ความฝันของชาวเกาหลีใต้คืออะไร?
Reply 1988 น่าจะเป็นละครเรื่องหนึ่งที่ช่วยทำให้เราได้คำตอบเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย
ย้อนกลับไปที่สาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ในปี 1988 หรือ พ.ศ.2531 เป็นปีเดียวกับที่มีการจัดกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อน ที่กรุงโซล ซึ่งนับว่าเป็นการเปิดตัวต่อประชาคมโลกของรัฐบาลเกาหลีใต้ผ่านมหกรรมกีฬาระดับโลก เนื้อเรื่องวางมาถึงชีวิตเด็กมัธยมปลายคนหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในเขตนอกเมืองกรุงโซล ที่ได้รับโอกาสเป็นผู้เชิญป้ายประเทศในพิธีเปิด
ชุมชนและครอบครัวที่สะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับตัวตนและความฝันของชาวเกาหลีใต้ใหม่ ได้แสดงผ่านตัวละครที่หลากหลายแต่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในนั้น ผ่านครอบครัวของเด็กนักเรียนม.ปลาย 5 คนที่มีชีวิตแตกต่างกัน แต่มีชีวิตเริ่มต้นที่คล้ายกัน คือ ความเป็นครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางล่าง
โรงเรียนมัธยม ชุมชน และกิจกรรมวัฒนธรรมมวลชนที่เกี่ยวข้องกับเด็กทั้ง 5 คนที่เติบโตขึ้น โดยสะท้อนชีวิตของชาวเกาหลีใต้หลังการล่มสลายของรัฐบาลเผด็จการทหาร หลังจากเกิดขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในควังจู ในปี 1986 ที่นำมาสู่การเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และมีการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญเพื่อรองรับระบอบใหม่ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยในปีต่อมา
คนในรุ่นพ่อแม่ ย้ายเข้ามาตั้งรกรากในเขตชานเมืองกรุงโซล เพราะความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ความต้องการโอกาสที่ดีกว่าสำหรับคนรุ่นลูก สะท้อนผ่านการเลือกย่านที่อยู่อาศัยและอาชีพ
ครอบครัวหนึ่งมีลูกชายสองคน บังเอิญถูกหวยรางวัลใหญ่มาก จึงถีบตัวขึ้นมาจากสลัมและกลายเป็นคนรวยเงินใหม่ที่อารีกับเพื่อนฝูงและเผื่อแผ่ไปยังลูกๆ ของเพื่อนที่อยู่ร่วมชุมชนด้วย เช่น เอื้อเฟื้ออาหาร เอื้อเฟื้อเงินทองยามขัดสน ตลอดจนถ่านแท่งที่ใช้สำหรับหน้าหนาว
อีกครอบครัวหนึ่ง เป็นครอบครัวชนชั้นกลางโดยแท้และเป็นไปตามครอบครัวในขนบขงจื่ออย่างเข้มข้น พ่อเป็นหัวหน้าครอบครัวที่เป็นนายธนาคาร แม่เป็นแม่บ้านที่คอยจัดการครัวเรือนและดูแลโอบอุ้มลูกสาวสองคนและลูกชายอีกหนึ่งคน ลูกสาวคนโตเรียนเก่งจนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยโซล และเป็นหนึ่งใน 25 นักศึกษาที่ถูกจับเพราะเป็นแกนนำประท้วงวรัฐบาลในช่วงเวลานั้น
ครอบครัวหนึ่ง เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ลูกชายเป็นประธานนักเรียน ที่พร้อมด้วยหน้าตา นิสัย สติปัญญาและลูกสาวตัวน้อยที่ปล่อยให้โตมากับสื่อโทรทัศน์
ครอบครัวหนึ่ง เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว ลูกชายเป็นนักเล่นหมากล้อม ฝีมือระดับโลก
ส่วนอีกครอบครัวหนึ่ง พ่อแม่หน้าที่การงานสูงสุดในชุมชน แต่ลูกเป็นคนขาดพร่องเรื่องความมั่นคงทางจิตใจ
เรื่องราวเรียงชีวิตของผู้คนเหล่านี้ ทาบเข้ากับปรากฎการณ์ทางสังคมและการเมืองในเกาหลี แทรกลงในชีวิตประจำวันที่แยกตามบทบาทและความฝันของตัวละครแต่ละตัว
ไม่ว่าวัฒนธรรมมวลชน เรื่องเพลงหรือละครเกาหลี หาเรามองผ่านละครเรื่องนี้ เราจะเข้าใจยุทธศาสตร์การส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีใต้ผ่านละคร ภาพยนตร์และเพลง อย่างเข้มข้นของรัฐบาลเกาหลีใต้ในยุค 90 หรือความเปลี่ยนแปลงเรื่องฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่มองผ่าน class mobilization theory ก็ทำให้เราเข้าใจการขยายตัวและการจัดการเมืองของเกาหลีใต้ได้มากขึ้น ผ่านบทสนทนาเรื่องการคิดย้ายแหล่งที่อยู่อาศัยหรือการพูดถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ผ่านคนรุ่นพ่อแม่ที่ถ่ายความฝันลงไปยังคนรุ่นลูก
รวมทั้งการเติบโตของคนเกาหลีใต้ยุคใหม่ ที่ต้องเผชิญหน้ากับการค้นหาตัวตนและที่ยืนในสังคม ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริการใหม่ๆ ที่เป็นกระแสโลกาภิวัฒน์ที่โถมเข้ามาในยุค 90 เราจึงได้เห็นตัวละครแต่ละตัวมีการบอกเล่าเส้นทางชีวิตและความฝันในอาชีพใหม่ๆ ที่ต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ เช่น เป็นอัยการ นักบินกองทัพอากาศที่กลายเป็นนักบินพาณิชย์ในสายการบินแห่งชาติ แอร์โฮสเตส แพทย์ รวมถึงเจ้าของกิจการร้านอาหารเกาหลีแบบปิ้งย่างที่มีการให้บริหารใหม่ๆ แตกต่างไปจากเดิม ตลอดจนการเผชิญหน้าจากผลกระทบทางเศรษฐกิจระดับโลกของคนในช่วงเวลาวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ลุกลามไปถึงเกาหลีใต้ด้วย
จะว่าไป เกาหลีใต้เป็นชาติในเอเชียที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด
รถเมล์เกาหลีใต้ในฉากปี 2531 เป็นอย่างไร รถเมล์ไทยในชีวิตจริง ปี2559 ก็มีสภาพไม่ต่างกันเลย
แล้วถ้าเรา reply ชีวิตของเราเองผ่านละคร เราจะต้องย้อนกลับไปใกล้แค่ไหน เราถึงกลับมามองชีวิตในปัจจุบันด้วยความภาคภูมิใจว่า เราต่างไปจากเดิม
ระหว่างรอละครเกาหลีเรื่องใหม่ ขอไป reply ชีวิตของแม่พลอยมาดูอีกครั้ง เผื่อจะได้ปลอบใจตัวเองได้บ้างว่า วันนี้ เรามีรถไฟฟ้าใช้ ไม่เหมือนกับแม่พลอยที่ต้องนั่งรถม้าออกจากวังหลวงไปบ้านที่นางเลิ้งตั้งแต่เช้ามืด.