสต์ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับการอดอาหารประท้วงของเพนกวิน รุ้ง และฟ้าลงบนเฟสบุ๊ค และได้รับความสนใจกว่าโพสต์ปกติทั่วไปของผม พี่กุ้ย ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของประชาไทอยากให้ผมนำโพสต์ดังกล่าวมาเผยแพร่บนบล๊อกกาซี
Thammachart Kri-aksorn
รวมเว็บไซต์ข่าวเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของไทย เอาไว้ประกอบการทำงานมอนิเตอร์ข่าวของตัวเอง และอาจเป็นประโยชน์กับคนในแวดวงหรือผู้ที่สนใจ
Thammachart Kri-aksorn
แนวทาง 10 ขั้นตอนเพื่อรับมือการข่มขู่คุกคามจากครู เมื่อตัดสินใจจะใส่ไปรเวทเพื่อต่อสู้แบบอารยะขัดขืน
Thammachart Kri-aksorn
ซาอิด จีลานี เขียนลงวารสาร Jacobin วันที่ 8 มกราคม​ 2562 แปลโดย ธรรมชาติ​ กรีอักษร​อลิซาเบธ วอร์เรน​ใช่ว่าจะเป็นนักการเมืองสายกลาง​ แต่​เบอร์​นีย์​จะ​เ
Thammachart Kri-aksorn
(แปล) ความซับซ้อนของอุตสาหกรรมการกุศล ปีเตอร์ บัฟเฟต เขียนธรรมชาติ กรีอักษร แปล 
Thammachart Kri-aksorn
(แปล) คิดใหม่เกี่ยวกับปฏิบัติการสันติวิธีในยุคประชานิยมปีกขวาจันจิรา สมบัติพูนศิริ เขียนธรรมชาติ กรีอักษร แปล
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 4 เผด็จการมีจุดอ่อนภาคิน นิมมานนรวงศ์ แปล
Thammachart Kri-aksorn
บทที่ 3 เมื่อใดจึงมีอำนาจ ?
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 2 อันตรายของการเจรจา
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 1 เผชิญหน้ากับเผด็จการอย่างเป็นจริง
Thammachart Kri-aksorn
 บทนำ - จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย : กรอบมโนทัศน์เพื่อการปลดแอก