Skip to main content

จากกรณีปัญหาสภานิสิตมีมติระงับการดำเนินการคัดเลือกกลุ่มตัวแทนนิสิต (CU Coronet) เนื่องจากมีกระบวนการคัดเลือกไม่โปร่งใส (รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ประกาศสภานิสิต) มติดังกล่าวนำไปสู่ปัญหาพิพาทระหว่างฝ่ายกิจการนิสิตและสมาชิกสภานิสิตบางท่าน ประกอบกับครั้งนี้มิใช่ครั้งแรกที่สภานิสิตพยายามระงับการทำกิจกรรมของกลุ่มตัวแทนนิสิต และมิใช่ครั้งแรกที่อาจารย์เข้ามาแทรกแซงการอนุมัติให้มีโครงการดังกล่าว ผู้เขียนจึงสำรวจที่มาที่ไปและความสำคัญของกลุ่มตัวแทนนิสิต
 

คำถามที่เกิดขึ้นคือ 1) จริงหรือที่ว่าหากปราศจากการคัดเลือกกลุ่มตัวแทนนิสิตแล้ว งานฟุตบอลประเพณีจะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้หรือ? 2) เราต้องการ "ตัวแทน" หรือไม่?
 

1

จากการสืบค้นจากหนังสืองานฟุตบอลประจำปีที่เก็บไว้ที่หอประวัติจุฬาฯ พบว่าการอัญเชิญพระเกี้ยวไม่ได้มีมาคู่งานบอลแต่แรก แต่เป็นประดิษฐกรรมในสมัยทศวรรษ 2500 ที่มีการริเริ่มขบวนพาเหรดซึ่งเดินจากจุฬาฯ ไปสนามแข่งขัน ในปี 2503 นิสิตทูลขอพระเกี้ยวจำลองจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 มาร่วมขบวน รูปถ่ายหลักฐานการอัญเชิญที่เก่าที่สุดคือภาพข่าว จากสยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2507
 
ในปีเดียวกันมีการริเริ่มการประกวดนางนพมาศขึ้นเพื่อหา 'ดาวมหาลัย' มาอัญเชิญพระเกี้ยว นักกิจกรรมเดือนตุลา จิระนันท์ พิตรปรีชาก็เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวจากการเลือกวิธีนี้ เมื่อมีการยกเลิกตำแหน่งดาวมหาลัยในปี 2519 ก็คัดเลือกจากเชียร์หลีดเดอร์และคฑากร อย่างไรก็ตาม ฐานคิดยังอยู่ที่ผู้ที่อัญเชิญพระเกี้ยวคือคนที่สวยที่สุดของมหาวิทยาลัย
 
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ตลอดพัฒนาการของงานฟุตบอลและขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวมีการปรับเปลี่ยนความหมายโดยตลอด ในช่วงปี 2520 เป็นต้นมามีความพยายามจะปรับเปลี่ยนภาพจำเดิม โดยหันมาคัดเลือกจากนิสิตที่โดดเด่นด้านกิจกรรมของแต่ละคณะให้มาร่วมกันจัดขบวนพระเกี้ยว จากนั้นหลังผ่านการทำงานร่วมกันแล้วก็ให้หมู่ผู้ถูกคัดเลือกเป็นผู้คัดเลือกผู้ที่เหมาะสมที่สุดเอง จำนวนผู้อัญเชิญพระเกี้ยวมีตั้งแต่สองคน สี่คน จากเดิมที่สงวนไว้สำหรับผู้หญิงเท่านั้นก็มีผู้อัญเชิญพระเกี้ยวผู้ชายเข้ามา ในช่วงปีนี้ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวจึงต้องเป็นเด็กกิจกรรม
 
เมื่อมาถึงช่วงทศวรรษ 2530 ได้มีการสร้างความหมายใหม่ว่า "ผู้อัญเชิญสัญลักษณ์สูงสุดของ มหาวิทยาลัยควรจะเป็นผู้แทนของเราที่พร้อมที่จะสะท้อนแสดงภาพลักษณ์ที่ดีของชาวจุฬา ฯ ทุกคนอยู่เสมอ" ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในยุคนั้นเป็นผู้ชายหนึ่งคนผู้หญิงหนึ่งคน โดยต้องเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 เกรดเฉลี่ยสะสม 2.5 ขึ้นไป มีบุคลิกภาพดี เคยมีส่วนร่วมในกิจกรรมทั้งของคณะและของมหาวิทยาลัย มีความประพฤติดีสมกับเป็นตัวแทนนิสิตจุฬา ส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคนี้ได้ยุติการอัญเชิญตราธรรมจักรเนื่องจาก "ธรรมจักรเป็นของชาวธรรมศาสตร์ทุกคน ผู้ที่อัญเชิญคือชาวธรรมศาสตร์ทั้งมวล"
 
แอฟ ทักษอรไม่ได้เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวเพราะมาจากกลุ่มตัวแทนนิสิต (โคโรเน็ต) เพราะกลุ่มตัวแทนนิสิตตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2543 หลังเธอปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวหนึ่งปีให้หลัง โดยในหนังสืองานฟุตบอลพระเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 68 ระบุแนวคิดที่ให้กำเนิดกลุ่มตัวแทนนิสิตชัดเจนว่า "กลุ่มตัวแทนนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มต้นมาจากผู้อัญเชิญพระเกี้ยวอันเปรียบเสมือนผู้ถวายอารักขาสัญลักษณ์แห่งความเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งมวล" จึงกล่าวได้ว่าในยุคหลังมานี้กลุ่มตัวแทนนิสิต มีภารกิจสองอย่าง ได้แก่ 1) เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว (ต่อมาขยายไปยังตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ในงานฟุตบอลด้วย เช่น ถือป้ายมหาวิทยาลัย อัญเชิญถ้วยพระราชทาน ฯลฯ) 2) เป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
 
แต่การสร้างการคัดเลือกเป็นสถาบันเล็ก ๆ สถาบันหนึ่งขึ้นมา แม้จะอำนวยความสะดวกในการเทรน มีผู้รับผิดชอบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ก็เกิดปัญหาว่าอำนาจในการคัดเลือกกลุ่มตัวแทนนิสิตในปัจจุบันถูกผูกขาดโดยกลุ่มตัวแทนนิสิตรุ่นก่อน ๆ กลุ่มศิษย์เก่าที่เคยเป็นผู้แทนนิสิตเหล่านี้เป็นผู้คัดเลือกผู้สมัครในรอบแรกๆ โดยไร้เกณฑ์และสัดส่วนคะแนนที่แน่ชัด กระบวนการไม่ได้เป็นไปอย่างเปิดเผย ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกแล้วเท่านั้นจึงจะได้รับการพิจารณาจากนายกสโมสรคณะต่าง ๆ ที่สุดแล้วการได้เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นที่ต้องรสนิยมของกลุ่มตัวแทนนิสิตรุ่นก่อน ๆ ก็เพียงพอแล้ว
 
เมื่อย้อนกลับมายังคำถามก่อนหน้า ประวัติศาสตร์ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การคัดเลือกผู้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญในงานฟุตบอลประเพณีไม่จำเป็นต้องกระทำผ่านกลุ่มตัวแทนนิสิตก็ยังสามารถคัดสรรลุล่วงมาได้ การจัดให้มีผู้แทนนิสิตเป็นไปเพื่อความสะดวกในการคัดเลือกเท่านั้น ทั้งนี้ยังไม่ได้กล่าวไปไกลถึงแนวคิดที่ว่าทำไมต้องมีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ทั้งที่นิสิตจุฬาฯ ติดพระเกี้ยวไปเรียนทุกวัน พระเกี้ยวปรากฎในขบวนเพียงลำพังโดยไม่ต้องมีมาสคอตประกอบอยู่ข้าง ๆ มิได้หรือ?
 

2

ทำไมเราจึงต้องการตัวแทนของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งมวล? จริงๆ เรื่องนี้คงหนีไม่พ้นคำตอบที่ว่าเป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย จึงต้องมีการโปรโมท "ความจุฬาแท้" ผ่านภาพนิสิตแต่งกายถูกระเบียบ ฉีกยิ้มอยู่ตลอดเวลา
 
นิยามของกลุ่มผู้แทนนิสิตผูกพันกับ "ความเป็นจุฬาฯ" แต่ "ความเป็นจุฬาฯ" นี้กลับถูกผูกขาดโดยคนเพียงกลุ่มเดียว สวนทางกับความเป็นจริงที่หลากหลายของชาวจุฬาฯ 
 
ซ้ำร้าย ภาพเหล่านี้ยังฝังอยู่ในความคาดหวังของชาวบ้านร้านตลาด คาดหวังให้เราต้องสวยหล่อ ต้องรวย ต้องใส่เครื่องแบบเรียบร้อย ค่านิยมเหล่านี้ย้อนกลับมากดดันให้นิสิตต้องเติมเต็มความคาดหวังของสังคม ย้อนกลับมาทำร้ายนิสิตเองทั้งนั้น
 
เช่นนี้แล้วก็สมควรขบคิดกันอีกรอบหรือไม่ว่ากลุ่มตัวแทนนิสิตจะสามารถเป็นตัวแทนนิสิตจุฬาฯ ที่ล้วนแล้วก็แต่เป็นปัจเจกที่มีความสามารถในการนิยามตัวเองทั้งสิ้น หรือกลุ่มตัวแทนนิสิตเป็นเพียงตัวแทนของค่านิยมที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นของคนกลุ่มเดียวกันแน่?
 
หรือในกรณีที่มหาวิทยาลัยต้องการมาสคอตเพื่อประชาสัมพันธ์สถาบันจริง (ซึ่งก็จะหมายความว่าฝ่ายประชาสัมพันธ์มหาลัยสิ้นไร้ไม้ตอกมาก) ตัวแทนนิสิตที่จะนำเสนอภาพที่แท้จริงของนิสิตได้ควรจะมาจากไหน?
  • มาจากการลงคะแนนเสียงโดยนิสิตทั่วไป?
  • มาจากตัวแทนทางการเมืองที่มาจากคะแนนเสียงของนิสิตอยู่แล้ว เช่น องค์การบริหารสโมสรนิสิต?
  • ไม่ต้องมีตัวแทน เพราะนิสิตแต่ละคนมีความสามารถพอที่จะเป็นตัวแทนของตนเองได้?

บล็อกของ Nisit Review

Nisit Review
ด้วยประสบการณ์ที่ไม่ประทับใจ จากการเรียนรายวิชาบังคับต่างๆ ของคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาต้น จุฬาฯ ได้แก่ วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (INTRO SOC ANTHRO) วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเมืองและการปกครอง (INTRO POL GOV) วิชาตรรกะ เหตุผล และการค้นคว้าทางสังคมศาสตร
Nisit Review
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล สัมภาษณ์ชยางกูร ธรรมอัน และดานิเอล แปล ในยุคที่ถูกขนานนาม “หลังความจริง” (Post-Truth) การมาของโดนัล ทรัมป์ น่าจะเป็นสัญญาณที่ยืนยันว่าเราอยู่ในยุคนี้จริงๆ อย่างไรก็ดี หนึ่งปีภายหลังจากการขึ้นมาสู่อำนาจของเขา การเลือกตั้งระดับรัฐและท้
Nisit Review
ภาพวาดท่านรพินทรนาถ ฐากูร ระบายด้วยสีธรรมชาติ เพื่อประกอบหนังสือ ชาตินิยม ฝีมือของ สุวัลญา ศักดิ์สมบัติ นักศึกษาจิตรกรรม แห่งศานตินิเกตัน ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย ผู้แปลหนังสือ "ชาตินิยม" (Nationalism) ของรพินทรนาถ ฐากูร จะพาไปสำรวจความคิดว่าด้วยช
Nisit Review
The No-Nonsense Guide to Conflict and PeaceEdited by Helen WareNew InternationalistPublished October 1, 2006144 pages  หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อช่วยทำความเข้าใจเ
Nisit Review
ไฟที่ยังลุกลามโหมกระหน่ำปลายด้ามขวานประเทศไทยอย่างต่อเนื่องกว่า 70 ปีที่ผ่านมา ตอกย้ำถึงความรุนแรงที่ยังปะทุร้อยเท่าพันทวีในทุกๆ ปี ความสูญเสีย รอยเลือด และหยาดน้ำตาที่เกิดขึ้น กลายเป็นโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่บนแผ่นดินไทย เกิดเป็นคำถามที่คั่งค้างในใจว่าคนในพื้นที่จะอยู่กันเช่นไร แล้วเหตุใดจึงไม่ย้า
Nisit Review
Blade Runner 2049 (2017)อะไรคือความเป็นมนุษย์? เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในหนังภาคต่อที่น่าจับตามองที่สุดแห่งปี หลังจาก Blade Runner ภาคแรกที่ออกมาในปี 1982 ได้สร้างตำนานหนัง Sci-Fi ผสม Film Noir ก่อให้เกิดแนวทางที่เรียกว่า Cyberpunk อันเป็นเอกลักษณ์จนได้รับการกล่า
Nisit Review
No Enemies, No Hatred: Selected Essays and PoemsBy Liu XiaoboEdited by Perry Link, Tienchi Martin-Liao, Liu XiaForeword by Vaclav HavelHarvard University Press
Nisit Review
จากกรณีปัญหาสภานิสิตมีมติระงับการดำเนินการคัดเลือกกลุ่มตัวแทนนิสิต (CU Coronet) เนื่องจากมีกระบวนการคัดเลือกไม่โปร่งใส (รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ประกาศสภานิสิต) มติดังกล่าวนำไปสู่ปัญหาพิพาทระหว่างฝ่ายกิจการนิสิตแล
Nisit Review
เรื่อง: ณฐ อัฐวุฒิกุล และธีรภัทร อรุณรัตน์ ในวงการวิชาการด้านสังคมศาสตร์ของไทยมีเพียงไม่กี่คนที่มีวัยวุฒิที่มาพร้อมกับประสบการณ์อันโดดเด่น แน่นอนว่าหลาย ๆ คนไม่ได้อยู่ดูพัฒนาการในสังคมไทยต่อ บางคนที่ยังอยู่ถ้าไม่ป่วยไข้เอาการ ก็ป่วยการเมืองไม่กล้าจะพูดอะไรตร