ครั้งก่อนพูดถึง Tempo ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า สังคมอินโดนีเซียเป็นสังคม แห่งการเรียนรู้ และลึกซึ้งทางด้านภูมิปัญญา
ไม่ง่ายนักที่ในเมืองหลวงแห่งหนึ่งจะมีองค์กรสื่อที่สามารถสร้างสื่อกระแสหลัก และสื่อทางเลือก แสดงจุดยืนของตนเองมานานนับยี่สิบปี และคาดว่าจะเจริญก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ ทั้งตัวองค์กรและตัวความคิด ไม่ใช่สื่อประเภท ม้าตีนต้น ที่เปิดตัวแบบผู้มีอุดมการณ์ทางความคิด ก้าวล้ำนำสังคม แต่เมื่อหนังสือพิมพ์เริ่มดัง หรือรายการดังติดลมบน ความคิดก็เบี่ยงเบนไปทางรักษาพื้นที่ทางเศรษฐกิจมากกว่า การรักษาจุดยืนทางความคิด ผิดกับสังคมอินโดนีเซียที่สื่อของพวกเขาแสดงจุดยืนอย่างมั่นคง สื่อตลาดก็ว่าไปตามเนื้อผ้า แต่ถ้าฉันเป็นสื่อที่เน้นความคิดแนวหนึ่งที่ควรมีที่อยู่ที่ยืนในสังคม ก็จะดำรงจุดยืนของตน ไม่แกว่งไกว
สังคมอินโดนีเซียจึงเป็นสังคมอุดมปัญญา มีปัญญาชนให้น่านับถืออยู่หลายกลุ่ม และแม้ว่าจะถูกอำนาจรัฐพยายามดึงเครื่องไม้เครื่องมือมาตัดกำลังความมีเสรีภาพของสื่อ แม้จะสิ้นยุคเผด็จการไปแล้ว แต่บรรดาสื่อปัญญาชนก็รวมตัวกันอย่างรวดเร็วและเหนียวแน่นเพื่อต่อสู้กับกระบวนการทำลายเสรีภาพของสื่อ
เมื่อพูดถึงสื่อท้องถิ่น หรือสื่อต่างจังหวัด ที่ไม่ใช่ผลิตขึ้นในกรุงเทพฯ และไม่ใช่สื่อส่งขายไปทั่วประเทศ แต่เป็นหนังสือพิมพ์ที่ผลิตและพิมพ์ขายในจังหวัดนั้นๆ จินตภาพต่อสื่อท้องถิ่นหรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นคือ หนังสือพิมพ์ไร้คุณภาพ เน้นวางตลาดในวันหวยออก และชเลียร์กับนักการเมืองท้องถิ่น
หากพูดถึงในบริบทนั้น สื่อท้องถิ่นในอินโดนีเซียแทบจะเรียกว่า สื่อท้องถิ่นไปไม่ได้เลยทีเดียว อินโดนีเซียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีดินแดนกว้างใหญ่ มีหมู่เกาะน้อยใหญ่ถึง 17,000 เกาะ และมีเกาะใหญ่ถึง 5 เกาะ สุมาตรา ชวา กาลิมันตัน สุลาเวสี และอิเรียน จายา และมีภาษาถิ่น (direct language) มากถึง 701 ภาษา แบ่งเป็น ที่สุมาตรา 52, กาลิมันตัน 81, สุลาเวสี 116, ชวาและบาหลี 17, ภาษาจีนต่างๆ เช่นฮกเกียน แมนดาริน ฯลฯ, นูซา ตังกาลา 60, มาลูกุ 128, และอิเรียน จายา 2471 มีประชากร 230 ล้านคน ตัวเลขหนังสือพิมพ์รายวันที่ขายทั่วประเทศ (วันละ) 5 ล้านฉบับ ซึ่งคนอินโดนีเซียมองว่า ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร
แต่ในมุมมองของผู้เขียนมองว่า เพราะความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย และดินแดนที่กว้างใหญ่ ไม่ได้ทำให้ประชาชนของอินโดนีเซีย ตกอยู่ภายใต้การครอบงำทางการตลาดหรือทางความคิดของสื่อกระแสหลัก (ที่ผลิตและกระจายไปทั่วประเทศจากเมืองหลวงจาการ์ตา) เพียงอย่างเดียว เป็นการสร้างสมดุลย์ของบรรยากาศความคิดระหว่างสื่อกระแสหลักและสื่อท้องถิ่น เพราะในแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดในอินโดนีเซียมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น (ขนาดใหญ่) และมีอายุยืนยาวนาน ตั้งแต่ 50-100 ปีเลยทีเดียว ฉะนั้นจึงบอกได้ว่า อายุยืนยาวขนาดนี้สื่อได้สร้างวัฒนธรรมบางอย่างและสร้างสำนึกแบบท้องถิ่นนั้นๆ ให้กับชุมชน อย่างปฏิเสธไม่ได้เลยทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่น ในชวากลางมี Kadaulatan Rakyat สำนักพิมพ์อยู่ในเมือง ยอกยาการ์ตา มีหนังสือพิมพ์ในเครือถึง 2 ฉบับ และนิตยสารวัยรุ่น 1 ฉบับ มีนักข่าวและบรรณาธิการรวมทั้งหมด 100 คน ในสุมาตราเหนือ ที่จังหวัดเมดานมี Waspada มีหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ มีนักข่าวและบรรณาธิการ 50 คน มีสำนักพิมพ์สาขาในจังหวัดอาเจะห์อีกหนึ่งสาขา และมีเกาะสุมาตรามีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นติดอันดับหนังสือพิมพ์ขายดีจากการสำรวจของเอเยนซีในเมืองหลวงถึง 3 ฉบับ
สำนักพิมพ์และหนังสือพิมพ์ waspada ในเกาะสุมาตราเหนือ จังหวัดเมดาน เป็นตัวอย่างหนึ่งของสำนักงานหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น มีระบบการบริหารจัดการในระดับมืออาชีพ
แม้แต่ชวาตะวันออก ที่สุราบายา ก็มี Jawa Post ซึ่งแทบจะไม่เรียกว่าเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแล้ว เพราะเป็นเครือข่ายหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่อันดับสองรองจากหนังสือพิมพ์กระแสหลักอย่าง Kompas เพราะมีหนังสือพิมพ์ลูกในแต่ละจังหวัดมากกว่า 100 หัว
ในบาหลี มี Bali Post มีอายุยืนยาวเกือบ 100 ปี นอกจากบาหลี โพสต์แล้วยังมีหนังสือพิมพ์ในเครือ รวมทั้งนิตยสารอีกร่วม 3 ฉบับ และสถานีโทรทัศน์อีกหนึ่งสถานี นอกจากบาหลี โพสต์แล้ว ในเกาะบาหลียังมีหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับแต่อาณาจักรไม่ยิ่งใหญ่เท่า บาหลี โพสต์ เพราะบาหลี โพสต์มีนักข่าวทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์รวมกันเกือบ 200 คน และที่ชาวตะวันตก ที่เมืองบันดุงก็มี Pikiran Rakyat ซึ่งเก่าแก่ถึง 60 ปีมีหนังสือพิมพ์ในเครือ 3 ฉบับ มีนักข่าวร่วม 100 ชีวิต
ในบริบทของอินโดนีเซีย สื่อท้องถิ่นของอินโดนีเซียจึงไม่ไร้พลังอย่างที่คิด ทั้งยังเป็นกลุ่มพลังที่สร้างสมดุลย์กับสังคมหลากหลายของอินโดนีเซีย (หากใช้ในทางที่สร้างสรรค์) และยอดขายในแต่ละวันของหนังสือพิมพ์เหล่านี้ในจังหวัดนั้นๆ วันละ 1 แสนเล่มเป็นอย่างต่ำ
1 Jame J. Fox, Notes on Cultural Diversity in Southeast Asia, Kamanto Sunarto, Russell Hiang-Khng Hen, Achmad Fedyani Saifuddin , Multicultural Education in Indonesia and Southeast Asia: Stepping into the Unfamiliar, Jumal Antropologi Indonesia, 2004, P 15