จันทร์ ในบ่อ
หายหน้ากันไประยะหนึ่งสำหรับคอลัมภ์หนังรายสัปดาห์ของประชาไท ‘Blogazine' เลยขออนุญาตทำหน้าที่คั่นเวลาแทน ‘นพพร ชูเกียรติศิริชัย' ที่ช่วงนี้กำลังยุ่งกับการอพยพย้ายถิ่นฐาน ถ้าทุกอย่างลงตัวแล้วจะกลับมาทำหน้าที่เหมือนเดิมครับ ส่วนช่วงคั่นเวลาสัปดาห์นี้ผมขอชวนคุยเรื่อง ‘ปืนใหญ่จอมสลัด' ที่กำลังลงโรงฉายเลยแล้วกัน
คงไม่ต้องการันตีคุณภาพให้มากขึ้นเมื่อปืนใหญ่จอมสลัดเป็นฝีมือกำกับเรื่องล่าสุดโดย ‘นนทรีย์ นิมิตรบุตร' และเขียนบทโดย ‘วินทร์ เลียววารินทร์' นักเขียนรางวัลซีไรต์ ใช้ทุนสร้างร่วม 200 ล้านบาท ภาพยนตร์ออกฉายปฐมทัศน์ครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2008 ต่อมาออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์เวนิส ออกฉายรอบกาล่า ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2008 เปิดตัวรายได้สัปดาห์แรกที่ 31.6 ล้านบาท กระแสตอบรับจึงถือว่าดี บทความนี้จึงขอแค่ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ไปตามเรื่องตามราวเท่านั้น
ปืนใหญ่จอมสลัด ออกตัวไว้แล้วว่าเป็นหนังแนวแฟนตาซีที่หยิบประวัติศาสตร์ลังกาสุกะ (มลายูปตานี) ในช่วงศตวรรษที่ 17 มาวางเป็นโครงหลักของเรื่อง ความน่าสนใจอยู่ที่ประวัติศาสตร์ช่วงนี้เป็นของกลุ่มชนชาติหนึ่งในสยามที่ห่างไกลจากความรับรู้อย่างปราศจากอคติของคนไทยทั่วไป ไม่มีในบทเรียน และยังไม่เคยมีการทำออกมาในรูปแบบภาพยนตร์ เป็นช่วงที่รัฐปัตตานีหรือปตานีเป็นอิสระจากสยาม (กรุงศรีอยุธยา) เป็นยุคทองของการค้าขายทางสำเภาทะเล เป็นเมืองท่าที่สำคัญในคาบสมุทรมลายูและมีความพิเศษในด้านการปกครองคือมี ‘กษัตริยา' หรือมี ‘ผู้หญิง' แห่งราชวงศ์ศรีวังสาปกครองติดต่อกันถึง 4 รุ่น ได้แก่ รายาฮิเจา รายาบิรู รายาอุงงู และรายากูนิง เป็นกษัตริยาพระองค์สุดท้าย การสิ้นพระชนม์ของเธอที่กัมปุง ปันจอร์ พ.ศ.2231 ถือเป็นการสิ้นสุดช่วงสมัยการปกครองโดยกษัตริยาอย่างสมบูรณ์
ปืนใหญ่จอมสลัดได้ตัดเอาเฉพาะประวัติศาสตร์ช่วงปลายสมัยของรายาฮิเจา (จารุณี สุขสวัสดิ์) แห่งราชวงศ์ศรีวังสา (ครองราชย์ 2127 - 2159) เชื่อมต่อสมัยรายาบิรู (ณัฐรดา อภิธนานนท์) มาสร้างโดยมี ‘อุงงู' (แอนนา แฮมบาวริส) เป็นตัวละครหลักในการสร้างความรู้สึกสะเทือนใจด้วยปมที่ต้องเลือกระหว่างความรักส่วนตัวกับความเสียสละเพื่อแผ่นดิน
แต่เมื่อผู้กำกับออกตัวไว้ว่าเป็นหนังแนวแฟนตาซีมากกว่าหนังอิงประวัติศาสตร์ ผมจึงขอไม่แตะไปถึงความถูกผิดทางประวัติศาสตร์และขอยกให้เป็นหน้าที่ของนักวิชาการประวัติศาสตร์มลายูที่จะต้องอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจให้สังคมไทยอันหลากหลายต่อไป ตั้งแต่ประเด็นคำว่า ‘ลังกาสุกะ' ที่หนังเลือกจะหยิบมาใช้อย่างค่อนข้างตั้งใจและเลี่ยงจะไม่ใช้คำว่า ‘ปตานี' หรือ ‘ปัตตานี' ตามประวัติศาสตร์ของพื้นที่
ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่หนังเลือกที่จะเลี่ยงไปก็คือ ‘ภาษา' เพราะในขณะที่หนังต้องการสื่อถึงความเป็นพื้นที่การค้านานาชาติ ‘ภาษา' ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อผ่านบรรดาผู้ปกครองของรัฐให้สามารถพูดได้หลากภาษาไม่ว่าจะเป็นไทย จีน อังกฤษ แต่ภาษา ‘มลายู' อันเป็นภาษาของพื้นที่กลับถูกยกเว้นไว้ราวกับตั้งใจกีดกันไม่ให้มีปรากฏในหนังแม้สักฉาก
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นหลักที่อยากจะนำมาแลกเปลี่ยนกันในที่นี้ คือ การใช้สัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงกระบวนการเรียกร้องสันติภาพที่เหมือนมีเจตนาบ่งชี้ไปยัง ‘คนในพื้นที่ขัดแย้ง' อันหมายถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้ฉากจาก ‘ประวัติศาสตร์มลายู' มาสะท้อน ‘ความขัดแย้ง' ของปัจจุบัน
ปืนใหญ่จอมสลัดเลือกการใช้ ‘สี' เป็นสัญลักษณ์แทนคุณค่าให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆผ่านการแบ่งฝ่ายออกมาอย่างชัดเจน ‘สีขาว' เป็นสัญลักษณ์แทน ‘ฝ่ายดี' ส่วน ‘สีดำ' เป็นสัญลักษณ์แทน ‘ฝ่ายเลว' โดยมีวิชา ‘ดูหลำ' อันลึกลับเป็นเกณฑ์วัดความดีความชั่ว
ทั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งแบบแก้แค้นและหักล้างกันไปมาไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอำนาจหรือเรื่องส่วนตัว เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ ปืนใหญ่จอมสลัดเลือกใช้วิธีการจัดการปัญหาด้วยการเรียกร้องไปที่ปัจเจกบุคคลในระดับจิตวิญญาณ โดยบอกให้ ‘หยุด' เพื่อตัดวงจรของการแก้แค้นอันเกิดจากตัวเองออกไม่ว่าจะผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายสักเพียงใดก็ตาม และแสดงภาพการแก้แค้นนั้นเป็นความมุ่งหมายของฝ่าย ‘สีดำ' และการพยายามควบคุมหรือปล่อยวางเป็นเรื่องของฝ่าย ‘สีขาว'
เมื่อหนังมีวิชาดูหลำเป็นเกณฑ์วัดความดีชั่วแล้วก็มีตัวละคร ‘กระเบนขาว' (สรพงษ์ ชาตรี) เป็นสัญลักษณ์ของการถ่ายทอดแทนครูหรือผู้สอนให้รู้จักแนวทางที่ควรเดิน แต่กระนั้นแม้แต่ครูเองก็ตาม เมื่อฝึกวิชา ดูหลำแล้วหากจิตใจไม่มั่นคงก็อาจไม่สามารถควบคุม ‘ความมืด' ในตัวเองได้
อาจเป็นการตีความที่เกินไปและสุ่มเสี่ยงต่อความอ่อนไหว แต่ในเมื่อหนังเรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนของสถานการณ์ปัจจุบัน หนังจึงคล้ายกำลังกระซิบบอกให้เรานึกถึงศาสนาอิสลามอัน ‘ลึกลับ' ในสายตา ‘คนนอก' และบรรดาโต๊ะครูตามปอเนาะต่างๆก็กำลังทำหน้าที่ของ ‘กระเบนขาว' อย่างลึกซึ้ง
ดังนั้น เมื่อ ‘กระเบนขาว' ถูกท้าทายความมั่นคงทางจิตใจด้วยการเกือบต้องสูญเสีย ‘ลูกชาย' หรือ ‘เจ้าชายราไว' (เอก โอรี) ที่บทวางเอาไว้ให้ว่าเป็นฝ่ายผู้ร้ายอย่างแจ่มแจ้งแล้ว วิชาดูหลำหรือ ‘คำสอน' ก็กลายเป็นดาบสองคมที่มีไว้หล่อเลี้ยงความแค้น ครอบงำ และกลายร่างเป็น ‘กระเบนดำ' ที่มีพลังเพิ่มพูนขึ้น แต่ก็หมายความถึงความกระหายเลือดที่มากขึ้น และการแก้แค้นก็เป็นวงจรของการเข่นฆ่ากันไปมาไม่รู้จบอันเป็นปมของสถานการณ์ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับ ‘อีกาดำ' (วินัย ไกรบุตร) ลูกศิษย์ของ ‘กระเบนดำ' และสมุนของ ‘เจ้าชายราไว' ที่นอกจากฝึกวิชาดูหลำแล้วยังถูกวางความแค้นไว้ให้จากการต้องสูญเสียคนรักเพราะการไปลอบสังหารรายาฮิเจา ผู้นำสูงสุดแห่งลังกาสุกะ เพื่อปูทางยึดอำนาจให้เจ้าชายราไว แต่ผิดพลาดจึงถูก ‘ยะรัง' (เดี่ยว ชูพงษ์ ช่างปรุง) ทหารองครักษ์สังหาร อย่างไรก็ตามหนังได้สร้างความรู้สึกสาสมจากความตาย เสมือนเป็นกรรมของฝ่ายผู้ร้ายที่ก่อขึ้น
แต่ในเส้นทางที่คล้ายกันเพียงแต่บทถูกวางไว้แล้วว่าเป็นฝ่ายดี สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘ปารี' (อนันดา เอฟเวอริ่งแฮม) จึงเดินไปยังปลายทางที่ตรงกันข้าม ดังนั้นแม้ปารีจะถูกท้าทายด้วยสถานการณ์ที่ต้องสูญเสียภรรยาหรือถูกกลุ่มเจ้าชายราไวฆ่าล้างหมู่บ้าน และเป็นผู้ฝึกวิชาดูหลำตั้งแต่เด็ก เงื่อนไขทั้งหมดภายใต้ความแค้นทำให้ความมืดในใจแข็งกล้าขึ้นและพลังก็สูงขึ้น แต่เมื่อมี ‘ความรัก' และการรู้จัก ‘ปล่อยวาง' จึงทำให้ไม่หลงไปเป็น ‘ปารีดำ' เป็นผู้รักสันติด้วยการเลือกที่จะช่วยลังกาสุกะ ‘ฆ่า' ผู้รุกราน ดังคำกล่าวของเขาในช่วงท้ายเรื่องว่า "เรามาเพื่อหยุด"
แต่กระบวนการทางสันติวิธีหรือการตัดวงจรความแค้นแบบที่ปารีเลือกใช้นั่นเองกลับไม่ได้แตกต่างอะไรมากนักกับกระบวนการสันติวิธีของรัฐและคนใน ‘ชาติไทย' มองไปในสถานการณ์ความขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เป็น ‘คนมลายู'
ประการแรกความเจ็บปวดจากการสูญเสียคงไม่สามารถ ‘หยุด' ได้ง่ายดายนัก หากไม่มีความรู้สึกถึงการได้รับความเป็นธรรมและมีการเยียวยาที่เหมาะสม อีกประการหนึ่ง หนังกลับได้สร้างความชอบธรรมในการ ‘ฆ่า' หากมีกลุ่มบุคคลที่กำลังสร้างความไม่มั่นคงให้กับรัฐ เป็นคนอื่น และกลุ่มอำนาจอื่นที่ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับตนเองจึงสามารถถูกรัฐฆ่าให้ตายหรือกวาดล้างได้ แต่เมื่อปารีถูกวางตัวให้เป็นฝ่ายสีขาว แม้เป็นกลุ่มชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันเป็น ‘โจรสลัด' แต่การปล้นฆ่าโจรกลุ่มอื่นจึงเป็นความดี และเมื่อเริ่มต้นมีความรักครั้งใหม่กับอุงงูจึงมีความผูกพันธ์ทางใจกับฝ่ายรัฐหรือลังกาสุกะ (หลังภรรยาถูกฆ่าตายอย่างโหดร้ายไม่กี่เดือน) เขาจึงได้รับความชอบธรรมจากคนดูเพียงพอให้หยุดฝ่ายสีดำได้ด้วยการ ‘ฆ่า' และกวาดล้างขบวนการฝ่ายตรงข้ามให้หายไปเพื่อตัดวงจรความแค้นที่ตามล้างกันไม่รู้จบ
สิ่งที่สะท้อนผ่านหนังจึงย้อนกลับมาหาตัวเราเองผ่านการทำให้เรารู้สึกตลอดเวลาว่าการเป็นพวกเดียวกันกับ ‘ฝ่ายดี' จะทำให้เรามีความชอบธรรมในการฆ่า ‘คนอื่น' ได้มากกว่า ในขณะที่ฝ่ายสีดำจะไม่สามารถอธิบายว่า ‘หยุดด้วยการฆ่า' ได้ด้วยเหตุผลแบบเดียวกัน
นอกจากนี้ ปืนใหญ่จอมสลัดยังสร้างผลิตคำอธิบายให้กับรัฐให้สร้างความชอบธรรมในการผูกขาด ‘อำนาจ' โดยมี ‘มหาปืนใหญ่' หรือองค์ความรู้ในการผลิตเป็นสัญลักษณ์ของแสนยานุภาพที่ทุกฝ่ายต้องการช่วงชิง
ดังนั้นเมื่อบทหนังเลือกที่จะเลี่ยงการมีอยู่ของรัฐปตานีที่สถาปนาขึ้นแล้วในคาบสมุทรมลายู ภายใต้การคุกคามที่รายล้อมและสั่นคลอนความมั่นคงไม่ว่าจะทั้งจากมหาอำนาจในยุคนั้นอย่างกรุงศรีอยุธยา หรือรัฐอื่นที่ก่อตัวขึ้นมาในเช่นกัน เช่น ยะโฮร์ ปาหัง หรือกลุ่มอิสระอื่นๆที่รวมตัวกันเป็น ‘โจรใต้' อีกหลายกลุ่ม การดักปล้นสินค้าและอาวุธจึงมีความหมายของการไม่ยอมรับอำนาจและช่วงชิงผลประโยชน์ของรัฐส่วนกลาง
การย้อนกลับไปใช้คำว่า ‘อาณาจักรลังกาสุกะ' จึงสร้างความหมายของการปฏิเสธการมีอยู่ของรัฐอิสลามในคาบสมุทรมลายูที่ตั้งตัวเป็นอิสระจากสยาม และลังกาสุกะในความรับรู้ของผู้ดูก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการกำลังดูหนังประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาอีกเรื่องหนึ่ง และเมื่อ ‘ลังกาสุกะ' ถูกวางตัวตนให้เป็น ‘กรุงศรีอยุธยา' ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็คงอนุมานต่อได้ว่า ‘กรุงศรีอยุธยา' เท่ากับ ‘สยาม' และ ‘สยาม' ก็คือ ‘ไทย' ในปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อมีคนอื่น (กลุ่มโจรสลัด = กลุ่มมลายูแบ่งแยกดินแดน) มาท้าทายอำนาจและมีอาวุธ (มหาปืนใหญ่ = การปล้นปืน การลอบวางระเบิด การลอบสังหาร ฯลฯ) ที่มีแสนยานุภาพจึงเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้
ปืนใหญ่จอมสลัดจึงได้ผูกเรื่องและวางฝ่ายคนดีทั้งหมดรวมกันไว้ที่ ‘ลังกาสุกะ' อันเป็นภาพตัวแทนของรัฐส่วนกลาง ในขณะที่ผู้ท้าทายทั้งหมดถูกวางไว้ที่ ‘ฝ่ายดำ' เป็นกลุ่มโจร เป็นคนเลวแถมยังต่อต้านรัฐ ดังนั้นความหมายสุดท้ายที่แฝงไว้ก็คือพวกเหล่านี้ล้วนกำจัดได้
ปืนใหญ่จอมสลัดจึงเป็นหนังที่น่าเสียดายอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งที่มีความพร้อมในหลายๆด้าน มีความแหลมคมของสถานการณ์ปัจจุบันที่อาจช่วยนำไปสู่ความสนใจในพื้นที่และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ลดอคติอย่างแท้จริงได้ งบประมาณสนับสนุนก็ถือว่าไม่ขี้เหร่ และที่สำคัญคือมีนักแสดงฝีมือดีไม่ว่าจะดารารุ่นเก๋าอย่างสรพงษ์ ชาตรี หรือจารุณี สุขสวัสดิ์ มีพระเอกมากฝีมืออย่างอนันดา เอฟเวอริ่งแฮม มีนักแสดงที่ล้วนจดจำบทบาทกันได้จากฝีมือที่ฝากไว้เมื่อครั้ง ‘2499 อันธพาลครองเมือง' ไม่ว่าจะเป็นเจษฎาพร ผลดี, อรรถพร ธีมากร, ชาติชาย งามสรรพ์, หรือศุภกร กิจสุวรรณ
แต่หนังไม่ค่อยปล่อยให้ตัวละครเหล่านั้นได้แสดงอารมณ์ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติอย่างหนังที่นนทรีเคยทำในเรื่องที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น 2499 เองหรือในหนังเรื่อง ‘นางนาก' ก็ตาม แต่กลับดูเหมือนจะสนใจโปรดัคชั่นหรูหราอลังการเสียมากกว่า
ดังนั้น ปืนใหญ่จอมสลัด แม้ว่ามีภาพของนักแสดงมากมายปรากฏตัวออกมา แต่กลับถูกลดทอนให้กลายเป็นบรรยากาศของงานเลี้ยงรุ่นที่แค่ยืมหน้ามาใช้ให้กล้องวิ่งผ่าน ที่สำคัญยังยืมรูปแบบการนำเสนอจากหนังเรื่องอื่นๆมาใช้มากเกินกว่าการเป็นแรงบันดาลใจจนทำให้เสียความเป็นตัวของตัวเองในการทำหนัง ไม่ว่าจะเป็นคาแร็กเตอร์ตัวละครอย่างกระเบนขาว/ดำที่ชวนให้นึกถึงพ่อมดแกนดาร์ฟ พวกโจรสลัดที่ไม่สลัดภาพของแจ็ค สแปโร่ ส่วนคิวบู๊ก็เหมือนจะโชว์ออฟจนเป็นองค์บากภาค 1 ครึ่ง หรือฉากในรั้วในวังก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าแตกต่างอะไรไปจากนเรศวรหรือสุริโยไทของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
ที่สำคัญ การยอมตายเพื่อชูอุดมการชาติแบบกามิกาเซ่ของ ‘ยะรัง' ทหารองครักษ์แห่งลังกาสุกะในตอนท้ายเรื่อง คงเป็นสัญญาณแทนคำตอบของหนังทั้งเรื่องไปแล้วว่า ‘มหาปืนใหญ่' กระบอกนี้กำลังเล็งไปที่ใครกันแน่....