Skip to main content

 

แถลงการณ์ฉบับที่ 1 กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ

กรณีร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …

การรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2549 นอกจากจะเป็นการก้าวถอยหลังของประชาธิปไตยไทยแล้ว ยังเป็นเหตุให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนหลายครั้งในนามของกลุ่มการเมืองและกลุ่มสีเสื้อต่างๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงครั้งที่นับได้ว่าเป็นความสูญเสียสำคัญครั้งหนึ่งคือเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งมีประชนชนและเจ้าหน้าที่ต้องเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นกว่าร้อยคน และได้มีการจับกุมประชาชนเป็นจำนวนมากภายหลังการสลายการชุมนุมดังกล่าวอีกด้วย

เราต่างทราบดีว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นมิใช่การสังหารประชาชนในการชุมนุมทางการเมืองเป็นครั้งแรก ที่ผ่านมาประเทศไทยในนามของ “รัฐ” ได้ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนหลายครั้ง อาทิเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516, 6ตุลาคม พ.ศ. 2519  พฤษภาคม พ.ศ. 2535 หรือแม้แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชนภาคใต้ ทั้งกรณีกรือเซะ ตากใบ เป็นต้นซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าจนถึงวันนี้ยังมิได้มีการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้สูญเสีย ผู้ได้รับผลกระทบทั้งยังไม่มีการเอาผิดต่อผู้ที่กระทำความรุนแรงต่อประชาชน รวมถึงผู้ที่ปลุกปั่นให้เกิดความเข้าใจว่าการกระทำรุนแรงกับประชาชนที่ถูกจัดให้เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่กลับมีการนิรโทษกรรมจนวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด (Impunity) และการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตถูกนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย

การเรียกร้องของภาคประชาชนกลุ่มต่างๆที่มุ่งผลักดันกระบวนการค้นหาความจริงและการนิรโทษกรรมประชาชน เพื่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคม จึงเป็นทางออกเดียวที่จะช่วยเยียวยาสังคม ช่วยป้องปรามการกระทำอันเกินกว่าเหตุจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐรวมทั้งการช่วงใช้ประโยชน์จากการปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้หากเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองในครั้งต่อไป

แม้จะเป็นความก้าวหน้าที่กระบวนการนิรโทษกรรมได้ดำเนินการในรัฐสภา ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและมีเนื้อหาในการยื่นเสนอเพื่อนิรโทษกรรมประชาชนที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ทางการมือง แต่เป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งเมื่อมีการแปรญัตติ ให้ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ ครั้งนี้สอดแทรกเนื้อหาให้มีการนิรโทษกรรมครอบคลุมกรณีอื่นซึ่งมิใช่ความผิดอันเนื่องมาจากการชุมนุมหรือการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนโดยขยายขอบเขตการนิรโทษกรรมให้รวมไปถึงแกนนำการชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้มีอำนาจสั่งการในการสลายการชุมนุมเอื้อประโยชน์ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลรอดพ้นจากความผิดทั้งในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตคอรัปชั่นด้วยนั้น ถือเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของการตรากฎหมายนิรโทษกรรมอย่างไม่อาจยอมรับได้ เนื่องจากการตรากฎหมายนิรโทษกรรมในลักษณะ “เหมาเข่ง” เช่นนี้เป็นการเปิดช่องว่างให้ละเว้นการสอบสวนลงโทษผู้กระทำผิดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อที่ 2 (3)* รวมทั้งเป็นการผลิตซ้ำวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด (Impunity) ให้คงอยู่กับสังคมไทย

กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศจึงขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 31 ตุลาคม 2556และขอเรียกร้องว่า (1) ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ต้องยึดมั่นในหลักการของการนิรโทษให้แก่ประชาชนรวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฟ้องร้อง จับกุม ดำเนินคดี ตามประมวญกฎหมายอาญามาตรา 112โดยมิให้ครอบคลุมถึงแกนนำการชุมนุมทางการเมืองเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำเกินกว่าเหตุ ทุจริตคอรัปชั่น และผู้สั่งการในการสลายการชุมนุม และ (2) ในขณะการนิรโทษกรรมจะดำเนินถึงที่สุดขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีการพิจารณาดำเนินการให้การประกันตัวนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดที่ยังถูกจองจำอยู่อย่างมิได้รับความเป็นธรรมโดยเร็วที่สุด(3)เพื่อเป็นการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยและเป็นการป้องปรามไม่ให้มีการดำเนินการความรุนแรงกับประชาชนและไม่ให้มีการสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ปลุกระดมให้มีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับประชาชนรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องค้นหาความจริงโดยผ่านกระบวนการยุติธรรมทุกกรณีทั้งนี้ความยุติธรรมที่แท้จริงเท่านั้นที่จะนำพาสังคมสู่การปรองดอง

จึงขอให้รัฐบาลและรัฐสภาพิจารณาดำเนินการตามข้อเรียกร้องข้างต้นเป็นกรณีเร่งด่วน

----------------------------------------------------------------------------------------------------

 

*3. ภาคีรัฐแห่งกติกาฉบับนี้แต่ละรัฐรับที่จะ
        (ก) ให้ความมั่นใจว่า บุคคลใดก็ตามที่สิทธิหรือเสรีภาพของตนอันยอมรับแล้ว ณ ที่นี้ ถูกล่วงละเมิด ย่อมมีทางบำบัดแก้ไขอย่างเป็นผลจริงจัง แม้ถึงว่าการล่วงละเมิด จะเกิดจากบุคคลผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ก็ตาม 
        (ข) ให้ความมั่นใจว่าบุคคลใดก็ตามที่แสวงหาทางบำบัดแก้ไขดังกล่าว ย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายปกครองหรือฝ่ายนิติบัญญัติที่มีอำนาจ หรือจากหน้าที่ฝ่ายอื่นที่มีอำนาจตามที่กำหนด ไว้ในระบบกฎหมายของรัฐ และจักต้องดำเนินการให้การบำบัดแก้ไขทางศาลบังเกิดผลเป็นไปได้
        (ค) ให้ความมั่นใจว่า เมื่อได้ยอมรับจะบำบัดแก้ไขให้แล้ว เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะบังคับการให้เกิดผลจริงจังตามนั้น

----------------------------------------------------------------------------------------------------

ลงนามแนบท้ายแถลงการณ์

1. ชุมาพร แต่งเกลี้ยง กลุ่มโรงน้ำชา

2. อัญชลี แก้วแหวน กลุ่มโรงน้ำชา

3. ศรัทธารา หัตถีรัตน์ กลุ่มโรงน้ำชา

4. อันธิฌา แสงชัย โครงการห้องเรียนเพศวิถี ร้านหนังสือบูคู

5. ดาราณี ทองศิริ โครงการห้องเรียนเพศวิถี ร้านหนังสือบูคู

6. ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ

7. การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์

8. อัญชนา สุวรรณานนท์

9. พงศ์ธร จันทร์เลื่อน Mplus

10. เจษฎา แต้สมบัติ

11. ณฐกมล ศิวะศิลป

12. ก้าวหน้า เสาวกุล

13. ชีวิน จั่นแก้ว

14. ยูฮานี เจ๊ะกา

15. จิตติมา ทรรศนกุลพันธ์

16. ดนัย ลินจงรัตน์

17. ณรรธราวุธ เมืองสุข

18. วัชระ ศรีธาราธิคุณ

19. ไพศาล ลิขิตปรีชากุล

20. นริณีย์ รุทธนานุรักษ์

21. รติรส แผ่นทอง

บล็อกของ LGBT&Democracy (CDSR)

LGBT&Democracy (CDSR)
แถลงการณ์กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศเรื่อง ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศและการจับกุมดำเนินคดีต่อผู้ประท้วงจากกรณีที่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันโอชา ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติการสร้า
LGBT&Democracy (CDSR)
แถลงการณ์กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศฉบับที่  6
LGBT&Democracy (CDSR)
แถลงการณ์ฉบับที่ 3 กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ
LGBT&Democracy (CDSR)
 แถลงการณ์ฉบับที่ 1 กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ