Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

ช้องนาง วิพุธานุพงษ์
If power is for sale, sell your mother to buy it. You can always buy her back again.Arabian Proverb ได้อ่านพบโครงการดีๆ ทางอินเทอร์เน็ตโครงการหนึ่งเข้าโดยบังเอิญค่ะโครงการนี้ชื่อว่า “ฉลาดไม่ซื้อ” คอนเซปต์ของโครงการคือ “การไม่ซื้อ ไม่ใช้ ไม่จ่ายเงินเพื่ออะไรนอกจากอาหารและการเดินทางเป็นเวลา 7 วัน รวมถึงทดลองไม่ซื้ออะไรเลยเป็นเวลา 1-2 วัน หรือหนึ่งสัปดาห์ ท้ายที่สุดคือแสวงหาหนทางจะมีชิวิตอยู่ให้ได้โดยไม่ซื้ออะไรหรือซื้อให้น้อยที่สุด”สัปดาห์ฉลาดไม่ซื้อจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ม.ค. – 3 ก.พ. 51 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะจบลงไปแล้ว แต่กิจกรรมดีๆ แบบนี้ สามารถปฏิบัติต่อเนื่องได้เรื่อยๆ โดยไม่มีวันหยุด ผู้สนใจดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  http://wechange.seubsan.net/ ค่ะไม่แปลกเลยใช่ไหมคะ หากจะกล่าวว่าธรรมดาเรื่องการซื้อมาขายไปเป็นกิจกรรมที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีจนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน กระทั่งคนส่วนมากอาจลืมคิดไปเลยว่าการตื่นเช้ามาซื้อกับข้าวไปตักบาตร จ่ายค่าหมูปิ้ง ซื้อตั๋วรถเมล์ไปทำงาน จ่ายค่าแท็กซี่ ขายซีดีต่อให้เพื่อน ล้วนแต่เป็นการกระทำกิจกรรมทางกฎหมาย ซึ่งมีผลสมบูรณ์ไม่ต่างไปจากการทำสัญญากู้เงินธนาคาร ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ประกันชีวิต จำนองที่ดิน ค้ำประกัน ฯลฯกิจกรรมทางกฎหมายที่มีผลสมบูรณ์ต่างๆ เหล่านี้ นักกฎหมายเรารวมเรียกว่า “นิติกรรม” ค่ะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 149 ให้คำจำกัดความนองนิติกรรมไว้ว่า “นิติกรรม หมายความว่า การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ์”แปลความได้ว่าการกระทำใดๆ จะถือว่าเป็นนิติกรรม การกระทำนั้นต้อง...1) เป็นการกระทำโดยเจตนา 2) การแสดงเจตนานั้นต้องชอบด้วยกฎหมาย 3) ผู้แสดงเจตนากระทำลงด้วยความสมัครใจ 4) มีความประสงค์จะผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และ 5) เพื่อก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิ ซึ่งได้แก่ การก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธินิติกรรมมีได้หลายประเภท เช่น การทำสัญญาต่างๆ เช่น สัญญากู้ยืมเงิน สัญญาเช่า สัญญาค้ำประกัน หรือแม้แต่การหมั้น การสมรส การทำพินัยกรรม การปลดหนี้หรือชำระหนี้ ฯลฯตัวอย่างเช่น สัญญาซื้อขาย ก็เข้าลักษณะเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง ก่อนที่จะเกิดสัญญาใดๆ ภาษากฎหมายบอกไว้ ขั้นแรก คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องมี “คำเสนอ” และ “คำสนอง” ที่ถูกต้องตรงกันเสียก่อนค่ะ“คำเสนอ” เรียกอีกอย่างว่าเป็น “คำขอให้เข้าทำสัญญา” ส่วน “คำสนอง” อีกนัยหนึ่งหมายถึง “การตอบรับเข้าทำสัญญาตามคำเสนอ” ตัวอย่างเช่น นางสาว ก. เดินไปปากซอย ตั้งใจจะซื้อมะม่วงมาทำน้ำปลาหวาน แม่ค้าคือนาง ข. บอกว่า มะม่วงแรดรสดีขายอยู่กิโลละ 50 บาท นางสาว ก. ต่อราคา เหลือ 15 บาท นาง ข. ไม่ขาย บอกว่า ลดให้ได้แค่ 5 บาท เหลือโลละ 45 บาท จะชื้อไหม นางสาว ก. บอกว่าแพงไป ให้ได้แค่ โลละ 20 บาท จะขายไม่ขาย แม่ค้าเหลียวซ้ายและขวา หันไปคว้ามีดปอกมะม่วง ตวาดว่าถ้าต่ออีกคำเดียวจะยกมีดให้ฟรีๆ นางสาว ก. ไม่พอใจ สะบัดหน้าเดินหนีกลับบ้าน  อย่างนี้...เรียกว่าสัญญาซื้อขายมะม่วงไม่เกิดค่ะ เพราะคำเสนอและคำสนองไม่ถูกต้องตรงกัน  คำบอกเล่าของแม่ค้าที่ว่ามะม่วงราคากิโลละ 50 บาทนั้น เรียกได้ว่าเป็นคำเสนอให้นางสาว ก. เข้าทำสัญญาซื้อขาย แต่ในเมื่อนางสาว ก. ไม่พอใจ ตั้งราคาไปใหม่ ราคาที่นางสาว ก. บอกไปนั้น จึงกลายเป็นคำเสนอขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง หากครั้งนี้แม่ค้าตอบตกลง ถือว่าแม่ค้ามีคำสนองรับ สัญญาซื้อขายมะม่วงจึงจะเกิดเมื่อผลปรากฎว่า ต่างฝ่ายต่างมีคำเสนอ และไม่มีฝ่ายใดสนองรับ คำเสนอทั้งหลายจึงสิ้นผลไปในที่สุดอย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวนี้ไม่รวมถึงคำเสนอที่ว่าจะยกมีดให้ฟรีๆ นะคะ เพราะคำเสนอแบบนี้เรียกว่าเป็นการแสดงเจตนาทำคำเสนอโดยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150แม้นางสาว ก. จะต่อรองราคาอีกครั้ง นาง ข. ก็ไม่มีความผูกพันตามสัญญาในอันที่จะต้องยกมีดปอกผลไม้ให้นางสาว ก. แต่อย่างใด งานนี้นางสาว ก. รอดตัวเพราะรีบหนีกลับบ้านไป เป็นหนทางที่ปลอดภัยที่สุดแล้วค่ะ                           *เพิ่มเติม คำพิพากษาฎีกาที่ 5343/2542 จำเลยมีคำเสนอขายข้าวสาร จำนวน 20,000 เมตริกตัน ส่งมอบเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2537 ไปยังโจทก์ โจทก์ตกลงให้จำเลยเป็นผู้ส่งข้าว คำเสนอและคำสนองดังกล่าวจึงถูกต้องตรงกัน ย่อมก่อให้เกิดสัญญาแล้ว แต่เมื่อจำเลยมีหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระราคาและเสนอราคาใหม่ไปยังโจทก์ ถือว่าเป็นคำเสนอใหม่ โจทก์ตอบตกลงซื้อข้าวตามราคาที่เสนอมาใหม่และให้จำเลยไปทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ แสดงว่าคำเสนอคำสนองใหม่ถูกต้องตรงกันสัญญาเกิดขึ้นแล้ว มีผลให้เป็นการยกเลิกสัญญาเดิมและผูกพันกันตามสัญญาที่เกิดขึ้นใหม่ ต่อมาโจทก์ มีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งมอบข้าวลงเรือในเดือนตุลาคม 2537 โดยไม่มีข้อความให้จำเลยมาทำสัญญาเป็นหนังสือ แต่กลับเร่งรัดให้จำเลยส่งมอบข้าวให้ทันกำหนดเวลา แสดงว่าโจทก์ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้สัญญามีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำสัญญาเป็นหนังสือก่อน การที่จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วมีหนังสือขอเลื่อนไปส่งมอบข้าวสารในเดือนธันวาคม 2537 โดยไม่ทักท้วงหรือโต้แย้งว่าสัญญายังไม่ได้ลงนามเนื่องจากยังไม่ได้ตกลงกันในเรื่องค่าเสียหาย การค้ำประกันและการส่งมอบ พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยเองมิได้มุ่งที่จะให้การซื้อขายข้าวดังกล่าวนั้นจะต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือเช่นกัน ดังนั้น สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยจึง มีผลบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว หาได้มีกรณีที่สงสัยว่าสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสองแต่อย่างใดไม่
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
เมื่อวันที่ 22 ม.ค.51 ที่ผ่านมา คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติอนุมัติงบประมาณร้อยล้านบาทกว่า เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับประชากรสูงอายุจำนวนกว่าสามแสนเก้าหมื่นคน ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปและมีโรคเรื้อรัง (อายุ 65 ปีขึ้นไปและป่วยด้วยโรคเช่น หอบหืด ปอดอุดกลั้นเรื้อรัง ไตวาย หัวใจ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด) เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เสี่ยงต่อการป่วยและเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่และภาวะแทรกซ้อน และเพื่อลดอัตราเสี่ยงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับไข้หวัดนกที่ยังพบการระบาดอยู่ในประเทศไทย  เนื่องจากโอกาสข้ามสายพันธุ์ระหว่างเชื้อไข้หวัดนกกับเชื้อไข้หวัดใหญ่มีความเป็นไปได้สูง ที่ผ่านมา เมื่อพบการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศไทย ได้มีการให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มบุคลากรทางสาธารณสุขและผู้ทำหน้าที่กำจัดสัตว์ปีกปีละประมาณ 3-4 แสนโดส งบประมาณราว 70 ถึง100 ล้านบาท เหตุผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ของบุคลากรเหล่านี้ ซึ่งต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาประชาชนทั่วๆไป และลดการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่จากการปฏิบัติงานด้วยนี่เป็นเพียงการเริ่มต้นในปี พ.ศ.2551 นี้เท่านั้น  เพราะไม่มีงบประมาณที่ตั้งไว้ อาศัยงบที่เหลือจากการจัดซื้อยาต้านไวรัสเอชไอวี (เอดส์) ที่เหลืออยู่เนื่องจากราคายาต้านไวรัสเอชไอวีลดลง การสามารถทำให้ได้ยาราคาถูกลงจากการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing) ของกระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้สามารถนำเงินร้อยกว่าล้านบาทนั้นมาจัดซื้อวัคซีนสำหรับคนสูงอายุในปีแรกนี้ได้ จากนั้นต้องมีการจัดงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อขยายการใช้วัคซีนนี้ไปยังคนสูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไปและป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่นนอกเหนือจากกลุ่มแรก และในปีที่สามใช้สำหรับผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปทุกคน เหตุผลอีกประการหนึ่งคือรัฐได้มีนโยบายที่ให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในระดับอุตสาหกรรมซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ต้นปี 2550 โดยสามารถผลิตได้ในปี 2553 จำนวนสองล้านโดสต่อปีนับเป็นเรื่องที่ดีของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่คณะกรรมการที่มีตัวแทนจากทั้งกระทรวงสาธารณสุข ผู้ให้บริการ บุคคลากรทางสาธารณสุข และประชาชนรวมถึงตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมกันดำเนินงานทางด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคนที่ควรได้มีส่วนร่วมในการดูแลป้องกันรักษา ต่อจากนี้ไปจะเป็นช่วงของการปฏิบัติการให้เป็นไปตามนโยบาย  ซึ่งควรมีการให้วัคซีนนี้ก่อนฤดูการระบาดของทุกปีคือก่อนเดือนมิถุนายนของทุกปี  ดังนั้น ผู้ป่วยเรื้อรังที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปควรได้รับข้อมูลข่าวสาร  และการจัดการให้ได้รับวัคซีนก่อนการระบาดในทุกๆ ปี  การให้วัคซีนนี้ต้องให้ทุกปีๆ ละครั้ง เราเองคงต้องช่วยกันสื่อสารแจ้งข่าวต่อๆกันไปยังครอบครัว เครือญาติ ที่มีผู้สูงอายุที่อยู่ในข่ายต้องได้รับวัคซีนให้สามารถเข้าถึงและได้รับบริการที่สะดวกและได้มาตรฐาน นั่นคือ สถานบริการที่เราขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ  หรือสถานบริการที่ไปใช้บริการประจำ ต้องให้ข้อมูลและดำเนินการให้วัคซีนกับคนเหล่านี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปการระบาดของไข้หวัดใหญ่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ปีนี้อากาศหนาวเย็นยาวนานขึ้น การระบาดของไข้หวัดนกก็ปรากฎขึ้นในประเทศแล้ว โอกาสที่สายพันธุ์ไข้หวัดนกจะข้ามมายังคนและทำให้เกิดความรุนแรงแก่ไข้หวัดใหญ่ในคนเกิดขึ้นได้  สิ่งสำคัญคือเราทุกคนต้องตระหนักว่าไข้หวัดนกไม่ได้หายไปไหน เพราะได้กลายเป็นโรคระบาดประจำถิ่นไปแล้ว และไม่จำเป็นต้องมาจากนกที่เคลื่อนย้ายหนีหนาวมาเท่านั้น เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดนกน่าจะอยู่ในสัตว์เลี้ยงในท้องถิ่นของเราแล้ว หากอากาศเหมาะสมก็ระบาดได้เสมอ การดูแลสุขอนามัย การล้างมือ การทำความสะอาดร่างกาย การหลีกเลี่ยงสัมผัสเป็ดไก่ที่ตาย การกินเป็ดไก่ที่ตาย หรือแม้แต่การเชือดสดๆ โดยคนงานในตลาดหรือในฟาร์มต่างๆ ก็ต้องมีการป้องกันคนทำงานเหล่านี้ การเฝ้าระวัง การให้ข้อมูลเป็นประจำก็จะช่วยให้คนที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเหล่านี้ได้มีการป้องกันตนเองตลอดเวลา อย่าคิดว่าคนงานต้องรู้จักป้องกันตนเองเท่านั้น นายจ้างจำเป็นและมีหน้าที่ต้องตักเตือนหรือหาทางลดอันตรายจากความเสี่ยงนี้ด้วย เป็นหน้าที่โดยตรงของนายจ้างที่จะต้องหาทางป้องกันให้กับคนทำงานรับจ้างเหล่านี้ ทั้งการให้ความรู้ การให้อุปกรณ์ป้องกัน หน้ากาก ถุงมือ การจัดสถานที่ทำงานให้สะอาด เพราะคนทำงานก็มีสิทธิได้รับการคุ้มครองสิทธิให้มีสุขภาพดีเหมือนกัน
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิดและแล้วสิ่งที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจนได้....เมื่อเช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ วันแรกของการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๑ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดย วัดและชุมชนมอญบ้านไร่เจริญผล ร่วมกับชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าตื่นขึ้นพร้อมกับเสียงตระหนกของเพื่อนคนหนึ่งที่วิ่งกระหืดกระหอบนำข่าวของเช้านี้มาบอก “....เร็วๆมาดู อะไรนี่ ...ยกโขยง มากันเป็นร้อยเลยว่ะ...เต็มวัดไปหมด .....”  ในทันทีนั้นข้าพเจ้าจึงชะโงกหน้ามองจากหน้าต่างชั้นบนของศาลาการเปรียญที่พวกเราอาศัยซุกหัวนอนกันตั้งแต่เมื่อคืนเพื่อมาเตรียมจัดงาน ภาพที่เห็นก็คือกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ อป.พร. (อาสาสมัครป้องกันภัยพลเรือน) สันติบาล กองปราบ   กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน)กระจายตัวอยู่ทั่วไปในบริเวณวัด  รวมทั้งเส้นทางที่ผ่านเข้าออกก็มีการตั้งด่านตรวจอย่างเต็มกำลังส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาประจำการที่วัดบ้านไร่เจริญผล“โอ้โฮ !!! ถึงขั้นนี้เชียวรึนี่”   ข้าพเจ้าพึมพำเบาๆกับตัวเองและคิดทบทวนในเรื่องราวทั้งหมด      งานรำลึกชนชาติมอญในปีนี้ทำไมสถานการณ์จึงตึงเครียดนัก   ด้วยสายตาของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่มองมาด้วยความหวาดระแวง และไม่ไว้ใจ...ทำให้ข้าพเจ้ายังครุ่นคิดต่อไป“นี่เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพชนมอญผู้ล่วงลับมิใช่หรือ  แล้วก็เป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ภาษาและวัฒนธรรมประเพณีของคนมอญ เป็นวันสำคัญที่คนมอญจากทั่วประเทศจะได้มีโอกาสพบหน้าคร่าตากัน พูดจาสอบถามสารทุกข์สุกดิบกัน  และเหนือสิ่งอื่นใดในโอกาสนี้ ชาวมอญทั้งหลายจะได้ทำบุญถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์อีกด้วย”แท้จริงแล้วความตึงเครียดความวิตกกังวลของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ตั้งเค้ามาก่อนหน้านี้สักระยะหนึ่งแล้ว ต่อกรณีการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญในจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากบริบทในเชิงพื้นที่แห่งนี้มีแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าอยู่เป็นจำนวนมาก  และส่วนมากนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญ หรือคนมอญจากเมืองมอญ (ประเทศพม่า) และด้วยกลุ่มคนมอญเหล่านี้มิใช่คนไทยทำให้เจ้าหน้าบ้านเมืองต้องควบคุมอย่างเข้มงวด  ตลอดจนขาดความรู้ความเข้าใจต่อความเป็นพม่า และความเป็นมอญอย่างลึกซึ้ง กลุ่มคนเหล่านี้จึงถูกตีกรอบให้อยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นคง” และถูกตีตราด้วยอคติ ดังนั้นการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญจึงสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงไปด้วย ด่านตรวจหน้าปากซอยวัดบ้านไร่เจริญผล ส่วนสำคัญที่ทำให้การจราจรติดขัดบริเวณถนนพระราม 2“..ความมั่นคง... ความมั่นคง.... ความมั่นคง.... ความมั่นคง..... !!! ”   ข้าพเจ้าท่องคำๆนี้ ซ้ำไปซ้ำมา ทั้งที่ยังไม่เข้าใจเลยว่าการที่คนมอญจัดกิจกรรมเพื่อสำนึกถึงความเป็นตัวตน และรากเหง้า ผ่านการแสดงออกทางวัฒนธรรมประเพณีจะเป็นภัยต่อความมั่นคงตรงไหน!!!งานรำลึกชนชาติมอญในครั้งนี้คงจะต้องเป็นที่จดจำของชาวมอญไปอีกยาวนาน  ทั้งพระสงฆ์ คนในชุมชน คนจัดงาน นอกจากจะต้องเหนื่อยแรงกับการเตรียมจัดงานแล้ว  ยังต้องเหนื่อยใจกับคำถามซ้ำๆ ที่ถูกป้อนมาจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองด้วยท่าทีและความรู้สึกไม่ไว้ใจ  แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วัฒนธรรมประเพณีมอญ และคนมอญ” กำลังถูกตั้งคำถามและมองด้วยสายตาที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิม  ทั้งที่แต่ก่อนนั้นคนมอญและวัฒนธรรมประเพณีมอญถูกหล่อหลอมจนกลมกลืนกับสังคมไทยมาเนิ่นนาน  ข้าพเจ้าและคนอื่นๆยังคงช่วยกันตระเตรียมงานต่อไป เพราะในช่วงค่ำของวันนี้จะมีกิจกรรมหลายอย่างทั้งการออกร้านสินค้าพื้นบ้านมอญ นิทรรศการวิถีชีวิตมอญ การแสดงนาฏศิลป์มอญจากชุมชนและสถานศึกษาต่างๆจัดมาร่วมงาน  แต่ทว่าตลอดทั้งวันผู้คนยังคงบางตาผิดไปจากงานวันรำลึกชนชาติมอญเมื่อปีก่อนๆ  บรรยากาศที่เคยเป็นมานั้นไม่ว่าคนไทยเชื้อสายมอญ และคนมอญจากเมืองมอญที่ทำงานในเมืองไทยเมื่อทราบข่าวก็จะมาร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียง เพราะวันรำลึกชนชาติมอญเป็นการธำรงความหมายและสำนึกร่วมของคนมอญที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ตำนาน นิทานปรัมปรา บรรพบุรุษ ภาษา และประเพณีวัฒนธรรมที่คนมอญทั้งสองเมืองมีร่วมกัน  ส่วนหนึ่งของรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาจอดภายในวัดบ้านไร่เจริญผลแต่วันนี้กลับมองไปไม่เห็นแรงงานมอญต่างด้าวมาร่วมงาน ทั้งที่ทราบมาว่าพวกเขาได้เตรียมจัดการแสดง และจัดกองผ้าป่ามาร่วมงานในครั้งนี้  และนั่นคงเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งด่านสกัดกั้นไว้ทุกเส้นทางที่จะเข้ามาบริเวณวัดซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน  ด้วยเหตุผลที่อ้างว่าต้องการตรวจจับผู้ที่ไม่มีบัตร (ทะเบียนราษฎรต่างด้าว ท.ร.๓๘/๑) หรือการข้ามเขตพื้นที่ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าเจตนาที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่นั้นต้องการสกัดกั้นมิให้แรงงานมอญต่างด้าวเข้ามาร่วมงานวันรำลึกชนชาติมอญมากกว่า   ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่ได้มีประกาศของทางจังหวัดไม่สนับสนุนให้แรงงานมอญต่างด้าวได้แสดงออกซึ่งวัฒนธรรมประเพณี  จึงทำให้ไม่มีใครกล้าเดินทางมาร่วมงานที่จัดขึ้น ราวกับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความผิด เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นการกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไทยมีต่อพม่า ซึ่งมากมายเหตุผลที่จะนำกล่าวอ้างด่านตรวจหน้าปากซอยวัดบ้านไร่เจริญผล พร้อมรถบรรทุกเจ้าหน้าที่ตระเวนตรวจการเมื่อวันรำลึกชนชาติมอญถูกตีความว่ามีลักษณะสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงยังส่งผลสะท้อนกลับมาที่คนไทยเชื้อสายมอญอีกระลอกใหญ่ ข้าพเจ้าจึงไม่แปลกใจนักที่จะได้ยินได้ฟังคนไทยเชื้อมอญหลายต่อหลายคนมีท่าทีและคำพูดเช่นนี้“....งานวันรำลึกชนชาติมอญจัดขึ้นสำหรับคนไทยเชื้อสายมอญเท่านั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพวกมอญแรงงานต่างด้าวนั้นหรอก   เราเป็นคนไทยย่อมมีสิทธิ์ที่จัดงานได้...”  จากความคิดดังกล่าวได้ส่งผลในระดับสำนึกความเป็นมอญเปลี่ยนแปลงไปโดยมีกรอบของรัฐชาติเป็นเงื่อนไขกำหนด ผ่านการชี้นำจากเจ้าหน้าที่รัฐ  สร้างความเป็นอื่นต่อกลุ่มแรงงานมอญต่างด้าว ทำให้คนไทยเชื้อสายมอญต้องเลือกข้างเลือกฝั่ง หรือถ้าแย่กว่านั้นคนมอญอาจจะอับอายและซ่อนความเป็นมอญไม่กล้าแสดงออกอย่างที่เคยเป็น “..พวกท่านจะรู้หรือไม่ว่า...ท่านกำลังสร้างรอยร้าวให้กับกลุ่มชนชาวมอญของเรา...” ข้าพเจ้าอยากตะโกนบอกเจ้าหน้าที่ไปแบบนั้น แล้วก็แจ้งแก่ใจว่าสังคมไทยยังขาดการเรียนรู้และทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอีกมากมาย ทำให้การยอมรับการให้เกียรติต่อกันลดน้อยลงแล้ววันแรกของการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๑ ก็ผ่านไปด้วยบรรยากาศแห่งความตึงเครียดระหว่างเจ้าหน้าที่ พระสงฆ์  ชาวชุมชน และคนจัดงาน...ทุกสิ่งอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย ข้าพเจ้านอนฟังเสียงฝนที่เทลงเหมือนฟ้ารั่วตอนค่อนสว่าง เมื่อฟ้าสางทั่วบริเวณวัดเจิ่งนองไปด้วยน้ำ...เมื่อวานเรายังต้องต่อสู้กับวิธีคิดของคน และวันนี้ฟ้าฝนก็ยังไม่เป็นใจ ทั้งคนและธรรมชาติต่างกระหน่ำซ้ำเติม เป็นอุปสรรคที่เราจะต้องฝ่าฟัน...วันอาทิตย์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ ซึ่งกำหนดให้เป็นวันพิธีการและพิธีกรรมที่สำคัญ  ทั้งการเปิดงานอย่างเป็นทางการ การกล่าวสดุดีบรรพชนมอญ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ  ถวายกองฝ้าป่าและการแสดงวัฒนธรรมประเพณีมอญ ในวันนี้จะมีคนมอญจากชุมชนต่างๆทั่วประเทศเดินทางเข้ามาร่วมงาน จะมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยประธานเปิดงานในครั้งนี้คือ คุณเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์  หรือ ครูแดงแห่งบ้านปางสา อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นผู้ทำงานและคลุกคลีกับชาวเขามากว่า ๓๐ ปี  อดีต สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงราย  และ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  เป็นผู้ที่มีความเข้าใจและให้เกียรติในวัฒนธรรมประเพณีมอญอย่างดียิ่ง  ต่างไปจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครที่ปฏิเสธคำเรียนเชิญในการเป็นประธานเปิดงานไปก่อนหน้านี้ ทำให้ข้าพเจ้าอดคิดถึงการจัดงานเมื่อปีที่แล้วไม่ได้  ซึ่งเป็นวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๐ ณ วัดอัมพวัน ชุมชนมอญบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานตามคำเชิญของคณะผู้จัดงาน  แล้วท่านได้แต่งกายแบบมอญซึ่งสร้างความประทับใจให้กับชาวมอญไม่รู้ลืม เฉกเช่นเดียวกับคุณเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ ที่ให้เกียรติแต่งกายแบบมอญในงานครั้งนี้ด้วยเช่นกันนางเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ ขณะกล่าวเปิดงานวันรำลึกชนชาติมอญ และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงแม้ว่าแรงงานมอญต่างด้าวจะไม่กล้ามาร่วมงาน หลายๆคนก็มาไม่ถึงงานต้องเดินทางกลับไป เพราะตระหนกกับการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ข้าพเจ้าก็ไม่นึกไม่ฝันมาก่อนว่าแรงงานมอญต่างด้าวที่ตั้งใจมาทำบุญ นำกองผ้าป่ามาถวายวัด พร้อมทั้งอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนมอญผู้ล่วงลับตลอดจนทำบุญถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระพี่นางเธอ   เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา   กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จะมาไม่ถึงวัด เนื่องจากสาเหตุที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตั้งด่านสกัดจับ ทั้งที่พวกเขาก็มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนไทย  ในฐานะที่พวกเขาได้มาอาศัยแผ่นดินไทยทำมาหากิน ไม่ต่างจากชาวมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์สยามเมื่อหลายร้อยปีก่อนจนปัจจุบันก็คือคนไทย หรือ คนไทยเชื้อสายมอญ  ในงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งนี้ จึงมีแต่เฉพาะคนไทยเชื้อสายมอญมาร่วมงานเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งหนึ่งที่ ข้าพเจ้ามองเห็นและรับรู้ได้คือสัญลักษณ์ที่มีร่วมกันของมอญทั้งสองเมืองนั่นก็คือการสวมใส่ โสร่งแดง ผ้าถุงแดง เสื้อขาว ซึ่งหมายถึง “ชุดประจำชาติมอญ”   จึงทำให้มั่นใจว่าตราบใดที่ลมหายใจของคนมอญยังไม่สูญสิ้น เชื่อได้ว่างานวันรำลึกชนชาติมอญจะยังดำเนินต่อไป แต่บทเรียนที่ได้รับจากการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๑ ณ วัดบ้านไร่เจริญผลจังหวัดสมุทรสาคร มีสิ่งหนึ่งที่สูญเสียไปและไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้นั่นคือความรู้สึกดีๆการยอมรับที่สังคมไทยมีต่อคนมอญมันได้ถูกแทนที่ด้วยความรู้สึกเคลือบแคลง ระแวงสงสัย และไม่ไว้วางใจจากรัฐไทย 
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ฆูณุงจไร เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยใหม่ เชื่อว่า เป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของเผ่าพันธุ์ตน กล่าวกันว่า ถึงแม้ ชาวอูรักลาโว้ยจะเดินทางท่องไปในทะเลกว้าง จากอันดามันจรดช่องแคบมะละกา ไม่มีหลักแหล่งแห่งที่ที่แน่นอน แต่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ฆูณุงจไรได้เชื่อมเอาดวงวิญญาณแห่งความถวิลถึงกันและกันเอาไว้ ฆูณุงจไร ในความหมายนี้ คือ ยอดเขาบนเกาะแห่งหนึ่งในรัฐเคดาห์หรือเมืองไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมองเห็นได้ในระยะไกลจากท้องทะเล ก่อนจะอพยพมาตั้งถิ่นฐานบนดินแห้งในแถบอันดามัน หลังการแผ่ขยายอิทธิพลของศาสนาอิสลาม...โดยเฉพาะบนเกาะลันตาที่เคยได้ชื่อว่า เมืองหลวงของชาวน้ำน้ำทะเลแหวกเป็นสายเมื่อ Speed Boat ขนาดบรรทุก 30 คน เริ่มแผดคำรามเสียง หลังจากแวะรับเพื่อนร่วมทางอีกจำนวนหนึ่ง เราทุกคนตื่นเต้นที่ได้อยู่บนท้องน้ำสีเขียวและใต้ท้องฟ้าสีน้ำเงินมันน่าตื่นเต้นชะมัด การดำน้ำแบบ Snorkel เป็นทางเลือกง่ายๆ ที่ทำให้เราจมดิ่งไปกับโลกใต้ทะเลบริเวณหมู่เกาะรอกอยู่ห่างจากเกาะลันตา ๓๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดย Speed Boat ๔๕ นาที ในบางกรณี หากต้องการตั้งแคมป์บนเกาะก็สามารถติดต่อเรือหัวโทงของชาวบ้านได้เกาะรอกในและเกาะรอกนอก มีชายหาดยาวสีขาว (รับรองว่าขาว) น้ำทะเลสีครามสลับเนินเขาสีเขียวและตัวเงินตัวทอง นักดำน้ำจะได้แวะพักกินข้าวเที่ยงและนอนอาบแดดบนเกาะ Package นี้ในอัตรา 1,500 บาท/หัว แต่เพื่อนฝูงบนเกาะติดต่อให้เราได้ในอัตราหัวละ 1,000 บาท, Ha a Ha a“พี่ ไม่ดำน้ำหรือ” รุ่นน้องคนหนึ่งเอ่ยถาม ก่อนพยายามสวมหน้ากากดำน้ำ“เอ่อ ผมว่ายน้ำไม่เป็น” ผมยืนยัน“มีชูชีพนะพี่” รุ่นน้องยังรบเร้า“เออ มีชูชีพก็จม”…    ประวัติศาสตร์ของเกาะลันตาถูกบันทึกเอาไว้ 3 ช่วงเวลาก่อนปี 2500 เป็นช่วงเวลาของความสงบง่ายตามแบบชาวน้ำ หากจะมีการติดต่อค้าขายกับแผ่นดินใหญ่บ้างก็เป็นการติดต่อค้าขายทางเรือกับสิงค์โปร์หรือปีนัง ช่วง 2500-2530 เป็นช่วงกลางที่เกาะลันตามีการติดต่อกับแผ่นดินใหญ่มากขึ้น ทั้งตัดถนนภายในเกาะและทำแพขนานยนต์เพื่อเชื่อมเกาะ,และยุคปัจจุบันที่ธุรกิจท่องเที่ยวเฟื่องฟู โดยหน่วยงานราชการเป็นตัวเชื่อมโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ จากนั้นมา ชาวไทยใหม่(อูรักลาโว้ย) ที่บ้านสังกาอู้ บ้านหัวแหลมและบ้านในไร่-คลองดาว จึงเป็นผู้เฝ้ามองอย่างไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต...Same same but different เป็นบาร์ริมหาดคืนวันของการเฉลิมฉลองปีใหม่ เวทีดนตรีรูปโดมถูกก่อสร้างขึ้นอย่างละเมียดและมีรสนิยม ตัวเวทีหันหลังให้ชายหาดและท้องทะเลสีดำสนิท ท่ามกลางความมืดของกลางคืน แสงไฟนวลๆ จากบาร์อื่นๆ กระพริบเห็นเป็นจุดจุดอยู่ทั่วหาด นักแสวงสุขหลายคนทั้งชายหญิงยืนเคล้าคลอเคลีย โอนอ่อนไปตามจังหวะและเสียงดนตรี Reggae & blues ที่รุมเร้า ทว่านุ่มนวลนักท่องเที่ยวจากชาวเอเชียซดเบียร์สิงห์จากขวด พร้อมส่ายสะโพกซ้ายขวาเห็นเป็นเงาๆ อยู่หน้าเวทีใกล้กับหนุ่มสาวคู่หนึ่งซึ่งจูบกันอย่างดูดดื่มออกรสออกชาติ (เขาและเธอจูบกันอยู่อย่างนั้นทั้งคืน) ขณะหญิงไทยล่ำสันคนนั้นขึ้นเวทีโชว์พลังเสียงอย่างถึงอกถึงอารมณ์พวกเราเริ่มออกวิ่งเป็นวงกลม วนไปรอบๆ เวทีรูปโดม ราวกับลัทธิบูชาไฟของอินเดียนแดงบางเผ่าในอเมริกาใต้และป้องปากตะโกน Eivaaaaaa ...กลางคืนสำหรับนักแสวงสุขยังยืดยาวและไร้จุดจบ ,ไม่มีใครอยากให้มันจบชายหนุ่มผมหยิกหยอง ริมฝีปากหนา ตาโปน ผิวน้ำตาลเข้ม รูปร่างหนา ในเสื้อกางเกงลายดอกจากหมู่บ้านสังกาอู้หยิบเบียร์ให้แขกชาวเกาหลีคนนั้น ,เธอโปรยรอยยิ้มหยาดเยิ้มกลับไปให้เขา...สำหรับใครบางคน เกาะลันตา คือ จุดจบทางวัฒนธรรมชาวเลสำหรับใครอีกหลายคน เกาะลันตา คือ จุดเริ่มต้นของการแปลงวัฒนธรรมเป็นทุนสำหรับผม ..ผม HANG!!!...ขอบคุณความเอื้อเฟื้อของเพื่อนๆ ทุกคนบนเกาะลันตา น้อง,พี่เบียร์,นุช,ยันนี่,กร,บัง,สาวๆ แห่งร้านโทเก้ ดีไซน์และพี่โทนี่กะภรรยาครับ ถ่ายบริเวณบ้านหัวแหลม บนสะพานที่เป็นจุดชมวิว บ้านเรือนที่มองเห็นเป็นของชาวน้ำที่ปรับตัวเองเป็นร้านอาหารและเกสต์เฮ้าส์ ราคาแบ็กแพ็กเกอร์(คลิกดูภาพขนาดใหญ่) เปรียบเทียบเรือหัวโทงกับเรือใบชนิด 2 ใบเรือ เรือหัวโทง เครื่องมือยังชีพของชาวน้ำที่เป็นมากกว่าบ้าน ในอิริยาบถต่างๆ ทั้งหมดถ่ายที่บ้านหัวแหลม ถนนภายในเกาะ ชาวบ้านที่นี่ก็เหมือนกับชาวปักษ์ใต้ทั่วไปที่นิยมเลี้ยงนกหัวจุก ท้องฟ้า หาดทราย ชายทะเล ในมุมและเวลาต่างๆ ทั้ง 3 ภาพ กร ช่างภาพแห่งโทเก้ ดีไซน์ เป็นคนถ่าย ค่อยๆ ดูนะครับ สีสันสวยดี ส่วนภาพก่อนนี้ ไม่ได้มีเจตนาใดใดหรอกครับ เชื่อผมดิ !!
วาดวลี
ก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์แล้วล่ะ  ที่ฉันไปยืนอยู่ตรงนั้นแล้วพยายามจะนับดูว่า ดอกทิวลิปที่ก้านอวบ กลีบสวย ในสวนตรงนี้ มีจำนวนกี่สีกันแน่มวลหมู่ไม้มากมาย พืชพันธุ์ทั้งไทยและฝรั่ง ผลิบานแสดงความแข็งแรงต่ออากาศหนาวยามเช้า และแดดจัดยามบ่ายในบริเวณสวนสาธารณะของหาดเชียงราย แม้มันจะไม่ได้เกิดและเติบโตที่นั่น แต่ถูกเพาะปลูกเลี้ยงดูด้วยการทดลอง กระทั่งเมื่อสำเร็จผล ก็ถูกขนย้าย มาลงบนผืนดินชั่วคราวเพื่อแสดงงานดอกไม้ดอกทิวลิป ลิลลี่ บานชื่อพันธุ์ใหม่ และดอกไม้ชื่อแปลกหูอีกหลายชนิด เบ่งบานอวดสีสันอยู่ไม่ไกลนักจากลำน้ำกกที่พากันไหลอ้อยสร้อย เชื่องช้าไม่เพียงแต่ทดสอบความทนทานของดอกไม้ต่ออากาศเท่านั้น แต่การแสดงดอกไม้ยังทดสอบความสามารถของผู้ดูแลสวนอีกด้วย แต่ละโซน มีเจ้าหน้าที่คอยพรมพร่างสายน้ำเบาๆ เพื่อควบคุมความชุ่มชื้น อยู่ตลอดเวลา มีเจ้าหน้าที่แต่งกายเรียบร้อยสวยงาม พูดจากำกับไม่ให้คนเข้าไปแหวกดอกไม้ เอาตัว เอาหน้าไปซุกถ่ายรูป แม้จะติดป้ายเอาไว้แล้วว่า “ห้ามเข้า” คนก็ยังอยากโน้มกิ่งดอกไม้ให้มาใกล้ตัวที่สุด ยามฉีกปากยิ้มให้กับกล้องดิจิตอล บรรยากาศในสวนดอกไม้ในฐานะของผู้จัด บางครั้งจึงจำเป็นต้องเลือก ว่าจะดูแลดอกไม้หรือดูแลนักท่องเที่ยวดี ใครเลยจะห้ามไม่ให้คนเอามือไปสัมผัส แตะต้อง หรือกระทั่งดมกลิ่นได้ ฉันเห็นแม่อุ้ยพากันจูงมือมาจัดท่ายืน ท่านั่ง อยู่ข้างแปลงทิวลิป อาจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต ที่เขาได้ใกล้กับดอกไม้ชนิดนี้ที่สุด เมื่อลูกหลานกดชัตเตอร์ถ่ายภาพแล้ว การทรงตัวที่คลอนแคลนก็ทำเอาล้ม จนเกือบทับดอกไม้เจ้าหน้าที่รุดเข้าไปประคอง เอ่ยเตือนเบาๆ “อย่าเข้าไปนะคะ” เธอพูดเสียงเพราะในชุดแต่งกายเมืองเหนือ แต่เมื่อแม่อุ้ยฟังไม่ได้ยินเท่าไหร่ เธอก็จึงต้องเอ่ยเสียงดังขึ้น “สุมาเต๊ะเจ๊า อย่าเข้าไปใกล้เกินไปนะคะ อย่าเด็ด อย่าข้ามรั้วเน้อเจ้า" ทุกโซนมีเสียงตะเบ็งแข่งกัน กับเสียงประกาศประชาสัมพันธ์อื่นๆ ภายในงาน  ทุกอย่างดูคึกครื้นดี ฉันมีโอกาสทำหน้าที่เป็นช่างภาพให้กับบางคู่ที่มากันแค่สองคน บางคนก็ถ่ายกับป้ายในงาน บางคนก็ถ่ายกับซุ้มดอกไม้ มีบ้างบางคน ขอถ่ายกับบริเวณที่มีคนเยอะๆ และที่แปลกที่สุดคือ เขาขอให้ถ่ายโดยไม่ให้เห็นว่าที่นี่เป็นที่ไหน นอกจากสวนทิวลิป“จะได้ไปอวดเพื่อนว่าไปต่างประเทศมา”ฉันได้แต่อมยิ้ม ดูเหมือนจะเป็นเวลาแห่งความสุข ได้เห็นว่าคนไทยรักต้นไม้ไม่น้อย ดอกไม้ ธรรมชาติ โขดหิน น้ำตกจำลอง ที่ใช้พลังงานจำนวนมาก เพื่อประคองให้เกิดความสุขแด่ผู้มาชมให้มากที่สุด แม้ตลอดระยะทางกว่าจะมาถึงสวน รถติดอยู่นับชั่วโมง อาหารมีราคาแพง ห้องน้ำไม่มีเพียงพอให้บริการ แต่ส่วนใหญ่ดูจะรู้สึก “คุ้มค่า” สำหรับการมาหลังจากได้ชื่นชมความงาม ของโลกดอกไม้ที่เคยอยู่ห่างออกไปครึ่งโลกจากเมืองแห่งนี้ไม่แน่ใจว่านั่นสะท้อนว่า  ทุกคนมาเติมเต็มความงามที่ขาดหายไปจากชีวิต หรือเรากำลังแสวงหาโลกใหม่ซึ่งเราไม่เคยได้สัมผัส และคิดว่าน่าจะดีไปกว่าโลกปัจจุบันที่มีอยู่.......................... เพราะมาถึงวันนี้ ปลายเดือนมกราคม สวนสาธารณะของเชียงใหม่เดินทางมาถึงกำหนดงานดอกไม้ประจำปี อีกครั้งฉันได้ยินเสียงตอบเบาๆ ของใครบางคน ที่ถูกชวนไปร่วมงานว่า“ไม่ไปหรอก ทีนี่ไม่เห็นมีอะไร เราได้ดูดอกทิวลิปมาแล้ว ดอกไม้อื่นๆ ธรรมดามาก สู้ไม่ได้อีกแล้ว”..............................
พันธกุมภา
มีนาถึง พันธกุมภา…แม้ว่าฉันจะไม่ได้ไปที่วัดป่าสุคะโตกับเธอ ฉันเห็นบรรยากาศไปพร้อมกับการเล่าสู่กันของเธอ อดไม่ได้ที่จะนึกถึง “ความกลัว” ตั้งแต่เด็ก เรามักถูกขู่ให้กลัวอยู่เสมอ เมื่อพ่อแม่เลี้ยงเรามา รัก ดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เด็กเล็กๆ มีความอยากรู้อยากเห็นเป็นของตัวเอง เขาเพิ่งเกิดใหม่ ยังไม่รู้ว่า ไฟมันร้อน น้ำในบ่อมันลึกหรือตื้นเพียงไหน ปลั๊กไฟห้ามเอานิ้วแหย่เข้าไป อาจจะเดินไปไหนไกลๆ โดยพ่อแม่ไม่เห็นแล้วประสบอันตรายสิ่งที่เด็กไม่ได้ประสบกับตัวเอง เด็กไม่รู้ว่าอันตราย ไฟมันร้อน น้ำมันลึก เป็นอย่างไร พ่อแม่จึงมักดึงเอาสัญชาติญาณด้านลึกคือความกลัวออกมา การขู่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็น ตุ๊กแก ตำรวจ คนบ้า ผี ฯลฯ อีกมากมายที่หล่อหลอมเรามาความกลัว เมื่อสัมพันธ์กับสิ่งใด นอกจากเราจะไม่แย่กว่า เรากลัวสิ่งนั้นจริงๆ หรือความกลัวที่อยู่ด้านในของเรามากกว่าตอนเด็กๆ ฉันกลัวที่จะเห็นผี ฉันไม่รู้จักว่าผีหน้าตาเป็นอย่างไร อย่างน้อยผีอาจจะหน้าตาเหมือน ปู่ ย่า หรือตา ของฉัน เพราะเขาเหล่านั้นได้เสียชีวิตตั้งแต่ฉันยังเด็ก ถ้าฉันพบหน้าตาแบบในรูปที่บ้าน หมายความว่าเขาเหล่านั้นเป็นผี ใช่ไหม แต่ตลอดช่วงชีวิตของฉัน ฉันไม่เคยเห็นเขาเลย แม้ว่าจะรู้ว่าเขาเคยมีชีวิตอยู่จริงหรือจริงๆ แล้ว ฉันกลัวความตายกันแน่...หากเปรียบกับชีวิตที่ฉันดำเนินอยู่ในเมือง ต้องพบเจอผู้คนมากมาย ทั้งที่รู้จัก ไม่รู้จัก และไม่สามารถรับรู้สิ่งที่เขาคิดได้ ไม่รู้ว่าเขาคิดดี คิดร้าย เป็นคนดีหรือคนร้าย เราเรียนรู้...ว่า คนเรารู้หน้าไม่รู้ใจ ประสบการณ์ชีวิตกับความกลัว สอนให้เรากลัวคนอื่นมากกว่ากลัวตัวเราเองทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เราประสบกับความกลัวของตัวเองมากกว่ากลัวคนอื่น เหตุการณ์ครั้งหนึ่งของฉัน ที่ทำให้คลี่คลายจุดนี้คือ ฉันมักชอบอ่านดวงชะตาชีวิตผ่านหนังสือต่างๆ ที่เพื่อนๆ บอกว่าแม่น! ...แล้วอย่างไร ฉันกลัวมาก เมื่อเขาเขียนว่า วันนี้ต้องระวังนั่น ระวังนี่ “ให้ระวังคนจะทำร้ายจิตใจ แล้วมีผลกระทบกับการงาน”  วันนั้นไม่เป็นอันทำอะไร ได้แต่ระวังว่า คนที่เขาไม่ชอบเราอยู่แล้วจะเล่นงานเราอย่างไร นอกจากสิ่งที่ได้คือความเครียดแล้ว ยังทำให้เราไม่มีความสุข ไม่สนุก เราไม่ได้จดจ่ออยู่กับการทำงาน มัวแต่กังวลว่าเขาจะทำอะไรเรา เราจะถูกเล่นงานอย่างไร แท้จริงแล้ว ความกลัวคือสิ่งที่อยู่ในใจของฉันนี่เอง มากกว่าความกลัวในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หากเรามีสติและใช้ปัญญาที่เรามี แก้ไขสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นจริง เราก็จะผ่านพ้นมันไปได้ความกลัวของคนเมืองหรือคนสมัยใหม่ (modern human) มันลึกซึ้งกว่าการทำร้ายจิตใจซึ่งกันและกัน ทั้งกลัวว่าจะไม่มีงาน กลัวว่าคนที่ทำงานกับเราจะแย่งผลงานของเรา กลัวเราเก่ง/ไม่มีความสามารถเท่าเทียมกับคนอื่นการแข่งขันกันในที่ทำงาน ในสำนักงาน ผู้ที่ได้รับประโยชน์มักเป็นองค์กรหรือสถาบัน หรือจะชี้ให้ถูกจุดก็คือ คนที่เป็นเจ้าของบริษัทหรือสถาบันนั้น ยิ่งลูกน้องแข่งขันกันทำงานให้ดีมากเท่าไร ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน ชื่อเสียงก็ย่อมอยู่กับองค์กรนั้นๆ มากขึ้นแล้วจะทำอย่างไรให้เรามีสติและใช้ปัญญากับความกลัวเหล่านั้นได้...จะมีอะไรดีไปกว่าการฝึก ใช้สติ และมีหลักธรรม คือความเป็นจริงตามธรรมชาติเป็นหลักในการไม่ทำร้ายกัน ซึ่งหากสถาบัน องค์กรใดๆ มีการสร้างระบบที่ดีก็จะช่วยให้คนที่แข่งขันกัน อยู่ในกฎ กติกา อย่างเช่น การสอบเพื่อให้ได้งาน มีความยุติธรรม ผู้เลือกและผู้ถูกเลือกเป็นคนที่มีความสามารถจริงๆแต่คนเราเดี๋ยวนี้ มักมีความสามารถ ความเก่ง มาอยู่แถวหน้าได้ จากการแข่งขันแล้วเป็นผู้ชนะที่เห็นได้ภายนอก ทั้งการเลื่อนตำแหน่ง การประกวด คนที่ได้ที่ 1 มีคนเดียวเสมอ หากการประกวด การสอบแข่งขัน หรือการเลื่อนตำแหน่งนั้น ไม่ได้ใช้ความยุติธรรมในมือของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ย่อมได้คนที่มีความสามารถหากเราเป็นคนที่แข่งขันในเกมนี้ แล้วเราเป็นผู้ชนะในเกม แล้วเราเอาชนะความกลัวในขณะที่เราแข่งขันมาได้อย่างไร บางคนภาคภูมิใจในการแข่งชนะ เพราะเขาแข่งด้วยความสามารถและสติปัญญาที่แท้จริง บางคนแม้จะชนะแต่ไม่ภาคภูมิใจเลยเพราะเขารู้ตัวว่า เขาไม่ได้ใช้สติปัญญาที่แท้จริงมาแข่ง เขาย่อมกลัว  กลัวว่าคนอื่นจะรู้ กลัวว่าแล้วเขาจะรักษาชัยชนะอย่างไรนอกจากความกลัวและการแข่งขันนี้แล้ว ความกลัวยังเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์พยายามเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์ที่อยู่ภายใต้ธรรมชาติที่โหดร้าย อย่างทะเลทราย นอกจากมีความรู้เรื่องการอยู่กับทะเลทราย พายุทะเลทรายแล้ว ยังพยายามสร้างเครื่องมือ การป้องกันตัวให้พ้นจากธรรมชาติที่โหดร้าย และสามารถใช้เครื่องมือ ความรู้เพื่อการอยู่รอดอีกด้วยความกลัว...นอกจากจะมีด้านไม่ดีแล้ว ยังมีด้านดี อันเป็นปัจจัยผลักให้มนุษย์ได้เรียนรู้ ไม่ต่างอะไรกับการที่พันธกุมภาเจอะเจอกับความกลัวที่หลุมศพ แล้วผ่านมันมาได้ แท้จริงแล้ว ไม่มีความกลัวใดในมนุษย์ เท่ากับความกลัวที่อยู่ในใจของตนเลย
ภู เชียงดาว
เมื่อวันก่อน เพื่อนนักเขียนสาวเมืองเหนือ นาม “สร้อยแก้ว คำมาลา” ส่งข่าวมาบอกว่า จะเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ที่ ‘ร้านเล่า’ เชียงใหม่ ในช่วงเย็น วันที่ 12 ก.พ.นี้ พร้อมกับชักชวนผมเข้าไปร่วมวงคุยกับศิลปินนักเขียนเมืองเหนือกันด้วย“ชื่อหนังสือ... เพราะคิดถึง... เป็นรวมความเรียงที่เคยเขียนไว้ในนิตยสารสานใจคนรักป่าเมื่อปีก่อนๆ แต่เพิ่งเอามารวมเล่มเจ้า” เสียงหวานๆ ของเธอบอกเล่าให้ฟัง“ปกสีชมพูอีกแม่นก่อ...” ผมแหย่เธอเล่น“แม่นแล้ว...สีชมพูหวานแหววเลยแหละ...” เธอรีบบอกพร้อมเสียงหัวเราะเบาๆ
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ซึ่งคุ้นเคยกันดีในนามวรรณกรรมแนวสังคมเพื่อชีวิต        คลื่นทะเลใต้ เป็นหนังสือรวม ๑๒ เรื่องสั้นของนักเขียนภาคใต้ โดยทุกเรื่องที่นำมารวมพิมพ์เป็นเล่มนี้ต่างก็มีดีกรีรางวัลรองรับทั้งสิ้น และมีถึง ๒ นักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรต์ คือ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และไพฑูรย์ ธัญญา  ขณะที่คำจำกัดความของ “นักเขียนใต้” ดังกล่าว ได้บอกเราว่านักเขียนทุกคนที่มีผลงานอยู่ในเล่ม คลื่นทะเลใต้ นี้ เป็นคนใต้โดยถิ่นกำเนิด แต่หากเราจะพิจารณาโดยตัดเอา “ความเป็นใต้” ในความหมายนั้นออกไป และมองอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น (แม้จะขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของคณะผู้จัดทำหรือบทความของ พิเชฐ แสงทอง ที่มุ่งให้ความรู้เชิงวิชาการในหัวข้อเรื่อง ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของนักเขียนใต้ เหล่านี้ออกไปเสีย )แล้วพิจารณาว่า คลื่นทะเลใต้ เป็นการรวบรวมเรื่องสั้นชั้นเลิศของยอดฝีมือเพื่อเป็นเกียรติยศแก่นักเขียนและผู้อ่าน จัดพิมพ์เพื่อเป็นกรณีให้ศึกษาด้านวรรณกรรม สังคม ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯลฯ สามารถอ้างอิงได้นั้น เป็นเรื่องน่ายกย่องยินดียิ่ง ทั้งนี้ นอกเหนือจากความเป็นภาคพื้นถิ่นจำเพาะทั้งจากนักเขียน บรรยากาศ ทัศนคติ เหล่านั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบที่จะนำไปสู่เนื้อหาอันเป็นสากล ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้เรื่องสั้นทั้ง ๑๒ เรื่องนั้น สามารถเรียกได้ว่าเป็นแนวเพื่อชีวิตดังที่เราคุ้นเคยทั้งสิ้น หากจะวกวนอยู่กับข้อจำกัดของวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนั้น ออกจะเป็นการน่าเบื่อสักหน่อย เนื่องจากเราต่างก็รู้กันว่าวรรณกรรมแนวนี้มีข้อด้อยข้อเด่นอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงขอกล่าวถึงบางเรื่องที่น่าสนใจโดยพึ่งวิสัยอันเจ้ากี้เจ้าการของข้าพเจ้าสักนิด และหากบทความจะยาวเกินเวลาไปบ้าง จึงขออนุญาตแบ่งเป็น ๒ ตอน ๑. กรรมวิธีการปรุงสุนทรียภาพของนักเขียนวรรณกรรมเป็นกิจกรรมสังคมอย่างหนึ่ง มีข้อยกเว้นอันเป็นเหตุบังเอิญอยู่เช่น สมุดบันทึกประจำวันซึ่งไม่ได้ตั้งใจจะให้ใครเอาไปพิมพ์เผยแพร่ แต่วรรณกรรมโดยทั่วไปนั้นตั้งใจเขียนให้คนอ่าน แม้แต่เสียงของกวีที่รำพึงกับตัวเอง ก็หมายให้คนอื่นได้ยินด้วย ดังนั้นวรรณกรรมทุกเรื่องจึงเขียนขึ้นสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อจุดมุ่งหมายหนึ่งใด ๆ เราจะแสร้งละเลยเรื่องจำพวก วรรณกรรม “พูดเพื่อ” หรือ “พูดกับ” คนกลุ่มใด เพื่ออะไร เพราะแน่นอนว่าวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนั้นมักจะพูดเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชนชั้นที่ถูกกล่าวถึง แต่เราจะมาตั้งข้อสังเกตร่วมกันว่า ทำไมเรื่องสั้นวรรณกรรมแต่ละเรื่อง จึงต้องมี “บางอย่าง” เช่น สัญลักษณ์  บรรยากาศ ตัวละครบางตัว หรือบทสนทนาบางคำ ที่บางครั้งก็อาจจะ “ดูเหมือน” ไม่จำเป็นต่อเอกภาพของเรื่องเลยขอยกเอาเรื่องสั้น สะพานขาด ที่ได้รับรางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๓๒ ของนักเขียนผู้ล่วงลับ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ มากล่าวถึงเป็นลำดับแรกในเล่ม คลื่นทะเลใต้สะพานขาด พูดถึงสมรภูมิความขัดแย้งที่แทรกซึมอยู่ในทุกองค์ประกอบของสังคม เป็นเรื่องของชายสองพี่น้อง ที่คนพี่เติบโตเป็นทหารของรัฐ ส่วนคนน้องเป็นทหารของรัฐฝ่ายตรงข้าม เรื่องถูกเล่าผ่านกระแสสำนึกของพี่ชายขณะออกสู่สมรภูมิ โดยแต่ละเรื่องย่อยที่เกี่ยวร้อยเข้ากับแกนของเรื่องต่างถูกกระตุ้นจากกลิ่น เสียง บรรยากาศรอบข้างของจังหวัดชายแดนใต้ วิธีการของกนกพงศ์คือการเลือกหยิบเอาบรรยากาศและเงื่อนไขอื่นที่ลดหลั่นกันเข้ามาเชื่อมต่อ จัดเรียงเข้ากับวิธีการนำเสนอแบบจี้จุดไปที่ความขัดแย้งของ ๒ ขั้วตรงข้ามตลอดทั้งเรื่อง โดยเน้นสัญลักษณ์คือ สะพาน เพื่อเชื่อมโยง ๒ ขั้วต่างเข้าไว้ด้วยกัน แต่ในเรื่องสะพานขาดนั้นกลับไม่ได้ทำหน้าที่เชื่อมต่อ หากแต่ทำหน้าที่ตัดสายสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ขั้ว  ทั้งนี้ตลอดเรื่องกนกพงศ์พยายามใช้อุปมาโวหาร เปรียบเทียบอะไรก็ตามให้มองเห็นเป็น ๒ ขั้วจัดเจนมาก เพื่อสนองต่อนโยบายของความเป็นเอกภาพของเรื่อง ดังหน้า ๑๓๖เราอยู่ในหมู่บ้านอันสงบ มีทุ่งนากว้างไกลจรดขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกสำหรับพระอาทิตย์ขึ้น และจรดเทือกเขายาวเหยียดด้านทิศตะวันตกสำหรับพระอาทิตย์ลงนั่นก็ชัดเจน หรือการเปรียบเทียบกับเกมตำรวจจับผู้ร้าย นอกจากนี้ยังเลือกหยิบความทรงจำในวัยเด็กมาเล่าเพื่อเพิ่มแรงสะเทือนใจ เลือกการใช้กระแสสำนึกของคนเล่า (สรรพนามบุรุษที่ ๑ ) ทำให้เกิดสภาวะกึ่งจริงกึ่งฝันนิด ๆ อีกด้วย             บรรยากาศของเรื่องมีรายละเอียดย่อยที่ลดหลั่นกันอีกมาก จึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดกับจุดขัดแย้งในเรื่องที่ล้นเหลือ แม้กระทั่งผู้เขียนเองยังสารภาพออกมาตรง ๆ ว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความขัดแย้ง  (จากหน้า ๑๔๐ )องค์ประกอบย่อยเหล่านี้ดูหลากหลายและขัดแย้งกันจนพรุนไปหมด แต่หากขาดการจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว อาจดูเรื่องสั้นที่หละหลวมและล่มไม่เป็นท่า แต่กนกพงศ์สามารถคิดสร้างอย่างละเอียดลออและเข้มข้นยิ่ง สำหรับเรื่องสะพานขาดนี้เมื่อกนกพงศ์ปรุงและย่อยองค์ประกอบต่าง ๆ จนเสร็จสรรพแล้วป้อนเข้าปากผู้อ่านนั้น ผู้อ่านจึงแทบไม่ต้องเคี้ยวอีกเลย ก็เหมือนกับผู้อ่านเป็นผู้รับเสพแต่เพียงฝ่ายเดียว ขณะที่กนกพงศ์ได้ให้ความคาดหวังว่ารสสัมผัสจะยังติดตรึงอยู่กับผู้อ่านไปอีกนาน เพราะเขาไม่ได้ทำการพิพากษาเหตุการณ์ในเรื่องมากนักเพียงแต่ยกเอาเฉพาะเหตุการณ์มาให้ผู้อ่านทำหน้าที่พิพากษาเองเทียบเคียงกับเรื่อง โลกใบเล็กของซัลมาน  เรื่องสั้นรางวัลช่อการะเกด ๒๕๓๓  เป็นเรื่องสั้นที่เล่าอย่างนุ่มนวลมากขึ้นกว่า สะพานขาด โดยต้องยอมรับว่ากนกพงศ์ไม่ใช่นักเขียนที่จะมองผ่านแบบปราดเดียวแล้วสามารถมองเห็นวิธีคิดของเขาได้ปรุโปร่ง เนื่องจากเขารู้จักสิ่งผิดปกติของเรื่องสั้น สามารถจับคู่ขั้วความขัดแย้งได้อยู่มือ ทั้งเขายังตระหนักได้ถึงคำว่า ฉลาด ล้ำ การจงใจ เหตุผล ยัดเยียด  รุงรัง โง่ เขลา หรือการเสแสร้ง แกล้งโง่ อารมณ์ขัน ฝัน จริง ฯลฯ ทั้งมวลนี้ล้วนเป็นวิทยาการของการเขียนเรื่องสั้นของกนกพงศ์ทั้งสิ้น  เขารู้จักตัวเองและผลงานของตัวเองดีกว่านักเขียนหลายคน นั่นจึงทำให้เขารู้ว่าควรทำอย่างไร เพื่ออะไร และนั่นคือกนกพงศ์ นักเขียนผู้ล่วงลับ ผู้เคยกล่าวว่าสำหรับเขาวรรณกรรมเป็นศาสนา  ด้วยความนับถือยิ่งกับนักเขียนรางวัลซีไรต์อีกคน ไพฑูรย์ ธัญญา จากเรื่อง ปลาตะเพียน วรรณกรรมยกย่องประเภทเรื่องสั้น ปี ๒๕๓๔ จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นนักเขียนอีกคนที่รู้จักข้อดี ข้อเด่นของผลงานตัวเองและคนอื่น  เขารู้ว่าเรื่องสั้นจะแข้งกร้าว กระด้างไปอย่างไร และควรลด-เพิ่มอะไร ตรงไหน ปลาตะเพียน เป็นเรื่องสั้นที่แบ่งขั้วขัดแย้งเป็น ๒ ฝ่ายชัดเจน คือฝ่ายขนบเก่าดั้งเดิมและฝ่ายโลกสมัยใหม่เน้นการอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ ปฏิเสธของเก่าอย่างไสยศาสตร์อย่างไร้เหตุผล ซึ่งโดยวิธีคิดแบบนี้ก็ขัดแย้งกับตัววิธีแบบเป็นเหตุเป็นผลอย่างวิทยาศาสตร์เองด้วย  ทั้ง ๒ ขั้วขัดแย้งนี้ยังอิงกับสัญลักษณ์จากตัวละคร คือยายช้อยและน้องสาว ซึ่งก็คือ ๒ ขั้วตรงข้ามกัน    เนื้อหาของเรื่องเป็นการปะทะกันระหว่างแนวคิด ๒ ขั้วที่สุดท้ายกลับสมานกันได้ด้วยสภาวะหนึ่ง โดยอาศัยความจำยอม และผ่อนปรนของแต่ละฝ่าย ซึ่งในเรื่องใช้ ปลาตะเพียน สัญลักษณ์แทนความทรงจำอันอบอุ่น ความรัก เข้ามาเป็นสื่อกลาง เป็นทั้งตัวแทนปัญหาและตัวคลายปัญหาลักษณะแบบมนุษยนิยมในเรื่องสั้นนี้ เน้นให้เห็นถึงพัฒนาการของทัศนะคติของตัวละครไปสู่จุดคลี่คลายในตอนจบของเรื่อง ซึ่งวิธีการของไพฑูรย์นี้เองที่ได้เปิดประตูวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตไปสู่โลกใหม่กับเนื้อหาเชิงศีลธรรมที่ว่า การยอมรับในความเป็นอื่น ไม่ใช่การหักล้างซึ่งกันและกัน จะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขโดยความต่างก็ยังคงดำรงอยู่  ขณะที่เรื่อง แข่งหนังตะลุง ของ ภิญโญ ศรีจำลอง ที่แบ่งเป็น ๒ ขั้วขัดแย้งในลักษณะเดียวกัน แต่ต่างเหตุการณ์และบรรยากาศของเรื่อง โดยแข่งหนังตะลุงเป็นเรื่องของนายหนังสองคณะที่แสดงประชันกัน และนายหนังของสองคณะก็ต่างกันตรงที่คนแรกเป็นตัวแทนของนายหนังรุ่นเก่า ใจนักเลง มากเมีย และดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ตรงข้ามกันนายหนังหนุ่มรุ่นใหม่ แต่สุดท้ายทั้งคู่ต่างก็ยอมรับในความเป็นอื่นของกัน เช่นเดียวกับเรื่องปลาตะเพียนกับเรื่อง คือชีวิต...และเลือดเนื้อ ของไพฑูรย์ เรื่องสั้นชนะเลิศในการประกวดเรื่องสั้นโครงการหอสมุดเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ครูเทพ) ปี ๒๕๒๖ ที่พูดถึงการยอมรับในความเป็นอื่น แต่เรื่องนี้เน้นการสร้างบรรยากาศให้เข้ามามีอิทธิพลเหนือแนวคิดแบบเพื่อชีวิต และไม่แบ่งขั้วขัดแย้งชัดเจน แต่สร้างให้คู่ปฏิปักษ์ต่างตกอยู่ในสภาวะดุจเดียวกัน เรื่องเล่าถึงแม่ผู้ท้องแก่กับลูกสาวตัวน้อยที่ต้องเผชิญชะตาลำพังในหนทางที่อัตคัดแสนเข็ญ เนื่องจากพ่อ,สามีทิ้งนางไปตั้งแต่เริ่มตั้งท้องใหม่ ๆ  หากจะนับว่าเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมก็ถูกต้อง แต่เป็นโศกนาฏกรรมที่มีความอิ่มเอมใจอันงดงาม เพราะจุดพลิกผันของเรื่องอยู่ที่ มีนางหมาแก่ขี้เรื้อนเข้ามาขโมยไข่ไก่ที่นางเลี้ยงไว้เก็บไข่ให้ลูกสาวตัวน้อยกิน เรื่องดำเนินไปถึงจุดคลี่คลายที่สองฝ่ายต่างเห็นใจ เข้าใจซึ่งกันและกัน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของตัวละครคือ แม่ผู้ท้องแก่นั้น เปลี่ยนจากความเกลียดชังคั่งแค้นหมายเอาชีวิตหมาแม่ลูกอ่อนมาเป็นการให้อภัยและนางก็พบสุขใจด้วย ดังในตอนจบของเรื่อง  หน้า ๘๔นางหันไปสบตากับลูกน้อย ยิ้มอย่างมีความสุข รู้สึกอบอุ่นและมั่นใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน. แม้จะฟังดูห้วนและง่ายเกินไป แต่อย่างน้อยผู้อ่านก็จะได้เห็นแววของความสุขและรอยยิ้มเป็นครั้งแรกของเรื่อง ในรวมเรื่องสั้นคลื่นทะเลใต้เล่มนี้ แม้นจะรู้สึกได้ในแวบแรกว่าเป็นเรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตทั้งสิ้น แต่ทุกเรื่องล้วนมีประตูบานหนึ่งที่จะผลักห้องของแนวเพื่อชีวิตออกไปสู่โลกภายนอก โลกเบื้องหน้าของประตูบานนี้จะแปลกตาเท่าที่เราคาดหวังหรือไม่ หากมีจังหวะเหมาะ ๆ ก็น่าจะหามาอ่าน แต่อย่าลืมว่า- -ยังมีเรื่องสั้นของนักเขียนยอดฝีมืออีกหลายคนที่จะนำมาบอกเล่าให้เห็น... ในตอนที่ ๒
ชิ สุวิชาน
“ผมมีเพื่อนปกาเกอะญอมาด้วยคนหนึ่ง” ผมบอกกับคนดูผมได้ไปพบ และได้ไปฟัง เพลงที่เขาร้อง ณ ริมฝั่งสาละวิน ทำให้ผมเกิดความประทับใจในท่วงทำนองและความหมายของบทเพลงรวมทั้งตัวเขาด้วยผมทราบมาว่าตอนนี้เขาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่  ผมจึงไม่พลาดโอกาสทีจะชักชวนเขามาร่วม บอกเล่าเรื่องราวของชนเผ่า ผ่านบทเพลงที่ผมประทับใจ ซึ่งแรก ๆ นั้น เขาแบ่งรับ แบ่งสู้  ที่จะตอบรับการชักชวนชองผม แต่ผมก็ชักแม่น้ำทั้งห้า จนเขาหมดหนทางปฏิเสธ“ผมไม่คุ้นเคยกับการร้องเพลงต่อหน้าคนมาก ๆ นะ” เขาออกตัวกับผมก่อนวันงาน แต่เมื่อถึงวันงานเขาก็ไม่ทำให้ผมผิดหวัง เขาเดินออกมาแบบเกร็งๆ และประหม่าอย่างเห็นได้ชัด เขาจะยืนตรงก็ไม่ใช่ จะยืนเท้าเอวก็ไม่เชิง “ตอนขึ้นต้นช่วยร้องนำให้หน่อยนะ ผมไม่มั่นใจ ผมกลัวขึ้นไม่ถูก” เขากระซิบข้างผมก่อนจะร้องเพลง ผมพยักหน้าตอบและยิ้ม ๆ เพื่อให้เขารู้สึกอุ่นใจขึ้น ผมบีบแขนเขา เพื่อให้เขาหายเกร็ง เขาหันกลับมายิ้มแบบเกร็ง ๆ อยู่เหมือนเดิม  เมื่อผมเริ่มบรรเลงเตหน่า เขาเริ่มทำหน้าเครียดทันที เขาพยายามฟังเตหน่าของผม และพยายามดูหน้าของผม เผื่อผมจะส่งสัญญาณให้ขึ้นต้นร้องเพลง  และแล้วเขาก็เริ่มต้นร้องพลาดจนได้ แต่ผมส่งสัญญาณให้เขาเดินหน้าร้องต่อไป  เขาไม่ลังเลอีกแล้ว เขาเปล่งเสียงร้องต่อแบบสั่น ๆ นิดหน่อย
นาโก๊ะลี
เคยได้ฟังมาว่า  ครั้งหนึ่งเออเนส เฮมมิงเวย์ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า ภาวะที่ดีที่สุดสำหรับนักเขียน คือภาวะที่เปลี่ยวเหงาโดดเดี่ยว  เมื่อไรก็ตามที่นักเขียนเป็นที่รู้จักของมหาชนมากขึ้น ยื่งมากขึ้นเท่าใด พลังแห่งการสร้างสรรค์ของนักเขียนก็จะยิ่งเหือดหายไป.....................  เมื่อคราวแรกที่ดูหนังเรื่อง Finding Forester  ก็สงสัยว่า ตัวละครหลักของเรื่องคือ William Forester  ซึ่งเป็นนักเขียนมีชื่อเสียง เขียนหนังสือเล่มเดียวแล้วก็ไปเก็บตัวอยู่โดดเดี่ยวในห้องเช่าเล็กๆ ในเขตคนผิวดำ  แล้วก็ไม่มีผลงานตีพิมพ์อีกเลย  เมื่อดูหนังเรื่องนี้หลายรอบเข้า  ว่าก็ปาเข้าไป ห้าถึงหกรอบเข้าไปแล้ว ถึงได้รู้ว่า  สาเหตุที่เขาไม่เขียนหนังสืออีก คือ (ในเรื่องเขาเล่าเรื่องนี้ให้ เด็กหนุ่มชื่อ จามอล วอลเลส ฟัง) พี่ชายเขาป่วย เขาพาพี่ชายไปโรงพยาบาล ยามนั้นเขาเป็นนักเขียนชื่อดัง  พยาบาลซึ่งแทนที่จะใช้เวลาดูแลคนป่วย กลับมาถามแต่เรื่องงานเขียน หนังสือ หรือเรื่องราวอื่นๆ กับเขา  หลังจากพี่ชายตาย เขาก็เลิกเขียน หรือเขียนแต่ไม่ได้พิมพ์งาน  แล้วก็มาอาศัยในห้องเช่าเล็ก ๆ  ในเขตบล็อง   ว่ากันต่อมาว่า  ชีวิตนักเขียนต้องเดินทาง ไปใกล้ไปไกลอย่างไรก็ขอให้ได้ไป  การได้ไปสัมผัสชีวิตในมิติต่างๆ  พบเจอเรื่องราวต่างๆ  ทำให้ได้แรงบันดาลใจ  ทำให้ได้รับฟังและเก็บเรื่องราว  และสิ่งสำคัญก็คือการฟัง  ว่าในแง่การฟังก็เป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งของชีวิต กับการเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผู้คนและธรรมชาติ  ครั้งหนึ่งผู้เฒ่าในเมือง ตั้งคำถามกับผู้เฒ่าบนดอยว่า มีที่ดินสามสิบไร่ในเมืองเป็นที่ยังรกร้างว่างเปล่า  จะทำอะไรในที่ดินผืนนั้น  ผู้เฒ่าบนดอยบอกผู้เฒ่าในเมืองว่า ท่านต้องไปที่นั่นบ่อยๆ อาจจะพักค้างคืนที่นั่นบ้าง แล้วรอฟังเสียง  ฟังว่าผืนดินนั้นจะบอกให้ท่านทำอะไร  ถ้าท่านฟัง  ท่านจะได้ยิน    เวลาต่อมาผู้เฒ่าในเมือง ก็ไปที่ผืนดินนั้น บ่อยเข้า  ในที่สุดที่ดินผืนนั้นก็กลายเป็นทุ่งนา  แม้ว่าชาวบ้านละแวกนั้นจะวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เอาที่ดินราคาหลายร้อยล้านมาทำนาก็ตาม  เช่นนั้นเอง.....   การเดินทางของนักเขียนจะมีความหมายอะไร  หากว่าเขาไม่ได้ ฟัง  นั่นเพราะว่า นักเขียนก็คือนักเล่าเรื่อง ด้วยอักษร ถ้อยคำอักษร  ความจริงก็อาจจะไม่ต่างจากถ้อยคำที่กล่าวออกไป  ความหมายของมันจึงงดงามในความที่ว่า  เรื่องราวเหล่านั้นถูกร้อยเรียงออกมาด้วยความงดงาม  สิ่งที่ถูกบอกเล่าคือ ภูมิปัญญาบรรพชน  หลอมรวมกับความรู้สึกนึกคิดของผู้เล่า ซึ่งประกอบไปด้วยการเกื้อหนุนมากมาย ทั้งพ่อแม่พี่น้อง ทุ่งนาป่าเขา แม่น้ำลำคลอง  ทั้งหมดนั้นส่งผ่านวิญญาณนักเล่าเรื่อง  ให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว  เช่นนั้นเอง เรื่องราวที่เล่าก็หาใช่เรื่องราวที่เขาสร้าง  หากแต่องค์ประกอบทั้งหลายนั้นล้วนมีส่วนต่อถ้อยความทั้งหลาย ในภาวะอันโดดเดี่ยวของนักเขียน  ความจริงจึงมิอาจโดดเดี่ยว  ตราบใดที่เขายังบอกเล่าเรื่องราวทั้งของตัวเอง และของผู้อื่น  เขาจะโดดเดี่ยวไปได้อย่างไร  แต่ความหมายก็คือ  โอกาสในการที่จะได้ฟังเรื่องราวต่างๆ  นั้นจะได้มาอย่างไร  การเดินทางที่สามารถเกื้อหนุนการรับฟังนั้นจะเกื้อกูลอย่างไร  แล้วสภาวะใดเล่าที่ดีที่สุด  คำตอบก็คือ ขณะนี้.........
พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
  .............. ว่ากันว่า...โชคลาภวาสนาเป็นเรื่องชะตาลิขิต แต่ถึงอย่างนั้นในฐานะชาวพุทธ คงจะละเลยเรื่องเหตุปัจจัยและ "กรรม-วิบากกรรม" ไปไม่ได้ .............. จะอย่างไรก็แล้วแต่ถึงบัดนี้ คุณสมัคร สุนทรเวช ก็เป็นนายกรัฐมนตรีที่ผ่านขั้นตอนแบไทยๆ คือมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าเรียบร้อยแล้วรอเพียงการเสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโปรดเกล้าฯ และเสนอนโยบายรัฐบาลผ่านสภาฯ ... คำปรามาสของใครต่อใครก็จะกลายเป็นการดูหมิ่นและอาจนำไปสู่ระดับที่คุณสมัครถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทไปได้ในที่สุด สรุปความได้ ว่า "นายกรัฐมนตรี คนที่ 25" คือ นายสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง "คนแรก" ของรัฐธรรมนูญ 2550อันมีที่มาจากสภานิติบัญญัติ และสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งผูกพัน หรือเกี่ยวข้อง กับ "คมช." หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติอันเกิดขึ้นเพราะการรัฐประหาร เมื่อ 19 กันยายน 2549ที่นำโดยผู้นำเหล่าทัพ และผู้นำตำรวจ กับพลเรือนจำนวนหนึ่ง เป็นรัฐประหารที่มีชาวบ้านชาวเมืองชื่นชมในเบื้องต้นก่อนจะก่นด่าในช่วงกลาง และหันมาเทคะแนนให้พรรคพลังประชาชนของคุณทักษิณในท้ายที่สุด... ดังที่คุณสมัคร ได้อนิสงส์ อยู่ในบัดนี้นี่เอง .............. การก้าวเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐ ของพรรคพลังประชาชนถึงจะปฏิเสธอย่างไร ก็ยากจะมีคนเชื่อถือ ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ พรรคไทยรักไทย และอดีตผู้บริหารพรรค ทรท.คณะเดิม ชัยชนะของพรรคพลังประชาชนจึงมักถูกศัตรูทางการเมือง ตราหน้าว่าเป็นชัยชนะของ "นอมินี" ทางการเมืองทั้งระดับตัวบุคคล และระดับพรรค จะว่าไปแล้วระยะแรกคุณสมัครก็ยอมรับก่อนจะมาปฏิเสธในภายหลัง เมื่อบางฝ่ายจะถือเป็นเหตุบ่งชี้ให้ พปช.ผิดกฎหมายร้ายแรงถึงระดับยุบพรรค แต่เมื่อกล่าวอย่างถึงที่สุดจะนอมินีหรือไม่ คุณทักษิณชักใยหรือไม่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งก็ลงคะแนนให้ สส. ของพรรคนี้และลงคะแนนให้มากกว่าพรรคอื่นๆ ทุกๆ พรรคเสียด้วย เป็นชัยชนะถูกต้องและครบถ้วนตามเงื่อนไขของกติกา-กฎหมาย และกระบวนการตรวจสอบโดยองค์กรของรัฐ ที่ดูแลรับผิดชอบ ตามขั้นตอนที่วางไว้ กล่าวได้แบบไทยๆ ว่าไม่ผิดเพราะอย่างน้อย ความผิดก็ไม่มีใครจับได้ไล่ทัน .............. ชัยชนะตามกติกาได้ตำแหน่งโดยผ่านกระบวนการถูกต้องและครบถ้วน ถึงใครจะหมั่นไส้ ใครจะไม่ชอบหน้าใครจะติเตียนการกระทำในอดีต ติเตียนแนวคิดปัจจุบันหรือรังเกียจภาพฝันทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในอนาคต และใครที่เบื่อหน่ายพฤติกรรมอันเนื่องมาจาก กาย วาจา และใจของ นายสมัคร สุนทรเวชก็ย่อมอิหลักอิเหลื่อ กับชัยชนะตามกติกาประชาธิปไตยอันจะว่าไปแล้วก็ถือได้ว่า นายกสมัครฯ ยังสง่างามกว่า พล.อ. สุรยุทธิ์ ณ คมช. เป็นไหนๆ ประชาธิปไตยของพวกเราบกพร่องหรือไม่ใครรู้ชัดก็อธิบายหน่อยเถิด ว่า..ทำไม "นายกฯ" และ"ว่าที่ ครม." ถึงมีสภาพอย่างที่เห็นๆ กันนี้ ทั้งๆ กุมเสียงข้างมาก และมีแบคอัพมหึมาพร้อมที่จะปกป้องดูแล และชักใยไปตามคติความเชื่อของ "เจ้าของ" ที่ยังเข้าประเทศไม่ได้ .............. โชคชะตาวาสนาบารมี "ดลบันดาล" แล้วเหตุปัจจัยในระบอบประชาธิปไตย เปิดโอกาส..และเอื้ออำนวยแล้วองคาพยพทั้งภาครัฐและราษฎรอำนวยให้ได้เป็นประมุขฝ่ายบริหารแล้ว กล่าวได้ว่าหลังจากนี้ไป ทั้งหลายทั้งปวงก็ขึ้นอยู่กับคุณสมัครและพรรคพวกเป็นหลัก(ถ้าไม่นับพวกผู้กำกับ หรือคนเขียนบท)ว่าจะบริหารโอกาสและเวลาให้มี ประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล อย่างไร อย่าลืมว่าอำนาจวาสนานั้นมีที่มาที่ไปมีเหตุ และมีปัจจัยตลอดจนมี "ต้นทุน" อยู่เสมอ นายกรัฐมนตรีตั้งแต่ท่านแรกจนถึงท่านสุดท้าย-ก่อนคุณสมัครก็ล้วนแล้วแต่มีบุญ มีบารมีด้วยกันทั้งสิ้นมีอำนาจ มีฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายคัดค้านมีทั้งฝ่ายช่วย และฝ่ายขัดขวางมากน้อยขึ้นอยู่กับหลายสิ่งหลายอย่างฉากจบของแต่ละท่าน จึงแปลกแยกและแตกต่างกันไป ก็ได้แต่หวังว่า คุณสมัคร จะสรุปบทเรียนและเตรียมฉากจบของตนเองและพรรคพวกได้ดีกว่า... หรือ "ดีที่สุด" กว่าที่เคยผ่านมา การเป็นนายกรัฐมนตรีอาจไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนมากความสามารถแต่ขณะเดียวกันก็อาจทำให้บั้นปลายชีวิตยุ่งยากยุ่งเหยิงพลัดที่นาคาที่อยู่เอาได้ง่ายๆ ประวัติศาสตร์จารึกไว้หลายแง่หลายมุมเลือกอ่านเอาเองเถิด "ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี  เจริญพร .............. 
กวีประชาไท
‘ไกล’ กลืนกิน, เกาะเกี่ยว,เชี่ยว               เหม่อริมคลองน้ำครำคลาย จมจ่อมแต่เน่าหนอน้ำ‘คลองใส’ผักบุ้งไหววาม ไม้ดอกริมน้ำนั้นเฉามือคนว่างงานผ่านกราย   วาสนาเจ้าดอกไม้   ขณะเมืองรุ่งเรืองนิรันดร์  ให้ปลาตัวผอมดอมกลิ่น      ให้กับโศกนาฏกรรม    เฮือกสุดท้ายแล้วหนอ ‘ปลา’      ปลอบเศร้า เจ้ารอต่อไป         ธารลับลดเลี้ยว เปลี่ยวสายวิโยคหาย สูญใจนามปลาผุดดำ หวังว่ายข้ามยามสาวเจ้าเล่นน้ำ – อายเน่าน้ำวิดเบาก็หายดอกไม้,น้ำเน่า เท่านั้นผลิใบมาเฉาเก่าฝันพลันเจ้าล้มจมน้ำครำร่ำรินน้ำตา อกร่ำผุดช้ำดำผุด สุดใจปรารถนาน้ำคำไหน‘น้ำครำไม่มี’ ไม่มี‘รัก’วันนี้จมน้ำคำ! กังวาลไพร นามฯกลุ่มโดยสารวรรณกรรม

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม