Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

ช้องนาง วิพุธานุพงษ์
Public morals are natural complements of all laws: they are by themselves an entire code.Napoleon Bonaparte ปัจจุบัน ถ้าจะพูดถึงกฎหมายหลักที่ใช้บังคับอยู่ในบ้านเราซึ่งหลายต่อหลายคนคุ้นเคยกันดี ก็คงหนีไม่พ้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายอาญาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2466 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หลังจากนั้นได้มีการแก้ไขอีกหลายครั้ง กระทั่งนับถึงปัจจุบัน เรามีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับมาแล้วถึง 84 ปีส่วนประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกคือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ประกาศใช้ครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นับถึงบัดนี้เป็นเวลาเกือบหนึ่งร้อยปีถ้าดูแค่เพียงตัวเลข อาจรู้สึกว่าประวัติศาสตร์การบังคับใช้กฎหมายในบ้านเรามีความเป็นมาย้อนหลังกลับไปไม่ไกลเท่าไรนัก แค่เพียงหนึ่งชั่วอายุคนเท่านั้นแต่นั่นเป็นเพียงประวัติศาสตร์ของการมีกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้อย่างเป็นสากลรูปธรรม หากมองกันตามข้อเท็จจริงแล้ว ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยกลับมีความเป็นมาย้อนหลังไปไกลกว่านั้น จากหลักฐานที่พบเริ่มแรกตั้งแต่คัมภีร์พระธรรมศาสตร์สมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1781) หรือประมาณ 700 กว่าปีล่วงมาแล้วตั้งแต่เมื่อ 700 ปีก่อน ระบบกฎหมายดั้งเดิมของไทยใช้หลักการตัดสินคดีความโดยอ้างอิงคำตัดสิน(พระบรมราชวินิจฉัย)เป็นหลัก แต่ปัจจุบันเราเดินอยู่บนเส้นทางของระบบกฎหมาย Civil Law ซึ่งเป็นหนี่งในสองระบบกฎหมายหลักของโลกCivil Law คืออะไร?การจะตอบคำถามนี้ได้ ต้องอธิบายถึงระบบกฎหมายหลักทั้งสองระบบเสียก่อนค่ะระบบกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกทุกวันนี้มีที่มาจากสองระบบกฎหมายหลัก นั่นคือ ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) และระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law)ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) มีวิวัฒนาการจากกฎหมายโรมัน ซึ่งภายหลังได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในอิตาลี ระบบกฎหมายนี้ยึดถือหลักกฎหมายที่ได้จากจารีตประเพณีและตัวบทกฎหมายที่มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ตัวอย่างประเทศในยุโรปที่ใช้ระบบนี้ เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน ในเอเชีย เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย คำว่ายึดถือตัวบทกฎหมายที่มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หมายความว่า ในการวินิจฉัยคดี ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาโดยยืนอยู่บนพื้นฐานของหลักกฎหมายตามที่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายหรือพระราชบัญญัติเป็นหลัก โดยอาศัยการตีความกฎหมายเหล่านี้ซึ่งได้มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จากนั้นจึงนำหลักกฎหมายที่ได้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับคดี ในระบบนี้อำนาจการออกกฎหมายขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลไม่มีอำนาจในการสร้างหลักกฎหมาย แต่มีสถานะเป็นเพียงผู้ใช้กฎหมาย นอกจากนี้ คำพิพากษาของศาลก็ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย เป็นแต่เพียงแนวทางในการวินิจฉัยคดีเท่านั้นระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) ระบบนี้พัฒนาขึ้นในประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ยังเป็นระบบที่ใช้อยู่ใน อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ โดยมีวิวัฒนาการจากการที่ศาลในอังกฤษสมัยก่อนนำหลักเกณฑ์ในจารีตประเพณีมาเป็นมาตรฐานในการตัดสินคดี จากนั้นศาลที่ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีต่อๆ มาจึงได้ยึดถือคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนหน้าเป็นบรรทัดฐาน เกิดเป็นหลักเกณฑ์ทางกฎหมายสืบต่อกันมาในระบบนี้ถือว่าผู้พิพากษาเป็นผู้ออกกฎหมาย (Judge made law) ด้วยเหตุนี้ ในระบบนี้จึงไม่มีการตรากฎหมายขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะอาศัยเทียบเคียงหลักกฎหมายจากคำพิพากษาของศาลที่เคยตัดสินไว้ก่อนหน้า โดยในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกัน ศาลซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยในคดีหลังจะถูกผูกพันโดยคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินไว้ก่อน (Stare decisis) อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีที่ยังไม่เคยมีคดีเกิดขึ้นมาก่อน ก็อาจมีการตรากฎหมายขึ้นมาใช้สำหรับกรณีนั้นๆ เป็นการเฉพาะได้ ระบบนี้ถือว่าคำพิพากษาของศาลมีสถานะเป็นกฎหมายในตัวเอง โดยหลักกฎหมายเหล่านั้นมีที่มาจากจารีตประเพณี ศาสนา คำพิพากษา หลักความยุติธรรม (equity) และความเห็นของนักกฎหมายสำหรับระบบกฎหมายของประเทศไทย ดังที่กล่าวไว้แล้วว่าเราใช้ระบบกฎหมายที่เรียกว่า "ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร" หรือระบบ Civil Law ค่ะเหตุใดไทยจึงใช้ระบบกฎหมาย Civil Law?สาเหตุหลักที่ไทยเลือกใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร แทนที่จะใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ห้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรากำลังมีการปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับชาติตะวันตก ปรากฏว่าพัฒนาการทางกฎหมายจารีตประเพณีของเราในยุคนั้นยังไม่อาจนำมาปรับใช้ใด้ทันกับกฎเกณฑ์และวิธีคิดแบบฝรั่ง ผลจากการสูญเสียอธิปไตยทางการศาลหรือการสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รัชกาลที่ห้าประกาศใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร (Civil Law) ตามแบบฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมัน ทั้งนี้ เพราะการตรากฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นการง่าย สะดวก ชัดเจน และรวดเร็วกว่าการรอให้เกิดวิวัฒนาการของกฎหมายจารีตประเพณีอันเกิดจากคำพิพากษาของศาลปัจจุบันเรามีประมวลกฎหมายใช้บังคับอยู่ 7 ฉบับ ได้แก่        1.  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์        2.  ประมวลกฎหมายอาญา        3.  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง        4.  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา        5. ประมวลกฎหมายที่ดิน        6.  ประมวลรัษฎากร        7.  ประมวลกฎหมายอาญาทหารประมวลกฎหมายเหล่านี้ออกโดยอาศัยอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ มีลำดับศักดิ์และกระบวนการจัดทำเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ ส่วนที่แตกต่างคือ ประมวลกฎหมายเป็นการนำหลักกฎหมายทั่วไปในหลายเรื่องมารวมบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน โดยจัดแบ่งหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปบังคับใช้ค่ะ
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ตอนที่ 1 อุ่น อุ่น ที่บ้านแม่สถิตแดดผีตากผ้าอ้อมพาดเฉียงๆ ทำมุมเอียงๆ กับแกนโลกและหลังคาบ้าน ขับเน้นรวงข้าวสุกปลั่ง สมดั่งคำที่ว่า ทุ่งเอ๋ย ทุ่งรวงทอง, นั่นแหละครับ สิ่งที่ผมคิดภาพเอาไว้, เมื่อรุ่นน้องคนหนึ่งชวนผมพร้อมกับยื่นกำหนดการทัวร์บ้านอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรให้ดู“เออ น่าสนว่ะ”“ไปนะพี่ บอกแม่เอาไว้แล้ว” ในความหมายนี้ หมายถึง ความโอบเอื้อแบบอารมณ์คนชนบท...บ้านข่า ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม หนึ่งในเส้นทางของลำน้ำสงคราม ที่ วีระศักดิ์ จันทร์ส่องแสง นักเขียนแห่งค่ายนิตยสารสารคดี ให้ความหมายว่า “ป่าชายเลนน้ำจืดของแผ่นดินอิสาน”เราเดินทางไปด้วยกัน 6 ชีวิต จากกรุงเทพฯมหานครผ่านโคราช (นครราชสีมา), ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ก่อนจะเช้าพอดิบพอดีในเขต จ.สกลนคร เมื่อสายตาปรับแสง จะมองเห็นวิวทิวทัศน์อันอลังการตามเส้นทางเรียบสันเขาภูพาน ก่อนมุ่งเข้าสู่นครพนม แหล่งราบลุ่มทางอารยธรรมหลากชนชาติริมน้ำโขง...เราเข้าหมู่บ้าน เมื่อแดดสายละลายความหนาวเย็นในฤดูหนาว,หนาว ในบางความหมายของอิสานเหนือ คือ หนาวแห้งๆหมู่บ้านข่าเป็นหมู่บ้านใหญ่มากๆ คะเนตามสายตา ไม่น่าจะต่ำไปกว่า 500 หลังคาเรือน คนที่นี่ใช้ภาษาโส้(กะโส้หรือกะโซ่)สื่อสาร เป็นลักษณะเฉพาะถิ่นคล้ายสำเนียงคนกูยหรือส่วย ส่วนชื่อหมู่บ้านข่าจะเกี่ยวข้องกับชาวข่าชนเผ่าโบราณในแถบนี้อย่างไรนั้น เรื่องนี้ ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด...แม่สถิต แม่เฒ่าท่าทางใจดี ซื่อและเท่าทันโลก รอยยิ้มที่ออกจากดวงตาขับเน้นให้เห็นถึงร่องรอยแห่งประสบการณ์ ที่สำคัญ แกทำอาหารอิสานอร่อยที่สุดในโลก ขนมจีนน้ำยาป่า (แนวอิสาน) หมกหน่อไม้ หมกปลาช่อน ส้มตำ ลาบปลาดุก แนมด้วยผักใบเขียว ผักชีลาว แตงกวา ถั่วฝักยาวซอยบางกินกันลืมโลก!หลังจากเริ่มคุ้นเคยและเริ่มแซวกันได้อย่างไม่ถือโกรธ ระหว่างที่นั่งดูโฆษณาทางทีวีถึงการดำเนินการทางด้านนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์“เลือกตั้งคราวนี้แม่จะเลือกใคร” ผมเอ่ยแกคิด “ต้องดูหมู่เค้าก่อน คนที่นี่เค้าชอบไทยรักไทย” ที่วันนี้เปลี่ยนเป็นพลังประชาชนประมาณว่า รักแล้วรักเลย เกลียดแล้วเกลียดจริง“แต่คนนี้ก็ดูดีนะ” แกชี้ไปที่ตัวท่านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์“แล้วคนกรุงเทพฯ ล่ะ เค้าจะเลือกใคร” แกเอ่ยบ้างผมคิด “ไม่แน่นอนหรอกครับแม่”ประมาณว่า พรรคไหนให้ประโยชน์ก็เฮไปข้างพรรคนั้น.แม่สถิต แม่ของรุ่นน้อง คนที่ทำขนมจีนน้ำยาสูตรบ้านข่าได้อร่อยที่สุดในโลกทุกๆ เช้า คนบ้านข่าจะออกมาตักบาตร ชนิดที่ไม่ต้องไปตักบาตรข้าวเหนียวกันที่หลวงพระบาง ขอย้ำว่า ทุกวันครับขนมจีนน้ำยาสูตรบ้านข่าที่อร่อยที่สุดในโลกขนมเบื้องเวียดนาม สูตรดั้งเดิมที่ไม่ค่อยมีให้เห็นมากนักทุ่งข้าวสีทอง รอเคียวมาเกี่ยวรวงเข้าหน้าหนาวชาวนาบ้านข่าจะเริ่มเก็บข้าวเข้าฉาง ที่นี่ยังมีการลงแรงกันให้เห็นนอกจากถนนกลางหมู่บ้านข่าจะเป็นของรถแล้วยังเป็นของ ...
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
หลังจากที่ จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาได้จากไป เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 ตราบจนกระทั่งถึงวันนี้เป็นเวลา 6 ปีเต็ม ๆ ผมคิดว่านอกจากบทเพลงที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวามากมายหลายชุด ที่เขาทิ้งไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่า ที่ทำให้เราคิดถึงถึงเขา ยามได้ยินบทเพลงของเขา ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว ยังมีสถานที่และผู้คนที่เคยเกี่ยวข้องผูกพันกับชีวิตของเขา บางสถานที่บางบุคคล ที่ทำให้เราคิดถึงเขา ยามได้ไปเยือนสถานที่แห่งนั้น และได้พบใครบางคนดังกล่าว เช่นร้านอาหาร สายหมอกกับดอกไม้ที่ตั้งอยู่ริมถนนเชียงใหม่ 700 ปี หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ มีใครต่อใครมากมายหลายคนบอกผมเป็นเสียงเดียวกันว่า ยามได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้แล้ว ทำให้คิดถึง คุณจรัล มโนเพ็ชร เหลือเกินซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลก เพราะ สายหมอกกับดอกไม้ เป็นร้านอาหารที่คุณอันยา โพธิวัฒน์ คนรักของคุณจรัล ได้ร่วมมือร่วมใจกับคุณจรัลสร้างร้านนี้ขึ้นมาและเริ่มเปิดบริการอย่างเงียบ ๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 โดยมีเจตนาทำร้านที่มีลักษณะเป็นสวนอาหารขนาดย่อมนี้ เป็นที่ต้อนรับญาติสนิทมิตรสหาย ต่อมาเมื่อคุณจรัล มโนเพ็ชร ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะโยกย้ายจากกรุงเทพฯกลับคืนมาอยู่บ้านเกิด ได้บินจากกรุงเทพฯมาเล่นดนตรีประจำร้านนี้อาทิตย์ละ 2-3 วัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2543จนกระทั่งจากไปด้วยโรคปัจจุบัน ขณะกำลังเตรียมงานคอนเสิร์ต 25 ปี จรัล มโนเพ็ชร ที่บ้านดวงดอกไม้ ทุ่งหลวง จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544ร้านสายหมอกกับดอกไม้ จึงกลายเป็นสถานที่และผู้คนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่จากล้านนาที่จากไป นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาแน่ล่ะ หลังจากวันที่คุณจรัลจากไป ถึงแม้ว่าผู้คนจะค่อย ๆบางตาลง แต่คนที่รักและคิดถึงคุณจรัล ก็ยังคงมาเยี่ยมเยือนร้านนี้กันอยู่เสมอ ซึ่งก็ตรงกับใจของคุณอันยาเจ้าของร้าน ที่ไม่อยากเหน็ดเหนื่อยกับการรับแขกมากเกินไป เหมือนสมัยที่คุณจรัลยังมีชีวิตอยู่และมาเล่นดนตรีประจำที่ร้านนี้วันนี้ถ้าคุณย่างก้าวเข้าไปในบริเวณร้านสายหมอกกับดอกไม้ สิ่งแรกที่จะสะดุดตาคุณก็คือรูปปั้นครึ่งตัวของ คุณจรัล ฝีมือของคุณหงส์จร เสน่ห์งามเมือง ที่ตั้งอยู่บนแท่นสูงประมาณเมตรครึ่ง ใกล้ ๆ กับประตูทางเข้าร้านทางด้านขวามือและเมื่อเดินเข้าไปในร้านที่คุณจรัลออกแบบเป็นอาคารไม้หลังคาหน้าจั่วเชิงซ้อนแบบล้านนาประยุกต์ คุณก็จะพบภาพถ่ายของคุณจรัลในอิริยาบถต่าง ๆ ที่คุณอันยา ใส่กรอบแล้วนำมาติดไว้อย่างสวยงามตามซอกมุมต่าง ๆ ภายในร้าน เช่นเดียวกับเวทีที่คุณจรัลเคยมานั่งเล่นกีตาร์และร้องเพลง ก็ถูกจัดวางเอาไว้ในที่เดิมรวมทั้งข้าวของกระจุกกระจิกส่วนตัวและเทปเพลงของคุณจรัลในตู้โชว์ และหนังสือสองเล่มที่คุณอันยา เขียนถึงคุณจรัลเอาไว้อย่างงดงาม นั่นคือรักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชรและตามรอยฝัน จรัล มโนเพ็ชรจึงมิใช่เรื่องที่แปลกที่ร้านอาหารสายหมอกกับดอกไม้ จะเป็นสถานที่ที่ใครต่อใครหลายคนได้เข้ามาเยือนแล้ว จะพากันคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินทระนงผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา โดยเฉพาะตัวผม ที่ได้ร่วมเล่นบนเวทีเล็ก ๆ ที่น่ารักและอบอุ่นร่วมกับคุณจรัล ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่สายหมอกกับดอกไม้ร้านสายหมอกกับดอกไม้ จึงเป็นสถานที่แห่งความคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะมันคือสถานที่แห่งความรักของเขา และอันยา โพธิวัฒน์ เธอผู้รู้จักตัวตนของเขาอย่างลึกซึ้ง ได้เขียนบทกวีบทหนึ่งไว้อาลัย แด่การจากไปของเขาเอาไว้ว่าดอกไม้ดอกเดียวของฉัน ดอกไม้ดอกเดียวของฉันเป็นนักกีตาร์เป็นนักร้องแสนดีเป็นนักแต่งเพลงแสนวิเศษคุณรู้ โลกก็รู้และตระหนักเขาเป็นนักกีตาร์ที่มีวิถีใช้นิ้วเป็นของตนเองสัมผัสเส้นสายบนเครื่องดนตรีที่ลี้ลับต่อการเรียนรู้มันเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งที่มีผู้เล่นเท่านั้นจะตระหนักได้ว่าจะนำทางไปสู่ทิศทางใดในโลกลี้ลับที่เปี่ยมมนต์ขลังจากเสียงเพียงประการเดียวนี่คือสิ่งที่ฉันเรียก...ศิลปะและเมื่อใครสักคนดุ่มเดินไปในวิถีที่ลี้ลับ ซึ่งรังสรรค์ขึ้นจากตัวตนของเขาเองนั่นคือ ศิลปินดอกไม้ของฉันอยู่กับฉันมาเนิ่นนานหลายปีนำกลิ่นหอมแสนหวานจากเสียงกังวานของกีตาร์มาสู่ฉัน ทั้งกลางวัน กลางคืนตลอดฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาวฉันคงไม่อาจมอบตำแหน่งใดในโลกนี้ให้เขาได้นอกจาก...ศิลปินที่รักสุดหัวใจแด่ดอกไม้เมื่อเสียงนุ่มแผ่วจากดนตรีของเจ้าจางจากไปกังวานยังสะท้านอยู่ในความรู้สึกกลิ่นหอมของกุหลาบเหลืองแสนหวานที่โรยรายังอ้อยอิ่งอยู่ในอารมณ์ที่เร่งเร้าดอกไม้เจ้าเอย...เจ้าเป็นดอกไม้ดอกเดียวของฉันเมื่อกลีบของเจ้าร่วงหล่นทับถมลงบนดินบนฟูกของความตายเมื่อเธอจากไป ความรักจะปิดเปลือกตาลงและหลับสนิทอยู่ในนิทราเช่นเดียวกับร่างไร้ชีวิตซึ่งนิ่งสนิทอยู่ตรงหน้าฉันในห้วงนิทราของความตายเธอยังคงงดงามเช่นเดียวกับเด็กน้อยที่น่ารักด้วยน้ำตาและความเงียบ ฉันกล่าวอำลาเธอ.***อันยา โพธิวัฒน์ เขียนไว้ในหนังสือ แก้วก๊อล้านนา 13 พฤศจิกายน 2550กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่
ชนกลุ่มน้อย
“ถ้าจะตาย  ใจสงบแล้วที่ได้เห็นแม่น้ำใหญ่”   ลุงเวยซา วัย 69 ปี  พูดกับพวกเรา แล้วทรุดตัวนั่งลงริมฝั่งแม่น้ำใหญ่สาละวิน  พึมพำเสียงเปรยสั่นเครือเหมือนลืมตัว “โข่โละโกร โข่โละโกร..”  ผมนึกว่าลุงจะตื่นตาตื่นใจไปตามประสา  แต่พอเห็นหลังมือป้ายตา  นิ่งเหม่อมองไกล  ผมถึงเข้าใจว่า นั่น ไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆเสียแล้ว  นาทีต่อนาทีนับจากนั้น  ผมเห็นลุงเวยซายิ่งตัวเล็กลงเหลือเท่ากำปั้น  กลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกับก้อนหินใหญ่ริมฝั่ง  เป็นหุ่นปั้นหินเปลือยกายท่อนบน  นุ่งเตี่ยวสะดอเก่าๆสะพายย่าม  เท้าเปลือย  และแทบมองไม่เห็นหนวดเคราขาวหรอมแหร็ม  กับเส้นผมแห้งแข็งเหมือนฟางข้าวเรามาถึงริมฝั่งแม่น้ำตอนเที่ยงคืนกว่าๆ  ผมเหลือบเห็นผิวน้ำเลื่อมมันวาวสะท้อนแสงจันทร์เสี้ยว  อย่างผิวหนังสัตว์เกล็ดงูยักษ์เคลื่อนผ่านหน้าไป   ห้าคนอัดแน่นอยู่บนรถจิ๊ปสีเทารุ่นสงครามโลก  พะเลอโดะเป็นคนขับ  ผมนั่งเคียงคู่  ลุงเวยซานั่งข้างหลัง   ส่วนอีกสองคน ซอมีญอกับกะฌอดูราวหลอมแบนราบเป็นเนื้อเดียวกับพื้นรถผมมาถึงฝั่งโข่โละโกรเป็นครั้งแรก  เหมือนลุงเวยซา  ซอมีญอกับกะฌอเขาคุ้นเคยเป็นอย่างดี  พะเลอโดะเป็นผู้นำทาง  เขาเข้าออกโข่โละโกรอย่างกับบ้านหลังที่สอง  เขาบอกว่า  เขามากี่ครั้งก็ไม่เคยรู้สึกเบื่อ  โข่โละโกรมีเรื่องใหม่ๆ ผ่านเข้ามาทุกวัน  ไม่ต่างกับการมาถึงของพวกเรา   แสงไฟรถฉายไปยังบ้านไม้แต่ละหลังที่ปิดประตู  ปิดไฟเปล่าเปลี่ยวอยู่ในความมืด  ราวกับโบกี้รถไฟไม้เก่าทิ้งร้าง  ไม่มีหัว ไม่รู้ท้าย  ปล่อยเลยตามเลยไว้ริมแม่น้ำ  อย่างกับรอวันคืนอัศจรรย์ผ่านมาชุบชีวิตให้มันตื่นขึ้นเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง  แล้ววิ่งเลียบแม่น้ำไปเยี่ยงจักรกลโบราณที่ไม่คาดหวังว่าจะมีสิ่งมีชีวิตตื่นขึ้นมาขอโดยสารหรือไม่   เสียงรถยามวิกาลไม่ได้ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในโบกี้ไม้แตกตื่น  พะเลอโดะบอกว่า เว้นแต่พวกทหารที่คอยดมกลิ่นกลางคืน  นอกนั้นไม่มีใครอยากรู้หรอกว่าเป็นใครมาทำอะไร  ผู้คนแถบนี้คุ้นเคยกับคนเข้าคนออก  เท็จจริงใดๆ ดูไร้ประโยชน์   บรรยากาศชีวิตแถบนี้ปกคลุมด้วยความเท็จมากกว่าความจริง  ความสงสัยใดๆไม่ได้นำพาไปสู่ความเคร่งครัดในสิ่งคาดหวังใหม่ๆ ผมรับรู้เรื่องราวโข่โละโกรอันจำกัด   ส่วนหนึ่งมาจากพะเลอโดะ  เล่าเพียงว่าชุมชนคนพลัดถิ่นเกิดขึ้นมากลางสนามรบ  เพราะผลพวงจากสงครามเชื้อชาติบนแผ่นดินพม่า  หนีการสู้รบข้ามน้ำโข่โละโกรมาตั้งบ้านอยู่สุดขอบพรมแดน  ให้พอมีพื้นที่ดำรงชีพกันไปได้  แต่ดูเหมือนชีวิตไม่ง่ายเถรตรงอย่างแนวเขตปันแดน  อิทธิพลของนักรบกะเหรี่ยงยังแผ่ขยายมาถึงคนหนีมาสุดแนวเขตจนได้    ใครไม่มีลูกชายส่งไปออกรบ  ก็ต้องส่งส่วยไปอุดหนุน     พันธะทางสายเลือด  พรมแดนไม่อาจปิดกั้นกันไหลทะลักไปหากัน  วันดีคืนดีของลุงเวยซา  ก็มีคนแปลกหน้าพร้อมอาวุธเข้ามาถึงบ้าน  ขอพริกขอข้าวสาร  มีอยู่เท่าไหร่ก็ต้องเอาให้เขาไป   ลุงเวยซาบอกว่า พวกนี้เป็นผีโข่โละโกร แฝงตัวมากับกลางคืน  เคลื่อนไหวมาตามป่าเขาอย่างเงียบกริบ  ไม่มีใครรู้ว่าพวกนี้มาจากที่ใด  จะไปไหน  แต่ลุงเวยซารู้ผ่านพ่อแม่บอกต่อกันมา  ว่าดินแดนนั้นเหมือนถูกสาปอยู่หลังแม่น้ำโข่โละโกร  ที่นั่น เต็มไปด้วยนักรบที่พร้อมจะห้ำหั่นใส่กันได้ทุกเมื่อ    วัยวันลุงเวยซาผ่านไป 69 ปี  ไม่เคยสักครั้งที่คิดจะเดินไปยังดินแดนนั้น  หรือไปให้ถึงฝั่งน้ำโข่โละโกรสักครั้ง   ลุงเชื่อฝังใจว่าที่นั่นเต็มไปด้วยพวกผีโข่โละโกร  ไม่เชื่อฟังเหตุผลใดๆ   ถ้าถูกจับไปเป็นลูกหาบแบกกระสุนปืนเมื่อไหร่  อย่าหวังว่าจะได้กลับออกมาง่ายๆ  “พระเจ้าให้เป็นอย่างนั้น” ลุงเวยซาบอก  พะเลอโดะกลับหัวเราะ  แล้วพูดออกไปว่า  พระเจ้าอยู่ในเรานี่แหละ.. พะตี
ภู เชียงดาว
  เมื่อนั่งอยู่ในความเงียบ ในสวนบนเนินเขายามเช้าตรู่ เพ่งดูหมอกขาวคลี่คลุมดงดอยอยู่เบื้องหน้า ทุ่งนาเบื้องล่างลิบๆ นั้นเริ่มแปรเปลี่ยนสี จากทุ่งข้าวสีเขียวสดกลายเป็นสีเหลืองทองรอการเก็บเกี่ยว ใช่, ใครต่อใครเมื่อเห็นภาพเหล่านี้ คงรู้สึกชื่นชมภาพอันสดชื่นรื่นรมย์กันแบบนี้ทุกคนทว่าจริงๆ แล้ว พอค้นให้ลึกลงไป ก็จะพบว่า ในความงามนั้นมีความทุกข์ซุกซ่อนอยู่ให้รับรู้สึก เมื่อนึกถึงภาพเก่าๆ ของหมู่บ้าน ผ่านไปไม่กี่สิบปี  จะมองเห็นได้เลยว่าหมู่บ้านเกิดของผมมีความแปลกเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง อย่างไม่น่าเชื่อ“ตอนนี้ อะหยังๆ มันก่อเปลี่ยนไปหมดแล้ว...” เสียงใครคนหนึ่งบ่นเหมือนรำพึงจริงสิ, อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว บทเพลงชาวนาชาวสวนที่เคยขับร้อง จึงไม่เพราะเหมือนแต่ก่อน...    เมื่อความแปลกเปลี่ยนกำลังไหลเลื่อนเคลื่อนคลุมหมู่บ้าน ปกคลุมหัวใจของผู้คนทุกลมหายใจเข้าออกคิดแล้ว  น่าใจหายเมื่อมองเห็นภาพชาวบ้าน ญาติพี่น้องของผมแบกกระเป๋าเดินทยอยออกจากหมู่บ้านไปทำงานต่างแดนกันอย่างต่อเนื่อง “ตอนนี้ ถ้านับจำนวนทั้งคนหนุ่ม คนเฒ่าคนแก่ที่ออกไปยะก๋านข้างนอก คงเกือบสองร้อยคนแล้วมั่ง...” เสียงพี่สาวบอกเล่าให้ฟังเป็นการเดินออกไปทำงานรับจ้างต่างบ้านต่างเมือง ในขณะที่รัฐบาลโหมโฆษณาผ่านเสียงตามสาย ผ่านโทรทัศน์ เน้นย้ำอยู่อย่างนั้น...พอเพียง พอเพียง ซึ่งมันช่างสวนกระแสและรู้สึกขมขื่นเสียจริงๆทำไม...ทำไม ผู้คนถึงต้องออกจากหมู่บ้าน...หลายคนคงแอบตั้งคำถามกันแบบนี้ แต่กระนั้น คงมีอีกหลายคนที่รู้สึกเฉยชา และปล่อยให้มันเป็นไป ปล่อยให้ชะตากรรมเป็นฝ่ายตัดสินใครหลายคนบ่นว่า ต้องโทษ ธกส.ต้องโทษนักการเมือง รัฐบาลเก่าที่สร้างหนี้ให้ชาวบ้าน ในขณะที่หลายคนก็บอกว่า ต้องโทษตัวเราเอง ที่ไปเอาเงินมาใช้ แต่ไม่มีปัญญาใช้คืน แน่นอน พวกเขาถึงละทิ้งผืนแผ่นดินเกิด ปล่อยให้นาข้าวไร้คนเกี่ยว สวนเปลี่ยว ไร่รกร้าง แบกกระเป๋าเข้าเมือง เพียงเพื่อมุ่งหาเงิน เร่งหามาใช้หนี้ เพื่อปลดทุกข์และความเครียดที่รุมเร้าทำให้นึกไปถึงถ้อยคำของหลานชาย ที่บอกเล่าความรู้สึก ในวันที่ต้องไปเที่ยวหาคนงานที่เป็นชนเผ่าจากหมู่บ้านใกล้เคียงมารับจ้าง รับเหมาเกี่ยวข้าวภายในทุ่งนาของตน “...ท้องทุ่งในวันนี้ช่างเงียบเหงา ถึงแม้จะมีผู้คนมาช่วยผมเกี่ยวข้าว แต่เป็นคนที่ไม่รู้จักเลยซักคน เสียงต่างๆที่คุ้นเคย ก็เงียบขาดหายไป เพราะอะไร ?...” ฟ้าครึ้ม พายุพัดพาเมฆฝนหล่นโปรยลงมาในสวนบนเนินเขาอีกครั้ง...ผมหยิบหนังสือ “จากห้วงลึก” ของ “พจนา จันทรสันติ” ออกมาอ่านอยู่เงียบๆ ลำพัง...“...ความเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตแบบบุพกาล มาสู่วิถีชีวิตแบบโลกสมัยใหม่ อาจกินเวลาเพียงลัดนิ้วมือเดียว เมื่อเทียบกับการสั่งสมอารยธรรมทางจิตวิญญาณ ซึ่งต้องกินเวลานานนับพันๆ ปี จากการหยั่งเห็นของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า สืบทอดจากครูคนแล้วคนเล่า สั่งสมขึ้นเป็นประสบการณ์ภายในอันล้ำลึกซึ่งความรอบรู้และบทบาทหน้าที่ของมนุษย์ได้รับการตอบรับยืนยันจากสรรพสิ่งในจักรวาล กว่าที่มนุษย์จะเงี่ยโสตสดับฟัง จนได้ยินกระแสเสียงของพระผู้สร้าง หรือต้นกำเนิดของตน กว่าที่มนุษย์จะขัดเกลาตนเองให้ละเอียด จนถึงขั้นที่สามารถรับคลื่นสัญญาณความหมายต่างๆ ของธรรมชาติ ช่างแตกต่างกันไกลจากเสียงของวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งง่าย ทว่าผิวเผินกว่ามากนัก และมนุษย์อาจใช้เวลาไม่มากเลย ที่จะได้ยินกระแสเสียงของเงินและเทคโนโลยี ซึ่งได้กลายมาเป็นพระเจ้า กลายเป็นศาสนาในยุคใหม่ของตนด้วยและเสียงของพระเจ้าองค์ใหม่นี้ ย่อมดังกึกก้องกว่า ชัดเจนกว่า และง่ายที่จะได้ยินด้วย ทว่าผู้คนที่เดินติดตามไป ก็คงจะได้ค้นพบด้วยตนเองในไม่ช้าว่า ตนได้มีความสุขแท้จริงละหรือ จะค้นพบว่าอะไรคือสวรรค์และคือนรก และพบว่าอะไรจริงอะไรเท็จ และตรงปลายทางสายนั้นคือมรรคผลอันไพบูลย์เต็มเปี่ยม หรือว่าคือหายนะของทั้งหมด...”“จากห้วงลึก” “พจนา จันทรสันติ” เขียน ผมนิ่งอ่านแล้วครุ่นคิดไปต่างๆ นานา...จริงสิ, ไม่ว่าในเมืองหรือชนบท ผู้คนต่างล้วนเอาชีวิตไปวางอยู่กับเงิน เอาเงินเป็นตัวตั้ง ในขณะที่สังคมนับวันยิ่งซับซ้อน ยุ่งเหยิง หมักหมมและเลวร้ายขึ้นทุกวัน และก็อดนึกถึงผู้คนพี่น้องของผมที่ละทิ้งบ้านเกิดไปไม่ได้ว่า ป่านนี้พวกเขาออกไปเผชิญชีวิตในเมืองใหญ่ ในต่างจังหวัด ในเกาะแก่งทะเล ทางภาคใต้ในขณะนี้ ไม่รู้ว่าพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไรบ้าง และจะเอาตัวรอดกลับคืนมาสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองได้หรือไม่...ความรู้สึกของผมในยามนี้ เหมือนกับที่ “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว”เขียนบันทึกไว้ในคอลัมน์ใน www.prachatai.com ตอนหนึ่งที่บอกว่า...Life is shortThe world is roughIf you want to live saveYou have to be tough ชีวิตนี้สั้นโลกนี้เลวร้ายหากคุณต้องการจะอยู่อย่างปลอดภัยคุณต้องแข็งแกร่งพอ. หมายเหตุ : ภาพประกอบโดย “ดอกเสี้ยวขาว” http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=jintanakarn82&month=10-2007&date=09&group=11&gblog=3
วาดวลี
ผู้หญิงคนนั้นกำลังฉุน ส่วนหญิงสาวอีกคนในชุดกระโปรงสีชมพู มีท่าทางไม่สบายใจอารมณ์ขุ่นเคืองปะทุในแดดระอุของยามบ่าย  ขณะนั้น  ฉันฝ่าไอร้อนมาจอดรถหน้าร้านค้าของนวลเมื่อวานนี้ฉันขอให้เธอช่วยรื้อลังเก่าๆ ใบใหญ่ๆ ไว้ให้  เพื่อซื้อไปใส่ของขนย้ายบ้านนวลกำลังยุ่ง ยกมือปาดเหงื่อบนหน้าผาก แต่ก็ยังมีแก่ใจกระซิบบอกด้วยเสียงอ่อนโยนเช่นเคย“รอหน่อยนะ แม่กำลังหาลังใบใหญ่ให้ ไม่ได้ลืม เดี๋ยวคงเอาลงมา”“แม่เหรอ?”ฉันทวนคำ นวลกำลังพูดถึงใครกันนะ ก็เธอจากบ้านมาไกลจากพม่า มาทำงานในร้านขายของชำ ทุกทีนวลเรียกเจ้าของร้านผู้ชายว่า เฮีย และเรียกพี่ผู้หญิงว่า เจ๊ ฉันยังไม่ได้ถาม แต่เธอคงจะดูแววตาออก เธออมยิ้ม แล้วบอกว่าเดี๋ยวมา จากนั้นก็ปราดไปยังผู้หญิงวัยกลางคนที่ยืนพัดเหงื่ออยู่หน้าร้านนอกจากใบหน้าบึ้งตึงแล้ว ก็ยังมีแววตาหงุดหงิดบนโต๊ะคิดเงิน  ประกอบด้วยแป้ง 1 กระป๋อง แชมพู น้ำมันหอย และผงชูรสถุงใหญ่ นวลกำลังจะคิดเงินให้เธอ แต่กลับปรากฏว่ารถเก๋งคันใหญ่ใหม่เอี่ยม จอดเทียบร้านระดับชิดทางเดินเข้าออก“ไฮเนเก้น 2 ขวด น้ำแข็ง 5 บาท ขอด่วน”เขาตะโกนเข้ามาโดยไม่ดับเครื่องยนต์ นวลจึงต้องปราดเข้าไปหยิบของให้ลูกค้าท่านนี้เสียก่อน รถคันใหญ่คับร้าน ชวนให้เกิดบรรยากาศเร่งเร้าอย่างบอกไม่ถูก“เจ๊รอแป๊บนะ” นวลหันไปบอกผู้หญิงหน้าฉุนคนนั้น เธอไม่สบตาเขา แต่อีกฝ่ายจ้องเขม็ง นวลคงรู้ตัวดี ทำให้พี่คนนั้นต้องรอ เธอพยายามจัดการลูกค้าในรถคันใหญ่ให้เสร็จก่อนทั้งวิ่ง ทั้งเดิน หยิบของใส่ถุง วิ่งไปส่ง รับเงินกลับมา วิ่งหาเงินทอน สิ่งที่นวลทำนั้นคงเป็นการลดน้ำหนักได้อย่างดี เพราะจากสาวน้อยร่างอวบ ผิวหน้าเปล่งปลั่งในวัยไม่ถึงยี่สิบปี ตอนนี้นวลผอมลง มีรูปทรงโค้งเว้า แต่งตัวทันสมัยกว่าเดิมมาก ครั้งหนึ่งเคยเอ่ยปากชมว่า ชุดนวลสวยจัง เธอก็ตอบด้วยใบหน้าอิ่มเอิบว่า“เขาบริจาคมาทั้งนั้นแหละ”ไม่มีถ้อยคำใดแสดงถึงความน้อยเนื้อต่ำใจ มีแต่ความปรีดาที่ได้เสื้อผ้าแบบใหม่ ทั้งยังไม่ต้องเสียเงิน พี่ผู้หญิงเจ้าของร้านนั่นเองที่คอยคัดเสื้อผ้าเหลือใช้มาให้ นวลใส่แล้วก็แทบจะสลัดคราบของสาวพม่าออกไปเกือบหมด เพราะนวลหน้าตาน่ารัก ขาดแต่ก็ไม่ได้แต่งหน้าทาปากแบบสาววัยรุ่นทั่วไปนวลอาจจะคิดแบบนั้นหรือไม่ ฉันไม่รู้  รู้เพียงแต่ว่าสำหรับบางคนแล้ว สิ่งที่นวลเป็น ไม่เคยสลัดออกไปได้ในทัศนคติของเขาผู้หญิงหน้าฉุนคนนั้น เอื้อมมือไปคว้าถุงพลาสติกขึ้นมา เขาจัดการคลี่ปากถุง แล้วหย่อนข้าวของที่เลือกลงไป ขณะใส่ถุงเขาก็คิดเลขไปด้วย คิดออกมาดังๆ แล้วบวกเลขอย่างรวดเร็ว ฉันในฐานะผู้รอคอยจึงยืนมองไปด้วยใจที่คิดว่า ก็ดีเหมือนกันนะ ที่ลูกค้าจะหยิบของใส่ถุงเอง จะได้แบ่งเบาภาระนวลไปได้อีกทางหนึ่งแต่แท้จริงก็กลับไม่ใช่ เมื่อเธอพูดออกมาดังๆ ว่า“ทำงานชักช้าจริง  หยิบใส่ถุงเองแล้วนะ”น้ำเสียงนั้นห้วนสั้น อย่างคนหัวเสียทั่วไป นวลตะลีตะลานปราดเข้าไปหาทันทีที่จัดการธุระให้เจ้าของรถคันโตเสร็จเรียบร้อยแล้ว“โทษทีค่ะพี่ วันนี้ยุ่งจริงๆ” นวลเอ่ยปากพร้อมใบหน้าที่เต็มไปด้วยเม็ดเหงื่อ“นี่นะของที่ซื้อ...”หญิงรุ่นใหญ่ขยายปากถุง ชี้นิ้วไปที่ข้าวของทีละอย่าง คำนวณด้วยความชำนาญ“แป้ง 12 แชมพู 15 ผงชูรส 15 น้ำมันหอย 22 รวมเป็น 48 บาท อ่ะ เอาเงินไป”พูดเสร็จก็โยนแบงค์ 20 ออกมา 2 ใบ พร้อมเหรียญอีก 8 บาท เศษเหรียญเหล่านั้นกลิ้งหลุนๆ ไปตามโต๊ะ โดยมีนวลต้องคอยตะปบเก็บจากนั้น นวลปราดสายตามองข้าวของ แล้วเอื้อมไปคว้าเครื่องคิดเลข “เอ่อ นวลขอคิดอีกรอบนะ”  ว่าแล้วก็คิดใหม่ “แป้ง 12 แชมพู 15 ผงชูรส 15 น้ำมันหอย 22 รวมแล้วมัน 64 บาทค่ะ”ความรำคาญในสายตาถูกทอดโปรยไปยังนวล มองออกว่าเธอไม่พอใจนักหนา จากนั้นก็คว้าเงินกลับไปกำไว้ อีกมือก็ล้วงแบงค์จากกระเป๋ากางเกง“อ่ะ งั้นก็เอาไป”เธอโยนเงินลงไป แม้รู้ว่ามันไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะทาบลงกับผืนโต๊ะแบงค์สีแดงร่วงปลิวลงพื้น นวลรีบก้มลงไปเก็บ ใบหน้าเธอแทบจะชิดที่เท้าของเขาคนนั้นเงยหน้าขึ้นมา ขยับจะกดเครื่องคิดเลขเพื่อคิดเงินทอน  เสียงดังอันห้วนสั้นและเต็มไปด้วยความฉุนเฉียวก็ดังไปทั่วร้าน“แบงค์ร้อยบาท ซื้อ 64 ก็ทอน 36 ไงเธอ เอาแบงค์ยี่สิบมา 1 ใบ เหรียญสิบบาท 1 เหรียญ เหรียญบาทอีก 6  บาท! แค่นี้คิดไม่ออกหรือไง! ”ฉันเพิ่งตระหนักในตอนนั้น ว่าความโกรธขึ้งนั้นร้อนกว่าแสงแดด การดูถูกนั้นหนาวกว่าสายฝน นวลพาใบหน้ายับๆ เดินกลับเข้าไปเอาเงินทอนจากด้านในร้าน เดินออกมายื่นให้ ผลก็คือคนรับกระชากไปแรงๆ เป็นฉากที่เห็นบ่อยๆ ในละครไทย แต่ไม่คิดว่านี่เป็นชีวิตจริง จากคนบ้านใกล้เรือนเคียง ในเมื่อคนซื้อของคนนั้น ก็เป็นคนขายลาบอยู่ไม่ไกลจากร้านนวลเท่าไหร่นัก“ลังเก่าๆ รอแป๊บนะ เดี๋ยวนวลไปตามแม่ให้ว่าได้หรือยัง”เธอส่งเสียงผ่านออกมาจากริมฝีปากที่สั่นระริก ฉันจึงเอื้อมมือไปแตะเบาๆ ที่แขนของเธอทีหนึ่ง“ไม่ต้องรีบก็ได้นวล พักก่อน ท่าทางจะเหนื่อยมากนะนี่”“ฮื่อ” นวลตอบแค่นั้น แล้วก็ส่ายสายตาไปมา ดูว่าเหลือใครยืนรออีกไหม หรือมีอะไรค้างอยู่ ทุกวินาทีของเธอมีค่าในเวลารีบเร่ง แต่เมื่อเห็นว่าลูกค้าไปหมดแล้ว นวลก็ยืนถอนหายใจ เอื้อมมือเช็ดเหงื่อที่ไหลลงมาแตะพวงแก้มสีชมพูระเรื่อ พลางหางตาก็ยังแลไปทางคนที่เพิ่งจากไปตะกี้นี้จับได้ว่ามือของเธอดูจะยังสั่นๆ “แล้วตะกี้บอก แม่ไปเอาลัง คือแม่ใครหรือ” ฉันเปลี่ยนเรื่องถามอย่างเกรงใจ หากนวลไม่ตอบก็ไม่ได้สำคัญอะไร นวลเอี้ยวตัวแทนคำพูด เรียกฉันเบาๆ“มานี่”ฉันเดินตามต้อยๆ ไป ยังคูหาที่อยู่ติดกัน ประตูเหล็กม้วนถูกเปิดขึ้นเพียงเล็กน้อย เป็นช่องเล็กๆ ที่พอจะมุดเข้าไปได้นวลตะโกนเรียกดังๆ “แม่” ครู่หนึ่ง หญิงวัยกลางคนก็มุดออกจากโกดังมาพร้อมกล่องกระดาษที่ฉันสั่งเอาไว้ มองเห็นใบหน้าและรูปร่าง เขาคล้ายคลึงกับนวลแต่ก็ยังดูสาว“นี่ไงแม่นวล”“เอ่อ หมายถึงแม่จริงๆ มาจากโน่นเหรอ”“ใช่” นวลตอบเสียงดังฟังชัด แววตาเริ่มมีความสดชื่นขึ้นมาแทนที่“นวลพาแม่มาทำงานด้วย เฮียขาดคนเช็คสต๊อก ตอนนี้ไม่เหงาแล้ว”“ดีจัง”ฉันพูดเผื่อแผ่ไปยังเจ้าของร้านด้วย ที่กรุณาเธอทั้งสองแม่ลูก ฉันเอ่ยสวัสดีคนเป็นแม่พร้อมรอยยิ้ม เธอมีแววตากลัวๆ แต่ก็ยิ้มตอบมาอย่างดี“งั้นเดี๋ยวพี่ไปก่อนนะ ค่ากล่องที่ให้เมื่อวานพอใช่ไหม”“พอจ้ะพี่” นวลตอบ แล้วปล่อยให้ฉันหยิบกล่องเหล่านั้นเพื่อเดินเอาไปใส่ที่รถแต่ก่อนจะก้าวขาออกมา มือแข็งๆ ของนวลก็เอื้อมมาแตะที่แขน “เดี๋ยว...นวลอยากถาม...ว่า...”น้ำเสียงนั้นกลับมาเป็นเหมือนเดิม แบบที่ฉันเคยเห็นเมื่อแรกเจอกัน เด็กน้อยในโลกแปลกหน้า มือของเธอสั่นๆ เบาๆ“...อยากถามว่า คนตะกี้ที่เขาตะคอกกับขว้างเงินใส่นวล เขาทำเพราะเขารอนานหรือ...เพราะว่านวลเป็นพม่า...”คำถามนั้นทำเอาฉันตอบอะไรไม่ถูก จึงได้แค่บอกไปว่า“เขาคงโมโหมาจากบ้านมั้งนวล ช่างมันเถอะ อย่าไปคิดมาก ต้องเจอคนแปลกๆ อยู่แล้วนินา”นวลคลายมือ ก่อนจะพยักหน้าฉันเป็นฝ่ายแตะแขนเธอกลับ จากนั้นก็ลากกล่องใบโตอุ้มเดินออกมาวูบนั้น เมื่อหันกลับไปอีกครั้ง ในเปลวแดดที่ยังไม่ลดลา เหมือนจะเห็นบางอย่างอยู่ในดวงตาคู่นั้นสิ่งที่เรียกว่าน้ำตา.
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
มีโอกาสต้อนรับเพื่อนชาวอินโดนีเซียที่มาเยือนเมืองไทยเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา  หลังจากที่เธอเสร็จสิ้นภารกิจการงานในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับมอบหมายจากที่ทำงานแล้ว เธอก็บินตรงไปยังภูเก็ต และแวะเยี่ยมเยือนผู้เขียนที่พังงา ขอเรียกเธอสั้นๆ ว่า ทีน่า เธอเป็นลูกครึ่งจีน-อินโดนีเซีย ทำงานเป็นเลขานุการ  ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำอินโดนีเซีย แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์แต่เธอก็ได้รับโอกาส ให้ทำงานในตำแหน่งหน้าที่สำคัญของสถานทูต เธอแสดงให้เห็นว่า ร่างกายไม่ใช่อุปสรรคของการทำงานและขาดความคล่องตัวแต่อย่างใด ตลอดเวลาสิบกว่าปีในการทำงาน เธอได้รับมอบหมายให้ไปดูงานต่างแดนหลายประเทศ เช่น อียิปต์ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ประเทศไทย ฯลฯ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการทำงานของเธอ  ทีน่า กับเพื่อนๆ เคยถามเธอว่า สังเกตจากสิ่งแวดล้อมที่กรุงจาการ์ตาและอีกหลายเมืองในอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำสาธารณะ รถประจำทางสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่สาธารณะต่างๆ แม้แต่ส่วนราชการ ไม่ได้ให้ความสำคัญและเอื้ออำนวยต่อคนพิการหรือร่างกายไม่สมบูรณ์เลย เพราะไม่มีเครื่องมือใดๆ ช่วยเหลือและบริการสำหรับคนพิการ  แล้วเธออดทนได้อย่างไรมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี เธอยอมรับว่า รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนพิการ ซึ่งคงต้องรณรงค์และกดดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญต่อปัญหานี้ อินโดนีเซียยังถือว่าเป็นประเทศที่ยากจน ปัญหาสำคัญของอินโดนีเซียตอนนี้คือ การพยายามกำจัดปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหามหึมาของประเทศ หากกำจัดคอรัปชั่นไม่ได้ ประเทศจะไม่มีทางไปรอด เธอบอกว่า การคอรัปชั่นของอินโดนีเซียเป็นการคอรัปชั่นแบบไม่มียางอาย ที่เธอรับไม่ได้เอาเสียเลยก็คือ เงินบริจาคช่วยเหลือเหตุการณ์สึนามิ ที่ระดับรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งประกาศในสื่อเลยว่า เงินบริจาคของชาวต่างชาติ ให้โอนเข้าบัญชีธนาคารของเขา เพื่อที่เขาจะนำไปช่วยเหลือชาวอาเจะห์ด้วยตนเอง เธอมองว่านอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ไม่ได้เรื่องแล้ว นักการเมืองเหล่านี้ยังดูแคลนสติปัญญาคนอินโดนีเซีย นึกว่าประชาชนไม่รู้ว่านักการเมืองคอรัปชั่นขนาดไหน นี่ไม่ใช่ยุคปิดหูปิดตาประชาชนเหมือนในอดีต เธอบอกว่าอย่างนั้น  นี่คือปัญหาของอินโดนีเซีย  เธอเป็นประชาชนธรรมดาที่ไม่ฝักใฝ่เรื่องทางการเมืองแม้จะเป็นกลุ่มการเมืองทางเลือกก็ไม่สนใจ ความจริงแล้ว ภาคประชาชนของอินโดนีเซีย หรือ เอ็นจีโอของเขาเข้มแข็งมาก พยายามตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น และการละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างแข็งขัน เมื่อแข็งมาก แรงกดของฝ่ายอำนาจก็มากเป็นลำดับเช่นกัน คนทำงานเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน คนสำคัญของอินโดนีเซียได้สังเวยความกลัวการตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของฝ่ายอำนาจมาแล้วหนึ่งราย (ในยุคประชาธิปไตย) คือ Munir เขาเสียชีวิตด้วยยาพิษ เมื่อครั้งที่เขานั่งเครื่องบินไปต่างประเทศ ซึ่งจะนำเรื่องราวของเขามาให้อ่านในตอนต่อไป ทีน่ากับเพื่อน ศราวุธ ประทุมราชสำหรับทีนา สิ่งที่เธอทำได้ในการแก้ปัญหาให้กับตัวเองแบบคนธรรมดาสามัญ คือ ให้กำลังใจตนเอง และครอบครัวเป็นกำลังใจสำคัญในการดำรงอยู่ เธอสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เกือบเท่าๆ กับคนที่มีร่างกายสมบูรณ์ แต่ใช้กำลังมากกว่าเกือบสองเท่า ใจเธอสู้แม้ผู้เขียนยังทึ่ง เพราะสิ่งที่เธอเรียกร้องในการท่องเที่ยวพังงาครั้งนี้คือ พายเรือแคนู ซึ่งเธอว่ายน้ำไม่ได้ เธออยากเห็นป่าเมืองไทย แต่ผู้เขียนจนใจ ยอมแพ้เรื่องศักยภาพของคนนำเที่ยว (คือผู้เขียนเอง) มากกว่า เพราะกลัวจะพาเธอไปไม่รอด เลยได้แค่ขี่ช้างท่องป่า สบายขึ้นมาหน่อย และลงเรือแคนูพร้อมกับเธอ แม้มันล่มก็ยังมีฝีพายและเสื้อชูชีพพยุงกันไปได้  แม้บางเวลาเธอจะอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด แต่ก็พยายามรบกวนคนอื่นแต่เพียงเล็กน้อย ช่วงที่อยู่อินโดนีเซีย เธอแสดงน้ำใจในความเป็นเจ้าบ้าน คอยแนะนำให้ความเห็นเรื่องวัฒนธรรมประเพณีของอินโดนีเซีย เธอเป็นนักอ่าน และชอบเรียนรู้ สังเกตจากความรอบรู้ของการตอบคำถามของเพื่อนต่างบ้านต่างเมือง เพื่อนๆ ก็ได้รับความคิดเห็นในมุมแปลกใหม่ของเธอ ในเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละภาคของอินโดนีเซีย แถมยังมีตัวอย่างให้ได้ปฏิบัติกันจริงด้วย ด้วยการพาพรรคพวกไปพิสูจน์วัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินของคนจีนผสมวัฒนธรรมซูดาน ซึ่งเป็นพื้นที่แถบตะวันตกของอินโดนีเซีย โดยฝีมือคุณแม่ของเธอ ที่บ้านในเมืองโบโกร์ เมืองเดียวกับสถานที่ตั้งที่พักของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย  ซึ่งห่างจากจาการ์ตาราว 54 กิโลเมตร นับเป็นอาหารที่สุดแสนอร่อยมื้อหนึ่งสำหรับพวกเรา  อาหารมื้อที่อร่อยที่สุดมื้อหนึ่งทีน่าเป็นความทรงจำที่ดีจากอินโดนีเซีย นั่นคือ ความเป็นคนอินโดนีเซียที่น่ารักและมีน้ำใจ “ผู้คนน่ารัก” ไม่ได้มีแต่ในบ้านเรา แต่มีทุกหนทุกแห่งในโลก โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำและผู้คนในชนบททุกแห่งหนที่ผู้เขียนได้พบเจอ  ภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรคที่จะเห็นการกระทำด้านดีและมีเมตตาของมนุษย์ ผู้เขียนทำการบ้านเรื่องภาษาอินโดไปน้อย พูดได้งูๆ ปลาๆ เช่น  ซายา เมา เปอกี บันดุง (แปลว่า ฉันต้องการจะไปบันดุง) ชาวบ้านเห็นว่า คงได้แค่นี้มั้ง ทั้งชาวบ้านและคนขับรถในหมู่บ้านชายแดนเมืองบันดุงจึงรุมช่วยเหลือ ช่วยกันโบกรถประจำทาง แถมกำชับคนขับให้ไปส่งให้ถึงเมืองบันดุง (น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะเขาคุยกับคนขับแล้วชี้มือชี้ไม้มาทางผู้เขียน) วันนั้นก็กลับถึงที่หมายอย่างปลอดภัย  อีกครั้งหนึ่งในใจกลางเมืองบันดุง ซึ่งผู้เขียนได้รับการเตือนมาว่า อย่าใช้บริการแท็กซี่ ฉะนั้นจึงเลือกใช้บริการรถสองแถว ซึ่งแน่นขนัด และท่ามกลางความมืดมิดของราตรีนั้น ผู้เขียนกลับได้รับแสงสว่างจากน้ำใจคนขับและชาวบ้านที่โดยสารมาด้วยกัน เนื่องจากผู้เขียนต้องต่อรถอีกทอดไปยังโรงแรมที่พัก แต่สถานที่รอรถนั้นไฟฟ้าสลัวๆ น่ากลัวมาก ชาวบ้านที่อยู่บนรถต่างส่งภาษาที่ผู้เขียนไม่ทราบว่าพูดอะไร แต่คนขับรถพาผู้เขียนมายืนรอที่ป้ายรอรถ แถมยังรอนานถึง 20 นาที โดยที่ผู้โดยสารไม่มีใครบ่นสักคำ จนกระทั่งรถอีกคันมาถึง คนขับจึงบอกให้ขึ้นรถ และไปช่วยกำชับกับคนขับคันที่ผู้เขียนนั่งให้ไปส่งที่โรงแรมในนามบัตรที่ผู้เขียนส่งให้เขาดูก่อนหน้านี้ ผู้เขียนจึงได้ทราบว่า ทุกคนยอมเสียเวลาเพราะเมตตาคนต่างถิ่นต่างภาษาที่ต้องรอรถในเวลาค่ำมืดเพียงลำพัง เป็นเรื่องที่ซาบซึ้งใจอย่างมากภาษาท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญในการเข้าถึงชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คน ซึ่งต้องตระหนักแต่ประสบการณ์ของผู้เขียน “ภาษากาย” และ “ภาษาใจ” ก็สำคัญไม่น้อย หมายถึงการมีท่าทีและความจริงใจต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เป็นเรื่องที่สร้างไมตรีต่อกันได้เช่นกัน วันนี้ทีน่าคงมีความสุขกับครอบครัว และขึ้นรถไฟจากที่บ้านซึ่งห่างจากที่ทำงานถึง 54 กิโล ไป - กลับทุกวัน ร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการมีน้ำใจต่อคนอื่นเลย
กิตติพันธ์ กันจินะ
ในสภาวการณ์ใกล้มรสุมช่วงนี้, คนสูงวัยมากมายเหล่านั้นต่างขะมักเขม้นทั้งกายและใจ กับการหาเสียงเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเพื่อการเข้าร่วมหรือจัดตั้งทางการเมืองครั้งใหม่อย่างสุดกำลังตัวเสริมที่พวกเขานำมาป่าวประกาศเพื่อให้ประชาชนเลือกนั้นคือ “นโยบาย” ของแต่ละพรรค (ไม่รวมปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลมาเกี่ยวข้อง – ซึ่งมีมากจนไม่อาจกล่าวในที่นี่ได้) เช่นนี้แล้วเรามาดูกันที่นโยบายของพรรคการเมืองกันดีกว่าว่าได้กล่าวไว้อย่างไรบ้าง ก่อนที่จะเลือกหรือไม่เลือกใคร หลายนโยบายของพรรคการเมืองต่างมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปทางการเมือง โดยเฉพาะการมุ่งหวังไม่ให้อำนาจเก่าได้กลับมามีอำนาจอีกและยังมีนโยบายต่างๆ ที่เน้นทางด้านเศรษฐกิจ ค่าเงิน เป็นตัวจักรสำคัญมากกว่าการดำเนินการนโยบายทางด้านสังคมโดยเฉพาะเรื่องของเด็กและเยาวชนหากนับระยะเวลาให้หลังไปไม่กี่เดือนหรืออาจเป็นปีกว่าๆ (ที่จริงมันมีทุกวันและครับ) ที่สถานการณ์ของวัยรุ่นนั้นได้ถูกมองว่าเป็นสถานการณ์เด่นทางสังคมที่คนวิพากษ์วิจารณ์ถึงมากที่สุด ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตทั่วไป จนถึงวิถีชีวิตทางเพศ ซึ่งปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เยาวชนล้วนแต่ถูกมองว่าเป็น “ปัญหา” และเป็น “วิกฤต” สังคมอยู่เสมอ จนทำให้หลายฝ่ายออกมาให้การตอบรับในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง (และทำตามกระแสแบบผ่านๆ)ดังรูปธรรมหนึ่ง ที่รัฐบาลได้ประกาศวาระแห่งชาติด้านเด็กและเยาวชน 5 ด้าน เมื่อต้นปี 2550 ได้แก่ หนึ่ง ด้านการสร้างสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว สองด้านกลไกกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา สามด้านสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลที่มีคุณภาพ สี่ด้านการสร้างจังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชน และห้าด้านกฎหมายครอบครัวการดำเนินการตามวาระแห่งชาติดังกล่าว ที่ผ่านมาภาครัฐได้ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน และแกนนำเยาวชน เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ชุดรัฐประหาร) นี้ และยังมีทิศทางว่าจะดำเนินได้ดีต่อไปในอนาคต หากมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทว่า แนวโน้มที่บ่งชี้ว่า วาระแห่งชาติด้านเด็กและเยาวชนทั้งห้าเรื่องนี้จะได้รับการสานต่อจากรัฐบาลชุดใหม่หรือไม่นั้น เราอาจต้องศึกษาถึงนโยบายด้านเด็กและเยาวชนของพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังจะเข้าสู่ถนนแห่งการเลือกตั้งอีกไม่กี่วันนี้ แต่ขอโทษครับ, พรรคการเมืองทั้งหลายแหล่ไม่มีนโยบายที่กล่าวถึงด้านเด็กและเยาวชนโดยตรงเลยแม้แต่นิด ทว่าพวกเขายังมุ่งนโยบายประชานิยม (แบบใหม่-ที่เขาบอกว่าไม่เหมือนทักษิณ) นโยบายลด แลก แจกแถมเพื่อให้พรรคการเมืองของตนได้รับเลือกเข้าสู่อำนาจทางการเมืองนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ เหล่านี้กำลังบอกถึงอนาคตของการเมือง-สังคม และโดยเฉพาะอนาคตของการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งปัจจุบันมีเยาวชนถึง 25% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ไร้ซึ่งผู้ใหญ่ พรรคการเมือง ที่สนใจ ตระหนักในการส่งเสริม สนับสนุนด้านเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริงที่ผ่านมา บทเรียนการทำงานกับภาครัฐ พบว่า “เมื่อผู้บริหารเปลี่ยน นโยบายก็จะเปลี่ยน” นั่นหมายถึงนโยบายเยาวชนที่ถูกผลักดันได้ดีนั้นเกิดจากการที่ผู้บริหารของรัฐบาลมีความสนใจ ตระหนักในการป้องกันและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง แต่พอเปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่แล้วนโยบายกลับหันเหเป็นเรื่องอื่นแทน แล้วในที่สุดก็ไม่มีใครสานต่อนโยบายเดิม (ที่ทำได้เพียงนิดเดียว) อีกต่อไป จนผลสุดท้าย งานหรือนโยบายนั้นๆ ก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ เพียงเพราะนักการเมืองที่อยู่ในรัฐบาลเหล่านั้นมัวแต่เล่น “เก้าอี้ดนตรี” จนลืมไปว่ามีเด็กและเยาวชนหลายคนมุ่งให้นโยบายนั้นๆ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดหาย แต่ยังไงเสียกรณีเยี่ยงนี้นั้นย่อมสะท้อนถึงความคิด-ทัศนคติ-ความใส่ใจ ต่อเรื่องเด็กและเยาวชนของคนการเมืองได้เป็นอย่างดีมาถึง ณ ตรงนี้ ผมคิดว่าพรรคการเมืองต่างๆ ต้องกำหนดนโยบายด้านเด็กและเยาวชนให้ชัดเจนเลยว่ามีอะไร อย่างไร และเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะทำอะไรเพื่อเด็กและเยาวชนบ้าง นอกจากจะรอให้มีกระแสก่นด่า วิพากษ์เยาวชนทีหนึ่งก็ค่อยสนใจทีหนึ่ง ตามทฤษฎี “วัวหายล้อมคอก” ที่พวกท่านๆ ชำนาญหรือหากพรรคการเมืองใด คิดนโยบายด้านเด็กและเยาวชนไม่ออก ผมเสนอว่าลองให้โอกาสเยาวชนได้เข้าไปเสนอ-แสดงความคิดเห็นบ้างเถิดว่าพวกเราเยาวชนต้องการอะไรและอยากให้รัฐบาลชุดต่อไปผลักดันเรื่องไหนบ้างหากพรรคการเมืองไหนคิดว่าเรื่องเด็กและเยาวชนนั้นไม่จำเป็น ก็ไม่เป็นไรครับ, เพราะผมเชื่อแน่ว่าพอเลือกตั้งเสร็จ - พอมีกระแสปัญหาเยาวชน – พอมีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ - เหมือนเมื่อปีที่แล้วและหลายปีที่ผ่านมาที่ผู้ใหญ่มักชอบทำด้วยอ้างความชอบธรรมนั้นแล้ว พวกเขาคนสูงวัยเหล่านั้น, พรรคการเมืองที่เตรียมลงสนามเลือกตั้งวันนี้ ก็จะสนใจใคร่ตระหนักเรื่องเด็กและเยาวชนขึ้นมาในบัดดล...
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ผมหยิบยืมคำว่า “ไปทำไม” ขึ้นมาเป็นชื่อเรื่องของข้อเขียนนี้จากชื่อสำนักพิมพ์ของรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ซึ่งพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับภาพถ่ายการเดินทางและโปสการ์ดราคาประหยัดเพียงสามใบสิบบาท และเขาเรียกขานสำนักพิมพ์ตัวเองในเชิงสัพยอกว่า ‘สำนักพิมพ์ไปทำไม’...แม้จะฟังดูคล้ายกับว่าเจตนาจะกวนๆ แต่ก็เข้าท่าดีเหมือนกันคำว่า “ไปทำไม” แม้จะดูคล้ายกับการตั้งคำถามโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนการปุชฉาโดยมีโทนของน้ำเสียงฟังเหมือนกับการบ่นพึมพำกับตัวเองหรือการพ่นความไม่ได้ดังใจหรือความไม่เข้าใจของคนที่บังเอิญไปประสบพบเห็นพฤติกรรมของ “การไป” (ที่ไหนสักที่ ของคนสักคนหรือสักกลุ่มหนึ่ง)ไม่ใช่ความบังเอิญที่ทำให้ไปประสบพบเห็นการเดินทางของคนไทยกลุ่มหนึ่งเพื่อท้าทายความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ ( 8,848 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง – เป็นระดับความสูงจากเว็บไซต์ Wikipedia.org บางแหล่งอ้างว่ายอดเขาแห่งนี้สูง 8,850 เมตรฯ) ซึ่งเป็นยอดเขาสูงที่สุดในโลก งานนี้สถานีโทรทัศน์ TITV ได้นำชาวไทยกลุ่มหนึ่ง (ถ้าจำไม่ผิดจากการรายงานข่าวหรือสกู๊ปพิเศษที่เคยได้รับฟังมีทั้งหมด 9 คน) เดินทางไปเก็บตัว ฝึกฝนการป่ายปีนและการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยในการปีนเขา ฝึกฝนการปีนเขาเอเวอเรสต์กับชายชาวเชอร์ปาซึ่งเป็นทั้งไกด์ ครูฝึกและคนนำทางท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นชาวเนปาล ชาวเชอร์ปาที่มีชื่อเสียงในระดับโลกถึงความชำนาญและความเชี่ยวชาญการปีนเขาสูง (โดยเฉพาะยอดเอเวอเรสต์ที่อยู่ในประเทศเนปาล) มาเนิ่นนานแล้ว นับตั้งแต่สมัยที่เอ็ดมันด์ ฮิลลารี พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ในวันที่ 29 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1953 การเดินทางขึ้นสู่จุดสูงสุดของโลกของชาวชาวนิวซีแลนด์คนนี้ จะเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจากความช่วยเหลือของเพื่อนร่วมทางชาวเชอร์ปาที่ชื่อว่า เทนซิง นอร์เกย์หลังจากวันแห่งความสำเร็จของคนทั้งคู่ กว่า 50 ปีต่อมาได้มีผู้คนจาก 63 ประเทศ 1200 คนได้สรรหาเส้นทางขึ้นสู่ปลายยอดเขาที่สูงที่สุดแห่งนี้ (ซึ่งมีเส้นทางขึ้นสู่ Summit หรือปลายยอดทั้งหมด 15 เส้นทาง) จนสำเร็จและได้รับการจดจารเอาไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้พิชิตยอดเขาแห่งนี้ “ปฏิบัติการเกียรติยศ สู่ยอดเอเวอเรสต์” ของคนไทยโดย TITV และผู้ให้การสนับสนุน (ซึ่งส่วนมากเป็นห้างร้านบริษัทใหญ่ๆ) เชื่อแน่ว่าคงไม่มีเหตุผลใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่จะนำภาพและชื่อของคนไทยเข้าไปต่อแถวในขบวนการของผู้ขึ้นไปย่ำยอดเขาเอเวอเรสต์ ภาพของการนำธงไตรรงค์ของไทยไปปักบนความสูงกว่าแปดพันเมตรบนยอดเขาน่าจะนำมาซึ่งน้ำตาแห่งความปลื้มปิติของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ที่ให้ความสนใจในปฏิบัติการครั้งนี้มุมมอง 360 องศาบนยอดเอเวอเรสต์ข่าวคราวของความพยายามทุกวิถีทาง (โดยมีสปอนเซอร์สนับสนุนและมีชาวเชอร์ปา ซึ่งเป็นญาติของเทนซิง นอร์เกย์ ชาวเชอร์ปาคนแรกในประวัติศาสตร์ผู้พิชิตเอเวอเรสต์) ในการที่จะขึ้นสู่ยอดซัมมิทได้ถูกนำเสนอผ่านช่วงรายการทั้งช่วงข่าวและรายการบันเทิงปกิณกะอื่นๆ ของสถานี TITV อยู่ทุกวี่วัน ด้วยเหตุนี้มันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสนใจของคนไทยโดยเฉพาะคนไทยที่สนใจเรื่องราวของการเดินทาง การเอาชนะเรคคอร์ทหรือปูมบันทึกต่างๆ ที่มีคนจากหลากหลายเชื้อชาติได้เข้าไปฝากชื่อเอาไว้ ไม่รวมถึงคนไทยในภาพรวมที่ถูกเอาเข้าไปเกี่ยวโยงกับปฏิบัติการครั้งนี้โดยการใช้ถ้อยคำในทำนองว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อเกียรติยศของคนไทยความเป็น ความตาย ความทุกข์ ความสุขของคนไทยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในปฏิบัติการครั้งนี้จึงถูกนำเสนอประหนึ่งเป็นปฏิบัติการแห่งความเสียสละหรือปฏิบัติการอันศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นการทำเพื่อชาติ มีการนำเสนอเรื่องราวและภาพประหนึ่งผู้ที่ได้เข้าไปเป็นคนไทยหนึ่งในเก้าเปรียบเหมือนวีรบุรุษหรือวีรสตรี โดยหลงลืมหรือมองข้ามไม่ลงลึกซอกหลืบทางความคิดในแง่ที่เป็นปัจเจกของบุคคลเหล่านี้แต่ละคนว่าไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร ยอมเสี่ยงต่ออาการแพ้ความสูง หิมะกัดจนพิการหรืออุบัติเหตุร้ายแรงจากหิมะถล่มหรือสภาพอากาศแปรปรวนไปเพื่ออะไร...แผนที่เส้นทางขึ้นสู่ซัมมิท หากเราลองทำใจให้กว้างและเข้าใจปรากฏการณ์แห่งการเดินทางครั้งนี้ว่ามิใช่การเอาอย่างฝรั่ง หรือความคลั่งไคล้ในการทำลายสถิติหรือความพยายามในการยัดเยียดชื่อคนไทยเข้าไปต่อแถวในหางว่าวของรายชื่อผู้ที่ทำสำเร็จมาก่อนหน้านั้นในเรคคอร์ท เราย่อมเข้าใจได้ว่าคนไทยไม่ว่าใครก็ตาม หรือจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตามมีสิทธิ์ที่จะทำอะไรพรรค์นี้ได้เหมือนๆ กับชาวโลกจากประเทศชาติอื่นๆชาวเชอร์ปาการเดินเท้าและป่ายปีนน้ำแข็งอันหนาวเย็น เสี่ยงภัยในสภาพอากาศปกติของยอดเขาสูงๆ อย่างเอเวอเรสต์นั้นอุดมไปด้วยความเสี่ยงสารพัด และหากใครก็ตามที่มุ่งหวังว่าจะไปขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์ย่อมพานพบกับสายตาและน้ำเสียงอันไม่เข้าใจว่า “จะไปกันทำไม” เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของผู้ล้มเหลวพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการเยี่ยงนี้ไปแล้วเกือบสองร้อยชีวิตดังเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่นักเดินเขาสู่เอเวอเรสต์ต้องสังเวยชีวิตไปกับพายุที่ซัดเข้ามาอย่างฉับพลันในวันที่ 10 พฤษภาคมปี 1996 ซึ่งนักเขียนสารคดีชาวอเมริกันที่เป็นส่วนหนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งนั้นได้เขียนบันทึกออกมาในหนังสือชื่อ Into Thin Airนักปีนเขาสู่ยอดเอเวอเรสต์ผมไม่ได้จ้องมองปฏิบัติการครั้งนี้ในแบบฉงนสนใจ ลุ้นระทึกหรือด้วยความทึ่ง หรือแม้แต่รู้สึกว่าตัวเองจะอิจฉาตาร้อนที่คนไทยได้เข้าไปร่วมในขบวนการย่ำยอดเขาเอเวอเรสต์ ผมเพียงแต่นึกถึงมุมที่หลากหลายของเรื่องราวและพบว่าคำตอบของเรื่องราวที่แท้จริงน่าจะมีมากกว่าการที่ (คนไทย) ใครคนใดคนหนึ่งจะยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายและการเอาชนะตัวเองเพื่อแลกกับความสูงสุดที่รอคอยมานานหลายล้านปีบนยอดเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งเนปาลยอดนี้มิเช่นนั้นแล้วปฏิบัติการ ‘เกียรติยศ’ เยี่ยงนี้ก็อาจจะพบกับคำเย้ยหยันง่ายๆ ว่า “ไปทำไม” ก็เท่านั้นภาพประกอบทั้งหมดจากเว็บไซต์ที่มีข้อมูลดีๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับยอดเขาเอเวอเรสต์  www.nationalgeographic.com/everest/
ปรเมศวร์ กาแก้ว
พ่อกับแม่กลับบ้านไปหลายวันแล้ว  ผมกับบ่าวปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ และสภาพแวดล้อมที่นี่ได้ดีมากขึ้น ไอ้หมีกับไอ้ตาลก็คุ้นเคยกับเราดี ไม่เห่าคิดว่าเราเป็นคนแปลกหน้าเหมือนเก่าแดดเช้าสาดสีขาวจากขอบฟ้า ไก่ขันแจ้วๆ ตอบกันเหนือยุ้งข้าวมาแต่ไกล ย่าปลุกเราตั้งแต่เช้าขณะที่ลมอุ่นแห่งท้องทุ่งกำลังพัดโบยหมอกเช้า  เรางัวเงียพลิกตัวไปมาก่อนลุกขึ้นไปล้างหน้าแปรงฟัน “บ่าวๆ ๆ ๆ น้องๆๆ”  จ้อยมาตามเราตั้งแต่เช้า“วันนี้ที่ศาลาจะมีการประชันตอกลูกยาง ไปกันนะ ต้องสนุกแน่ๆ”  จ้อยชวน“ไปๆๆ ไอ้เสือสมิงของผมต้องชนะแน่ๆ” บอยประกาศถึงความมั่นใจในไอ้เสือสมิงลูกยางของตัวเองไอ้เสือสมิงเป็นลูกยางที่บอยเก็บมาได้จากสวนยางของแม่ตอนตามไปเก็บยางเมื่อหลายวันก่อน มันมีลายสีดำขลับแต้มจุดมันเลื่อมเปื้อนบนสีน้ำตาลเข้ม หัวเป็นเหลี่ยมน่าเกรงขาม  ไอ้เสือสมิงไม่เคยแพ้ใคร แต่วันนี้จ้อยบอกว่าเพื่อนที่ชื่อขาวแห่งหมู่บ้านใกล้เคียงจะเอาไอ้เสือดาวมาปราบไอ้เสือสมิงถึงที่“วันนี้บ่าวกับน้องยังไม่มีลูกยาง แล้ววันหลังเราค่อยไปเก็บกันในสวนนะ” บอยให้สัญญา“ประลองครั้งนี้เป็นศึกแห่งศักดิ์ศรี” “เฮ....” เราฮึดเหมือนให้กำลังใจไอ้เสือสมิงอยู่เนืองๆวันนี้ไอ้หมีกับไอ้ตาลตามเราไปประลองความแข่งแกร่งของลูกยางที่ศาลาเสมือนเป็นทีมของเรามาด้วย มันทำทีดมต้นไม้ข้างทางไปตลอดแล้วฉี่รดเป็นจุดๆ พวกมันวิ่งไล่กันอย่างสนุกสนานสายตาของมันจ้องไปที่สนามประลองของนักสู้ตัวน้อยที่ศาลากลางหมู่บ้านซึ่งเป็นสนามประลองมีเด็กๆ คนอื่นๆ มาถึงกันแล้วหลายคน รวมถึงทีมและเพื่อนๆ ของขาวจากหมู่บ้านอื่นมารอเราอยู่ก่อนแล้ว“ชักตื่นเต้นแล้วสิ”  บอยเปรยขึ้นก่อนที่จะเดินขึ้นบันไดศาลาไปสู่สนามประลองประชันความแข็งแกร่งของไอ้เสือสมิงผู้ไม่เคยมีใครล้มมันลงได้เราทักทายกัน บอยแนะนำผมกับบ่าวให้เพื่อนๆ รู้จัก เรายิ้มตอบตามมารยาทก่อนจะเดินวนดูรอบๆ บนศาลาเกลื่อนไปด้วยร่องรอยของการต่อสู้เป็นเศษเปลือกลูกยางพาราผู้พ่ายแพ้  เพื่อนต่างหมู่บ้านคนหนึ่งยื่นลูกยางให้ผมกับบ่าวคนละสองลูก เรารับไว้ด้วยมิตรภาพแล้วลองเอามาประกบกันดูเหมือนที่คนอื่นๆ ทำกัน“ฮ่า........”  จ้อยหัวเราะร่วนเมื่อเห็นบ่าวกับผมทำท่าเก้ๆ กังๆ ประกบลูกยางไม่เป็นท่าเป็นทางพิลึกบ่าวกับน้องต้องเอาผ่ามือทั้งสองข้างหนีบลูกยางทังสองลูกไว้อย่างนี้” พลางจ้อยก็ทำท่าให้ดูเป็นการสาธิต“แล้วเอามันมาประกบไว้ด้วยกัน  จากนั้นก็ใช้แรงบีบเข้าหากัน” จ้อยสาธิตให้ดูอีกที“ต่อไปนี้จะเป็นการประลองความแข็งแกร่งระหว่างไอ้เสือสมิง”“เย้ๆๆ........เย้ๆๆ.......”“กับ ไอ้เสือดาว”“เย้ๆๆ........เย้ๆๆ.......”  กองเชียร์ของทั้งสองฝ่ายโห่ร้องกันลั่นทุ่ง  ไอ้หมีกับไอ้ตาลได้ยินเสียงนั้นตกใจจึงวิ่งเข้าใต้ถุนศาลาอย่างว่องไว“ไอ้เสือสมิงสู้ๆๆ”  บอยลุกขึ้นชูสองมือปลุกใจอย่างฮึกเหิมพลางทำมือเรียกเสียงเชียร์จากเพื่อนๆ เช่นเดียวกับขาวที่เรียกเชียร์อยู่เช่นกันขาวมาในชุดกางเกงนักเรียนขาสั้นสีน้ำตาลกับสื้อยืดคอกลมเก่าๆ ในมือหิ้วถุงลูกยางพารามาด้วย เพื่อนๆ ของขาวก็เช่นกันต่างก็หิ้วถุงลูกยางมาอย่างมั่นใจ พวกเขาเรียกลูกยางของขาวว่าไอ้เสือดาวเพราะลายจุดสีดำที่เปื้อนไปทั่วลูกยางเหมือนลายของเสือดาวผู้น่าเกรงขาม  ในฤดูที่ลูกยางแตกผล เด็กๆ จะเก็บลูกยางไปขายให้คนที่มารับซื้อไปเพาะชำกล้ายางบ้างก็เก็บไว้เล่นต่างๆ นานาตามแต่จะชักชวนกัน“น้องคอยดูนะ เราต้องชนะแน่”“ครับ...ผมจะเอาใจช่วย”  ผมกับบ่าวเอาใจช่วยไอ้เสือสมิงและบอยอย่างเต็มที่เมื่อการประชันเริ่มขึ้นทุกคนต่างใจจดใจจ่ออยู่ที่มือของขาวซึ่งเป็นฝ่ายได้เริ่มก่อน“บ่าวว่าใครจะชนะ” “ไอ้เสือสมิงสิ มันเป็นนักสู้ของเรา”  บ่าวยิ้มให้ผมอย่างมั่นใจสายลมฤดูร้อนพัดใบโพธิ์ข้างศาลาอยู่ไหวๆ บางใบปลิวตามลมพลิ้วอยู่บางตา  วันนี้บนศาลาพลุกพล่านไปด้วยเด็กๆ จากสองหมู่บ้านที่นัดแนะกันมาสนุกสนานกัน สมาชิกใหม่ของหมู่บ้านอย่างผมกับบ่าวเริ่มคุ้นเคยและสนุกสนานไปกับการละเล่นของเด็กๆ ที่นี่แล้วขาวจับไอ้เสือสมิงและไอ้เสือดาวมาประกบกันอยู่ในอุ้งมือ ผมตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก แต่ดูเหมือนบ่าวจะเฉยๆ กับเหตุการณ์ตรงหน้านักสู้จากต่างหมู่บ้านออกแรงบดลูกยางทั้งสองในมืออย่างเต็มกำลัง ขณะที่กองเชียร์ของทั้งสองฝ่ายต่างก็โห่ร้องหนุนหลังอยู่“ปรี๊ด!” เจ้าเปียผู้รับหน้าที่กรรมการเป่าสัญญาณให้ขาวหยุดเพื่อเปลี่ยนให้บอยเป็นบดลูกยางบ้าง“แจ๋วเลยไอ้เสือสมิง ยังไม่แตก” ฝ่ายของเราโห่ร้องด้วยความยินดีบอยยิ้มอย่างสะใจเมื่อเห็นไอ้เสือสมิงต้านทานแรงบดขยี้จากไอ้เสือดาวไว้ได้“เอาเลยบอย เอาเลย”กองเชียร์ฝ่ายขาวทำหน้าจ๋อยสร้างความกดดันให้ขาวยิ่งขึ้นเมื่อไอ้เสือดาวพลาดโอกาสแรกไป ผมสังเกตดูพฤติกรรมของทุกคนก็รู้ว่ากำลังลุ้นกันอย่างสุดตัว“เอาเลยบอย” ผมตะโกนให้กำลังใจคราวนี้เป็นโอกาสของบอยที่จะบดขยี้ไอ้เสือดาวให้แหลกคามือ บอยประกบไอ้เสือสมิงกับไอ้เสือดาวไว้แน่นด้วยอุ้งมือทั้งสอง ผ่อนแรงบีบที่ไอ้เสือดาวเล็กน้อยแล้วบี้ลูกยางทั้งสองเข้าหากันอย่างเต็มแรงเจ้าเปียคาบนกหวีดไว้คาปากพร้อมที่จะเป่าหยุดเกมตลอดเวลา บอยปั้นสีหน้าบู้บี้ออกแรงบดลูกยางอย่างตั้งใจ“ป๊อก!” ทุกคนเงียบเสียงแล้วหันมามองหน้ากันบอยคลายมือออกช้าๆ ขณะที่ขาวเอามือปิดตาไว้พอมีช่องมองให้มองเห็นลอดไปได้  มือของบอยค่อยๆ แผ่ออกแบบราบจนเป็นแผ่นเดียวกัน  เปียเป่านกหวีดหยุดเกมกระชากความตกใจจากทุกคนในมือของบอยเต็มไปด้วยเศษเปลือกลูกยางแตกกระจาย ไม่มีลูกใดยังคงสภาพ ทั้งสองแหลกจนเปลือกปะปนกันแยกไม่ออกว่าเป็นเศษของไอ้เสือสมิงหรือไอ้เสือดาว“เสมอ!” เจ้าเปียลั่นคำตัดสินการประลองสิ้นเสียงประกาศจากเจ้าเปีย ก็แทรกขึ้นด้วยเสียงหัวเราะของกองเชียร์ทั้งศาลา ผมเองก็หัวเราะจนท้องแข็งไปพร้อมกับบอยและบ่าวที่หัวเราะอยู่ข้างๆ บรรยากาศตึงเครียดจากการประลองลดถอยลงสู่ภาวะปกติ ไอ้เสือสมิงกับไอ้เสือดาวเหลือเพียงชื่อให้จดจำ ขาวจับมือบอยแสดงความเสียใจที่ไอ้เสือสมิงต้องแหลกเป็นเสี้ยวและชื่นชมในความแข็งแกร่งของมัน  ผมยิ้มให้นักสู้ทั้งสองคนที่มีน้ำใจนักกีฬายอมรับผลการแข่งขันที่ออกมาได้“บ่ายนี้เรามีนัดเล่นชนวัว ไปด้วยกันนะ” ขาวชวนเราไปเล่นที่หมู่บ้านของขาว เรายิ้มตอบอย่างเป็นมิตรผมหันไปถามบอยว่าชนวัวมันเป็นอย่างไร  บอยยิ้มให้แล้วหันไปหัวเราะคิกคักกับจ้อยและแดง ผมทำตางงๆ กับเสียงหัวเราะนั่นของทุกคนแล้วหัวเราะออกไปบ้าง“ไปสิ...ผมอยากรู้เหมือนกันว่าเล่นชนวัวนั้นเป็นอย่างไร”“เคยเห็นแต่ในทีวี” ขาวยิ้ม
ประสาท มีแต้ม
1. ความในใจผมขอพักเรื่องนโยบายสาธารณะด้านพลังงานซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากๆ สำหรับประเทศไทยและชาวโลกไว้ชั่วคราวครับ  ในบทความนี้ผมขอนำเรื่องภายในมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่มาเล่าสู่กันฟังมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับผู้อ่าน  แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในระบบราชการไทยที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแม้ว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว  นอกจากนี้ผมมีเรื่องวิชาใหม่ที่คาดว่าเป็นวิชาแรกในประเทศไทยคือวิชา “ชุมชนมหาวิทยาลัยสีเขียว (Greening the campus)” ที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างจิตสำนึกให้กับนักศึกษาโดยยกเอาปัญหาสิ่งแวดล้อมในวิทยาเขตมาศึกษากันมาเล่าให้ฟังด้วยประเด็นที่เป็นปัญหาก็คือเรื่องการจัดตารางสอน คาบละ 50 นาที แล้วพักระหว่างคาบ 10 นาที กำลังเป็นปัญหาเพราะเมื่อวิทยาเขตมีอาคารใหม่มากขึ้น นักศึกษาไม่สามารถเดินทางระหว่างอาคารที่อยู่ห่างกันนับเป็นกว่าพันเมตรได้ทัน  ผมจึงเสนอใหม่ให้จัดคาบละ 90 นาทีแล้วพักระหว่างคาบ 30 นาทีผมคิดว่า ผมเกริ่นนำเพียงแค่นี้ ท่านผู้อ่านภายนอกมหาวิทยาลัยก็คงจะมองภาพออก  ต่อไปนี้ลองมาดูซิครับว่าเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งท่านที่ไม่คุ้นชินกับระบบราชการกรุณาอ่านเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง “ทศวิบัติของการจัดการความรู้ในหน่วยราชการ” (โดย ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช) ได้ที่ http://advisor.anamai.moph.go.th/conference/KM49/10failureKM.doc ผมขออนุญาตเริ่มเลยนะครับต้นเหตุที่ทำให้ผมต้องเสนอแนวคิดเรื่องการจัดตารางสอนแบบใหม่นี้ มาจากการพูดคุยกับนักศึกษาที่ลงเรียนวิชา “ชุมชนมหาวิทยาลัยสีเขียว” ซึ่งเป็นวิชาใหม่และคาดว่ามีที่เดียวในประเทศไทย แต่ในมหาวิทยาลัยดังๆ ในต่างประเทศมีสอนกันมาร่วม 10 ปีแล้ว วัตถุประสงค์ของวิชานี้ก็คือ การสร้างจิตสำนึกของนักศึกษาในด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้ปัญหาในวิทยาเขตเป็นโจทย์ให้ทำการศึกษาอย่างเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  พูดง่ายๆ ก็คือใช้วิทยาเขตเป็นห้องทดลองนั่นเอง  ไม่ใช่การท่องจำมาสอบตลอด 5 ภาคการศึกษาที่ผ่านมา นักศึกษาได้ศึกษาปัญหาต่างๆไว้มากมาย เช่น การประหยัดน้ำด้วยการเปลี่ยนโถส้วม  การประหยัดไฟฟ้า  การลดการตัดหญ้า    การประหยัดกระดาษ  การจราจร เป็นต้น   เท่าที่ข้อมูลมีอยู่และหากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย วิทยาเขตของเราสามารถประหยัดรายจ่ายลงได้ไม่ต่ำกว่าปีละ  20 ล้านบาทอย่างสบายๆ เลยที่จริงแล้วการประหยัดเงิน ประหยัดทรัพยากรดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอันดับสามและอันดับสองครับ อันดับหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่มหาวิทยาลัยของเราเป็นชุมชนวิชาการ ชุมชนปัญญาชน และได้ชูคำขวัญว่า “ชี้นำสังคม”  มานานปีแล้ว  เราน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านจิตสำนึกเพื่อโลก เพื่อผู้อื่น ให้กับสังคมทั้งระดับภาคและระดับประเทศได้เห็นกันหลักการสำคัญของ “กระบวนการสีเขียว” ทั่วโลก นอกจากเริ่มต้นที่การรับรู้ เข้าใจ เปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อร่วมกันแก้ไขวิกฤติแล้ว เท่านั้นยังไม่พอครับ แต่ต้องพยายามผลักดันเข้าสู่ระดับนโยบายขององค์กรด้วยถ้าเทียบกันแล้ว เรื่องการจัดตารางสอนแบบใหม่ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ น่าจะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายกว่าเรื่องอื่นๆ ที่ผมกล่าวมาแล้ว เพราะไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง  ไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมที่ฝังลึกในเชิงวัฒนธรรมของบุคคล (ที่แก้ไขยาก)    ดังนั้น ถ้าเรื่องการจัดตารางสอนแบบใหม่นี้ต้องตกไป ทั้งๆที่ยังไม่ได้มีการถกเถียง อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเยี่ยงนักวิชาการปัญญาชนแล้ว ก็อย่าหวังเลยครับว่า ม.อ.เราจะสามารถประหยัดทรัพยากรและเป็นผู้นำท่ามกลางวิกฤติอันใหญ่หลวงของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้ในตอนท้าย ผมมีนิทานดีๆ ที่เล่าโดยนักเขียนระดับโลก (รหัสอภิมนุษย์) และแปลโดยอดีตอาจารย์ ม.อ. ของเราเองมานำเสนอครับ บางทีนิทานเรื่องนี้อาจจะทำให้ใครบางคนต้องคิดแล้วคิดอีก และอาจจะเปลี่ยนใจมาช่วยให้เรื่องนี้เป็นจริงก็ได้2. ปัญหาของตารางสอนแบบเดิมผมขอกล่าวเพียงสั้นๆ ดังนี้ครับหนึ่ง การพักระหว่างคาบเพียง 10 นาที ไม่เพียงพอสำหรับการเดินทางจากอาคารหนึ่งไปอีกอาคารหนึ่ง การพักเพียงแค่ 10 นาทีนั้น เคยใช้ได้ผลดีเมื่อตอนที่วิทยาเขตของเรามีเพียง 2 อาคาร (ในนิทานเรียกว่ายุคโนอาห์) ตอนนี้สภาพการมันได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว แต่เราไม่ยอมเปลี่ยนตามโลก  ปัญหานี้เกิดขึ้นชัดเจนมากเมื่อคณะศิลปะศาสตร์ได้ย้ายออกไปจากอาคาร “ภาษาต่างประเทศ” ที่เคยอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์เมื่อ 2-3 ปีก่อน   นักศึกษาหญิงคนหนึ่งบอกผมว่า “เหาะไปก็ยังไม่ทันเลย” นี่ยังไม่นับกรณีที่บางครั้งอาจารย์เลิกบรรยายช้าด้วยความไม่ตั้งใจอีกต่างหากเราคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาหรือไม่  ถ้าเราคิดว่าเป็นปัญหาก็ต้องแก้ไข  ถ้าคิดว่าไม่เป็นปัญหาก็ลองไปเดินดูซิครับ ใครเดินได้และสามารถนั่งเรียนอย่างมีสมาธิได้ ผมจะสละเงินเดือนครึ่งหนึ่งให้เป็นรางวัล ขออภัยครับหากทำให้บางคนรู้สึกว่าเป็นการท้าทาย แต่ผมกล่าวด้วยความมั่นใจโดยไม่ต้องวิจัยให้เสียเวลาสอง  คาบละ 50 นาที มีปัญหาทางวิชาการครับ (ไม่นับเรื่องการเข้าชั้นเรียนสาย) กล่าวคือ บ่อยครั้งอาจารย์ต้องทบทวนเรื่องเดิม แล้วในตอนท้ายเวลาก็หมดไปทั้งๆที่เนื้อหายังไม่จบ (เปรียบเหมือน   ”กว่าเครื่องจะติดก็ช้าแต่พอติดแล้วกลับหมดเวลา”) เหตุการณ์เช่นนี้อาจจะไม่ค่อยเกิดกับวิชาทางสังคมศาสตร์ แต่เกิดขึ้นบ่อยมากทางสาขาที่ต้องคำนวณ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์  เป็นต้น  เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่อง “เสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อย”  ครับ แต่เป็นเรื่องของปัญหาส่วนรวม เป็นเรื่องของการค้นหาทางแก้ปัญหาของทั้งหมดอย่างเป็นระบบและทุกมิติ (วิชาการ จราจร ประหยัดพลังงาน รวมถึงความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้-รปภ. ตรวจรถมอเตอร์ไซด์จนติดกันยาวเหยียด) ตารางสอนที่ผมเสนอให้จัดคาบละ 90 นาที เท่าที่ผมรับฟังความเห็นมา พบว่ามีเพียงประเด็นเดียวที่เป็นปัญหา คือบางท่านสะท้อนว่า “นานเกินไปเกรงว่านักศึกษาจะไม่มีสมาธินานพอ” เรื่องนี้ผมก็คำนึงถึงครับ  โดยเปิดโอกาสให้พักภายในคาบได้ถึง 10 นาที นั่นคือสอน 40 นาที พัก 10 นาที เวลาเรียนสั้นกว่าเดิมเสียอีก แต่ที่ได้ประโยชน์คือ (1) แก้ปัญหาการเข้าชั้นเรียนสาย (2) แก้ปัญหา “กว่าเครื่องจะติดก็ช้าแต่พอติดแล้วกลับหมดเวลา”   นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมา 2 ข้อแล้ว ยังมีอีกครับคือสาม  เราจะได้เวลาสอนเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ถึง 2  สัปดาห์ต่อภาคการศึกษา สี่  ลดการเดินทางของนักศึกษาลงได้ 30%  เพราะเดิมเคยจัด 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่แบบใหม่จัดเพียง 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ต่อรายวิชาห้า ไม่ต้องกักตัวนักศึกษาเนื่องจากตารางสอบชนกัน ข้อมูลที่ผมได้รับ เพียงวันเดียวนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ถูกกักตัว 27 คน ต้องให้นักศึกษาจ่ายเงินคนละ 200 บาทอีกด้วย มันถูกต้องแล้วหรือครับ?3. มหาวิทยาลัยอื่นเขาจัดกันอย่างไรผมไม่ได้คิดเรื่องนี้เพราะต้องการจะเลียนแบบใคร  แต่คิดบนพื้นฐานการแก้ปัญหาของเราเอง  แต่ระหว่างที่สื่อสารออกไป ก็มีคนบอกว่าที่โน่นเขาก็ทำอย่างนี้  หนึ่งในจำนวนนั้นมาจากศิษย์เก่าและอาจารย์เก่าของเราคนหนึ่ง เขาว่า“เรื่องจัดตารางสอนนี่ไม่เห็นจะใหม่อะไรเลย ที่มหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ (มจธ. บางมด) เขาสอนคาบละ 3 ชั่วโมง พักเป็นเวลา 10 นาที ทุก 1 ชั่วโมงครึ่ง  มานานเป็น 10 กว่าปีมาแล้ว สมัยที่ผมสอนอยู่มหานคร เขาก็สอนกันอย่างนี้เหมือนกัน สงสัยผู้บริหาร ม.อ. อยู่ไกลปืนเที่ยง เลยอนุรักษ์การจัดตารางสอนมาร่วมเกือบ 40 ปี น่ายกย่อง  แต่ผมว่าคาบละ สามชั่วโมงยาวไปหน่อย สักสองชั่วโมงน่าจะกำลังดี”เพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า ที่ธรรมศาสตร์ก็จัดอย่างนี้  อาจารย์ใหม่ของภาควิชาคณิตศาสตร์เพิ่งสำเร็จการศึกษามาจากสิงคโปร์มาหมาดๆ คนหนึ่ง ประโยคแรกที่เขาขอต่อหัวหน้าภาควิชาคือ “ขอจัดตารางสอนครั้งละ 3 ชั่วโมงได้ไหม เพราะที่สิงคโปร์เขาจัดแบบนั้น ครั้งละ 50 นาที ผมสอนไม่ได้”   เรื่องนี้ยืนยันได้ว่าไม่ได้มาจากผมแน่นอนครับ4.  มติที่ประชุมกรรมการคณะวิทย์เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจกระบวนการทั้งหมด ผมขออนุญาตเล่าความเป็นมาสั้นๆ อีกนิดครับ คือ(1) ผมเริ่มต้นจากปัญหาของนักศึกษา (2) ผมคุยกับรองอธิการบดีท่านหนึ่ง ท่านแนะนำให้ผมส่ง mail ไปให้ผู้บริหาร (3) ผมส่ง mail ให้ทีมบริหารมหาวิทยาลัยเกือบทุกท่าน แต่ไม่มีใครตอบสนองแม้แต่ท่านเดียว (4) ผมเสนอเข้าที่ประชุมภาควิชา หลังการอภิปรายกันพักหนึ่ง อาจารย์ 3 ใน 4 ยกมือสนับสนุน ที่เหลือแค่ลังเลในบางประเด็น  เพื่อให้คณะเสนอต่อมหาวิทยาลัยเพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ไม่ได้เสนอให้ตัดสินว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ และเสนอในนามภาควิชา ไม่ใช่ในนามผม (5)  ที่ประชุมคณะวิทย์มีมติว่า “ที่ประชุม มีมติเห็นชอบให้ภาควิชาที่มีความประสงค์จะใช้ตารางสอนแบบใหม่ ทดลองใช้ในบางรายวิชาที่เป็นวิชาเอกเป็นเวลาหนึ่งภาคการศึกษา โดยให้ภาควิชาที่ได้ทดลองใช้ ตารางสอนแบบใหม่แจ้งให้คณะทราบ พร้อมทั้งให้สรุปผลการประเมินความพึงพอใจในการใช้ ตารางสอนแบบใหม่ของนักศึกษาให้คณะฯทราบด้วย เพื่อที่คณะฯจะนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาความเหมาะสมต่อไป และให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสาท มีแต้ม เสนอเรื่องให้มหาวิทยาลัย เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อไปได้”5. ความเห็นของผมการให้แต่ละภาควิชาจัดตารางสอนกันเอง มันมีปัญหาครับ เพราะนักศึกษาแต่ละคนต้องเรียนหลายภาควิชาและหลายคณะด้วยซ้ำ ในโลกสมัยใหม่แต่ละสาขาวิชามันคาบเกี่ยวกันมากขึ้น นักศึกษาอุตสาหกรรมการเกษตรอาจจะสนใจเรียนภาษาญี่ปุ่นก็เป็นได้  เรื่องนี้ผมว่าผู้บริหารทุกคนทราบดีอยู่แล้วนักศึกษาคนหนึ่งเปิดตารางสอนให้ผมดูว่า บางวิชาของคณะศิลปะศาสตร์เริ่มเรียน 13.30 น. ถึง 15.00 น. คือจัด 90 นาที (ตามที่ผมเสนอ)  แต่ถ้าเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้จะก่อปัญหาหลายอย่าง เช่น นักศึกษาที่จะลงเรียนได้ต้องมีเวลาว่าง 2 ชั่วโมงติดกัน  ทำให้หลายคนหมดโอกาส  นักศึกษาคนเดิมบอกผมว่า “บางวิชา(ในอีกคณะหนึ่ง)  เรียน 10.30 -11.30 น. โดยไม่สนใจใยดีกับใครเลยก็มี”ไปๆ มาๆ มหาวิทยาลัยของเราได้ “ซ่อนขยะไว้ใต้พรหม” เยอะเลยครับ   และมันได้กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรไปเสียแล้ว   เราเป็นสังคมต่างคนต่างอยู่ หน้าที่ใครหน้าที่มัน แต่ปัญหามันมาเกิดเอาตรง “จุดเกรงใจ” แล้วไม่มีใครใส่ใจครับผมนึกถึงเพลงหนึ่งของวงคาราบาว  เนื้อความพอสรุปได้ว่า “ขวานนั้นคมก็จริง แต่ไม่มีพลังที่จะทำอะไรได้ ต้องมีด้ามขวานด้วยจึงจะมีพลังได้”ผมอยากจะให้ผู้บริหารเป็นผู้คิดนำเอาขวานเหล่านี้มาใส่ด้ามครับ  อยากให้ผู้บริหารคิดให้เป็นระบบว่าปัญหามีจริงไหม ถ้ามีจริงแล้วจะแก้ไขอย่างไร  สิ่งที่ผมคิดยังไม่สมบูรณ์ไปทั้งหมด แต่สามารถปรับปรุงได้ครับ  เรามีขวานคมๆ อยู่มากมายในมหาวิทยาลัยของเรา เราน่าจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์  ไม่ใช่ปล่อยให้เมื่อยล้าไปเองทีละคนสองคนอย่างไรก็ตาม สำหรับผมแล้วขอยืนยันว่าจะทำหน้าที่ คิด เขียน และทำ ในสิ่งที่ตนเองเห็นว่าดีต่อไปครับ แม้บางคนจะมองผมว่าเป็น “Trouble maker” แต่ผมรู้ตัวดีว่า ผมทำอะไร เพื่ออะไร ผมจะพยายามเตือนตัวเองไม่ให้ท้อแท้ ไม่ปล่อยให้มหาวิทยาลัยและประเทศไทยต้องเป็นไปตามยถากรรมอย่างแน่นอน ถึงแม้ผมได้สรุปต่อคนหลายคนไปเมื่อไม่นานมานี้แล้วว่า “ประเทศไทยเราถ้าไม่ล่มสลาย ก็เพราะปาฏิหาริย์เท่านั้น”    นี่เป็นข้อสรุปของคนใกล้เกษียณอายุที่ติดตามการเมือง การศึกษาไทยมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ผมก็จะพยายามครับ หลังจากใครบางคนได้อ่านนิทานข้างล่างนี้แล้ว อาจจะมีใครเพียงสักคนเดียว. . .แล้วสันติสุขจะเกิดขึ้นกับโลกของเราครับ 6. นิทานดีๆ นกสองตัว ตัวหนึ่งเป็นนกเขาป่าอีกตัวเป็นนกโคลเม้าส์ ทั้งสองคุยกันขณะที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้ ดังต่อไปนี้ครับ“บอกหน่อยได้มั๊ยว่า เกล็ดหิมะนี่หนักแค่ไหน”   นกโคลเม้าส์ถามนกเขาป่า“ไม่หนักอะไรเลย เบากว่าปุยฝ้ายเสียอีก”   นกเขาป่าตอบ“ถ้าเธอว่าอย่างนั้น ฉันก็จะเล่านิทานดีๆให้ฟังเรื่องหนึ่ง”  นกโคลเม้าส์บอก“ฉันเกาะอยู่บนกิ่งสน ค่อนไปทางลำต้น  ขณะนั้นเริ่มมีหิมะตกลงมา  แต่ไม่หนักอะไร ไม่รุนแรง คล้ายกับสิ่งที่เห็นในฝันนั่นแหละ  หิมะไม่ได้สร้างความรุนแรงใดๆ ฉันอยู่ว่างๆไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยนับจำนวนเกล็ดหิมะที่ตกลงบนกิ่งเล็กที่แตกแขนงออกไป  ฉันนับหิมะได้ถึง 3,741,952 เกล็ด และแล้วเมื่อเกล็ดหิมะที่ 3,741,953 ตกลงบนกิ่ง  เจ้าเกล็ดหิมะที่เธอว่าไร้น้ำหนักนั่นแหละ กิ่งก็หักหลุดลงไป”เมื่อเล่าจบ นกโคลเม้าส์ก็บินจากไป นกเขาป่าซึ่งถือว่าเป็นผู้ชำนาญในเรื่องหิมะนี้ตั้งแต่ยุคโนอาห์ [1]  คิดถึงนิทานเรื่องนี้อยู่ครู่หนึ่ง ในที่สุดก็ลำพึงกับตัวเองว่า“บางที เราอาจต้องการความช่วยเหลือจากใครอีกเพียงคนเดียวก็ได้   ที่จะให้เกิดสันติสุขขึ้นในโลกของเรา”คัดลอกจาก “รหัสอภิมนุษย์”   หน้า 275 เขียนโดย    โจเซฟ จาวอร์สกี  แปลโดย  สุรพงษ์ สุวจิตตานนท์   สำนักพิมพ์คบไฟ 2545  ประสาท มีแต้ม  คัดลอกและหารูปมาเผยแพร่7. สรุปท่านที่อ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่าอยากจะเป็นเกล็ดหิมะเกร็ดที่ 3,741,953  บ้าง ก็กรุณาโพสต์ไว้ในเว็บประชาไทได้เลยครับขอบคุณครับ ---------[1] โนอาห์เป็นชื่อผู้ชายคนหนึ่งในคัมภีร์ศาสนาคริสต์ เป็นมนุษย์ประมาณรุ่นที่ 10 นับจากอาดัม-อิฟ มนุษย์คู่แรกของโลก หรือ โนอาห์คือ หลาน ๆๆๆๆๆๆๆๆ(8 ครั้ง) ของอาดัม
กานต์ ณ กานท์
  โธ่เอ๋ย…ประเทศใด?เหมือนคนจับไข้นั่งไม่ติดหลอนตนว่าอยู่เมืองนิรมิตย้ำจำ ย้ำคิด กำกวมโธ่เอ๋ย… “ประชาธิปไตย”หลักการวางไว้ (หลวมๆ)ครึ่งใบ – ค่อนใบ (บวมๆ)รัฐธรรมนูญกองท่วมพานแล้ว!โธ่เอ๋ย… “ประชาชน”กี่ครั้ง กี่หน ทนแห้วแหงนคอรอฟ้าล้าแววมืดแล้ว ดึกแล้ว …ทนคอยอนิจจา… อนิจจัง…ความเอยความหวังอย่าถดถอยแม้กี่ผีซ้ำด้ามพลอยฝากรูปฝังรอยเกลื่อนเมือง โธ่เอ๋ย…ประเทศใด?หลอนตนว่าใครต่างลือเลื่องงามหรูตรูตรามลังเมลืองเฮ้ย! เมืองทั้งเมืองจะจมแล้ว!!

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม