Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร



เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนนอกแวดวงวิชาการคนหนึ่งถามผมว่า "วิชามานุษยวิทยาทำอะไร" ผมตอบว่า "มานุษยวิทยาต้องการเข้าใจชาวบ้าน ชาวเมือง ไม่ว่าชาวอะไรก็อยากเข้าใจทั้งนั้นแหละ" เขาถามต่อว่า "จริงๆ แล้วนักมานุษยวิทยาทำอะไร มีจุดยืนต่อสังคมอย่างไร" 

ผมตอบ "นักมานุษยวิทยาแต่ละคนมีจุดยืนแตกต่างกันไป แต่สำหรับผม มานุษยวิทยาต้องนำมุมมองจากคนสามัญ มาวิจารณ์มุมมองของผู้มีอำนาจ"


เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-22 กันยายน 2555) ผมมีโอกาสได้ทบทวนบทสนทนาข้างต้นอีกครั้ง ในงานสัมมนาทางวิชาการทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานนี้รวบรวมนักวิชาการด้านนี้และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องมาอย่างคับคั่ง ทั้งผู้นำเสนอและผู้ฟังล้วนเป็นมิตรสหาย ศิษย์ ครู ของกันและกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน บรรยากาศของมิตรภาพและการถกเถียงทางวิชาการนี้มีขึ้นได้ยาก หากไม่ใช่ด้วยความเคารพรักที่วงการนี้มีต่ออาจารย์อานันท์ กาญจนพันธ์

นักวิชาการหลายท่านเสนอความคิดที่เป็นบทสนทนาสืบเนื่องหรือกระทั่งเกินเลยไปจากผลงานของอาจารย์อานันท์ (ซึ่งปล่อยงานออกมาอีกถึง 4 เล่มใหญ่) ประเด็นที่ขยายความรู้ผมมีมากมาย ที่สะดุดใจและบันทึกไว้ทันได้แก่

- สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสำนักเชียงใหม่เสนอเป็น "ทฤษฎีที่เอาใจใส่ต่อสังคม"

- สำนักเชียงใหม่เป็นญาติกับสำนักท่าพระจันทร์ งานที่ท่าพระจันทร์อ้างเชียงใหม่ มักเป็นงานด้านการต่อสู้ทางสังคม ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

- ภาษามานุษยวิทยาถูกใช้กันทั่วไปตามบ้านร้านตลาด

- ศาสตร์ทางสังคมและมนุษยศาสตร์ล้วนส่องทางแก่กัน เชื่อมโยงกัน บางทีเราน่าจะเลิกล้มพรมแดนของสาขาวิชากันเสียที

- ความรู้ทางสังคมศาสตร์ควรเรียนรู้จากมนุษยศาสตร์ ด้วยจินตนาการ จินตนาการไม่หมดจด ไม่สมบูรณ์ จึงเปิดให้กับการสร้างเสริมเติมต่อขยายความไปได้ไม่รู้จบ ไม่ตายตัว

- ความเข้าใจของคนในสังคม (เช่น การทักทายของชาวเมารี) เป็นการให้ความหมายต่อข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ (การแลบลิ้น) นักมานุษยวิทยาทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ (การทักทายสร้างและสืบทอดความสัมพันธ์ของคนในสังคม) แต่ความจริงที่นักมานุษยวิทยาไม่ได้ค้นหา คือความจริงทางศาสนธรรม

- ผู้หญิง (ทั้งผีและคน) เป็นพื้นฐานวัฒนธรรมอุษาคเนย์

- อำนาจผีเป็นอำนาจที่นักมานุษยวิทยากลัว ไม่กล้าเข้าร่วม มันเบ็ดเสร็จ ต่อรองแทบไม่ได้ ได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบทัดทาน

- นักมานุษยวิทยาอาจสำรวจจิตทั้งในระดับอัตวิสัย (รู้ได้อยู่คนเดียว) และภววิสัย (เข้าใจกันได้ทั่วไป ไม่เฉพาะตนคนเดียว)

- นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาไทยจำนวนมากถูกนักวิชาการอเมริกันใช้เป็นผู้ช่วยศึกษาสังคมไทยเพื่อต่อต้านขบวนการคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเวียดนาม
- ส่วนหนึ่งของแนวคิด "ป่าชุมชน" มาจากความรู้เรื่องมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อม ที่นำเข้ามาจากมหาวิทยาลัยฮาวายอิ
- ความรู้ของนักคิดไทยจำนวนหนึ่ง สร้างความเข้าใจสังคมไทยแก่นักวิชาการตะวันตก

- ภาพถ่ายของนักมานุษยวิทยา สามารถสร้างตัวตนของนักมานุษยวิทยาขึ้นมาได้ เครื่องมือ วัตถุ เทคโนโลยี สร้างการรับรู้ถึงการมีอยู่ของนักมานุษยวิทยาในพื้นที่

- ภาพถ่ายเป็นความสัมพันธ์ทางสังคม นอกเหนือจากปัญหาเรื่องการนำเสนอและไม่นำเสนอความจริงของภาพถ่ายแล้ว ภาพถ่ายเกิดมาจากและสามารถก่อให้เกิดสังคม

ส่วนผมเอง ทิ้งคำถามให้กับวงวิชาการนี้ไว้ว่า 

- งานที่ศึกษาสังคมไทยโดยฝรั่งมีเพียงน้อยนิดที่มีพลังสร้างความรู้ใหม่ให้กับสังคมศาสตร์โลก แต่ถึงกระนั้น งานของนักวิชาการไทยที่มุ่งศึกษาเฉพาะสังคมไทย มีส่วนในการผลิตความรู้ให้สังคมศาสตร์โลกแค่ไหน มีใครบ้างที่ผลิตความรู้ในระดับที่นักวิชาการนำไปใช้ศึกษาพื้นที่อื่นๆ นอกสังคมไทย

- ในความสัมพันธ์ทางการผลิตเชิงวิชาการระดับโลก ผมสงสัยว่านักวิชาการไทยเป็นเพียงชนพื้นเมืองผู้ป้อนข้อมูลให้นักวิชาการในประเทศศูนย์กลางความรู้ (อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย) หรือจะมีส่วนในการร่วมสร้างความรู้ เป็นผู้ผลิตความรู้เองแค่ไหน

- นักวิชาการไทยมักถามและถูกถามว่า จะนำความรู้ ทฤษฎีต่างๆ มาเข้าใจสังคมไทยได้อย่างไร แต่เคยถามไหมว่า ความเข้าใจสังคมไทยแบบไหนที่เคยถูกนำไปใช้เข้าใจสังคมอื่นๆ ในโลกนี้ได้ และจะทำอย่างไรให้ความเข้าใจสังคมไทย สามารถนำไปใช้ได้กับสังคมอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อความเข้าใจมนุษยชาติมากขึ้นจากความเข้าใจสังคมไทย

- ตัวตนทางวิชาการของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยก้าวไปทางไหน และกำลังจะเคลื่อนไปทางไหน เมื่อเทียบกับตัวตนทางวิชาการด้านนี้ในประเทศเพื่อนบ้าน

ไม่เป็นการเยินยอกันเกินไปนักเลยหากจะกล่าวว่า สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสำนักเชียงใหม่สร้างคุณูปการให้เกิดการเข้าใจสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ความรู้ของสำนักเชียงใหม่เป็นความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีขึ้น 

ที่ผ่านมา สำนักเชียงใหม่มีส่วนในการสร้างบทสนทนากับแวดวงวิชาการโลก ในก้าวถัดไป ไม่เฉพาะสังคมไทย แต่ภูมิภาคอาเซียนและสังคมโลกกำลังรอดูว่า สำนักเชียงใหม่จะนำเสนอความรู้และทิศทางในการพัฒนาสังคมอย่างไรต่อไป

(ขอบคุณเพื่อนๆ นักศึกษา และครูบาอาจารย์แห่งภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จัดงานสัมมนาให้เพื่อนนักวิชการได้แลกเปลี่ยนความรู้)

 
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม