(แปล) ความซับซ้อนของอุตสาหกรรมการกุศล
ปีเตอร์ บัฟเฟต เขียน
ธรรมชาติ กรีอักษร แปล
ผมใช้เวลามากเหลือในชีวิตไปกับการเขียนเพลงให้กับโฆษณา ภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ และมีความรู้เพียงน้อยนิดเกี่ยวกับโลกขององค์กรการกุศล ซึ่งคนร่ำรวยล้นเหลือเป็นผู้ดำเนินงาน ชีวิตผมเป็นเช่นนี้จนกระทั่งสิ่งที่ผมเรียกว่าการระเบิดครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับชีวิตผมในปี 2006 วอร์เรน บัฟเฟต พ่อของผมตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะบริจาคเงินทั้งหมดที่เขาได้มากลับคืนให้กับสังคม นอกจากจะบริจาคเงินก้อนใหญ่เพื่อการกุศลสองถึงสามครั้งแล้ว เขายังเพิ่มเงินให้กับมูลนิธิอีกสามแห่งอย่างสมน้ำสมเนื้อ มูลนิธิเหล่านี้พ่อแม่ผมเป็นคนก่อตั้งเอง โดยให้ลูก ๆ เป็นคนบริหารงานคนละหนึ่งมูลนิธิ
ช่วงแรก ๆ ในเส้นทางอาชีพองค์กรการกุศล ผมกับภรรยาเริ่มตระหนักถึงสิ่งที่ผมเรียกว่าลัทธิอาณานิคมการกุศล ผมสังเกตเห็นว่าผู้บริจาคมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะ "ช่วยโลก” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หลาย ๆ คน (รวมถึงผมด้วย) ที่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับท้องที่ใดท้องที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ มักคิดว่าการทำอะไรแบบนี้จะสามารถแก้ปัญหาในท้องถิ่นได้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำไรไถนา วิธีจัดการเรียนการสอน การฝึกพัฒนางาน หรือ การพัฒนาเชิงธุรกิจ ผมได้ยินคนพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกี่ยวกับการนำสิ่งที่ได้ผลในเงื่อนไขแบบหนึ่งไปใช้กับอีกที่หนึ่ง โดยพิจารณาถึงวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ หรือบรรทัดฐานทางสังคมต่าง ๆ เพียงน้อยนิด
บ่อยครั้งที่ผลจากการตัดสินใจของเราไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ การแจกจ่ายถุงยางอนามัยเพื่อหยุดการแพร่กระจายของโรคเอดส์ในย่านค้าบริการทางเพศกลับทำให้การค้าบริการทางเพศแบบปราศจากการป้องกันราคาฟู่ฟ่าขึ้น
แต่ตอนนี้ ผมคิดถึงบางอย่างที่ร้ายแรงยิ่งกว่า ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน
เพราะพ่อผมคือวอร์เรน บัฟเฟต ผมจึงสามารถเข้าไปนั่งในเก้าอี้บางตำแหน่งได้อย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะอยู่ในการประชุมองค์กรการกุศลครั้งสำคัญที่ใดก็ตาม คุณจะเห็นประมุขของรัฐต่าง ๆ พบปะกับผู้บริหารกองทุนและผู้นำธุรกิจ ทุกคนต่างมองหาทางออกให้กับปัญหาที่คนในห้องเดียวกันนั้นเองเป็นผู้ก่อ สถิติจำนวนมากบ่งชี้ว่าความเหลื่อมล้ำกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนั้น ข้อมูลจาก Urban Institute ได้บอกกับเราว่าองค์กรไม่แสวงหากำไรก็กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2001 ถึง 2011 องค์กรไม่แสวงหากำไรมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 25 เปอร์เซ็น อัตราการเติบโตตอนนี้สูงกว่าภาครัฐและเอกชนไปเรียบร้อยแล้ว องค์กรเหล่านี้คือธุรกิจขนาดมหึมา ซึ่งหากนับเฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีการใช้จ่ายเงินกว่า 316 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2012 และมีการจ้างงานคนกว่า 9.4 ล้านคน
องค์กรการกุศลกลายเป็นพาหนะ “อันนั้นแหละ” ที่สร้างสนามการแข่งขันแบบนี้ขึ้นมา แถมยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่ม การประชุมเชิงปฏิบัติการ และกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าขององค์กรการกุศลเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้นด้วย
ยิ่งชีวิตของผู้คนและชุมชนต่าง ๆ ถูกทำลายโดยระบบที่สร้างความร่ำรวยให้กับคนเพียงหยิบมือมากขึ้นเท่าไหร่ การคืนเงินสู่สังคมก็ยิ่งฟังดูเป็นเรื่องน่าเชิดชูยิ่งขึ้นเท่านั้น ผมเรียกอะไรแบบนี้ว่า “การฟอกตัวทางศีลธรรม” ซึ่งทำเพื่อให้คน ๆ หนึ่งรู้สึกดีขึ้นที่สะสมเงินเอาไว้มากเกินความจำเป็นของตัวเอง ด้วยการโปรยเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปตามที่ต่าง ๆ เพื่อกิจกรรมการกุศล
แต่การทำเช่นนี้ส่งผลให้โครงสร้างความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ยังคงดำรงอยู่ต่อไป พวกมีอันจะกินนอนหลับสบายขึ้น โดยพวกที่เหลือยังคงรอดตายได้แบบวันต่อวัน เกือบทุกครั้งที่บางคนรู้สึกสบายใจขึ้นที่ได้ทำดี แต่อีกด้านหนึ่งของมุมโลก (หรือมุมถนน) อีกคนหนึ่งยิ่งถูกตรึงอยู่ในระบบที่ไม่อนุญาติให้ธรรมชาติของเขาและเธอได้เจริญงอกงาม หรือได้รับโอกาสในการมีชีวิตที่มีความสุขและได้รับการเติมเต็ม
และเนื่องจากพวกหัวนักธุรกิจเข้าสู่กิจกรรมการกุศลมากขึ้น หลักการเชิงธุรกิจจึงได้รับการสรรเสริญให้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของอุตสาหกรรมการกุศลด้วย ตอนนี้ผมได้ยินคนถามถึงนิยามของผลตอบแทนการลงทุน เวลาพูดถึงการบรรเทากับทุกทรมานของเพื่อนมนุษย์ ราวกับว่าผลการตอบแทนการลงทุนเป็นเกณฑ์เพียงอย่างเดียวที่เอาไว้ใช้วัดความสำเร็จ สินเชื่อขนาดย่อมและความรู้ทางการเงิน (ผมกำลังจะทำให้คนรู้จักและเพื่อนสนิทดี ๆ หลาย ๆ คนรู้สึกแย่แล้วละ) แท้จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่ มันคือการทำให้ผู้คนเรียนรู้จนได้ว่าควรจะเข้าสู่วงจรระบบของการเป็นหนี้และจ่ายหนี้พร้อมดอกเบี้ย ผู้คนจะมีรายได้มากกว่า 2 ดอลล่าร์ต่อวันเพื่อเข้าสู่โลกของสินค้าและบริการ พวกเขาจะได้บริโภคมากขึ้น แต่การทำเช่นนี้มันก็คือการป้อนเงินให้กับชนชั้นนำอยู่ดีไม่ใช่หรือ
ผมไม่ได้เรียกร้องให้ยกเลิกระบอบทุนนิยม ผมแค่อยากเรียกร้องให้รักเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเท่านั้นเอง
ผมได้ยินผู้คนพูดกันหนาหูว่า “ถ้าแค่พวกเขามีเหมือนอย่างที่เรามีแล้วละก็” (มีน้ำสะอาด มีการรักษาพยาบาลและเข้าถึงตลาดเสรีได้ มีการศึกษาที่ดี มีสภาพการใช้ชีวิตที่ปลอดภัยขึ้น) จริงอยู่ที่สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น แต่ไม่มีการแทรกแซง “ทางการกุศล” (ผมเกลียดคำนี้) รูปแบบไหนที่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้หรอก เป็นแค่การปัดปัญหาออกไป เดี๋ยวก็ต้องกลับมาเจออีกอยู่ดี
ผมและภรรยารู้ดีว่าเราไม่มีคำตอบให้กับปัญหา แต่อย่างน้อยเราก็รู้จักรับฟัง เราทั้งสองคนได้เรียนรู้ว่าต้องสนับสนุนเงื่อนไขเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบต่อไป
ถึงเวลาที่ต้องใช้ระบบปฏิบัติการใหม่แล้ว ไม่ใช่แค่ 2.0 หรือ 3.0 แต่ต้องรื้อใหม่ทั้งหมด ต้องใช้ระบบใหม่เลย
สิ่งที่เรากำลังเจออยู่ตอนนี้คือวิกฤติความสร้างสรรค์ อัลเบิร์ต ไอนสไตน์เคยกล่าวไว้ว่าคุณไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีคิดแบบเดิมที่เป็นตัวสร้างปัญหาขึ้นมา เงินของมูลนิธิการกุศลอย่างเก่งที่สุดก็เป็นแค่ “ทุนที่มีความเสี่ยง” เท่านั้น
เราควรใช้เงินไปกับการทดลองแนวคิดใหม่ที่บ่อนทำลายโครงสร้างและระบบต่าง ๆ ที่เปลี่ยนโลกให้กลายเป็นตลาดเดี่ยวขนาดมหึมาไปแล้ว ความก้าวหน้าเกิดขึ้นเพราะมีไวไฟอยู่ตามมุมถนนอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่หรอก มันจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กผู้หญิงอายุ 13 ขวบคนหนึ่งบนโลกนี้ไม่โดนจับไปค้าประเวณี แต่ตราบที่คนส่วนใหญ่ยังคนชื่นชมกิจกรรมการกุศลกันอยู่ เราก็มีแต่จะต้องอยู่กับเครื่องจักรที่สร้างความยากจนอยู่ร่ำไป
พอกันทีเรื่องราวเดิม ๆ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่อย่างจริงจังได้แล้ว
**แปลจาก บทความใน New York Times ของปีเตอร์ บัฟเฟต ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2013