นพพร ชูเกียรติศิริชัย
ผมเป็นผู้หนึ่งที่รู้สึกอิดหนาระอาใจกับสถานการณ์บ้านเมืองของเรา (หรือเปล่า?) ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะผมไม่เคยคาดคิดว่า ภาพการไล่กระทืบกันอย่างเมามันด้วยความมุ่งหวังที่จะพิชิตฝ่ายตรงข้าม (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน) จะเกิดขึ้นในสังคมที่เที่ยวประกาศกับใครต่อใครว่าเป็นสังคมที่ยึดมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนาอย่างเข้มข้น
‘ฉากชีวิตจริง’ นั้นดุเด็ดเผ็ดมันกว่า ‘หนังบู๊’ ที่ดูผ่านหน้าจอหลายเท่านัก และดูจะสยดสยองกว่า ‘คลิปวีดีโอเด็กนักเรียนตบกัน’ เป็นไหนๆ ส่วน ‘ความรุนแรงแบบเด็กช่างกล’ หรือจะเทียบเท่าลีลาการวาดแม่ไม้มวยไทยสไตล์ที่มีผู้หลักผู้ใหญ่เป็นผู้นำทัพ
โอ้พระเจ้า! ประชาธิปไตยอยู่ในกำมือของพวกเราแล้ว
ฉากเตะต่อยที่ถูกฉายผ่านรายการข่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า เล่นเอาผมนึกย้อนถึงฉากบางฉากในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง POM POKO ของ สตูดิโอจิบลิขึ้นมากระทันหัน
ผมประทับใจฉากที่ ‘ทานูกิ’ (สัตว์ป่าหน้าตาคล้ายๆ แร็คคูน) กลุ่มหนึ่ง คิดจะปกป้องผืนป่าของพวกเขาด้วยการใช้กำลังเข้าต่อสู้กับศัตรูซึ่งเป็นมนุษย์ โดยเหล่า ‘ทานูกิ’ ตัดสินใจดึง ‘ลูกกระแป๋ง’ (ส่วนล่างของอวัยวะเพศชาย) ที่ทั้งใหญ่ทั้งยาน เข้าฟาดฟันกับศัตรู แต่สุดท้ายความรุนแรงก็จบด้วยความรุนแรง ‘ทานุกิ’ กลุ่มนั้นต้องตายไปพร้อมกับ ‘ลูกกระแป๋ง’ และป่าของพวกเขาก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสทุนนิยม
ผมจำไม่ได้ว่าผู้กำกับภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้ชื่ออะไร แต่ ‘ลูกแป๋ง’ ของ ‘ทานูกิ’ แท้จริงแล้วก็คือสัญลักษณ์ของ ‘เพศชาย’ ที่เมื่อจวนตัวก็มักจะหมกหมุ่นกับการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงอยู่เสมอ
ปัจจุบันผมไม่มั่นใจ และไม่แน่ใจว่า สังคมไทยจะสามารถข้ามพ้นความเกลียดชังไปได้อย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อมั่นก็คือ การหมกหมุ่นอยู่กับ ‘ลูกกระแป๋ง’ ย่อมไม่ใช่ทางออกของทุกๆ ปัญหาอย่างแน่นอน และที่สำคัญสถานการณ์ต่างๆ จะยิ่งเลวร้ายไปกว่าเดิม หากความหมายของ ‘ประชาธิปไตย’ สำหรับใครบางคนนั่นอ้างอิงอยู่กับ ‘จำนวน’ และ ‘ความเข้มแข็ง’ ของ ‘ลูกกระแป๋ง’ อย่างที่กำลังเป็นกันอยู่
Crows : ภาพสะท้อนของเพศชาย ที่ไปไม่ไกลกว่าลูกกระแป๋ง (เช่นเคย)
Crows Episode Zero เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากหนังสือการ์ตูน ‘Crows’ หรือในชื่อภาษาไทยว่า ‘เรียกเขาว่าอีกา’ ซึ่งได้รับความนิยมทั้งในญี่ปุ่นและเมืองไทย
เรื่องราวในภาพยนตร์เริ่มต้นขึ้น เมื่อ ‘เก็นจิ’ ลูกชายของหัวหน้าแก๊งค์ยากูซ่าชื่อดัง ปรารถนาที่จะสืบทอดกิจการต่อจากพ่อ แต่พ่อของเขากลับตั้งข้อแม้ว่า ‘เก็นจิ’ จะต้องแสดงฝีมือด้วยการรวบรวมแก๊งอันธพาลวัยรุ่นมากฝีมือ (ในเรื่องชกต่อย) ในโรงเรียน ‘ซูซูรัน’ ให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้เสียก่อน
ด้วยความปรารถนาที่จะเอาชนะพ่อ ‘เก็นจิ’ จึงเริ่มปฏิบัติการ ‘ท้าดวล’ (ชกต่อย) กับ เหล่านักเรียนที่ประกาศตนเป็นหัวหน้ากลุ่มต่างๆ เพื่อรวบรวมสมาชิกแก๊งค์ไปโค่นล้ม ‘ทามาโอะ’ ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดฝีมือของ ‘ซูซูรัน’
หลายคนที่พ่ายแพ้ยอมเข้ามาเป็น ‘พวก’ ของ ‘เก็นจิ’ แต่สำหรับ ‘มาคาอีซะ’ หัวหน้ากลุ่มเด็กนักเรียนชั้นปีที่ 3 (ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่กลุ่มหนึ่งของซูซูรัน) ‘เก็นจิ’ กลับไม่สามารถที่จะเอาชนะเขาได้ด้วยการใช้กำลัง เพราะถึงแม้ว่า ‘มาคาอีซะ’ จะเคยพ่ายแพ้ให้แก่ ‘ทามาโอะ’มาหลายครั้ง แต่เขาก็ไม่เคยที่จะยอมเข้าเป็นพวกของ ‘ทามาโอะ’ และการตัดสินใจเช่นนั้นกลับทำให้สมาชิกแก๊งค์เชื่อมั่นในความเป็นหัวหน้าของ ‘มาคาอีซะ’
แต่จุดอ่อนของ ‘มาคาอีซะ’ ในเรื่อง ‘ความต้องการทางเพศสูง’ กลับกลายเป็นข้อมูลที่ทำให้ ‘เก็นจิ’ สามารถเอาชนะใจของ ‘มาคาอีซะ’ ได้ด้วยการพาเขาไปพบปะกับสาวๆ จนสุดท้าย ‘มาคาอีซะ’ก็ยอมที่จะนำสมาชิกแก๊งค์เข้ามาเป็นพวกของ ‘เก็นจิ’เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจ (ไปไม่ไกลกว่าลูกกระแป๋งอีกเช่นเคย)
จนเมื่อวันประลองกำลังระหว่างสมาชิกแก๊งค์ของ ‘เก็นจิ’ และ ‘ทามาโอะ’ มาถึง ทั้งสองฝ่ายต่างทุ่มเทกำลังเข้าห้ำหั่นกันจนเละเทะ และเลอะเทอะ เพื่อรวบรวมซูซูรันให้เป็นหนึ่งเดียว และแม้ว่าในที่สุด ‘เก็นจิ’ จะสามารถเอาชนะ ‘ทามาโอะ’ ได้ แต่เขาก็ยังไม่ใช่ผู้นำของ ‘ซูซูรัน’ อยู่ดี เพราะสุดท้ายเขาก็ยังต้องต่อสู่กับยอดฝีมือไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
สำหรับมนุษย์ผู้หลงใหลในความเท่ห์ (แฟชั่นการแต่งกายสไตล์ญี่ปุ่น) และความมันสะใจ (ฉากบู๊ดุเดือดเลือดพล่าน) คุณอาจจะหลงรักภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ไม่ยาก แต่สำหรับมนุษย์ซึ่งปฏิเสธ ‘ความรุนแรง’ และ ‘ความเป็นชาย’ คุณอาจต้องส่ายหน้ากับสารสาระที่คุณจะได้รับ เพราะ ‘มิตรภาพ’ ที่หนังเรื่องนี้พยายามจะสื่อ มันต้องแลกมาด้วยความแข็งแกร่งทางร่างกาย (คุณต้องชกต่อยเก่ง) และความเข้มแข็งทางจิตใจ (คุณต้องพร้อมจะยอมแลกหูของคุณเพื่อเพื่อนได้ตลอดเวลา) ตลอดจนต้องรู้จักประนีประนอม (คุณต้องยอมพาเพื่อนๆ ไป ‘อึ๊บ’ สาว) ในบางโอกาส
แต่สุดท้ายหนังเรื่องนี้ก็คือภาพสะท้อนที่ทำให้เรารับทราบว่า ไม่มีวันที่ ‘ผู้ชาย’ จะยอมละทิ้ง ‘ความรุนแรง’ ดุจเดียวกับ ‘ความหวงแหน’ และ ‘ความภาคภูมิใจ’ ใน ‘ลูกกระแป๋ง’ อันใหญ่โตของพวกเขานั่นแหละ
แล้ววันนี้เราพร้อมจะไปให้ไกลกว่า ‘ลูกกระแป๋ง’ แล้วหรือยัง?