หมายเหตุผู้เขียน
วันที่ 7 เมษายน ผมได้โพสต์ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับการอดอาหารประท้วงของเพนกวิน รุ้ง และฟ้าลงบนเฟสบุ๊ค และได้รับความสนใจกว่าโพสต์ปกติทั่วไปของผม พี่กุ้ย ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของประชาไทอยากให้ผมนำโพสต์ดังกล่าวมาเผยแพร่บนบล๊อกกาซีน ผมจึงนำโพสต์ดังกล่าวมาปรับแก้ภาษาและโพสต์เผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้สำหรับผู้ที่สนใจ
ข้อสังเกตที่ผมโพสต์บนเฟสบุ๊คมีคนเสนอแลกเปลี่ยนกลับมาจำนวนหนึ่ง ข้อเสนอที่ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผมโพสต์ และผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับท่านผู้อ่านเช่นกันคือโพสต์ของวริศ ลิขิตอนุสรณ์และเทวฤทธิ์ มณีฉาย ข้อแลกเปลี่ยนของทั้งสองท่านช่วยเติมเต็มส่วนที่ผมมองข้ามหรือผิดพลาดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปได้อย่างดี ผมขอขอบคุณที่ทั้งสองท่านมาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสิ่งที่ผมเขียนไว้ ณ ที่นี้ด้วย
อย่าไปบอกให้ใครเลิกอดอาหารประท้วงเลย
อย่าไปบอกให้ใครเลิกอดข้าวประท้วงเลย มันเป็นการตัดสินใจของเขา ลองทำความเข้าใจสิ่งที่เขาทำดูว่าเขาทำแบบนั้นทำไม การเรียกร้องให้เขาเลิกอดข้าว มันต่างจากสิ่งที่รัฐเผด็จการต้องการตรงไหน ทำไมคุณถึงพูดเหมือนกับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ที่ไม่อยากให้เขาดื้อ เวลาอยู่ในคุก ปากและท้องเป็นเพียงไม่กี่อย่างที่เหลืออยู่เพื่อเอาไว้สู้กับความอยุติธรรม ทั้งที่เป็นแบบนั้นก็ยังจะริบอาวุธเพียงไม่กี่อย่างที่เขามีเช่นนั้นหรือ
เอาจริง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตอนที่คนร้องขอให้ถอยด้วยความเป็นห่วงเวลามีเหตุปะทะ หรือตอนที่คนร้องขอให้ถอยด้วยความเป็นห่วงเวลาอดข้าวประท้วง ในแง่หนึ่งแล้วมันอาจนำไปสู่การตั้งคำถามเดียวกัน นั่นคือ คุณกำลังคิดถึงกลยุทธ์ที่ดีกว่าหรือกำลังเอาความขี้ขลาดของตัวเองไปลดทอนการต่อสู้ของคนอื่นกันแน่
หรืออาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือคุณกำลังเห็นว่าการอดข้าวมันฟังดูรุนแรงไม่พอในการต่อสู้ ต้องก่อจราจลมีคนเลือดตกยางออกแบบไม่เลือกหน้าถึงจะสาแก่ใจกับการสนับสนุนตามคอมเมนต์ในเฟสบุ๊คของคุณใช่ไหม ถ้าใช้ความรุนแรงกันจริง ๆ แล้วมันจะได้ผลกว่านี้หรือ คำถามเหล่านี้เอาจริง ๆ ผมก็ยังไม่มีคำตอบให้ตัวเองเหมือนกัน
หากมองจากมุมของสันติวิธี ยีน ชาร์ป เคยศึกษาการอดอาหารประท้วงในฐานะปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเอาไว้ โดยจัดมันอยู่ในหมวด "การแทรกแซงจิตวิทยา" มากกว่าที่จะอยู่ในหมวด "ประท้วงและจูงใจ" นั่นหมายความว่ามันมุ่งสร้างแรงกดดันทางศีลธรรมกับกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม มากกว่าที่จะโน้มน้าวจูงใจให้ใครคล้อยตาม
หลังเพนกวิน รุ้ง และฟ้าอดข้าว พลวัตที่ตอนนี้คนอาจยังมองเห็นกันไม่ค่อยชัดน่าจะมี 2 อย่างหลัก ๆ คือ
1. มันช่วยระดมการสนับสนุน (mobilize) จากฝ่ายเดียวกันได้ อย่างที่รู้ ๆ กันว่าตอนนี้ในฝ่ายประชาธิปไตยแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มและไม่ได้มีความเป็นเอกภาพขนาดนั้น การปรึกษาหารือและพูดคุยกันมีต้นทุนบางอย่างอยู่ การอดข้าวประท้วงสามารถสร้างความรู้สึกเร่งด่วนและช่วยกระตุ้นให้เกิดการระดมกำลังสนับสนุนในสภาพแบบนี้ได้ พูดในเชิงรูปธรรมก็คือ
- ถ้าเพนกวิ้น รุ้ง และฟ้าไม่อดข้าว ส.ส. โรมคงไม่รีบร้อนขนาดนี้ และคงไม่มีอำนาจต่อรองในการเชิญประธานศาลฎีกามาซักถามใน กมธ. กฎหมาย ของสภา
- ถ้าเพนกวิ้น รุ้ง และฟ้าไม่อดข้าว คงไม่มีการประท้วงอดข้าว 1 วันของกลุ่มอื่น ๆ และอีกหลาย ๆ กลุ่มที่จะจัดในลักษณะเดียวกัน
- ถ้าเพนกวิ้น รุ้ง และฟ้าไม่อดข้าว เรื่องคงเงียบกว่านี้มากและเงินบริจาคสำหรับประกันตัวคงน้อยกว่านี้
- ถ้าเพนกวิ้น รุ้ง และฟ้าไม่อดข้าว คงไม่มีการสร้างแรงกดดันเป็นเผือกร้อนให้นักวิชาการสันติวิธีต้องมานั่งอธิบาย
(เอาจริง ๆ เรื่องหลังสุดมันก็มีคำถามอยู่ คือไม่ค่อยแน่ใจว่าการเรียกร้องให้นักวิชาการสันติวิธีต้องมาให้คำอธิบายทุกครั้งที่มีอะไรแบบนี้ มันเป็นการลดทอนหรือเสริมพลังกันแน่ ผมเข้าใจดีว่านักวิชาการด้านนี้มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมไม่ค่อยพอเท่าไหร่เวลามีเรื่องแบบนี้ แต่ตามความเห็นผมแล้วปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเป็นการต่อสู้ของประชาชนมาก่อน ก่อนที่จะมีอาชีพนักวิชาการสมัยใหม่แบบทุกวันนี้ขึ้นบนโลกเป็นพันปีด้วยซ้ำ ประชาชนแม่งสู้ด้วยวิธีแบบนี้มาตั้งแต่สมัยโรมันแล้ว และเขาไม่ได้ต้องพึ่งพาคำอธิบายอะไรจากนักวิชาการ)
2. มันช่วยเปิดโปงความต่ำทรามและไร้มนุษยธรรมของฝ่ายตรงข้ามได้ ในกรณีนี้คือ
- ถ้าเพนกวิ้น รุ้ง และฟ้าไม่อดข้าว สลิ่มคงไม่มานั่งคอมเมนต์หรอกว่า สงสัยอยากผอม กินนมกินน้ำหวาน สมน้ำหน้าตายห่าไปเร็ว ๆ ยิ่งดี และอื่น ๆ
- มันช่วยให้คนทั่วไปหันมาสนใจเรื่องความเป็นอยู่ของคนในคุกมากขึ้น ถ้าเพนกวิ้น รุ้ง และฟ้าไม่อดข้าว ผมคงไม่รู้หรอกว่าเจ้าหน้าระดับสูงในกรมราชทัณฑ์ยุคปัจจุบันเป็นชุดเดียวกับตอนที่หมอหยองตายเพราะติดเชื้อในกระแสเลือด
เรื่องสุดท้ายที่อยากจะพูดก็คือพอเถอะกับการลดทอนการต่อสู้ของลูกหลานด้วยการบอกว่าสันติวิธีได้ผลเฉพาะกับสังคมที่เป็นอารยะ เรื่องนี้เป็นแค่คำตัดพ้อที่ไม่มีอะไรรองรับในทางวิชาการเลย เรื่องเงื่อนไขปัจจัยความสำเร็จของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ผมคงไม่มีเวลาเอางานวิจัยมาอธิบายในโพสต์นี้ แต่ขอแสดงความเห็นเร็ว ๆ ว่ามันอาจจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ กล่าวคือ ยิ่งสังคมศีลธรรมเสื่อมลงเท่าไหร่ การมี "วิญญูชน" ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยมาตรฐานศีลธรรมของตัวเอง ยิ่งขับเน้นให้เห็นความต่ำทรามของสังคม และกระตุกต่อมศีลธรรมของประชาชนที่มีศักยภาพในการมองเห็นเรื่องแบบนี้ให้ยิ่งต้องทำอะไรสักอย่างมากขึ้น