ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ที่ได้ไปก็เนื่องจากเพื่อนคนหนึ่งสนใจงานช่างมาก โดยเฉพาะงานช่างไม้ของญี่ปุ่น เพื่อนคนนี้เคยฝากซื้อเลื่อยจากญี่ปุ่นครั้งหนึ่ง ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจว่าเลื่อยญี่ปุ่นมีอะไรพิเศษนักหนา แล้วอีกครั้งก็มีคนฝากซื้อหินลับมีดจากญี่ปุ่น ก็สงสัยว่าทำไมถึงต้องเจาะจงอยากได้ของพวกนี้จากญี่ปุ่นกันนัก สุดท้ายก็ไม่ได้ซื้อกลับไปเพราะลือกไม่เป็น
พอรู้ว่ามีพิพิธภัณฑ์แบบนี้ด้วย ก็เลยต้องติดสอยห้อตามเขามา ยิ่งมีนักวิชาการญี่ปุ่นเองช่วยนัดภัณฑารักษณ์ให้ ยิ่งดีใหญ่ เพราะนอกจากจะทำให้เข้าชมฟรีแล้ว (แต่ที่จริงค่าเข้าชมก็ไม่เท่าไหร่ แค่ 500 เยน ถือว่าคุ้มค่ามาก) ภัณฑารักษ์ยังอธิบายด้วยภาษาอังกฤษอย่างดี กระชับ เน้นข้อมูลสำคัญ แนะนำได้ครบถ้วน แล้วปล่อยให้เราศึกษาเพิ่มเติมเอง แถมบอกว่าหากมีคำถามเพิ่มเติมก็ถามได้ แต่แค่เท่าที่เขาช่วยพาชมนั่นก็เกินหนึ่งชั่วโมงแล้ว
ผมชอบหลายอย่างของที่นี่ ที่น่าทึ่งคือ เขาทำให้เราเข้าใจความเฉพาะเจาะจงของงานช่างไม้ญี่ปุ่นได้ดีจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแยกความแตกต่างระหว่างงานช่างไม้ญี่ปุ่นกับงานช่างไม้จีน มีสองสามประเด็น
เช่นว่า การที่เครื่องหลังคาของญี่ปุ่น โดยพื้นฐานก็เหมือนของจีนนั่นแหละ แต่เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีฝนมากกว่า กันสาดของหลังคาจึงยื่นออกมามากกว่า ทำให้โครงสร้างบางอย่างต้องแตกต่างกันไปด้วย
เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์นี้นำเสนอคือคำถามที่ว่า ชาวญี่ปุ่นเลื่อยไม้จากต้นไม้ใหญ่ให้เป็นแผ่นกระดานอย่างไร สำหรับช่างจีน จะใช้เลื่อยที่ใบเลื่อยเป็นปื้นแคบๆ ยาวๆ เข้ากรอบไม้ที่มีแกนกลาง มีไม้เป็นมือจับสองข้าง ซึ่งเป็นแบบที่เห็นได้ทั่วไปในประเทศไทยเช่นกัน
แต่ญี่ปุ่นไม่ใช้วิธีนั้น เขาจะใช้ลิ่มเหล็กหรือลิ่มไม้ ตอกลงไปในลำต้นทีละตอนๆ ตามแนวที่ขีดไว้ ให้แยกจากกันทีละแผ่น แล้วจึงค่อยมาใช้มีดพิเศษชนิดหนึ่งรูปร่างคล้ายเคียวแต่ไม่โง้งยาวเท่า ค่อยๆ เหลาเข้าตัว ให้หน้ากระดานเรียบขึ้นๆ จนเนียน แต่เราก็ยังสัมผัสได้ถึงร่องรอยของใบมีดนั้น หรือถ้าจะให้เรียบจริงๆ เขาจะใช้กบที่ใบมีดละเอียดไสจนเรียบเนียนกริบเราวผ้าไหม
เครื่องมืออีกชนิดที่ญี่ปุ่นใช้เลื่อยแผ่นกระดานคือ เลื่อยรูปร่างประหาด ที่ใบเลื่อยมีขนาดกว้างใหญ่เหมือนมีดปังตอ เพียงแต่ด้านคมเป็นฟันเลื่อย อย่างในรูปที่ถ่ายจากโบรชัวของพิพิธภัณฑ์ (ที่นี่ไม่ให้ถ่ายรูปสิ่งของและการจัดแสดงในท่จัดแสดง) เขาจะพาดลำต้นไม้ให้สูงขึ้นด้านหนึ่ง แล้วเหมือนนั่งเลื่อยจากด้านล่าง ท่าทางและการจัดการขี้เลื่อยคงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไปอีกอย่างหนึ่ง (ผมอาจจะจำผิด ต้องตรวจสอบดูอีกทีหนึ่ง)
นอกจากนั้น การจัดแสดงยังพยายามเทียบงานไม้ญี่ปุ่นกับงานไม้ที่ต่างๆ ทั่วโลก เขามีความสัมพันธ์กับพิพิธภัณฑ์ช่างไม้ในยุโรบหลายแห่ง จึงแลกเปลี่ยนข้อมูลและสื่อนำเสนอกันได้ ทำให้สามารถเปรียบเทียบวิธีการเลื่อยไม้ การทำงานไม้ได้พอสมควร
นอกจากการจัดแสดง ของที่เขาสะสม การเล่าเรื่องราวต่างๆ แล้ว การออกแบบตกแต่งอาคารก็สมกับเป็นผลงานของช่างไม้มืออาชีพ เขาใส่ใจไม่เพียงแต่พื้นผิว ที่ว่าง สีสัน วัสดุ แต่ยังสร้างกลิ่นไม้ด้วยการฉีดน้ำหอมกลิ่นไม้ให้ได้รู้สึกกันตั้งแต่เข้าชมเลยทีเดียว น้ำหอมนี้มีขายด้วย หากใครคิดว่าอยากอยู่ในห้องที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโรงไม้ตลอดเวลาก็น่าจะซื้อมาฉีดดมดู ผมคนหนึ่งละที่ไม่เอาด้วย
แถมขณะนี้มีงานแสดงงานไม้ของศิลปินแห่งชาติ พร้อมทั้งผลงานของพ่อและปู่ของเขา จัดแสดงอยู่ นอกจากนั้นยังแสดงความละเอียดอ่อนของการเลือกวัสดุ ที่ภัณฑารักษ์เล่าว่า ขณะนี้ไม้ดีๆ ที่ได้อายุหาไม่ได้ในญี่ปุ่นอีกแล้ว ศิลปินจึงต้องไปหาไม้จากต่างประเทศมาแทน รวมทั้งการเปิดให้เห็นวิธีการเชื่อมต่อไม้ และให้ชมเครื่องมือต่างๆ ของช่างศิลปินแห่งชาติ เขาไม่ได้ให้ชมเครื่องมือของช่างเอง เพราะเขายังใช้งานอยู่ แต่ให้ชมของพ่อช่างเอง
ถ้ายังไม่จุใจ พิพิธภัณฑ์นี้ยังมีห้องสมุดให้ค้นคว้า ทั้งข้อมูลเอกสารและข้อมูลวีดีโอ มีห้อง work shop ให้เรียนทำงานไม้แล้วเอาผลงานตนเองกลับบ้านได้เลย
เมื่อชมจบ ก็มีคำถามคาใจมากมายเกี่ยวกับท้องถิ่นของงานช่าง และความแตกต่างระหว่างช่างพื้นบ้าน ที่เขาก็แสดงไว้ส่วนหนึ่ง กับช่างในวัดและในวัง รวมทั้งพัฒนาการของงานสถาปัตยกรรมต่างๆ แต่แค่นี้แม้ยังไม่ได้ถาม พิพิธภัณฑ์นี้ก็ทำหน้าที่มันได้อย่างดีแล้ว
ถ้าจะถามกลับมาที่ประเทศไทยบ้าง เราคงเดาได้ไม่ยากว่าหากมีพิพิธภัณฑ์ประเภทนี้ในบ้านเราบ้าง "เพดาน" ของความคิดมันจะอยู่ตรงไหน ใครบ้างที่จะถูกเรียกว่าช่างไม้ แล้วเราจะได้เข้าใจงานช่างไม้สามัญมากกว่าช่างใครคนใดที่ถูกยกย่องกันจนพิเศษเกินไปหรือไม่