Skip to main content

 

                ใครจะคิดว่าเมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมาจะเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญชาวอเมริกันขึ้นอีกครั้ง เมื่อเกิดระเบิดถึงสองครั้งในแข่งขันกีฬามาราธอนที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงสามรายและบาดเจ็บนับสองร้อยคน การระเบิดครั้งนี้อาจจะมีความสูญเสียน้อยมากหากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน เป็นต้นมา ก็ตาม  แต่การระเบิดครั้งนี้ได้ทำให้สถานการณ์ความหวาดกลัวต่อการก่อการร้ายของชาวอเมริกันที่ได้จางหายไปหลังจากการเสียชีวิตลงของนายโอซาม่า บินลาเดนได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง
 
 
              เราจะเห็นว่า การระเบิดในครั้งนี้เป็นการระเบิดที่มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการระเบิดในงานมาราธอน งานกีฬาที่แทบจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองใด ๆ เลย ซึ่งมีหลายสื่อให้ความเห็นว่า มันมุ่งเน้นโจมตีไปยังสถาบันหลักครอบครัวของชาวอเมริกันนั้นเอง
 
              คล้ายกับผู้อยู่เบื้องหลังวินาศกรรมครั้งนี้ต้องการจะบอกคนอื่นให้รับทราบว่า แม้ในที่ปลอดภัยที่สุดก็ใช่จะปลอดภัยได้เสมอไป
 
               แต่ที่สิ่งที่เกิดขึ้นแทบจะทันทีหลังการระเบิดก็คือ ท่าทีสับสนอลหม่านของผู้คนชาวอเมริกันชนที่ต่างตกตะลึงกับเหตุการณ์นี้ หากจะเปรียบล่ะก็พวกเขาคงไม่คิดว่า เหตุการณ์นี้จะมาเกิดขึ้นกับตัวของพวกเขาใกล้ ๆ ตัวแบบนี้ยิ่งงานมาราธอนในวัฒนธรรมของชาวอเมริกันแล้วนั้นเป็นงานของครอบครัวด้วยซ้ำไป เรามักจะเห็นในหนังหลายเรื่องว่า งานนี้มักจะมีครอบครัวมาร่วมเชียร์ด้วยเสมอ พ่อเป็นคนวิ่ง แม่กับลูกอาจจะวิ่งตามติดเพื่อดูสามีหรือพ่อของตัวเองเข้าเส้นชัย
 
               และนั่นเองที่ไม่น่าแปลกใจที่หนึ่งในสามผู้เสียชีวิตจะเป็นเด็กอายุเพียงแปดขวบที่วิ่งไปหาพ่อของเขาที่กำลังจะเข้าเส้นชัย ซึ่งเรียกอารมณ์ดราม่าให้กับเหตุการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี
 
               และทันทีทันใดก็มีข่าวออกมามากมายชวนให้สับสนเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่หนักก็คือการออกข่าวว่าจับผู้ต้องสงสัยชาวซาอุดิอาระเบียได้แล้ว แน่นอนว่า ข่าวนี้ไม่เป็นความจริงเพราะ ตำรวจเพียงแค่สอบถามชายซาอุนี้ไว้เป็นพยานก็เท่านั้น ไม่ใช่ผู้ต้องสงสัยแต่อย่างใด
 
                ทว่าด้วยเทคโนโลยีที่รวดเร็วจนผู้คนไม่ได้ตรองข่าวก็ทำให้ชายชาวซาอุคนนี้เกือบจะเป็นผู้ร้ายในสายตาของคนอเมริกันไปเสียแล้ว โชคดีที่มีข่าวแพร่ออกมาไว เขาเลยรอดตัวไปได้ รวมทั้งท่าทีของประธานาธิบดี บารัค โอบาม่าก็พยายามจะรักษาอารมณ์วี้ดว้ายของคนอเมริกันให้ใจเย็นลงก่อนจะประกาศการกระทำนี้เป็นการก่อการร้ายในภายหลัง
 
                 แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าสงครามก่อการร้ายจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่เมฆหมอกความหวาดระแวงของคนอเมริกันชนก็ไม่ได้จางหายไปโดยง่าย ๆ
 
                 ม่านหมอกที่ว่านั้นทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งได้แก่ The Mist
 
 
                 The Mist  หรือในชื่อไทยว่า มฤตยูหมอกกินมนุษย์ เป็นผลงานภาพยนตร์ของผู้กำกับชาวอเมริกันที่ทำหนังดีแต่ไม่ค่อยได้เงินอย่าง แฟรงค์ ดาราบ๊องค์ และดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของราชานิยายสยองขวัญอย่างสตีเฟ่น คิง ที่ผลงานนี้เป็นหนึ่งในการดัดแปลงนิยายของเขาได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในบรรดาหนังจากนิยายของเขาเลยทีเดียว
 
                 เรื่องราวของ The Mist นั้นเป็นเรื่องราวของพ่อลูกคู่หนึ่งที่ออกมาซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อเตรียมตุนเอาไว้รับมือพายุที่กำลังจะมา แต่ทว่าสิ่งที่มานั้นไม่ใช่พายุแต่หมอกสีเทาที่เข้าปกคลุมเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ไปจนทั่วจนเมืองไม่เห็นอะไรด้านนอกเลย ผู้คนต่างเข้ามาหลบกันอยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตกันมากมายจนกระทั่งมีบางอย่างเกิดขึ้นด้านนอก เมื่อมีสัตวืประหลาดที่พวกเขาไม่เคยเห็นพุ่งชนกระจกซุปเปอร์เพื่อจะเข้ามาในนี้ ท่ามกลางความสับสนของผู้คนในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เริ่มคลั่งสติแตกกันไปทีล่ะน้อย พ่อลูกคู่นั้นต้องหาทางหนีออกมาจากซุปเปอร์แห่งนี้ให้ได้ก่อนที่เขาจะตกเป็นเหยื่อของคนในซุปเปอร์แห่งนี้ไม่ใช่พวกสัตว์ประหลาดนอกร้าน
 
                สตีเฟ่น คิง ผู้เขียนเรื่องสั้นเล่มนี้บอกเล่าไอเดียของตนไว้ว่า “ผมกำลังเลือกเดินซื้อของอยู่ แล้วมองไปเห็นกระจกพลาสติกใสบานใหญ่ด้านหน้าซุปเปอร์มาร์เก็ต ผมคิดในใจว่า ถ้ามีแมลงยักษ์บินพุ่งใส่กระจกล่ะว่าจะเป็นยังไง”
 
 
                นั่นคือไอเดียเริ่มต้นของคิงที่ทำให้นิยายเรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างยิ่งในวงการภาพยนตร์ในฐานะภาพยนตร์ที่สะท้อนความอึมครึมที่ได้จากผลกระทบของวันที่ 11 กันยายน ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามก่อการร้ายที่ทำให้ชาวอเมริกันเหมือนอยู่เมฆหมอกของความหวาดกลัวไปหลายปีเลยทีเดียว
 
                The Mist จำลองภาพของสังคมอเมริกาที่อยู่ภายใต้ความหวาดระแวงด้วยการ สมมุติว่า ซุปเปอร์มาร์เก็ตคือ ประเทศอเมริกา ซึ่งจะว่าไปก็เป็นเปรียบเทียบที่น่าสนใจอยู่เหมือนกันเพราะ นอกจากกระจกที่หนาที่ล้อมสถานที่นี้เอาไว้ก็ยังมีทั้งอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคอีกมากมายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทำให้หลายคนคิดว่า สถานที่นี้เหมาะแก่การหลบภัยหรือใช้ชีวิตอยู่ในช่วงวิกฤตด้วยซ้ำ
 
                 จอร์จ เอ โรเมโร่ ผู้กำกับหนังซอมบี้ชื่อดังอย่าง Night of Living Dead ได้กล่าวถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ถูกใช้เป็นฉากในหนังซอมบี้ภาคต่อของเขาอย่าง Dawn of the dead ว่า ที่นี่เป็นโบสถ์ของพวกบริโภคนิยม สอดคล้องกับในตัวหนังที่ซอมบี้จำนวนมากต่างมาออกันที่หน้าห้างด้วยความเคยชิน มีตัวละครหนึ่งของเขาพูดว่า พวกมันแค่มาเดินห้างเท่านั้น
 
                ดังนั้นซุปเปอร์มาร์เก็ตจึงเป็นเหมือนสิ่งสำนึกแรกที่มนุษย์มักจะนึกถึงในยามประสบภัย ต่อจากก็จะเป็นบ้านของพวกเขา เราจะเห็นว่า การที่ผู้คนมารวมตัวกันอยู่ในซุปเปอร์นั้นก็เพื่อซื้อของมาตุนไว้ในบ้านในยามที่พายุกำลังจะเข้านั่นเอง เราจึงสามารถนึกภาพสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2553 ในการประกาศเคอร์ฟิวส์ของรัฐบาลอภิสิทธิช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง รวมทั้งช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ส่งผลให้สิ่งของต่าง ๆ อย่างพวกข้าวสาร อาหารแห้ง และน้ำดื่มถูกกวาดเรียบวุธชนิดที่ว่า ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
 
               หนังจึงสะท้อนภาพของคนอเมริกันที่มีต่อภัยพิบัติต่าง ๆ ว่า มันจะเกิดอะไรขึ้นถ้าพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับบางสิ่งที่อยู่นอกเหนือสายตาของพวกเขา
 
               ดังเช่นหมอกที่เปรียบก็เหมือนกับภัยนอกประเทศที่พวกเขาได้แต่หวาดระแวง แต่ไม่รู้ความจริงว่า มันคืออะไรกันแน่อยู่
 
               จนกระทั่งภัยที่ว่านั้นปรากฏตัวเข้ามาภายในสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดของเขานั้นแหละ
 
               ความบ้าคลั่งจึงเกิดขึ้น
 
 
               หนังได้แบ่งแยกตัวละครออกมาเป็น 2 ประเภทได้แก่ คนที่กล้าเดินออกไปข้างนอกโดยไม่กลัวสิ่งที่อยู่ในหมอก คนที่กล้ากลัว ๆ และอาศัยอยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ต ก่อนที่หนังจะแบ่งประเภทคนในซุปเปอร์ออกมาเป็น 3 ประเภทได้แก่ ผู้คนที่พยายามใช้สติตรองหาเหตุผล ผู้คนที่ไม่รู้อะไรเลยได้แต่หวาดกลัวสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ และ ผู้คนที่กำลังบ้าคลั่ง
 
               แน่นอนว่า ตัวละครของพระเอกและลูกชายย่อมเป็นตัวละครที่พยายามสติตรองหาเหตุผลอย่างแน่นอน ทว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ ตัวละครของหญิงคลั่งศาสนาที่เป็นหนึ่งในตัวละครที่เลวร้ายที่สุดของสตีเฟ่น คิงเลยทีเดียว
 
 
               หญิงคลั่งศาสนาคนนี้เชื่อว่า หมอกคือ การลงทัณฑ์ของพระเจ้าที่มีต่อพวกเขาที่มีบาป และ หนทางที่จะขับไล่หมอกไปได้จะต้องนำพวกคนบาปไปสังเวยให้แก่สัตว์ประหลาดด้านนอกนั้นเอง 
 
                แรก ๆ ก็ไม่มีใครเชื่อสิ่งที่เธอพูดเท่าไหร่นักหรอกครับ จนกระทั่งโดนเป่าหูมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปทุกขณะ ทั้งแมลงยักษ์ที่บุกเข้ามาซุปเปอร์จนฆ่าคนไปหลายคน ทั้งการพยายามหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อหาทางหนีไปจากที่นี่ก็ไม่พ้น แต่ที่สำคัญก็คือ พวกคนที่ออกไปก่อนนั้นไม่กลับมา และอาจจะตายไปแล้ว นั่นเองที่ผู้คนที่สับสนเริ่มหันไปเชื่อสิ่งที่สาวสติเสียคนนี้พูดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่ฟังเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น (แม้กระทั่งเรื่องจริงที่ทหารหนุ่มเล่าให้ฟัง) และมีการส่งคนไปตายมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาเลยเทอิดมากขึ้นเพราะต้องการลูกของพระเอกไปสังเวยเพราะ พระเจ้าต้องการเลือดผู้บริสุทธิ์ส่งผลให้เกิดการแตกหักขึ้นในที่สุด
 
                ผมเคยอ่านความเห็นในเว็บบอร์ดโลกสวยแห่งหนึ่งที่ถามว่า ทำไมหนังจะต้องให้คนนับถือศาสนาคริสต์เป็นบ้ากันทุกเรื่อง คำตอบที่น่าสนใจสำหรับผมก็คือ ไม่ใช่แค่ศาสนาคริสต์เท่านั้นหรอกครับ แต่ทุกศาสนานั้นแหละครับ ที่ถ้าเกิดวิกฤตบางอย่างขึ้นมา พวกคลั่งมักจะเกิดขึ้นจากลัทธิความเชื่อเสมอ ไม่จำเป็นต้องคริสต์ครับ เอาง่าย ๆ ถ้ามองไม่เห็นภาพนะครับ ย้อนไปที่ 2554 ในช่วงที่น้ำท่วม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดความโกลาหลของผู้คนในสังคมโดยชนชั้นกลางในเมืองที่ต่างเกิดอาการหวาดกลัวว่า น้ำจะมาท่วมบ้านตัวเองหรือไม่จนกระทั่งเกิดความเชื่อบางอย่างเช่น เพราะมีผู้นำเป็นหญิงเลยเป็นกาลกิณีบ้าง หรือเพราะทำนายบ้าง อะไรพวกนี้ที่แสดงให้อาการขาดสติของผู้คนในยุคข่าวสารไปเร็วได้ชัดแจ้ง 
 
                ยิ่งเราเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกาและประเทศไทย เราจะเห็นว่า บุคคลที่มักจะเกิดอาการตื่นตูมก่อนจะเป็นคนชนชั้นกลางที่รับข่าวสารได้ไวจนไม่เกิดการไตร่ตรองหาความจริงและหวาดกลัว โทษนู้นนี้ไปตลอดเวลา 
 
                 ส่งผลให้เหตุการณ์มันเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ
 
                 อย่างเช่นในหนังเราจะเห็นว่า ทหารหนุ่มคนหนึ่งพยายามจะบอกความจริงเกี่ยวกับหมอกนี้ว่า มันไม่ได้เกิดเพราะพระเจ้าลงโทษอะไรหรอก แต่เป็นเพราะพวกทหารกำลังทำการทดลองเปิดประตูมิติอยู่ แต่เกิดพลาดทำให้สัตว์ประหลาดพวกนี้หลุดออกมา 
 
               แต่นั้นสายเกินไปแล้วครับ เพราะคนในซุปเปอร์มาร์เก็ตดันไม่เชื่อและหาว่าเขาเป็นคนบาปที่จะต้องรับผิดชอบด้วยการส่งไปให้สัตว์ประหลาดในหมอกกินเพื่อคลายพิโรธพระเจ้าซะงั้น
 
               จึงเป็นการบอกในวิกฤตเช่นนี้ไม่มีใครฟังความจริงทั้งนั้นหรอกครับ มีแต่ความเชื่อเท่านั้นเอง
 
               
               อ๋อ อย่าคิดนะครับว่า พระเอกในเรื่องจะทำอะไรได้เพราะ เขาเองก็ทำได้แค่ยืนกอดลูกปลอบไปเท่านั้นโดยไม่ได้ช่วยเหลือใครเลยเพราะกลัวกระแสสังคมจะเล่นงานเอาน่ะสิครับ 
 
             ซึ่งหนังก็บอกเราแล้วว่า พระเอกนั้นก็อยากช่วยเหมือนกันครับ ที่สุดท้ายเขาก็เลือกที่จะอยู่เฉย ๆ และปล่อยให้คนตายต่อหน้าไปแบบนั้นโดยไม่ทำอะไรเลย จนกระทั่งมาถึงตัวนั้นแหละ เจ้าตัวถึงได้ลุกขึ้นสู้
 
              นี่เองที่ทำให้เราเห็นภาพของสังคมอเมริกันในยุคหลังวันที่ 11 กันยายนว่า มีลักษณะเป็นสังคมที่หวาดกลัวต่อความไม่รู้ของตัวเอง และความหวาดกลัวนั้นเองได้ให้ผู้คนปลดปล่อยสิ่งที่อยู่ในใจออกมานั้นก็คือ จะยังไงก็ได้ขอให้รอดได้เป็นพอ คนอื่นจะเป็นยังไงก็ช่าง 
 
                หนังจึงบอกเล่าว่า ใต้กระจกหนาและซุปเปอร์มาร์เก็ตนี้ก็ใช่จะปลอดภัยเหมือนกัน
 
 
                 กระนั้นหนังเรื่องนี้ก็ยังถูกกล่าวขานถึงตอนจบของเรื่องที่ทุกคนจะต้องงุนงงว่า ทำไมถึงจะต้องจบลงอย่างนั้น เมื่อพระเอกขับรถหนีออกมาจากหมอกนี้ได้พร้อมกับผู้รอดชีวิตอีกสี่คนที่ตามเขามาด้วย น้ำมันรถดันหมดท่ามกลางหมอกควันที่ไม่ได้จางหายไป บนหัวของพวกเขาก็พึ่งมีสัตว์ประหลาดยักษ์เดินผ่านไป ด้วยความท้อแท้สิ้นหวัง เขาหยิบปืนที่มีกระสุนเพียงสี่นัดขึ้นมาแล้วถามว่า ใครจะให้เขายิงบ้าง เพราะไม่รู้ว่าจะหนีรอดไปได้ยังไง ปรากฏว่า ทุกคนยินยอม พระเอกจึงระดมกระสุนปืนใส่ทั้งสี่คนรวมทั้งลูกชายของเขาแล้ววิ่งออกไปด้านนอกรถ หวังจะสัตว์ประหลาดฆ่าเขาให้ตาย
แต่เปล่าเลยครับ
 
                  จู่ ๆ หมอกก็หายไปเองพร้อมกับสภาพป่าที่มีไฟเต็มไปหมด รถทหารขับผ่านไปโดยมีหญิงสาวที่ออกไปตามหาลูกของตนเองกลางหมอกมองลงมาที่เขาด้วยสายตาเวทนา
 
                 พร้อมกับเสียงร้องของพระเอกที่บอกว่า พระเจ้าไม่รักเรา
 
                ซึ่งตรงนี้ได้กลายเป็นตอนจบที่แสนสิ้นหวังของคนดูไปเลยทีเดียว ซึ่งแตกต่างจากตอนจบของคิงที่เลือกให้พวกเขาขับรถฝ่าหมอกไป โดยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น 
 
                แต่แฟรงค์ ดาราบ๊องกลับเปลี่ยนมันครับ
 
                จนทำให้หนังเรื่องนี้สิ้นหวังอย่างที่สุด
 
 
                สิ่งที่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้ก็คือคำพูดที่ว่า มนุษย์เป็นรักตัวเองยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น พวกเขาไม่เคยสนใจว่าใครจะเป็นตายอย่างไร ปลุกปั่นง่ายในเรื่องที่ไม่เป็นความจริงและที่สำคัญพวกเขาเห็นแก่ตัวในยามวิกฤตเสมอ ๆ 
 
                ดังนั้น The Mist จึงเป็นหนังตีแผ่จิตใจของมนุษย์และวิพากษ์สังคมมนุษย์ไม่ใช่แค่เพียงอเมริกันชนแต่เป็นมนุษย์ทั่วท่ามกลางวิกฤตได้อย่างลึกซึ้งและน่าค้นหาอย่างยิ่ง ส่งผลให้แม้หนังจะออกฉายมาหลายสิบปีแล้ว มันก็ยังมีความทันสมัยอยู่จนถึงปัจจุบัน
 
              ราวกับเมฆหมอกนอกซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้จางหายไปเลย

บล็อกของ Mister American

Mister American
               สำหรับหลายคน หนังเรื่องแรกเป็นเสมือนความฝันอันงดงามที่อยากจะทำให้สำเร็จ แต่สำหรับผู้กำกับหลายคนนั้นหนังเรื่องแรกของพวกเขานั้นไม่ได้สวยงามหรืออกมาราบรื่นอย่างที่คิด บางคนถูกไล่ออกจากโปรเจ็ท บางคนเกือบสติแตก หรือ บางคนก็เจอการกดดันจากอิทธิพลที่
Mister American
            "วิญญาณคือ ความทรงจำที่ตกค้าง ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำที่ดีหรือเลวร้าย มันจะยังคงอยู่และปรากฏขึ้นเสมอ"
Mister American
              ระหว่างที่ผมกำลังนั่งเขียนต้นฉบับอยู่ตอนนี้ภาพยนตร์ซอมบี้ทุนต่ำเรื่องใหม่จากเกาะญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า One Cut of the dead กำลังสร้างกระแสครั้งใหญ่ให้กับวงการหนัง เมื่อ หนังซอมบี้ทุนต่ำเรื่องนี้ทำรายได้ถล่มทลายไปแล้วทั่วโลกกว่า 10 ล้า
Mister American
คิชิดะ จุน เป็นเด็กหนุ่มมัธยมปลายที่มองเห็นคนตายได้ และ ข้าง ๆ เขานั้นมี ฮายาคาวะ เคียวโกะ เพื่อนสมัยเด็กที่ถูกฆ่าตายและมาปรากฏตัวอยู่เคียงข้างเขา ท่ามกลางเรื่องราวสยองขวัญ ลึกลับที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา
Mister American
                คงไม่ต้องแปลกใจหาก KOE NO KATACHI หรือ รักไร้เสียง อนิเมชั่นเรื่องดังจากญี่ปุ่นโดยฝีมือผลงานของสตูดิโอ Kyoto Animation หรือที่เรียกติดปากนักดูอนิเมะว่า เกียวอนิเมะ ผู้ผลิตอนิเมชั่นชื่อดังอย่าง Clannad , Kanon , K-on  เป็นต้น จะกลายเป็นห
Mister American
              คงไม่ใช่ความน่าแปลกหรือประหลาดใจอีกแล้วกับปรากฏการณ์หนังอีสานถล่มเมืองที่นับจากผู้บ่าวไทบ้านภาคแรกเข้าฉายในปี 2014 และทำเงินไปได้อย่างมากมายในแผ่นดินอีสานนั้นจะทำให้เกิดหนังลูกอีสานหน้าใหม่ขึ้นอย่างมากมาย และแน่นอนว่า ความสำเร็จนี้ได้ต่อยอดให้หนังอ
Mister American
               ณ ช่วงเวลานี้คงไม่มีอนิเมชั่นเรื่องใดถูกกล่าวถึงและพูดมากกว่า อนิเมชั่นเรื่องล่าสุดของชินไค มาโคโตะ ผู้กำกับอนิเมชั่นดราม่าชื่อดังอย่าง 5 centimeters per second หรือ The Garden of word อย่าง Your Name หรือ Kimi No Nawa (หลับตาฝันถึงชื
Mister American
คงไม่ต้องแปลกใจว่า หากจะมองหาหนังไทยสักเรื่องที่น่าหยิบมาพูดถึงหนังเรื่อง ผู้บ่าวไทบ้าน 2 ตอน แจกข้าวหาแม่ใหญ่แดง นั้นเป็นหนึ่งในหนังที่ควรหยิบมาพูดมากเรื่องหนึ่งในขณะนี้นอกจากจะเป็นหนังภาคต่อที่สานความสำเร็จมาจากภาคแรกที่สร้างปรากฏหนังท้องถิ่นนิยมให้เกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ไทย เมื่อหนังเล็ก ๆ นี้
Mister American
                นี่คือ การกลับมาที่ทุกคนรอคอย ภายหลังจาก ก็อตซิลล่าฮอลลีวู้ดของ กาเรธ เอ็ดเวริ์ดออกอาละวาดไปในปี 2014 และแน่นอนว่า มันทำให้ชื่อของก็อตซิลล่าลืมตาตื่นขึ้นอีกครั้ง ทว่า สำหรับแฟน ๆ เดนตายของก็อตซิลล่านั้นคงค่อนข้างที่จะผิดหวังที่ได้เห็นก็อตซิล
Mister American
คงไม่มีอะไรต้องพูดมากนอกจากนี่คือ ภาพยนตร์ซอมบี้ที่ดีที่สุดในรอบหลายปี และที่สำคัญนี่ไม่ใช่หนังที่สร้างโดยฮอลลีวู้ดแต่เป็นเกาหลีใต้ ประเทศที่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเอเชียที่เรียกว่าเป็นเบอร์หนึ่งไปแล้วในด้านคุณภาพของหนังที่นอกจากฮอลลีวู้ดแล้วมีเพียงประเทศนี้ที่ทำหนังออกมาได้สากลและสนุกในแบบที่ทุก
Mister American
ยังคงเป็นช่วงเวลาเศรษฐกิจยังไม่มีวี่แววว่าจะ ฟื้นตัวเสียที ในช่วงปลายปี 2015 นี้ทุกอย่างยังคงมองไม่เห็นว่า อนาคตจะเป็นเช่นไร กระนั้นเองสำหรับงานหนังสือแห่งชาติ เดือนตุลาคมนี้ยังคงเป็นช่วงเวลาร้อนแรงของบรรดาค่ายไลท์โนเวลต่าง ๆ มากมายที่ต่างเตรียมกระสุนดินดำ หรือ ออกหนังสือมาเพื่อจูงใจนักอ่านทั้งหล