Skip to main content

วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผมไม่ใช่ว่าผมไม่มีแม่หรอก ไม่ใช่ว่าแม่ผมไม่ดีหรอก ไม่ใช่ว่าผมโตมาโดยไม่ได้ถูกเลี้ยงโดยแม่หรอก ผมมีพ่อมีแม่และโตมากับครอบครัวที่พ่อ-แม่-ลูกอยู่ด้วยกันมาตลอดนี่แหละ แต่แม่ในอุดมคติน่ะดูดีเกินกว่าที่ลูกอย่างผมและอาจจะลูกอีกหลายๆ คนเห็นเป็นความขาดแคลนของตนเอง แต่ที่จริงแม่ในอุดมคติอาจเป็นความฟุ่มเฟือยของชีวิตจริงก็ได้

แน่นอนไม่มีใครรู้ว่าตอนยังแบเบาะเคยกินนมแม่ตัวเองหรือเปล่า แต่แม่ผมไม่ได้ให้นมลูกแน่นอน เพราะผมจำได้ว่าน้องชายผมที่อายุน้อยกว่าผม 4 ปี ไม่ได้กินนมแม่อย่างแน่นอน ยิ่งกว่านั้น แม่ผมยืนยันว่าไม่ได้ให้ลูกกินนมตัวเอง เธออธิบายว่า “แม่มีนมไม่พอ” จะจริงไม่จริงอย่างไรก็ตาม ผมจึงรู้สึกถึงความเป็นลูกต่ำมาตรฐานที่ไม่ได้กินนมแม่มาตลอด

ชีวิตคนปัจจุบันมีมากมายที่แม่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา ยิ่งในสังคมครอบครัวขยาย คนทั้งก่อนและก้ำกึ่งกับยุคสมัยใหม่ย่อมรู้ดีว่า ครอบครัวแบบ "พ่อ-แม่-ลูก" น่ะ มันแสนจะเป็นความโรแมนติก (แปลว่า เป็นความฝันหวานแหวว) ของคนชั้นกลางในเมือง

แม่ผมโตขึ้นมาในสังคมกลางเก่ากลางใหม่ ยายผมเล่าว่าเธอเคยนั่งเรือจากบ้านแพน อยุธยา มาท่าเตียนเพื่อไปเที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญที่ถนนราชดำเนิน ฉะนั้น จะว่ายายผมและแม่ผมอยู่ในยุคเก่าก็ไม่ถูกนัก แต่แม่ผมทั้งปฏิเสธความเป็นยุคเก่าของแม่เธอ (ยายผม) และก็ยังสานต่อความเป็นยุคเก่าคือภาวะครอบครัวขยาย

แม่ผมโตขึ้นมาในช่วงที่สามียาย คือตาผมซึ่งผมไม่เคยเจอ เสียชีวิตไปแล้วทิ้งลูก 7 คนไว้กับภรรยาเขาคือยายผม ลูกคนเล็กเด็กแฝดสองคนเสียชีวิตไปหนึ่ง (ที่จริงเขามีอีกคนที่เป็นแฝดและเสียชีวิตไปก่อนหน้าหนึ่งคน) เด็กทั้ง 6 คนโตขึ้นมาไม่ใช่ด้วยมือยายผมคนเดียว ยายผมฝากลูกไปอยู่กับญาติๆ สามคนรวมทั้งแม่ผมเคยไปอยู่วัดกับ "หลวงตา" คือพี่ชายตาผมที่บวชเป็นพระตั้งแต่เด็ก

การเป็นเด็กวัดของแม่ผมไม่น่าจะลำบากนักหรอก เพราะหลวงตาผมเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยที่ลำพูน เรื่องราวหลวงตาผมน่าสนใจไปอีกแบบ เอาไว้หาโอกาสอื่นเล่า แต่เรื่องชีวิตแม่ผมคือ เธอเป็นเด็กวัดระดับหลานเจ้าคุณ จึงน่าจะมีชีวิตสะดวกสบายทีเดียว หลังจากนั้นเธอก็ย้ายไปอยู่กับญาติห่างๆ อีกคนที่กรุงเทพฯ แล้วพบกับพ่อผมที่มาเป็นเด็กวัดที่วัดราชา แต่เขาอยู่คนละฐานะกับแม่ผมที่ลำพูนแน่นอน

ถ้าใช้มาตรฐานเพลงค่าน้ำนมและจินตกรรมแม่ที่สร้างกันขึ้นมาทุกวันนี้ ครอบครัวแม่ผมล้มเหลวแน่นอน แต่เพราะเธอไม่ได้โตมากับการโหมประโคมโฆษณาความเป็นแม่แบบเดียวอย่างทุกวันนี้ อย่างที่รุ่นผมถูกกรอกใส่หัวมา แม่ผมก็เลยเลือกรับและปฏิเสธความเป็นแม่เธอได้อย่างที่เธอเองต้องการ

ผมเองโตมากับการที่แม่บอกว่าเธอไม่อยากเลี้ยงลูกแบบยายเลี้ยง คือเต็มไปด้วยความรุนแรง เต็มไปด้วยการด่าทอด้วยคำหยาบคาย ความรุนแรงของยายผมรับรู้มากระทั่งผมกับพี่สาวโตแล้วจนยายเลิกใช้ความรุนแรง ยายผมไม่ค่อยด่าว่าหรือตีหลานหรอก ที่จริงผมกับพี่สาว ซึ่งยายเลี้ยงมาตั้งแต่วัยแบเบาะ (เพราะอะไรเดี๋ยวค่อยเล่าต่อ) ถูกยายตามใจอย่างค่อนข้างมากทีเดียว แต่บางครั้งเวลาที่ยายลงโทษ ก็นึกได้ถึงคำแม่ที่มาบอกทีหลังว่า ทำไมเธอจึงไม่อยากเลี้ยงลูกแบบยายเลี้ยงเธอมา ความเป็นแม่แบบยายผม กับความเป็นแม่แบบแม่ผม จึงแตกต่างกันมากทีเดียว

แต่ด้วยความที่ยายเลี้ยงมาในวัยเด็กด้วย ผมก็เลยคิดว่ายายเป็นแม่อีกคนหนึ่งเสมอมา เมื่อพ่อกับแม่ผมตัดสินใจจะมาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เขาไม่มีเวลาและไม่มีที่อยู่อาศัยเพียงพอที่จะให้คนหลายคนมาอยู่ที่บ้านได้ ไม่มีเวลาเลี้ยงผมกับพี่สาวในช่วงโรงเรียนปิดเทอม แล้วสมัยก่อนก็ไม่มีที่รับฝากเลี้ยงเด็ก ถึงมี ก็ไม่มีสวัสดิการรัฐ ไม่มีเงินส่วนตัวพอจะจ่ายให้ใครดูแลเด็กเล็ก

ในช่วงวัยเด็กตั้งแต่ก่อนจำความได้ ผมกับพี่สาวจึงถูกยายเลี้ยงดูมาในเขตชนบทของอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อโตถึงวัยเข้าโรงเรียนแล้ว พ่อกับแม่ก็ย้ายผมกับพี่มาอยู่กรุงเทพฯ แต่เมื่อไหร่ปิดเทอมใหญ่ ก็จะส่งผมกับพี่ไปอยู่กับยาย ไม่ก็ไปอยู่กับย่าและป้าๆ ลุงๆ พี่ๆ ลูกป้าๆ ลุงๆ ที่ริมทะเลบ้านหน้าสตน หัวไทร นครศรีธรรมราช ความที่อยู่กับยายมาตั้งแต่แบเบาะ ตั้งแต่คลานมุดผ้าถุงยายบ้าง น้าๆ บ้าง ก็จึงคิดว่ายายเป็นแม่อีกคนหนึ่ง แล้วก็โตมากับนมผง นมกระป๋อง รู้จักแต่ค่าน้ำนมวัว

เด็กอย่างผมไม่ได้มีความยุ่งยากกับการเผชิญหน้ากับจินตกรรมแม่มากเท่ากับเด็กอีกหลายๆ ที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่มีแม่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ แล้วแม่ที่แม่ผมโตมาด้วย กับแม่ของแม่ที่ผมรู้จักก็ต่างกัน ส่วนแม่ผมก็ไม่เป็นแม่แบบยายแน่นอน แต่ความเป็นแม่ที่คับแคบของจินตกรรมแม่ก็คงจะกีดกันความเป็นแม่และครอบครัวที่ไม่ได้ต้องมีแม่ได้เสมอไปหรอก

เมื่อใดที่วันแม่เลิกมีไว้เพื่อลำเลิกบุญคุณอย่างหยาบโลนเพียงเพื่อโยงไปกับแม่อุดมคติบางคนที่ก็อาจจะล้มเหลวในการเป็นแม่ในชีวิตจริงเท่านั้น ลูกจำนวนมากคงนึกสบายใจขึ้นที่จะร่วมระลึกถึงความรักความผูกพัน ความเสียสละ ความเอาใจใส่ดูแล ของคนที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูเรามาในวัยเด็กจนแม้กระทั่งเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม