Skip to main content

 

บทที่ 1 เผชิญหน้ากับเผด็จการอย่างเป็นจริง

หลายปีมานี้ เผด็จการในหลายประเทศ ทั้งที่มีต้นกำเนิดมาจากในและนอกประเทศ ได้ล่มสลายลงหรือไม่ก็อยู่ในสภาวะชะงักงันเนื่องจากเผชิญหน้ากับประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน แม้ถูกมองว่าเข้มแข็งและไม่มีทางถูกโค่นล้มลงได้ แต่เผด็จการในบางประเทศได้รับการทดสอบแล้วว่าไม่สามารถทนทานต่อการขัดขืนทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจากประชาชนได้

ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา เผด็จการได้ล่มสลายลงต่อหน้าหมู่ประชาชนที่ได้รับชัยชนะโดยการต่อต้านอย่างสันติ ทั้งในประเทศเอสโตเนีย ลัทเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ เยอรมันตะวันออก เช็คโกสโลวาเกียและสโลเวเนีย มาดากาสกา มาลี โบลิเวีย และฟิลิปปินส์ การต่อต้านขัดขืนโดยไม่ใช้ความรุนแรงยังได้รุดหน้าไปอีกเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในเนปาล แซมเบีย เกาหลีใต้ ชิลี อาเจนตินา เฮติ บราซิล อูรุกวัย มาลาวี ไทย บัลแกเรีย ฮังการี ไนจีเกีย และพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของสหภาพโซเวียต (ที่ส่งผลอย่างมากต่อชัยชนะเหนือความพยายามในการทำรัฐประหารโดยพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่งเมื่อเดือนสิงหาคม 1991)

ยิ่งกว่านั้น การต่อต้านแข็งขืนทางการเมืองในระดับมวลชน (mass political defiance)[1] ยังอุบัติขึ้นในประเทศจีน พม่า และทิเบตด้วยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าการต่อสู้เหล่านี้จะไม่ได้นำจุดจบมาสู่เผด็จการหรือผู้ยึดครองที่ปกครองอยู่ แต่มันได้เปิดเผยธาตุแท้อันโหดร้ายของระบอบที่กดขี่ต่อสาธารณชนโลก ทั้งยังให้ประสบการณ์อันมีค่าแก่ประชาชนผู้ใช้วิธีการเหล่านี้ในการต่อสู้ด้วย

การล่มสลายของเผด็จการในประเทศต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น แน่นอนว่าไม่ได้ลบล้างปัญหาทุกอย่างในสังคมให้หมดไป ปัญหาความยากจน อาชญากรรม ความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการ และการทำลายสิ่งแวดล้อมมักเป็นมรดกตกค้างมาจากระบอบเผด็จการ อย่างไรก็ตาม การล่มสลายของเผด็จการเหล่านี้ อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานของเหยื่อจากการกดขี่ และเปิดทางให้กับการสร้างสังคมขึ้นใหม่ ด้วยการเมืองประชาธิปไตย เสรีภาพส่วนบุคคล และความยุติธรรมในสังคม

ปัญหาที่ยังต่อเนื่อง

ที่จริงแล้ว ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้มีกระแสความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยและเสรีภาพเกิดขึ้นทั่วโลก จากข้อมูลของ Freedom House สถาบันซึ่งรวบรวมข้อมูลผลสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางด้านสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของพลเมืองในระดับนานาชาติเป็นประจำทุกปี จำนวนประเทศที่ได้รับการจัดประเภทว่า “เสรี” ทั่วโลก เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา[2]

 

เสรี

กึ่งเสรี

ไม่เสรี

1983

54

47

64

1993

75

73

38

2003

89

55

48

2009

89

62

42

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเชิงบวกนี้ถูกทัดทานด้วยตัวเลขประชากรที่ยังอยู่ภายใต้ระบอบทรราชจำนวนมาก ดังที่ปรากฎในปี 2008 ร้อยละ 34 ของประชากรโลกทั้งหมด 6,680 ล้านคนยังคงอยู่ในประเทศที่ได้รับการจัดประเภทว่า “ไม่เสรี”[3] ซึ่งหมายถึง พื้นที่ที่สิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของพลเมืองถูกจำกัดอย่างร้ายแรง ประเทศจำนวน 42 แห่งที่จัดอยู่ในประเภท “ไม่เสรี” นั้น อยู่ภายใต้การปกครองหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ เผด็จการทหาร (เช่น พม่า) ราชาธิปไตยจารีตกดขี่ (เช่น ซาอุดีอาราเบีย และภูฏาน) เผด็จการพรรคเดียว (เช่น จีน และเกาหลีเหนือ) จนไปถึงการยึดครองจากต่างชาติ (เช่น ทิเบต และซาฮาราตะวันตก) และประเทศที่กำลังอยู่ในสภาวะเปลี่ยนผ่าน

หลายประเทศทุกวันนี้กำลังอยู่ในสภาวะที่เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจำนวนประเทศ “เสรี” จะพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็มีความเสี่ยงที่หลายประเทศ ซึ่งตกอยู่ในสภาวะที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นนี้ จะเดินไปในทิศทางตรงกันข้ามและพบกับเผด็จการรูปแบบใหม่ กลุ่มคณะทหาร ปัจเจกบุคคลที่ทะเยอทะยาน เจ้าหน้าที่ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองลัทธิ จะพยายามแสวงหาวิธีการเพื่อบังคับใช้เจตจำนงของพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำอีกในอนาคต การรัฐประหารเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์และสิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมืองจะยังคงได้รับการปฏิเสธต่อไปโดยที่ประชาชนจำนวนมากไม่มีโอกาสเข้าถึง

โชคร้ายที่อดีตยังคงอยู่กับเรา ปัญหาว่าด้วยเผด็จการเป็นสิ่งที่ฝังรากลึก ประชาชนในหลายประเทศต้องประสบกับการกดขี่มากว่าทศวรรษหรือกระทั่งกว่าศตวรรษจากทั้งในและนอกประเทศ บ่อยครั้ง การก้มหัวยอมจำนนต่อผู้มีอำนาจและผู้ปกครองโดยไม่ตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ได้รับการพร่ำสอนกันมายาวนาน ในกรณีที่สุดขั้วนั้น สถาบันทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ หรือแม้แต่สถาบันทางศาสนา ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐ ได้ถูกทำให้อ่อนแอลง ถูกครอบงำ หรือกระทั่งถูกแทนที่ด้วยสถาบันใหม่ที่เคร่งครัด เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือของรัฐและกลุ่มผู้ปกครองในการควบคุมสังคม ประชากรได้ถูกทำให้เป็นอนู (ถูกทำให้เป็นกลุ่มปัจเจกบุคคลที่แยกขาดออกจากกัน) ไม่สามารถร่วมมือกันเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ ไม่สามารถเชื่อใจกันและกัน หรือกระทั่งไม่สามารถริเริ่มอะไรด้วยตนเองได้มากนัก

ผลลัพธ์เป็นสิ่งคาดเดาได้ ประชากรอ่อนแอ ขาดความมั่นใจในตัวเอง และไม่สามารถทำการต่อต้านขัดขืนได้ บ่อยครั้ง ประชาชนรู้สึกหวาดหวั่นเกินกว่าจะบอกเล่าความเกลียดชังเผด็จการและความโหยหาเสรีภาพต่อเพื่อนและครอบครัว ประชาชนรู้สึกหวาดกลัวเกินกว่าจะคิดถึงการต่อต้านในพื้นที่สาธารณะอย่างจริงจัง ต่อให้ทำอย่างนั้นจริง ทำไปแล้วจะมีประโยชน์อะไร ? แทนที่จะทำอย่างนั้น พวกเขาทนทรมานต่อไปอย่างไร้จุดมุ่งหมายและเผชิญหน้ากับอนาคตอย่างสิ้นหวัง

สภาพปัจจุบันของเผด็จการทุกวันนี้อาจย่ำแย่ลงยิ่งกว่าเมื่อก่อน ในอดีตประชาชนอาจเคยลองพยายามลุกขึ้นมาทำการต่อต้าน การประท้วงและการชุมนุมใหญ่ระยะสั้นอาจเกิดขึ้นบ้างเป็นครั้งคราว อาจเป็นเพราะจิตวิญญาณนั้นลุกโชนเพียงชั่วครู่ ช่วงเวลาอื่น ๆ ปัจเจกบุคคลและกลุ่มคนขนาดเล็กอาจออกมาแสดงออกอย่างกล้าหาญแต่ปราศจากพลัง เพื่อยืนยันถึงหลักการบางอย่างหรือเพียงต้องการขัดขืนแบบธรรมดา ๆ ไม่ว่าจะมีแรงบันดาลใจสูงส่งเพียงใด การกระทำเพื่อขัดขืนดังกล่าวบ่อยครั้งไม่เพียงพอต่อการเอาชนะความหวาดกลัวและวัฒนธรรมการเชื่อฟังของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต้องเอาชนะให้ได้เพื่อโค่นล้มเผด็จการ น่าเศร้า การกระทำดังกล่าวในอดีตอาจนำไปสู่ความทรมานและความตาย ไม่ใช่ชัยชนะหรือแม้กระทั่งนำไปสู่ความหวัง

เสรีภาพจากความรุนแรง?

อะไรคือสิ่งที่ต้องทำในสถานการณ์เช่นนี้ ? ความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่เห็นอยู่ ดูแล้วไม่สามารถช่วยอะไรได้ ความคุ้มครองตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ คำไต่สวนจากตุลาการ และความเห็นมหาชนเป็นสิ่งที่ปกติแล้วเผด็จการจะเพิกเฉย  เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าเพื่อตอบโต้กับความโหดร้าย การทารุณกรรม การลักพาตัว และการฆ่าต่าง ๆ ประชาชนมักสรุปว่าความรุนแรงเท่านั้นที่สามารถนำเผด็จการไปสู่จุดจบได้ บางครั้งผู้ประสบชะตากรรมที่โกรธแค้นได้จัดกระบวนพลขึ้นเพื่อต่อสู้กับเผด็จการที่โหดร้ายโดยใช้ความรุนแรงและสรรพกำลังทางทหารทุกอย่างที่มี แม้ว่าจะรู้สึกผิดปกติกับสิ่งที่ทำอยู่ก็ตาม แต่ผู้คนเหล่านี้ก็ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญ และบ่อยครั้งแลกกับความทุกข์ทรทานและความตาย บางครั้งพวกเขาประสบกับชัยชนะได้อย่างน่าประหลาดใจ แต่น้อยครั้งที่พวกเขาจะได้รับเสรีภาพ การก่อกบฏด้วยการใช้ความรุนแรงสามารถจุดชนวนทำให้เกิดการปราบปรามอย่างทารุณ และทำให้ประชาชนสิ้นหวังยิ่งกว่าเดิม

ไม่ว่าการเลือกใช้ความรุนแรงจะมีข้อดีอย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนแน่นอน คือ เมื่อคน ๆ หนึ่งมั่นใจว่าจะเลือกใช้ความรุนแรง นั่นหมายความว่าคน ๆ นั้นได้เลือกสนามการต่อสู้ที่ผู้กดขี่เป็นผู้ได้เปรียบเหนือกว่าไปเรียบร้อยแล้วเกือบทุกครั้ง พวกเผด็จการมียุทโธปกรที่ทำให้สามารถใช้ความรุนแรงได้มากกว่าอย่างขาดลอย ไม่ว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะต่อสู้ไปได้อีกนานแค่ไหน เมื่อเวลามาถึง ความจริงทางการทหารอันโหดร้ายจะปรากฏออกมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้ ต่อให้มีความกล้าหาญ ฝ่ายประชาธิปไตยก็เทียบชั้นไม่ได้(แทบทุกครั้ง)

เมื่อการก่อกบฏทางการทหารอย่างเป็นกิจจะลักษณะถูกพิจารณาว่าเป็นทางเลือกที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้ กลุ่มผู้ไม่พอใจจึงนิยมใช้การต่อสู้แบบกองโจร อย่างไรก็ตาม การต่อสู้แบบกองโจรแทบไม่เคยให้ประโยชน์ต่อประชากรที่โดนกดขี่หรือให้ผลดีแก่ประชาธิปไตยที่เกิดใหม่เลย การต่อสู้แบบกองโจรไม่ใช่ทางออกอย่างแน่นอน เพราะมีแนวโน้มอย่างมากที่จะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อประชาชนของตัวเอง เทคนิคนี้ไม่ใช่สิ่งรับประกันว่าความล้มเหลวจะไม่เกิดขึ้น ต่อให้ได้รับการสนับสนุนจากการวิเคราะห์เชิงทฤษฎีและเชิงกลยุทธ์ หรือต่อให้ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติก็ตาม การต่อต้านแบบกองโจรมักยืดเยื้อเป็นเวลายาวนาน ประชากรพลเรือนบ่อยครั้งต้องทิ้งบ้านของตัวเองเพราะรัฐบาลที่ปกครอง แถมยังนำมาซึ่งความทุกข์ทรมานของเพื่อนมนุษย์และทำให้สังคมหยุดชะงักลงอีกด้วย

ต่อให้ประสบความสำเร็จ การต่อสู้แบบกองโจรมักส่งผลกระทบด้านลบในระดับโครงสร้างอย่างมีนัยยะสำคัญในระยะยาว ระบอบที่ถูกโจมตีจะเป็นเผด็จการยิ่งกว่าเดิมในทันทีจากมาตรการที่ระบอบดังกล่าวใช้ในการตอบโต้ ต่อให้หน่วยกองโจรประสบชัยชนะในที่ท้ายที่สุดจริง บ่อยครั้ง ระบอบใหม่ที่เป็นผลลัพธ์จากการต่อสู้มักเป็นเผด็จการยิ่งกว่าระบอบเก่า เพราะสังคมได้รับผลกระทบจากการรวมศูนย์อำนาจเพื่อการขยายกำลังทหาร ตลอดจนความอ่อนแอและการพังทลายของกลุ่มและสถาบันอิสระที่สูญเสียไประหว่างการต่อสู้ องค์ประกอบเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้หากต้องการสร้างและปกปักรักษาสังคมประชาธิปไตย ผู้คนที่ไม่ต้องการเผด็จการควรมองหาลู่ทางอื่น

รัฐประหาร, การเลือกตั้ง, ความช่วยเหลือจากต่างชาติ ?

การทำรัฐประหารโดยทหารเพื่อโค่นล้มเผด็จการดูแล้วอาจเป็นทางออกที่ง่ายและรวดเร็วที่สุดในการถอดระบอบอันไม่พึงประสงค์อย่างยิ่งให้ลงจากอำนาจ อย่างไรก็ตาม การใช้เทคนิคดังกล่าวมีปัญหาร้ายแรงอย่างมาก ปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ การรัฐประหารทำให้การกระจายอำนาจที่ไม่เป็นธรรมระหว่างชนชั้นนำและประชากรตกอยู่ในมือของรัฐบาลและกองกำลังทหารเพียงผู้เดียว การถอดบุคคลหรือกลุ่มบุคคลออกจากตำแหน่งผู้ปกครองมีแนวโน้มเป็นเพียงการเปิดทางให้คนอีกกลุ่มหนึ่งได้ขึ้นสู่อำนาจเท่านั้น ในทางทฤษฎี คนกลุ่มใหม่อาจพฤติกรรมนุ่มนวลกว่าและเปิดกว้างต่อการปฏิรูปประชาธิปไตยบ้างโดยยังตั้งข้อจำกัดไว้หลายประการ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะเป็นไปในทางตรงกันข้ามมีแนวโน้มสูงกว่า

หลังจากอยู่ในอำนาจมั่นคงแล้ว อาจพบว่าคนกลุ่มใหม่โหดเหี้ยมทารุณและทะเยอทะยานยิ่งกว่าคนกลุ่มเก่า จากนั้น ผู้ปกครองกลุ่มใหม่ที่หลายคนฝากความหวังไว้ ก็จะสามารถทำทุกอย่างได้ตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน คำตอบนี้เป็นทางออกที่ยอมรับไม่ได้หากต้องการแก้ไขปัญหาเผด็จการ

การเลือกตั้งในฐานะเครื่องมือที่สามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองได้อย่างมีนัยยะสำคัญนั้น ไม่มีอยู่จริงในระบอบเผด็จการ ระบอบเผด็จการของบางประเทศเช่นที่มีอยู่ในเขตอิทธิพลด้านตะวันออกของอดีตสหภาพโซเวียตนั้น มีการจัดการเลือกตั้งเพื่อสร้างภาพให้ดูเป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งเหล่านั้นได้รับการควบคุมผลคะแนนอย่างละเอียดเพื่อฉกฉวยเอาแรงสนับสนุนจากสาธารณะมาให้กับผู้สมัครที่ได้รับการคัดสรรจากเผด็จการมาก่อนแล้ว เผด็จการที่อยู่ภายใต้แรงกดดันอาจยอมจัดการเลือกตั้งใหม่เป็นบางครั้ง แล้วจึงแก้ผลการเลือกตั้งเพื่อปูทางให้พลเรือนลิ่วล้อเข้ามาทำงานในรัฐบาล ถ้าสมาชิกฝ่ายต่อต้านได้รับความยินยอมให้เป็นรัฐบาลและได้รับเลือกตั้งเข้ามาจริง ดังที่เกิดในพม่าเมื่อปี 1990 และไนจีเรียในปี 1993 ผลที่ตามมาอาจเป็นเพียงความเพิกเฉย และ “ผู้ชนะเลือกตั้ง” อาจโดนขู่ทำร้าย จับกุม หรือกระทั่งประหารชีวิต เผด็จการไม่มีเหตุผลใดต้องยอมให้มีการเลือกตั้งที่สามารถถอดถอนพวกตนออกจากตำแหน่งอยู่แล้ว

ประชาชนหลายคนที่กำลังทรมานอยู่ภายใต้เผด็จการที่โหดร้าย หรือย้ายถิ่นเพื่อลี้ภัยจากการถูกจับกุมโดยกะทันหัน ไม่เชื่อว่าผู้ถูกกดขี่จะสามารถปลดแอกตนเองได้ พวกเขาคาดหวังว่าประชาชนจะปลอดภัยได้ภายใต้การปกป้องจากผู้อื่นเท่านั้น คนเหล่านี้ฝากความมั่นใจไว้กับอำนาจจากภายนอก พวกเขาเชื่อว่าความช่วยเหลือจากนานาชาติเท่านั้นที่เข้มแข็งพอจะโค่นล้มเผด็จการลงได้

มุมมองที่ว่าผู้โดนกดขี่ไม่สามารถกระทำการใด ๆ อย่างมีประสิทธิภาพนั้นบางครั้งถูกต้องในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ดังที่กล่าวไว้แล้ว บ่อยครั้งประชาชนที่โดนกดขี่ขาดเจตจำนงและไม่สามารถต่อสู้ได้ชั่วคราวเนื่องจากพวกเขาไม่มั่นใจความสามารถในการเผชิญหน้ากับเผด็จการที่ทารุณ และไม่รู้วิธีปกป้องตนเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่หลายคนฝากความหวังในการปลดแอกไว้กับผู้อื่น อำนาจจากภายนอกเหล่านี้อาจมาจาก “มติมหาชน” องค์การสหประชาชาติ ประเทศบางประเทศ หรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเมืองจากนานาชาติ

ฉากความเป็นไปได้ดังกล่าว อาจฟังดูน่าสบายใจ แต่การหวังพึ่งผู้ช่วยเหลือจากภายนอกกลับมีปัญหาร้ายแรงหลายประการ ความมั่นใจดังกล่าวอาจอยู่ไม่ถูกที่ถูกทางเลยแม้แต่น้อย ปกติแล้ว ไม่มีผู้ช่วยเหลือจากต่างชาติเข้ามาและถ้ารัฐต่างชาติเข้ามาแทรกแซงจริง รัฐดังกล่าวก็ไม่ควรได้รับความไว้วางใจ

ความจริงที่โหดร้ายสองสามประการเกี่ยวกับการแทรกแซงจากต่างชาติควรได้รับการเน้นย้ำไว้ ณ ที่นี้:

-         บ่อยครั้งมาก ที่รัฐต่างชาติจะยอมอดทน หรือกระทั่งให้การสนับสนุนเชิงบวกต่อเผด็จการ เพื่อเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของตน

-         รัฐต่างชาติต่าง ๆ อาจมีเจตนาหักหลังประชาชนผู้กดขี่ แทนที่จะสนับสนุนการปลดแอกต่อไปพร้อมกับเสียโอกาสในการบรรลุเป้าหมายอื่น ๆ

-         รัฐต่างชาติบางรัฐจะต่อต้านเผด็จการเพื่อให้ได้มาซึ่งการควบคุมทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารเหนือประเทศที่เผด็จการควบคุมอยู่เท่านั้น

-         รัฐต่างชาติอาจเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและมีเป้าหมายเชิงบวกก็ต่อเมื่อขบวนการต่อต้านจากภายในเริ่มทำให้ระบอบเผด็จการสั่นคลอน และทำให้นานาชาติเห็นถึงธรรมชาติอันโหดร้ายของระบอบเผด็จการแล้วเท่านั้น

โดยปกติ เผด็จการนั้นหลัก ๆ แล้วดำรงอยู่เนื่องมาจากการแบ่งสรรปันอำนาจภายในประเทศของตน ประชากรและสังคมอ่อนแอเกินกว่าจะสร้างปัญหาที่หนักหน่วงต่อเผด็จการ ความมั่งคั่งและอำนาจกระจุกตัวอยู่ในมือไม่กี่คน แม้ว่าเผด็จการอาจได้ประโยชน์หรืออ่อนแอลงบ้างจากการกระทำของนานาชาติ แต่การดำรงอยู่ต่อไปของเผด็จการหลัก ๆ แล้วขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากนานาชาติก็มีประโยชน์ หากใช้ไปกับการส่งเสริมขบวนการเคลื่อนไหวภายในประเทศที่ทรงพลัง ดังนั้น มาตรการต่าง ๆ เช่น การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาชาติ การปิดท่าเรือ การยกเลิกความสัมพันธ์ทางการทูต การขับไล่ออกจากองค์การระหว่างประเทศ การประณามจากองค์การสหประชาชาติ และอื่น ๆ จึงอาจมีส่วนช่วยได้อย่างมาก อย่างไรก็ดี หากปราศจากการต่อต้านจากขบวนการภายในที่เข้มแข็ง มาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะไม่เกิดขึ้น

เผชิญกับความจริงที่ยากลำบาก

ข้อสรุปเป็นเรื่องยากต่อการยอมรับ เมื่อใครต้องการที่จะโค่นล้มเผด็จการอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดโดยใช้ต้นทุนที่น้อยที่สุด คน ๆ นั้นต้องทำภารกิจ 4 อย่างโดยเร่งด่วน

-         ต้องเสริมความเข้มแข็งให้แก่ประชากรที่ถูกกดขี่ด้วยตัวเอง เพื่อเพิ่มความมุ่งมั่นตั้งใจ ความมั่นใจในตัวเอง และทักษะในการต่อต้าน

-         ต้องเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มและสถาบันสังคมอิสระของประชาชนที่ถูกกดขี่

-         ต้องสร้างกำลังการต่อต้านจากภายในให้ทรงพลัง และ

-         ต้องพัฒนายุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ (grand strategy) อย่างชาญฉลาด เพื่อการปลดแอก และดำเนินการตามแผนอย่างมีทักษะ

การต่อสู้ปลดแอกเป็นเวลาที่ต้องพึ่งตัวเองและเสริมความเข็มแข็งให้กับกลุ่มที่ต่อต้าน ดังที่ Charles Stewart Parell กล่าวไว้ระหว่างการรณรงค์ประท้วงไม่จ่ายค่าเช่าในปี 1879 และปี 1880

“ป่วยการที่จะหวังพึ่งรัฐบาล...คุณต้องหวังพึ่งความแน่วแน่ของคุณเองเท่านั้น..
จงช่วยตัวเองด้วยการมายืนหยัดอยู่ด้วยกัน...จงเสริมความแข็งแกร่งให้กับพวกคุณกันเองที่อ่อนแอ...จงรวมตัวกัน บริหารจัดการตัวเอง...และคุณต้องชนะ...

เมื่อคุณนำคำถามเหล่านี้มาพัฒนาให้เข้มแข็งเต็มที่แล้ว จากนั้นและอีกไม่นาน คุณจะประสบกับชัยชนะ”[4]

เมื่อพบกับกลุ่มพลังที่พึ่งตนเอง มียุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ที่ชาญฉลาด มีระเบียบวินัยและดำเนินการอย่างมีกำลังใจ ด้วยความแข็งแกร่งที่แท้จริง เผด็จการจะแตกสลายไปในที่สุด อย่างไรก็ดี อย่างน้อยที่สุดคุณสมบัติทั้งสี่ประการจะต้องได้รับการเติมเต็ม

จากการอภิปรายข้างต้นบ่งชี้ว่า การปลดแอกออกจากระบอบเผด็จการ ถึงที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับความสามารถของประชาชนในการปลดแอกตนเอง กรณีการขัดขืนทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จ หรือที่เรียกว่าการต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อเป้าหมายทางการเมือง จากที่กล่าวถึงในด้านบนแล้วนั้น ชี้ให้เห็นว่าวิธีดังกล่าวมีอยู่จริงเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชากรในการปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระ แต่ทางเลือกดังกล่าวยังไม่ได้รับการพัฒนา เราจะพิจารณาทางเลือกนี้โดยละเอียดในบทถัด ๆ ไป อย่างไรก็ตาม เราควรหันมามองประเด็นว่าด้วยการเจรจาในฐานะวิธีที่เผด็จการใช้ในการสร้างความแตกระแหงเสียก่อน.



[1] คำที่ใช้ในบริบทนี้ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกโดย Robert Helvey “การต่อต้านขัดขืนทางการเมือง” คือการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง (การประท้วง การไม่ให้ความร่วมมือ และการแทรกแซง) ซึ่งประยุกต์ใช้อย่างแข็งขืนและแข็งขันเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง คำนี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการตอบโต้ต่อความสับสนและการบิดเบือนที่เกิดจากการนำการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงไปใช้เพื่อหมายถึง “สันติวิธี (nonviolence) ของกลุ่มแนวคิดรักษ์สันติ (pacifism) ศีลธรรม และศาสนา “การแข็งขืน” หมายถึงการท้าทายต่อสิทธิอำนาจโดยใช้การต่อต้านขัดขืน (disobedience) อย่างรอบคอบ และไม่ยอมรับโอกาสของการยอมจำนน การแข็งขืนทางการเมืองอรรถาธิบายให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมที่ซึ่งการกระทำเกิดขึ้น (ในทางการเมือง) พร้อมกับวัตถุประสงค์ (อำนาจทางการเมือง) คำถูกใช้ในเชิงหลักการเพื่ออรรถาธิบายการกระทำของประชากรเพื่อทวงคืนการควบคุมของเผด็จการต่าง ๆ เหนือสถาบันต่าง ๆ ของรัฐบาลโดยโจมตีแหล่งอำนาจของเผด็จการอย่างต่อเนื่อง และใช้การวางแผนในเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการอย่างรอบคอบเพื่อให้บรรลุแผนดังกล่าว ในงานชิ้นนี้ การแข็งขืนทางการเมือง การต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรง และการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง จะถูกใช้สลับกัน แม้ว่าสองคำหลังโดยหลักแล้วจะหมายถึงการต่อสู้ที่มีวัตถุประสงค์หลากหลายกว้างขวางกว่า (ทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ และจิตวิทยา เป็นต้น)

[2]  Freedom House, Freedom in the World, http://www.freedomhouse.org.

[3]อ้างแล้ว  

[4] Patrick Sarsfield O’Hegarty, A History of Ireland Under the Union, 1880-1922 (London: Methuen, 1952), pp. 490-491. 

 

บล็อกของ Thammachart Kri-aksorn

Thammachart Kri-aksorn
หมายเหตุผู้เขียนวันที่ 7 เมษายน ผมได้โพสต์ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับการอดอาหารประท้วงของเพนกวิน รุ้ง และฟ้าลงบนเฟสบุ๊ค และได้รับความสนใจกว่าโพสต์ปกติทั่วไปของผม พี่กุ้ย ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของประชาไทอยากให้ผมนำโพสต์ดังกล่าวมาเผยแพร่บนบล๊อกกาซี
Thammachart Kri-aksorn
รวมเว็บไซต์ข่าวเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของไทย เอาไว้ประกอบการทำงานมอนิเตอร์ข่าวของตัวเอง และอาจเป็นประโยชน์กับคนในแวดวงหรือผู้ที่สนใจ
Thammachart Kri-aksorn
แนวทาง 10 ขั้นตอนเพื่อรับมือการข่มขู่คุกคามจากครู เมื่อตัดสินใจจะใส่ไปรเวทเพื่อต่อสู้แบบอารยะขัดขืน
Thammachart Kri-aksorn
ซาอิด จีลานี เขียนลงวารสาร Jacobin วันที่ 8 มกราคม​ 2562 แปลโดย ธรรมชาติ​ กรีอักษร​อลิซาเบธ วอร์เรน​ใช่ว่าจะเป็นนักการเมืองสายกลาง​ แต่​เบอร์​นีย์​จะ​เ
Thammachart Kri-aksorn
(แปล) ความซับซ้อนของอุตสาหกรรมการกุศล ปีเตอร์ บัฟเฟต เขียนธรรมชาติ กรีอักษร แปล 
Thammachart Kri-aksorn
(แปล) คิดใหม่เกี่ยวกับปฏิบัติการสันติวิธีในยุคประชานิยมปีกขวาจันจิรา สมบัติพูนศิริ เขียนธรรมชาติ กรีอักษร แปล
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 4 เผด็จการมีจุดอ่อนภาคิน นิมมานนรวงศ์ แปล
Thammachart Kri-aksorn
บทที่ 3 เมื่อใดจึงมีอำนาจ ?
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 2 อันตรายของการเจรจา
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 1 เผชิญหน้ากับเผด็จการอย่างเป็นจริง
Thammachart Kri-aksorn
 บทนำ - จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย : กรอบมโนทัศน์เพื่อการปลดแอก