Skip to main content

 

บทนำ - จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย : กรอบมโนทัศน์เพื่อการปลดแอก

หนึ่งในความกังวลของข้าพเจ้าตลอดหลายปีมานี้ คือ ประชาชนจะทำลายและป้องกันไม่ให้เผด็จการเกิดขึ้นได้อย่างไร คำถามนี้ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมาส่วนหนึ่งเพราะความเชื่อว่ามนุษย์ไม่ควรถูกครอบงำและทำลายโดยระบอบดังกล่าว ความเชื่อเช่นนี้กล้าแข็งขึ้นผ่านการอ่านเรื่องราวว่าด้วยความสำคัญของเสรีภาพของมนุษย์ ธรรมชาติของระบอบเผด็จการ (จากงานวิเคราะห์เผด็จการเบ็ดเสร็จของอริสโตเติ้ล) และประวัติศาสตร์ของเผด็จการ (โดยเฉพาะระบอบนาซีและระบอบสตาลิน)

ปีแล้วปีเล่า ข้าพเจ้าได้มีโอกาสรู้จักผู้คนที่เคยใช้ชีวิตทนทุกข์ทรมานอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบนาซี รวมไปถึงบางคนที่รอดชีวิตมาจากค่ายกักกัน ที่ประเทศนอร์เวย์ ข้าพเจ้าได้พบปะกับคนที่ต่อต้านระบอบฟาสซิสม์และรอดชีวิตมาได้ รวมทั้งได้รับรู้เรื่องราวของคนที่เสียชีวิต ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับชาวยิวผู้ซึ่งหนีออกมาจากระบอบนาซี รวมไปถึงผู้คนที่ได้ช่วยเหลือชีวิตพวกเขาเอาไว้

ความรู้เกี่ยวกับความน่ากลัวของระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีอยู่ในหลายประเทศ ส่วนมากเป็นการรับรู้มาจากหนังสือ ไม่ได้รับรู้มาจากการติดต่อกับผู้ประสบเหตุการณ์โดยตรง ความน่ากลัวของระบอบเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าสลดใจยิ่งกว่าเรื่องราวอื่น ๆ เนื่องจากระบอบเผด็จการเหล่านี้ปกครองอย่างโหดร้าย ทั้งที่ทำในนามของการปลดปล่อยประชาชนจากการกดขี่และการขูดรีด

หลายทศวรรษหลังจากนั้น การพบปะกับผู้คนจากประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ เช่น ปานามา โปแลนด์ ชิลี ทิเบต และพม่า ทำให้ความจริงของระบอบเผด็จการทุกวันนี้ยิ่งปรากฏชัดเจนขึ้น จากเรื่องราวของชาวทิเบตผู้ต่อสู้กับภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์จีน เรื่องราวของชาวรัสเซียซึ่งโค่นล้มการรัฐประหารของพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่งลงได้เมื่อเดือนสิงหาคมปี 1991 และเรื่องราวของชาวไทยผู้ต่อต้านการกลับมาของระบอบเผด็จทหารด้วยสันติวิธี ข้าพเจ้ายิ่งมีมุมมองกังวลต่อธรรมชาติของระบอบเผด็จการที่แฝงเร้นไปด้วยความน่าสะพรึงกลัว

ความรู้สึกสลดใจและโกรธแค้นต่อความโหดเหี้ยม ซึ่งมาพร้อมกับความรู้สึกชื่นชมต่อความสุขุมและกล้าหาญของประชาชนผู้กล้าทั้งชายและหญิงนั้น บางครั้งเข้มข้นขึ้นเมื่อได้เข้าไปอยู่ในสถานที่ซึ่งภัยอันตรายยังคุกกรุ่น แต่การต่อต้านจากประชาชนกลับยังดำเนินต่อไป สถานที่เหล่านั้นได้แก่ประเทศปานามาขณะอยู่ภายใต้การปกครองของนอรีก้า กรุงวิลเนียสแห่งประเทศลิทัวเนียขณะอยู่ภายใต้การกดขี่ของโซเวียต จตุรัสเทียนอันเหมินแห่งกรุงปักกิ่งขณะที่การประท้วงยังคึกครื้นและรถบรรทุกพลทหารขบวนแรกเริ่มย่างกรายในคืนแห่งชะตากรรม และศูนย์บัญชาการฝ่ายประชาธิปไตยในป่าลึกที่มาเนอปลอว์ของ “พม่าที่ปลดแอกแล้ว”

บางครั้งข้าพเจ้าได้เข้าไปยังพื้นที่ซึ่งพ่ายแพ้ เช่น สถานีโทรทัศน์และสุสานของกรุงวีเนียส สวนสาธารณะในกรุงริก้าที่ซึ่งประชาชนถูกยิงเสียชีวิต ใจกลางของเมืองเฟอร์ราราในภาคเหนือของประเทศอิตาลี ที่ซึ่งพวกฟาสซิสม์ระดมยิงผู้ต่อต้าน และสุสานที่ดูเรียบง่ายแห่งหนึ่งในมาเนอปลอว์ที่เต็มไปด้วยร่างของผู้คนที่ตายก่อนวัยอันควรอยู่หลายขวบปี สิ่งเหล่านี้ทำให้ตระหนักถึงเรื่องน่าเศร้าว่าเผด็จการทุกที่ในโลกได้ทิ้งความตายไว้เบื้องหลังเมื่อมันจากไป และนำมาสู่การทำลายล้างเมื่อมันถือกำเนิดขึ้น

นอกเหนือจากความกังวลและประสบการณ์ดังกล่าว ข้าพเจ้ากลับมีความหวังอย่างแน่วแน่ว่าการป้องกันทรราชเป็นสิ่งเป็นไปได้ การต่อต้านเผด็จการที่ประสบผลสำเร็จสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีคนจำนวนมากล้มตายจากการฆ่ากัน เผด็จการสามารถถูกทำลายลงได้โดยไม่มีเผด็จการใดเกิดขึ้นมาใหม่อีกจากเถ้าถ่าน

ข้าพเจ้าได้พยายามใคร่ครวญคิดถึงวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่จะทำให้ระบอบเผด็จการล่มสลายลงไปโดยให้เกิดความทุกข์ทรมานและความเสียหายต่อชีวิตน้อยที่สุด เพื่อการนี้ ข้าพเจ้าจึงใช้เวลานับแรมปีไปกับการศึกษาเผด็จการ กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้าน การปฏิวัติ ความคิดทางการเมือง ระบบของรัฐบาล และเน้นไปที่การศึกษาการต่อสู้โดยสันติวิธีเป็นพิเศษ

งานพิมพ์ชิ้นนี้เป็นผลจากการศึกษาดังกล่าว ข้าพเจ้ารู้ดีว่างานชิ้นนี้ยังคงห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ แต่ไม่แน่ว่า งานชิ้นนี้อาจนำเสนอแนวทางซึ่งช่วยให้การคิดและการวางแผนเพื่อสร้างขบวนการเคลื่อนไหวปลดแอกมีพลังและประสิทธิภาพมากขึ้นได้ แทนที่แนวโน้มจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม

เนื่องด้วยความจำเป็นและเจตนาของข้าพเจ้า ความสนใจของงานชิ้นนี้อยู่ที่ปัญหาทั่วไปว่าด้วยวิธีในการทำลายเผด็จการและป้องกันไม่ให้เผด็จการเกิดขึ้นมาใหม่อีก ข้าพเจ้าไม่มีความสามารถพอที่จะวิเคราะห์ลงในรายละเอียดหรือให้แนวทางแก่ประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะได้ อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าหวังว่าการวิเคราะห์โดยทั่วไปนี้อาจเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้โชคร้ายในหลายประเทศ ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของระบอบเผด็จการ ประชาชนเหล่านี้จำเป็นต้องพิจารณาความถูกต้องของงานวิเคราะห์ชิ้นนี้อีกครั้งเมื่อนำไปใช้กับสถานการณ์ในประเทศของตน และต้องดูด้วยว่าคำแนะนำหลัก ๆ ของงานชิ้นนี้จะสามารถนำไปใช้ หรือนำไปปรับปรุงให้เหมาะสมกับการต่อสู้เพื่อปลดแอกของตนได้มากน้อยเพียงใด

ไม่มีส่วนใดของงานชิ้นนี้ที่บอกว่าการขัดขืนเผด็จการเป็นงานง่ายหรือไม่มีราคาต้องจ่าย การต่อสู้ทุกรูปแบบล้วนแต่มีความซับซ้อนและต้นทุนที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น แน่นอนว่าการต่อสู้กับเผด็จการจะทำให้เกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าหวังว่างานชิ้นนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้แกนนำของกลุ่มต่อต้านเริ่มพิจารณาถึงกลยุทธ์ที่อาจเพิ่มอำนาจของกลุ่มตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถลดระดับความสูญเสียโดยรวมให้น้อยลงได้พร้อม ๆ กัน

งานเขียนชิ้นนี้ไม่ควรได้รับการตีความเช่นกันว่า ถ้าเผด็จการสิ้นสุดลงแล้ว ปัญหาอื่น ๆ จะหมดไป การสิ้นสุดของระบอบใดระบอบหนึ่งไม่ได้นำไปสู่ประเทศในอุดมคติ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น การสิ้นสุดของระบอบดังกล่าวจะเปิดทางให้แก่การทำงานอย่างหนักและความพยายามที่ต้องอาศัยเวลา เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น และทำให้ความอยุติธรรมและการกดขี่รูปแบบอื่น ๆ หมดไปอย่างสมบูรณ์ในที่สุด ข้าพเจ้ามีความหวังว่างานวิเคราะห์ที่รวบรัดว่าด้วยวิธีการโค่นล้มเผด็จการชิ้นนี้จะสามารถเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในทุก ๆ ที่ซึ่งยังอยู่ภายใต้การครอบงำ แต่ปรารถนาที่จะเป็นอิสระ

ยีน ชาร์ป

6 ตุลาคม 2536

มูลนิธิอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ บอสตัน แมสซาชูเซ็ต

บล็อกของ Thammachart Kri-aksorn

Thammachart Kri-aksorn
หมายเหตุผู้เขียนวันที่ 7 เมษายน ผมได้โพสต์ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับการอดอาหารประท้วงของเพนกวิน รุ้ง และฟ้าลงบนเฟสบุ๊ค และได้รับความสนใจกว่าโพสต์ปกติทั่วไปของผม พี่กุ้ย ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของประชาไทอยากให้ผมนำโพสต์ดังกล่าวมาเผยแพร่บนบล๊อกกาซี
Thammachart Kri-aksorn
รวมเว็บไซต์ข่าวเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของไทย เอาไว้ประกอบการทำงานมอนิเตอร์ข่าวของตัวเอง และอาจเป็นประโยชน์กับคนในแวดวงหรือผู้ที่สนใจ
Thammachart Kri-aksorn
แนวทาง 10 ขั้นตอนเพื่อรับมือการข่มขู่คุกคามจากครู เมื่อตัดสินใจจะใส่ไปรเวทเพื่อต่อสู้แบบอารยะขัดขืน
Thammachart Kri-aksorn
ซาอิด จีลานี เขียนลงวารสาร Jacobin วันที่ 8 มกราคม​ 2562 แปลโดย ธรรมชาติ​ กรีอักษร​อลิซาเบธ วอร์เรน​ใช่ว่าจะเป็นนักการเมืองสายกลาง​ แต่​เบอร์​นีย์​จะ​เ
Thammachart Kri-aksorn
(แปล) ความซับซ้อนของอุตสาหกรรมการกุศล ปีเตอร์ บัฟเฟต เขียนธรรมชาติ กรีอักษร แปล 
Thammachart Kri-aksorn
(แปล) คิดใหม่เกี่ยวกับปฏิบัติการสันติวิธีในยุคประชานิยมปีกขวาจันจิรา สมบัติพูนศิริ เขียนธรรมชาติ กรีอักษร แปล
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 4 เผด็จการมีจุดอ่อนภาคิน นิมมานนรวงศ์ แปล
Thammachart Kri-aksorn
บทที่ 3 เมื่อใดจึงมีอำนาจ ?
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 2 อันตรายของการเจรจา
Thammachart Kri-aksorn
 บทที่ 1 เผชิญหน้ากับเผด็จการอย่างเป็นจริง
Thammachart Kri-aksorn
 บทนำ - จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย : กรอบมโนทัศน์เพื่อการปลดแอก