Skip to main content

ฉันมีเรื่องราวจะแลกเปลี่ยน ลองฟังดูนะ


ตาเก้กับการลงทุน

คนอย่างผม ถ้าทำอะไรก็ต้องทุ่มหมดตัว” ตาเก้พูดเสียงต่ำ สีหน้ายิ้มเหยียดหน่อยๆ บ่งถึงความสาสมใจในชีวิต ขณะย่ำเดินไปบนพื้นดินทรายที่เพิ่งถูกผานไถพลิกพรวนให้กอหญ้าคว่ำหน้าลง

แกกำลังจะลงทุนอีกรอบบนผืนดินนี้ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ของโรงงานน้ำตาลฟันธงแล้วว่า “ดินเสื่อมสภาพหมดแล้ว”


สิบกว่าปี ที่แกซื้อที่ดินผืนนี้มาในราคาที่ถูกแสนถูก และเพียงแค่ปลูกอ้อยสองฤดูกาล ก็ได้เงินคืนมาหมดแล้ว ดังนั้นเรื่องความเสี่ยงใดๆ ไม่ต้องกังวลถึง ไม่ว่าราคาอ้อยจะสูงหรือต่ำ อย่างไรเสียแกก็ยังเชื่อมั่นว่าจะไม่มีทางขาดทุน เพราะแรงงานเป็นของตนเองและภรรยาล้วนๆ บางอย่างที่พอพึ่งพาแรงงานลูกเล็กๆ ก็ช่วยกันไป


ต้นทุนที่มีจึงไม่มากนัก มีเพียงค่าน้ำมันรถแทรคเตอร์ ค่าหญ้าฆ่าหญ้าและปุ๋ยบ้างเท่าที่จำเป็น เพราะเนื้อดินยังมีอาหารธรรมชาติอยู่มาก


ครบสิบปีแล้ว ผืนดินอ่อนล้าไร้เรี่ยวแรง บางส่วนหน้าดินเสียชีวิตหมดแล้ว ยากที่หน่ออ้อยจะแทงยอดขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะบำรุงบำเรออย่างไรก็ตาม จนแกเผลอบ่นออกมาว่า

พอลูกๆโตจนใช้แรงงานได้เต็มที่แล้ว ดินก็มาเสื่อมสภาพเสียนี่”


ปีนี้ตาเก้จึงทุ่มเทกับการปลูกมันสำปะหลังให้มากขึ้น ทดแทนการปลูกอ้อย อย่างน้อยก็ยังได้ชื่อว่ามีการเพาะปลูกสม่ำเสมอ มีการสร้างรายได้ให้กับตัวเองตลอดมา


เพื่อที่ว่า ในใบขอกู้เงินที่ยื่นต่อธนาคาร จะได้มีข้ออ้างว่าเพื่อนำมาปลูกมันสำปะหลังนั่นเอง


คนอย่างผม ทำอะไรก็ต้องทุ่มหมดตัว” เสียงของแกสะท้อนก้องวนเวียนซ้ำซากอยู่ในหัวของฉันอย่างน่าสยดสยอง ไม่ใช่เพราะกลัวแทนแก แต่ฉันกลัวความคิดของคนที่คิดแบบนี้ จะเพิ่มมากขึ้นๆ จนกระทั่งต้องฆ่าตัวตายกันทั้งโลก


เหมือนเลือกเดินไปในอุโมงค์คับแคบ ยิ่งปลายทางยิ่งเบียดเสียด แย่งอากาศกันหายใจ จนในที่สุดคนอ่อนแอก็ล้มลง คนอื่นๆก็ย่ำเหยียบลงไปอย่างไม่รู้สึกรู้สม เพียงเพราะในใจคาดหวังว่าที่ปลายทางจะมีอากาศสดชื่น มีพื้นที่กว้างใหญ่ให้ตนเองได้อาศัยอย่างมีความสุข


ฉันถามว่าแต่เดิมที่ดินแปลงนี้เจ้าของเขาเคยปลูกอะไรเอาไว้ คำตอบที่ได้ช่างน่าตกตะลึง

เขาปลูกต้นสักและต้นประดู่ เต็มพื้นที่นี้แหละ แต่ผมก็ไถออกจนหมด ถ้าเหลือเอาไว้ ก็คงโตเท่าๆกับสองต้นนั่นล่ะ” แกชี้ไปที่ต้นสักริมรั้ว ซึ่งใหญ่โตขนาดทำเสาเรือนได้อย่างสบาย ความสูงจากโคนต้นไปถึงปลายยอดไม่ต่ำกว่ายี่สิบเมตร คิดราคาคร่าวๆ น่าจะไม่ต่ำกว่าพันบาท ถ้ามีต้นสักขนาดนี้เต็มพื้นที่จำนวนสิบไร่ หากตัดขายในวันนี้ เงินที่กำอยู่ในมือไม่ต่ำกว่าเลขเจ็ดหลักอย่างแน่นอน


แต่เพราะอะไรตาเก้จึงเลือกที่จะตัดต้นไม้ยืนต้นทิ้งเสียเล่า


ในทางเทคนิค การปลูกพืชไร่ต้องทำพื้นที่ให้เกลี้ยง ยิ่งไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่มีร่มเงามาบดบังยิ่งดี พื้นดินใหม่ที่เพิ่งปลูกอ้อยปีแรก จะได้ผลผลิตอย่างงาม กำไรเห็นๆ ปีที่สองก็ทำอย่างเดิม กำไรยังพอมี จนกระทั่งปีสุดท้าย ดินเสื่อมสภาพหมดแล้ว จะหากำไรจากการขายอ้อยได้อย่างไรในเมื่อ ลำอ้อยเล็กลง จำนวนต้นก็น้อยลง ขณะต้นทุนเพิ่มมากขึ้น ทั้งน้ำมันที่ต้องใช้ปั่นเครื่องสูบน้ำมารดและราคาปุ๋ย ราคายาฆ่าหญ้า ล้วนแพงขึ้น


สรุปว่าสิบปีแห่งความหลัง แห่งความหอมหวานผ่านพ้นไปแล้ว ดินที่เหลือที่พอจะหากินได้ก็มีเพียงมันสำปะหลังที่เติบโตได้ดี แต่นั่นเท่ากับเร่งให้หายนะเกิดเร็วยิ่งขึ้น ปีต่อไปดินจะยิ่งเสื่อมอย่างรวดเร็ว การฟื้นฟูดินที่พอจะเป็นไปได้คือการปล่อยให้ดินฟื้นตัว สลับกับการปลูกพืชบำรุงดิน แต่ทว่า..วงจรหนี้สินมันไล่หลังมาติดๆ จะเอาเวลาที่ไหนมาทิ้งช่วงให้ดินฟื้นตัวได้เล่า


ถึงเวลาที่ตาเก้ต้องแก้ปัญหากันอีกหน เหมือนที่หลายๆคนทำ คือแบ่งขายที่ดินบางส่วน เพื่อใช้หนี้


เรื่องของตาเก้ ยังนับว่าเป็นนักลงทุนการเกษตรแบบพื้นๆไม่พิสดารนัก (ยังมีที่พิสดาร เอาไว้จะเล่าทีหลัง)แต่หลังจากแบ่งที่ดินบางส่วนออกขายแล้ว แกจะคิดอย่างไรกับการ “ลงทุน”


ฤดูหนาวนี้ บริเวณใกล้ๆไร่ฉัน มีหลายคนที่แบกภาระหนี้สินจนหลังแอ่นปางตาย จึงต้องตื่นขึ้นมาก่อนไก่ตื่น เพื่อมาผสมพันธุ์ดอกมะเขือเทศ และเข้านอนตอนไก่ละเมอครางในยามดึก เพียงเพื่อให้ได้เงินจากการทำงานให้กับบริษัทผูกขาดสินค้าการเกษตร เพราะเขาไม่อาจเสี่ยงกับการลงทุนปลูกพืชอะไรอื่นๆที่ไม่รู้ว่าจะขายใครที่ไหนได้อีกแล้ว


เกษตรที่นี่ใช้เวลาทุ่มเทกับการทำงานนานกว่าโบรกเกอร์ในตลาดหุ้น นานกว่าคนขายของเป็นกะในร้าน 7-11 นั่น


น่าเสียดาย ที่เขาไม่คิดถึงการปลูกพืชบางอย่าง ที่แม้ไม่ให้ผลในวันนี้ แต่ในยามแก่เฒ่า เขาจะได้ประโยชน์จากมันอย่างแน่นอน


ฉันไม่อยากกล่าวว่า นี่คือความเขลา และไม่อยากกล่าวประณามผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างโครงสร้างอันบิดเบี้ยวนี้ ยิ่งได้เห็นโครงการโง่ๆบางอย่างของอบต. (ที่ไม่ขอเอ่ยในที่นี้) ที่คิดแค่การใช้เงินให้เป็นผลประโยชน์กับตัวเองในการเลือกตั้งสมัยหน้า แค่นี้ก็บ่งบอกแล้วว่า


สังคมไทย ไปไหนได้ไม่ไกลหรอกพี่น้องเอ๋ย”



บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล