Miss Korea (KBC/2013/20ep.)
ละครเล่าเรื่องการประกวดนางสาวเกาหลี(ใต้) ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 เกาหลีใต้เกิดปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก การเลิกจ้าง เกิดการว่างงาน การล้มของธุรกิจของอสังหาริมทรัพย์ การล้มเป็นสายของโรงงานและซัพพลายเออร์
จียองเป็นพนักงานกดลิฟท์โดยสายในห้างหรู ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจด้วยการบีบให้ออกจากงานด้วยวิธีการสกปรกของนายจ้าง (แน่ละ ก็จะได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไง) นางก็เลยต้องออกไปหางานทำใหม่ แต่คนที่มีอาชีพยืนกดลิฟท์จบการศึกษาสูงแค่ไหนกัน? ก็นั่นแหละ หางานใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย
บังเอิญว่า ชะตาของนางได้ไปพบกับ เอรี "ป้าชุลี" ของวงการความงามเกาหลี ซึ่งเป็นอดีตนางสาวเกาหลี ที่พยายามจะชวนนางมาเข้าสังกัดเพื่อส่งประกวดนางสาวเกาหลี ซึ่งนางก็รู้ตัวอยู่ว่า อันหน้าตาตัวเองก็ใช่ได้ แต่อายุและโปรไฟล์มีปัญหาหนัก เพราะเรียนจบแค่ ม.๖ เป็นลูกกำพร้าแม่ มีพ่อซึ่งนางเรียกว่า "แม่" เป็นเจ้าของร้านขายของชำเน่าๆ ที่ขายซาลาเปาออกได้สองสามลูกกับบุหรี่ถูกๆ อีกห้าหกซองต่อวันเท่านั้น ไหนจะยังมีทั้งน้องชาย ลุง และปู่ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันอีกในบ้านซ่อมซ่อหลังหนึ่ง เมื่อเหลียวไปดูเด็กในสังกัดคนอื่นๆ ของป้าชุลีแล้วก็นับว่าด้อยมาก เพราะแต่ละคนประวัติชีวิตไม่ธรรมดา คู่แข่งในสังกัดบางคนเป็นถึงลูกสาว ส.ส. จบโทเมืองนอก คุณสมบัติที่มีถือว่าเหนือกว่ามา
แฟนเก่าของจียองที่รักกันเมื่อตอนม.ปลาย - ฮยองจุน ซึ่งเป็นเจ้าโรงงานผลิตเครื่องสำอาง กำลังประสบปัญหาทางธุรกิจอย่างหนัก เพราะผลิตภัณฑ์ทั้งโรงงานดันใช้ดีและขายออกอยู่แค่ตัวเดียว มีปัญหาของแบรนด์ใหม่และเล็ก มีทั้งปัญหาเรื่องการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเงินทุนที่จะมาใช้บริหารโรงงานที่ดันมาเจอวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบในภาพใหญ่อีก
มีเพียงธุรกิจเดียวในเวลานั้น ที่ไม่ถูกกระทบเรื่องเงินสนับสนุนเลยนั่นก็คือธุรกิจในวงการนางงาม และเป็นช่องทางเดียวสำหรับฮยองจุนที่จะใช้พื้นที่นี้เป็นเวทีในการทำการตลาดอย่างลัดให้กับตัวเอง โดยการสนับสนุนใครสักคนให้เข้าไปในรอบสามคนสุดท้ายให้ได้ และจียองคือคนที่เขาคิดว่าจะช่วยเหลือเรื่องนี้ได้
ระหว่างทางไปสู่วันครองมงกุฏ ทั้งจียอง ฮยองจุน และเพื่อนร่วมงานต้องเจอเรื่องยากๆไปด้วยกัน ฮยองจุนต้องเอาพนักงาน บริษัท และตัวเองให้รอด ต้องทำผลิตภัณฑ์ใหม่มาตีตลาดและชิงการนในำให้ขาด ส่วนจียองต้องเจอกับโครงสร้างของวงการนางงาม ที่มีทั้งความริษยาของผู้ร่วมแข่งขัน การจัดการกับสังขารตัวเอง การจัดการกับบุคลิกภาพและการเข้าสังคม ไดเลมม่าของจียองคือการทำประวัติครอบครัวและส่วนตัวใหม่ ตามที่ "ป้าชุลี" พยายามจะจัดการให้ เพื่อให้มีคุณสมบัติพอที่เข้าไปยืนอยู่บนเวทีได้ในรอบแรก
โอเค สุดท้ายจบสวย จียองได้เป็นนางสาวเกาหลีในปีนั้น ในเหตุผลของคณะกรรมการ(ในละคร)ที่เลือกจียองเป็นนางสาวเกาหลีเพราะว่าปูมหลังของนางสอดรับกับสภาพและบรรยากาศของสังคม ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในฐานะที่ยากลำบากเพราะสภาพเศรษฐกิจ นางสาวเกาหลีในปีนี้จึงจำเป็นจะต้องทำหน้าที่ให้กำลังใจกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในทางนึงก็สร้างความเป็นชาตินิยมนั่นแหละ ที่จะต้องหาความเป็นหนึ่งเดียวไปสู้กับอะไรสักอย่าง ส่วนบริษัทเครื่องสำอางของพระเอกก็ไปได้ดี เพราะว่าทีมพัฒนาบีบีครีมที่มีคุณสมบัติในการแต่งหน้าเพื่อความสวยงามได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่บีบีเยอรมันไม่ได้คิดว่าจะทำ เพราะตั้งใจผลิตมาเพื่อซ่อนรอยแผลจากการทำเลเซอร์หรือการรักษาผิวหน้าเท่านั้น
นึกถึงละครเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะ ราม่าเรื่องนางสาวไทย ที่มีปัญหาการปกปิดเรื่องวุฒิการศึกษาจนนำมาถึงเรื่องการเรียกคือตำแหน่งเพราะว่าเธอโกหกในคุณสมบัติ
เรื่องโกหกก็คือเรื่องโกหก คงไม่ต้องยกเรื่องดราม่าประจำชาติ คือความดีและความกตัญญูมาสร้างความชอบธรรมอะไรกับกรณีนี้ แต่มีประเด็นที่น่าตั้งคำถามอยู่สองเรื่อง คือ ทำไมการประกวดความสวยงามถึงต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดว่าต้องมีการศึกษาขั้นต่ำเพียงใด และเรื่องงโอกาสทางสังคมของผู้หญิง
วุฒิการศึกษาเกี่ยวอะไรด้วยกับการประกวดสรีระร่างกายของผู้หญิง ถ้าจะนำไปโยงกับคุณค่าของความเป็นนางงาม ในฐานะต้นแบบผู้หญิงดีของสังคม คงไม่พ้นแนวความคิด เรื่องความงามทั้งภายนอก และความงามภายใน อันประกอบด้วย ความเฉลียวฉลาดและกริยามารยาท และในสังคมที่เชื่อว่า ความเฉลียวฉลาดวัดได้ด้วยใบปริญญา เรื่องนี้ก็แทบจะไม่ต้องอภิปรายอะไรต่อกันไปอีกให้มากความ แต่ก็ทั้งที่รู้ว่า ในสังคมที่ซื้อขายวุฒิการศึกษากันได้ ฝากกันลงลายมือชื่อเข้าชั้นเรียนได้ จ้างทำรายงานหรือวิทยานิพนธ์กันได้ มีหลักสูตรจ่ายครบจบแน่มากมายหลายหลักสูตร เราก็ยังจะให้ค่าให้ราคากับมันอยู่ต่อไป ในฐานะตราประทับเพื่อให้จำแนกแยกคนให้แตกต่างกันเป็นกลุ่มๆ และเราก็ยอมรับมันโดยศิโรราบกันเสียด้วย ทั้งๆ ที่มันก็มีช่องโหว่ และวุฒิการศึกษากับ "ความรู้" มันคนละเรื่องกัน (ยกประเด็นเรื่องการเรียนเพื่อวิชาชีพเฉพาะออกไปก่อน)
อีกเรื่องที่ชวนตั้งคำถาม คนสักคนหนึ่งที่อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้นจากสภาพครอบครัวที่ลำบากแสนสาหัส จะมีโอกาส "ขยับ" ฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้สักกี่ทาง ภายใต้โจทย์ว่า เรามีทุนอยู่อย่างเดียวคือ รูปร่างและหน้าตาที่ดี กรณีดราม่านางงามที่เกิดขึ้น ถ้าดูฐานะครอบครัวประกอบกันแล้ว การที่โตมาในครอบครัวเลี้ยงเดียวและประกอบสัมมาชีพที่มีรายได้ขั้นต่ำมาเลี้ยงดูตัวเองและคนในครอบครัวแทบจะไม่ได้ จะทำให้คนคนนึงที่เกิดมามีฝันอะไรได้บ้างนางมีรูปสมบัติ ก็นั่นแหละ นางจะหวังการเปลี่ยนแปลงอนาคตตัวเองให้ดีได้ด้วยการมีสถานะทางสังคมได้กี่อย่างกัน
ไม่ว่าจะเพศไหน ถ้ามีรูปร่างหน้าตาเป็นสมบัติ มันก็ไม่เลวที่จะเอาสมบัติที่มีอยู่นั้นสร้างมูลค่า เพื่อยกระดับชีวิตของตัวเอง ไม่ว่าจะผ่านเวทีประกวด เข้าวงการบันเทิง หรือแม้กระทั่งเป็น sex worker มันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายตรงไหน ในเมื่อสวัสดิการสังคม ยังไม่สามารถเป็นทางที่ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาชีวิตได้เท่าเทียมกัน ทั้งในมิติของรายได้ขั้นต่ำ การศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือแม้แต่ระบบประกันสังคมหรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไม่มีใครตั้งคำถามเลย ว่าสังคมแบบไหนกัน ที่ทอดทิ้งให้คนอีกตั้งมาก ที่ไม่มีโอกาสในการประกอบสุจริตที่เพียงพอต่อรายได้ที่สอดรับกับชีวิตจริง ทำไมเขาเข้าถงการศึกษาขึ้นพื้นฐานไม่ได้ หรือทำไมไม่มีโอกาสเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาถ้ามีศักยภาพพอ
คือคนไม่มีใครออกมาตั้งคำถามแบบนี้เลย ไม่มีเลยจริงๆ แม้แต่คนที่เคลมว่าเป็นนักสตรีนิยมก็ยังไม่ออกมาตั้งคำถามเลยว่า การมีนางงามหรือนางสาวไทยในสังคมนี้ มันกำลังสร้างวาระทางสังคมต่อความเป็นหญิงแบบไหนกับสังคมนี้ และกับความเป็นนักสตรีนิยมได้ตอบสนองต่อการจัดวางคุณค่าหรือการตั้งวาระทางสังคมชุดนี้กันอย่างไร และแม้ความเป็นสตรีนิยมในประเทศนี้จะแสดงออกว่า งานของพวกสตรีนิยมคือการทำงานสังคมสงเคราะห์ให้กับผู้หญิงที่มีสถานะทางสังคมด้อยกว่าตัวให้ลุกขึ้นมามีโอกาสเท่าเทียมกันก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว การทำงานดังกล่าวในสังคมไทยนั้น สำเร็จเป็นรูปธรรมขึ้นมาบ้างหรือเปล่า
การมานับความสำเร็จของผู้หญิงในสังคมไทยว่ามีผู้บริหารระดับสูงกันกี่คน เป็นผู้พิพากษากันกี่คน เป็นผู้ได้รับเลือกเข้าในมีพื้นที่ทางการเมืองกี่คนถือเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จเฉพากลุ่มผู้หญิงที่มีโอกาสขึ้นพื้นฐานทางสังคมอยู่แล้ว
และถ้าจะขยับมาพูดถึงความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในสังคมไทยที่ความเท่าเทียมในเรื่องพื้นฐาน อย่างกินอยู่หลับนอนมีการศึกษาที่เอามาพัฒนาศักยภาพตัวเองได้ตามที่ต้องการก็ยังไม่มีจริง
สุดท้ายคนที่ไม่มีโอกาสก็ต้องตกอยู่ในฐานะการเป็นวัตถุแห่งความน่าสงสาร วัตถุแห่งการทำทาน หรือใช้เป็นข้ออ้างในการปกป้องตัวเองจากการกระทำที่ไมตรงไปตรงมาต่อไปอยู่เรื่อยๆ
นางงามของชาติ ก็สะท้อนเนื้อในความเป็นชาติ ตลอดวิธีคิดของคนในชาติที่ก่อร่างสร้างต้นแบบของเขามานั่นเอง