กระแสละครสายโลหิตที่สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๗ นำกลับมาฉายอีกครั้ง ได้นำพากระแสชาตินิยมฉบับราชการให้สะพัดเป็นที่ตื่นใจกันอีกครั้ง ภาพของสุวนันท์ และศรราม ในบทแม่ดาวเรืองและขุนไกร ได้ทำให้ใครหลายคนได้กลับมาจิกหมอนและย้อนวัยเด็กกันอีกครั้ง และนำเราพากลับไปย้อนวันคืนเมื่อครั้งยังเยาว์ เมื่อได้ชมละครนี้ครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน
ละครเกาหลีใต้ที่เกี่ยวข้องกับสงครามมีมากมายหลายเรื่อง และเรื่องที่เพิ่งลาจอแก้วไปที่เกาหลีเมื่อต้นเดือนนี้ ก็เป็นตำนานที่หยิบยกมารีเมคใหม่หลายครั้ง นั้นก็คือตำนานหรือประวัติศาสตร์ในช่วงรวมสามอาณาจักรเป็นหนึ่ง ในยุคของพระเจ้าแทโจมหาราช ที่เป็นต้นทางของอาณาจักรโชซอนและสาธารณรัฐเกาหลีในปัจจุบันนั้นเอง
Moon Lovers เป็นละครที่ใช้ตำนานดังกล่าวเป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยมีการตีความต่างออกไปจากการดัดแปลงบทละครโทรทัศน์เรื่อง "ปู้ปู้จิงซิน" โดยมีองค์ชายสี่เป็นจุดร่วมของเรื่องซึ่งเป็นตัวละครหลัก
การตีความของ Moon Lovers : Scarlet Heart Ryeo ใช้ตำนานการสร้างอาณาจักรโครยอหลังพระเจ้าแทโจมหาราช ได้ก่อตั้งรวบรวมสามอาณาจักรเข้าไว้เป็นหนึ่ง ด้วยการพาไปสู่ปมขัดแย้งการแย่งชิงราชบัลลังก์ขององค์ชายทั้งหลายที่หมายจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลต่อไป
ตำนานดังกล่าว ในสายตาของคนรุ่นใหม่มองว่าเป็นความขัดแย้งหรือการศึกสงครามที่มีแต่การฆ่าฟันและแย่งชิงความเป็นใหญ่กันเองระหว่างพี่น้องร่วมพ่อเดียวกัน นั่นคือพระเจ้าแทโจมหาราช แต่ละครเรื่องนี้ตีความต่างออกไป ด้วยการวางพล็อตแบบแฟนตาซีให้นางเองที่อยู่ในโลกศตวรรษที่ ๒๑ ย้อนเวลากลับไปใช้ชีวิตร่วมกับราชวงศ์โครยอในยุคหลังรวมอาณาจักรหรือยุคซัมกุก
ในยุคซัมกุก นางเอกมีชื่อว่าแฮซู เป็นน้องสาวของภริยาแห่งองค์ชายแปด เมื่อต้องตื่นขึ้นมาในโลกโบราณ เธอต้องใช้ความพยายามในการปรับตัวที่จะอยู่ร่วมในโลกที่เธอรู้จักมาจากแต่ในตำราเรียนประวัติศาสตร์ และต้องเผชิญหน้ากับเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในโลกยุคจารีตของเกาหลีใต้
แฮซูจึงกลายเป็นเด็กสาวประหลาด ที่ซ่อนเร้นความลับเพราะล่วงรู้ประวัติศาสตร์ ไม่รู้ธรรมเนียมของราชวงศ์ ไม่รู้ตัวอักษรจีนหรือฮันจา เป็นไพร่ที่ตีตัวเสมอเจ้า ลงไม้ลงมือต่อยตีกับรรดาองค์ชายไม่เว้นแต่ละวัน
ในสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านและการจัดสรรอำนาจระหว่างขุนนางเจ้าที่ดิน เชื้อพระวงศ์ ไพร่ฟ้า และทาสศึกสงคราม ที่เป็นฉากหลังของละครเรื่องนี้ วาทะกรรมเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถูกวางผ่านตัวละครหญิงสองตัวละครหลักในเรื่อง คือ แฮซู ที่ใช้ข้อถกเถียงเรื่องความยุติธรรมด้วยความเสมอภาคกันในความเป็นมนุษย์ ต่อสู้กับความไม่ถูกต้องไม่สมเหตุสมผลที่เกิดจากการใช้อำนาจอำเภอใจของเชื้อพระวงศ์ที่มีต่อตัวเธอและบรรดาคนใต้ปกครองของเธอ และอูฮี ลูกสาวหัวหน้าเผ่าชิลลา ที่ต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมของชนเผ่าชิลลาในฐานะพลเมืองร่วมของอาณาจักรใหม่ที่ถูกขูดรีดเรื่องภาษีและที่ดิน
ละครเรื่องนี้ยกระดับตำนานให้เป็นเรื่องที่ไปไกลบนข้อถกเถียงเรื่องความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น การที่แฮซูปกป้องบ่าวไพร่ในสังกัดของตนที่ถูกลงโทษจากองค์ชายที่ไม่พอใจด้วยการทุบตี ด้วยการยืนยันว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ควรปฏิบัติต่อกัน และเป็นการกระทำที่โหดร้ายเยี่ยงสัตว์ หรืออูฮี ที่พยายามเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองระดับบนที่ต่อรองกับพระเจ้าแผ่นดินเรื่องสิทธิและความเป็นธรรมของชนกลุ่มน้อยที่ถูกกวาดต้นเข้ามาเป็นไพร่เมืองว่าสิ่งใดคือความยุติธรรมที่พระเจ้าแผ่นดินต้องประสิทธิ์ประสาทให้ตามความสมควรในฐานะเจ้าชีวิตของไพร่ฟ้าราษฎรทั้งหมดอย่างเสมอกัน
ความโรแมนติคที่มีระหว่างพระเอก คือ วังโซ หรือองค์ชายสี่ กับรักสามเศร้าระหว่าง วังอุค หรือองค์ชายแปด และแฮซู เป็นไปด้วยเจตนาของแฮซูที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงแผ่นดินเลือดในการปกครองของวังโซหรือพระเจ้าควางจงให้เป็นรัชกาลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความผาสุข ด้วยการต่อรองการแต่งงานหรือครองรักระหว่างกัน ด้วยเงื่อนไขที่ยื่นให้ฝ่ายชายทั้งสอง ทั้งวังโซและวังอุค ว่าต้องเป็นผู้นำหรือพระเจ้าแผ่นดินที่จะไม่ฆ่าฟันแย่งชิงอำนาจทำลายพี่น้องกันเองเพื่อความเป็นหนึ่ง
และเมื่อแฮซูได้ตื่นกลับมาอยู่ในฐานะพลเมืองของสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อมองผ่านประวัติศาสตร์จากจุดยืนปัจจุบัน คนรักของเธอคือพระเจ้าควางจง ก็ได้เดินตามแนวความคิดเรื่องความเสมอภาคของเธอและกลายเป็นแผ่นดินที่ปลอดไร้คาวเลือดได้สำเร็จ
Moon Lovers เป็นหนึ่งในละครเกาหลีใต้ที่เสนอความบันเทิงบนตำนานทางประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ที่สามารถตีความและพัฒนาบทบนข้อถกเถียงในกระแสนิยมสมัยใหม่ในศต.ที่๒๑หรือสามารถนำเสนอจินตนาการใหม่ๆ ได้เสมอกับตำนานพื้นบ้านหรือประวัติศาสตร์ฉบับราชการอย่างหลากหลาย
แต่ละครไทยคงไม่สามารถไปถึงจุดเดียวกันกันวงการละครเกาหลีใต้ได้ ด้วยเพดานแก้วของประวัติศาตร์ฉบับราชการและแนวความคิดแบบชาตินิยมอย่าง "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ที่ยังคงผลิตซ้ำนาฏกรรมที่คงตีความตัวบทบนแนวความคิดเดิมๆ อยู่ต่อไป
ไม่ว่าอีกกี่ปีข้างหน้าก็ตาม ละครสายโลหิตจะรีรันใหม่หรือจะรีเมคใหม่ ก็คงมั่นอยู่ในตัวบทเดิมอย่างแน่นอน