อลิซาเบธ วอร์เรนใช่ว่าจะเป็นนักการเมืองสายกลาง แต่เบอร์นีย์จะเป็นประธานาธิบดีที่ก้าวหน้าที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา และเขามีขบวนการเคลื่อนไหวสนับสนุนเขาอยู่ด้วย
ทั้งคู่วิจารณ์กลุ่มอำนาจเดิมในพรรคเดโมแครต ทั้งคู่เป็นศัตรูของวอลสตรีท ทั้งคู่เป็นนักการเมืองที่มุ่งเป้าสนใจไปที่นโยบายในเชิงสารัตถะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเบอร์นีย์ แซนเดอร์ส กับอลิซาเบธ วอร์เรนมีโลกทัศน์เหมือนกัน แซนเดอร์สมีแนวโน้มมุ่งเป้าสนใจไปที่การแก้ไขปัญหา "หลังการกระจายจัดสรร (post-distribution)" หมายความว่าเขาจะเลือกใช้อำนาจของรัฐบาลเพื่อเก็บภาษีและใช้เงินเพื่อตอบสนองโดยตรงต่อความจำเป็นของคนอเมริกัน หรือแทนที่ตลาดทั้งหมดโดยสิ้นเชิง แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยของเขา เช่น มหาลัยเรียนฟรี และสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่นักการเมืองพรรคเดโมแครตต้องยอมเคารพ อย่างน้อยก็เพื่อเหตุผลในการเลือกตั้ง วอร์เรนต้องการเสริมพลังอำนาจให้กับคนจัดระเบียบและปรับเปลี่ยนตลาดเพื่อกำหนดรูปร่างของรายได้ "ก่อนการกระจายจัดสรร (pre-distribution)" และก่อนเก็บภาษี วอร์เรนมีแนวโน้มจะผลักดันโครงการที่ใช้งบประมาณสูงน้อยกว่า และต้องการจัดระเบียบวอลสตรีทใหม่เพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้นสำหรับผู้บริโภค
ก่อนที่จะกล่าวต่อไป ผมควรกางไพ่ในมือบนโต๊ะก่อน ผมมีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์กับวอร์เรน ในปี ค.ศ. 2012 ผมเคยทำงานให้กับ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อความเปลี่ยนแปลงเชิงก้าวหน้า (PCCC - Progressive Change Campaign Committee) ซึ่งเป็นคณะทำงานทางการเมือง (PAC -Political Action Commission) ภายนอกที่มีอิทธิพลที่สุด ซึ่งให้การสนับสนุนวอร์เรน ผมเคยระดมทุนหลายแสนดอลลาร์ให้กับเธอและรับอาสาสมัครเข้ามาช่วยงานหลายสิบคน ผมใช้เวลาหลายร้อยชั่วโมงเพื่อช่วยให้วอร์เรนชนะเลือกตั้งเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา ผมเขียนชื่นชมเกี่ยวกับงานของเธอในวุฒิสภาส่วนใหญ่มาตั้งแต่นั้น
แต่ผมก็ตระหนักอยู่เสมอว่าวอร์เรนไม่ได้มาจากขนบทางการเมืองเดียวกับคนอย่างเบอร์นีย์ แซนเดอร์ เธอเคยเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันจนถึงปี ค.ศ. 1996 ซึ่งเป็นปีที่เธอตระหนักได้ว่าพรรครีพับลิกันล้มเหลวในการควบคุมอิทธิพลของภาคธุรกิจ (โดยเฉพาะการเงิน) "ฉันเคยอยู่กับพรรครีพับลิกันอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะฉันคิดจริง ๆ ว่ารีพับลิกันเป็นพรรคที่มีหลักการแนวทางต่อเศรษฐกิจและตลาดแบบอนุรักษ์นิยม" วอร์เรนกล่าวต่อจอร์จ สเตฟาโนเปาโลใน ค.ศ. 2014 "และฉันรู้สึกว่าพรรครีพับลิกันทอดทิ้งสิ่งนั้นไปแล้ว"
เธอกล่าวต่อไปว่า "ตอนนี้พรรคขยับไปสู่จุดที่บอกว่า ไม่ มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียมทางโอกาส ตอนนี้ เป็นเรื่องคนเรามีโอกาสไม่เท่ากันไปแล้ว" "และก่อนหน้านี้ พรรครีพับลิกันเคยลุกขึ้นสู้กับสถาบันการเงินขนาดใหญ่จริง ๆ เมื่อสถาบันเหล่านี้ทุบตีครอบครัวชนชั้นกลางชาวอเมริกัน ฉันแค่รู้สึกว่ารีพับลิกันห่างไกลจากจุดนั้นมาก และมาก ๆ ด้วย"
หลังจากแยกทางกับพรรครีพับลิกัน วอร์เรนง่วนอยู่กับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางโอกาส และระบบที่เป็นธรรมยิ่งขึ้นสำหรับคนงานและผู้บริโภค อุดมคติของเธอ แม้จะไม่หลุดจากปีกเสรีนิยมของพรรครีพับลิกันในช่วงกลางศตวรรษที่แล้วมากนัก แต่หากทำได้จริง ก็จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสถานะทางเศรษฐกิจของกลุ่มอำนาจเดิมเช่นกัน ในการสัมภาษณ์เพื่อบทความชิ้นนี้ โนม ชอมสกี้ เรียกวอร์เรนว่าเป็น "ผู้สมัครท้าชิงที่น่าเชื่อถือ" ซึ่ง "ใช้ได้เวลาดูนโยบายภายในประเทศ"
ทว่าแซนเดอร์สกลับอยู่นอกระบบพรรคการเมืองกระแสหลักเสมอมา เขามีลักษณะร่วมกับนักสังคมนิยมที่ไม่ใช่ชาวอเมริกัน เช่น อีโว โมราเลส และเจเรมี คอร์บิน มากกว่า เมื่อเทียบกับผู้มีชื่อเสียงของพรรคอย่างจอห์น เคเนดี้ ซึ่งวอร์เรนเชื่อมโยงด้วยอย่างแนบเนียน แซนเดอร์สจะเป็นประธานาธิบดีที่ก้าวหน้าที่สุดที่สหรัฐอเมริกาเคยได้เห็น สมาชิกวุฒิสภาสองคนนี้มีทฤษฎีต่อความเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันด้วย แซนเดอร์สเชื่อในการเมืองจากล่างขึ้นบนที่มีรากมาจากขบวนการเคลื่อนไหว ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองเบอร์ลิงตัน รัฐเวอร์มอนต์ เขาพยายามปลุกพลังของพลเมืองในการมีส่วนร่วมกับรัฐบาล โดยปกติแล้วเขาจะไม่เชื่อใจชนชั้นนำและการตัดสินใจที่ไม่นำสาธารณชนมานับรวม อีกด้านหนึ่ง โดยปกติแล้ว วอร์เรนจะยอมรับความจริงทางการเมืองและพยายามทำงานเพื่อผลักดันให้ผู้ตัดสินใจที่เป็นชนชั้นนำหันมาเห็นด้วยกับมุมมองของเธอ
สมัยที่ผมทำงานให้กับ PCCC มีคนมาบอกกับผมว่าวอร์เรนตัดสินใจลงชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา หลังจากเห็นพลังอำนาจที่เธอมีในฐานะเป็นประธานผู้ดูแลเรื่องการให้เงินช่วยเหลือธนาคารล้มละลาย เธอเชื่อว่าการ "อยู่ในห้อง" กับผู้ตัดสินใจในรัฐบาลโอบามาเป็นกุญแจสำคัญของการสร้างความเปลี่ยนแปลง ขณะที่วอร์เรนต้องการนั่งอยู่ที่โต๊ะเดียวกับชนชั้นนำต่าง ๆ เพื่อถกเถียงสนับสนุนนโยบายก้าวหน้า แซนเดอร์สต้องการเปิดโอกาสให้สาธารณะชนเป็นผู้กำหนดนโยบาย
นักสังเกตการหลายคนชี้ว่าวอร์เรนสนับสนุนกฏหมายส่วนใหญ่ของแซนเดอร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่นั่นไม่ได้ความหมายว่าเธอจะจัดลำดับความสำคัญหรือมีโลกทัศน์เหมือนกับแซนเดอร์สมากไปกว่าที่เคียสเซน จิลลิแบรนด์ อดีตทนายความของบริษัทบุหรี่รายใหญ่ หรือ คอรีย์ บุ๊คเกอร์ ผู้สนับสนุนการแปรรูปวิสาหกิจโรงเรียนจัดลำดับความสำคัญหรือมีโลกทัศน์ร่วมกับแซนเดอร์ส เพราะสองคนนี้ก็สนับสนุนกฏหมายส่วนใหญ่ของแซนเดอร์ก่อนมีแนวโน้มว่าจะลงแข่งเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเช่นเดียวกัน
นี่ไม่ใช่การกล่าวว่าวอร์เรนอยู่ในปีกการเมืองเดียวกับบุ๊กเกอร์หรือจิลลิแบรนด์ เธอจัดว่าอยู่ซ้ายกว่าทั้งสองคนอย่างมีนัยสำคัญ แต่การหันมาเห็นด้วยกับความคิดตามแนวทางของแซนเดอร์สก่อนลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ไม่ได้เท่ากับหมายความว่าเธอจะให้ความสำคัญกับแนวคิดเหล่านี้ในฐานะประธานาธิบดี
ประธานาธิบดีไม่ว่าคนใดก็ล้วนแต่มีต้นทุนทางการเมืองและการสนับสนุนจากรัฐสภาอยู่จำกัด และดังนั้นจึงต้องเลือกประเด็นการต่อสู้ การต่อสู้เหล่านี้อาจมีราคาที่ต้องจ่ายสูงอย่างมาก -- อุตสาหกรรมประกันสุขภาพใช้เงินกว่าหนึ่งร้อยล้านดอลล่าร์เพื่อสู้กับโอบาม่าแคร์ (Affordable Care Act) กฏหมายซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่วนใหญ่แต่อย่างใด เราคงจินตนาการได้ไม่ยากเลย ถ้าบริษัทประกันสุขภาพจะใช้เงินพันล้านดอลล่าร์ เพื่อหยุดกฏหมายประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Medicare for All) ซึ่งคงกำจัดกฏหมายดังกล่าวทิ้งไปได้อย่างแน่นอน สิ่งที่ประธานาธิบดีเลือกดำเนินการภายใต้ความเป็นจริงทางการเมืองขึ้นอยู่กับแก่นโลกทัศน์และคุณค่าอย่างมหาศาล และถ้าคุณย้อนเวลากลับไปดูสองสามปีก่อนที่วอร์เรนจะประกาศลงแข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี คุณจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าเธอให้ความสำคัญกับแนวทางการแก้ไขปัญหาก่อนการกระจายจัดสรร และมุ่งไปที่การจัดระเบียบ มากกว่าแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยของแซนเดอร์ส
ตัวอย่างเช่น เมื่อลงแข่งชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาในปี 2012 วอร์เรนไ่ม่ได้สนับสนุนการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นจุดยืนของมาริซา เดอฟรังโก ทนายความด้านกฏหมายคนผลัดถิ่น ที่ลงแข่งโดยชูนโยบายซ้ายกว่าวอร์เรนทั้งในประเด็นประกันสุขภาพและนโยบายต่างประเทศ แต่ต้องพ่ายแพ้ไปในกระบวนการเลือกผู้แทนภายในของพรรคเดโมแครต (หนึ่งในนักกิจกรรมของพรรคเดโมแครต กล่าวว่าต้องใช้เผด็จการ ไม่ใช่ประธิปไตย หากจะเอาชนะสกอตต์ บราวน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาอยู่ในขณะนั้น)
หลังจากเดอฟรังโกโดนกำจัดออกไปเพราะพ่ายแพ้กระบวนการเลือกตั้งผู้แทนพรรค วอร์เรนไม่รู้สึกกดดันว่าจะต้องโน้มไปทางปีกซ้ายมากขึ้นแต่อย่างใด ครั้งหนึ่งระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่น เธอเคยได้รับคำถามเกี่ยวกับการเขียนชื่นชมระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในหนังสือบทหนึ่งที่เธอร่วมเขียนกับเดโบราห์ ธอร์น
"สมมติว่าถ้าคุณได้เป็นพระเจ้าซาร์หญิง ประเด็นอย่างประกันสุขภาพถ้วนหน้า การประกันสุขภาพโดยรัฐบาล ต้นทุนการบริหารถูกกว่ามาก อะไรทำนองนั้น วุฒิสมาชิกวอร์เรนจะเสนอเป็นทางออกหรือไม่ครับ" "ฉันคิดว่าสิ่งที่เราต้องทำตอนนี้ และฉันจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้ ฉันคิดว่าเราต้องอยู่กับสิ่งที่เป็นไปได้ และฉันคิดว่าสิ่งที่เราจะทำ แล้วคุณลองดูฝุ่นที่ตลบอยู่ตอนนี้สิ เราจำเป็นต้องรวบรวมผลลัพธ์ที่ได้จากสิ่งที่เรามีอยู่บนโต๊ะเจรจาค่ะ"
ผู้สื่อข่าวถามต่อโดยถามว่าส่วนตัวแล้ววอร์เรนสนับสนุนการประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือไม่ เธอตอบว่า "ไม่"
5 ปีให้หลัง หลังจากที่แซนเดอร์สใช้เวลาหลายสิบปีสนับสนุนเพื่อช่วยทำให้กฏหมายประกันสุขภาพเป็นที่นิยม วอร์เรนจึงตัดสินใจสนับสนุนนโยบายดังกล่าว แต่ต่างจากการคุ้มครองผู้บริโภคหรือการจัดระเบียบภาคการเงิน การปักธงกฏหมายประกันสุขภาพถ้วนหน้าดูเหมือนจะไม่ใช่ประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งสำหรับวอร์เรน เธออาจไม่ได้ปฏิเสธนโยบายดังกล่าว แต่ถ้าเธอจะใช้ต้นทุนทางการเมืองที่มีอยู่จำกัดเพื่อให้เรื่องผ่านรัฐสภาไปได้แล้วละก็ ทายได้เลยว่าเธออาจมุ่งเป้าสนใจไปที่แก่นประเด็นหลักสำคัญที่สุดของเธอ ที่เธอต่อสู้ผลักดันมาตลอดช่วงวัยผู้ใหญ่ของเธอ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่วอร์เรนไม่ได้ชูประเด็นเรื่องการประเด็นสุขภาพถ้วนหน้าในการจัดงานหาเสียงสองครั้ง ณ รัฐไอโอวา และเมื่อโดนถามถึงโดยผู้สื่อข่าวของวอชิงตันโพสต์ เธอตอบว่าเธอไม่ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพราะไม่มีใครในงานพูดถึงเรื่องนี้
เวลาที่วอร์เรนกล่าวว่าความแตกต่างหลักสำคัญระหว่างแซนเดอร์สกับเธอคือเธอเป็นผู้ที่สนับสนุนทุนนิยม คำพูดของเธอไม่ใช่แค่คำโวหาร งานตลอดชีวิตของเธอคือการทำให้ตลาดมีการแข่งขันมากขึ้นและเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่การกระจายจัดสรรเงินใหม่จากคนรวยไปสู่คนจน หรือการถอดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากออกจากภาคเอกชน (นี่คือเหตุผลว่าทำไมวอร์เรนถึงเคยเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของโรงเรียนกฏบัตร [charter school - หมายถึงโรงเรียนอิสระที่ได้รับงบประมาณจากรัฐ แต่บริหารโดยเอกชน และรับนักเรียนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเท่านั้น - ผู้แปล, ข้อมูลจาก Cambridge Dictionary Online] โดยเชื่อว่าโรงเรียนลักษณะนี้ก่อให้เกิดการแข่งขันที่จำเป็นอย่างยิ่ง)
กฏหมายนิติบัญญัติที่มีชื่อเสียงของวอร์เรนนับว่ามีความหนักแน่นและจริงจัง กฏหมายเพื่อทุนนิยมที่เป็นธรรม (Accountable Capitalism Act) จะทำให้บริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นมากขึ้น เช่นเดียวกับรับผิดชอบต่อคนงานที่ผลิตกำไรให้พวกเขา สำนักงานการคุ้มครองทางการเงินเพื่อผู้บริโภค (The Consumer Financial Protection Bureau) ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นมาได้เพราะการผลักดันของวอร์เรน ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด แต่สิ่งเหล่านี้ก็ชี้ให้เห็นความแตกต่างทางการเมืองของทั้งสองคนเช่นเดียวกัน
ขณะที่แซนเดอร์สพยายามผ่านอนุมัติกฏหมายเพื่อทำให้ค่ารักษาพยาบาลฟรีในระดับพื้นฐาน วอร์เรนพยายามเขียนกฏหมายเพื่อทำให้ระเบียบของอุตสาหกรรมประกันสุขภาพรัดกุมขึ้น ขณะที่แซนเดอร์สเสนอให้มหาวิทยาลัยในอเมริกาสามารถเรียนได้ฟรี วอร์เรนเสนอทางเลือกที่สาม คือ การเพิ่มงบประมาณรัฐให้แก่มหาวิทยาลัย (และเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยสามารถเสนอ "ทางเลือกที่ไม่ต้องเป็นหนี้" ได้) และทำให้มหาวิทยาลัยรับผิดชอบเงินที่รัฐบาลกลางมอบให้มากยิ่งขึ้น
"เดโมแครตพูดถึงทรัพยากร โดยชี้ให้เห็นว่าเราไม่ได้ลงทุนกับเด็กเหมือนในอดีต รีพับลิกันพูดถึงเรื่องความเสี่ยงและเครื่องจูงใจ โดยเถียงว่านักเรียนยอมเป็นหนี้โดยไม่รู้ถึงผลที่ตามมา ส่วนมหาวิทยาลัยก็เข้าถึงเงินรัฐบาลกลางได้ ไม่ว่าคุณภาพและต้นทุนการศึกษาจะเป็นอย่างไรก็ตาม" วอร์เรนตั้งข้อสังเกตระหว่างที่กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าสหพันธ์ครูอเมริกันในปี ค.ศ. 2015 "ความจริงก็คือ ทั้งสองพรรคพูดถูกทั้งคู่" ไอเดียเรื่องการทำให้มหาวิทยาลัยฟรีค่าเทอมไม่เคยอยู่ในความคิดของวอร์เรนเลย จนกระทั่งเธอสนับสนุนกฏหมายของแซนเดอร์สที่จะทำเช่นนั้นใน ค.ศ. 2017
วอร์เรนไม่ได้ต่อต้านโครงการรัฐบาลที่เข้มแข็งโดยสิ้นเชิง เธอเป็นผู้ที่สนับสนุนบริการธนาคารผ่านสถานีไปรษณีย์ และเธอยังเสนอให้รัฐบาลกลางเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจผลิตยาเภสัชกรรมทั่วไปด้วย แต่ทั้งสองมาตรการเป็นไปเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน ซึ่งต่างจาก ตัวอย่างเช่น ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะเข้าแทนที่อุตสาหกรรมประกันสุขภาพเอกชนทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง
แซนเดอร์สไม่ได้ต่อต้านมาตรการ "ก่อนการกระจายจัดสรร" การณรงค์ต่อต้านบริษัทอเมซอนของแซนเดอร์สส่งผลให้บริษัทเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์ เขาเป็นผู้เขียนกฏหมายที่จะส่งเสริมให้บริษัทธุรกิจมีคนงานเป็นเจ้าของ แซนเดอร์สเป็นผู้สนับสนุนแรงงานอย่างแข็งกร้าว และเป็นผู้ต่อต้านการผ่อนคลายระเบียบทางเศรษฐกิจอย่างซื่อสัตย์
แต่เราก็เห็นได้ชัดเจนว่าการจัดลำดับความสำคัญของเขาเป็นอย่างไร การเสนอกฏหมายของเขาทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเพิ่มภาษีและการจ่ายค่ารักษาพยาบาลและการศึกษาให้กับชาวอเมริกันโดยตรง สำหรับเบอร์นีย์แล้ว ปัญหาไม่ใช่การที่ระบบถูกชักไยฉวยใช้จนประชาชนกลายเป็นนายทุนไม่ได้ หรือการที่ผู้คุมระเบียบจำเป็นต้องได้รับการเสริมพลังอำนาจเพื่อดำเนินการในฐานะตัวแทนของสาธารณชน ปัญหาอยู่ตรงที่ยังมีบทบาทไม่เพียงพอในการเบียดแซงหน้าภาคส่วนเอกชน เพื่อนำส่งเงินทุนและบริการให้แก่คนจนและคนทำงานโดยตรง ในการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่แล้วของแซนเดอร์ส เขาเสนอให้ใช้ภาษีจำนวนมหาศาลและการกำหนดภาษีประเภทใหม่เพื่อจ่ายให้กับวาระของเขา ในการสัมภาษณ์ปีที่แล้ว เธอขอไม่พูดถึงว่าอัตราภาษีสูงสุดสำหรับเธอคือเท่าใด แม้ในอดีตเธอจะสนับสนุนนโยบายภาษีของพรรคเดโมแครตกระแสหลักเป็นส่วนใหญ่ เช่น กฏของบัฟเฟต [หมายถึงการเก็บภาษี 30% กับบุคคลที่มีรายได้อย่างน้อย 1 ล้านดอลล่าร์ขึ้นไป - ผู้แปล] เป็นต้น ส่วนแซนเดอร์สเคยกล่าวต่อผู้สัมภาษณ์คนเดียวกับที่เคยถามวอร์เรนไว้อย่างโด่งดังว่า เขาไม่มีปัญหากับการเก็บภาษีเงินได้ในอัตรา 90% เหมือนที่เคยทำในสมัยรัฐบาลไอเซนฮาวร์
หลังจากอลิซาเบธ วอร์เรนประกาศตั้งคณะกรรมการสำรวจ [เพื่อระดมทุนและเตรียมชิงตำแหน่งประธานาธิบดี -ผู้แปล] และแซนเดอร์สมีแนวโน้มว่าจะเข้าไปแข่งเป็นตัวแทน[ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี]ของพรรคเดโมแครต นับเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ลงคะแนนเสียงจะต้องศึกษาบันทึกและโลกทัศน์ของแซนเดอร์สและวอร์เรนให้ละเอียดละออ แม้ทั้งคู่จะเป็นคนที่วิจารณ์กลุ่มอำนาจเดิมในพรรคเดโมแครต ความเชื่อที่คงอยู่มายาวนานของทั้งสองจะทำให้เกิดการจัดลำดับความสำคัญของวิธีการแก้ไขปัญหาที่ต่างกัน ทั้งในแง่ของนโยบายที่ทั้งคู่ผลักดัน และวิธีการวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
วอร์เรนเป็นนักวิชาการนิติศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม และเปลี่ยนสังกัดพรรคหลังศึกษาการใช้อำนาจโดยมิชอบในอุตสาหกรรมการเงิน ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา เธอส่งเสริมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่วนใหญ่แล้วอาศัยการตั้งคำถามสอบสวนอย่างชาญฉลาดต่อหน้าที่ประชุมขอคำชี้แจงโดยคณะกรรมการของสภา (hearing) และการรณรงค์อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ห้องประชุมของรัฐสภา บ่งบอกได้เลยว่า เธอคงนั่งรอให้การเลือกตัวแทนพรรคในปี ค.ศ. 2016 จบก่อน แล้วค่อยเลือกให้คำแนะนำเชิงนโยบายแก่ฮิลลารี คลินตันอย่างทรงพลัง แต่ปิดเป็นการส่วนตัว
แนวทางดังกล่าวต่างจากของแซนเดอร์สอย่างมาก เพราะแซนเดอร์สท้าทายภูมิปัญญากระแสหลักในปี ค.ศ. 2016 ด้วยการประกาศลงชิงตำแหน่ง ประธานาธิบดีและกลายเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีอาสาสมัครและผู้ร่วมบริจาครายย่อยนับพันคน เพียงเวลาไม่กี่ปี เขาทำให้นโยบายสังคมนิยมประชาธิปไตยกลายเป็นแนวคิดกระแสหลักไปแล้ว สมาชิกพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่กล่าวว่าตนเองเห็นด้วยกับสังคมนิยมมากกว่าที่ตนเห็นด้วยกับทุนนิยมแล้วในปัจจุบัน
ทันทีที่ประธานาธิบดีคนต่อไปดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีคนใหม่อาจต้องเผชิญกับความตึงเครียดและแรงกดดันจากกลุ่มผลประโยชน์ที่ทรงอำนาจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ การเลือกว่าจะสนับสนุนใครระหว่างวอร์เรนและแซนเดอร์สอาจเป็นสิ่งกำหนดด้วยเช่นกัน ว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะเผชิญหน้ากับกลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ด้วยการใช้เหตุผลอย่างระมัดระวังและการรณรงค์อย่างมีหลักการ หรือจะใช้สรรพกำลังของขบวนการมวลชน