บล็อกกาซีน ประชาไท
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ตอนที่ 2 ท่าอุเทนนครพนม ดินแดนแห่งสายน้ำโขง จังหวัดชายแดนไทยลาวอีกหนึ่งจังหวัดที่สงบเงียบ (สงบเงียบอย่างจริงๆจังๆ) เรียบเรื่อยไปตามริมฝั่งโขงติดกับแขวงคำม่วนที่เพิ่งประกาศนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกับประเทศไทยเพียงไม่นานลาว ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล พยายามปรับตัวเองให้เป็นประเทศเมืองท่าค้าขายและขนส่งสินค้าในระดับภูมิภาค พร้อมตั้งเป้าขยายการเติบโตทางพลังงาน, นครพนม-แขวงคำม่วน จึงกลายเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์การค้า และแผนพัฒนาเศรษฐกิจโดยมีรูปธรรมนำ คือ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว สายที่ 3 นครพนม-ท่าแขก (สายที่ 1 หนองคาย-เวียงจันทน์, สายที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต)...ดูเหมือนว่าเราจะต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อไปตลาดเช้าริมน้ำโขง ตลาดท่าอุเทนจากการประเมินตัวเองกันแล้ว เราต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ออกจากบ้านสัก 6 โมงเช้า ก็คงจะทัน, เพราะระยะเวลาจากบ้านข่าถึงท่าอุเทน ใช้เวลาขับรถเพียง 30 นาที, เราโชคดีเกินคาด ตลาดท่าอุเทนปรับเวลาใหม่ โดยอนุญาตให้เริ่มวางหาบขายของได้ตั้งแต่เวลา 08.00 น., ผ่านเหตุผลที่ได้ยินมาจากเทศบาลว่า ดูแลควบคุมง่าย ไม่งั้น ยาบ้าระบาดหนัก...ตลาดท่าอุเทนเป็นจุดผ่อนปรนริมน้ำโขงซึ่งชาว(บ้าน)ลาวจากแขวงคำม่วน จะเดินทางนำสินค้ามาวางขายกันทุกวันจันทร์และวันพฤหัส ตั้งแต่เวลา 08.00 น.-16.00 น. กินเนื้อที่ 4 มุม บนถนนสายเทศบาลเมืองท่าอุเทน สินค้าส่วนใหญ่ได้แก่ รากไม้สำหรับดองเหล้า ใบจากสำหรับมวนยาสูบ กล้วยไม้ป่า อาหารป่า จำพวก เนื้อเก้ง กวาง เต่า ตะพาบ ยังพอมีให้เห็น“เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปมากนะพี่ เมื่อก่อน(สัก 10 ปีมาแล้ว)เป็นตลาดชาวบ้าน” รุ่นน้องเอ่ยผมพอจะเข้าใจความหมาย เมื่อมองไปรอบๆ เห็นร้านขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขนมนมเนยหนีภาษีจากอำเภอหาดใหญ่ โมเดลดรากอนบอลแซด กระติกน้ำมือถือหรือเครื่องไม้เครื่องมือการเกษตร ทันสมัย จากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าชาวไทย...ก่อนถึงเวลา 08.00 น. ศุลกากร เจ้าหน้าที่เทศบาลและทหาร จะมาคอยอยูที่ท่า รอตรวจบัตรและสินค้าของชาวลาว, แดดสายเริ่มแรง คุ้งน้ำข้างหน้าเริ่มเคลื่อนไหว ตลอดแนวเกาะกลางน้ำโขงต้นไม้ทึบสูงท่วมหัว กลางสายหมอกที่กำลังละลาย ชาวลาวหลายสิบคนมาพร้อมเรือโดยสารมากกว่า 5 ลำเรือเมื่อจอดเทียบท่า(โป๊ะ) ความชุลมุนวุ่นวาย เสียงตะโกนโหวกเหวก ขนสินค้ากันจ้าละหวั่นทั้งจากฝั่งไทยและฝั่งลาว การแลกเปลี่ยนสินค้าต่อรองราคาเริ่มต้นขึ้นใบจากม้วนใหญ่ ราคา อยู่ที่ 45 บาท ต่อม้วน เหมากันเป็นคันรถกะบะรากไม้หลากชนิด(ไม่รู้ว่าชนิดไหนบ้าง)อยู่ที่ราคากระสอบละ 100-200 บาท ตามความยากง่ายของการเสาะหาสินค้าประเภทเครื่องเทศ เครื่องจักสาน มีราคาสูงสักนิดลูกพลับจากประเทศจีน ทะลักเข้ามาทางด้านพรมแดนลาวเหนือ อนุโลมให้ขายได้ เล็กๆ น้อยๆ พอประทังโดยไม่ต้องเสียภาษีวันนี้ จะได้ซื้อเสื้อสวยๆ ไปฝากคนที่รออยู่ที่บ้าน.คนฝั่งโน้น (แขวงคำม่วน) มากับเรือโดยสาร “วันนี้จะขายได้เท่าไรน๊า”ได้เวลาขึ้นฝั่ง ทหาร ศุลกากรและเทศบาล จะดักอยู่ที่ท่าเทียบเรือตลาดที่ยังมีบรรยากาศชาวบ้าน2 ชิ้นนี้ เรียกว่า นารีผล แม่ค้าคนนั้นบอกว่า “เป็นอย่างนี้อยู่แล้วจ้ะ ไม่ได้เสริมแต่ง”แม่ค้าชาวลาวท่านนี้แบกกระสอบลูกพลับจากจีนมาขายมัดใบจาก ไม่หนักและไม่เบาจนเกินไปนักค้น ขน ต่างทำหน้าที่!คุมเข้มและเข้มงวด ป้องกันยาเสพติด
วาดวลี
“พ่อเคยคิดจะย้ายไปอยู่ที่อื่นไหม?”ฉันเคยเอ่ยถามชายชราไว้นานแล้ว ไม่จริงจังในคำพูด และไม่มีประเด็นอะไรมากนัก ฉันเพียงแต่อยากรู้ว่าเขาคิดอย่างไร ในวันรื้อถอนบ้านเก่าที่ผุพังเพราะน้ำท่วม จำเป็นต้องสร้างหลังใหม่มาแทนที่ ............ที่ดินของเราเป็นผืนยาวติดแม่น้ำเล็กๆ ซื้อมาด้วยเงินก้อนใหญ่ที่สุดในชีวิตของแม่ ราคาไม่กี่พันบาท ฉันย้ายมาอยู่ในตอนที่อายุ 7 ขวบ เวลาต่อมา คืนหนึ่งแม่ก็เสียชีวิตในบ้านหลังนี้ ตายจากไปเหลือเพียงเถ้าถ่าน ร่างกายถูกเผากลางแดดด้วยฟืนกองโต จำได้ว่าหลังจากคืนเผาศพแม่ไม่นานนัก บ้านทั้งหลังเงียบสงบ เป็นความอ้างว้างที่สุดเท่าที่เคยรู้สึกมาก่อนในชีวิตอ้างว้างเสียจนกระทั่งพ่อเองก็ไม่อยากอยู่บ้าน เขาพาฉันนั่งรถไปเยี่ยมพี่ชายที่ต่างอำเภอ แล้วพูดจาชักชวนพี่ชายให้กลับบ้าน ชายหนุ่มตัวเล็กยืนยันเวลานั้นว่า เขากำลังสร้างครอบครัวที่นี่ ผืนดินที่เหยียบอยู่เป็นเมืองแปลกหน้าในอดีต แต่ปัจจุบันนั่นคือบ้านของเขาเราสองคนพ่อลูกนั่งรถกลับมายังบ้านหลังเดิม คืนนั้น ต่างคนต่างหลับ อยู่กับความเงียบของคืนข้างแรม บนท้องฟ้ามีดาวพราวพราย แต่ฉันเห็นน้ำตาของพ่อซึมไหลผ่านใบหน้าเหี่ยวย่น เขาคิดอะไร ฉันไม่รู้ เพียงแต่ในเวลาต่อมาไม่นาน พ่อก็พาใครคนหนึ่งเข้ามาอยู่ในบ้าน บอกสั้นๆว่าจะแต่งงาน ฉันย้อนคิดภาพเหล่านั้นอยู่เสมอๆ และน่าจะเป็นคำตอบได้ว่า พ่อคงไม่อยากย้ายไปไหนแล้ว ฉันจึงไม่ได้ถามพ่ออีก จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาเองต้องเป็นฝ่ายยืนส่งฉันหน้าบ้าน โบกมือและรับไหว้ “ทุกคนมีวิถีของตนเอง” เขาบอกเมื่อฉันกลายร่างเป็นนกอีกตัว ที่ต้องจรจากหมู่บ้านไป เขาปล่อยฉันหอบเสื้อผ้าไปอย่างเงียบๆ ในกระเป๋ามีเสื้อผ้า 2 ชุด สมุดบันทึก หนังสือ 2 เล่มกับเงินนิดหน่อยฉันเดินทางไปหาพี่สาวที่กรุงเทพฯ ไม่รู้อนาคตล่วงหน้า ไปเพื่อเรียนต่อ หางานทำ หรือแสวงหาใครสักคนในชีวิต ฉันไม่รู้ รู้เพียงเวลาต่อมา จวบจนบัดนี้ ฉันคือคนที่ยังไม่ได้กลับบ้าน พเนจรไปอาศัยตรงนั้น ตรงนี้ ข้ามเมืองหลวง กลับมาเมืองเดิม แต่ก็ยังไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพ่อหรือทดแทนคืนวันที่ขาดหาย“พ่อเคยคิดจะย้ายไปอยู่ที่อื่นไหม?”ฉันกลับมาถามเขาอีกครั้ง ตราชั่งความคิดกำลังทำงาน ระหว่างต่างคนต่างไป กับ การใช้ชีวิตร่วมกัน เมื่อตระหนักว่าชายชราตรงหน้า มีร่างกายร่วงโรยตามสังขาร มีความอ่อนไหวเช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคน ฉันควรกลับมาหาเขา หรือ ไม่ เขาก็ควรไปอยู่กับฉัน ผิดก็เสียแต่ว่าฉันยังไม่มีบ้านของตัวเอง การย้ายบ้านครั้งนี้ก็เพียงไปขอเช่าที่สวนกับบ้านร้างเก่าๆ หลังหนึ่งไว้อยู่อาศัย ความรู้สึกผิดบางอย่างยังวูบไหวมาเป็นระยะ เมื่อคิดว่าการดิ้นรนนั้นทำเพื่อตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ฉันอยากถามเขาอีกครั้ง หากฉันมีบ้านของตัวเอง เขาจะมาอยู่กับฉันไหมชายชราหัวเราะหึๆ มาตามสายโทรศัพท์ เขาบอกแต่ว่าจะฝากผ้ายันต์ติดเสาบ้านมาให้ เป็นของขวัญบ้านหลังใหม่“แก่ๆ ก็มาอยู่ด้วยกันนะ”ฉันลองเกริ่นไปแบบนั้น ชายชราหัวเราะอีก นึกทบทวนไปยังพื้นที่รอบบ้านของพ่อ เขามีเพื่อนที่ผูกพันกันมา มีกิจกรรมในชุมชน เขาปลูกสมุนไพร ทำยาบดเพื่อแจกจ่ายชาวบ้าน เป็นคนประกอบพิธีกรรมศาสนาและเขียนบทกวีเกี่ยวกับคนตาย เพื่ออ่านในงานศพการพรากเขาจากที่นั่นมา คงเป็นเรื่องไม่เข้าท่า ฉันจึงกระอักกระอ่วน ที่จะบอกพ่อไปว่า“คงยังไม่ได้กลับไปอยู่บ้านหรอกนะ”“หา..อะไรนะ..”ใช่แล้ว เขาหูไม่ดี ฟังอะไรไม่ถนัด ฉันพูดดังๆ อีกรอบ จนแทบเป็นตะโกน แต่สุดท้าย ชายชราก็หัวเราะเสียงดัง“ได้ยินแล้ว ตะกี้ไม่ได้ยินจริงๆ ตอนนี้แกล้งไม่ได้ยิน”“อ้าว พ่อนี่ แล้วที่ถามตอนแรกได้ยินไหม”ฉันยังนึกถึงประโยคนั้น เขาคิดจะย้ายจากที่นั่นมาอยู่กับฉันไหม ชายชราผู้รู้ทันเอ่ยกับฉันเบาๆว่า“อยากอยู่ที่ไหนก็อยู่ไปเถิดลูก อย่าไปคิดมาก แต่ก่อนพ่อก็ไม่ใช่คนบ้านนี้ ปู่ทวดเราก็ไม่ใช่คนที่นี่ เราต่างย้ายมากันทั้งนั้น ข้ามภูเขาเป็นลูกๆ มาตั้งรกราก นกยังอพยพข้ามประเทศมาเลย อยู่ที่ไหนที่ใจมีสุขก็พอ ไม่ต้องกังวลว่ามันไม่ใช่บ้านเกิด”เขาพูดอย่างช้าๆ ส่วนฉันก็นิ่งเพื่อตั้งใจฟัง น้ำเสียงที่ยังคงท่วงทำนองการพูดอันคุ้นเคยเหมือนในอดีต ฉันเผลอยิ้มให้กับประโยคเหล่านั้น ก่อนจะเอ่ยสวัสดีและล่ำลากัน ได้ยินแว่วๆ มาในประโยคสุดท้าย ที่ชายชราบอกไว้ว่า“ไว้แก่กว่านี้พ่อจะค่อยคิดใหม่ ว่าจะย้ายไปไหนอีกหรือเปล่า”* หมายเหตุ ขอบคุณภาพลำดับ 6 นกเขาคู่รักหลังหลังตึกและต้นสักในเมืองใหญ่ จากคุณปิยนาถ ประยูร
ชนกลุ่มน้อย
ขณะรถแล่นไป เราพูดถึงแต่สิ่งที่อยู่ข้างหน้า และย้อนนึกถึงสิ่งที่ผ่านมา จนแทบไม่คิดถึงเรื่องขณะปัจจุบัน ทันทีที่รถมาถึงโค้งหนึ่งนั่นเอง พะเลอโดะหักหลบลงข้างทางอย่างกะทันหัน รถวิ่งไปบนพื้นขรุขระตึงๆตังๆ พร้อมกับดับไฟหน้ารถ ผมเห็นแต่ความมืดสลัว และตะคุ่มพุ่มไม้ ใบบังที่แสงจันทร์เสี้ยวพอให้มองเห็นได้ เหมือนว่าซอมีญอกับกะฌอจะเข้าถึงกลิ่นลอยมาล่วงหน้า ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า เขาหายไปจากที่นั่ง หลบไปอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ผมถามพะเลอโดะว่ามีอะไร ลุงเวยซาเช่นกัน นั่งลุกลี้ลุกลนหันซ้ายหันขวา สัมผัสได้ถึงสิ่งไม่ปกติ“ข้างหน้ามีด่านตรวจ” พะเลอโดะพูดสั้นเพียงนั้น อย่างกับได้กลิ่นอันตรายบางอย่าง แล้วส่องไฟฉายจัดสิ่งของในรถเสียใหม่ มะพร้าวงอกหน่อสูงเท่าข้อศอก หน่อกล้วย ถุงข้าว ถุงเกลือ หม้อสนาม เปล ถุงนอน จอบเสียม มีดทำสวน ต้นไม้ในถุงเพาะชำอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้ดูประหนึ่งเป็นรถคนสวนแถบนี้“พะตี เขาถามให้บอกว่าไปโข่โละโกร” พะเลอโดะหันไปพูดกับลุงเวยซา ผมได้ยินลุงเวยซาพูด เหม่ เหม่ รับคำอยู่ในความมืด “พวกโง่ทั้งนั้น ยังเฝ้ายามกันอยู่” พะเลโดะพูดไปหัวเราะไป ผมเห็นความเด็ดขาด การตัดสินใจฉับพลัน และท่าทีไม่กลัวใครในเวลาสำคัญมาตลอด เหมือนเขาเคลื่อนไหวอยู่ในเขตสู้รบ โดยไม่มีอาวุธหรือกระสุนแม้แต่นัดเดียวรถถอนตัวออกจากข้างทาง อย่างกับลุกขึ้นมาจากหลุมก้อนหิน ไฟหน้ารถสว่างโล่ไกลออกไป เห็นไฟฉายหลายกระบอกส่องขวางถนนอยู่แล้ว คนในชุดพรางอาวุธสงครามโบกมือไหวๆพร้อมโบกมือ พะเลอโดะหยุดรถ ไม่แสดงอาการตื่นกลัวใดๆ กลับนั่งสง่านิ่งสงบอย่างกับผู้บังคับบัญชากำลังตรวจกำลังพลแนวหน้า“ไปไหน” เสียงหนึ่งดังง้วนสั้น ไฟฉายส่องแสงวาบเข้ามาในรถ พะเลอโดะพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นแต่เจือด้วยท่าทีอ่อนน้อมเจียมตน “ไปสาละวินครับ” เสียงคำถามดังมาทางด้านประตูรถที่ผมนั่ง“มาจากไหน” เสียงนั้นดังมาจากความมืด“เชียงใหม่” ผมตอบแล้วยิ้มมุมปาก“ช่วงนี้มีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่าครับ” พะเลอโดะโยนคำถาม“ข้างในกำลังสู้รบ มาแถบนี้กลางคืนไม่ปลอดภัย” เสียงหนึ่งดังสอดขึ้นมา“ลุงไปไหน ไปทำอะไร”“โข่โละโกร” ลุงเวยซาพูดด้วยน้ำเสียงตื่นๆ พะเลอโดะพูดแทรกขึ้นมาว่า ลุงอยู่แม่เงาขอติดรถมาด้วย เอาต้นไม้ข้าวของไปฝากลูกหลานไม่มีเสียงถามต่อ แสงไฟฉายสาดไปทั่วรถ ราวกับจะค้นหาสิ่งแปลกปลอมที่อาจแฝงตัวมากับฝุ่นในรถ ผมเสียอีกกลับใจเต้นตึงๆตังๆ ผมไม่รู้ว่าซอมีญอกับกะฌอไปแอบซ่อนอยู่ตรงไหนของตัวรถ เกิดเขาค้นหาเจอ จะมีอะไรเกิดขึ้นนับจากนี้ไป“นี่อะไร”เงียบกันชั่วอึดใจ แสงไฟฉายสาดไปจ่อหน่อมะพร้าว“ไปได้ๆ ระวังๆ หน่อยแล้วกัน” กลุ่มคนในชุดพรางหลีกทางให้ พะเลอโดะกล่าวขอบคุณ แสงไฟส่องไกลไปตามถนนที่คดเคี้ยวไปเรื่อยๆ
ฐาปนา
หากได้รับตั๋วเครื่องบินไป-กลับยุโรป พร้อมเงินติดกระเป๋าไปเที่ยวฟรีๆ 10 วัน เป็นใครย่อมไม่รอช้า ทั้งพร้อมจะเลื่อน – ลา – หยุด ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไป มันคงเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตที่น้อยคนจะมีโอกาส แต่ด้วยเงื่อนไขเดียวกันนี้ หากเปลี่ยนจากไปเที่ยวยุโรป 10 วัน เป็นการไป ‘วิปัสสนา’ 10 วันแทน หลายคนคงต้องคิดหนัก เราหมายใจจะท่องเที่ยวไปให้ทั่วประเทศ ทั่วทวีป ทั่วโลก จากทะเลลึกถึงภูเขาที่สูงที่สุด จากมหานครสู่ป่าดิบ จากกลางตลาดที่คราคร่ำด้วยผู้คนสู่ทะเลทรายเวิ้งว้าง แต่เรากลับไม่สนใจที่จะท่องเที่ยวสำรวจ ‘จิต’ ของเราเอง ... แปลกมั้ย ?ในฐานะชาวพุทธ ไม่ว่าจะกล่าวด้วยความภาคภูมิ หรืออ้างไปก่อนขณะที่ยังไม่เปลี่ยนศาสนาเป็นอื่น น้อยคนนักที่จะรู้ความหมายว่า วิปัสสนา หมายถึงอะไร และน้อยลงไปอีกที่ต้องการจะรับรู้ประสบการณ์วิปัสสนา ทั้งที่อาจจะกล่าวได้ว่าสิ่งนี้ คือหนทางแห่งปัญญา อันเป็นคำสอนสำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูผู้ยิ่งใหญ่ และศาสดาของศาสนาพุทธแน่ละ ผมเองก็เป็นคนหมู่มาก ที่บอกได้ว่าเป็นชาวพุทธตั้งแต่เกิด แต่ไม่เคยรู้เรื่องวิปัสสนาแม้แต่น้อย จนกระทั่งได้มีโอกาสไปเข้าอบรมการวิปัสสนาที่ศูนย์ธรรมอาภา1 จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิที่นา พร้อมกับเพื่อนอีกสี่คนผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมปฏิบัติวิปัสสนาเป็นเวลาสิบวันไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอบรมใดๆ เลย หากแต่ต้องยอมรับที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ว่าด้วยความเงียบอย่างเคร่งครัด ทั้งการไม่พูดคุยกันแม้แต่คำเดียวตลอดสิบวัน ทั้งการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือโดยเด็ดขาด ทั้งการห้ามอ่าน-ห้ามเขียน ฯลฯ ที่ล้วนแต่สามารถทรมานกิเลสคนเมืองได้ทั้งสิ้น เพราะแต่ละคนได้ผูกติดตนเองไว้กับสังคมอย่างแน่นหนาเสียแล้ว ครอบครัว คนรัก เพื่อน ที่ทำงาน โรงเรียน ฯลฯ เวลาเกือบสองสัปดาห์สำหรับคนที่เคยชินกับการพุ่งความสนใจออกไปนอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา มันไม่ง่ายเลยวิปัสสนา แปลว่า ทำให้เห็นความจริง ความจริงของโลก ความจริงของชีวิต ความจริงของตัวเรา ผ่านเครื่องมือที่ง่ายที่สุดคือ ลมหายใจของเราซึ่งเป็นเครื่องหมายของชีวิต เมื่อผมหันความสนใจจากที่เคยมุ่งสู่ภายนอกให้กลับมาดูที่ลมหายใจของตัวเองผมก็ได้เห็น โลกภายในที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนสามวันแรกของการปฏิบัติ การปรับตัวให้เข้ากับตาราง การตื่นแต่เช้ามืดเพื่อนั่งสมาธิ สถานที่ใหม่ อาหารมังสวิรัติ กฎแห่งความเงียบ หลายสิ่งหลายอย่างทำให้ผมอึดอัด ฟุ้งซ่าน ห่วงงาน ห่วงครอบครัว จนอดคิดไม่ได้ว่าจะอยู่จนครบสิบวันได้หรือไม่ แต่อาจเพราะความสนใจใคร่รู้จากการฟังธรรมะบรรยายในช่วงเย็นของทุกวันที่บอกว่า ‘...การฝึกอานาปานสติ ดูลมหายใจนี้คือการลับมีดให้คมเพื่อผ่าตัดจิตใจ...’ ทำให้ผมอยากจะลองดูสักตั้งว่า ตลอดทั้งสิบวันนี้ หากผมปฏิบัติอย่างจริงจัง มันจะทำให้ผมดาวดิ้นลงไปได้หรือเปล่า ดังนั้น แม้จะร้อนรนเหลือเกินและคิดห่วงไปสารพัดอย่าง แต่ผมก็ตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ จนกระทั่งลมหายใจเริ่มละเอียดลงเรื่อยๆ และสามารถสัมผัสได้ถึงความเย็นจากลมหายใจที่เหนือริมฝีปากแล้วในวันที่สี่ วันที่ได้เริ่มฝึกวิปัสสนา เมื่อเริ่มเคลื่อนสติมาจดจ่อที่กลางกระหม่อมผมก็รู้สึกได้ว่า มีดแห่งสติที่ผมเพียรลับมาตลอดสามวันนั้น มันช่างคมกริบเหลือเกิน มันผ่าเอาเวทนาผมผุดพลุ่งออกมาราวกับน้ำพุ หนังหัวของผมเหมือนมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ใบหน้าเหมือนมีตัวอะไรวิ่งอยู่ใต้ผิวหนัง ไหล่ขวาหนักราวกับหินทับ กล้ามเนื้อตามร่างกายกระตุกอย่างควบคุมไม่ได้ บางครั้งก็ร้อนผ่าวไปทั้งตัว บางครั้งก็รู้สึกเบาเหมือนจะลอยได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่อุปาทาน แต่เกิดขึ้นจริงๆ ประจักษ์ด้วยตนเองจริงๆ แม้แต่ความเจ็บปวดตามร่างกายอันเกิดจากการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ผมก็ได้เห็นด้วยตนเองว่ามันเกิดขึ้นเฉพาะขณะเข้าวิปัสสนา มันปวดเหมือนกับจะทนไม่ได้ แต่มันก็หายไปแทบจะทันทีที่ออกจากสมาธิ หรือนี่จะเป็นอาการที่เรียกว่า กิเลสกำลังถูกเผา...?ผมฝันร้ายในคืนที่สี่นั้น เป็นฝันร้ายที่มาเป็นชุดๆ มากเสียจนจำรายละเอียดและจำนวนเรื่องที่ฝันไม่ได้ รู้แต่ว่ามันช่างน่ากลัวเหลือเกิน ผมไม่เคยรู้เลยว่า ในหัวสมองของผมจะมีจินตนาการที่เลวร้ายซ่อนเร้นอยู่มากมายขนาดนี้ ผมสะดุ้งตื่นหลายครั้งและรู้สึกว่าตัวเองหายใจเบาและเร็วมาก ผมไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อนเลย เช้าวันนั้น ธรรมบริกร ผู้คอยดูแลผู้เข้าอบรม มาบอกผมว่า เมื่อคืนผมนอนกรนเสียงดัง เขาไปเคาะประตูห้องแล้วแต่ผมไม่ตื่น ผมไม่รู้ตัวเลยว่าได้หลับลึกไปขนาดไหน หรือนอนหลับไม่สนิทขนาดไหนในวันต่อๆ มา ผมรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างที่ดำมืดในตัวค่อยๆ ถูกชำระล้างออกไป ผมเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลง ความฟุ้งซ่านในใจเหมือนถูกกวนจนฟุ้งกระจายไปทั่วแล้วจางหายไปเรื่อยๆ ความขุ่นเคืองที่หมักหมมคล้ายตะกอนนอนก้นอยู่ ค่อยๆ ถูกระบายออกไปจนเกือบหมด ธรรมบรรยายได้ย้ำเตือนอยู่หลายครั้งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎบนร่างกายล้วนเป็นผลมาจากการหลุดร่อนของสังขารที่ทับถมกันอยู่ภายในมาตลอดชีวิต ตามหลักที่ว่า เมื่อหยุดการปรุงแต่ง การปรุงแต่ง(สังขาร)เดิมก็หลุดร่อนออกมา แล้วผลแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสนานาประการในใจ ก็ผุดโผล่ออกมาบนผิวกาย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งอาการที่น่าพอใจ ทั้งอาการที่ไม่น่าพอใจ ไม่มีอะไรคงทนสักอย่าง แม้แต่ความเจ็บปวดจนแทบทนไม่ไหวมันก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นจากการปฏิบัติติดต่อกันหลายวัน ผมพบว่าร่างกายกับจิตใจมันสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกจริงๆ ขณะที่จิตใจปั่นป่วนร่างกายก็ปั่นป่วน มันต่อต้านการหยุดนิ่ง มันเคยชินกับการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มันต่อสู้เพื่อจะสร้าง เพื่อจะปรุงแต่งต่อทุกความรู้สึกทางกายทางใจ แล้วเมื่อจิตใจสงบร่างกายก็สงบลงไปพร้อมๆ กันถึงวันที่แปด ผมนั่งวิปัสสนาติดต่อกันได้นานกว่าสองชั่วโมง แม้อาการเมื่อยล้า เจ็บปวดขาจะยังมีอยู่ แต่ผมรู้ว่ามันจะหายไปในเวลาไม่นาน มันมาแล้วมันก็ไป เช่นเดียวกับความฟุ้งซ่านของจิตที่ยังกระโดดไปมาระหว่างอดีตกับอนาคต มันก็ยังเป็นของมันอยู่ แต่ผมก็รู้แล้วว่า เมื่อมันมาเดี๋ยวมันก็ต้องไป แค่ตามดู รู้ทัน วางเฉยเสียมันก็ไม่อาจไปไหนได้ไกลหลังสิบโมงเช้าของวันสุดท้าย ทุกคนได้รับอนุญาตให้พูดคุยกันได้ ใช้โทรศัพท์ได้ ซึ่งธรรมบรรยายอธิบายว่านี่คือวิธีสมานแผล หลังจากการผ่าตัดจิตใจแล้ว ผมคิดว่า วิธีนี้จะมีประโยชน์มากจริงๆ ในกรณีที่เราไปกันเป็นกลุ่ม เพราะเมื่อเราสามารถพูดคุยกันได้ เราก็ย่อมจะเปิดใจพูดคุยกันได้มากกว่าคนที่มาลำพัง (แต่นี่ก็อาจเป็นข้อเสียเพราะมันอาจทำให้เราอดคุยกันไม่ได้ระหว่างที่รักษาความเงียบ) ดังนั้น ในช่วงพัก ชายหนุ่มทั้งห้าจากมูลนิธิที่นา จึงตั้งหน้าตั้งตาคุยกันชนิดไม่สนใจคนอื่น เมื่อถึงวันที่ต้องกล่าวอำลา สิบวันที่ยาวนานเหมือนสิบสัปดาห์ในตอนแรก กลับดูสั้นกว่าเดิม ประสบการณ์ตลอดสิบวันแห่งการสำรวจจิตตัวเอง อาจมากพอที่จะเขียนบรรยายเป็นหนังสือได้หลายเล่ม แต่สิ่งที่ทรงคุณค่าที่แท้จริงนั้นกลับยากที่จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดหรือตัวอักษร อาจเพราะมันไม่ต้องการคำอธิบาย หรืออาจเพราะไม่มีคำอธิบายใดจะบอกได้อย่างครบถ้วน ผมรู้เพียงว่า ผลลัพธ์ของมันช่างมหัศจรรย์ หลายสิ่งหลายอย่างในตัวผมเปลี่ยนแปลงไป ผมรู้สึกถึงการ ‘เลือก’ อย่างมีสติมากขึ้น เข้าใจมากกว่าเพียงแค่พูดว่า อนิจจัง-ทุกข์ขัง-อนัตตา อย่างที่เคยได้ยินมาตลอดชีวิต‘…ภูเขาก็เป็นภูเขา. น้ำก็เป็นน้ำ. บรรพชิตก็เป็นบรรพชิต.ชาวบ้านก็เป็นชาวบ้าน.แต่ว่าภูเขาเหล่านี้ แม่น้ำเหล่านี้ โลกเองทั้งหมด พร้อมทั้งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวทั้งหลาย, ทั้งหมดนั้นไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่ตั้งอยู่ภายนอกจิตของเธอ! สากลโลกธาตุอันไพศาล ก็ตั้งอยู่แต่ภายในใจเธอเท่านั้น,เมื่อเป็นดังนั้น จะมีที่อื่นที่ไหนอีกเล่า ที่จะหาพบสิ่งต่างๆ ที่มีปรากฎการณ์นานาชนิด. ภายนอกของจิตไม่มีอะไรเลย. ...’2ธาตุดั้งเดิมของมนุษย์ ก็ไม่ต่างจากธาตุดั้งเดิมที่ประกอบอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ทั้งสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูป และเป็นนาม หากเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในตัวเรา ก็ย่อมจะเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนอกตัวเรา หากประจักษ์ถึงสัจจะในตัวเรา ก็ย่อมประจักษ์ถึงสัจจะนอกตัวเรา เมื่อเห็นความจริงของสรรพสิ่ง อัตตาก็ถูกสลายไปเรื่อยๆ มนุษย์แต่ละคนย่อมสามารถเข้าถึงความจริงที่เขาพร้อมจะรับ แต่หากปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงก็เท่ากับขีดวงล้อมให้ตัวเองแคบเข้าไปเรื่อยๆ ความทุกข์ก็รุมล้อมมาจากทุกด้าน คล้ายกับว่า เมื่อต่อต้านมัน มันจึงคงอยู่ แต่เมื่อมองดูมันกลับสลายไปสิบวันแห่งการสำรวจจิตใจตนเอง คือประสบการณ์ล้ำค่าที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นบัณฑิตหรือชาวนา ‘ธรรม’ นั้นย่อมเป็นของกลางสำหรับทุกคน นับแต่ขจัดทุกข์ กำจัดกิเลศ ไปจนถึงพบกับความจริงสูงสุด แต่ที่ไม่มีใครต้องการจะไป อาจเป็นเพราะกิเลสมันได้ยึดครองจิตใจไปเสียหมดแล้ว และมันกลัวที่จะต้องถูกกำจัดจึงหลีกเลี่ยงทุกวิถีทางที่จะไป เราได้ปล่อยให้กิเลสมันเป็นนายเหนือเรามาตลอด สุตตะมยปัญญา ได้จากการฟัง การอ่าน การรับรู้ทุกชนิด จินตามยปัญญา ได้จากการคิดใคร่ครวญ และ ภาวนามยปัญญา ได้จากประสบการณ์ จึงมีคำพูดที่ว่า อ่านหนังสือพันเล่ม ไม่เท่าออกเดินทางไกล การประจักษ์แจ้งในตน ย่อมไม่อาจได้จากการอ่านหรือการคิดเอาเอง หากแต่ต้องปฏิบัติให้รู้เห็นด้วยตนเองเท่านั้น การวิปัสสนานั้น แม้จะอ่านหนังสือสักเท่าไร ก็ไร้ประโยชน์หากไม่ได้ผ่านประสบการณ์นั้นด้วยตนเอง ภาวะของการเป็น ที่ได้รับจากประสบการณ์เท่านั้น ที่จะทำให้แต่ละคนได้ประจักษ์ และซาบซึ้งถึงคุณค่าของชีวิต รู้สึกอยากจะขอบคุณทุกๆ คน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้นำพาให้ตนเองได้มาถึงจุดนี้ เหตุผลที่เราทุกคนควรจะมีโอกาสไปวิปัสสนาสักครั้งหนึ่งในชีวิตนั้น อาจกล่าวได้มากมาย แต่ถึงที่สุดแล้วอาจมีแค่ข้อเดียวเพราะภาวะแห่งการ ‘เป็น’ นี้เท่านั้น ที่จะทำให้เรา ‘เป็น’ ยิ่งๆ ขึ้นไปอีกและเมื่อเราได้รู้จักตนเองแล้ว เราจึงพร้อมจะช่วยให้ผู้อื่นได้รู้จักตนเองด้วย
นาโก๊ะลี
นักบริหารท่านหนึ่งกล่าวว่า “ผู้ที่เรียนรู้จากประสบการณ์ถือเป็นคนฉลาด แต่ผู้ที่เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นด้วยเป็นคนฉลาดกว่า” ในขณะที่ยุคสมัยการเรียนรู้ของมนุษย์ มุ่งเน้นไปที่เนื้อหาวิชาการ ทฤษฎีต่างๆ แบ่งสายแยกแขนงแตกต่อ สืบค้นต้นตอแสวงหาความรู้ ไม่ก็สร้างความรู้ สร้างทฤษฎีขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรม หรือให้มันรับใช้ความเชื่อของตัวเองหรือกลุ่มของตัวเอง นั่นก็ว่า ทฤษฎีของใครก็ของใคร ทั้งนั้นก็คงใช่หรอก ว่าเป็นการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ มากกว่านั้นหลายเจ้าทฤษฎีก็ขวนขวายหาวิธี สร้างวิธีเข้าสู่ความรู้โดยวิธีลัด ด้วยว่าคนร่วมยุคสมัยใช้เวลากันเปล่าเปลือง จึงเหลือเวลาอยู่ไม่มากแล้ว บางคนเหลือเวลาไว้ใช้เพียงน้อยนิด หรือบางผู้คนก็อาจไม่มีเวลาเหลืออยู่เลย เช่นนี้เองผู้คนจึงดำรงอยู่บนวิถีอันสำเร็จรูป แม้แต่ความรู้ก็ไม่ได้รับการยกเว้นว่าต้องทำให้มันเป็นความรู้สำเร็จรูป ด้วยเมื่อมันเป็นเช่นนั้นแล้ว มันย่อมซื้อหามาได้นั่นเองผู้เฒ่ามักเล่าเรื่องราวได้แม่นยำ เรื่องราวของชีวิตท่านเอง หรือกระทั่งเรื่องราวของความรู้ และประวัติศาสตร์ก่อนยุคสมัยของท่าน รายละเอียดมากมายทั้งในเรื่องของคน เวลา และเหตุการณ์ เรื่องราวทั้งหมดนั้นสถิตอยู่ในความทรงจำอันยาวนาน ผ่านกาลเวลามาอย่างมั่นคง แนบแน่น ไม่หล่นหาย สงบนิ่งอยู่ในความทรงจำ รอการบอกเล่ากล่าวความต่อคนรุ่นหลัง และเมื่อยามที่เรื่องราวทั้งหลายหลั่งไหลออกมาจากทรงจำผู้เฒ่านี้เอง มันจะเต็มไปด้วยชีวิตชีวา มีพลัง แทรกเกร็ด เสริมสร้างแรงบันดาลใจ แต่ว่าไป ผู้เฒ่าที่สั่งสมเรื่องราวมากมายเหล่านี้ก็มิค่อยได้มีโอกาสเล่าความนี้เท่าไหร่นัก ด้วยลูกหลานไม่มีเวลา หรือมีเครื่องมหรสพใหม่ๆ ที่ตรึงตาพวกเขาได้มากกว่า ลึกไปกว่าเรื่องราวที่บอกเล่า ผู้เฒ่าก็บอกเล่าที่มาของเรื่องเล่าเหล่านั้น มันไม่ได้มาจากการจัดรูปแบบการเรียนรู้ แต่มันมาจากวิถีชีวิต มันถูกส่งผ่านจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกัน การงานที่ช้า ไร่นาเรือกสวน หรือรวมไปถึงการบีบนวด การรับใช้ปรนนิบัติ นี่เป็นเวลาแห่งการเล่าเรื่อง ไร้รูปแบบ แต่มันเป็นกระบวนการและในเนื้อหาเรื่องราวนั้น มันก็มีเรื่องของถ้อยคำ การเรียบเรียง วิธีการเล่า อารมณ์ ซึ่งมันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเล่าเรื่องให้สนุก และก่อแรงบันดาลใจ การเล่าเรื่องของคนเฒ่าเก่าก่อนมันจึงมีทั้งศาสตร์และศิลป์ นอกจากนั้นแล้ว ความใกล้ชิด ก็ก่อให้เกิดการเรียนรู้จากการกระทำ นั่นคือการเรียนรู้จากวิถีชีวิตโดยแท้เรื่องเล่าเป็นส่วนสำคัญแห่งการเรียนรู้ที่ต้องใส่ใจโดยปรกติ โดยไม่ได้ผ่านการสร้างทฤษฎี สร้างระบบ หรือแบบแผน ทั้งหมดนั้นมันคือการเรียนรู้ทั้งวิถี และวิธี เช่นนี้เองที่เรามักจะพบว่านักเล่าเรื่องที่ดีนั้น ทั้งหมดเป็นผู้ฟังที่ดีเสมอมา หรือกระทั่งเป็นผู้รับใช้ที่แข็งขันยิ่งนัก และในเรื่องเล่าของนักเล่าเรื่องชั้นดีนี่เองที่มักก่อเกิดแรงบันดาลใจต่อผู้คน ได้สืบค้นวิถีแห่งการเรียนรู้ของตัวเอง นี่อาจเป็นระบบการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุด และอาจเป็นระบบที่ยั่งยืนที่สุดก็อาจเป็นได้
กิตติพันธ์ กันจินะ
รายงานข่าวเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า มียอดเด็กที่กำพร้าจากพ่อแม่ที่ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนหลายพันคน ซึ่งภาครัฐยังคงต้องหาแนวทางการดูแลเด็กที่เผชิญกับปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องการเข้าถึงการศึกษา และการดูแลคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพของเด็ก ทว่าอย่างไรเสีย แม้ว่าเรื่องราวความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าว จะยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอทั้งหน้าจอโทรทัศน์หรือหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ แล้ว ยังมีเรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์ ระหว่างคนในพื้นที่กับคนนอกพื้นที่ที่ได้ลงไปปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ในพื้นที่เกิดเหตุ ตามบทบาทหน้าที่ต่างๆ อาทิ หมอ ทหาร ครู เรื่องราวที่ “ไม่ค่อยปรากฏ” ออกมาเป็นข่าวในแง่ด้านอื่นๆ เช่นเรื่องการ “พบรัก” ของคนสองคน หรือมิตรภาพที่มีแก่กันนั้น ยังไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนเท่าใดนักและเรื่องที่จะเล่านี้ ก็เป็นหนึ่งในหลายกรณีของการพบรักที่เกิดขึ้นในที่เกิดเหตุเรื่องนี้เป็นเรื่องของ “แนน” – เธอเป็นวัยรุ่นหญิงและเป็นคนในพื้นที่ยะลา และยังเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนกลุ่มหนึ่งในพื้นที่เกิดเหตุความไม่สงบ เธอเล่าว่า ตั้งแต่มาเข้าร่วมกระบวนการกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องเพศ สิ่งที่เกิดกับตัวเองคือความเปลี่ยนแปลงจากเดิมคือ อย่างแรก รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่นการอบรม กล้าที่จะพูด การกล้าแสดงออก เธอบอกว่าส่วนใหญ่เด็กทางใต้จะไม่ค่อยพูด อยู่คนเดียวก็เงียบๆ ไม่กล้าคุยให้เพื่อนรู้“อย่างเราคือแรกๆ ก็เงียบๆ พอมาอยู่กับพี่ๆ ก็มีอาการ ... อาการคือกล้าแสดงออก จะอยู่เงียบๆ ไม่ได้ มีอะไรก็จะถามไปเลย” เธอเล่าย้อนอดีตให้ฟัง “อย่างเวลาคุยเรื่องเพศ ก็นึกถึงว่า เวลาท้องขึ้นมาจะคุยกับใคร จะปรึกษาใคร อย่างที่เราไปคุยกับพี่ๆ ได้ เพราะเราเคยมีแฟนแล้วท้อง เราก็ถามเขา ถามว่าทำยังไงไม่ให้เพื่อนรู้ ไม่อายเพื่อน คือเราไม่อยากให้เพื่อนรู้ เราคุยกับพี่ของเราดีกว่า ไม่กล้าบอกให้ที่บ้านรู้ กลัวเขามองเราว่าเป็นคนไม่ดี”เธอยกตัวอย่างต่อว่า “ถ้าจะคุยคนอื่นๆ ก็ไม่กล้า เพราะกลัวเขาเอาไปเล่าต่อ บอกต่อๆ กันไป พี่เราที่อยู่ในกลุ่ม เขาสามารถเก็บความลับของเราได้ อย่างเพื่อนเราบางคนก็มีแบบเข้ามาคุยกับเรา อย่างตอนเรียน มีเพื่อนที่เขามีแฟน เขาเสียตัว ไปอยู่กับแฟน เราก็ถามเขา คุยกับเขา เขาก็บอกว่าเขากลัวเราไปฟ้องคนอื่นๆ แต่พอเราได้อธิบายกับเขาจนเขาไว้ใจเรา เพราะเราเก็บความลับของเขาได้ เวลาคุยกับพี่ๆ ก็ไม่ค่อยอึดอัด โล่งสบาย รู้สึกปลอดภัย ไม่อึดอัด ไม่มีผลกระทบอะไรที่จะกระทบกับเราอีกต่อไป แฟนเราบางทีก็หึง เวลาเขาหึง เราก็บอกว่าเราไปไหนมา บอกให้ไปถามพี่ในกลุ่มดู”เธอเล่าถึงเรื่องแฟนว่า ตอนนี้เธอมีแฟนแล้ว และก็สามารถคุยกับแฟนได้หลายเรื่อง เช่น เรื่องที่มีความไม่สบายใจ เรื่องอะไรก็จะถามแฟนว่าอะไรที่ควรทำ อะไรไม่ควรทำ เวลาคุยเรื่องเพศกับแฟน, เธอบอกว่า เธอไม่เคยคุยกับแฟนเรื่องถุงยาง เรื่องท่าทาง ไม่เคยพูดในเชิงลึก แต่เธอจะถามพี่ๆ ในกลุ่มมากกว่า ว่าท่าไหนดี “เราไม่กล้าคุยกับแฟน เพราะเขาจะหัวเราะใส่เรา ถ้าเกิดอยากบอกให้แฟนรู้ก็ไม่กล้าบอก เดี๋ยวเขาว่าเราเป็นคนชอบมีเซ็กส์ บางครั้งเราก็อยากคุยกับแฟน มีอะไรเราก็ถาม เขาก็ตอบมา คือแฟนเราจะชอบถามว่าแบบนี้ยังไงๆ เราก็ตอบไม่ได้”เธอเล่าเรื่องที่เกิดกับตัวเองอย่างมีความสุข ดวงตาของเธอมีรอยยิ้มที่โผล่ออกมา “คิดว่าเขาเป็นคนรักเดียวใจเดียว ถามว่ารู้ได้ไง คือเราก็สืบมาก่อน ว่าเขาเคยมีแฟนมั้ย เพื่อนๆ ก็มาเล่าให้ฟัง คือเขาเป็นคนต่างจังหวัด มาทำงานแถวบ้าน เราสืบเขาก่อนว่าเป็นคนอย่างไร ตอนรู้จักกันก็ไม่เคยเห็นหน้ากัน แต่ก็คุยกันมาตลอด”แล้วยังไงต่อ? – ผมเอ่ยถาม“อย่างเราไม่เคยมีความรักกับใคร เราไม่ชอบคนขาว ชอบคนเข้มๆ อย่างเขาถูกใจเรา เป็นแบบที่เราชอบ เขาชอบเรา เราก็ชอบเขา ก็ติดต่อกันเรื่อยๆ จนมาเป็นแฟนกัน เวลาเขากลับบ้านต่างจังหวัดเราก็ไปหา เราไม่ได้กลัวว่าเขาจะมีแฟนใหม่นะ เพราะเราเชื่อใจเขา เรารักเขา”น้ำเสียงซื่อๆ ของเธอบอกให้ผมรับรู้ว่า เธอจริงจังกับแฟนหนุ่มอย่างยิ่งผมถามเธอว่า “อย่างนี้จะบอกได้ไหมว่าความไม่สงบทำให้เกิดความรักขึ้น” เธอพยักหน้ารับด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะส่วนผมเองก็มีรอยยิ้มจากการรับฟังเรื่องของแนน ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งเรื่องราวของคนในพื้นที่ที่ได้พบรักกับคนนอกพื้นที่ที่มาทำงาน อันที่จริงแล้ว ยังมีอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้น ทว่าผมก็ไม่เคยได้ยินใครหรือได้คุยกับใครเป็นเรื่องเป็นราว เหมือนกับการคุยกับแนนเลยเรื่องราวของแนน, ฟังดูก็น่ารัก น่าชังทว่า ในความน่ารัก น่าชังนี้ ย่อมเกิดจากความรู้สึกข้างในจิตใจของเธอต่อชายคนรักสำหรับผมแล้ว, แม้ว่าเรื่องราวของเธอจะมีมากมายจนไม่สามารถจะซึมซับมันเข้ามาในโสตประสาทได้ แต่สิ่งที่ผมสนใจอย่างยิ่งคือเรื่องที่เธอ ‘กำลังบอก’ กับฉัน และ ‘ท่าที’ ในการเล่าเรื่องของเธอมากกว่ามันคือจุดเริ่มต้นของการเปิดใจ เรียนรู้ เรื่องราวชีวิตทางเพศของเราแต่ละคน ให้เกิดสัมพันธภาพและความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ท่ามกลางความต่างกันทางศาสนาและวัฒนธรรมและนำไปสู่การเปิดดวงใจของเราให้รับฟังเพื่อนที่เล่าเรื่องราวของตนอย่างตั้งใจและไม่มีอคติต่อกันเหมือนที่ใครคนหนึ่งบอกว่า การได้คุยเรื่องเพศของตนในบรรยากาศที่ปลอดภัย ถือเป็นการทบทวนบทเรียนชีวิตและเรียนรู้ภาวะด้านในของตนอย่างมิอาจประเมินค่าได้ ซึ่งผมเชื่อว่าแนนเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของเพื่อนวัยรุ่นที่ได้เริ่มเรียนรู้ในเรื่องเหล่าอย่างมีความสุข
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
คุณแอ๊ะ ชุติมา นุ่นมัน นักข่าวสาวร่างใหญ่ผู้มีจิตใจละเอียดอ่อนงดงาม โทรศัพท์มาขอให้ครูแดงเขียนคำนิยมหนังสือของ สสส. (สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งถ่ายทอดงาน 13 โครงการ อันก่อให้เกิดความสุขแก่สมาชิกในครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม “แต่ละตอนอยากให้คนอ่าน อ่านแล้วมีแรงบันดาลใจที่จะปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความสุขในชีวิต ทั้งนี้หนทางที่จะนำไปสู่ความสุขนั้นเป็นวิถีพอเพียงที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้” นี่คือปณิธานของคุณแอ๊ะ ชุติมา นุ่นมัน ผู้เป็นทั้งผู้เขียนและบรรณาธิการที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ผู้ที่ดำเนินงานโครงการ นำความสุข 13 เรื่อง ในพื้นที่ทุกภาคของประเทศ แล้วนำมากรั่นกรอง เรียบเรียงเป็น 13 เรื่อง ในหนังสือ 1 เล่มดิฉันตั้งใจอ่านต้นฉบับตั้งแต่เรื่องที่ 1 จนถึงเรื่องที่ 13 ด้วยใจจดจ่อ ทุกเรื่องอ่านแล้วมีความปลื้มปิติ มีความสุข อยากไปเห็น ไปเรียนรู้ อยากไปชื่นชมกับผู้มีส่วนร่วมในโครงการทุกคน อยากให้คนในสังคมไทยนำไปปฏิบัติ ขยายผลโดยปรับให้เข้าเหตุปัจจัยของตนน่าชื่นชม สสส.ที่สนับสนุนโครงการดี ๆ เหล่านี้ ทำให้คนในสังคมแก้ปัญหาด้วยปัญญา ด้วยความไม่ย่อท้อ ไม่ยอมจำนน ด้วยความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกครอบครัว เริ่มจากในบ้าน ขยายผลต่อไปสู่ชุมชน สร้างเครือข่ายถักทอให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง มั่นคง จนแก้ปัญหาได้สำเร็จจากระดับบุคคล สู่สังคมวงกว้างตัวอย่างของความสุขที่เริ่มได้ในบ้าน คือ เรื่องเลือดในอกผสม กลั่นเป็น “น้ำนม” ที่แสนเปี่ยมสุข จากโครงการจัดการศูนย์นมแม่เพื่อลูกนาวีแข็งแรง พื้นที่ค่ายตากสิน จันทบุรี ซึ่งเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ของชุมชนในกองทัพ โดยคุณวาสนา งามกาล พยาบาลแม่ลูก 2 เป็นหัวหน้าโครงการ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2536 ในโรงพยาบาลพระปกเกล้า โดยรณรงค์ให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของการให้ลูกกินนมแม่มาจนบัดนี้ผู้บังคับหมวดขนส่ง ค่ายตากสิน สนับสนุนงานของภรรยาอย่างเต็มที่ ซึ่งคุณวาสนาเล่าอย่างภูมิใจว่า “สามีเข้าใจหลังจากเห็นเราทำงานด้านนมแม่มาตลอด เขาเห็นว่านมแม่มีประโยชน์อย่างแท้จริง ด้านสุขภาพลูกได้อย่างเต็ม ๆ ด้านจิตใจลูกมีสุขภาพจิตดี แม่ก็มีความสุข สามีจึงสนใจมาก หาความรู้จนอธิบายเรื่องนมแม่ได้ดี และยังส่งเสริมให้ลูกน้องเข้าร่วมกิจกรรมกับเรา เป็นพ่อแม่อาสากันเกือบทั้งค่าย” จ่าเอกพีระพงศ์ ปทุมมาศ คุณพ่ออาสาแห่งกองทัพตากสิน เป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ สานใยรักครอบครัวจากนมแม่ ย้ำว่า “พ่อเป็นกำลังหลักสำคัญ ถ้าพ่อไม่ทำตัวเกเร อยู่บ้านกับครอบครัว แม่ก็มีกำลังใจ สารที่มีประโยชน์ต่าง ๆ ก็จะหลั่งออกมาในน้ำนม ลูกได้ไปเต็ม ๆ นมผงยังไงก็สู้ไม่ได้ผมพิสูจน์มาแล้วครับ”ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย โดย แพทย์หญิงศิราพร สวัสดิวร เลขาธิการได้ขยายเครือข่ายการทำงาน โดยมุ่งให้คนไทยกลับมาให้ความสำคัญกับการให้นมแม่ ซึ่งต้องสู้กับอิทธิพลการโฆษณาของบริษัทนมผงที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยสร้างระบบการส่งต่อของโรงพยาบาล ครอบคลุมถึงโรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย และหมู่บ้านต่าง ๆ เป้าหมายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ผลักดันให้มีกฎหมายบังคับไม่ให้โฆษณานมผงตามสื่อ รวมทั้งรณรงค์ไม่ให้แจกนมผงแก่เด็กแรกเกิดในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ซึ่งทำให้แม่รุ่นใหม่ไขว้เขวได้ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ยังคงดำเนินงานและเพิ่มเครือข่ายอย่างรวดเร็ว เพื่อในอนาคตแม่ ๆ รุ่นใหม่จะให้นมลูกด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้ลูกแข็งแรงตลอดชีวิต ทำให้คนไทยมีความสุขที่สุดในโลก ขอให้ความหวังนี้เป็นจริงโดยเร็วตัวอย่างความสุขที่ 2 คือ “พอเพียงจากค่าย สุขใจแบบไม่จำกัด” ซึ่งได้เปลี่ยนความคิดจิตใจของเยาวชนวัยใส ด้วยค่าย “เทิดไท้องค์ราชัน:เยาวชนไทยใช้ชีวิตพอเพียง” ทำให้สาวน้อยวัย 16 ปีจากโรงเรียนบัวขาว จ.กาฬสินธุ์ นางสาวกมลวรรณ ภูนาคพันธุ์ (น้องฝน) ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในค่ายร่วมวงหมู่คณะเป็นเวลา 7 วัน เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ตัดจากความสะดวกสบายแบบเดิม และมีความตั้งใจมั่นที่จะทำความดีให้ได้ในแต่ละวัน โดยมีสมุดบันทึกความดี จารึกสิ่งดีงามที่ได้ทำรายวันตามคำมั่นสัญญา เพื่อจะส่งให้ทีมงานคัดเลือก จัดทำหนังสือ “บันทึก 60 ความดี ถวายในหลวง” เพื่อเผยแพร่ต่อไปตัวอย่างความสุขที่ 3 “กีฬาภูมิปัญญาไทย สร้างสุขในความพอเพียง” เรื่องของครูวิชิต ชี้เชิญ ผู้เชียวชาญพิเศษ สถาบันอาศรมศิลป์วัย 64 ปี ที่พลิกผันชีวิตหลังเกษียนจากราชการ จากกองพลศึกษา ซึ่งเป็นทั้งครู เป็นโค้ชกรีฑาทีมชาติไทย มาเป็นครูกีฬาภูมิปัญญาไทย นำมวยไทย ตะกร้อ กระบี่กระบอง ว่าว ชักเย่อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยโบราณ ที่แฝงคติความเชื่อ หล่อหลอมให้คนไทยมีคุณลักษณะเฉพาะต่างจากชนชาติอื่น มีครบทั้งกาย ใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณครูวิชิต ต้องการให้เด็ก ๆ มีร่างกายแข็งแรง ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักการให้และภูมิใจที่เป็นคนไทย หากได้ดำเนินการและขยายผลอย่างต่อเนื่อง ที่สุดแล้วสังคมไทยจะได้เด็กรุ่นใหม่ที่เป็นคนดี มีความคิด ทำให้สังคมไทยมีแต่ความสุข โครงการนี้นำร่องที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกวิถีพุทธยกตัวอย่างมวยไทยก่อนขึ้นชก นักกีฬาต้องไหว้ครูก่อน มีการครอบมงคลที่ศีรษะ แล้วหมุนรอบเวที ไหว้พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ให้เกิดความอบอุ่น มั่นใจ ดูชัยภูมิ สอนให้รู้จักสังเกต เวลาเคลื่อนไหวต้องมีชั้นเชิง ที่เรียกว่า “เป็นมวย” ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ควบคุมตัวเองได้ปัจจุบันวิชาการนี้ ขยายต่อยอดไปยังโรงเรียน 10 กว่าแห่งในจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่น ปราจีนบุรี กาญจนบุรี สงขลา เป็นการเรียนการสอนแนวใหม่ ที่จะสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นคนดีในอนาคตตัวอย่างความสุขที่ 4 Happy work place ตัวอย่างนี้ใช้ชื่อโครงการเป็นภาษาอังกฤษ โดยเริ่มที่ซึ่งให้ความหมายชัดเจนดี (แต่น่าจะใช้ภาษาไทยนำนะคะ : ครูแดง)ชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากกว่าหนึ่งล้านคน โดยเป็นแรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีแรงงานจำนวนมาก จำนวนถึงห้าแสนคนการอพยพของแรงงานต่างถิ่นทำให้สังคมชลบุรีมีความหลากหลายในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมภาพชินตาที่เห็นหน้าโรงงานตอนเช้า คือพนักงานเดินเข้าไปตอกบัตร ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด รอยยิ้มอย่างเป็นสุขจะเกิดขึ้นครั้งเดียว คือ เวลาเลิกงานเป้าหมายที่จะทำให้คนงานเกือบห้าแสนคนมีความสุขในการทำงาน คือ ขจัดความเอารัดเอาเปรียบจากสถานที่ประกอบการ ในการจ่ายเงินสวัสดิการ จ่ายเงินชดเชยเมื่อเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ หรือเลิกจ้าง ไม่ให้เจ้าของกิจการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเอาเปรียบคนทำงานเพื่อลดต้นทุนของตัวเองโครงการ Happy work place มีเป้าหมายหลักให้พนักงานทุกคนมีความสุข 8 ประการ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สุดทั้งแก่พนักงานและผู้ประกอบการ “ถ้าคนงานรู้สึกดีกับเรา เขาก็จะตั้งใจทำงาน ความผิดพลาดก็จะน้อยลง ความร่วมมือโดยสมัครใจ จะเกิดเพิ่มขึ้นมาก” ความสุข 8 ประการ มีดังนี้1.สุขภาพดี (Happy Body)2.น้ำใจงาม (Happy Heart)3.สังคมดี (Happy Society) มีความสามัคคีเอื้อเฟื้อต่อชุมชน4.มีความผ่อนคลาย (Happy Relax) พักผ่อนเพียงพอ มีกิจกรรมบันเทิง5.หาความรู้ (Happy Brain) ศึกษาหาความรู้ พัฒนาตนเองตลอดเวลา6.ทางสงบ (Happy Soul) มีศรัทธาในศาสนาและศีลธรรมในการดำเนินชีวิต7.ปลอดหนี้ (Happy Money) รู้จักใช้ รู้จักเก็บเงิน8.ครอบครัวดี (Happy Family) มีครอบครัวอบอุ่น มั่นคง เปิดโอกาสให้สมาชิกครอบครัวได้มาเยี่ยมชมโรงงาน มีสถานเลี้ยงดูเด็กเล็กในที่ประกอบการ เป็นการเพิ่มความสุขในการทำงานโรงงานที่สร้างให้เกิดความสุขทั้ง 8 ข้อ จะได้ชื่อว่าเป็นโรงงานผลิตความสุข มิใช่แค่โรงงานผลิตสินค้าโลกใบนี้จะมีความสุขแค่ไหน ถ้าทุกที่ทำงานสร้างความสุขเช่นนี้ขึ้นได้ตัวอย่างความสุขที่ 5 “เครือข่ายชุมชน สุขภาวะอินแปง สร้างสุขจากประสบการณ์ทุกข์” เครือข่ายองค์กรชุมชนตีนภูพาน มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสกลนคร บางพื้นที่อยู่ในอุดรธานี กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร มีถึงเกือบพันหมู่บ้านใน 80 ตำบล ศูนย์อินแปงตั้งอยู่ในสถานที่ร่มรื่นด้วยธรรมชาติสีเขียวสิบกว่าปีที่ผ่านมาศูนย์อินแปงได้เปลี่ยนแผ่นดินที่แห้งแล้งให้กลายเป็นผืนป่า เพาะพันธุ์กล้าไม้พื้นบ้านซึ่งได้จากป่า รวม 25 ล้านต้น คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่าร้อยล้านบาท มีทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน เนื้อแข็ง ผักนานาชนิด และหวาย ทั้งยังมีสมุนไพรอีกหลายร้อยชนิด นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้มากมาย เช่น หมากเม่า เอามาทำเครื่องดื่ม ที่อุดมด้วยวิตามินซี ทำไวน์หมากเม่า โดยมีโรงแปรรูปน้ำผลไม้อยู่ในศูนย์ ฯ รอบ ๆ ศูนย์อินแปง มีนาข้าวเขียวชอุ่ม เป็นข้าวพันธุ์พื้นบ้าน แข็งแรง กินอร่อยมีโรงผลิตปุ๋ยชีวภาพ โรงแปรรูปสมุนไพร มีร้านค้า ทุกส่วนสอดรับกันอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นตัวอย่างวิถีชีวิตพอเพียงที่เชื่อมโยงกัน เป็นเครือข่าย พิสูจน์ให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นจริงได้ ด้วยการลงมือทำอย่างจริงจังขอยกตัวอย่างเพียง 5 โครงการที่นำความสุขมาสู่สนามหน้าบ้านทุกหนทุกแห่ง ถ้ามีใจศรัทธา มีปัญญา และทุ่มเทปฏิบัติอย่างจริงจัง อีก 8 โครงการ กรุณารออ่านเมื่อหนังสือของ สสส.พิมพ์เสร็จแล้วนะคะ แค่อ่าน 5 โครงการสร้างสุขนี้ แล้วนำไปเผยแพร่ขยายผล แผ่นดินไทยก็จะเปี่ยมสุข ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัวของเราทุกคนค่ะ หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความนี้เป็นภาพจากอินเตอร์เน็ต เนื่องจากภาพประกอบงานเขียนกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวม โปรดติดตามอ่านหนังสือเรื่องสุข 13 ที่สนามหน้าบ้านและชมภาพประกอบของแต่ละโครงการแห่งความสุขจากหนังสือของ สสส.
โอ ไม้จัตวา
หากใครถามว่าผ่านโลกมากี่ปี คำตอบเป็นจำนวนปีที่มากขึ้นนั้น อาจบอกว่าเห็นโลกมาก็มาก แต่การเห็นโลกผ่านเน็ตในวันนี้มีความหมายต่อจิตใจฉันยิ่งนัก เมื่อเปิดไปพบกับข่าวชิ้นหนึ่ง ที่องค์การอวกาศของญี่ปุ่น ถ่ายภาพโลกจากดวงจันทร์ ผ่านกล้องโทรทัศน์ความละเอียดสูงเคยแต่อ่านว่าโลกใบนี้เป็นดวงดาวสีน้ำเงิน นึกยังไงก็นึกไม่ออก คงเหมือนดวงจันทร์สีเหลือง แต่โลกเป็นสีน้ำเงินกระนั้นหรือ แล้วภาพจะเป็นยังไงหนอ เป็นลูกกลมหมุนวนไปมา มีสีฟ้า ๆ กลางห้วงอวกาศอย่างนั้นหรือที่โลกในใจ...การหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง คิดวนเวียนอยู่ในชามอ่าง เรื่องแล้วเรื่องเล่า คิดจนเมาโลกของตัวเอง พาลคิดว่าศูนย์กลางของจักรวาลนี้อยู่ที่เหตุการณ์ตรงหน้า คิดได้เช่นนี้แล้วทางออกของชีวิตก็จะวนเวียนอยู่ในอ่างออกไปไหนไม่พ้นเมื่อเจอปัญหาฉันมักหนีมาอยู่กับตัวเองก่อน ครุ่นคิดกับมัน ถึงเหตุผล ถึงทางออก แล้วจึงออกไปเผชิญกับทางเลือก และหนทางต่าง ๆ เปิดดวงตา เปิดดวงใจ พยายามกระโจนออกจากอ่างแคบ ๆ ใบนั้น ออกมาเดินดูรอบ ๆ อ่าง ยิ่งเดินออกมาไกลก็ยิ่งมองเห็นภาพที่เปลี่ยนไปโลกที่กำลังจะล่มสลายอยู่ตรงหน้า ความรู้สึกว่าถูกกระทำ หรืออะไรก็แล้วแต่ กลายเป็นภาพจิ๋วกระจ้อยร่อย เหมือนมองภาพโลกสีน้ำเงินใบนี้จากดวงจันทร์ ยิ่งดูก็ยิ่งยิ้มอิ่มใจ เมื่อพยายามมองหาตัวเอง หามวลมนุษย์ในโลกใบนี้ ว่าเวียนว่ายตายเกิดอยู่บนดาวดวงสวยใบนี้ รักกัน ทะเลาะกัน แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น กินบ้านกินเมือง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนดาวสีน้ำเงินดวงนี้ ฉันมองไม่เห็นอะไรเลยนอกจากลูกกลมสวย ๆ ส่วนมนุษย์นั้นเป็นแค่ฝุ่นผงในจักรวาลเท่านั้นเอง กลับอยู่อยู่บนโลกตรงหน้า...“คุณเขียนติดฝากบ้านไว้ได้เลย ว่าบ้านนี้เมืองนี้มันจะต้องหายนะ”“คุณรู้ไหมทำไมงานสิ่งพิมพ์ในเชียงใหม่ถึงแย่ เพราะคนที่นี่อยู่ในสังคมเกษตรกรรม ซึ่งคิดถึงแต่เรื่องปริมาณ ไม่ได้คิดแบบสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งคิดคุณภาพเป็นหลัก”“...เค้าเป็นแบบนี้เพราะไปหลงรักกระเทยเฒ่า เป็นกระเทยเฒ่าแล้วยังทำตัวเป็นขุนนาง”“ผมมีบุญคุณกับเค้า พี่รู้ไหม ผมช่วยประหยัดเงิน เค้าเลว เค้าเชื่อไม่ได้ เมื่อก่อนเค้าเป็นนางฟ้า ตอนนี้เป็นปีศาจสำหรับผม...กูเกลียดมึง ผมจะทำให้หมดอนาคตเลยคอยดู”“เงินผมหายไปจากบัญชีแสนนึงพี่ ธนาคารเค้าเช็คแล้ว บอกว่ามีคนกดออกไปที่ตู้เอทีเอ็มที่ปราณบุรี ผมอยู่เชียงใหม่ บัตรก็อยู่กับผม เขาบอกรหัสถูกต้อง ธนาคารเสียใจ แต่ผมเสียเงินเก็บมาทั้งชีวิตจะเอาไปสร้างบ้านให้พ่อแม่”“ยึดทรัพย์'โอ๊ค-เอม'หลังไม่จ่ายภาษี-เบี้ยปรับ 1.2 หมื่น”“ดีนะเสื้อสีชมพูสวยดี ใส่แล้วประหยัดพลังงาน ช่วยโลกร้อน....ช่วยไงเหรอป้า.....ก็ใส่เสื้อเหลือง เสื้อชมพู เสื้อเขียว ไม่ต้องคิดมากใส่อยู่แค่นี้ ประหยัดเงินดี”“สถิติเด็กและผู้หญิงถูกทำร้ายวันละ 34 คน ในปี 2550”“คุณรู้ไหมทำไมบ้านเมืองนี้จะหายนะ....ก็เพราะมีคนอย่างคุณที่พูดได้แต่ไม่ยอมพูด...ก็คนอย่างผมไม่มีศักยภาพ...”!!! หมายเหตุ : ภาพจาก http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000135133
การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์
“น้ำใจให้น้องปิ่น” เด็กหญิงพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ทุกคนในครอบครัวยังมีความหวังและมองโลกในแง่ดีเสมอ อ่านเรื่องของน้องปิ่นกับแม่ได้ที่นี่ สนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือตามกำลังศรัทธาได้ที่หมายเลขบัญชี 05-3405-20-093267-0น.ส.สีไวย คำดา เพื่อ ด.ญ.วรัญญา ฟินิวัตร์ ธ ออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “สมทบทุนค่าอาหารและรักษาพยาบาลหมาแมวพิการ ป่วยไข้ ถูกทอดทิ้ง ตามกำลังศรัทธา”เลขที่บัญชี 1210101483 น.ส. นันท์ธนัตถ์ จิตประภัสสร ธ กรุงไทย สาขาบางบัวทอง หรือจะส่งเป็นอาหารหมาแมวก็ได้ค่ะ ที่97 หมู่ 2 บ้านหนองคาง ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี 72240 วันอมาวสีครั้งต่อไป 10 ธันวาคม 2550 นะคะ
Hit & Run
"ความพยายามสร้างกติกาอันบิดเบี้ยวตลอดปีกว่าที่ผ่านมา ส่งผลให้ ‘ผี' ยิ่งน่ากลัวสำหรับคนที่กลัว และยิ่งน่าพิสมัยสำหรับผู้ที่ไม่กลัว และผู้ที่ไม่กลัวส่วนใหญ่นั้นแม้จะอยู่ห่างไกล ไร้อำนาจ แต่ก็สามารถแสดงพลังเงียบของตนได้อย่างมีนัยสำคัญ" ภาพจาก dschild.exteen มุทิตา เชื้อชั่ง ผมเป็นคนกลัวผีมากจนแทบจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการกลัวผี และรู้สึกว่าสังคมไทยกำลังกลัว ‘ผี' อย่างหนัก ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ จากที่เคยมีคำอธิบายมากมายว่าทำไมจึงต้องกลัว ‘ผี' หรือไล่ ‘ผี' แต่นานวันเข้า สถานการณ์เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังเท้า ความกลัว ‘ผี' ก็ยังคงอยู่และอาจจะมากยิ่งกว่าเดิมโดยที่คำอธิบากลับลดน้อย จางหาย จนหลายต่อหลายคนก็อธิบายไม่ถูกว่าทำถึงทั้งเกลียดทั้งกลัว ‘ผี' เช่นนั้นตลอดเวลา ทุกสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็รู้สึกตีบตัน สิ้นหวัง ยิ่งนักในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ตามทฤษฎีว่าด้วยผีวิทยาแล้ว ผีไม่มีวันตาย ไม่ตายซ้ำซ้อน และเป็นภาพประทับของความน่ากลัวที่อยู่ในความรู้สึกนึกคิด ถ้าเป็นมากหน่อยก็ไปอยู่ในส่วนของจินตนาการซึ่งไร้ขอบเขต ความกลัวผีที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องมีเหตุมีผล ดังนั้น หากไม่ระมัดระวังผู้ที่กลัวผีมีแนวโน้มจะกลัวยิ่งขึ้นๆ จนขาดสติ รู้สึกตนเองไร้อำนาจอย่างรุนแรงขณะเดียวกันก็ไม่เชื่อมั่นในขีดความสามารถและอำนาจของเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ อาจถึงขั้นกระทำการที่ไม่อยู่ในครรลองที่ควรเป็น เช่น กระโดดถอยหลังทีละหลายก้าว ทำให้หกคะมำหัวร้างข้างแตกได้โดยง่าย ผู้ที่กลัว ‘ผี' อาจจะไม่จำเป็นต้องพยายามลบภาพประทับของ ‘ผี' หรือเปลี่ยนให้ ‘ผี' กลายเป็น ‘เทวดา' แต่ควรตั้งสติพิจารณา ‘ผี'ให้ถี่ถ้วน ตำราผีวิทยาในหลายประเทศยืนยันว่า การพิจารณา ‘ผี' อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สร้างระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพ สร้างความเข้มแข็งของจิตใจและปัญญาของผู้คนเจ้าของประเทศ จะช่วยจำกัด ‘ผี' หรือควบคุมสถาบันผีไม่ให้น่ากลัวกระทั่งเชื่อฟังคำสั่งประชาชนได้ แต่ในบางพื้นที่ที่มีปัญหาเรื้อรังสลับซับซ้อนเกินกว่าจะพูดถึง ก็อาจต้องใช้เวลานานกว่าปกติ กระนั้นก็ตาม การฝืนธรรมชาติด้วยการกำจัด ‘ผี' ออกไปจากการรับรู้ของผู้คนโดยสิ้นเชิงนั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะยังมีคนอีกมากมายที่ชอบ ‘ผี' ไม่กลัว ‘ผี' พวกเขาควรมีโอกาสดูหนังผี เล่าเรื่องผี เป็นชู้กับผี ฯลฯ ได้ด้วยเช่นกันตามกติกาของประชาธิปไตย แต่ก็ควรออกแบบโครงสร้างในการควบคุม ตรวจสอบ ‘ผี' ให้รัดกุมอย่างที่กล่าวไป เพื่อไม่ให้สร้างความเดือดร้อนเสียหายต่อส่วนรวมอย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาเราจะพบว่าสังคมไทย (เมืองหลวงเป็นหลัก) ตระหนักถึงความน่ากลัวของ ‘ผี' และมุ่งกำจัด ‘ผี'ให้สิ้นซากตามแบบวิธีคิดเก่าแก่ แต่ด้วยรูปแบบและคำอธิบายที่ละเมียดขึ้น แม้จะผิดระเบียบวิธีการประชาธิปไตย ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติกีดกันอดีต ‘ผี' ทั้ง 111 ตนไม่ให้สามารถปราศรัยร่วมหาเสียง ถ่ายรูปคู่กับผู้สมัคร เป็นวิทยากรให้กับพรรคการเมือง ส่วนการที่อดีตหัวหน้าผีจะปราศรัยช่วยหาเสียงผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์นั้นอย่าแม้แต่จะฝัน ทั้งยังไม่ให้ ‘ผี' ทั้ง 111 ตน ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ และการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง วิธีการเหล่านี้ยิ่งทำก็ยิ่งถลำลึกไปในกับดักของอาการกลัว ‘ผี' โดยเฉพาะบรรดาหมอผี เกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งหลาย ซึ่งหลายคนหวังดี และอีกหลายคนอยู่ในภาวะขี่หลังเสือ ซึ่งอาจทำให้ขาดสติอย่างรุนแรงออกกฎหมายที่ไม่น่าออก มุ่งเน้นแต่ประเด็นการเมือง การปกป้องตัวเองเป็นหลัก และด้วยความพยายามสร้างกติกาอันบิดเบี้ยวตลอดปีกว่าที่ผ่านมา จะส่งผลให้ ‘ผี' ยิ่งน่ากลัวสำหรับคนที่กลัว และยิ่งน่าพิสมัยสำหรับผู้ที่ไม่กลัว และผู้ที่ไม่กลัวส่วนใหญ่นั้นแม้จะอยู่ห่างไกล ไร้อำนาจ แต่ก็สามารถแสดงพลังเงียบของตนได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังเช่นการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 50 ที่ผ่านมา จนเป็นที่จับตากันมากว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ คนไม่กลัวผีจะมีพลังเพียงไหน สุดท้าย หนังสือเล่มล่าสุดของ ศ.Leonard Coup d'etat สรุปไว้ว่า อาการกลัวผีแต่พอดีเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นสิ่งแสดงออกถึงสุขภาพอันดีของพลเมือง ซึ่งจะกระตุ้นให้ผีทั้งหลายใช้ความน่ากลัวไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ขณะเดียวกันอาการกลัวผีแบบไม่ลืมหูลืมตาอย่างกรณีของไทยตอนนี้ กระทั่งกฎอัยการศึกก็ยอม พ.ร.บ.ความมั่นคงออกมาก็ยอม ฯลฯ สามารถส่งผลเสียใหญ่หลวงได้ ซึ่งนอกจากจะกำจัดผีไม่ได้แล้ว ยังทำให้สังคมสุ่มเสี่ยงที่จะไปถึงทางตัน (ยิ่งกว่า) ซึ่งทั้งน่ากลัวและทั้งเจ็บปวดกว่าการเผชิญหน้ากับ ‘ผี' หลายเท่า
new media watch
"น่าสนใจตรงที่ว่า เนื้อหาของเพลงที่ปรากฎใน fluxblog หลากหลายกว่าเรื่องของปัจเจกบุคคลหรืออารมณ์-ความรู้สึก แต่กินลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณ มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างที่มันยิ่งใหญ่กว่าเครือข่ายมนุษย์ ซึ่งเวียนว่ายอยู่ในสังคมเดิมๆ" 000อุตสาหกรรมเพลงกระแสหลัก ฝั่งอังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น หรือว่ายุโรป ฯลฯ ล้วนแข่งกันเติบโต ‘ทางกว้าง' มาสักพักใหญ่ๆ แต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้าที่มันตื่นเต้นเร้าใจใน ‘เชิงลึก' มากนัก โปรดิวเซอร์ดนตรีที่เก่งๆ ส่วนใหญ่ก็รับหน้าที่ดูแลศิลปินมากมายจนกลิ่นอายทางดนตรีมันฟังซ้ำๆ ย่ำอยู่กับที่ ไม่ค่อยอิ่มรูหูนักฟังเพลงสักเท่าไหร่ แต่แล้วบล็อกโดนใจอย่าง fluxblog.org ก็บังเกิด! นิตยสารนิวยอร์กไทมส์ จัดอันดับให้ fluxblog ติด 1 ใน 5 บล็อกสุดเจ๋งในปีนี้ เพราะชื่นชมในการเปิดพื้นที่ให้นักร้อง-นักดนตรีทั่วโลกได้เผยแพร่ผลงานเพลงของตัวเองโดยไม่ต้องรอข้อเสนอ (ที่มาพร้อมเงื่อนไข) ของบรรดาค่ายเทปต่างๆ พลเมืองโลกไซเบอร์ที่รักเสียงดนตรี รู้วิธีโพสต์เพลงขึ้นเว็บ และที่สำคัญ มีความสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จะมีช่องทางระบายผลงานเพลงของตัวเองมากขึ้นอีกหนึ่งแห่ง โดยไม่จำเป็นต้องหน้าตาดี หุ่นเซ็กซี่ หรือเป็น ‘เอนเตอร์เทนเนอร์' ขอเพียงรู้วิธีสร้างสรรค์เสียงเพลงและเสียงดนตรีก็พอแล้วเพลงหลายเพลงที่โพสต์ลง fluxblog สามารถฟังได้จนจบเพลง (แต่ดาวน์โหลดไม่ได้) โดยคนโพสต์สามารถเขียนคำอธิบายเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเพลง เพื่อปูทางให้คนฟังเข้าใจในเนื้อหาของเพลงได้ด้วย แล้วคนที่เข้ามาฟังจะชอบ-ไม่ชอบ หรือมีคำแนะนำอย่างไร ก็จะโพสต์ข้อความเอาไว้เป็นการสนทนาแลกเปลี่ยนทางตรงน่าสนใจตรงที่ว่า เนื้อหาของเพลงที่ปรากฎใน fluxblog หลากหลายกว่าเรื่องของปัจเจกบุคคลหรืออารมณ์-ความรู้สึก แต่กินลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณ มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างที่มันยิ่งใหญ่กว่าเครือข่ายมนุษย์ ซึ่งเวียนว่ายอยู่ในสังคมเดิมๆน่าจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้วงการเพลงมีแนวโน้มจะหลุดพ้นจากการครอบงำของวัฒนธรรมMTVได้ในเร็ววันhttp://fluxblog.org/
สุมาตร ภูลายยาว
แสงแดดยามบ่ายคลี่ม่านกระจายโอบไล้ยอดไม้ แรงลมพัดยอดไม้เอนไหว ดอกไม้ป่าสีขาวของฤดูฝนกำลังร่วงหล่นลงพื้นดิน แม้ว่าดอกไม้จะจากไป แต่ธรรมชาติก็ได้มอบความเขียวชะอุ่มของผืนป่ามาทดแทนเช่นกันยามบ่ายขณะหลายคนยังวุ่นอยู่กับงาน ผมเดินเตร็ดเตร่ตามถนนมาถึงหน้าบ้านหลังหนึ่ง หลังอ่านป้ายก็รู้ว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านของชายชรา ผมมองหาเจ้าของบ้านอยู่นอกรั้วในใจยังหวั่นอยู่ว่าจะได้พบเจ้าของบ้านหรือเปล่า เมื่อมองดูอยู่ครู่หนึ่ง ผมก็เห็นชายชราผู้เป็นเจ้าของบ้านกำลังก้มๆ เงยๆ อยู่กับกองไม้ไผ่ข้างห้องครัวผมร้องเรียกชายชราอยู่นอกรั้ว เมื่อได้ยินเสียงเรียก แกก็เงยหน้าขึ้นมาดู และเรียกผมเข้ามาในบ้าน หลังเปิดประตูรั้วแง้มออกมาพอให้ตัวเองเดินเข้าไปได้ ผมก็เดินตรงเข้าไปยังลานบ้าน เมื่อผมเดินเข้าไปถึงชายชราเปลี่ยนจากนั่งมาเป็นลุกขึ้นยืน ด้านข้างของม้านั่งมีเศษไม้ไผ่กองอยู่จำนวนมาก“พ่อเฒ่าทำอะไรอยู่”“กำลังทำคันเบ็ดกับตุ้มปลาเอี่ยน—ปลาไหล”“ทำมานานหรือยัง”“ทำมาแต่เช้าแล้วยังไม่เสร็จสักที มันสานยาก ต้องค่อยๆ สาน รีบไม่ได้เดียวไม้ไผ่จะได้กินเลือดเรา”หลังยืนคุยกับผมครู่หนึ่ง ชายชราก็นั่งลง และลงมือสานตุ้มปลาเอี่ยนต่อ ผมนั่งมองชายชราทำงานของแก่ และครุ่นคิดเรื่องราวบางอย่าง ในห้วงนั้น ผมคิดถึงการเดินทางของเบ็ดจากมือของชายชราค่อยๆ ทยอยลงสู่แม่น้ำ และกลับมาพร้อมกับปลา ความสุขไม่มากก็น้อยจะเกิดขึ้นหลังจากคนหาปลากลับมาพร้อมปลาติดเบ็ด“คนหาปลาอย่างเรานี่ต้องรู้จักทำเครื่องมือหาปลาเอง อย่างไหนทำได้ก็ทำ แต่ถ้าอย่างไหนทำเองไม่ได้ก็ซื้อ พอซื้อแล้วก็เอามาแต่งใหม่ อย่างมองซื้อมาแล้วก็เอามาทำใหม่ ขอเบ็ดก็เอามาผูกสายเอาเอง เพราะซื้อคนอื่นมามันไม่ค่อยมั่นใจว่าจะหมานหรือเปล่า แต่ถ้าเอามาทำเองมันจะรู้ว่าต้องผูกเบ็ดอย่างไรถึงจะหมาน เรามีวิธีผูกของเรา เขามีวิธีผูกของเขา มันไม่เหมือนกัน” “พูดเรื่องคนหาปลาแล้ว คนไม่ได้หาปลาไม่ค่อยรู้หรอกว่า คนหาปลามันมีความเชื่อหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องโชคลางนี่สำคัญ เพราะถ้าไม่เชื่อ บางทีก็หาปลาไม่หมาน บางคนกำลังจะออกไปหาปลามีคนทักเดินกลับเลย ไม่ไป เพราะเดี๋ยวไม่หมาน อย่างเวลาไปเอาไส้เดือนมาทำเหยื่อตกปลา เราจะทำท่ารังเกียจถ่มน้ำลายไม่ได้ ถ้าใครทำหาปลาไม่หมาน อย่างเรือก็เหมือนกัน ถ้าจะเอาเรือออกหาปลา เราต้องเลี้ยงเรือให้ดี ถ้าเลี้ยงดีแม่ย่างนางเรือก็จะช่วยให้ได้ปลาเยอะ เรือพ่อเฒ่าแต่ก่อนเอาไก่เลี้ยง เดี๋ยวนี้เอาขนมเลี้ยง เรือมันแก่แล้ว คงไม่ฟันเหมือนคนนี้แหละ พอไม่มีฟันก็กินไก่ไม่ได้ กินได้แต่ขนม“ พอพูดเสร็จชายชราก็หัวเราะขึ้นมาเบาๆ ผมได้พูดคุยเรื่องราวต่างๆ กับชายชรามากมาย ช่วงไหนพูดถึงปลา ชายชราจะเล่าเรื่องปลาที่แกเคยหาได้ให้ฟังอย่างออกรสชาติ บางครั้งพอถามถึงขนาดของปลา แกก็จะยกมือขึ้นทำท่าประกอบบ่งบอกถึงความใหญ่และความเล็กของปลาไปด้วย บางครั้งก็แกก็เอาไม้ไผ่วาดรูปปลาลงบนพื้นดินให้ผมดู“มีอยู่ครั้งหนึ่งหลายปีก่อน พ่อเฒ่าไปหาปลาคนเดียว ตอนไปก็นอนตามหาดทรายริ่มฝั่ง ใส่เบ็ดไว้ตอนกลางคืน พอเช้ามาใกล้แจ้งก็ไปไจ--ไปกู้เบ็ด พ่อเฒ่าเอาเรือออกไปเก็บกู้เบ็ดค่าวหลังก้อนหิน ตอนแรกนึกว่าไม่ได้ปลา พอเอาเรือเข้าไปใกล้แล้วดึงเชือกดู เชือกมันตึง ก็แปลกใจ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าเป็นปลา ดึงอยู่พักหนึ่งมันก็ไม่ขึ้นเลยเอาหินผูกใส่เชือกหย่อนตามสายเบ็ดลงไปดู พอหินหล่นลงน้ำ มันไปโดนอะไรไม่รู้ใต้น้ำ พ่อเฒ่าก็นึกว่าโดนหิน ก็ลองดึงอีกทีปรากฏว่าเชือกมันค่อยๆ เคลื่อนไปข้างหน้า พ่อเฒ่าก็จับไม้พายค่อยๆ พายเรือตาม ตอนนั้นคิดว่าน่าจะเป็นผีเงือกหลอก (ความเชื่อเรื่องผีเงือกเป็นความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่ในแถบอำเภอเชียงแสน,เชียงของ,เวียงแก่น) เพราะเชือกเบ็ดมันวิ่งไปข้างหน้าได้สักพักมันก็หยุด หยุดแล้วก็ไปต่อ พ่อเฒ่าเริ่มเห็นท่าไม่ดีก็ออกแรงดึง แต่ยิ่งดึงมันก็ยิ่งดึงตอบ มันพาเรือวิ่งไปเรื่อยๆ เราก็ปล่อยเรือไป เพราะเราไม่รู้ว่า เรากำลังสู้กับอะไร ถ้ารู้ว่าสู้กับอะไรอยู่ ก็พอคิดวิธีการสู้ได้ นี่เราไม่รู้ เรารู้เพียงว่า ถ้ามันดึงเราก็หยุด พอมันหยุด เราก็ดึง สู้กันอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ตี ๔ ไปจนเกือบ ๖ โมงเช้า ตอนค่อยรุ่ง มันหยุดดึง พอเห็นมันหยุด พ่อเฒ่าก็เลยดึงมันไปเรื่อยๆ จนใกล้ถึงฝั่งก็เอาเรือเข้าฝั่งขึ้น พอขึ้นไปบนฝั่งได้ เราก็ดึงอยู่บนฝั่ง พออยู่บนฝั่งแรงเราเยอะกว่า เราก็ดึงจนหัวมันพ้นน้ำขึ้นมา เห็นตัวปลาแล้วตกใจเกือบปล่อยสายเบ็ด ปลาตัวใหญ่มากหนัก ๖๐ กว่ากิโลได้ พอเอาขึ้นมาบนฝั่งได้นี่ดีใจเลย เพราะเกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นปลาตัวใหญ่อย่างนี้ ถ้าตอนนั้นมันสู้จริงๆ นะ มันดิ้นทีพลิกเรือคว่ำได้เลย ตัวมันใหญ่ขนาดเอาขึ้นเรือแล้วยังต้องมัดหนวดมันใส่กับข้างเรือไว้กลัวมันดิ้น เรือจะคว่ำ ปลาแข้นี่ถ้ามัดหนวดมันแล้ว มันทำอะไรไม่ได้จะดิ้นยังไม่มีแรงเลย แต่ถ้าไม่มันหนวดมันไว้จะได้มานั่งพูดอยู่ตรงนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้”พอพูดมาถึงตรงนี้ ชายชราก็หยุดพูดแล้วหันไปยกบุหรี่ขึ้นมาจุดสูบ ตั้งแต่คุยกันมาชายชรา ผมสังเกตเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของชายชราเสมอ บางคนเคยบอกว่าการยิ้มบ่อยๆ ทำให้อารมณ์ดี เมื่ออารมณ์ดีก็ทำให้อายุยืนตามไปด้วย ชายชราก็คงเป็นเช่นนั้น เพราะตอนนี้แกอายุ ๗๖ ปีแล้ว แต่แกยังแข็งแรงเหมือนคนอายุ ๕๐ ใน ๗๖ ปีของชีวิต หากเปรียบเทียบระหว่างคนอายุขนาดนี้ที่อยู่ในเมืองกับชายชรา คนในเมืองบางคนอาจต้องพ่ายแพ้ เพราะในวัย ๗๖ สำรับคนในเมืองก็เป็นคนที่เกษียณตัวเองออกจากทุกอย่าง ได้เพียงแต่นั่งๆ นอนๆ ให้ลูกหลานป้อนข้าวป้อนน้ำ แต่สำหรับชายชราแล้วอายุเป็นเพียงริ้วรอยที่ปรากฏบนใบหน้า และผมขาวโพลนบนศีรษะเท่านั้น เพราะชายชรายังแข็งแรง เดินขึ้น-ลงท่าน้ำเอาเรือออกไปหาปลาได้โดยไม่ต้องบ่นว่าปวดเมื่อย ปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำรงอยู่ของคนเราในวงรอบของชีวิตแต่ละปี บางครั้งคนเราก็ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการใช้ชีวิต ชายชราเองก็เช่นกัน กว่าจะทำเครื่องมือหาปลา และใช้เครื่องมือหาปลาแต่ละชนิดได้ แกก็ต้องอาศัยเวลาในการทดลองใช้ ทดลองทำด้วยตัวเอง บางครั้งการทดลองก็มีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้าง แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็สอนประสบการณ์ชีวิตให้กับชายชรามากมายหลังแสงแดดของความร้อนยามพลบลาลับไปไม่นาน ควันไฟก็ลอยล่องขึ้นจากเตาไฟในครัว ที่กองไฟนั้น แม่เฒ่ากำลังก่อไฟนึ่งข้าว เพื่อเตรียมอาหารมื้อเย็น หลังจากพูดคุยกับชายชราเนิ่นนาน ผมจึงได้รู้ว่า บ้านหลังนี้มีคนอยู่สองคน เพราะลูกหลานต่างแยกย้ายกระจัดกระจายไปทำมาหากิน และมีครอบครัวอยู่ที่อื่น แต่ลูกหลานก็ไม่เคยทอดทิ้งให้สองผู้เฒ่าต้องเหงา เพราะนานๆ ครั้งพวกเขาก็กลับมาเยี่ยมพอให้หายคิดถึงบางวันเมื่อชายชราเอาเรือขึ้นไปหาปลา แม่เฒ่าจะอยู่เพียงลำพังในบ้านหลังใหญ่ ผมไม่รู้ว่าในห้วงยามอย่างนี้ แม่เฒ่าจะหว้าเหว่บ้างหรือเปล่า หรือว่าแม่เฒ่าเป็นอย่างนี้จนเคยชิน บางครั้งถ้านับเทียบเป็นเวลาแล้ว การพลัดพรากชั่วครู่ชั่วยามซ้ำแล้วซ้ำเล่าสำหรับผู้เฒ่าทั้งสองคนมันคงเป็นเวลาหลายปีเมื่อผมอดกลั้นต่อความรู้สึกที่อยู่ใจไว้ไม่ไหว ผมเลยตัดสินใจถามแม่เฒ่าว่า “แม่เฒ่าอยู่คนเดียวไม่เหงาหรือ” “ในช่วงแรกมันก็คิดถึงกันบ้าง ตอนนั้นเรายังหนุ่มกันอยู่ กำลังมีลูกด้วย เราก็ไม่อยากให้เขาไป พอเขาไปภาระทุกอย่างก็เป็นของเรา หลังจากลูกหลานมันโตแต่งงานกันหมด เราก็ไม่ได้ห่วงอะไรแล้ว ตอนลูกหลานแยกย้ายกันออกเรือนไป แรกๆ ก็คิดถึงอยู่บ้าง เพราะบ้านเราคนมันอยู่กันเยอะ พอมาอยู่น้อยคนมันก็คิดถึงเป็นธรรมดา มองไปตรงไหนก็คิด อย่างมองไปบันไดเราก็คิดว่า วันนั้นตอนเย็นลูกคนหนึ่งนั่งร้องไห้อยู่ตรงนั้น แต่พอนานเข้าก็ไม่เป็นไรแล้ว ยิ่งตอนนี้ก็ไม่ได้คิดถึง แต่เป็นหว่ง เพราะเรามันก็แก่กันแล้ว กลัวไม่สบาย พอไม่สบายก็กลัวว่าจะไม่มีคนดูแล อย่างพ่อเฒ่าเราก็ห่วงแก เพราะแกไปหาปลาคนเดียวไปอยู่ไกลจากบ้านด้วย แต่ก็อย่างว่าคนเราแก่เฒ่าแล้วไม่ค่อยได้คิดอะไรมากหรอก กลางวันก็ไปอยู่กับกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ตอนเย็นกลับมาบ้านก็ทำกับข้าว กินเสร็จแล้วก็นอน ชีวิตก็เป็นอยู่อย่างนี้”ในวิถีแห่งชีวิตของสองคนเฒ่า เหมือนมีสายใยแห่งความห่วงใยซุกซ่อนอยู่ภายในตาข่ายแห่งการจากพราก ช่วงที่ชายชราขึ้นไปหาปลา แม่เฒ่าต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง ชายชราเองก็คงไม่ต่างกัน เพราะในแต่ละครั้งที่ออกไปหาปลา แกก็ต้องพักค้างอ้างแรมคนเดียวในกระท่อมริมฝั่งน้ำ“พ่อเฒ่าไปหาปลาแต่ละครั้งนานไหม”“บางครั้งก็ ๓-๔ วัน บางครั้งก็วันเดียว แล้วแต่ได้ปลาไม่ได้ปลา ถ้าได้ปลาก็ไปนาน ถ้าไม่ค่อยได้ปลาก็กลับมาเร็ว รอจนปลาขึ้นมาก็ไปใหม่ แต่ตอนนี้ไปนาน ไปทีเป็นครึ่งเดือน ได้ปลาก็ฝากลูกมาขาย เรามันแก่แล้วไม่อยากเดินทางบ่อย”“พ่อเฒ่าหาปลามานานหรือยัง”“ประมาณ ๔๐ กว่าปีได้อยู่หรอก”เมื่อพูดถึงการขายปลาแล้ว สำหรับบางวันที่ชายชราคืนสู่บ้านพร้อมกับปลา แม่เฒ่าจะเป็นคนนำปลาไหขาย เรื่องขายปลาบางทีดูเหมือนว่าผู้หญิงจะทำได้ดีกว่าผู้ชาย แต่บางครั้งหลังจากกลับมาจากหาปลา ชายชราก็จะเป็นคนเดินเอาปลาไปเร่ขายเอง ชายชราให้เหตุผลว่า ปลาบางตัวมันก็น่าจะขาย แต่บางตัวมันก็ไม่น่าจะขาย ยิ่งคนคุ้นเคยกันแล้ว บางทีปลาบางตัวก็ไม่เหมาะจะถูกซื้อ แต่มันเหมาะสำหรับการให้กันกินมากกว่าในแต่ละวันชีวิตของสองผู้เฒ่าต่างเป็นอยู่อย่างนี้แทบไม่มีอะไรวิจิตรพิสดารมากมายนัก อาหารการกินก็กินอย่างชาวบ้านทั่วไป แม้ว่าในบางวันอาจมีอาหารพิเศษเพิ่มเข้ามาบ้าง แต่นั้นก็นานๆ ครั้ง แต่อาหารหลักสำหรับสองผู้เฒ่าคือปลาที่ชายชราหามาได้นั่นเอง...ฟ้ามืดหลังแสงสุดท้ายของวันหายไปจากฟ้า ผมลาผู้เฒ่าทั้งสองกลับบ้าน ก่อนจาก ชายชราเดินออกมาส่งผมหน้าประตูรั้วบ้าน หลังชายชรากลับเข้าไปในบ้าน ผมก็หันหลังให้บ้านหลังนั้น แล้วเดินฝ่าความมืดไปตามถนนคืนสู่บ้าน ขณะเดินไปตามถนนผมหวนคิดถึงรอยยิ้มของชายชรา เวลาแกเล่าเรื่องตลกให้ฟัง แกจะหัวเราะอยู่เสมอ ถ้าจำไม่ผิด เพื่อนคนหนึ่งเคยพูดกับผมไว้ว่า คนแก่มักอารมณ์ดีกับลูกหลานอยู่เสมอ แต่บางครั้งผมก็ไม่ค่อยเชื่อเพื่อนคนนั้นเท่าใดนัก เพราะบางทีคนแก่บางคนก็อารมณ์ร้าย การที่จะอารมณ์ดีได้มันคงมาจากปัจจัยหลายสาเหตุ ตัวชายชราเองก็เช่นกัน การไม่ต้องวุ่นวายอยู่กับเรื่องราวต่างๆ มากนัก และการได้อยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบมันคงทำให้แกอารมณ์ดี..