Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

นาลกะ
วันนี้เพื่อนร่วมชั้นเรียนคนหนึ่งของสายรุ้งมาโรงเรียนสาย พอครูถามเขาก็ตอบว่าที่บ้านเขากำลังมีปัญหา พ่อของเขาป่วยหนัก เมื่อสายรุ้งเห็นแววตาเศร้าสร้อยของเพื่อนนักเรียนคนนั้นแล้วรู้สึกสงสารจับใจ เพื่อนนักเรียนกำลังจะร้องไห้อยู่แล้วตอนที่ตอบคำถามของครู เป็นไปได้ว่าสายรุ้งอาจกำลังคิดถึงตัวเองที่สูญเสียพ่อไปตั้งแต่ยังเล็ก แล้วก็เลยเข้าใจความรู้สึกของเพื่อนนักเรียนคนนั้นดีว่าจะต้องเสียใจมากเพียงใดหากพ่อของเขาต้องมีอันเป็นไป อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนไม่ได้รู้สึกอย่างที่สายรุ้งรู้สึก ความทุกข์ใจของเพื่อนนักเรียนอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยของพ่อซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวนั้น กลายเป็นหัวข้อสนทนาอย่างออกรสชาติของเด็กบางคนสายรุ้งประหลาดใจมากที่เด็กนักเรียนบางคน กระซิบกระซาบกันอย่างน่าสงสัยถึงสาเหตุที่ทำให้พ่อของเพื่อนนักเรียนคนนั้นป่วย“พ่อเขาเป็นโรคร้าย” “ไม่มีทางรักษา”“พ่อเขาชอบเที่ยวผู้หญิง”“งั้นแม่ของเขาก็อาจติดโรคด้วย”สายรุ้งไม่เข้าใจถ้อยคำเหล่านี้เลย แน่ละ จากสถานการณ์ สายรุ้งรู้ว่าพ่อของเพื่อนนักเรียนป่วยด้วยโรคร้ายแรงซึ่งอาจจบลงด้วยการสูญเสีย แต่เท่าที่สายรุ้งรู้ก็คือ โรคทุกชนิดสามารถรักษาได้หรืออย่างน้อยก็อาจยืดชีวิตออกไปได้นาน แม่บอกสายรุ้งอยู่เสมอว่าโรคทุกชนิดสามารถรักษาได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งและสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วทำไมพวกเด็ก ๆ จึงพากันพูดแบบนี้ ถ้าเพื่อนนักเรียนคนนั้นได้ยินเข้าคงจะเสียใจไม่น้อยสายรุ้งถามแม่ว่า “แม่ครับ มีคนบอกว่าโรคบางโรครักษาไม่ได้จริงไหมครับ” อันที่จริงสายรุ้งเกือบจะลืมเรื่องนี้ไปแล้วด้วยซ้ำเมื่อกลับมาถึงบ้าน บ้านอันอบอุ่นที่ความกังวลใจจะไม่มาแผ้วพานสายรุ้งหยิบการบ้านขึ้นมาทำ วันนี้มีการบ้านสองวิชา  พอสายรุ้งนึกถึงการบ้าน เขาก็นึกถึงเพื่อนที่ไม่มาโรงเรียน แล้วก็นึกถึงคำพูดที่ได้ยิน“เรื่องนี้แม่เคยบอกสายรุ้งแล้วนี่”  แม่กำลังทำอาหารอยู่ในครัว“ครับ แม่เคยบอกผมแล้ว ผมจำได้” แล้วสายรุ้งก็เล่ารายละเอียดให้ฟังแม่จึงบอกว่า “โรคทุกโรครักษาได้ เพียงแต่อาจไม่หายขาด อย่างเช่นโรคมะเร็งหรือโรคหัวใจ แต่ถึงแม้ไม่หายขาด เราก็สามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกับโรคที่อยู่ในร่างกายของเราได้ เพียงแต่เราต้องระมัดระวังไม่ให้มันลุกลาม” แม่อธิบายต่อไปว่า“มนุษย์ทุกคนมีโรคอยู่ในตัวทั้งนั้น เราจึงต้องดูแลตัวเองไม่ให้โอกาสโรคที่อยู่ในตัวกำเริบออกมา เช่น ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ดื่มน้ำเยอะ ๆ”“ครับแม่ ผมเข้าใจแล้วครับ”“แต่เด็กพวกนั้นไม่เข้าใจหรอก” แม่พูด “เอ่อ คนที่มีประสบการณ์หรือคนที่สนใจเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังเท่านั้นจึงจะรู้” วันรุ่งขึ้น เพื่อนนักเรียนคนนั้นมาเรียนตามปกติ แต่เขานั่งซึม ดูอ่อนเพลียมาก บางครั้งเขานั่งหลับตา พอถึงเวลาพักเที่ยง เขาก็ยังนั่งอยู่ในห้องเรียน ไม่ไปกินข้าวในโรงอาหารเหมือนเด็กคนอื่น สายรุ้งจึงเดินเข้าไปหา “นายไม่หิวข้าวเหรอ” สายรุ้งถาม เด็กคนนั้นสั่นศีรษะ เขาหลบหน้าแล้วก็หันหน้าไปทางหน้าต่าง ใบหน้าของเขาซีดเซียวมาก เขาคงมีความทุกข์ใจอย่างหนักสายรุ้งอยากปลอบใจเพื่อน แต่เพื่อนคงไม่อยากให้ใครรบกวน ดังนั้นสายรุ้งจึงเดินถอยออกมา“พ่อฉันไม่สบาย” เพื่อนนักเรียนพูดขึ้น “ฉันรู้ว่าหลายคนพูดถึงพ่อฉันในทางไม่ดี แม้แต่ครูก็ยังพูด”   สายรุ้งพยักหน้าแสดงว่าเข้าใจในสิ่งที่เพื่อนพูด “ไม่ว่าพ่อฉันจะเป็นอย่างไร ฉันก็รักพ่อ เพราะพ่อดีกับฉันเสมอ” พอพูดจบประโยค เขาก็น้ำตาไหล  สายรุ้งรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะร้องไห้เหมือนกัน “แม่บอกว่าโรคทุกชนิดสามารถรักษาได้” สายรุ้งพูด“แต่มันสายเกินไปแล้ว สำหรับพ่อของฉัน” เขาสะอึกสะอื้นสายรุ้งหันหน้าไปทางอื่น เขาไม่อยากเห็นเพื่อนร่ำไห้ เขาไม่สบายใจเลยที่เพื่อนมีอาการอย่างนั้น“เย็นนี้นายไปเที่ยวบ้านฉันมั้ย” สายรุ้งชวน สายรุ้งคิดว่าแม่จะมีวิธีพูดที่ทำให้เพื่อนคลายความทุกข์ลงไปได้“ฉันต้องกลับไปดูแลพ่อ”“ถ้าอย่างนั้น ฉันไปเยี่ยมพ่อนายได้ไหม” เพื่อนนักเรียนมองสายรุ้ง ก่อนตอบว่า “ฉันดีใจที่นายไม่รังเกียจพ่อฉันเหมือนคนอื่น ๆ” เขาหยุดร้องไห้แล้ว“ทำไมต้องรังเกียจด้วยล่ะ” สายรุ้งว่า “แม่สอนฉันให้รักตัวเองและไม่ให้รังเกียจคนอื่น” เขายิ้มเมื่อได้ยินคำพูดของสายรุ้ง.
Hit & Run
   ภาพันธ์ รักษ์ศรีทองเป็นเรื่องปกติในสังคมการเมืองแบบไทยๆ เมื่อมีบางคนใน ‘ตองหนึ่ง' อดีตผู้บริหารไทยรักไทยเรียกร้องในสิทธิความเป็นมนุษย์ที่พึงมีต่อองค์กร ‘ไม่ใช่พ่อ' และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอให้เข้ามาดูแลสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติห้ามอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยยุ่งเกี่ยวการเมืองทุกรูปแบบกรณี ซึ่งอาจเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการพูดและแสดงออก แทบฉับพลันทันทีนั้น เสียงแขวะฝอยเลาะตะเข็บก็ดังควากออกมาอย่างหยามหยันมากมายตามหน้าสื่อต่างๆเมื่อตามรอยตะเข็บที่เลาะไป ใช่จะไม่มีมูล เพราะความชัดเจนในสิ่งที่รัฐบาลไทยรักไทยเคยทำเมื่อครั้งเรืองอำนาจสูงสุดก็คือ ‘ความเฉยเมย' ต่อเรื่องที่พวกเขากำลังร้องหาเสียงหลงในเวลานี้ นั่นคือเรื่องการ ‘ละเมิดสิทธิมนุษยชน' ซึ่งในช่วงเวลานั้นค่อนข้างเป็นไปอย่างรุนแรง ทั้งการทำสงครามยาเสพติดที่นำไปสู่การฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ การอุ้มฆ่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การประกาศใช้กฏอัยการศึก หรือกรณีการอุ้มทนาย สมชาย นีละไพจิตร เป็นต้น แน่นอนว่าประเด็นเหล่านี้ล้วนสำคัญอย่างสมเหตุสมผลพอจะตั้งคำถามและสืบสวนตามกระบวนการยุติธรรมกลับไปยังรัฐบาลทักษิณ แต่นั่นเป็นคนละประเด็นกับการ ‘เรียกร้องสิทธิ' แม้ว่ามันจะมาจากผู้ที่เคยละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่นอย่างรุนแรงก็ตาม ซึ่งในเรื่องราวดังกล่าวนี้ สิ่งที่น่าตระหนก ณ ขณะปัจจุบัน คือการปรากฏ ‘สัญญาณแห่งความมืด' ที่มีผลต่ออารมณ์และอุณหภูมิสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะต้องรีบทบทวนกันก่อนจะกลายเป็น ‘สามานย์สำนึกร่วม' เพราะในเสียงที่แขวะฝอยหาตะเข็บนั้น แฝงนัยความหมายแห่งถ้อยคำที่หล่นออกมาจากปากของนัก (ที่เรียกตัวเองว่า) ประชาธิปไตย นักสิทธิมนุษยชนบางคน หรือสื่อบางฉบับดูในลักษณะเสียดสีเชิงสมน้ำหน้า การ ‘เรียกร้องสิทธิ' ถูกมองเป็นเรื่องของคน ‘ไม่เจ็บไม่จำ' หรือ ‘ไม่โดนเอง ไม่รู้' และยกเรื่องเหล่านี้มาเปรียบเทียบแบบเด็กๆ ในทำนอง ‘ทีเธอ-ทีฉัน'  พูดง่ายๆ คือคล้ายกับจะบอกเป็นนัยๆ ว่า ทีเธอเมื่อก่อนยัง ‘ทำ' ยิ่งกว่านี้ แค่เรื่องมติ กกต.นิดเดียวยังมีหน้ามาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอีกหรือ การกระทำแบบนี้เป็นแค่พวกห่วงแต่เสรีภาพตัวเองเท่านั้นเอง ในสื่อบางฉบับมีการใช้คำไปจนถึงขั้นว่า ‘นักการเมือง' กำลังทำให้ ‘สิทธิมนุษยชน' เป็นเรื่องตลก"  แต่มันคงตลกไม่ออก ถ้าจะถามต่อไปว่า ‘สิทธิมนุษยชน' มันยกเว้น ‘การใช้' ได้ด้วยหรือ ???เพราะถ้าทำได้-มันเท่ากับการยกเว้น ‘หลักการ' สำคัญของความเป็น ‘มนุษย์' ที่มีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกันในทั้งการคิด การกระทำ และการแสดงออกอย่างเสรี โดยไม่ควรมีตราติดยี่ห้อไว้ว่ามนุษย์ผู้นั้น ‘ดี' หรือ ‘เลว' หาก ‘สิทธิมนุษยชน' คือการยกเว้นการใช้สำหรับผู้ที่ถูกติดตราบาปไว้แล้ว และคนเหล่านั้นไม่สามารถมีสิทธิเรียกร้องความชอบธรรมในความเป็นมนุษย์ใดๆ อีกต่อไป หากบุคคลที่ถูกติดตราบาปเหล่านั้นจะถูกกระทำที่มากขึ้น หนักหนายิ่งกว่าแค่การตัดสิทธิ ไปจนถึงจองจำเสรีภาพ หรือเลวร้ายไปจนถึงการเผาเพื่อกำจัดพ่อมด-แม่มดในยุโรปยุคกลางก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถ้าตรรกะของสังคมไทยยังเป็นไปด้วยความลักลั่นในการเลือกใช้ ‘สิทธิมนุษยชน' แบบนี้ เราคงมีโอกาสเห็นปรากฏการณ์แบบ ‘ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป' เกิดขึ้นอีกครั้งได้ไม่ยากการที่นัก (ที่เรียกตัวเองว่า) ประชาธิปไตย, นักสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนกำลังทำให้การเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์เป็นเรื่องของการวัดกันที่ ‘ความดี' และ ‘ความเลว' ซึ่งเป็นเรื่อง (โคตรจะ) นามธรรมแล้ว ความเป็นมนุษย์ของนักนิยามตัวเองและผู้อื่นเหล่านี้คงมีวิธีคิดไม่ต่างอะไรกับวิธีคิดแบบนาซีหรือเขมรแดงที่มีลักษณะจำแนกมนุษย์ที่ลงเอยด้วยการ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' ที่ตนมองว่า ‘ไม่บริสุทธิ์' ไปหลายล้านคน... แล้ว ‘หัวใจ' ที่เริ่มต้นมองมนุษย์ด้วยกันอย่างเต็มไปด้วย ‘ความรุนแรง' ของท่านเหล่านี้ ยังจะสามารถเดินไปบนเส้นทางที่พิทักษ์สิทธิมนุษยชนร่วมกับประชาชนได้อีกหรือ !!! 
Music
Magic เป็นชื่ออัลบั้มล่าสุดของ Bruce Springsteen (หรือที่เรียกกันว่า The Boss*) ในอัลบั้มนี้เขากลับมาร่วมงานกับวงแบ็คอัพที่ชื่อ E Street band อีกครั้ง ทำให้ทิศทางของอัลบั้มนี้เน้นไปที่แนวทางของร็อคอีกครั้ง หลังจากอัลบั้มที่แล้วคือ Devils and Dust ออกเป็นงานแนวโฟล์คมากกว่าแต่ไม่ว่าจะเป็น Bruce Springsteen ในแบบของโฟล์คหรือ Bruce Springsteen ในแบบของร็อค ผมก็รู้สึกว่าดนตรีของ The Boss ผู้นี้ก็ช่างเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นอเมริกันอยู่เสมอมาซึ่งดนตรีในอัลบั้ม Magic นี้ไม่เพียงแค่กลิ่นของความเป็นอเมริกันที่ยังคงมีอยู่ถ้วนทั่วอย่างเดียวเท่านั้น แต่ละเพลงที่ถ่ายทอดออกมาจาก The Boss กับวง E Street Band นี้ ยังคงอวลไปด้วยซาวน์แบบเก่า ๆ ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักทีแรกผมคิดว่าการคงทีไม่เดินไปไหนต่อแบบนี้มันน่าเอามาด่าในคอลัมน์นี้อยู่เหมือนกัน แต่ฉันทาคติในตัวผมเองมันได้ครอบครองพื้นที่ความคิดของผมไปสิ้นแล้ว (จะว่าไป...การยึดถือความคิดที่ว่าดนตรีต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ก็เป็นความ "ยึดติด" อย่างหนึ่งได้เหมือนกัน)ฉันทาคติมันมาจากความปลาบปลื้มในดนตรี ...โดยจริง ๆ แล้ว อัลบั้ม Magic แม้ยังจะคงความเก่า แต่มนต์ขลังในดนตรีนั้นก็เจือจางลง จนอาจชวนตั้งคำถามว่า มันเป็นที่ตัวของ Springsteen เอง หรือตัวผมเองกันแน่ ที่เปลี่ยนไปแม้มนต์ขลังจะเจือจางลง แต่อัลบั้มนี้ก็ทำให้ได้รู้ว่า The Boss คนนี้ก็ยังคงเป็น The Boss คนเดิม คนเดียวกับที่ทำร็อคทรงพลังอย่าง Born to run ที่เนื้อหาเกี่ยวกับการชวนกันออกหนีเที่ยวของคู่รักที่เป็นระดับล่างในสังคม The Boss คนเดียวกับที่ทำเพลงโหยเศร้า ด้วยเสียงฮาร์โมนิก้า อย่าง The River เพลงนี้ผมมีโอกาสได้ฟังจากเทปรวมฮิตตั้งแต่สมัยวัยกระเตาะ และหลงเสน่ห์มนต์ขลังของมันเข้า จนถึงขั้นพยายามแปลเนื้อเพลงทั้งหมดทั้งที่ภาษาอังกฤษยังเสน็ค ๆ ฟิชช์ ๆ (งู ๆ ปลา ๆ)เรื่องราวในเนื้อเพลงของ The River พูดถึงหนุ่มสาวที่รักกันมาตั้งแต่สมัย high school แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในสมัยนั้น (ซึ่งตรงกับสมัยของ ปธน. โรนัลด์ เรแกน) และสถานะที่ยากจน ทำให้ทั้งคู่ไม่มีเงินสำหรับการแต่งงาน ที่ซึ่งเปรียบเสมือนสถานวิวาห์ของทั้งคู่ จึงกลายเป็น "แม่น้ำ" ที่พวกเขาเคยลงไปใช้เล่น และใช้เวลาร่วมกัน"...No wedding day smiles, no walk down the aisleNo flowers, no wedding dressThat night we'd go down to the riverAnd into the river we'd driveOh down to the river we did ride"- The Riverแม้ Springsteen จะแอบกัดเรื่องเศรษฐกิจยุครัฐบาลเรแกนไว้ แต่เรแกนก็เคยชมว่า The Boss นี้ช่างเต็มไปด้วยความรักชาติ (Patriotic) เพราะเข้าใจผิดว่าเพลง Born in the U.S.A จากอัลบั้มชื่อเดียวกันนั้นเป็นเพลงเชิดชูความเป็นอเมริกัน แต่จริง ๆ แล้วเพลงนี้เขาได้แต่งให้กับเพื่อนทหารผ่านศึก ที่ไปรบในสงครามเวียดนาม แล้วต้องกลับมาพบเจอกับความยากลำบากหลังกลับมาจากสงคราม ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์แย่ ๆ ที่ติดตัวมา ภาวะการว่างงาน หรือ ความรู้สึกแปลกแยก"Down in the shadow of the penitentiaryOut by the gas fires of the refineryI'm ten years burning down the roadNowhere to run ain't got nowhere to go"- Born in the U.S.Aผมไม่รู้ว่า Bruce Springsteen นั้น Patriotic ขนาดไหน แต่ผมเชื่อว่าชายผู้นี้คือคนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดอุดมคติแบบอเมริกัน (American Ideal) และอุดมคติแบบอเมริกันนี้ได้แฝงฝังอยู่ในเนื้อหาเขาอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเพลงสะท้อนชีวิตคนสามัญทั่วไป เพลงเชิงสังคมการเมือง หรือแม้กระทั่งเพลงรักแต่เนื้อหาในอัลบั้ม Magic นี้ ฟังดูแล้วราวกับว่า Bruce กำลังพยายามสื่อถึงความผิดหวัง อเมริกาในทุกวันนี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอย่างอุดมคติวาดไว้การเชิดชูและตอบแทนคนทำงานหนัก ถูกเอามาปั้นให้เป็นอเมริกันดรีมส์ล่อหลอกผู้คนการยึดมั่นในเสรีภาพ ก็พบแต่เสรีภาพลวงตา ในระดับตื้น ๆความรักชาติและความหวาดกลัวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำสงคราม แย่งชิงทรัพยากรแต่ใช่ว่าอเมริกาสมัยก่อนจะเต็มไปด้วยความดีงาม ไม่ว่าจะในยุคสมัยใด อุดมคติแบบอเมริกันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือตอบสนองความต้องการไม่รู้จบของคนบางกลุ่มเพียงเท่านั้น เหล่าผู้ที่เชื่อในอุดมคติดีงามเหล่านั้นจริง ๆ ถ้าไม่ได้ถูกหลอกใช้ ก็จะรู้สึกสับสนในสิ่งที่ตนเชื่อ เพราะ "นักมายากล" ทั้งหลายช่างบิดเบือนพลังทางนามธรรมให้กลายเป็นอาวุธของตนเองได้เก่งกาจ ราวเสกเหรียญให้หายไป เสกกระต่ายให้ออกมาจากหมวก"I got a coin in your palmI can make it disappearI got a card up my sleeveName it and I'll pull it out your earI got a rabbit in the hatIf you wanna come and see...And the freedom that you soughtDriftin' like a ghost amongst the treesThis is what will beThis is what will be (This is what will be)"- Magicในเนื้อเพลง Long Walk Home มีฉากที่พ่อพูดกับลูก ถึงความสวยงามของประเทศที่ธงโบกสะบัดเป็นดาวเท่าจำนวนรัฐ "พ่อ" ในเพลงนี้คงเป็นคนยุคก่อนที่ความเชื่อในอุดมคติแบบอเมริกันยังไม่เลือนหาย ขณะที่ "ลูก" ผู้เป็นเด็กหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันคงยากที่จะกลับไปเชื่ออะไรแบบนั้นได้อีก เพราะโลกนอกประตูบ้านที่เขาพบเจอ มันช่างไม่อะไรที่ตรงกับอุดมคติเหล่านั้นอยู่เลย และเส้นทางที่จะย้อนกลับบ้าน ย้อนกลับไปสู่อุดมคติในจุดนั้น มันช่างแสนยาวไกล"My father said ‘Son, we're lucky in this town,It's a beautiful place to be born.It just wraps its arms around you,Nobody crowds you and nobody goes it alone'‘Your flag flyin' over the courthouseMeans certain things are set in stone.Who we are, what we'll do and what we won't' "- Long Walk Homeข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ผมมีต่ออัลบั้มนี้คือ ในช่วงครึ่งแรกของอัลบั้มเพลงของ Springsteen ยังคงมีความสดใสในแบบของตัวเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นบทเพลงถึงประธานาธิบดีบุชอย่าง You'll be comin' down  เพลงที่พูดถึงสถานการณ์สงครามอ้อม ๆ อย่าง Your Own Worst Enemy เพลงชื่อน่ารัก ๆ ที่มีเมโลดี้ไพเราะน่ารักไม่แพ้กันอย่าง I'll Work for Your Love เพลงที่พูดถึงความรู้สึกแปลกแยกกับยุคสมัยแบบหยิกแกมหยอกด้วยจังหวะสนุก ๆ อย่าง Girls in Their Summer Clothes  ขณะที่ Livin' in the Future เพลงกลื่น Soul ที่มีจังหวะสนุกไม่แพ้กัน แม้เนื้อหามันจะชวนหลบลี้จากโลกปัจจุบัน เฝ้าฝันถึงอนาคตที่เปี่ยมด้วยอุดมคติ แต่ก็ยังคงท่วงถ้อยแบบประชดประชัน ไม่เชื่อถือตัวเองอยู่ในที"Woke up election daySky's gunpowder and shades of greyBeneath the dirty sunI whistle my time awayThen just about sun downYou come walkin' through townYour boot heels clickin' likeThe barrel of a pistol spinnin' round"- Livin' in the Futureมาจนถึงช่วงหลังของอัลบั้มความสดใสก็หดหายไป ความซีเรียสจริงจังเข้ามาแทนที่ ไม่ว่าจะกับเพลง Last to die ที่เอามาจากคำพูดของ John Kerry วิจารณ์ทั้งสงครามเวียดนามและสงครามอิรัก เพลงช้าหม่น ๆ อย่าง Devil's Arcade ก็ยังไม่วายพูดเรื่องบรรยากาศของสงคราม จากมุมมองของทหาร เช่นเดียวกับ Devils and Dust จากอัลบั้มที่แล้ว"The cool desert morningAnd nothing to sayJust metal and plasticWhere your body caved"- Devil's Arcadeแม้ The Boss จะเป็นเหมือนเช่นนักอุดมคติผู้เคว้งคว้างหลงทาง เพราะความคิดที่ตนยึดกุมอยู่นั้นได้ถูกสั่นคลอนครั้งแล้วครั้งเล่า จนพอรู้ตัวโลกที่มองเห็นก็กลายเป็นอื่น เสียงที่ดังเข้ามาในหู ก็ไม่ใช่เสียงอันคุ้นเคยที่อยากได้ยิน เราควรจะโทษยุคสมัย? โทษความแปลกแยกของตัวเอง? โทษอุดมคติที่แม้ว่าเราจะเต็มใจเดินตามมันเสมอมา?การบิดเบือนของอุดมคติ เป็นเรื่องห้ามไม่ได้ในโลกที่สิ่งที่เห็นและสิ่งที่เป็น ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่านักอุดมคติ ที่จริงจังและจริงใจในความคิดของตัวเองก็ยังคงมีอยู่ และเขาคงไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการที่ใครจะเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น พวกเขาเปรียบเสมือนคลื่นวิทยุในโลกที่ไม่มีใครรู้จัก คอยกระจายเสียงเรียกหาผู้ร่วมเส้นทางความคิด This is Radio Nowhere , is there anybody alive out there (ที่นี่คือสถานีไร้ถิ่นฐาน มีใครยังอยู่แถวนี้บ้าง) หรือหากไม่มีใครจริง ๆ อย่างน้อยก็ขอเสียงจังหวะปลุกเร้าพลังชีวิตให้กลับมาก็ยังดี!"I want a thousand guitarsI want the pounding drumsI want a million different voices speaking in tongues....I just wanna hear some rhythmI just wanna hear some rhythmI just wanna hear some rhythmI just wanna hear your rhythm"- Radio Nowhereเมื่อได้ฟังอัลบั้มนี้แล้ว ยังไงผมก็ยังคงยืนยันว่า Bruce Springsteen คือชาวอเมริกัน ผู้ที่มีความคิดอุดมคติแบบอเมริกัน ทำเพลงขายคนอเมริกันเดินถนนทั่วไป และด้วยแนวเพลงร็อคในแบบอเมริกันแต่กระนั้น ก็ไม่อยากให้ลืมว่าเขาก็คืออเมริกัน ในแบบของตัวเขาเอง (*The Boss ฟังดูเป็นฉายาขาใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วฉายานี้ได้มาตั้งแต่ยังตระเวนเล่นตามผับกับวง เพราะ Bruce Springsteen มีหน้าที่เป็นคนรับเงินแล้วนำมาเฉลี่ยให้คนในวง จึงได้มีคนเรียกว่า The Boss ... แล้วก็เรียกกันจนทุกวันนี้)
new media watch
 กระแสต่างๆ นานา (หรือคำว่า ‘Trend' อันแสนจะฮิต) เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน นับตั้งแต่โลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ กระแสที่ว่ามีทั้ง แฟชั่น-เสื้อผ้า-ดนตรี-กีฬา-ภาพยนต์-บันเทิง-การเืมือง ฯลฯ ซึ่งมีอานุภาพมากพอที่จะโน้มน้าวจิตใจหรือกระตุ้น ‘ความอยาก' ที่จะอุปโภคบริโภคของคนส่วนใหญ่ได้ จึงมีการยอมรับให้ ‘เทรนด์' เหล่านี้เข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้อย่างง่ายดาย  แต่ไปๆ มาๆ ดูเหมือนว่ามีคนอีกไม่น้อยที่ต้องการหลีกหนีไปให้พ้นกระแสความทันสมัย In ‘Trend' ที่แทบจะเปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกวัน ด้วยความที่มันสิ้นเปลือง เหนื่อยและไม่มีที่สิ้นสุดเสียทีอาจเป็นเพราะเหตุนี้ กลุ่มนักการตลาด, โปรแกรมเมอร์, สื่อมวลชน, นักรัฐศาสตร์ และนักสร้างกระแส (หรือที่เรียกกันเก๋ๆ ว่า trendsetter) จากเนเธอแลนด์ จึงร่วมกันก่อตั้งบล็อก trendwatching.com ขึ้นมา เพื่อเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของ ‘กระแส' ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากนั้นก็จะประเมินสถานการณ์ว่าเจ้ากระแสที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆ นั้นมีความเป็นมาอย่างไร และได้สร้างผลกระทบอะไรบ้างกับวิถีชีวิตและผู้คน เทรนด์ล่าสุดที่เขาว่ากำลังมาและจะฮิตต่อไปถึงปีหน้าก็คือ ‘กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม' และบล็อกนี้ทำนายไว้ด้วยว่า กระแสที่จะตามมาต่อจากนั้นอีกทีก็คือ ‘กระแสต่อต้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม' โดยให้เหตุผลว่า เพราะมันมีกระแสอนุรักษ์เกิดขึ้นมากเกินไป ก็เลยกลายเป็นขั้วกลับไปยังฝั่งตรงข้าม คนที่เคยให้การสนับสนุนก็อาจกลายเป็นเสียงต่อต้านไปแทน...ทุกวันนี้ นักเล่นเน็ตทั่วโลกราว 8 พันคน เข้าร่วมเป็นสมาชิกของบล็อก trendwatching คอยสอดส่องดูแลและเฝ้าระวังว่ามีกระแสหรือเหตุการณ์อะไรสำคัญๆ เกิดขึ้น เพื่อที่คนส่วนใหญ่จะได้รู้ทันและเข้าใจกระแสที่เกิดขึ้นเหล่านั้น โดยที่ไม่ถูกมันซัดซวนเซไหลตามกระแสไปจนไม่ทันตั้งตัว...    
โอ ไม้จัตวา
วันนี้อากาศเย็น ปลายเดือนพฤศจิกายน 2550 เมืองเชียงใหม่เริ่มคึกคัก แต่ก็ยังดูเหงากว่าปีที่แล้ว ซึ่งงานพืชสวนโลกสร้างปรากฏการณ์คนไหลมาให้กับเมืองจนถนนทรุด เป็นฟองสบู่ฟองใหญ่ที่ดึงนักลงทุนท้องถิ่นรายย่อยให้เข้าไปลงทุนกับตัวล่อคือนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้ามาในเมืองสะท้อนความอ่อนด้อยของประชาชน การขาดการศึกษาข้อมูลอย่างถ่องแท้ ทำให้หลงคำโน้มน้าวให้เกิดการลงทุนบริเวณหน้าสถานที่จัดงาน ขณะที่ปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสถานที่ ราคาค่าเข้าชม ทำให้เป็นตัวแบ่งระดับฐานะของนักท่องเที่ยว คือต้องมีเงินเท่านั้นจึงจะเข้าชมได้ ตั้งแต่เงินค่ารถมา ค่าเข้าชม และสถานที่อันกว้างใหญ่ไพศาลทำให้คนเข้าชมเหนื่อยหมดแรง เกินกว่าจะออกมาเดินช็อปปิ้งได้ เพราะแค่ทางเดินออกจากประตูก็เล่นเอาขาลาก และขาที่ลากมาขึ้นรถนั้นก็ผ่านร้านของที่ระลึกอันละลานตา พอถึงรถก็หมดแรงพอดีร้านอาหารไกลปืนเที่ยงแต่มีแรงดึงดูดพอ ก็รับนักท่องเที่ยวกันไม่หวาดไม่ไหว คนต่างถิ่นมาเชียงใหม่ก็ต้องการมาดู มาชม มาดื่มกิน และสูดกลิ่นความเป็นเชียงใหม่ วัฒนธรรมเชียงใหม่ ปีนี้เมืองเชียงใหม่ไม่มีแรงดึงดูดพอสำหรับนักท่องเที่ยว สวนราชพฤกษ์เปิดให้บริการอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไร้งบพีอาร์ มีผู้ว่าไปตัดเค้กวันเกิดพืชสวนโลก ขณะเพื่อน ๆ ยังชวนกันไปลอยกระทงที่บ้านแม่เหียะใน หมู่บ้านตกสำรวจในเขต อ.เมือง ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เปิดสวนคราวนี้ป้านวล ป้าข้างบ้านไปเที่ยวก่อนเพื่อน บอกว่าขึ้นรถเมล์สาย 3 ที่หน้าปากซอย 15 บาท เอาน้ำใส่กระติกไปกิน ค่าเข้าชมไม่เสีย แต่เสียค่ารถนำชมสวน 20 บาท ป้านวลบอกก็ม่วนดี รู้สึกว่ามีที่สวย ๆ มีต้นไม้ที่เขียวแล้ว เพราะได้น้ำมาฝนหนึ่ง ชาวบ้านไปเที่ยวกันเยอะ เพราะรู้สึกว่าเป็นที่ของเราแล้ว ยี่เป็ง หรือลอยกระทงรออยู่ในวันนี้วันพรุ่ง ดูจากยอดการจองโต๊ะ พบว่าคนมากระจุกอยู่ที่วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน มากที่สุด เนื่องจากเป็นวันเสาร์ และวันลอยกระทงไม่ใช่วันหยุดราชการ ตรงวันเสาร์ให้ก็ดีเท่าไรแล้ว ประกอบกับตรงกับวันประสาทปริญญาบัตรของบัณฑิตมหาวิทยาลัยพายัพ ผู้คนจำนวนมากแย่งจองโต๊ะอาหารตามร้านริมแม่น้ำแต่แปลกที่ปีนี้ฉันไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมกับบรรยากาศนี้สักเท่าไร อาจเพราะเหนื่อยมาทั้งปี จำได้ว่าลอยกระทงปีที่แล้วเม็ดเงินสะพัดระดับนักร้องออกเทปเปล่าก็ขายได้ ฉันทำรายได้จากการขายไฟเย็นและโคมลอยจำนวนมาก ทำงานสามเดือนมีเงินใช้หกเดือน จริง ๆ แล้วฉันอยากให้เมืองเชียงใหม่เป็นเหมือนเมืองท่องเที่ยวในต่างประเทศ คือทำงานเฉพาะฤดูการท่องเที่ยว หรือ High Season เมื่อหมดฤดูกาล เข้าหน้าฝน เราก็หยุด เพราะคนก็ไม่มี และเรายังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หากใครค้าขายไม่เป็น หามาได้แล้วไม่เก็บไว้ใช้ยามหมดฤดูก็เป็นอันจบ ฤดูกาลอันเงียบเหงากำลังจะผ่านไป ความสดชื่นมาพร้อมกับลมหนาว เศรษฐกิจเริ่มหมุนเวียนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีจริต ผู้คนในเมืองเป็นพร็อบให้กับเมืองอย่างเป็นธรรมชาติ และโดยไม่มีสคริป ดู ๆ ไปบางทีก็เบื่อแต่บางทีเห็นดอกไม้บานยามเช้า ก็รู้สึกว่าเชียงใหม่ยังมีความน่ารักอยู่นะ.
การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์
วันอมาวสีครั้งต่อไป 10 ธันวาคม 2550 นะคะ“น้ำใจให้น้องปิ่น” เด็กหญิงพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ทุกคนในครอบครัวยังมีความหวังและมองโลกในแง่ดีเสมอ อ่านเรื่องของน้องปิ่นกับแม่ได้ที่ (ลิงค์) สนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือตามกำลังศรัทธาได้ที่หมายเลขบัญชี 05-3405-20-093267-0น.ส.สีไวย คำดา เพื่อ ด.ญ.วรัญญา ฟินิวัตร์ ธ ออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “สมทบทุนค่าอาหารและรักษาพยาบาลหมาแมวพิการ ป่วยไข้ ถูกทอดทิ้ง ตามกำลังศรัทธา”เลขที่บัญชี 1210101483 น.ส. นันท์ธนัตถ์ จิตประภัสสร ธ กรุงไทย สาขาบางบัวทองหรือจะส่งเป็นอาหารหมาแมวก็ได้ค่ะ ที่97 หมู่ 2 บ้านหนองคาง ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี 72240
แสงดาว ศรัทธามั่น
พ.ร.บ.ความมั่นคงมั่นคงของใคร?ของเผด็จการทหาร ?ของเผด็จการรัฐสภาจอมปลอมของเผด็จการข้าราชการศักดินาฯลฯ...ฯลฯ...ฯลฯ
แม่ญิงโย-นก
ข้าพเจ้านำผู้อ่านออกเดินทางจากสถานีขนส่งอาเขตเมื่อหลายเดือนก่อน หากไปไม่ถึงสถานีขนส่งจังหวัดเชียงรายสักที เพราะมัวแต่ไปหลงทางย้อนอยู่ในประวัติศาสตร์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่ อ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว กับ อ.เดวิด เค วัยอาจ ร่วมกันถอดความจากภาษาล้านนาบ่าเก่ามาเป็นคำเมือง ผู้ที่ยังสนใจอาจติดตามได้ในบล็อคใหม่ ซึ่งข้าพเจ้าจักได้นำข้อเขียนของท่านอาจารย์ทั้งสองมาถ่ายทอดต่อไปเร็วๆนี้*********************************เมื่อรถเลี้ยวเข้าจอดที่บริเวณสถานีขนส่งเชียงราย ใกล้กับตลาดกลางคืน หรือไนท์บาซาร์ เป็นอันว่าการเดินทางไกลเกือบสี่ชั่วโมงของข้าพเจ้าได้สิ้นสุดลง ที่กำลังจะเริ่มคือการเดินทางเข้าไปเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ดอยสูงอ.แม่ฟ้าหลวง บริเวณชายแดนไทย-พม่า ที่ข้าพเจ้าจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในอีกห้าหกเดือนข้างหน้าก้าวขาลงจากรถ ปราดไปที่เก็บของใต้ท้องรถ ยกเป้ใบใหญ่ขึ้นสะพายหลัง ย้ายเป้ใบเล็กที่บรรจุกล้องถ่ายรูปและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คมาไว้ด้านหน้า มือที่พอจะว่างคว้าเอาขันโตกหวายใบน้อยมาถือไว้หันมาด้านหลัง เจอคนขับรถสองแถวเล็กยืนยิ้มเผล่ “โอฮาโย่ แว อา ยู โกอิ้ง” ฮั่นแน่ ส่งภาษาต่างประเทศมาทักทาย เห็นทีจะเป็นเพราะเป้หลังใบใหญ่ของข้าพเจ้าชวนให้เข้าใจผิด มิอาจทึกทักได้เลยว่าหน้าตาของข้าพเจ้าให้ จนใจว่า ข้าพเจ้าเองหาใช่คนญี่ปุ่นมาจากไหน จะสวมรอยเป็นชาวต่างประเทศก็กระไรอยู่ “บ่อใจ้ญี่ปุ่นเจ้า คนเมืองเฮาตวยกั๋นนี่แหละ” ข้าพเจ้าส่งเสียงในฟิล์มตอบกลับไป“โหะ ก่อนึกว่าญี่ปุ่น เห็นหิ้วเป้ใบใหญ่แต้ใหญ่ว่า ละขันโตกนี่ลอหิ้วมายะหยัง หยังมาของหลายแต้ว่า จะไปไหนเนี่ย ไปสองแถวก่อ” คนขับวัยกลางคนรัวคำถามใส่ข้าพเจ้าเป็นชุด ไม่แน่ใจนักว่าอยากได้คำตอบไหนก่อน“บ่อไปเตื้อเจ้า พอดีนัดคนมาฮับแล้วเจ้า” ข้าพเจ้าตอบปฎิเสธไป บอกว่ามีคนมารับแล้ว เป็นหนุ่มรุ่นน้องชาวลีซู ที่ทำงานองค์กรเอกชนช่วยเหลือประชาชนบนพื้นที่สูงเรื่องสถานะบุคคล ที่นัดหมายกันว่าจะมาเจอกันที่สถานีขนส่งนี้“อั้นกา มะ อ้ายจะจ้วยแบกกระเป๋าไปหื้อ" คนขับรถใจดีเอื้อมมือมาช่วยปลดเป้ใบใหญ่จากหลังข้าพเจ้า เอาไปถือไว้เหมือนเป็นวัตถุไร้น้ำหนัก ข้าพเจ้าโชคดีนักมาถึงวันแรกก็เจอคนใจดีนั่งรออยู่ไม่ถึงสิบนาที หนุ่มลีซูคนที่ว่าเดินยิ้มร่าเข้ามาช่วยยกของไปเก็บไว้ในรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ พาหนะคู่ใจที่พาเขาและทีมงานอีกสามคน อันประกอบด้วยอีกหนึ่งหนุ่มลีซู หนึ่งหนุ่มอ่าข่า และหนึ่งสาวอ่าข่า (ไม่ได้มารับที่สถานี ประชุมอยู่ที่สำนักงานย่านริมกก ซึ่งข้าพเจ้ากำลังจะเดินทางไปร่วมประชุมด้วย)“สวัสดีครับปี้ครับ พอดีอ้ายเปิ้นหื้อผมมาฮับครับ กำเดียวเฮาแวะไปตี้สำนักงานก่อนน่อ มีประชุมตี้หั้นครับ” หนุ่มน้อยเสื้อขาว กางเกงชาวเล ผ้าขาวม้าคาดเอว ยกมือไหว้ทักทายและแจ้งข่าว เขาพูดคำเมืองชัดเจน ทำเอาข้าพเจ้าแปลกใจไม่น้อย พี่น้องชนเผ่าหลายคนที่ข้าพเจ้ารู้จัก ถนัดมากกว่าในการใช้ภาษาไทยแบบกรุงเทพ ในการสื่อสารกับคนนอกเผ่า แม้แต่ในหมู่บ้านอ่าข่าที่ข้าพเจ้าเข้าไปอาศัยอยู่ในเวลาต่อมานั้น เวลามีเจ้าหน้าที่อำเภอเข้ามาเยี่ยมเยียน หรือนัดประชุม ชาวบ้านที่พอจะพูดและฟังภาษาไทยได้ ยังต้องขอร้องให้พูดเป็นภาษาไทยกรุงเทพ เพื่อที่เขาจะได้ถ่ายทอดเป็นภาษาอ่าข่าให้ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจ“เฮียนเกษตร อู้กำเมืองบ่อได้ มีปั๋นหาครับปี้ ต๋อนผมเข้าไปเฮียนใหม๋ๆ รุ่นปี้คนเมืองบอกว่าคนตี้มาทีลุนหื้อไปรายงานตั๋ว ผมก่อบ่อฮู้ว่า ทีลุน (ภายหลัง) มันแป๋ว่าอะหยัง ผมก่อเลยบ่อไป เลยโดนลงโทษ หลาบเลย จ๋ำกำนี้ได้เต้าบ่าเดี่ยว” หนุ่มน้อยเล่าขำๆ กับประสบการณ์ความไม่รู้เรื่องภาษาอันรุ่นพี่อ้างเอาเป็นเหตุหาเรื่องลงโทษรุ่นน้อง ที่แย่กว่านั้น เป็นเรื่องการล้อเลียนความเป็นชนเผ่า ที่ทำให้บางคนถึงกับไม่ยอมพูดภาษาประจำเผ่าของตนที่โรงเรียน ไม่ก็รู้สึกอายในความเป็นชนเผ่าของตนเอง เพราะรู้สึกว่าแปลกแยกแตกต่างกับเพื่อนคนอื่น ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน มีความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในโรงเรียนบางโรงเรียนในภาคเหนือ แต่โดยทั่วไปแล้ว การล้อเลียน และแบ่งแยก “คนเมือง” “คนดอย” ยังเป็นเรื่องที่ก่อความขมขื่นใจแก่เด็กๆลูกหลานชนเผ่าชาติพันธุ์หลายๆกลุ่ม ความพยายามของรัฐไทย ในการที่จะเชิดชูชาติพันธุ์ “ไทยบริสุทธ์” ซึ่งไม่อาจจะมีได้ และไม่มีวันจะมีได้ ให้โดดเด่น มีอภิสิทธิเหนือกว่าชาติพันธุ์อื่นๆนั้น ครอบคลุมไปถึงการอ้างความเหนือกว่าในเรื่องภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และอื่นๆ เผยแพร่และตอกย้ำผ่านทางระบบการศึกษาแห่งชาติ โรงเรียน ครู และแบบเรียนทางประวัติศาสตร์ และสื่อมวลชนแห่งชาติภายใต้อุดมการณ์เช่นนี้ การพูดภาษาถิ่น หรือภาษาประจำเผ่า หรือภาษาอื่นใดที่ไม่ใช่ภาษา “ไทย” และที่ได้รับการหมิ่นหยามว่ามีสถานะด้อยกว่า จึงเป็นเรื่องน่าอาย พึงระงับยับยั้ง ป้องกัน และลงโทษหากฝ่าฝืน กล่าวในทางกลับกัน การพูดภาษาต่างประเทศ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาของวัฒนธรรมที่ทัดเทียมหรือสูงกว่าของไทย กลับไม่เป็นเรื่องพึงละอาย ซ้ำยังต้องส่งเสริมกันทุกวิถีทาง เราจึงอาจเห็นโรงเรียนสองภาษาอังกฤษ-ไทย ญี่ปุ่น-ไทย จีน-ไทย มีอยู่ทั่วไป ในขณะที่ต้องต่อสู้กันแทบเป็นแทบตาย เพื่อจะให้มีโรงเรียนที่สอนภาษาของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงควบคู่กันไปกับภาษาไทย ซึ่งก็ยังมีจำนวนน้อย และยังมีข้อถกเถียงกันอยู่อีกมากว่ามุ่งส่งเสริมความหลากหลายของภาษาจริงหรือไม่ที่ร้ายไปกว่านั้น เมื่อมีการนำภาษาและภาพลักษณ์ของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงไปผูกติดอยู่กับประเด็นเรื่องความมั่นคง ยาเสพติด และสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่ยุคหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา ทำให้เกิดการสร้างภาพของความเป็นอื่น ของศัตรู ของคนที่ไม่น่าไว้ใจ การเรียนรู้ภาษาของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงจำกัดอยู่เพียงเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์เรื่องการข่าวและความมั่นคง มีเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่กี่หน่วยงาน ที่มองเห็นว่าการเรียนรู้ภาษาชนเผ่าชาติพันธุ์เป็นเรื่องจำเป็น (เพื่อการข่าวและความมั่นคง) ในหมู่บ้านอ่าข่าที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่นั้น ชาวบ้านบอกว่ามีเพียงตำรวจตระเวนชายแดน และเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์บางคนเท่านั้นที่พูดภาษาของพวกเขาได้ และชาวบ้าน (ส่วนใหญ่ผู้ชาย) บางคนที่พูดไทยได้ ก็จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่เหล่านี้นี่เองจึงไม่น่าแปลกใจที่งานศึกษาหลายๆชิ้น จะพบว่า โครงการของรัฐโดยการสนับสนุนของกรมประชาสงเคราะห์ที่ส่งพระสงฆ์ขึ้นไปตามแดนดอยต่างๆ หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการพระธรรมจาริก ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามหลายๆอย่างของรัฐไทยในอันที่จะเปลี่ยนให้ ”ชาวเขา” กลายเป็น “พลเมืองไทยชั้นหนึ่งที่ช่วยเหลือตัวเองได้” ตามคำประกาศในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ค 2519 นั้น ไม่ประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของพี่น้องชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง และความที่พระธรรมจาริกเองไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับชาวบ้านชนเผ่ากล่าวโดยที่สุดแล้ว ทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อภาษาถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาของชนเผ่าชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง มักเป็นไปในทางลบ หมิ่นหยามว่าด้อยกว่าภาษาไทย และเห็นว่าเป็นปัญหาต่อ”ความมั่นคง” ข้ออ้างอันสุดแสนอมตะ แต่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรม เห็นได้จากข่าวเมื่อเร็วๆนี้ ที่ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) อ้างคำสั่งเรื่องความมั่นคง ห้ามวิทยุชุมชนในอำเภอฮอดออกอากาศเป็นภาษากะเหรี่ยง และให้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยกลางกับภาษาคำเมืองเท่านั้น ทั้งๆที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาวกะเหรี่ยงโผล่ง ซึ่งบรรพบุรษของพวกเขาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนั้นก่อนการเกิดขึ้นของกอ.รมน. และเจ้าหน้าที่หลายคนด้วยซ้ำไปด้วยทัศนคติและความเข้าใจเช่นนี้ ทำให้มิอาจเข้าใจเป็นอื่นใดได้เลยว่า นโยบายแห่งชาติต่อชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ นั้น แท้จริงแล้ว มุ่งกดบีบกลืนกลายวัฒนธรรม หาใช่เพื่อผสมผสานกลมกลืนดังที่อ้างไม่
แสงพูไช อินทะวีคำ
วรรณคดีปฏิวัติที่กล่าวถึงมากที่สุดก็คงจะเป็นปรปักษ์สองด้าน คือ การปฏิวัติและระบบการปกครองเก่า การสะท้อนให้เราได้เห็นความอยุติธรรม นักประพันธ์ปฏิวัติสะท้อนให้เห็นภาพในระบบการปกครองเก่าได้ชัดเจน ว่า ระบบการปกครองเก่า เวลาใดก็เป็นปรปักษ์อย่างที่สุดต่อกับการปฏิวัติ ความอยุติธรรมส่วนมากก็คงเกิดขื้น บนแผ่นดินที่นอนอยู่ใต้แห่งการควบคุมของระบบการปกครองของระบบเก่าที่เวลาใดก็เป็นศัตรูสุดขีดต่อการปฏิวัติลาว ในบทประพันธ์สะท้อนให้เห็นมากที่สุดก็คงเป็น หนุ่มสาวพร้อมเพรียงกันหลบหนีจากแผ่นดินเกิดของเขา ไปหาการปฏิวัติวรรณคดีปฏิวัติที่พบเห็นส่วนมาก นักประพันธ์ชอบใช้ในรูปของการบันทึกเป็นส่วนใหญ่ ทั้งเป็นการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ หรืออาจเป็นการบันทึกซีกเสี้ยวหนึ่งในทางประวัติศาสตร์ด้วยการเติมรสชาติของงานศิลป์เข้าไป ทำให้งานมีความบรรจงและงดงามขื้นเต็มอีกขั้น แต่สิ่งเติมเต็มลงไปนั้น ก็คงจะหนีไม่พ้นในเรื่องของความจ็บปวดจากสงครามที่ไม่มีใครปรารถนา ความหมดหวัง สิ้นหวังและไร้มนุษยธรรมของระบบการปกครองเก่า เป็นการบันทืกเสียงร้องไห้ครวญครางเรียกหาความช่วยเหลือ ความหวังในวันใหม่และการฟื้นชีพของผู้คนที่ได้มีโอกาสพบกับแสงสว่างของการปฏิวัติอย่างที่เราเข้าใจแล้วว่า การบันทึกใดก็ตามที หากเป็นการบันทึกที่ละเอียดรอบคอบดีและบันทึกอย่างเป็นระบบของมันได้ดีแล้ว ก็จะทำให้บทนั้นๆ กลายเป็นบทวรรณคดีที่ดีได้เช่นกัน แม้ว่านักประพันธ์จะไม่ได้ให้ความสำคัญ มากนักกับการประพันธ์ก็ตามทีบทวรรณคดีปฏิวัติที่เราได้พบเจอนั้นก็มีการประพันธ์ที่ดี มีรสชาติแห่งวรรณกรรม ซึ่งผู้แต่งก็มีความพยายามสูงเพื่อสร้างสรรค์งานออกมาให้น่าอ่าน รับใช้สังคมและได้รับความนิยมมากอันได้แก่ ‘กองพันที่สอง’ ของ ‘ส.บุบผานุวง’ ‘พะยุชีวิต’ ของ ‘ดาวเหนือ’ ทั้งสองท่านพูดได้ว่า เป็นตัวแบบที่ดีในวงการประพันธ์วรรณคดีปฏิวัติเท่าที่เคยเจอมาอย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังคงเข้าใจว่า วรรณคดีปฏิวัติเป็นการริเริ่มก้าวสู่ถนนแห่งวรรณกรรมในระยะนี้ เป็นการให้โอกาสใหม่เพื่อคนรุ่นหนุ่มสาวได้มีความสนใจในเส้นทางวรรณกรรมมากขึ้น เป็นการสร้างสรรค์วรรณคดีในระยะใหม่ด้วย ไปพร้อมๆกับการต่อสู้ปลดปล่อยชาติออกจากการเป็นทาสรับใช้ ให้แก่สังคมเก่าและต่างชาติ ฉะนั้น การที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างภาคภูมิใจที่สุดในการสร้างสรรค์ วรรณกรรมของชาติให้สูงเด่นขื้นเรื่อยๆ นั้น ต้องได้เข้าใจให้มากขึ้นด้วยการเรียนรู้ให้มากขึ้นเช่นกัน เพราะเราๆไม่มีความสามารถที่จะยึดติดอยู่กับสิ่งเก่าๆเพื่อเป็นต้นแบบโดยไม่มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาไม่ได้ เพราะว่าในตัวของวรรณกรรมปฏิวัติก็มีความต้องการเสริมแต่งในสิ่งใหม่ๆให้สูงเด่นขื้นไปอีกอย่างมาก โดยเน้นรูปแบบการประพันธ์เมื่อพูดอย่างนั้นก็อาจมีคำถามขึ้นมาว่า ทำอย่างไรถึงจะพูดได้ว่าเป็นการประพันธ์? ผมขออนุญาตเสนอบางอย่าง ดังนี้ “มือเธอสั่นนิดๆ ในขณะที่เธอโขย่งตัวขึ้นบิดลูกบวบอ่อนๆ บนขอบรั้วบ้าน” นี่คือประโยคเล็กๆ ที่นำเสนอพอให้มองเห็นภาพของการเคลื่อนไหวของตัวละครเท่านั้น เพราะในบทประพันธ์หลายๆ บท ยังคงสับสนทำให้เรายังมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจนเท่าไรนัก
กวีประชาไท
คนรอบข้างลอบมองข้าพเจ้าด้วยสายตายากเกินจะเข้าใจแน่นอนที่ข้าพเจ้าย่อมไม่เห็นเพียงรู้สึกว่ามันน่ากลัวเสียเหลือเกินนั่นคือเหตุผลที่ข้าพเจ้าใช้อ้างในการเอาชนะหรือคนรอบข้างไม่ได้มองข้าพเจ้าเลย...ไม่แม้แต่จะเหลือบมอง?
มูน
ลมหนาวพัดฟางหลังเก็บเกี่ยวปลิวว่อนกลางทุ่ง หลายบ้านเตรียมโกยฟางมัดเป็นท่อนเก็บไว้ให้วัวควายในหน้าแล้ง นึกเล่นๆ ว่าถ้าคนเรากินแค่หญ้าก็คงจะดี ไม่ต้องมีกิเลสอยากกินนั่นนี่ให้เดือดร้อนไปถึงพืชและสัตว์อีกมากมาย ที่ต้องถูกไล่ล่าบ้าง ถูกบังคับให้โตผิดธรรมชาติบ้าง ถูกเปลี่ยนนั่นแปลงนี่ให้ถูกใจคนจนวุ่นวายไปทั้งโลก เข้าทำนองเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว (ว่าเข้าไปนั่น)คิดจนหิว จึงหันไปเปิดตู้กับข้าว อะไรกันนี่ ช่างโล่งดีแท้ๆ มีแต่ถ้วยน้ำปลาพริกขี้หนู อ้อ มีปลาทู(แย่งแมวมา)หนึ่งตัว ทำปลาทูต้มน้ำปลาดีกว่า ทำง้ายง่าย แล้วก็อร้อย อร่อย ตั้งน้ำให้เดือดพลั่กๆ ใส่ปลาทู เหยาะน้ำปลาพริกขี้หนู บีบมะนาว หักกะเพราข้างรั้วมา เด็ดใบงามๆ โรยลงไปแล้วรีบยกลง เปรี้ยวนิด เค็มหน่อย เผ็ดจี๊ดๆ ซดร้อนจี๋ๆ มีหมานั่งน้ำลายหกอยู่ใกล้ๆ อากาศเย็น ลมก็หอมชื่นใจ เฮ้อ ข้าวหมดสองจานไม่รู้ตัวง่ายกว่านั้นก็ควักกะปิก้นกระปุกออกมาคลุกข้าว โรยกุ้งแห้งป่น มีแตงกวาค้างตู้อยู่ ๒-๓ ลูกเอามาล้างสะอาด กัดกร้วมๆ พริกขี้หนูต้นข้างบ้าน เลือกเม็ดเขียวอ่อนๆ เผ็ดน้อย เคี้ยวแนมเข้าไป ง่ายๆ แต่อร่อยค่ะบางวันมีปลาดุกย่างเหลือค้างอยู่ครึ่งตัว เอามาย่างใหม่ให้กรอบๆ หอมๆ แกะเนื้อใส่ข้าว หอมแดงซอย กระเทียมซอย พริกขี้หนูซอย โรยลงไป เหยาะน้ำปลาหอมๆ สักนิด บีบมะนาวเปรี้ยวจี๊ดสักหน่อย คลุกๆ เข้า ได้ข้าวคลุกปลาดุกย่างอร่อยๆ อีกมื้อหนึ่ง จานเด็ดของฉันขอแค่ไข่ต้มยางมะตูม คลุกข้าวร้อนๆ กับน้ำปลาพริกขี้หนู ถ้าไม่เรื่องมาก ชีวิตก็ไม่ยุ่งยากนัก จริงไหมคะถ้าคุณยายของฉันยังอยู่ น้ำปลาพริกขี้หนูคงไม่มีโอกาสเป็นเมนูหลัก ไม่ใช่รังเกียจสำรับคนยาก แต่เพราะใส่ใจในความสุขของทุกปากท้อง แต่ละมื้อของเมนูคุณยายจึงต้องผ่านกระบวนการอันประณีต ในวันเวลาอันเนิบนาบที่เรายังไม่รู้จักบะหมี่ซองชนิดใส่น้ำร้อนกินได้ใน ๑ นาทีคุณตาเป็นนายพันสั่งงานทหารในค่าย แต่พออยู่บ้านก็กลายเป็นลูกมือให้คุณยายใช้โม่แป้ง เก็บผัก ขึ้นมะพร้าว เหลาไม้กลัด ตัดใบตอง ดองไข่เค็ม เย็บกระทงห่อหมกหลานวัยกำลังซนอย่างฉันก็หมดโอกาสหนีไปเล่น ต้องนั่งพับเพียบปอกหอมกระเทียม ขูดกระชาย ซอยตะไคร้ ฉีกใบมะกรูด รูดใบชะอม แล้วเราก็ได้กินแกงเทโพ แกงมะรุม ปลาหมอต้มเค็ม ผัดสายบัว ปลาร้าหลน เนื้อเค็มฝอย กุ้งหวาน หมี่กรอบ บัวลอยญวน ถั่วแปบ ข้าวต้มมัด และอีกสารพัดที่ไม่เคยซื้อจากตลาด แม้แต่ผักบุ้งกินกับน้ำพริก คุณยายยังอุตส่าห์เจียนเป็นเส้น ลวกแล้วจับม้วนเป็นคำๆ เรียงใส่จานอย่างสวยงาม มีขันใส่น้ำฝนลอยดอกมะลิวางรอไว้ให้ชื่นใจหลังอิ่มข้าว คุณยายเผื่อแผ่ความเอาใจใส่ลงไปถึงหมาแมว มีหม้อนึ่งข้าวต่างหากสำหรับหมา มีปลาย่างตำละเอียดเก็บใส่โหลไว้คลุกข้าวแมว คุณยายจะชิมข้าวคลุกทุกครั้งจนแน่ใจว่าอร่อย จึงใส่จานสังกะสีให้แมวกินฉันเคยแอบแย่งข้าวแมวเพราะอดใจไม่ไหว อร่อยจริงๆ ด้วยสิคะคุณยายจากไปทิ้งไว้แต่หลานหัวขี้เลื่อยที่ได้วิชาคุณยายมาแค่ขี้เล็บ แถมยังลำบากยากจน นั่งกินข้าวคลุกน้ำปลาพริกป่นให้เสียชื่อคุณยายซะงั้น แต่คุณยายไม่ต้องห่วงนะคะ หลานมีความสุขและพอใจในชีวิตแล้วค่ะจะว่าไป เรื่องของหมาวุ่นวายไม่แพ้คน ฉันพยายามคิดค้นเมนูสำหรับหมาโดยยึดหลักประโยชน์สูง ประหยัดสุดสมัยที่บ้านสี่ขามีหมาไม่ถึงสิบตัว ฉันสนุกคิดเมนูไม่ซ้ำกันในหนึ่งสัปดาห์ อาทิ พะโล้โครงไก่ ต้มยำไข่(ไม่ใส่พริก) พอหมอบอกว่าควรให้หมากินพืชผักบ้าง ฉันก็เพิ่มเมนูจับฉ่ายกระดูกหมู กับโครงไก่บดใส่ฟักเข้าไป บางวันมีต้มเศษเครื่องในใส่ผักบุ้งสับ จนมีคนทักเมื่อเห็นฉันนั่งสับผักบุ้งว่า ฉันผสมข้าวเลี้ยงหมาหรือเลี้ยงหมูฉันพบว่าหมาชอบกินฟักทองผัดใส่ไข่ เมื่อก่อนหมามีน้อยๆ ก็พอทำได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ไหวค่ะ หมาก็เยอะ ไข่ก็แพง แถมปลูกฟักทองไว้ก็ยังไม่ยอมขึ้นสักทีมีคนแนะนำว่าหัดให้หมากินกล้วยน้ำว้าจะดี ฉันก็ลอง แต่ไม่ค่อยสำเร็จ กล้วยหมดหวีไม่ใช่เพราะหมา แต่ว่าเป็นฉันเองหมาทุกตัวชอบกินตับย่าง คุณหมอเคยเตือนว่าตับเป็นของแสลงต่อผิวหนังและขน  แต่หมามันไม่สนคำเตือนหรอก แหม คงเหมือนคนน่ะแหละ อาหารอะไรไม่มีประโยชน์(แถมโทษยังเยอะ) เป็นชอบกินกันนักเคยมีคนใจดีเอาเศษกระดูกไก่โยนข้ามรั้วมาให้หมาบ้านสี่ขา หมาดีใจ แต่ฉันกลุ้มใจ พยายามห้ามแกมขอร้อง(คน ไม่ใช่หมา)ด้วยเหตุผลหลักๆ สองประการคือ หนึ่ง ไม่อยากให้หมาๆ เคยชินกับการกินอะไรที่ใครก็ได้โยนเข้ามาในบ้าน เพราะอาจจะนำไปสู่อันตรายในภายหลัง และสอง ไม่อยากให้หมากินกระดูกไก่ กลัวจะแทงลำไส้มัน“แหม เลี้ยงหมายังกะเทวดา” มีถ้อยคำหยอกล้อลอยมาพอให้อารมณ์แสบๆ คันๆถามว่าทำไมต้องพิถีพิถันขนาดนี้ ก็เพราะเรารัก เราจึงดูแลและรับผิดชอบชีวิตของมันให้ดีที่สุด การป้องกันดีและ(อาจจะ)ง่ายกว่าการรักษา เพราะค่ารักษานั้นไม่ใช่จะมีตลอดเวลา ไม่ว่าคนหรือหมา ทุกปัญหา “กันไว้ดีกว่าแก้” เสมอกระดูกไก่อันตรายค่ะ โดยเฉพาะกระดูกขา เพราะเวลาแตกจะมีลักษณะเป็นเสี้ยนที่แหลมและคม แทงกระเพาะและลำไส้ได้ มีหมาเจอกระดูกไก่คร่าชีวิตมานักต่อนักแล้วบ้านฉันมีพาราเซตามอลติดตู้เป็นกระปุก จริงๆ เตรียมไว้ให้หมา แต่บางทีปวดหัวขึ้นมา คนกับหมาก็กินยากระปุกเดียวกัน พาราเซตามอล ๕๐๐ มิลลิกรัม สำหรับหมาโตเป็นไข้ ให้ครั้งละครึ่งเม็ด ทุก ๔-๖ ชั่วโมง ส่วนหมาเด็กๆ ควรใช้พาราเซตามอลชนิดน้ำ เพราะกินง่าย แต่ถ้าไม่มี ให้ใช้แบบเม็ด โดยลดอัตราส่วนลงไป (ใช้อัตราไหน ควรถามหมอค่ะ)แต่ถ้าแมวเป็นไข้ ห้ามใช้พาราเซตามอลเด็ดขาดนะคะ เพราะแมวจะแพ้ถึงตายทีเดียวเชียว ต้องใช้ยาน้ำแก้ไข้เฉพาะของแมวเท่านั้นมีหลายโรคที่คนเป็นได้ หมาแมวก็เป็นได้ ตั้งแต่โรคหวัด โรคกระเพาะ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ไปจนถึงโรคมะเร็งนั่นเทียว การป้องกันโรคก็ไม่ต่างกัน เวลาฟังหมออบรมเรื่องการดูแลสุขภาพเจ้าสี่ขา ฉันนึกไปว่า หมอกำลังพูดถึงตัวฉันเองทุกที อย่างตอนนี้ ฉันซึ่งติดรสเค็มก็กำลังพยายามลดเกลือและน้ำปลา กลัวเป็นอย่างแมว คือตายไวด้วยโรคไตวาย (ว่าแล้วก็เก็บถ้วยน้ำปลาพริกขี้หนูเข้าตู้โดยทันที)ความไม่มีโรคเป็นโชคอันประเสริฐ สุขภาพดีวิเศษกว่ามีทรัพย์จริงๆ ค่ะ
เมธัส บัวชุม
หนังสือที่มีชื่อโดนใจใครหลาย ๆ คนเรื่องนี้ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางทั้งจากคนที่เห็นด้วยและคนที่รับไม่ได้แน่นอนว่าพรรคพลังประชาชนจะต้องถูกอกถูกใจที่มีคนมาช่วย "ด่า" รัฐธรรมนูญปี 2550เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่หัวหน้าพรรคฝีปากกล้าของพลังประชาชนเคยลั่นมาแล้วก่อนหน้านี้ว่า "รัฐธรรมนูญเฮงซวย"นักวิชาการน้อยใหญ่หลายคนเห็นตรงกันโดยไม่จำเป็นต้องทำโพลล์ว่ารัฐธรรมนูญปี 50 นั้นเฮงซวยจริง ๆ ทั้งนี้เพราะมันไม่ตอบโจทย์ที่กำลังเป็นปัญหาของสังคม ไม่ตอบคำถามของคนชั้นกลางที่อยากมีชีวิตมั่นคงภายใต้กระแสของโลกาภิวัฒน์ ทั้งยังไม่ช่วยให้คนระดับล่างมองเห็นอนาคตที่ดีขึ้นในวันข้างหน้าแต่รัฐธรรมนูญเฮงซวยฉบับปี 2550 ซึ่งร่างโดยนักวิชาการเฮง... กลับสนองความต้องการของกลุ่มข้าราชการที่ต้องการกลับเข้ามามีบทบาทในวงการเมือง ที่ต้องการเข้ามามี "ส่วนแบ่ง" ในวงการเมืองซึ่งมีเงินสะพัดมหาศาลผู้เขียน "รัดทะมะนวย ฉบับหัวคูณ" ใช้นามปากกาว่า "วาทตะวัน สุพรรณเภษัช นักเขียน มิลเลี่ยนคลิก" เป็นการรวบรวมบทความที่เคยเผยแพร่ทางเวบไซต์ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ช่วง 1 ปีตั้งแต่มีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549สามารถติดตามได้ไม่ยากว่าแท้จริงแล้ว ผู้เขียนชื่อมีชื่อจริงว่า พ.ต.อ.ประจักษ์ศิลป์ สุพรรณเภสัช ส่วนคนที่จัดพิมพ์คือ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีต รอง ผบ.ตร. เป็นคนจัดพิมพ์ออกจำหน่ายเล่มละ 100 บาท ส่วนคนที่ซื้อมาเพื่อนำมาแจกจ่ายให้กับผู้สมัครพรรคพลังประชาชนคือ พล.ต.ท.ชัชจ์ กุลดิลก ผู้สมัคร ส.ส.ระบบสัดส่วน กลุ่ม 6 (กทม. นนทบุรี สมุทร ปราการ) แห่งพรรคพลังประชาชนพ.ต.อ.ประจักษ์ศิลป์ สุพรรณเภสัช เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของ "รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ" ให้ฟังว่า"ผมไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์รัฐประหาร เพราะไม่เชื่อว่าคนที่ทำลายประชาธิปไตย ฉีกรัฐธรรมนูญ จะเข้าใจ ประชาธิปไตย และเชื่อเสมอว่า ตำรวจเข้าใจประชาธิปไตยมากที่สุด และเมื่อรัฐประหารเสร็จเรียบร้อย ก็มีข่าวเรื่องการทุจริตต่างๆ นานา อย่างรถหุ้มเกราะล้อยาง ซึ่งผมไม่พอใจมาก เพราะในอดีตมีทหารกี่คนที่ทุจริตและถูกดำเนินคดีไม่รู้จัก กี่คน..."พร้อมกันนี้ ผู้เขียนได้อธิบายความหมายของคำว่า "รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ" แบบมีอารมณ์ขันว่า"มันไม่ได้เป็นคำหยาบคายอะไร หากอ่านหนังสือผมให้หมดก็จะรู้ว่า คำว่ารัดทำมะนวย เป็นคำที่ยืมมาจาก สุจิตต์ วงศ์เทศ ที่เขียนเอาไว้ในหนังสือพิมพ์ มติชนว่า รัดทำมะนวยปล้นอำนาจประชาชน ส่วน ฉบับหัวคูณ ผมเอามาจากคำของซือแป๋ ราชดำเนิน (พล.ต.หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช) ที่เขียนเอา ไว้ว่า ไอ้พวกทุจริตมันเป็นพวกหัวคูณ คือคิดอะไรแต่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง โดยการคูณ คูณ คูณ คูณ ว่าเป็นเงินเท่าไร ผมก็ยืมเอาคำมาผสมกันเป็น รัดทำ มะนวย ฉบับหัวคูณ"อย่างไรก็ตาม ในหนังสือเล่มดังกล่าวหน้า 129 ผู้เขียนระบุคำว่า รัดทำมะนวย มาจากบทกวีของ คุณชนะ คำมงคล ที่เขียนไว้ว่า"เจ้าขุนทองยังไม่มา เห็นแต่หน้าเจ้าขุนทวย กำลังร่างรัดทำมะนวย ฉวยอำนาจประชาชน"ส่วน พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ผู้จัดพิมพ์ และเป็นประธานชมรมข้าราชการตำรวจบำนาญบอกว่า หนังสือเล่มนี้เป็นผลพวงมาจากหนังสือ "ทำลายรัฐตำรวจ สร้างรัฐทหาร" ของชมรมข้าราชการตำรวจ ซึ่งเป็นหนังสือ ที่ชมรมทำออกจำหน่ายให้กับข้าราชการตำรวจ ช่วงต้นปี 2550 เพื่อชี้แจงถึงรายละเอียดร่าง พ.ร.บ. ข้าราชการตำรวจ ที่จะมีผลกระทบกับตำรวจทุกคนในอนาคต"...เพราะคนนอกที่ไม่ใช่ตำรวจ กำลังจะเข้ามามีอำนาจเหนือตำรวจทั้งประเทศ ต่อมารัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ (จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี) เริ่มพูดถึง นโยบายการปราบยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และการฆ่าตัดตอน 2,000 ศพ ชมรมเห็น ว่าเป็นการสร้างเรื่องเพื่อทำลายข้าราชการตำรวจ และผลักให้ตำรวจทั้งประเทศเป็นผู้ร่วมกระทำผิด และผลักให้ไปเป็นพวก พ.ต.ท.ทักษิณ โดยไม่ตั้งใจ""...ทำให้ตำรวจที่เป็นผู้ปฏิบัติเสียกำลังใจอย่างมาก จึงรวมตัวกันออกหนังสืออีกเล่ม เพื่อบอกความจริงกับสังคมชื่อ "ฆ่าตัดตอน โกหกบันลือโลก" ซึ่งเป็นเป็นหนังสือคู่แฝดที่จัดทำมาพร้อมกับ "รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ"หนังสือเล่มนี้ จะเป็นสีสันและอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2550 มากไปกว่านั้นหนังสือเล่มนี้จะต้องส่งผลสะเทือนไม่มากก็น้อย ต่อชะตาชีวิตของรัฐธรรมนูญปี 2550มันยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้นเป็นรัฐธรรมนูญเถื่อนที่ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อะไรเลย เพราะผู้ร่างก็เป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกตั้งขึ้นโดยอำนาจเถื่อนที่ไม่ได้การยอมรับ ซ้ำเนื้อหาก็เถื่อนเอามาก ๆ (เวลาที่ผมเข้าไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเผอิญเห็นหน้านักวิชาการที่ช่วยยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 แล้ว ผมก็นึกถึงรัฐธรรมนูญเถื่อนทุกที ราวกับว่าที่หน้าผากของนักวิชาการท่านนี้มีรัฐธรรมนูญปี 50 แปะอยู่)ผมเชื่อว่าชะตาชีวิตของรัฐธรรมนูญปี 2550 คงจะสั้นเอามาก ๆ หรืออย่างน้อยก็จะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์น่ายำเกรง เป็นกรอบกฏหมายสูงสุดที่สัปดน น่าหัวร่อ มันจะกลายเป็นขี้ปากให้ใครต่อใครเอามาด่าเล่น แม้ว่าผมจะไม่ค่อยเห็นด้วย กับเหตุผลที่ทางผู้จัดพิมพ์ยกมาอ้างในการจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง "รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ" แต่ผมเห็นด้วยว่ารัฐธรรม "นวย" ปี 2550 นั้น "หัวคูณ" จริงๆ

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม