ยีน ชาร์ป - จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย (บทที่ 3)

บทที่ 3 เมื่อใดจึงมีอำนาจ ?

การทำให้สังคมได้รับทั้งเสรีภาพและสันติภาพแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย การกระทำดังกล่าวทั้งเรียกร้องทักษะเชิงกลยุทธ์ การจัดการองค์การ และการวางแผนที่ยอดเยี่ยม เหนือสิ่งอื่นใด การกระทำดังกล่าวต้องมีอำนาจ ฝ่ายประชาธิปไตยไม่สามารถหวังที่จะโค่นล้มเผด็จการและสถาปนาเสรีภาพางการเมืองได้โดยปราศจากความสามารถในการใช้อำนาจของตนอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไร ? อำนาจแบบใดที่ฝ่ายประชาธิปไตยที่ต่อต้านใช้แล้วจะเพียงพอต่อการทำลายเผด็จการและเครือข่ายทหารและตำรวจขนาดใหญ่ ? คำตอบอยู่ที่การทำความเข้าใจอำนาจทางการเมืองที่บ่อยครั้งถูกละเลย การเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าวให้ถ่องแท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องยากเท่าใดนัก ความจริงพื้นฐานบางประการเป็นเรื่องค่อนข้างง่ายด้วยซ้ำ

นิทานสอนใจเรื่อง “เจ้านายลิง”

นิทานสุภาษิตจีนที่เขียนในศตวรรษที่ ๑๔ โดยหลิวจือ เป็นตัวอย่างที่ช่วยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจทางการเมืองที่ถูกมองข้ามได้เป็นอย่างดี[1]:

ในรัฐศักดินาของแคว้นฉูมีชายชราคนหนึ่งมีชีวิตด้วยการเลี้ยงลิงไว้รับใช้ ผู้คนในแคว้นฉูเรียกเขาว่า “จูกง” (เจ้านายลิง)

เช้าของแต่ละวัน ชายชราจะเรียกลิงมารวมที่ลานบ้าน แล้วจึงเรียกลิงตัวที่อายุมากที่สุดเป็นคนเดินนำไปยังภูเขาเพื่อเก็บผลไม้จากพุ่มไม้และต้นไม้ โดยมีกฏว่าลิงแต่ละตัวจะต้องให้เศษหนึ่งส่วนสิบของผลไม้ที่เก็บได้กับชายชรา ลิงตัวใดที่ทำไม่ได้จะโดนเฆี่ยนตีอย่างทารุณ ลิงทุกตัวล้วนแต่ทรมานและขื่นขม แต่ไม่กล้าเรียกร้อง

วันหนึ่ง ลิงตัวน้อยตัวหนึ่งถามลิงตัวอื่น ๆ ว่า “ชายชราเป็นผู้ปลูกต้นและพุ่มผลเหล่านั้นทั้งหมดหรือ ?” ลิงตัวอื่น ๆ ตอบว่า “ไม่นะ พวกมันเติบโตเองตามธรรมชาติ” ลิงตัวน้อยถามต่อว่า “หากชายชราไม่อนุญาต เราจะเก็บผลไม้ทั้งหมดนั้นไม่ได้หรือ?” ลิงตัวอื่น ๆ ตอบว่า “ไม่นะ เราทุกคนทำได้” ลิงตัวน้อยจึงถามต่อไปอีกว่า “ถ้างั้น ทำไมเราต้องไปขึ้นอยู่กับชายชราด้วยหละ ทำไมเราทุกคนต้องรับใช้เขาด้วย ?”

ก่อนที่ลิงน้อยจะได้จบถ้อยแถลงของตน ลิงตัวอื่น ๆ ก็ตาสว่างและตื่นขึ้นจากความหลับใหลโดยทันที

ในคืนของวันเดียวกันนั้น เมื่อเห็นว่าชายชราหลับแล้ว ฝูงลิงจึงพังรั้วกรงทั้งหมดที่ห้อมล้อมพวกมันไว้ และทำลายมันทิ้งทั้งหมด พวกมันนำผลไม้ทั้งหมดที่ชายชราเก็บไว้ในเสบียง เอาติดตัวเข้าป่ามากับพวกมัน และไม่หวนกลับไปอีกเลย ชายชราเสียชีวิตในที่สุดเนื่องจากขาดอาหาร

หยูลี่จือ กล่าวว่า “มนุษย์บางพวกบนโลกนี้ปกครองประชาชนโดยใช้เล่ห์กล แต่ไม่ใช้หลักคุณธรรม พวกเขาไม่เหมือนกับเจ้านายลิงผู้นี้หรือ ? พวกเขาไม่ตระหนักถึงความหัวรั้นเหลวไหลของตน ทันทีที่ประชาชนของพวกเขาตาสว่าง เล่ห์กลของพวกเขาก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป”

แหล่งอำนาจทางการเมืองที่จำเป็น

หลักการของเรื่องนี้ไม่ยากเลย เผด็จการต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากประชาชนที่พวกเขาปกครอง ซึ่งถ้าปราศจากประชาชนพวกเขาก็ไม่สามารถปกป้องและรักษาแหล่งอำนาจทางการเมืองได้ แหล่งอำนาจทางการเมืองเหล่านี้ได้แก่

1.     สิทธิอำนาจ: ความเชื่อในหมู่ประชาชนว่าระบอบเป็นสิ่งชอบธรรม และพวกเขามีหน้าที่ทางคุณธรรมในการยินยอมระบอบดังกล่าว

2.     ทรัพยากรมนุษย์: จำนวนและความสำคัญของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ให้ความยินยอม ความร่วมมือ และความช่วยเหลือแก่ผู้ปกครอง

3.     ทักษะและความรู้: ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเผด็จการที่ใช้มันเพื่อการกระทำที่ลักษณะเฉพาะบางอย่าง โดยทักษะและความรู้นั้นมาจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ให้ความร่วมมือ

4.     ปัจจัยที่จับต้องไม่ได้: ปัจจัยทางอุดมการณ์และปัจจัยทางจิตวิทยาซึ่งอาจทำให้ประชาชนยินยอมและสนับสนุนผู้ปกครอง

5.     การคว่ำบาตร หรือการลงโทษรูปแบบต่าง ๆ ที่เอาไว้ข่มขู่หรือจัดการกับผู้ที่ขัดขืนหรือไม่ให้ความร่วมมือ เพื่อให้มั่นใจว่าความยินยอมและความร่วมมือที่จำเป็นจะยังอยู่ และทำให้ระบอบยังคงอยู่และสามารถดำเนินนโยบายของตนได้ต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรทั้งหมดเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการให้ความยินยอมกับระบอบ  ความจำนนและยอมตามของประชากร และความร่วมมือจากประชาชนจำนวนคณานัปและสถาบันจำนวนมากในสังคม สิ่งเหล่านี้ทำให้อำนาจเผด็จการไม่ได้รับการการันตี

การให้ความร่วมมือ การยอมตาม และการสนับสนุนอย่างเต็มที่ จะเพิ่มทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการใช้อำนาจให้มีมากขึ้น และจึงนำไปสู่การเพิ่มพูนศักยภาพในการใช้อำนาจของรัฐบาล

ในอีกด้านหนึ่ง การลดคะแนนนิยมและถอนความร่วมมือของสถาบันที่มีให้แก่เผด็จการและผู้ก้าวร้าวต่าง ๆ จะช่วยลดและตัดการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรอำนาจซึ่งผู้ปกครองทุกคนจำเป็นต้องใช้ หากปราศจากทรัพยากรเหล่านี้ อำนาจของผู้ปกครองจะอ่อนแอลงและแหลกสลายไปในที่สุด 

โดยธรรมชาติแล้ว เผด็จการจะเปราะบางต่อการกระทำและความคิดที่เป็นภัยคุกคามต่อขีดความสามารถในการทำสิ่งที่เผด็จการต้องการ ดังนั้นเผด็จการจึงมีแนวโน้มที่จะคุกคามและลงโทษผู้คนที่ขัดขืน ประท้วงต่อต้าน หรือไม่ให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่จุดจบของเรื่องราว การกดขี่ปราบปรามหรือกระทั่งความโหดร้ายทารุณไม่ได้ดึงความยอมจำนนและความร่วมมือกลับมาเพื่อทำให้ระบอบทำงานได้เสมอไป

ถ้าต่อให้มีการปราบปราม แต่แหล่งอำนาจยังถูกจำกัดและตัดขาดไม่ให้เข้าถึงได้นานพอ ผลลัพธ์ในระยะแรกอาจเป็นความไม่แน่นอนและความสับสนภายในระบอบเผด็จการ สิ่งนี้มีแนวโน้มนำไปสู่การบั่นทอนอำนาจของเผด็จการให้อ่อนแอลงอย่างชัดเจนในเวลาต่อมา หากนานเข้า การตัดขาดการเข้าถึงแหล่งอำนาจสามารถจะทำให้ระบอบเป็นอัมพาต ไร้สมรรถภาพ หรือในกรณีร้ายแรงที่สุด อาจนำไปสู่การล่มสลายได้ อำนาจเผด็จการจะตาย ไม่ช้าก็เร็ว เนื่องจากความหิวโหยอดอยากอำนาจ

ด้วยเหตุนี้เอง ระดับเสรีภาพหรือความเป็นทรราชของรัฐบาลใดก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วจึงเป็นภาพสะท้อนเจตจำนงค์ของผู้ถูกปกครอง (subject) ที่ต้องการจะเป็นอิสระ และความสามารถในการต่อต้านความพยายามในการกดผู้ถูกปกครองดังกล่าวลงเป็นทาสในเชิงสัมพัทธ์

ตรงกันข้ามกับความเห็นของคนจำนวนมาก แม้แต่บรรดาเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ยังต้องพึ่งพาประชากรและสังคมที่ตนปกครอง ดังที่ Karl W. Deutsch นักรัฐศาสตร์ได้ระบุไว้เมื่อปี 1953 ว่า:

“อำนาจเบ็ดเสร็จแข็งแกร่งก็ต่อเมื่อมันมิได้ถูกใช้บ่อยเกินไป หากอำนาจเบ็ดเสร็จต้องถูกใช้กับประชากรทั้งหมดตลอดเวลา มีแนวโน้มว่ามันจะทรงพลังอยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จต้องใช้อำนาจเพื่อจัดการกับผู้อยู่ใต้ปกครองมากกว่ารัฐบาลรูปแบบอื่น ระบอบดังกล่าวจึงอยู่ในสถานะที่จำเป็นต้องอาศัยพฤติกรรมการเชื่อฟังที่พึ่งพาได้จากประชาชนอย่างกว้างขวาง แทนที่จะสามารถได้มาซึ่งการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากประชากรกลุ่มที่มีนัยยะสำคัญเป็นขั้นต่ำเมื่อถึงคราวจำเป็น”[2]   

John Austin นักทฤษฎีกฎหมายในศตวรรษที่ 19 ของอังกฤษ ได้อรรถาธิบายสถานการณ์ของเผด็จการเมื่อเผชิญหน้ากับประชาชนที่ถูกทำให้เสื่อมศรัทธาเอาไว้ Austin เสนอว่า ถ้าหากประชากรเกือบทั้งหมดมุ่งมาดในการทำลายรัฐบาลและมีเจตจำนงค์ในการทนทานต่อการปราบปรามเพื่อกระทำการดังกล่าว เมื่อนั้น ความแข็งแกร่งของรัฐบาล รวมไปถึงผู้สนับสนุนรัฐบาลดังกล่าว ย่อมไม่สามารถสงวนรักษารัฐบาลอันเป็นที่เกลียดชังให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ แม้ว่ามันจะได้รับการสนับสนุนต่างชาติก็ตาม Austin สรุปส่งท้ายว่า ประชาชนที่แข็งขืนไม่สามารถถูกบังคับให้กลับไปอยู่ในสภาวะการจำยอมหรืออยู่ภายใต้การปกครอง (subjection) ได้ตลอดไป[3]

Niccolo Machiavelli ได้เสนอไว้ก่อนหน้านั้นเป็นเวลานานแล้วว่า เจ้าผู้ปกครอง (the prince) “ผู้ซึ่งมีสาธารณชนทั้งหมดเป็นศัตรูไม่มีวันสามารถดำรงตนให้ปลอดภัยอยู่ได้ และยิ่งความโหดร้ายของเขามากขึ้นเท่าไหร่ ระบอบของเขานั้นไซร้จะยิ่งอ่อนแอลงเท่านั้น”[4]

การประยุกต์ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ในทางการเมืองและการปฏิบัติได้รับการสาธิตเป็นตัวอย่างแล้วโดยกลุ่มชาวนอร์เวย์ผู้ต่อต้านการรุกรานจากนาซี ดังที่อ้างถึงในบทที่ 1 และโดยกลุ่มชาวโปแลนด์ ชาวเยอรมัน ชาวเชก ชาวสโลวัก และคนสัญชาติอื่น ๆ อีกมากที่ต่อต้านการรุกรานและความเป็นเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ และช่วยส่งเสริมให้เกิดการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปได้ในท้ายที่สุด แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่: เหตุการณ์การต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรงย้อนกลับไปได้ถึง 494 ปีก่อนคริสตกาลเมื่อสามัญชน (plebeians) ถอดถอนความร่วมมือจากบรรดาชนชั้นนำชาวโรมัน[5] การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงถูกใช้โดยประชาชนในหลากหลายโอกาส ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย รวมไปถึงหมู่เกาะแปซิฟิก และทวีปยุโรป

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดสามประการที่เป็นตัวกำหนดระดับที่อำนาจของรัฐบาลจะถูกควบคุมหรือไม่ถูกควบคุมจึงได้แก่ (1) ความปรารถนาของประชากรในการดำเนินการจำกัดอำนาจของรัฐบาลในเชิงสัมพัทธ์ (2) ความแข็งแกร่งขององค์การและสถาบันอิสระของผู้อยู่ใต้ปกครองในเชิงสัมพัทธ์ในการร่วมกันถอดถอนแหล่งที่มาของอำนาจ และ (3) ความสามารถของประชากรในการปฏิเสธไม่มอบความยินยอมและการสนับสนุนในเชิงสัมพัทธ์          

ศูนย์กลางของอำนาจประชาธิปไตย

คุณสมบัติอย่างหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยคือการมีกลุ่มและสถาบันที่ไม่ใช่ของรัฐบาลจำนวนมากที่เป็นอิสระจากรัฐ สิ่งเหล่านี้ได้แก่ ตัวอย่างเช่น ครอบครัว องค์การศาสนา สมาคมทางวัฒนธรรม สโมสรกีฬา สถาบันทางเศรษฐกิจ สหภาพแรงงาน สมาคมนักศึกษา พรรคการเมือง หมู่บ้าน สมาคมเพื่อนบ้าน ชมรมคนทำสวน องค์การสิทธิ์มนุษยชน กลุ่มดนตรี ชุมชนวรรณกรรม และอื่น ๆ องค์การเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การเองและส่งเสริมช่วยเหลือในการบรรลุความต้องการที่จำเป็นของสังคมด้วย

ยิ่งกว่านั้น องค์การเหล่านี้ยังมีนัยยะสำคัญทางการเมืองอย่างยิ่งยวด พวกมันได้ให้ฐานกลุ่มและองค์การที่ซึ่งประชาชนจะสามารถสำแดงอิทธิพลต่อทิศทางของสังคมของตน และต่อต้านรัฐบาลหรือกลุ่มอื่น ๆ หากกลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าวถูกมองว่าส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ กิจกรรม และวัตถุประสงค์ของกลุ่มตนอย่างไม่เป็นธรรม ปัจเจกที่ถูกแยกให้อยู่โดดเดี่ยว และไม่ใช่สมาชิกของกลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าว โดยปกติแล้วจะไม่สามารถสร้างผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อภาคส่วนอื่นของสังคมได้ ยิ่งเป็นรัฐบาลแล้วยิ่งไม่สามารถทำได้ และแน่นอนว่าเผด็จการไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

ดังนั้น หากอำนาจอิสระ (autonomy) และเสรีภาพขององค์การต่าง ๆ ดังกล่าวสามารถถูกพรากไปได้โดยเผด็จการ ประชากรจะไม่สามารถดูแลตนเองได้ในเชิงสัมพัทธ์ และเช่นเดียวกัน หากสถาบันต่าง ๆ เหล่านี้โดยตัวมันเองสามารถถูกควบคุมโดยระบอบศูนย์กลางได้อย่างเป็นเผด็จการหรือถูกแทนที่ได้โดยสถาบันใหม่ที่ได้รับการควบคุมเสียแล้ว พวกมันจะสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อครอบงำทั้งสมาชิกแต่ละคนและอาณาบริเวณดังกล่าวของสังคมได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากอำนาจอิสระและเสรีภาพของสถาบันพลเมืองอิสระ (ที่อยู่นอกจากควบคุมของรัฐบาล) สามารถถูกรักษาหรือทวงคืนกลับมาได้ พวกมันจะสำคัญต่อการใช้การแข็งขืนทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง คุณลักษณะร่วมของบรรดาตัวอย่างต่าง ๆ ที่ถูกอ้าง ที่ซึ่งเผด็จการได้ถูกทำให้แตกสลายหรืออ่อนแอลงไปนั้น คือการใช้การแข็งขืนทางการเมืองในระดับมวลชนอย่างกล้าหาญโดยประชากรและสถาบันต่าง ๆ ของตน

ดังที่กล่าวไว้แล้ว ศูนย์กลางอำนาจเหล่านี้ได้ให้ฐานทางสถาบันที่ซึ่งประชากรจะสามารถสำแดงแรงกดดันหรือต่อต้านการควบคุมของเผด็จการได้ ในอนาคต พวกมันจะกลายเป็นฐานโครงสร้างที่ขาดไม่ได้ของสังคมที่เป็นเสรี ความเป็นอิสระและการเจริญเติบโตที่ถูกทำให้ดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องของพวกมันจึงมักเป็นเงี่อนไขความสำเร็จของการต่อสู้ปลดแอกที่ต้องมีให้ได้เสียก่อน

ถ้าหากเผด็จการประสบความสำเร็จในการทำลายหรือควบคุมองค์การอิสระของสังคมแล้วโดยส่วนใหญ่ จะนับว่าเป็นการสำคัญที่ผู้ต่อต้านต้องสร้างกลุ่มหรือสถาบันทางสังคมขึ้นใหม่ หรือสอดแทรกการควบคุมเข้ากลับไปในองค์การที่ยังเหลือรอดหรือถูกควบคุมเพียงบางส่วนอีกครั้ง ในช่วงการปฏิวัติฮังการีเมื่อ ค.ศ. 1956 – 1957 สภาประชาธิปไตยทางตรงปรากฏตัวขึ้นเป็นจำนวนมาก กระทั่งร่วมกันเพื่อก่อตั้งระบบสมาพันธ์ของสถาบันและโครงสร้างอำนาจการบริหารจัดการ (governance) ทั้งหมดเป็นเวลาหลายสัปดาห์  ในโปแลนด์ช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 บรรดาคนงานของได้รักษากลุ่มสหพันธ์รวมพลัง (Solidarity unions) ที่ผิดกฎหมายเอาไว้ และในบางกรณี ยังฉวยเอาการควบคุมสมาพันธ์การค้าของทางการ ที่ถูกครอบงำโดยคอมมิวนิสต์มาด้วย พัฒนาการทางสถาบันดังกล่าวสามารถส่งผลลัพธ์ทางการเมืองที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งได้

แน่นอนว่า ไม่มีสิ่งใดในนี้เลยที่บอกว่าการบั่นทอนหรือทำลายเผด็จการเป็นงานง่าย หรือบอกว่าความพยายามทุกครั้งจะประสบความสำเร็จ ไม่ได้หมายความแน่นอนว่าการต่อสู้จะปราศจากการตายและบาดเจ็บ เพราะสิ่งที่ยังรับใช้เผด็จการอยู่เหล่านั้นมีแนวโน้มว่าจะโจมตีตอบโต้เพื่อพยายามบังคับให้ประชากรดำเนินการให้ความร่วมมือหรือเชื่อฟังอยู่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความรู้ความเข้าใจข้างต้นหมายความแน่นอนว่าการบ่อนทำลายเผด็จการอย่างสุขุมรอบคอบเป็นสิ่งเป็นไปได้ เผด็จการมีคุณลักษณะเฉพาะที่ส่งผลให้พวกมันเปราะบางเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินการแข็งขืนทางการเมืองอย่างมีทักษะโดยเฉพาะ พวกเราโปรดพิจารณาคุณลักษณะเหล่านี้ในรายละเอียดต่อไป

 


[1] นิทานเรื่องนี้ แต่เดิมมีชื่อว่า “ปกครองโดยเล่ห์กล” มาจาก อูลีจือ เขียนโดย หลิวจือ (ค.ศ. 1311-1375) และถูกนำมาแปลโดย Sidney Tai ขอสงวนลิขสิทธิ์ไว้ด้วยประการทั้งปวง  อู่ลี่จือ เป็นนามปากกาของหลิวจือด้วย คำแปลได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกใน Nonviolent Sanctions: News from the Albert Einstein Institution (Cambridge, Mass), Vol. IV, No. 3 (Winter 1992-1993), p.3.  

[2] Karl W. Deutsch, “Cracks in the Monolith,” in Carl J. Friedrich, ed., Totalitarianism (Cambridge, Mass.: Harvard University Press, 1954), pp.313-314.

[3] John Austin, Lectures on Jurisprudence or the Philosophy of Positive Law (Fifth edition, revised and edited by Robert Campbell, 2 vol., London: John Murray, 1911 [1861]), Vol. I, p. 296.

[4] Niccolo Machiavelli, “The Discourses on the First Ten Books of Livy,” in The Discourses of Niccolo Machiavelli (London: Routledge and Kegan Paul, 1950), Vol. I, p.296.

[5] โปรดดู Gene Sharp, The Politics of Nonviolent Action (Boston: Porter Sargent, 1973), p.75 และตัวอย่างเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อื่น ๆ ที่ปรากฏบ่อยอยู่ในหนังสือ

 

รวมเว็บไซต์ข่าวเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของไทย

รวมเว็บไซต์ข่าวเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของไทย เอาไว้ประกอบการทำงานมอนิเตอร์ข่าวของตัวเอง และอาจเป็นประโยชน์กับคนในแวดวงหรือผู้ที่สนใจ

To do list เตรียมรับมือกับการถูกครูคุกคาม เมื่อตัดสินใจจะใส่ไปรเวท

แนวทาง 10 ขั้นตอนเพื่อรับมือการข่มขู่คุกคามจากครู เมื่อตัดสินใจจะใส่ไปรเวทเพื่อต่อสู้แบบอารยะขัดขืน

(แปล) ความซับซ้อนของอุตสาหกรรมการกุศล

(แปล) ความซับซ้อนของอุตสาหกรรมการกุศล

 

ปีเตอร์ บัฟเฟต เขียน

ธรรมชาติ กรีอักษร แปล