แถลงการณ์ฉบับที่ 4 สนับสนุนหลักการของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.)

 
 
แถลงการณ์ฉบับที่ 4 กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลายหลายทางเพศ
เรื่องสนับสนุนหลักการของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.)
 
ตามที่สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2556 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ
 
(1) ไม่เห็นด้วยกับการก่อตั้ง “สภาประชาชน” โดยไม่เข้าสู่กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางปรกติ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และถือได้ว่าเป็นการทำรัฐประหาร การอ้างอิงมาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ก็ไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เว้นแต่จะต้องเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน ยิ่งกว่านั้นการนำเสนอเรื่องสภาประชาชนไม่มีความชัดเจนถึงการยืดโยงกับความเป็นตัวแทนของประชาชน ไม่คำนึงถึงความเท่าเทียม และความหลากหลายทางความคิด โดยเฉพาะต่อประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมกับ กปปส.
 
(2) ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้มี “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” หลังการยุบสภาโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 7 หรือโดยอาศัยการตีความรัฐธรรมนูญแบบประหลาด เนื่องจากเป็นการพยายามตีความรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามครรลองของหลักการประชาธิปไตย และละเมิดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีภายหลังจากการยุบสภา จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มารับหน้าที่เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง
 
และ (3) การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการทำประชามติ รัฐธรรมนูญเป็นกติกาประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายต้องให้ความเคารพ รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ด้วยเจตจำนงของประชาชน ที่ต้องคำนึงถึงทั้งหลักประชาธิปไตยและหลักการที่ไม่ทำลายสังคมประชาธิปไตยเสียเอง ทั้งนี้หากมีความไม่เห็นพ้องต้องกันถึงกติกาประชาธิปไตยฉบับนี้ ก็สมควรจะร่วมกันหาทางออกที่ได้รับการยอมรับกันทุกฝ่าย การแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆควรมาจากการทำประชามติในการแก้ไข หรือยืนยันการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ เป็นทางออกของสังคม
 
เรา นักกิจกรรมและประชาชน ในนามกลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ ขอแสดงจุดยืนเพื่อพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยโดยการสนับสนุนหลักการของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ในข้างต้น และไม่ยอมรับกระบวนการใดๆที่เป็นการขัดขวาง/เหนี่ยวรั้ง กระบวนการเลือกตั้ง การสร้างสุญญากาศทางการเมือง และการทำลายหลักการประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น เราขอยืนยันว่าการอยู่ร่วมสังคมจำเป็นต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิพลเมือง ความเสมอภาค ความเท่าเทียม และยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยสากลเป็นสำคัญ การนำรูปแบบประชาธิปไตยทางตรงมาปรับใช้ต้องเกิดจากการปรึกษาหารืออย่างเป็นประชาธิปไตยในสังคม มิใช่ข้อเสนอโดยลำพังของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราเชื่อมั่นในหลักสิทธิและเสรีภาพที่ได้มีการรับรองในกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ตามที่รัฐไทยได้ให้สัตยาบันไว้
 
ขอแสดงความนับถือ
นักกิจกรรมกลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิความหลากหลายทางเพศ
 
ลงนามแนบท้ายแถลงการณ์
1. ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่
2. ดาราณี ทองศิริ
3. ก้าวหน้า เสาวกุล
4. ณฐกมล ศิวะศิลป
5. พัชรี แซ่เอี้ยว
6. พงศ์ธร  จันทร์เลื่อน
7. เดชธนา ปกครอง
8. พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ
9นริณีย์ รุทธนานุรักษ์
10. ศรัทธารา หัตถีรัตน์
11. สัณห์ชัย โชติรสเศรณี