Skip to main content

โดยบังเอิญ ผมไปถึงกัมพูชาในวันแรม 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พอดี

แต่ไม่ว่าจะเกิดเหตุนี้ขึ้นหรือไม่ ผมก็เห็นปราสาทหินในกัมพูชาเป็นโลกเพ้อฝัน ความงามของปราสาทอยู่คนละภพภูมิกันกับผู้คนที่รองฐานปราสาทอยู่ มองอย่างนี้มานานก่อนที่จะมีโอกาสได้มาเยือน และยิ่งได้มาเยือนแล้วก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อเดิมยิ่งขึ้นไปอีก

ความโดดเด่นแตกต่างของปราสาทแต่ละหลัง ดูจะสะท้อนความแก่งแย่งชิงดีกันของกษัตริย์แต่ละยุคสมัย เหมือนกษัตริย์แต่ละพระองค์ต่างก็ต้องการสร้างอาณาจักรของตนเอง ทั้งที่แต่ละพระองค์ครอบครองและสืบทอดอำนาจได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ 

พื้นที่แหว่งวิ่นไม่สืบเนื่องกันของประเทศกัมพูชา และพื้นที่รายรอบที่กินเข้ามาถึงลาว ไทย และส่วนใต้ของเวียดนาม เป็นเวทีของการประชันขันแข่งกันบนหยาดเหงื่อแรงงานของผู้คน กษัตริย์พระองค์หนึ่งสร้างปราสาทเพื่อบูชาลัทธิของตนเอง เมื่อเปลี่ยนมาอีกพระองค์หนึ่ง ก็ทุบทำลายปราสาทก่อนเก่า แล้วสร้างปราสาทบูชาลัทธิธรรมเนียมของตนเองขึ้นใหม่

ในปัจจุบัน แม้ชาวกัมพูชาจะสามารถเข้าเยี่ยมชมปราสาทเหล่านี้ได้ แต่ไม่ว่าชาวกัมพูชาจะรับรู้ถึงความงามและประวัติศาสตร์ของปราสาทเหล่านี้จากแง่มุมใด ก็ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกนานเท่าใดที่ความยิ่งใหญ่ตระการตาของปราสาทจึงจะช่วยให้ชาวกัมพูชาเงยหน้าอ้าปากขึ้นมาได้ 

แน่นอนว่าเราไม่ควรลดทอนคุณค่าทางศิลปะและความสามารถในการบริหารจัดการงานอนุรักษ์ ด้วยความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ยังคงอยู่ เพราะไม่เช่นนั้นเราอาจต้องคิดว่าในประเทศที่บริหารงานอนุรักษ์อย่างย่ำแย่อย่างตอแหลแลนด์ ก็น่าจะมีสังคมที่ลดความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่า 

แต่อุตสาหกรรมการเดินย่ำปราสาท ที่น่าจะนำรายได้เป็นอันดับต้นๆ ให้กับกัมพูชา ก็ยังดูห่างไกลจากการเป็นแหล่งรายได้ที่กระจายลงไปสู่ประชาชนทั่วไป

ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ดูเหมือนวันนี้ กัมพูชาก็คงมีเพียงปราสาทหินเหล่านี้นี่แหละ ที่พอจะช่วยจะกอบกู้ชีวิตผู้คนหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการรอดพ้นอย่างพิกลพิการจากกับระเบิดที่ไม่มีวันกู้หมดได้ เรื่องราวของคนเหล่านั้นยังพัวพันใกล้ชิดกับชาวกัมพูชาสามัญ แต่นักท่องปราสาทสักกี่คนกันที่จะอยากฟังเรื่องน่าสะอิดสะเอียนสยอง "กบาล" (ภาษาขแมร์) เหล่านี้

ในชนบทที่ห่างออกไปจากตัวเมืองเสียมเรียบไม่เกิน 20 กิโลเมตร เรายังสามารถเห็นเกวียนเทียมวัวควายล้อไม้ ครกกระเดื่องตำข้าว พร้อมใช้งานอยู่ใต้ถุนเรือนไม้จริง ไม้ไผ่ มุงกระเบื้องบ้างมุงจากบ้าง ขนาดกระทัดรัดวางบนเสาสูงชลูด เรือนเหล่านี้ปลูกสลับท้องนาและบึงน้ำ กอตาล ป่าหมาก ต้นมะพร้าว และวัวควาย ยังคงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกกินถูกใช้อยู่ทั่วไป ก็มีบ้างเช่นกันที่จะเห็นเรือนที่ดูดีมีฐานะหลังใหม่ๆ 

จักรยานถีบและรถจักรยานยนต์ยังคงครองท้องถนนที่อยู่นอกพื้นที่การท่องเที่ยว รถยนต์และน้ำมันเติมรถยังราคาแพง พาหนะสาธารณะในเมืองเสียมเรียบขนาดกระทัดรัดดูเหมือนจะมีเพียงรถจักรยานยนต์พ่วงที่นั่งเก๋ง แลดูคล้ายรถสกายแล็ปในลาวหรือหนองคาย แต่มีการตกแต่งในแบบเฉพาะของที่นี่เอง ด้วยลูกกรงไม้กลึง แลดูคล้ายที่นั่งบนหลังช้าง 

ชาวกัมพูขาเล่าว่า ด้วยน้ำมันราคาลิตรละกว่า 50 บาท และราคารถยนต์ที่แพงกว่าเมืองไทยอีก 30% สามัญชนกัมพูชาที่ไหนจะสามารถมีรถใช้อย่างดาดดื่นได้ ขณะที่รถโดยสารสาธารณะระหว่างเมืองก็ยังไม่เป็นระบบนัก

แต่หากจะขอใช้คำพูดแบบดาดๆ แล้ว ผู้คนก็ยังต้องปากกัดตีนถีบต่อไป ชีวิตในตลาดสด (ที่ได้รับการเจียดเวลาให้ 20 นาที เพราะนี่เป็นทริปชมปราสาท ไม่ใช่ทริปเที่ยวตลาด หุหุ) เป็นโลกแทบจะคนละใบกับชีวิตในปราสาทหิน 

กลิ่นปลาร้าหมัก ดินเฉอะแฉะ เลือดปลาสดๆ สาดกระเด็นไปทั่ว หัว-ไส้-หู-ตับ-ไต-ตาหมู วัวบนโต๊ะบุอลูมิเนียม เด็กนอนเดียวดาย คนขายผักที่เคยไปใช้ชีวิตขายแรงงานในเมืองไทย อาหารคุ้นตาคุ้นกลิ่น แต่ไม่มีเวลาพอได้ชิมรส ไก่บ้านเป็ดบ้านตัวแกร็นๆ...

นี่คือข้อสังเกตอีกด้านในวันข้างขึ้นไม่กี่ค่ำของเมืองปราสาทหิน ในช่วงเวลาที่แสงเดือนเสี้ยวส่องสว่างให้เห็นได้เพียงเงาสลัวของเรือนร่างอวบอัดและรอยยิ้มพิมพ์ใจของนางอัปสร

 
 

 

 
 
 
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)