Skip to main content
 


ภูเขาหัวโล้นลูกนี้ อยู่ในเทือกเดียวกับภูหลวง จังหวัดเลย

 

"ถามจริงๆ เถอะ คนแบบเราๆ นี่ ถ้าไปเป็นคนทำสวนจะหาเลี้ยงตัวเองได้จริงหรือ"

เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งถามฉัน ในวันที่ฉันยังไม่ได้มีอาชีพทำสวน คงเป็นคำถามเพื่อนำไปสู่การสนทนาเชิงวิเคราะห์ว่าความคิดที่จะพึ่งตนเองจากอาชีพนี้เป็นไปได้จริงหรือ

และฉันจำได้ว่าคำตอบของตัวเอง คือ

"ไม่ได้"

"ไม่ได้อย่างแน่นอน ถ้าการพึ่งตนเองหมายถึงการตัดเส้นเลือดทางการเงินจากอาชีพอื่นโดยสิ้นเชิง สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นปลูกต้นไม้ในปีแรกๆ และไม่มีเงินเก็บ หรือไม่มีคนสนับสนุนทางการเงิน คงไปไม่รอด"

ฉันตอบจากประสบการณ์ที่เห็นปัญญาชนหลายคนอยากจะเป็นชาวไร่ แต่แล้วก็ต้องกลับไปปีนบันไดแห่งความมั่นคงของชีวิตด้วยการเป็นมนุษย์เงินเดือนเช่นเดิม

"อาชีพเกษตรกรนี่เสี่ยงยิ่งกว่าคนซื้อหวยอีกนะพี่"

เพื่อนผู้ชายรุ่นน้อง ผู้มีอาชีพเป็นนักวิชาการที่ทำงานกับเกษตรกรมานาน เปรียบเปรยอย่างนี้เมื่อฉันบอกว่า มันสำปะหลังประมาณสิบไร่ของฉันถูกน้ำท่วมหัวเน่าหมดแล้ว นั่นคือความจริงที่ฉันได้ฝังเงินจำนวนไม่น้อยลงไปในดิน แล้วปล่อยให้มันละลายหายไปในช่วงเวลาไม่กี่เดือน

 

ถึงแม้ฉันไม่ได้กู้หนี้ยืมสินมาลงทุน แต่เงินจำนวนนั้นก็หามาอย่างยากเย็น จึงน่าเสียดาย เพราะถ้าเป็นเมื่อก่อน สมัยที่ฉันยังเร่ร่อนเป็นยิบซี ฉันสามารถใช้มันเพื่อการเดินทางไกลข้ามประเทศได้หลายวัน

แต่ถ้าพูดแบบนักพัฒนา ต้องพูดว่า

"ฉันได้เรียนรู้ความเสี่ยงในการขาดทุนตั้งแต่ปีแรกของการทำอาชีพนี้"


อีกทั้ง ต้องไม่นับราคาค่าแรงตัวเองในการลงมือทำ เพราะฉันคิดว่าสิ่งที่ฉันได้คืนมาจากการทำงานหนัก คือความสุขลึกๆ (ในการทรมานตัวเอง) และความแข็งแรงของสุขภาพ

จริงเท็จอย่างไร ฉันไม่กล้าไต่สวนตัวเองตรงๆ เพราะกลัวคำตอบที่ได้ อาจกลายเป็นว่า

"เสียใจค่ะ" !!

 

กับเพื่อนผู้หญิงอีกคน ที่เราเคยคุยกัน เพื่อนคนนี้ลงมือทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงตัวเองจริงๆ เธอปฏิเสธการปลูกเพื่อขาย ใครมาขอซื้อก็ไม่ขาย โดยเฉพาะชาวบ้านละแวกใกล้เคียงไร่ของเธอ แต่เธอจะบอกให้เขาไปปลูกกินเอง พร้อมทั้งมอบต้นพันธุ์ ถ้าเธอมีให้เขาไป ดังนั้น การขอซื้อกึ่งขอกินจึงไม่บังเกิดขึ้นในไร่ของเธออีกเลย

 

"ไม่ให้หรอก ไม่ว่าจะขอเฉยๆหรือมาซื้อ เพราะมันทำให้คนคิดง่าย มักได้เกินไป เป็นชาวไร่ชาวนาได้อย่างไรถ้าไม่รู้จักปลูกกินเอง" กฏเหล็กของเธอยากที่ใครจะฝ่าด่าน

 

"ฉันว่าที่เธอพูดมามันก็จริง แต่บางอย่างเราก็ปลูกเองไม่ได้นี่" ฉันเถียง..เธอบอกว่า

"แต่บางครั้งเพราะเขาคิดว่าปลูกเองเมื่อไหร่ก็ได้ ก็เลยไม่ปลูก เห็นคนอื่นปลูกจึงคิดว่าขอซื้อง่ายดี อย่างนี้หรือเปล่า"

 

ช่างสอดคล้องกับบทเรียนของใครหลายคน ที่ทำงานกับชาวบ้านทางภาคอีสาน รวมทั้งฉันด้วย

ความจริงที่ว่า ชาวบ้านทุกวันนี้ไม่คิดจะปลูกอะไรกันอีกแล้ว ถ้าสิ่งนั้นไม่สามารถขายได้ในเร็ววัน


ฉันพยายามไล่แจกต้นยางนา ที่ฉันเก็บมาจากที่นักอนุรักษ์ผู้มาปลูกป่าแล้วทิ้งไว้ในป่า ฉันเก็บมาได้หลายร้อยต้น อยากให้คนแถวนี้ช่วยเอาไปปลูกกันหน่อย แต่แล้วเหตุผลที่เขาย้อนให้ฉันอึ้ง คือ

"ปลูกไปทำไม ปลูกแล้วตัดไม่ได้ ผิดกฏหมาย ถูกจับ"

เออนะ...ท่านๆที่ได้ยินเหตุผลแบบนี้ จะขำออกไหมนี่

"ไม่ผิดกฏหมายแล้ว เขาเปลี่ยนแล้ว ทุกวันนี้เขาส่งเสริมให้ปลูกป่า ปลูกแล้วตัดขายได้"

ฉันว่าไปตามที่คิด ทั้งที่จริงๆแล้ว การปลูกและการตัดไม้บางชนิด ยังต้องแจ้งปลูก เพื่อที่จะขอตัดในอนาคต

 

สำหรับฉัน คิดเสียว่ายังมีเวลาอีกนานให้คลายความอึดอัดใจ ไม่แน่หรอก เมื่อถึงเวลานั้นกฏหมายอาจเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

 

เพราะในอีกสามสิบปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจไม่มีป่า ไม่มีไม้ในป่า ที่เป็นต้นใหญ่ๆให้ใครขโมยตัดอีกแล้ว การซื้อขายไม้อาจไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าเป็นไม้ป่าหรือไม้ปลูก

 

"จริงไหมคะท่าน"

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล