It's Okay, Thats Love ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างดีด้วยนักแสดงนำระดับแม่เหล็กของวงการบันเทิงเกาหลีใต้
ด้วยเส้นเรื่องที่ปูให้ผู้ชมเดินตามคือเรื่องราวความรักอันโรแมนติคของนักเขียนและดีเจหนุ่มชื่อดังกับจิตแพทย์สาวที่มีบุคลิคโดดเด่น กลับพาไปสู่โลกของผู้ป่วยจิตเวชได้อย่างแนบเนียน
ปมใหญ่ของเรื่องที่ชวนอึดอัดอย่างหนักหน่วง คือ การพาเข้าไปสู่โลกของผู้ป่วยจิตเวชผ่านทุกตัวละคร ทั้งเด็กหนุ่มที่ไม่มีความมั่นใจในตนเองเพราะมีอาการหอบหืดทุกครั้งเมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ตัวเองรับมือไม่ได้ กะเทยที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะระบบขงจื่อที่เหนียวแน่นและกดทับผ่านความคาดหวังของพ่อแม่ รวมถึงจิตแพทย์ในเรื่องที่ต้องผลัดเวียนกันให้คำปรึกษาและบำบัดอาการป่วยทางจิตที่กระทบมาจากการทำงาน
โจอินซอง รับบทเป็นนักเขียนและดีเจหนุ่มผู้รวยสเน่ห์และโดดเด่นด้วยผลงานที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ที่พบกับจิตแพทย์สาวผ่านรายการโทรทัศน์ซึ่งมาวิเคราะห์งานเขียนของนักเขียนหนุ่มรายนี้ ซึ่งรับบทโดย กงฮโยจิน
ทั้งสองเป็นผู้ป่วยจิตเวชด้วยกันทั้งคู่
การตัดสินใจเป็นจิตแพทย์ของนางเอกก็เพราะเธอต้องการแก้ไขปมทางจิตของเธอเองที่ก่อขึ้นมาตั้งแต่ช่วงชีวิตในวัยเด็ก ด้วยความพยายามของเธอในการเรียนแพทย์ระดับมหาวิทยาลัยที่ยากลำบากด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ สุดท้ายเธอก็ได้เป็นจิตแพทย์เต็มตัวและเริ่มรักษาเยียวยาตัวเองไปพร้อมกับคนไข้ที่เธอรับผิดชอบ ด้วยความเอื้อเฟื้อจากรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยและเหล่าเพื่อนแพทย์
เมื่อเธอได้มาพบกับนักเขียนหนุ่มรายนี้และได้เปิดประตูหัวใจให้เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโลกของเธอ ความผิดปกติที่เธอจับต้องได้ นำมาสู่การเยียวยาคนรักของเธอ
วัยเด็กของชายหนุ่มจมอยู่กับโศกนาฏกรรมของผู้เป็นแม่ แม่ของเขาถูกซ้อมทุกวัน ส่วนเขาเองมีห้องน้ำเป็นเสมือนโลกที่ปลอดภัย ชีวิตที่ขาดความมั่นคงและปลอดภัย ทำให้โลกที่ก้าวพ้นมาในแต่ละขวบปีคือการสะสมปัญหาอาการทางจิต จนสุดท้าย เขาอยู่ได้ด้วยการหล่อเลี้ยงตัวเองด้วยการสร้างน้องชายที่แสนน่ารักและเปราะบางขึ้นมาเพื่อใช้เยียวยาตัวเองให้เผชิญหน้ากับโลก ด้วยการสวมบทเป็นพี่ชายที่คอยปกป้องน้องชายในจินตนาการผู้นี้ในทุกๆวัน
แน่นอนว่าหนังสือที่เขาเขียนออกมา เพลงที่เขาเปิดให้คนทั้งประเทศฟัง บทสนทนาที่คมคาย ล้วนมาจากการที่เขาพูดคุยกับตัวเองผ่านน้องชายที่เขาสร้างขึ้นมาจากจินตนาการทั้งสิ้น
สังคมเกาหลีใต้เผชิญหน้ากับความซับซ้อนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอยู่ตลอดเวลา ส่วนตัว เป็นเพื่อนกับชาวเกาหลีใต้มากพอควร ซึ่งส่วนมากเป็นเกย์ หลายคนสะท้อนออกมาเหมือนกันว่าสิ่งที่เผชิญหน้าทุกวันในชีวิตทำให้เขาป่วย แต่พวกเขารวยมากพอที่จะพาตัวเองออกมาเที่ยวพักผ่อนที่ประเทศไทยปีหนึ่งหลายๆหนด้วยกิจกรรมปลดปล่อยความเครียด ตั้งแต่เรื่องเบาๆ เช่นออกไปชอปปิ้งกินอาหารไทยอร่อยๆตามเมนูที่เขาชอบจนถึงขนาดที่ใช้ยาเสพติดบางประเภทเพื่อความสนุก
ซึ่งหลายคนที่รู้จักก็แลกเปลี่ยนว่าปรึกษาจิตแพทย์เป็นประจำ แต่สังคมเกาหลีใต้โดยภาพรวมยังไม่ได้มองว่าอาการป่วยทางจิตเวชคือเรื่องปกติเหมือนการป่วยไข้ทางกาย
เช่นเดียวกับสังคมไทย
ละครเรื่องนี้ ได้คลี่ให้เห็นถึงความซับซ้อนของสังคมเกาหลีใต้ที่พูนพอกขึ้นทบทับปัญหาที่ซุกใต้พรมภายใต้วัฒนธรรมขงจื่อแบบโชซอนอันเหนียวแน่น และพยายามที่จะสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า อาการป่วยทางจิตใจไม่ต่างกับอาการป่วยทางกาย แม้แต่จิตแพทย์เองก็รักษาอาการป่วยทางจิตด้วยกันทั้งนั้น
เงื่อนไขหลักที่จะทำให้คนปลดปล่อยตัวเองและข้ามเข้ามาสู่การรักษาคือความรักความเข้าใจ ที่ไม่ใช่ความรักความเข้าใจแบบโรแมนติคอย่างภาพแฟนตาซีของชายหญิง แต่มันคือความรักความเข้าใจในความปกติธรรมดาของความเป็นมนุษย์ที่สังคมและครอบครัวคือองค์ประกอบหลักที่โอบอุ้มคนเหล่านี้ให้เข้ามาสู้การรักษาที่ถูกวิธี
กลับมามองปัญหาในสังคมไทยในพ.ศ.2559
กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายประการมีรากมาจากการที่ผู้ก่อความรุนแรงทั้งต่อตนเองและคนรอบข้างนั้น คือ การไม่เข้าถึงการเยียวยาทางจิตใจอย่างถูกวิธี การคลี่สางปมที่เกิดขึ้นในใจก่อนแสดงออกทางกายภาพด้วยความรุนแรงไม่เคยมีรองรับเพียงพอที่จะโอบกอดผู้คนเหล่านี้อย่างเข้าอกเข้าใจต่อความเป็นมนุษย์ปกติที่ทุกคนต่างมีปัญหากันได้ และการกีดกันผู้คนเหล่านี้ให้ออกไปจากสังคมนี้เอง คือความรุนแรงที่ก่อผลสะเทือนย้อนกลับมาสู่สังคม
ความรักอาจจะชนะทุกสิ่ง แม้แต่อาการป่วยทางจิต นั่นก็เพราะความรักนั้นเป็นหลักประกันมั่นคงเพียงพอที่จะทำให้คนที่เผชิญหน้ากับปัญหาที่ซับซ้อนน้อยไปจนถึงซับซ้อนมากมีหวังอย่างมีรูปธรรมว่า ชีวิตข้างหน้ายังคงมีหวังอยู่นั่นเอง
อาจจะไม่ได้มีชีวิตจบลงสวยงามแบบคลิเช่อย่างในละคร แต่อย่างน้อยชีวิตในวันข้างหน้าไม่ต้องจมอยู่กับความไม่เข้าใจจนตัดสินใจก่อความรุนแรงกับตนเองและคนอื่น น่าจะเป็นสิ่งที่สวยงามที่จะประคับประคองชีวิตเราให้ดำเนินชีวิตไปอย่างถูกต้องต่อไปได้
และวันหนึ่ง สังคมไทยคงจะเป็นสังคมที่มีความรักความเข้าใจที่พร้อมพอสำหรับการเอื้อเฟื้อกับผู้ป่วยจิตเวชทุกประเภทให้กลับมามีชีวิตเป็นปกติสุขได้ โดยฐานของความเข้าอกเข้าใจและดูแลกันอย่างถูกวิธี
ความรุนแรงจะได้ไม่เกิดขึ้นกับใครจนกลายเป็นบาดแผลในใจกับทั้งผู้ป่วยเองตลอดจนคนรอบข้างเขา และรวมไปถึงสังคมในที่สุด