Skip to main content

© Mats Lund

 

 

บนเส้นทางปัญญาชนของผม

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และชยางกูร ธรรมอัน แปล

 

 

                ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1996 ไอเซยา เบอร์ลิน ในวัยแปดสิบเจ็ดปีได้รับจดหมายเชิญจาก โอว หยางคัง ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน คังขอให้เบอร์ลินเขียนความคิดรวบยอดของเขาเพื่อที่จะนำไปแปลเป็นภาษาจีน และนำไปตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือเพื่อแนะนำบรรดานักปรัชญาและนักเรียนด้านปรัชญาในประเทศจีนให้ได้รู้จักปรัชญาแองโกล-อเมริกันร่วมสมัย ซึ่งจวบจนขณะนั้น ยังคงไม่ค่อยเป็นแพร่หลายเท่าไหร่นักในโลกหนังสือภาษาจีน

                เบอร์ลินไม่ได้เขียนงานชิ้นสำคัญใด ๆ เลยนับตั้งแต่ปี 1988 ซึ่งเป็นปีที่คำประกาศทางปัญญาชนของเขา “ว่าด้วยการแสวงหาอุดมคติ” (สุนทรพจน์ที่แสดงในโอกาสที่ได้รับรางวัลแอกเนลีซึ่งเขาได้รับเป็นคนแรกสำหรับการส่งเสริมจริยธรรม) ซึ่งปรากฏอยู่ใน นิวยอร์กไทม์รีวิวออฟบุ๊คส์ แม้ว่าพลังทางปัญญาของเขาจะไม่ได้ลดลงไปเลย และเขายังคงประพันธ์ความเรียงชิ้นเล็ก ๆ ตามโอกาส แต่ก็ดูแน่ชัดว่า - นี่ก็เพียงพอแล้วสำหรับเขาในช่วงวัยแปดสิบ - เบอร์ลินได้ล้มเลิกโครงการเขียนผลงานสำคัญใด ๆ แล้ว

                ทว่า ตัวโครงการภาษาจีนนี้ได้สร้างแรงปรารถนาแก่เขา เบอร์ลินเห็นว่ากลุ่มผู้อ่านหน้าใหม่นี้มีความสำคัญ และเขาก็มีความรู้สึกถึงพันธะที่จะต้องทำ เขาตอบศาสตราจารย์กั้งไปว่าเขาจะพยายามเขียนอะไรสักอย่างให้ เบอร์ลินมีกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ตรงหน้า แล้วก็เริ่มร่าง และก็ถ่ายทอดลงไปในเครื่องอัดเสียง เมื่อเบอร์ลินได้ดูบันทึกฉบับที่ผมได้ถอดเทปและเรียบเรียงมาแล้ว ซึ่งมีการเพิ่มเติมบางจุดและปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยเป็นครั้งสุดท้าย เขาพูดกับผม พร้อมด้วยท่าทีที่เดียดฉันท์ในการต้องกลับไปตรวจผลงานของเขาอีกครั้งว่า เขาไม่ต้องการจะเห็นผลงานชิ้นนี้อีก และมันก็เป็นความเรียงชิ้นสุดท้ายที่เขาเขียนในชีวิต

                ผู้เขียนบทความในเล่มยังได้รับคำขอให้เขียนถึงหนังสือแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้อ่านที่ต้องการศึกษางานของพวกเขาในระดับที่ลึกลงไปกว่านี้ เบอร์ลินเขียนอ้างถึงความเรียงของเขาสองชิ้น หนึ่งคือความเรียงในการรับรางวัลแอกเนลี และ “จุดสูงสุดของเจตนารมณ์ลัทธิโรแมนติค” (1975) ความเรียงทั้งสองชิ้นสามารถหาอ่านได้ใน หนังสือรวบรวมบทความของเขาในปี 1990 ที่ชื่อ ความเคี้ยวคดของมนุษยชาติ ซึ่งได้รับการนำกลับมาตีพิมพ์อีกรอบเมื่อไม่นานมานี้โดย สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในปี 1998

เฮนรี ฮาร์ดี้

 

 

1

----------

ปรัชญาสำนักอ๊อกซฟอร์ด ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

ความสนใจของผมต่อประเด็นปัญหาทางปรัชญาเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ผมได้เข้าเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดในช่วงปลายทศวรรษ 1920 จนถึงช่วงต้นทศวรรษ 1930 นั่นก็เพราะปรัชญาเป็นส่วนหนึ่งของวิชาซึ่งตอนนั้นนักศึกษาจำนวนมากในอ๊อกซฟอร์ดสนใจที่จะเรียน จากการมุ่งสนใจอย่างต่อเนื่องในองค์ความรู้ด้านนี้ ผมก็ได้รับเลือกให้เป็นอาจารย์สอนปรัชญาในปีค.ศ. 1932  และทัศนะของผมในตอนนั้นได้รับอิทธิพลจากการถกเถียงปรัชญาซึ่งเพื่อนผู้สนใจปรัชญาของผมถกเถียงกันในอ๊อกซฟอร์ดอย่างแน่นอน ที่นั่นมีประเด็นปัญหามากมายในเชิงปรัชญา แต่ ณ ขณะนั้น ประเด็นที่ผมและเพื่อนมุ่งมั่นสนใจคือผลลัพธ์ของการกลับไปหาประจักษ์นิยม ซึ่งได้ครองพื้นที่ปรัชญาอังกฤษตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ภายใต้อิทธิพลของนักปรัชญาเคมบริดจ์ผู้โด่งดังสองท่านคือ จี อี มัวร์ และเบอร์ทรันด์ รัสเซิล

 

ลัทธิคตินิยมพิสูจน์ว่าเป็นจริง

หัวข้อแรกที่ดึงดูดความสนใจของพวกเราในช่วงท้ายทศวรรษ 1930 คือธรรมชาติของความหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างความจริงกับความเท็จ ความรู้และความคิดเห็น โดยเฉพาะการทดสอบความหมายในบริบทของการระบุความถูกต้องของประพจน์ที่แสดงออก ความสนใจในหัวข้อนี้มาจากสมาชิกของสำนักคิดเวียนนาเอง ลูกศิษย์ของรัสเซิล และ พวกที่มีอิทธิพลต่อนักคิดจำนวนมาก เช่น คาร์แนป วิตเกนสไตน์ และ ชลิก เป็นต้น โดยทั่วไปความหมายของประพจน์คือการที่มันต้องระบุความถูกต้องได้ ถ้าหากเราไม่สามารถระบุความถูกต้องของข้อความได้ ก็จะถือว่าเป็นข้อความที่ไม่สามารถเป็นจริงหรือเท็จได้ ไม่ใช่ประพจน์ ดังนั้นมันจึงอาจไม่มีความหมายหรือถูกใช้ในหน้าที่อื่นของภาษาแทน เช่นเป็นคำสั่ง คำขอร้อง คำพรรณา คำอุทาน หรือเป็นประโยคที่ไม่สามารถระบุค่าความจริงได้

ผมได้รับอิทธิพลทางความคิดจากสำนักคิดนี้ในระดับที่เรียกได้ว่าหมกมุ่นกับปัญหาและทฤษฎีที่สำนักนี้สร้างขึ้น แต่ผมไม่เคยสมาทานเป็นลูกศิษย์ตามทางนี้เลย ผมเชื่ออยู่เสมอว่า ประพจน์ อาจเป็นได้ทั้ง จริง เท็จ มีเหตุผล น่าสงสัย หรือน่าสนใจ แม้ว่ามันจะเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ในโลกความจริง (และผมไม่เคยรับรู้โลกในแง่อื่น ๆ เลยตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน) แต่มันไม่จำเป็นว่าจะต้องพิสูจน์ (verified) ได้ด้วยกฎในโลกความเป็นจริง ดังที่สำนักคิดเวียนนาและ เหล่านักปฏิฐานนิยมเชิงตรรกะในสำนักคิดนี้เสนอมา นับตั้งแต่แรกเริ่มผมไม่คิดว่าประพจน์ถูกพิสูจน์ได้ในรูปแบบนั้น ประพจน์ไม่ว่าจะใช้ในทางปกติหรือในทางวิทยาศาสตร์ (ตามแนวคิดของสำนักคิดเวียนนา) สามารถมีความหมายได้โดยที่ไม่ต้องถูกยืนยันได้เป๊ะ ๆ เช่นถ้าผมพูดว่า "หงษ์ทุกตัวเป็นสีขาว" ไม่ได้แปลว่าผมต้องไปรู้จักหงษ์ทุกตัว หรือจำนวนของหงษ์อาจจะไม่ได้มีไม่จำกัด แต่แค่หงษ์ดำเพียงตัวเดียวก็ปฏิเสธความจริงของประพจน์นี้ได้แล้ว การพิสูจน์ให้แน่ใจจนกระจ่างเป็นเรื่องที่ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องไปถึงไม่ได้ เช่นเดียวกันกับประพจน์สมมุติฐาน และก็ประพจน์ที่ยังหาคำตอบไม่ได้ทั้งหลายที่มันอาจจะขัดกับความรู้สึกในมุมมองโลกความเป็นจริง แต่มันก็มีความหมายชัดเจน

ผมคิดถึงประพจน์ทำนองนี้ได้อีกหลาย ๆ ตัวอย่าง ประพจน์ ซึ่งความหมายกระจ่างชัดเจนฟังขึ้น แต่จริง ๆ แล้วกลับไม่มีเกณฑ์วัดความถูกต้อง ต้องอาศัยการสังเกตเชิงประจักษ์โดยตรง ในโลกของความเป็นจริง ดังนั้น แม้ว่าผมจะสนุกไปกับการได้สนทนาในประเด็นเหล่านี้ (แน่นอนว่าสิ่งที่ได้กลายมาเป็นที่ขนานนามกันในภายหลังว่าปรัชญาอ๊อกซฟอร์ดนั้นเริ่มมาจากห้องทำงานของผมในช่วงเย็น ที่นักปรัชญาก่อนจะเป็นที่โด่งดังมารวมตัวกันพูดคุยถกเถียงอย่างเช่น เอ.เจ. เอเยอร์ เจ.แอล.ออสติน และ สจวร์ต แฮมป์เชียร์ ซึ่งคนเหล่านี้ก็ได้รับอิทธิพลจากลัทธิประจักษ์นิยมอ๊อกซฟอร์ด และจากลัทธิสัจนิยมอ๊อกซฟอร์ดบ้างเช่นกัน—นั่นก็คือความเชื่อที่ว่าโลกในภายนอกนั้นอิสระจากสังเกตการณ์ของมนุษย์) แต่กระนั้นผมก็ยังเป็นพวกนอกคอก ผมไม่เคยละแนวคิดที่ผมยึดถือไว้ในตอนนั้นได้ และก็ยังเชื่ออยู่ แม้ว่าประสบการณ์เชิงประจักษ์คือทุกสิ่งทุกอย่างที่คำพูดสามารถแสดงความรู้สึกออกมาได้อย่างไม่มีความจริงอื่น แต่การยืนยันความถูกต้อง มันไม่ใช่แค่หลักเกณฑ์ของความรู้ที่น่าเชื่อถือที่สุด หรือความเชื่อ หรือ สมมติฐานที่สมเหตุสมผลที่สุด ความคิดนี้อยู่กับตัวผมตลอดชีวิต และมีอิทธิพลต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมคิดด้วย

อีกหัวข้อนึง ซึ่งผมเสนอเพื่อดึงดูดความสนใจจากเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัยคือ สถานะของประพจน์เช่น "สีชมพู(เฉดสี) มีความคล้ายคลึงกับสีแดงมากกว่าสีดำ" กล่าวโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ประพจน์นี้จริงแทบไม่ต้องปฏิเสธเลย เพราะความสัมพันธ์ของแถบสีต่าง ๆ นั้นถูกกำหนดไว้แล้ว ดังนั้นประพจน์ทั่ว ๆ ไปแบบนี้ไม่สามารถเรียกว่าเป็นความรู้ก่อนประสบการณ์ได้ เพราะมันไม่ได้เป็นไปตามรูปแบบของนิยามใด มันจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางตรรกะหรือคณิตศาสตร์ ที่ซึ่งประพจน์ในรูปแบบความรู้ก่อนประสบการณ์ด้วยตัวมันเองนั้นถูกนับว่าเป็นการนิยามซ้ำ เรากำลังพูดถึงความจริงสากลบนโลกความเป็นจริง นิยามของ "สีชมพู" "สีแดง" และสีอื่น ๆ คืออะไร? ไม่มี สีนั้นถูกระบุได้ด้วยการมองเท่านั้น นิยามของมันจึงเป็นการนิยามโดยยกตัวอย่าง ซึ่งไม่เป็นไปตามตรรกะ เรื่องนี้คล้ายกับปัญหาเก่าแก่ของค้านท์เกี่ยวกับการสร้างประพจน์แบบความรู้ก่อนประสบการณ์ เราโต้เถียงเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้มาหลายเดือน ผมถูกโน้มน้าวให้เชื่อว่าประพจน์จะต้อเป็นจริงในตัวของมันเอง ถ้าหากไม่ได้เป็นความรู้ก่อนประสบการณ์ และเมื่อเป็นเช่นนั้น การขัดแย้งในตัวเองก็ย่อมเป็นอะไรที่ไม่สามารถเข้าใจได้ เพื่อน ๆ ของผมจะยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกเถียงอีกหรือไม่ผมก็ไม่อาจรู้ได้ แต่หัวข้อนี้ พวกเราได้ทำให้มันเข้าไปสู่การถกเถียงอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ณ ช่วงเวลานั้น มันมีลักษณะคล้ายคลึงกับมุมมองของรัสเซิลที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนที่ชื่อว่า ขีดจำกัดของประจักษ์นิยม

 

ปรากฏการณ์นิยม

                ประเด็นข้อถกเถียงอีกเรื่องที่นักปรัชญาร่วมสมัยของผมถกเถียงกันคือเรื่องปรากฏการณ์นิยม - นั่นก็คือ การถามว่าประสบการณ์มนุษย์นั้นจำกัดอยู่ภายใต้ผัสสะใช่หรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่สอนโดยนักปรัชญาอังกฤษสองคนคือ เบิร์กลีย์และฮูม (และในงานเขียนบางชิ้นของมิล และรัสเซิลด้วย) หรือว่า มีความจริงเป็นอิสระอยู่นอกประสบการณ์ทางผัสสะ นักปรัชญาบางคนเช่น ล็อคและสานุศิษย์ของเขาเชื่อว่ามีความเป็นจริงอยู่จริง แม้ว่าเราไม่อาจจะเข้าถึงมันได้โดยตรง - แต่ความจริงนั้นก็เป็นสาเหตุให้กับประสบการณ์ทางผัสสะซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถรับรู้ได้ นักปรัชญาคนอื่น ๆ มองว่าโลกภายนอกเป็นความจริงทางวัตถุที่สามารถรับรู้ได้โดยตรง หรือรับรู้แบบผิด ๆ ได้ตามแต่กรณีที่เป็นไป เราเรียกแนวคิดอย่างนี้ว่าสัจนิยม ตรงข้ามกับทัศนะที่โลกถูกสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบโดยความสามารถของมนุษย์ - ด้วยเหตุผล จินตนาการ และอื่น ๆ - ที่ถูกเรียกว่า คตินิยม ซึ่งผมไม่เคยเชื่อเลย ผมไม่เชื่อในความจริงทางอภิปรัชญาใด ๆ - ไม่ว่าจะเป็นความจริงทางเหตุผล ที่อธิบายโดยเดคาร์ต สปิโนซ่า ไลบ์นิซ และในวิถีที่แตกต่างไปของคานท์ หรือความจริงของคตินิยม (แบบภววิสัย) ไม่ว่าจะเป็นบิดาของสำนักคิดเฉกนี้อย่าง ฟิเช เฟเดริค ชิลลิง และเฮเกล ผู้ยังมีสานุศิษย์ตราบทุกวันนี้ สรุปแล้ว ความหมายก็ดี ความจริงก็ดี และธรรมชาติของโลกภายนอกก็ดี เป็นประเด็นที่ผมได้ครุ่นคิดมาแล้ว และในบางครั้งบางคราวผมก็ยังได้เขียนเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ด้วย - และบางชิ้นงานของผมเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ก็ถูกตีพิมพ์ไปบ้างแล้ว1

                ปรากฏการณ์ทางปัญญาอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อผมมากที่สุดนั้นเป็นประเด็นการค้นหาความจริงสากลโดยนักปรัชญาเพื่อหาความแน่ชัดสัมบูรณ์ หาคำตอบที่ปราศจากข้อสงสัย หาความมั่นคงทางปัญญาชนิดเบ็ดเสร็จ นับตั้งแต่แรกเริ่มของตรงจุดนี้ก็ปรากฏแก่ผมแล้วว่ามันเป็นการมุ่งเอาชัยที่เป็นแค่ภาพมายา ไม่ว่าผลสรุปหรือข้อมูลเชิงสถิติดูจะมีฐานที่แข็งแรงแค่ไหน แพร่หลายแค่ไหน สามารถเป็น “หลักฐานในตัวมันเอง” ได้แค่ไหน ก็ยังเป็นสิ่งที่มักจะเป็นไปได้เสมอว่ามีบางสิ่งที่อาจจะโต้เถียงหรือกระทั่งหักล้างมันได้ แม้ว่าในห้วงเวลานี้เราอาจจะยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร อีกทั้งความสงสัยที่ว่าเป้าหมายทางปรัชญานี้เป็นหนทางสู่ภาพมายานั้น ต่อมาได้มาครอบงำทัศนะความคิดของผมในวิถีทางที่แตกต่างออกไปและค่อนข้างจะใหม่ด้วย

ขณะที่ผมมีงานสอนและร่วมถกเถียงประเด็นทางปรัชญาเหล่านี้อยู่ตามที่ผมได้แจงให้เห็น ผมก็ได้รับคำสั่งจากคณะกรรมการให้เขียนชีวประวัติของคาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งทัศนะทางปรัชญาของมาร์กซ์นั้นเป็นทัศนะที่ไม่ใช่ของใหม่หรือน่าสนใจแต่อย่างใดสำหรับผมเลย แต่การที่ผมได้ศึกษาทัศนะของเขาทำให้ผมได้สืบค้นไปยังบรรดาผู้ตกทอดมรดกให้แก่เขา รวมถึงนักปรัชญาฝรั่งเศสแห่งศตวรรษที่สิบแปดโดยเฉพาะ - ปฏิปักษ์ที่ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกต่อลัทธินิยม ประเพณีนิยม ศาสนา ความเชื่อลี้ลับ ความไม่รู้ การกดขี่ ผมรู้สึกชื่นชมต่อภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่เหล่านักคิดแห่ง เอนไซโคปิเดีย ได้อุทิศตนให้ และชื่นชมต่องานอันยิ่งใหญ่ซึ่งพวกเขาได้ทำไปเพื่อปลดแอกมนุษย์จากความมืดมน - ของนักบวช ของอภิปรัชญา ของการเมือง และอื่น ๆ ทำนองนี้ ถึงแม้จะเป็นที่แน่นอนว่าผมได้เลือกที่จะโต้แย้งบางฐานคิดของความเชื่ออันเป็นสามัญของพวกเขา แต่ผมไม่เคยเลยที่จะหมดความนับถือหรือหมดความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับเหล่านักคิดยุคภูมิธรรมในช่วงศตวรรษนั้น ซึ่งสิ่งที่ผมเลือกจะวิพากษ์ นอกเหนือไปจากข้อด้อยทางประจักษ์นิยมของลัทธิความคิดนี้แล้ว ก็ยังมีผลลัพธ์ที่ตามมาของมันด้วย ทั้งในแง่ตรรกะและสังคม ผมตระหนักได้ว่าลัทธินิยมของมาร์กซ์ และสานุศิษย์ของเขา บางส่วนนั้นสืบทอดมรดกมาจากการเชื่อในความแน่นอนของยุคภูมิธรรมในศตวรรษที่สิบแปด

 

2

----------

ประวัติภูมิปัญญา และทฤษฎีทางการเมือง

                ในช่วงระหว่างสงครามผมเข้ารับเป็นข้าราชการของอังกฤษ หลังจากนั้นเมื่อผมกลับมาสอนปรัชญาที่อ๊อกซฟอร์ด ผมตกอยู่ในวังวนความสนใจปัญหาสำคัญสองประการ ประการแรกคือเอกนิยม - ทฤษฎีศูนย์กลางของปรัชญาจากเพลโตถึงยุคของเรา - และประการที่สองคือ ความหมายและการประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องเสรีภาพ ผมอุทิศเวลามากมายให้กับทั้งสองข้อนี้ ขณะเดียวกัน มันก็ช่วยปรับเค้าโครงความคิดของผมในช่วงเวลาหลายปีต่อมา

 

เอกนิยม

                ด้วยความเจิดจรัสที่เกิดขึ้นจากความสำเร็จของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในทั้งศตวรรษของพวกเขาเอง และยุคของชนรุ่นก่อน คนอย่างเฮลเวติอุส ฮอลบาค เด อเลมเบิร์ก คอนดิลัค และเหล่าผู้เผยแพร่อัจฉริยภาพเช่น วอลแตร์ และรุสโซ เชื่อว่า ถ้าหากวิธีการที่ถูกต้องได้ถูกค้นพบแล้ว ความจริงของประเภทที่เป็นรากฐานเหล่านั้นย่อมสามารถถูกค้นพบได้ ไม่ว่าจะในชีวิตทางเรื่องส่วนตัว ทางศีลธรรม ทางการเมืองและสังคม - ความจริงของประเภทที่ได้รับการจดจำว่าเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในในการสืบค้นโลกภายนอก เหล่านักสารานุกรมเชื่อว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นกุญแจเพียงดอกเดียวที่จะไขไปสู่ความรู้เฉกนี้ได้ ส่วนรุสโซและคนอื่น ๆ เชื่อในการค้นพบความจริงอันเป็นนิรันดร์ผ่านวิธีการครุ่นคิด แต่ถึงแม้วิธีการพวกเขาจะต่างกันอย่างไร พวกเขาก็อยู่ในชนรุ่นที่ล้วนเชื่อกันว่ากำลังมุ่งหน้าไปบนวิถีทางที่จะนำไปสู่คำตอบของทุก ๆ ปัญหาที่เป็นมหันตภัยต่อมวลมนุษยชาตินับตั้งแต่แรกเริ่ม

สมมติฐานใหญ่รองรับเอกนิยมนั้น เช่น คำถามที่แท้จริงทั้งหมดจะต้องมีคำตอบที่แท้จริง และมีหนึ่งเดียวเท่านั้น คำตอบอื่น ๆ ผิด มิฉะนั้นคำถามนั้นก็ย่อมไม่ใช่คำถามที่จริงแท้ มันต้องมีหนทางซึ่งนำพานักคิดที่มีความชัดเจนแจ่มแจ้งไปสู่คำตอบที่ถูกต้องต่อคำถามเหล่านี้ ไม่ว่าในโลกทางการเมือง สังคม ศีลธรรม เฉกเช่นเดียวกันกับในทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ไม่ว่าจะใช้วิธีการเดียวกันหรือไม่ก็ตาม และเมื่อคำตอบที่ถูกต้องทั้งหมดต่อคำถามทางการเมือง สังคม ศีลธรรมขั้นลึกที่สุดได้เข้าไปครอง (หรือควรเข้าไปครอง) พื้นที่ทางความคิดของมนุษยชาติ ถูกนำมาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะสะท้อนให้เห็นถึงคำตอบสุดท้ายต่อทุก ๆ ปัญหาของการดำรงอยู่ แน่นอน เราอาจจะไม่มีวันบรรลุซึ่งคำตอบเหล่านี้ได้เลย มนุษย์อาจจะเกิดความสับสนในตนเองเสียมากเกินไปด้วยอารมณ์ความปรารถนา หรือโง่เกินไป หรือโชคร้ายเกินไป เกินกว่าที่จะสามารถบรรลุถึงคำตอบเหล่านั้นได้ คำตอบอาจจะยากเกินไป วิธีการอาจจะดูขาดหายไป วิธีการซับซ้อนเกินกว่าจะทำให้ค้นพบ แต่ไม่ว่าจะอย่างนั้นก็ตามที ตราบเท่าที่มีคำถามที่แท้จริง คำตอบก็ย่อมต้องมีอยู่ ถ้าเราไม่รู้ คนรุ่นหน้าก็อาจจะรู้ หรือบางทีบรรดาปราชญ์ในยุคโบราณอาจรู้แล้วก็ได้ แต่ถ้าพวกเขาไม่รู้ บางทีอดัมในสวรรค์อาจรู้ หรือถ้าเขาไม่รู้ เหล่าเทวดาก็ต้องรู้ แต่ถ้าแม้กระทั่งพวกเขายังไม่รู้ พระเจ้าท่านจะต้องรู้ - คำตอบต้องมีอยู่

ถ้าคำตอบต่อคำถามทางการเมือง ทางศีลธรรม และทางสังคมถูกค้นพบแล้ว ดังนั้น เมื่อรู้แล้วว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร - สัจจะ/ความจริงแท้ - มนุษย์ก็ไม่อาจจะพลาดที่จะยึดถือเอาตามครรลองนั้น เพราะพวกเขาไม่มีแรงจูงใจอื่นใดให้นอกลู่นอกทางอีก ดังนี้แล้ว ชีวิตที่สมบูรณ์แบบจึงสามารถจินตนาการถึงได้ แม้ไม่อาจบรรลุได้ แต่โดยหลักการแล้ว มโนทัศน์จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่สามารถสร้างขึ้นได้ - แน่นอน ความเป็นไปได้ในการค้นพบคำตอบที่จริงแท้หนึ่งเดียวต่อคำถามอันยิ่งใหญ่ โดยหลักการแล้วต้องเป็นสิ่งที่ได้รับการยึดมั่นเชื่อถือ

                แนวคิดนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่นักคิดยุคภูมิธรรมแน่นอน วิธีการไต่ถามหาความจริงของพวกเขาที่ผู้อื่นเสนอแนะเองก็มีความแตกต่างกันไป สำหรับเพลโตเขาเชื่อว่าคณิตศาสตร์คือหนทางสู่ความจริง อริสโตเติลนั้นเชื่อว่าอาจจะเป็นชีววิทยา ชาวยิวและคริสเตียนแสวงหาคำตอบจากในพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ ตามคำแถลงของศาสดาผู้ได้รับแรงดลจิตจากเทวา และตามวิสัยทัศน์ของผู้ทรงอภิญญาลึกลับ พวกอื่น ๆ เชื่อว่าวิธีการในห้องทดลองและกระบวนการเชิงคณิตศาสตร์อาจจะยุติปัญหาทั้งหลายลงได้ ในขณะที่คนอื่น ๆ เช่น รุสโซเชื่อว่า จิตวิญญาณมนุษย์ไร้เดียงสา เด็กที่ปราศจากมลทิน ชาวสวนชาวไร่ธรรมดา ๆ เท่านั้นที่จะรู้ความจริง - ลึกซึ้งมากกว่าพวกผู้อยู่อาศัยที่แปดเปื้อนโสมมในสังคมที่ถูกทำลายล้างด้วยอารยธรรม แต่กระนั้นสิ่งที่พวกเขาทั้งหมดต่างเห็นด้วย เช่นเดียวกับผู้ที่รับช่วงต่อหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศสแล้ว ซึ่งเป็นผู้ที่อาจจะตั้งสมมติฐานถึงความจริงในทางที่ยากมากกว่าชนรุ่นก่อนหน้าที่มองโลกในแง่ดีและแสนจะไร้เดียงสา2 ว่ากฎเกณฑ์ของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์นั้นสามารถค้นพบได้ - และจวบจนตอนนั้นก็ถูกค้นพบมาแล้ว - ว่าคำตอบที่มีต่อคำถามของการจะใช้ชีวิตอย่างไรและจะต้องทำอะไร - ศีลธรรม ชีวิตทางสังคม การจัดระบบทางการเมือง ความสัมพันธ์ส่วนตัว - ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถถูกจัดเรียงภายใต้แสงแห่งความจริงซึ่งมาจากการค้นพบโดยวิธีการที่ถูกต้อง ไม่ว่านั่นจะเป็นอะไรก็ตามที  

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “ปรัชญาอมตะ” - ปรัชญาที่มนุษย์หรือนักคิดทั้งหลายเชื่อมาตั้งแต่ยุคก่อนโสกราตีสจนถึงนักปฏิรูปทั้งหลายและนักประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของเรา มันคือเสาหลักของความเชื่อที่ความคิดของมนุษย์ได้เอนอิงมานับสองพันปี หากไม่มีคำตอบจริงแท้ต่อคำถามที่มีอยู่ ความรู้ทั้งหลายก็ย่อมไม่อาจที่จะเข้าถึงได้ในช่องทางใด ๆ นี่เป็นหัวใจของการใช้เหตุผลของชาวยุโรป และแน่นอนว่ารวมถึงจิตวิญญาณ ตลอดจนความคิดอันยาวนานหลายชั่วอายุคนด้วย ไม่ว่าผู้คนจะมีความแตกต่างกันมากแค่ไหน ไม่ว่าวัฒนธรรมจะแตกต่างกันเพียงใด ไม่ว่าทัศนะทางการเมืองและศีลธรรมจะมีความแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะมีลัทธิคำสอน ศาสนา ศีลธรรม ความคิดมากมายมหาศาลเพียงใด - ทั้งหมดล้วนมีสิ่งที่เหมือนกัน นั่นคือมีคำตอบที่แท้จริงอยู่สักแห่งหนในการตอบคำถามอันเป็นแก่นแท้ที่ฝังรากอยู่ในมโนทัศน์ของมนุษยชาติ

ผมไม่รู้เหตุใดผมถึงรู้สึกสงสัยต่อความเชื่อที่แทบจะเอามาครอบคลุมจักรวาลนี้ แต่ผมก็สงสัยนั่นแหละครับ อาจจะเป็นเพราะอารมณ์ความรู้สึก แต่มันก็เป็นเช่นนั้นแหละ

 

เกียมบัดซิตา วิโก

                ผมตกตะลึงเมื่อได้อ่านงานเขียนของ เกียมบัดซิตา วิโก นักคิดชาวอิตาเลียนผู้มีชีวิตในศตวรรษที่สิบแปด วิโกเป็นนักปรัชญาคนแรกในทัศนะของผมที่พิจารณาถึงความคิดเชิงวัฒนธรรม วิโกต้องการจะเข้าใจธรรมชาติของความรู้เชิงประวัติศาสตร์ของตัวประวัติศาสตร์เอง การจะเข้าใจโลกภายนอกนั้นย่อมเป็นเรื่องดีที่จะพึ่งพาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ แต่กระนั้นสิ่งที่ได้จากวิทยาศาสตร์ธรรมชาติกลับเป็นข้อมูลพฤติกรรมของหินหรือโต๊ะหรือดวงดาวหรือโมเลกุล ในการคิดถึงอดีตนั้น เราจะต้องไปไกลกว่าเรื่องพฤติกรรม เราต้องการเข้าใจว่ามนุษย์ใช้ชีวิตอยู่อย่างไร และนั่นก็หมายว่าต้องเข้าใจแรงดลใจของพวกเขา ความกลัวและความหวัง ความปรารถนาและความรัก และความเกลียดชังของพวกเขา - ใครคือผู้ที่พวกเขาภาวนาถึง พวกเขาแสดงออกถึงตัวตนของพวกเขาในบทกวีอย่างไร ในศิลปะอย่างไร ในศาสนาอย่างไร การที่เราทำได้นี่เพราะเราต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน และเข้าใจชีวิตภายในของตนภายใต้คำเหล่านี้ เรารู้ว่าหิน หรือโต๊ะ วางตนอย่างไร เพราะเราสังเกต และตั้งสมมติฐาน และตรวจสอบสิ่งเหล่านั้น แต่เราไม่รู้แน่ว่าเหตุใดหินจึงปรารถนาจะเป็นดั่งที่มันเป็นอยู่ - ใช่ล่ะ เราคงรู้ว่ามันไม่มีความสามารถที่จะคาดหวัง หรือมีมโนสำนึกใด ๆ แต่เรารู้ว่าทำไมเราถึงเป็นสิ่งที่เราเป็นอยู่ขณะนี้ เรารู้ว่าเรากำลังแสวงหาอะไร เรารู้ว่าอะไรที่ทำให้เราคับข้องใจ เรารู้ว่าอะไรที่สื่อถึงอารมณ์และความเชื่อในก้นบึ้งของเราออกมา เราย่อมรู้เกี่ยวกับตัวเรามากกว่าที่จะรู้เกี่ยวกับก้อนหินหรือสายน้ำลำธารอยู่แล้ว

ความรู้ที่แท้จริงคือความรู้ว่าทำไมสรรพสิ่งจึงเป็นอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่แค่รู้ว่ามันคืออะไร และยิ่งเราลงลึกไปมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งตระหนักได้ว่าคำถามที่ตั้งโดยชาวกรีกที่ใช้ภาษาแบบโฮเมอริคย่อมแตกต่างจากคำถามที่ถูกตั้งโดยชาวโรมัน คำถามของชาวโรมันเองก็แตกต่างออกไปจากคำถามที่ถูกถามในยุคกลางของคริสเตียน ในยุควัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ของศตวรรษที่สิบเจ็ด หรือในช่วงเวลาศตวรรษที่สิบแปดของวิโกเอง คำถามแตกต่างกัน คำตอบก็ย่อมแตกต่างกัน แรงบันดาลใจก็แตกต่างกัน การใช้ภาษา สัญลักษณ์เองก็แตกต่างกัน และคำตอบต่อชุดหนึ่งชุดคำถามนั้นไม่สามารถตอบคำถามของวัฒนธรรมอื่นได้ และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรนักต่อคำถามในวัฒนธรรมอื่น แน่นอนว่าวิโก้เป็นโรมันแคทอลิคผู้เคร่งครัด และเขาเชื่อว่าลำพังแค่โบสถ์ก็เพียงพอที่จะตอบคำถามได้ แต่กระนั้นก็ตาม การเชื่อเช่นนั้นก็มิได้กีดกันเขาจากการสร้างองค์ความคิดแรกเริ่มที่ว่าวัฒนธรรมนั้นมีความแตกต่างกัน และไม่ได้กีดกันเขาจากการตระหนักรู้ว่าสิ่งที่สำคัญต่อชาวกรีกในศตวรรษที่ห้านั้นแตกต่างจากสิ่งที่สำคัญต่อชาวอินเดียนแดง หรือชาวจีน หรือนักวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองยุคศตวรรษที่สิบแปดเป็นอย่างมาก และด้วยเหตุนี้เอง ทัศนะของพวกเขาจึงแตกต่างกัน นั่นจึงทำให้ไม่มีคำตอบที่เป็นสากลต่อคำถามเหล่านี้ทั้งหมด แน่นอนมีบางสิ่งที่เป็นธรรมชาติร่วมกันของมนุษย์อยู่ มิฉะนั้นมนุษย์ในยุคหนึ่ง ๆ คงไม่อาจจะเข้าใจวรรณกรรมหรือศิลปะในยุคอื่น ๆ ได้ หรือเหนือกว่าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดก็คือการเข้าใจในเรื่องกฏหมาย ซึ่งตัววิโก้เป็นนักกฎหมายย่อมรู้ดีที่สุด แต่นั่นก็ไม่ได้กีดกันการมีอยู่ของประสบการณ์ทางวัฒนธรรมอันมากหลาย ดังนั้นกิจกรรมจำพวกหนึ่งย่อมสัมพันธ์กันกับกิจกรรมจำพวกอื่นภายใต้วัฒนธรรมหนึ่ง ๆ เท่านั้น และไม่ได้มีความเชื่อมโยงแนบชิดเคียงคู่ไปกับกิจกรรมอื่น ๆ ในอีกวัฒนธรรมเลย

 

เจ.จี เฮเดอร์

                จากนั้นผมก็ได้อ่านนักคิดที่ดูจะเป็นที่รู้จักมากกว่า นั่นคือ โจฮัน กอตฟริตซ์ เฮเดอร์ นักปรัชญาและกวีชาวเยอรมัน เฮเดอร์ไม่ใช่คนแรก (ครูของเขา โจฮัน จอร์จ ฮามันน์ สมควรแก่เกียรตินั้น) ที่ปฏิเสธหลักคำสอนของชาวฝรั่งเศสร่วมสมัยที่ว่ามีความจริงที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา และเป็นสากลซึ่งครอบคลุมมนุษย์ทุกคน ทุกเทศะ และกาละ และความแตกต่างทั้งหลายที่เห็นนั้นก็เป็นเพียงเพราะความผิดพลาดและมายาภาพนั่นเอง เพราะความจริงมีหนึ่งเดียวและเป็นสากล “สิ่งที่ถูกเชื่อในทุกที่แน่นอนล่ะย่อมถูกเชื่อโดยทุกคน”3 เฮเดอร์เชื่อว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้นทำให้เกิดคำตอบที่แตกต่างต่อคำถามสำคัญ ๆ ทั้งหลาย เขาสนใจในมนุษยชาติ ชีวิตทางจิตวิญญาณมากกว่าโลกภายนอก และเขาก็เชื่อว่าอะไรที่จริงสำหรับชาวโปรตุเกสไม่จำเป็นต้องจริงสำหรับชาวเปอร์เซีย มงเตสกิเออร์ก็ได้พูดเรื่องนี้ แต่กระนั้น เขาก็ยังเชื่อว่ามนุษย์ถูกสภาพแวดล้อมตีกรอบ โดยเรียกมันว่า “สภาพบรรยากาศ” แต่ท้ายสุดแล้วมงตเสกิเออร์ก็ยังเป็นนักสากลนิยมอยู่ - เขาเชื่อว่ามีความจริงแกนกลางเป็นนิรันดร์ แม้ว่าคำตอบต่อคำถามในระยะสั้นและมีความเฉพาะสำหรับแต่ละท้องถิ่นอาจจะมีความแตกต่างกันก็ตาม สำหรับเฮเดอร์แล้ว เขาวางหลักการเอาว่าทุกวัฒนธรรมต่างก็มี “ศูนย์กลางแรงโน้มถ่วง”4 ที่แตกต่างกัน และแต่ละวัฒนธรรมมีจุดอ้างอิงของตนเอง ไม่มีเหตุผลที่ว่าทำไมวัฒนธรรมต่างกันต้องต่อสู้กัน - สิ่งที่จำเป็นต้องมีคือการอดทนอดกลั้นอันเป็นสากล - ทั้งนี้การรวมทุกสิ่งเป็นหนึ่งเดียวกันก็คือการทำลายล้างนั่นเอง ไม่มีอะไรจะแย่ไปกว่าจักรวรรดินิยมอีกแล้ว กรุงโรมที่ซึ่งได้ทำลายล้างอารยธรรมดั้งเดิมในเอเชียไมเนอร์เพื่อที่จะผลิตสร้างแบบแผนวัฒนธรรมโรมันที่มีเพียงหนึ่งเดียวนั้นได้ก่ออาชญากรรมขึ้น โลกเคยเป็นสวนขนาดใหญ่ที่มีพืชและดอกไม้นานาชนิดเจริญงอกงามขึ้น ต่างก็งอกงามไปในทิศทางของพวกมันเอง ต่างก็มีข้อกล่าวอ้าง รวมถึงสิทธิ อดีตและอนาคตของตนเอง สิ่งที่ตามมานั้นมันไม่สำคัญเลยว่ามนุษย์มีอะไรร่วมกัน - และแน่นอน เน้นย้ำอีกที ถึงเราจะมีสิ่งร่วมกันที่เป็นธรรมชาติมนุษย์ในบางระดับ - แต่คำตอบอันเที่ยงแท้ครอบจักรวาลโดยที่สมเหตุสมผลในวัฒนธรรมหนึ่งและสมเหตุสมผลในอีกวัฒนธรรมหนึ่งด้วยนั้นไม่ได้มีอยู่จริง

                เฮเดอร์เป็นบิดาของชาตินิยมทางวัฒนธรรม เขาไม่ใช่นักชาตินิยมทางการเมือง   (ประเภททางชาตินิยมนี้ยังไม่ได้พัฒนาในช่วงสมัยของเขา) แต่เขาเชื่อในเอกราชทางวัฒนธรรมและความจำเป็นที่ต้องรักษาความพิเศษโดดเด่นของแต่ละวัฒนธรรม เขาเชื่อว่าความปรารถนาในการมีที่ทางในวัฒนธรรมหนึ่ง บางสิ่งที่พิเศษจำเพาะซึ่งผนึกกลุ่มหรือจังหวัดหรือชาตินั้น เป็นความต้องการของมนุษย์ขั้นพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ใฝ่หาเรียกร้องดังเช่นความต้องการอาหารหรือเครื่องดื่มหรือเสรีภาพ ฉะนั้น ความต้องการที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่คุณเข้าใจว่าคนอื่น ๆ พูดอะไร ที่คุณสามารถไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี ที่คุณมีความผูกพันในเชิงอารมณ์ เฉกเช่นเดียวกันกับในเชิงการเมือง สังคมและเศรษฐกิจนั้นจึงเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ที่มีวุฒิภาวะซึ่งได้รับการพัฒนามาแล้ว เฮเดอร์ไม่ใช่นักสัมพัทธนิยมเลย แม้ว่าเขาจะถูกกล่าวขานถึงบ่อยครั้งว่าเป็นเช่นนั้นก็ตาม เขาเชื่อว่าเป้าหมายของมนุษย์ขั้นพื้นฐานและกฏเกณฑ์ทางพฤติกรรมนั้นมีอยู่ แต่มีรูปแบบที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน และด้วยเหตุนี้ แม้จะมีการเทียบเคียงเกิดขึ้น หรือมีความคล้ายคลึงกันบ้าง ซึ่งอาจทำให้วัฒนธรรมหนึ่งดูฉลาดกว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง แต่วัฒนธรรมทั้งหลายนั้นไม่ควรถูกทำให้สับสนปนเปกันไป - มนุษยชาติไม่ใช่ความเป็นหนึ่งเดียวหากแต่หมายถึงความหลากหลาย และคำตอบต่อคำถามก็มีอยู่มากมาย แต่ทั้งนี้แก่นสารสำคัญบางอย่างของวัฒนธรรมทั้งมวลอาจจะมีอยู่เพียงหนึ่งเดียวและเหมือนกันก็ได้

 

ลัทธิโรแมนติคและผลที่ตามมา

                แนวคิดนี้ถูกพัฒนาให้ก้าวไกลขึ้นโดยชาวโรแมนติค ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เสนอแนวคิดใหม่ทั้งสิ้น และไม่เป็นที่น่าอภิรมย์นัก โดยพวกเขาเสนอว่าอุดมคตินั้นไม่ใช่ความจริงเชิงภววิสัยที่ถูกเขียนขึ้นในสรวงสวรรค์และจำเป็นต้องได้รับการเข้าใจ ถูกนำไปคัดลอก และถูกนำปฏิบัติใช้โดยมนุษย์ ทั้งนี้ความจริงเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ต่างหาก คุณค่านั้นไม่ได้มาจากการถูกค้นพบแต่มาจากการถูกสร้างขึ้น ไม่มีการค้นเจอ มีแต่การผลิตสร้าง - นี่คือบางสิ่งที่ชาวโรแมนติคในเยอรมนีบางส่วนเชื่ออย่างหมดใจ ตรงข้ามกับพวกภววิสัยนิยม ผู้ที่นำเอาชุดความคิดของชาวฝรั่งเศสที่ไม่ได้ลึกซึ้งและถูกสร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์จำเพาะมาทำให้เป็นสากล ความโดดเด่นนั้นสำคัญ กวีชาวเยอรมันเขียนบทกวีในภาษาเยอรมัน ด้วยกระบวนการเขียนนั้น ในแง่หนึ่งเขาผู้นั้นกำลังสรรสร้างสิ่งหนึ่งอยู่ เขาไม่ใช่แค่นักเขียนที่เขียนในภาษาเยอรมันเท่านั้น ศิลปินชาวเยอรมันเป็นผู้สร้างงานภาพเยอรมัน กวีเยอรมัน การเต้นรำแบบเยอรมัน - และทั้งหมดล้วนเป็นไปในวัฒนธรรมอื่น ๆ ด้วย นักคิดรัสเซีย อเลกซานเดอร์ เฮอร์เซน ครั้งหนึ่งถามว่า “เพลงอยู่ที่ไหนเล่าก่อนที่จะมีการกล่าวร้อง”5 จริง ๆ แล้วมันอยู่ที่ไหนหรือ? คำตอบคือ “ไม่ได้อยู่ที่ใดเลย” - เราสร้างเพลงโดยการร้อง โดยการประพันธ์ ฉะนัั้นแล้ว เฉกเช่นเดียวกัน ชีวิตก็ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ที่กำลังดำเนินชีวิตนั้น ๆ ไปทีละก้าว ๆ นั่นเอง นี่คือการตีความเชิงสุนทรียะของศีลธรรมและชีวิต ไม่ใช่การประยุกต์ใช้คติที่มีความเป็นนิรันดร์ การสร้างต่างหากที่เป็นทุกสิ่ง

 

                จากจุดนี้เอง ความเคลื่อนไหวหลากหลายนานาชนิดได้ปะทุขึ้น - ลัทธิอนาธิปไตย ลัทธิโรแมนติค ลัทธิชาตินิยม ลัทธิฟาสซิสม์ การบูชาวีรบุรุษ ผมสร้างคุณค่าของผมขึ้นมาเอง โดยอาจจะไม่ได้รู้ตัว และนอกจากนี้ “ฉัน” คือใครกันแน่ สำหรับพวกโรแมนติคสายไบรอนแล้ว “ฉัน” แน่นอนว่าหมายถึงปัจเจกบุคคล คนนอกวง นักผจญภัย คนนอกกฏหมาย เขาผู้นิยามสังคมและยอมรับคุณค่าต่าง ๆ และเดินตามทางของเขาเอง - มันอาจจะนำเขาไปสู่หายนะ แต่นั่นก็ย่อมดีกว่าการอยู่ในคอก เป็นทาสต่อความกึ่งดิบกึ่งดี แต่สำหรับนักคิดคนอื่น ๆ แล้ว “ฉัน” กลายเป็นบางสิ่งที่ดูเป็นอภิปรัชญามากขึ้น มันกลายเป็นการรวมหมู่ - ชาติ โบสถ์ พรรค ชนชั้น คฤหาสน์ใหญ่ซึ่งตัวฉันเป็นได้แค่ก้อนหินก้อนหนึ่ง สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่ฉันเป็นเพียงองค์ประกอบเล็ก ๆ ที่มีชีวิตเท่านั้น มัน กลายเป็นผู้สร้าง ส่วนตัวฉันมีความสำคัญตราบเท่าที่ฉันอยู่ในขบวนการ กลุ่มชาติพันธุ์ ชนชาติ ชนชั้น โบสถ์ เพียงเท่านั้น ฉันไม่อาจจะอ้างเอ่ยเป็นปัจเจกบุคคลที่แท้จริงได้ภายใต้ความเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่กว่าต่อผู้ที่ซึ่งชีวิตของฉันเป็นเพียงองค์ประกอบที่อยู่ใต้อาณัต

 

                ด้วยเหตุนี้ชาตินิยมเยอรมันจึงกลายเป็นว่า ฉันไม่ได้ทำไปเพราะมันดี หรือถูกต้อง หรือเพราะฉันชอบหรอก - ฉันทำไปเพราะฉันเป็นคนเยอรมัน และนี่ก็คือวิถีเยอรมันในการดำรงชีวิต เช่นเดียวกันกับอัตถิภาวนิยมสมัยใหม่ - ฉันทำไปเพราะยินยอมพร้อมใจให้ตัวฉันอยู่ในรูปแบบการดำรงอยู่เช่นนี้ ไม่มีสิ่งอื่นใดสั่งให้ฉันทำ ฉันไม่ได้ทำไปเพราะว่ามันเป็นคำบัญชาเชิงภววิสัยที่ฉันยอมศิโรราบให้ หรือเพราะกฎเกณฑ์อันเป็นสากลที่ฉันต้องยึดมั่น ฉันทำไปเพราะฉันเป็นผู้ลิขิตชีวิตของตัวฉันเองดังที่ฉันทำ ก็คือการเป็นในสิ่งที่ฉันเป็น ฉันสร้างหนทางให้ชีวิตของตัวเองและก็รับผิดชอบต่อวิถีทางนั้น การปฏิเสธคุณค่าสากล โดยเน้นย่้ำคุณค่านี้เหนืออื่นใด และภักดีต่อตัวตนที่ใหญ่ยิ่งกว่า เป็นช่วงขณะอันตรายของประวัติศาสตร์ยุโรป และจุดนี้ได้นำไปสู่การทำลายล้างมหาศาลและความอัปยศในยุคสมัยใหม่ จุดนี้จึงเป็นจุดแรกเริ่ม ซึ่งก็คือการเพ่งพิจารณาทางการเมืองและทางทฤษฎีโดยพวกโรแมนติคชาวเยอรมันยุคเริ่มแรกและสาวกของพวกเขาในฝรั่งเศสและที่อื่น ๆ6

 

แม้เพียงชั่วขณะผมก็ไม่เคยที่จะยอมรับความคิดเรื่องอัตตาขนาดใหญ่นี้เลย แต่ผมตระหนักถึงความสำคัญของมันในเชิงความคิดสมัยใหม่ และการกระทำสมัยใหม่ ตัวสโลแกนเช่น “ไม่ใช่ตัวฉัน แต่เป็นพรรค” “ไม่ใช่ตัวฉัน แต่เป็นโบสถ์” “ประเทศฉันจะผิดหรือถูก ก็คือประเทศของฉัน” ได้สร้างรอยแผลบนศรัทธาอันเป็นแกนกลางของความคิดมนุษย์ดังที่ผมได้แสดงให้เห็นข้างบน - ที่ว่าความจริงอันเป็นสากล ตลอดกาล สำหรับมนุษย์ในทุกช่วงเวลานั้น - ซึ่งนี่เป็นรอยแผลที่ไม่เคยได้รับการทุเลาเลย มนุษยชาติในฐานะที่ไม่ใช่วัตถุแต่ในฐานะอัตวิสัย ในฐานะจิตวิญญาณที่เคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง ที่สร้างตัวตนขึ้นมาเองและเคลื่อนที่ด้วยตัวเอง ในฐานะนาฎกรรมที่บรรจงตนเองให้เกิดองก์ต่าง ๆ มากมาย ตามที่มาร์กซ์ได้กล่าวไว้ จะจบลงที่ความสมบูรณ์แบบบางอย่าง - ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่เกิดจากการปฏิวัติของพวกโรแมนติค ขณะที่ผมปฏิเสธการตีความทางอภิปรัชญาขนาดมหึมาของชีวิตมนุษย์ที่ถูกสรุปรวมไว้ในบทสรุปเดียวนี้ - ผมยังคงเป็นนักประจักษ์นิยมอยู่ และจะรับรู้แต่สิ่งที่ผมสามารถมีประสบการณ์ได้ หรือคิดว่าสามารถจะมีประสบการณ์ได้เท่านั้น รวมถึงไม่เริ่มต้นที่จะเชื่อในสิ่งเหนือปัจเจกบุคคลอันยิ่งใหญ่ใด ๆ  -อย่างไรก็ตาม ผมก็ต้องยอมรับว่ามันส่งผลกระทบบางอย่างแก่ผม ในเส้นทางที่จะก้าวต่อไปจากนี้

 

พหุนิยม

                ผมได้ข้อสรุปว่ามีแนวคิดที่เรียกว่าพหุนิยมทางความคิดอยู่ เช่นเดียวกับการที่มีพหุนิยมทางวัฒนธรรมและทางอารมณ์ความรู้สึก ผมไม่ใช่พวกสัมพัทธนิยม ผมจะไม่พูดว่า “ผมชอบกาแฟกับนม ส่วนคุณชอบแบบไม่มีนม ดังนั้นผมจะชื่นชอบความมีน้ำใจดี ขณะที่คุณจะชื่นชอบการมีค่ายกักกันก็ได้” - ทุกคนมีคุณค่าของตนเอง ซึ่งไม่อาจจะหาว่าใครเหนือกว่ากันหรือผสมรวมกันได้ แนวคิดแบบนี้ผมคิดว่าผิด แต่ผมเชื่อว่าคุณค่านั้นเป็นพหุนิยมซึ่งมนุษย์สามารถให้คุณค่าและแสวงหาได้ เฉกนั้นคุณค่าเหล่านี้เองจึงแตกต่างกันออกไป คุณค่านั้นไม่ได้มีอยู่เป็นอนันต์ คุณค่าของมนุษย์ที่มีอยู่มากมาย ซึ่งเป็นคุณค่าที่ผมสามารถแสวงหาขณะที่ยังคงธำรงบุคลิกลักษณะอย่างมนุษย์อยู่นั้น ย่อมมีอยู่อย่างจำกัด - อาจจะมีสัก 74 ชนิด หรือบางที 122 ชนิด หรือ 127 ชนิด แต่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม และความแตกต่างนี้เองทำให้เกิดภาวะที่แม้มีมนุษย์ผู้หนึ่งใฝ่แสวงหาคุณค่าเหล่านี้ แต่ตัวผมเองซึ่งไม่ได้แสวงหาแบบเขาก็ยังอาจจะที่จะเข้าใจว่าทำไมเขาถึงใฝ่หาสิ่งนั้น หรือรู้ได้ว่าถ้าอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกันกับเขาจะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะโน้มน้าวให้ตัวผมลองใฝ่หาดูก็ได้ นี่จึงเป็นคำอธิบายสำหรับความเป็นไปได้ของการเข้าใจกันในมนุษย์

                ผมคิดว่าคุณค่าเหล่านี้เป็นภววิสัย - นั่นก็คือ โดยเนื้อแท้ของคุณค่า และการแสวงหาคุณค่าเหล่านั้น เป็นส่วนหนึ่งของการบอกว่ามนุษย์คืออะไร และนี่คือสิ่งที่ถูกทำให้เป็นภววิสัย ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ชายคือผู้ชาย ผู้หญิงคือผู้หญิง ไม่ใช่หมาหรือแมวหรือโต๊ะหรือเก้าอี้คือข้อเท็จจริงเชิงภววิสัย และในส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงภววิสัยนี้ก็มีคุณค่าที่แน่ชัด และก็มีคุณค่าเหล่านี้เท่านั้น ซึ่งมนุษย์ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์สามารถที่จะใฝ่แสวงหาได้ ถ้าหากฉันเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงที่มีจินตนาการเพียงพอ (ซึ่งผมคิดว่าจำเป็นมาก) ฉันก็สามารถที่จะเข้าไปสู่ระบบการให้คุณค่าที่ไม่ใช่ของฉันเองได้ แต่ถึงจะมิเป็นเช่นนั้น ก็เป็นสิ่งที่ฉันสามารถเข้าใจมนุษย์ผู้ที่แสวงหามันขณะที่ยังคงเป็นมนุษย์อยู่ได้ ในขณะที่ยังเป็นผู้ที่ฉันสามารถจะพูดคุยด้วยได้อยู่ กับผู้ซึ่งมีคุณค่าบางอย่างร่วมกันฉัน - สำหรับมนุษย์ทั้งหมดแล้วจะต้องมีบางคุณค่าร่วมกันหรือมิฉะนั้นก็หมดความเป็นมนุษย์ลงไป และรวมถึงต้องมีการให้คุณค่าบางอย่างให้แตกต่างกันไปด้วย มิเช่นนั้นมนุษย์ก็จะไร้ซึ่งความแตกต่างกัน เพราะในความเป็นจริงแล้วมนุษย์เป็นเช่นนั้น

                นี่คือเหตุผลว่าทำไมพหุนิยมจึงไม่ใช่สัมพัทธนิยม - คุณค่าทั้งหลายเป็นภววิสัย เป็นส่วนหนึ่งของแก่นสารมนุษยชาติมากกว่าจะเป็นการสร้างขึ้นตามอำเภอใจจากการจินตนาการเพ้อฝันเชิงอัตวิสัยของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าถ้าผมใฝ่หาคุณค่าชุดหนึ่ง ผมอาจจะไม่ชอบอีกชุด และอาจจะคิดด้วยว่าคุณค่านั้นทำลายรูปแบบชีวิตหนึ่งเดียวที่ผมสามารถที่จะอยู่หรือยอมอดทนอดกลั้นดำรงอยู่ได้เพื่อตัวผมและคนอื่น ๆ ในบางกรณีผมอาจจะโจมตีต่อต้าน หรือกระทั่ง - สำหรับในกรณีที่ร้ายแรง - ประกาศสงครามต่อต้านมัน แต่ผมยังคงตระหนักถึงสิ่งนั้นว่าเป็นการใฝ่หาของมนุษย์ ผมเห็นว่าคุณค่าของนาซีนั้นน่ารังเกียจ แต่ผมก็ยังเข้าใจว่าการที่ได้รับข้อมูลผิด ๆ มากพอ ได้รับความเชื่อผิด ๆ ในการมองความจริงมากพอ คนคนหนึ่งก็สามารถจะเชื่อว่านาซีคือรูปแบบเดียวของการพ้นทุกข์ได้ แน่นอนว่าพวกมันจะต้องได้รับการต่อกร ถ้าหากจำเป็นก็ด้วยสงคราม แต่ผมไม่ได้มองพวกนาซีว่าเป็นพวกมีปัญหาทางจิตหรือเป็นคนเสียสติตามที่บางคนมอง พวกเขาเป็นแค่คนที่ทำผิดพลาดไปอย่างมหันต์ ถูกทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง ดังตัวอย่างเช่น การเชื่อว่ามีมนุษย์บางคนเป็นสิ่งที่ต่ำกว่ามนุษย์ หรือชาติพันธุ์คือใจกลางความสำคัญ หรือเชื่อว่านอร์ดิคชาติเดียวเท่านั้นที่เป็นพวกหัวคิดสร้างสรรค์ และอื่น ๆ ผมเข้าใจดีว่าด้วยการศึกษาที่ผิดเพี้ยนมากพอ ด้วยมายาคติและข้อผิดพลาดที่แพร่หลายมากพอนั้นทำให้มนุษย์ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์ได้เชื่อคุณค่านี้ และก่ออาชญากรรมที่ทุกข์ทนล้นคณาอย่างที่สุดได้อย่างไร

                ถ้าพหุนิยมเป็นทัศนะที่สมเหตุสมผล การเคารพระบบคุณค่าต่าง ๆ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องต่อต้านต่อกันและกันนั้นเป็นไปได้ การมีขันติธรรมและเสรีนิยมก็คือผลลัพธ์ที่ตามมา นี่ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้เลยจากแนวคิดเอกนิยม (ชุดคุณค่าเดียวเท่านั้นที่จริง ชุดคุณค่าอื่น ๆ ล้วนปลอม) หรือจากสัมพัทธนิยม (คุณค่าของฉันก็คือคุณค่าของฉัน คุณค่าของคุณก็คือคุณค่าของคุณ และถ้าหากเราปะทะขัดกัน นั่นก็แย่เสียจริงที่เราทั้งคู่ไม่มีใครสามารถอ้างว่าตนเป็นฝ่ายถูกได้) พหุนิยมทางการเมืองของผมตกผลึกมาจากการอ่านวิโกและเฮอเดอร์ และจากการเข้าใจรากเหง้าของลัทธิโรแมนติค ซึ่งในความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น รูปแบบของความผิดปกติทางจิตไปไกลเกินกว่าขันติธรรมของมนุษย์จะรับได้

                ในส่วนของลัทธิชาตินิยมนั้น ความรู้สึกการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของชาติสำหรับผมดูจะเป็นเรื่องธรรมชาติและในตัวมันเองก็ไม่ใช่เรื่องต้องประณาม หรือกระทั่งวิจารณ์ แต่ในกรณีที่ถูกปลุกเร้าใส่ไฟเข้าไป - ชาติของฉันดีกว่าของเธอ ฉันรู้ว่าโลกควรจะเป็นไปอย่างไรและเธอต้องยอมตามฉันเพราะเธอนั้นไม่รู้ เพราะเธอนั้นต่ำต้อยกว่าฉัน เพราะชาติพันธุ์ของฉันนั้นสูงส่งที่สุด ส่วนของเธอนั้นด้อยกว่าอยู่มากโข ฉะนั้นจึงต้องยอมเป็นวัตถุเครื่องใช้ให้ให้แก่ชาติพันธุ์ของฉัน ซึ่งเป็นชาติพันธุ์เดียวที่ครองสิทธิในการสร้างโลกโลกที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ - นี่คือรูปแบบหนึ่งของความสุดโต่งขั้นจิตผิดปกติซึ่งอาจจะนำมาและเคยนำมาแล้วซึ่งความโหดเหี้ยมที่สุดที่ไม่อาจจะจินตนาการได้ และไม่อาจไปกันได้เลยแม้แต่นิดเดียวกับพหุนิยมชนิดที่ผมได้พยายามอธิบายไปแล้ว

                อาจจะเป็นเรื่องดูมีประโยชน์สำหรับตัวผมในการจะกล่าวสักหน่อยหนึ่งว่า คุณค่าที่เรามีในโลกซึ่งยอมรับกันนั้นอาจจะถูกสร้างขึ้นโดยพวกลัทธิโรแมนติคยุคเริ่มต้นและไม่เคยดำรงอยู่มาก่อนเลย เช่น ความคิดว่ามีความหลากหลายของสิ่งดี ความคิดว่าสังคมซึ่งมีความเห็นหลากหลาย และความเห็นนั้นควรจะมีความอดทนอดกลั้นต่อกันนั้นเป็นสิ่งที่ดีกว่าสังคมที่เข้มงวดตายตัวซึ่งหนึ่งความคิดเห็นกำลังผูกรั้งทุกคนเอาไว้ ก่อนศตวรรษที่สิบแปด ไม่มีใครยอมรับความคิดเหล่านี้ได้ ที่ว่าความจริงนั้นมีเพียงหนึ่งเดียวและความคิดเรื่องความหลากหลายเป็นภัยต่อความจริงหนึ่งเดียวนั้น พูดอีกอย่างก็คือ ความคิดเรื่องความจริงใจ ซึ่งยอมรับกันเป็นคุณค่านั้นเป็นสิ่งใหม่ มันมักจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอสำหรับการเป็นผู้พลีชีพเพื่อสัจจะ แต่เพื่อสัจจะเพียงเท่านั้น ชาวมุสลิมผู้ตายเพื่ออิสลามเป็นคนจน เป็นคนโง่เขลา เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกชักนำในทางที่ผิด ผู้เสียชีวิตให้แก่ความไร้แก่นสาร เช่นกันสำหรับชาวแคทอลิคแล้ว ชาวโปรเตสแตนท์ หรือชาวยิว หรือพวกเพแกนก็ด้วย และข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขามีความจริงใจนั้นก็หาได้ช่วยลบล้างคำกล่าวหานี้ไปได้ - สิ่งสำคัญ ณ ตอนนั้นคือการเป็นฝ่ายที่ถูก ในการค้นหาความจริงนั้น เช่นเดียวกันกับทุกก้าวเดินอื่น ๆ ของชีวิต ความสำเร็จเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่แรงดลใจ ถ้าหากใครสักคนพูดกับคุณว่า เขาเชื่อว่าสองคูณสองเป็นสิบเจ็ด และบางคนพูดขึ้นมาว่า “คุณรู้ไหม เขาไม่ได้ต้องการกวนใจคุณหรอกนะ เขาไม่ได้ทำไปเพราะเขาต้องการอวดฉลาด หรือเพราะมีคนจ้างเขาให้พูดเช่นนั้น - แต่เขาเชื่อเช่นนั้นจริง ๆ เขาเป็นผู้ที่เชื่ออย่างหมดใจ” คุณก็อาจจะพูดว่า “นี่มันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย เขากำลังพูดเรื่องไร้สาระไร้เหตุผลอยู่ต่างหากเล่า” นี่ก็คือสิ่งที่โปสเตสแตนท์กำลังทำในทัศนะของแคทอลิค รวมถึงในทางกลับกันที่ชาวแคทอลิคเองก็ถูกมองด้วย ยิ่งจริงใจมากเท่าไหร่ อันตรายก็จะยิ่งมากเท่านั้น ไม่มีใครให้ความสำคัญแก่ความจริงใจ จนกระทั่งความคิดว่ามีคำตอบมากกว่าหนึ่งต่อคำถามเกิดขึ้น - นั่นก็คือพหุนิยม - กลายเป็นเรื่องที่แพร่หลายมากขึ้น นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้การให้คุณค่าตั้งอยู่บนฐานของแรงดลใจมากกว่าผลลัพธ์ ตั้งอยู่บนความจริงใจมากกว่าความสำเร็จ

ศัตรูของพหุนิยมคือเอกนิยม - ความเชื่อโบราณที่ว่ามีความกลมเกลียวหนึ่งเดียวกันของความจริงอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ถ้าหากมันจริง ก็ต้องจริงแท้ดังเดิมไปตลอดถึงจุดจบ ผลลัพธ์ของการเชื่อแบบนี้ (ซึ่งเป็นอะไรบางอย่างที่แตกต่างจากสิ่งที่คล้ายกับที่ คาร์ล ป็อปเปอร์ เรียกว่า สารัตถะนิยม - ซึ่งสำหรับเขา นับเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด) คือการที่คนรู้ควรจะบงการคนที่ไม่รู้ คนที่รู้คำตอบต่อคำถามอันยิ่งใหญ่บางอย่างของมนุษย์นั้นควรแล้วที่เราจะศิโรราบให้ เพราะพวกเขาเท่านั้นที่รู้ว่าสังคมควรจะถูกบริหารจัดการอย่างไร ปัจเจกชนควรมีชีวิตอย่างไร วัฒนธรรมควรจะพัฒนาอย่างไร นี่คือความเชื่อแบบเพลโตนิคอันเก่าแก่ในเรื่องกษัตริย์นักปราชญ์ ซึ่งมีสิทธิที่จะให้คำสั่งแก่ผู้อื่น เรามักจะมีนักคิดที่เห็นว่า ถ้าหากนักวิทยาศาสตร์หรือผู้ที่ฝึกฝนมาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้รับการแต่งตั้งให้ไปกุมบังเหียนสังคมแล้ว โลกคงจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สำหรับเรื่องนี้ผมต้องบอกว่าไม่เคยมีข้อแก้ตัวหรือกระทั่งเหตุผลใดที่สามารถยืนยันสนับสนุนให้ได้สำหรับการกดขี่อันไร้จุดสิ้นสุดซึ่งกระทำโดยชนชั้นนำผู้ปล้นชิงเอาเสรีภาพอันเป็นแก่นสารของคนส่วนใหญ่ไป

                ครั้งหนึ่งใครสักคนเคยกล่าวไว้ว่า ในสมัยก่อนมนุษย์ทั้งชายและหญิงถูกนำไปเป็นเครื่องบูชายัญให้เหล่าเทวาทั้งหลาย โลกยุคใหม่เองก็ได้มีการแทนที่เหล่าทวยเทพทั้งหลายนั้นด้วยรูปเคารพใหม่เช่นกัน นั่นคือหลักนิยมทั้งหลาย การสร้างความเจ็บปวด การฆ่า การทรมานเป็นเรื่องทั่วไปที่ต้องถูกประณามด้วยความชอบธรรม แต่ถ้าหากการกระทำเหล่านี้เป็นไปโดยไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัว แต่เป็นไปเพื่อชุดความเชื่อ - สังคมนิยม ชาตินิยม ลัทธิฟาสซิสม์ ลัทธิคอมมิวนิสม์ ความเชื่อทางศาสนาที่ถูกเชิดชูอย่างบ้าคลั่ง หรือเพื่อความก้าวหน้า หรือเพื่อบรรลุซึ่งกฏเกณฑ์ความเป็นไปของประวัติศาสตร์ - นั่นก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ นักปฏิวัติแทบทั้งหมดเชื่ออย่างออกหน้าและอย่างลับ ๆ ว่าในการสร้างโลกอุดมคติ ไข่ต้องถูกตีให้แตก มิเช่นนั้น คนผู้หนึ่งก็ไม่อาจจะได้มาซึ่งไข่เจียวได้ ไข่ถูกตีให้แตกไปแล้วแน่นอน - ไม่เคยรุนแรงกว่า หรือมากหลายไปทุกแห่งหนเท่าในยุคของเรามาก่อน แต่ไข่เจียวก็ยังอยู่ไกลเกินกว่าจะหาได้ มันกลับถอยร่นเข้าสู่ระยะอนันต์ไป นั่นเป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ของชุดความเชื่อเอกนิยมอันปราศจากการจำกัดกรอบ ดังที่ผมบอก - บางคนเรียกมันว่าชุดความเชื่อแบบคลุ้มคลั่ง แต่เอกนิยมนั้นแลคือรากเหง้าของชุดความเชื่อสุดโต่งทุกรูปแบบ

 

เสรีภาพ

                เสรีภาพทางการเมืองเป็นประเด็นที่ผมตั้งใจกล่าวในปาฐกถาสองชิ้นในช่วงทศวรรษ 1950 ชิ้นหลังจากนั้นมีชื่อว่า “สองมโนทัศน์ของเสรีภาพ”7 เป็นคำกล่าวเนื่องในโอกาสที่ผมได้เข้าร่วมพิธีรับมอบตำแหน่งศาสตราจารย์ที่อ๊อกซฟอร์ด ใจความหลักของมันคือการแยกให้เห็นระหว่างสองแนวคิดของเสรีภาพ (หรืออิสรภาพ - คำซึ่งใช้แทนกันได้) มีเชิงลบและเชิงบวก เสรีภาพเชิงลบหมายถึงการปราศจากสิ่งซึ่งกีดขวางการกระทำของมนุษย์ นอกเหนือไปจากอุปสรรคต่าง ๆ ที่ถูกสร้างจากโลกภายนอก หรือจากกฏเกณฑ์ทางจิตวิทยา ทางกายภาพ หรือทางชีวภาพ ซึ่งครอบงำตัวมนุษย์อยู่แล้ว ก็ยังมีการไร้ซึ่งเสรีภาพทางการเมือง - ซึ่งเป็นใจความหลักของปาฐกถาของผม  - ที่อุปสรรคต่าง ๆ นั้นมาจากการสร้างขึ้นโดยมนุษย์เอง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ส่วนเสรีภาพเชิงลบจะเพิ่มพูนได้มากเพียงใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าอุปสรรคที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นหายไปมากเพียงใด - ในระดับที่ผมสามารถก้าวเดินได้อย่างเสรีในเส้นทางนั้น หรือเส้นทางนี้โดยปราศจากการป้องกันห้ามปรามจากสถาบันหรือระเบียบที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือจากกิจกรรมของมนุษย์บางจำพวก

                มันไม่เพียงพอที่จะบอกว่าเสรีภาพเชิงลบคือเสรีภาพในการทำอะไรก็ได้ที่ฉันอยากจะทำ เพราะในกรณีเช่นนั้น ฉันก็สามารถจะปลดแอกตนออกจากอุปสรรคได้โดยบรรลุซึ่งความปรารถนาง่าย ๆ โดยการเจริญรอยตามสโตอิคแบบในยุคโบราณ  และโดยการกำจัดความปรารถนาไปเสีย แต่ในหนทางนั้น การค่อย ๆ ขจัดความปรารถนาที่จะเปิดทางให้อุปสรรคสามารถเกิดขึ้นได้ออกไป จะนำไปสู่จุดสิ้นสุดที่มนุษย์ค่อย ๆ ถูกพรากออกจากธรรมชาติ ออกจากกิจกรรมแห่งการดำรงอยู่ ในอีกนัยหนึ่ง มนุษย์ที่ปลอดพันธนาการโดยสมบูรณ์ที่สุดก็คือมนุษย์ที่ตายแล้วนั่นเอง เพราะไร้แรงปรารถนาแล้ว จึงไร้อุปสรรคกีดขวาง สิ่งที่ผมคิดนั้นแตกต่างออกไป ง่าย ๆ เลยก็คือจำนวนเส้นทางที่มนุษย์สามารถเลือกที่จะเดินได้ ไม่ว่าเขาจะเลือกมันหรือไม่ก็ตาม นี่คือความหมายแรกของเสรีภาพสองอย่างทางการเมือง

                บางคนยืนกราน ต่อต้านผม โดยกล่าวว่าเสรีภาพนั้นเป็นความสัมพันธ์แบบสามเส้าที่ว่า ฉันสามารถเอาชนะหรือกำจัดทิ้งหรือเป็นอิสระจากอุปสรรคกีดขวางแค่เพื่อที่จะทำบางสิ่งบางอย่าง เพื่อที่จะมีอิสระในการกระทำ หรือทำในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย แต่ผมไม่เห็นด้วยกับพวกเขา การไม่มีเสรีภาพในความหมายพื้นฐานนั้นคือการบรรยายถึงมนุษย์ในเรือนจำ หรือมนุษย์ที่ถูกมัดอยู่กับต้นไม้ สิ่งที่มนุษย์เหล่านี้ปรารถนาจะทำก็คือการทำลายเครื่องพันธนาการ ออกจากที่คุมขัง โดยไม่ได้มุ่งหวังที่จะทำกิจกรรมใดโดยเฉพาะเมื่อเขาได้รับอิสรภาพแล้ว ในความหมายที่กว้างกว่านั้น แน่นอนว่าอิสรภาพหมายถึงการเป็นอิสระจากกฎกติกาต่าง ๆ ของสังคมหรือสถาบันต่าง ๆ ของสังคมนั้น จากการถูกต่อต้านด้วยการใช้กำลังในทางกายภาพหรือด้วยศีลธรรมอันเกินจำเป็น หรือจากอะไรก็ตามที่ปิดกั้นความเป็นไปได้ของการกระทำ ซึ่งถ้าหากไม่ได้เป็นเช่นนั้นมันก็จะเปิดกว้างของมันอยู่แล้ว นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่า “เสรีภาพจาก”

                ความหมายสำคัญอันเป็นแกนกลางของเสรีภาพอีกหนึ่งอย่างคือ เสรีภาพที่จะ ถ้าหากเสรีภาพเชิงลบถูกกำหนดวัดตวงด้วยการตอบคำถามที่ว่า “ฉันถูกควบคุมอยู่มากแค่ไหน?” คำถามที่สองสำหรับเสรีภาพอย่างที่สองก็คือ “ใครกันที่ควบคุมฉัน?” เมื่อเรากำลังพูดถึงเรื่องอุปสรรคที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์แล้ว ผมก็สามารถถามตัวเองได้ว่า “แล้วใครกำหนดการกระทำของผมและชีวิตของผมล่ะ?” ผมเองที่กำหนดการกระทำของผมไม่ว่าจะในทางใดที่ผมเลือกโดยเสรีจริง ๆ หรือเปล่า? หรือผมกำลังตกอยู่ภายใต้คำบัญชาจากบางแห่งที่ทำการควบคุมอยู่? การกระทำของผมถูกกำหนดโดยพ่อแม่ อาจารย์ที่โรงเรียน บาทหลวง ตำรวจ ใช่หรือเปล่า? ผมอยู่ภายใต้ระเบียบทางกฏหมาย ใต้อาณัตของระบอบทุนนิยม ใต้เจ้าผู้ครองบ่าวทาส ใต้รัฐบาล (ระบอบกษัตริย์ อภิชนาธิปไตย ประชาธิปไตย) หรือเปล่า? ในความหมายไหนหรือที่ผมเป็นเจ้าของชะตาชีวิตตนเอง?  ความเป็นไปได้ของการกระทำที่ผมสามารถทำได้อาจจะถูกจำกัด แต่มันถูกจำกัดอย่างไรล่ะ? ใครกันที่เป็นผู้ยืนขวางทางฉันอยู่ เขาจะใช้อำนาจบาทใหญ่ได้แค่ไหนกันเชียว?

                มีความหมายของ “เสรีภาพ” ที่สำคัญสองอย่าง ที่ผมได้มุ่งมั่นสำรวจ ผมได้ตระหนักว่าพวกมันแตกต่างกัน ได้ตระหนักว่ามันคือคำตอบต่อคำถามที่แตกต่างกันสองข้อ ทั้งนี้นอกจากมันจะมีรากร่วมกันแล้ว ในทรรศนะของผม พวกมันก็ไม่ได้ขัดแย้งกันด้วย - คำตอบต่อหนึ่งคำถามไม่ได้จำเป็นที่จะต้องไปกำหนดตัดสินคำตอบของอีกหนึ่งคำถาม เสรีภาพทั้งสองแบบคือจุดมุ่งหมายของมนุษย์ ทั้งคู่ต่างก็มีข้อจำกัดด้วยความจำเป็น และในวิถีทางของประวัติศาสตร์มนุษย์ มโนทัศน์ทั้งสองแบบอาจจะถูกนำไปบิดเบือนได้ เสรีภาพเชิงลบอาจจะถูกตีความว่าเป็นเศรษฐกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา โดยในนามของเสรีภาพ เจ้าของเหมืองย่อมมีสิทธิที่จะทำลายชีวิตของเด็กในเหมืองได้ หรือในนามเจ้าของโรงงานก็สามารถทำลายสุขภาพและบุคลิกภาพของคนงานในโรงงานได้ ทั้งนี้ นั่นคือการบิดเบือน ในทัศนะของผม นั่นไม่ใช่เจตจำนงที่แท้จริงของมโนทัศน์ที่มีต่อมนุษย์ เช่นเดียวกัน เขาว่ากันว่ามันคือการเยาะเย้ยที่จะบอกคนจนว่าเขามีอิสรภาพเต็มที่ในการจองห้องในโรงแรมราคาแพงได้ แม้ว่าเขาไม่อาจจะจ่ายได้ แต่นั่นก็คือการเข้าใจผิดอีกเช่นกัน แน่นอนเขาย่อมมีเสรีภาพที่จะเช่าห้องนั้น แต่เขาไม่มีเงินพอที่จะใช้เสรีภาพนี้ เขาไม่มีเงิน บางทีอาจเป็นเพราะเขาถูกกีดกันจากการได้รายได้ที่มากกว่านี้โดยระบบเศรษฐกิจที่มนุษย์สร้างขึ้น - แต่การพรากเสรีภาพในการหาเงินไม่ได้หมายถึงการพรากเสรีภาพในการเช่าห้อง นี่อาจจะดูเป็นการแยกแยะที่แสนกระจุกกระจิก แต่นี่คือข้อถกเถียงสำคัญในเรื่องการปะทะกันระหว่างเศรษฐกิจกับเสรีภาพทางการเมือง

                ความคิดเรื่องเสรีภาพเชิงบวกนั้นนำไปสู่สิ่งผิดเพี้ยนที่น่าสะพรึงเสียยิ่งกว่าในเชิงประวัติศาสตร์ ใครเล่าที่เป็นผู้บงการชีวิตของฉัน? ฉันเองไง ฉันน่ะหรือ? ความโง่ ความสับสน ถูกขับเคลื่อนไปทั่วสารทิศจากความหลงไหลและแรงขับเคลื่อนภายใน - ทั้งหมดนั่นหรือคือชีวิตฉัน ภายในตัวฉันนั้นจะไม่มีเลยหรือซึ่งตัวตนที่สูงส่งกว่า มีอิสระมากกว่า มีเหตุผลมากกว่า ที่สามารถเข้าใจและควบคุมแรงปรารถนาต้านอวิชชาและราคินทั้งหลายได้ ตัวตนซึ่งฉันจะบรรลุไปได้ก็ด้วยเพียงแต่การผ่านกระบวนการศึกษาหรือกระบวนการทำความเข้าใจ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ถูกควบคุมให้ดำเนินไปโดยคนที่ฉลาดกว่าฉันเท่านั้น คนผู้จะทำให้ฉันตระหนักถึงตัวตนขั้นลึกสุดอัน “จริง” แท้ของฉัน ตระหนักถึงส่วนดีที่สุดของฉัน นี่เป็นทัศนะทางอภิปรัชญาอันเป็นที่รู้จักกันดี ที่บอกว่าฉันจะเป็นอิสระจริงแท้ และควบคุมตนได้จริง ๆ ก็ต่อเมื่อฉันเป็นคนมีเหตุผลโดยแท้จริงเท่านั้น -ความเชื่อที่ย้อนกลับไปสู่ยุคเพลโต- และเมื่อตัวฉันเองอาจไม่ใช่ผู้ที่มีเหตุผลมากพอ ฉันจึงต้องยอมทำตามผู้ที่มีเหตุผลแท้จริง ซึ่งเป็นผู้ที่ล่วงรู้ว่าอะไรดีที่สุด ไม่ใช่สำหรับแค่ตัวเขาเองแต่สำหรับตัวฉันด้วย และเขานี่แหละจะนำพาฉันไปบนหนทางสู่การตื่นรู้ขั้นสูงสุดถึงตัวตนอันมีเหตุผลแท้จริงของฉัน และให้มันได้ฟื้นขึ้นมาทำงานในที่ที่มันควรจะดำรงอยู่ ฉันอาจจะรู้สึกถูกปิดล้อม - ถูกบดขยี้ - โดยผู้มีอำนาจเหล่านี้ แต่นี่ก็แค่ภาพมายาเท่านั้นเอง เมื่อฉันเติบโตและบรรลุ ตัวตน “แท้จริง” ด้วยวุฒิภาวะสมบูรณ์แล้ว ฉันจะเข้าใจว่าฉันต้องทำแบบนี้เพื่อตัวเอง ฉันจะทำแบบนี้นี่แหละหากฉันฉลาด ถ้าหากเมื่อฉันอยู่ในสภาวะที่ด้อยกว่า เช่นเดียวกับที่พวกเขาทำอยู่ในตอนนี้

                กล่าวสั้น ๆ คือ พวกเขากำลังกระทำแทนตัวฉัน เพื่อผลประโยชน์ของตัวตนขั้นที่สูงส่งกว่าของฉัน เพื่อควบคุมตัวตนขั้นที่ต่ำกว่าของฉัน ฉะนั้นเสรีภาพที่แท้จริงสำหรับตัวตนขั้นที่ต่ำกว่าจึงอยู่ในกรอบของการสยบยอมต่อพวกเขา ผู้ฉลาด ผู้รู้ความจริง ชนชั้นนำในหมู่นักปราชญ์ หรือบางทีการสยบยอมของฉันอาจต้องเป็นไปสำหรับคนที่เข้าใจว่าชีวิตชะตากรรมมนุษย์ถูกสร้างขึ้นอย่างไร -ถ้าหากมาร์กซ์กล่าวไว้ถูกแล้ว ก็ต้องเป็นพรรค (ที่เพียงลำพังก็เข้าใจความต้องการของเป้าหมายอันสมเหตุสมผลของประวัติศาสตร์ได้) ที่ต้องตีกรอบและนำทางฉันไป ไม่ว่าจะในทางใดที่ตัวตนในเชิงประจักษ์อันน่าเวทนาของฉันปรารถนาจะไป ส่วนตัวพรรคเองนั้นก็จะต้องได้รับการชี้นำจากผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และในที่สุดก็ต้องนำโดยผู้นำที่ฉลาดและยิ่งใหญ่ที่สุดจากทั้งหมดทั้งมวล

                ไม่มีเผด็จการใดในโลกที่ไม่สามารถใช้วิธีการโต้เถียงเช่นนี้ในการกดขี่อย่างเลวร้ายที่สุดได้ ในนามของตัวตนอันเป็นอุดมคติที่ซึ่งเขาผู้กดขี่กำลังเสาะแสวงการบรรลุมาด้วยวิธีการที่บางทีก็โหดร้าย และเป็นที่น่ารังเกียจทางศีลธรรมในตอนแรก (ในตอนแรก สำหรับตัวตนเชิงประจักษ์ขั้นต่ำกว่าเพียงเท่านั้น) “วิศวกรรมจิตวิญญาณมนุษย์”8 อธิบายได้ดีที่สุด เขาทำในสิ่งที่เขาทำไม่ใช่แค่เพื่อทำให้ดีที่สุดเพื่อชาติของเขา หากแต่ในนามของชาติโดยตัวมันเอง ในนามของสิ่งที่ชาติจะกระทำด้วยตัวเองถ้าหากมันได้บรรลุไปยังระดับของความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ขั้นนี้แล้ว นี่คือความผิดเพี้ยนอย่างมหันต์ที่แนวคิดเรื่องเสรีภาพเชิงบวกได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าทรราชย์นั้นจะมาจากผู้นำมาร์กซิสต์ กษัตริย์ เผด็จการฟาสซิสต์ พระอาจารย์ของโบสถ์ที่ทรงอำนาจ หรือชนชั้น หรือรัฐ มันก็ย่อมจะเสาะแสวงหาตัวตน “แท้จริง” ของมนุษย์ และ “ปลดแอก”มันเสีย เพื่อให้ตัวตนนั้นสามารถบรรลุไปยังระดับเดียวกับผู้มีอำนาจได้

                วิธีแบบนี้ย้อนกลับไปสู่แนวคิดอันไร้เดียงสาที่ว่ามีคำตอบแท้จริงหนึ่งเดียวเท่านั้นสำหรับทุกคำถาม ถ้าฉันรู้คำตอบที่แท้จริงแล้ว แต่คุณไม่รู้ และคุณไม่เห็นด้วยกับฉัน นั่นเป็นเพราะคุณโง่ ถ้าคุณรู้ความจริง คุณจะเชื่อสิ่งที่ฉันเชื่ออย่างไร้ข้อกังขา ถ้าคุณต้องการจะกระด้างกระเดื่องต่อฉัน จะเป็นเช่นนี้ไปได้ก็เพียงเพราะคุณเป็นฝ่ายผิด เพราะความจริงไม่ได้เผยให้คุณเห็นเหมือนที่เผยให้ฉันเห็น นี่เป็นการให้ความชอบธรรมแก่บางรูปแบบอันน่าสะพรึงกลัวของการกดขี่และการจองจำมนุษย์ไปเป็นทาสที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ และเห็นได้ชัดว่านี่คือการตีความแนวคิดเสรีภาพเชิงบวกที่อันตรายที่สุด และรุนแรงที่สุดโดยเฉพาะในศตวรรษของเรา

                ความคิดเรื่องเสรีภาพสองประเภทและการนำไปตีความในทางที่ผิดได้สร้างแกนกลางของข้อถกเถียงและข้ออภิปรายที่มีอยู่มากมายในฝั่งตะวันตก ในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ  กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น

 

นิยัตินิยม

                ส่วนปาฐกถาอีกอันของผมว่าด้วยเรื่องเสรีภาพนั้นมีชื่อว่า “ความหลีกเลี่ยงไม่ได้ทางประวัติศาสตร์”9 ในบทความชิ้นนี้ผมกล่าวไว้ว่า นิยัตินิยมเป็นลัทธิที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่นักปรัชญามาหลายร้อยปีแล้ว นิยัตินิยมป่าวประกาศว่าทุก ๆ เหตุการณ์มีสาเหตุ ซึ่งมันจะเป็นเช่นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่ทำให้เกิดรากฐานของวิทยาศาสตร์ธรรมชาตินั่นคือ กฏของธรรมชาติและการประยุกต์ใช้ - องค์ความรู้ทั้งหมดของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ - ตั้งอยู่บนแนวคิดเรื่องระเบียบอันเป็นนิรันดร์ ซึ่งวิทยาศาสตร์เป็นผู้เข้าไปตรวจสอบ แต่ถ้าหากธรรมชาติที่เหลือทั้งหมดตั้งอยู่บนกฏเหล่านี้แล้ว จะบอกได้หรือไม่ว่ามนุษย์เท่านั้นที่ไม่ได้อยู่บนกฎเหล่านี้ เมื่อมนุษย์คาดการณ์ ดังที่คนธรรมดาสามัญส่วนใหญ่ทำ (แม้ไม่ใช่ส่วนใหญ่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญา) ว่าเมื่อเขาลุกออกจากเก้าอี้ เขาไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้นก็ได้ เขาทำก็เพราะเขาเลือกที่จะทำ แต่เขาไม่จำเป็นเลือกทำเช่นนั้นก็ได้ - เมื่อเขาคาดการณ์อย่างนี้ เขาจะถูกบอกว่าสิ่งที่เขาคิดเป็นมายาคติ เขาจะถูกบอกว่าแม้ว่างานที่ต้องทำของนักจิตวิทยายังไม่สำเร็จ แต่วันหนึ่งมันจะสำเร็จ (หรือไม่ว่าอย่างไรในหลักการก็พึงสำเร็จได้) และจากนั้น เขาจะรู้ว่าสิ่งที่เขาเป็นและสิ่งที่เขาทำนั้นมีความจำเป็นดั่งที่มันเป็น ไม่สามารถเป็นอย่างอื่นไปได้ ผมเชื่อว่าลัทธิคำสอนนี้ผิด แต่ในความเรียงชิ้นนี้ผมจะไม่เขียนเพื่อแสดงอธิบาย หรือเขียนโต้แย้งนิยัตินิยม  

                ทฤษฎีของผมก็คือ มีเหตุผลสองประการหลักในการสนับสนุนลัทธินิยัตินิยมของมนุษย์ ประการแรกก็คือ เมื่อวิทยาศาสตร์ธรรมชาติอาจจะเป็นเรื่องราวของความสำเร็จอันใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติทั้งหมด มันจึงดูไร้สาระที่จะมีสมมติฐานว่ามีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ไม่ตกอยู่ใต้กฏทางธรรมชาติซึ่งค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ (นี่คือสิ่งที่นักปรัชญาศตวรรษที่สิบแปดยืนกราน) แน่นอนว่าคำถามไม่ได้อยู่ที่มนุษย์นั้นอิสระจากกฏเหล่านี้โดยสมบูรณ์หรือไม่ - ไม่มีใครนอกจากคนบ้าที่ยังคงยืนกรานได้ว่าเขาไม่พึ่งพิงต่อปัจจัยทางโครงสร้างเชิงชีวภาพหรือจิตภาพของเขาเอง ไม่พึ่งพิงสภาพแวดล้อม หรือไม่พึ่งพิงกฏของธรรมชาติ คำถามเดียวเท่านั้นก็คือ เสรีภาพของเขานั้นหมดไปโดยสมบูรณ์ณ จุดนั้นหรือไม่? จะไม่มีสักมุมหนึ่งเลยหรือที่เขาสามารถกระทำตามสิ่งที่เขาเลือกจะทำและไม่ถูกกำหนดให้เลือกทำโดยสาเหตุก่อนหน้า? นี่อาจจะเป็นแง่มุมเล็ก ๆ ในอาณาจักรของธรรมชาติ แต่ถึงมันจะมีอยู่หรือไม่ จิตสำนึกแห่งการเป็นอิสระ ซึ่งเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากเป็นไปอย่างสากลนั้น - ข้อเท็จจริงที่คนส่วนใหญ่นั้นเชื่อว่า ขณะที่การกระทำของพวกเขาบางส่วนเป็นไปในรูปแบบของจักรกล ก็ยังมีบางส่วนเป็นไปตามเจตจำนงอิสระของพวกเขา - คือมายาภาพอันมโหฬารนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของมนุษย์ชาติ ตั้งแต่อดัมกินแอปเปิ้ล แม้ว่าถูกบอกแล้วว่าอย่าทำ และเขาเองก็ไม่ได้ตอบกลับไปว่า “ผมไม่อาจจะหักห้ามใจได้ ผมไม่ได้ทำไปอย่างอิสระ หากแต่อีฟบังคับให้ผมทำ”

                เหตุผลอย่างที่สองของการเชื่อลัทธินิยัตินิยมคือมันเป็นการโอนย้ายความรับผิดชอบมากมายมหาศาลต่อสิ่งที่คนได้ทำลงไปสู่สาเหตุที่ไม่ใช่ในระดับบุคคล และจากนั้นก็จัดวางให้สาเหตุเหล่านั้นอยู่ในฐานะที่ไม่คู่ควรกับการถูกประณามในสิ่งที่พวกเขาทำ เมื่อผมได้สร้างข้อผิดพลาด ทำสิ่งผิด หรือทำอาชญากรรม หรือทำอะไรซึ่งผมตระหนัก หรือคนอื่นตระหนักว่าไม่ดีหรือเลวร้าย ผมก็สามารถบอกได้ว่า “ผมจะเลี่ยงมันได้ยังไง - นี่เป็นวิถีทางที่ผมโตขึ้นมา” หรือ “นี่เป็นธรรมชาติของผม กฏธรรมของชาตินั้นคือผู้รับผิดชอบ  หรือ “ตัวฉันขึ้นอยู่กับสังคม ชนชั้น โบสถ์ ชาติ ซึ่งทุก ๆ คนก็ทำแบบนี้ และไม่มีใครดูเหมือนจะประณามการกระทำแบบนี้เลย” หรือ “ฉันมีเงื่อนไขทางจิตซึ่งพ่อแม่ของฉันท่านปฏิบัติต่อกันและกัน รวมถึงปฏิบัติต่อตัวฉันอย่างนี้ และจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งฉันอยู่” หรือท้ายที่สุดคือ “ผมอยู่ภายใต้คำบัญชา” สำหรับคำอ้างเหล่านี้ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าทุก ๆ คนอย่างน้อยมีตัวเลือกอยู่สองข้อที่ฉันจะต้องเลือก สองความเป็นไปได้ที่เขาตระหนักถึง เมื่อไอซ์มันพูดว่า “ผมฆ่ายิวเพราะผมได้รับคำสั่ง ถ้าหากผมไม่ทำ ผมอาจจะต้องฆ่าตัวเอง” คนอีกคนก็อาจจะบอกได้ว่า “ผมเห็นว่ามันไม่น่าจะเป็นไปได้ที่คุณจะเลือกโดนฆ่า แต่ในทางหลักการ คุณก็ทำได้ถ้าคุณตัดสินใจจะทำ - ในธรรมชาตินั้นไม่มีการบังคับให้คุณทำในสิ่งที่คุณทำอยู่จริง ๆ หรอก” คุณอาจจะบอกว่ามันไม่สมเหตุสมผลที่จะหวังว่าผู้คนจะประพฤติตัวแบบนี้ขณะที่เผชิญหน้าอยู่กับอันตรายอันใหญ่หลวง มันจึงกลายเป็นอะไรที่เป็นไปได้น้อยที่พวกเขาควรจะตัดสินใจทำเช่นนั้นด้วยความหมายของคำที่พวกเขาสามารถจะทำตามนั้นได้ การพลีชีพเพื่อความเชื่อมิอาจถูกคาดหวังให้เกิดขึ้นได้ แต่สามารถเป็นที่ยอมรับได้ในการต่อต้านอะไรก็ตามที่พิลึกพิกล - และแน่นอน นี่คือเหตุผลว่าทำไมมันจึงได้รับการยกย่องอย่างยิ่งยวด

                เหตุผลที่ว่าทำไมมนุษย์โอบรับเอานิยัตินิยมมาปฏิบัติใช้ในประวัติศาสตร์นั้นฟังไม่ขึ้นอีกแล้ว แต่ถ้ามันฟังขึ้นอยู่ ผลลัพธ์ทางตรรกะอันน่าลำบากใจก็จะตามมา ซึ่งนี่ก็เป็นอย่างน้อยที่สุด นั่นหมายความว่าเราไม่อาจจะพูดกับใคร ๆ ได้เลยว่า “คุณต้องทำอย่างนั้นด้วยหรือ? ทำไมคุณต้องทำอย่างนั้นด้วยล่ะ?” - สมมติฐานที่อยู่เบื้องหลังก็คือเขาคนนั้นสมควรที่จะละเว้นได้ หรือทำอย่างอื่นได้ ศีลธรรมทั้งหมดที่เรามีร่วมกัน ซึ่งพูดถึงข้อผูกมัดและหน้าที่ สิทธิและความผิด การได้รับการยกย่องทางศีลธรรมและการประณามกร่นด่า - ก็คือวิถีที่คนได้รับการยกย่องหรือถูกประณาม ได้รับรางวัลหรือถูกลงโทษจากพฤติกรรมที่พวกเขาไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องทำ เมื่อพวกเขาสามารถเลือกกระทำในทางอื่นได้ - เครือข่ายของความเชื่อและการปฏิบัตินี้ ซึ่งสำหรับผมแล้วดูเหมือนว่าศีลธรรมทั้งหมดจะอิงเอนอยู่ด้วยนั้น ได้ตั้งสมมติฐานล่วงหน้าเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบ ซึ่งความรับผิดชอบนั้นก็นำมาซึ่งความสามารถในการเลือกระหว่างสีขาวกับสีดำ ถูกหรือผิด ความอภิรมย์หรือหน้าที่ เช่นเดียวกันในความหมายที่กว้างขึ้น ระหว่างรูปแบบต่าง ๆ ของชีวิต ของรัฐบาล และการรวมกลุ่มกันทั้งหมดของคุณค่าทางศีลธรรมในความหมาย่อมมีอยู่ ถึงแม้ไม่ว่าคนส่วนใหญ่เขาจะรับรู้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหนก็ตาม

                ถ้าหากนิยัตินิยมเป็นที่ยอมรับ คำศัพท์ของเราจะต้องถูกเปลี่ยนแปลงอย่างเหลือเชื่อทีเดียว ผมไม่ได้บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้เชิงหลักการ แต่มันจะไปไกลเกินกว่าคนส่วนใหญ่จะเตรียมใจรับได้ อย่างดีที่สุด สุนทรียศาสตร์จะมาแทนที่ศีลธรรม คุณสามารถยกย่องหรือสรรเสริญคนที่หล่อ ใจดี หรือมีดนตรีในหัวใจได้ - แต่นั่นไม่ใช่เรื่องของการเลือกของพวกเขา นั่นคือ “การที่พวกเขาถูกสร้างมาอย่างนี้” การยกย่องเชิงศีลธรรมก็จะต้องเป็นไปในแบบเดียวกัน ถ้าฉันยกย่องคุณที่ปกป้องฉันจากแม้ว่าคุณจะต้องตกอยู่ในอันตราย ฉันหมายถึงมันเป็นเรื่องที่แสนวิเศษที่คุณถูกสร้างมาแบบนี้ ซึ่งคุณไม่อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ช่วยฉันได้ และฉันก็ยินดีที่ฉันพบคนที่ถูกกำหนดมาช่วยชีวิตฉัน ซึ่งตรงกันข้ามกับคนที่ถูกกำหนดมาให้เบือนหน้าหนีฉันไป การกระทำมีเกียรติหรือไม่มีเกียรติ การใฝ่หาความอภิรมย์และการพีลีชีพเพื่อสังเวยความเชื่อ ความกล้าหาญและความขี้ขลาด ความเสแสร้งและความจริงใจ การทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อต่อต้านสิ่งยั่วยุ - สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเหมือนกับการเป็นคนที่ ดูดีหรือน่าเกลียด สูงหรือเตี้ย แก่หรือหนุ่ม ดำหรือขาว เกิดจากพ่อแม่อิตาลีหรืออังกฤษ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อาจจะเปลี่ยนได้ เพราะทั้งหมดถูกกำหนดมาแล้ว เราสามารถหวังว่าสรรพสิ่งจะเป็นไปดังที่เราอยากจะให้เป็นได้ แต่เราไม่อาจจะทำอะไรกับมันได้เลย - เราถูกสร้างมาจริง ๆ เราทำอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากทำตามวิถีทางนั้น ๆ แน่นอน ทุก ๆ แนวคิดของการกระทำนั้นเป็นตัวกำหนดทางเลือก แต่ถ้าหากทางเลือกถูกกำหนดมาด้วยตัวมันเองแล้วล่ะ อะไรคือความแตกต่างระหว่างการกระทำและพฤติกรรมล้วน ๆ เล่า

                มันดูจะเป็นเรื่องขัดแย้งในตัวเองสำหรับผมที่ขบวนการทางการเมืองบางขบวนเรียกร้องการอุทิศเสียสละ ขณะเดียวกันก็เป็นนักนิยัตินิยมในทางความเชื่อ ตัวอย่างก็เช่นลัทธิมาร์กซิสม์ ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานนิยัตินิยมทางประวัติศาสตร์ - ช่วงขณะที่สังคมจะต้องผ่านไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก่อนที่จะบรรลุไปสู่ความสัมบูรณ์ในที่สุด - ส่งเสริมต่อความเจ็บปวดและการกระทำที่อันตราย การบีบบังคับและการฆ่า ความเจ็บปวดในช่วงเวลาที่มีต่อทั้งผู้ก่อเหตุและเหยื่อ แต่ถ้าหากประวัติศาสตร์จะนำมาซึ่งสังคมอันสมบูรณ์แบบอย่างแน่นอนแล้ว ทำไมคนคนหนึ่งต้องอุทิศชีวิตคนคนหนึ่งเพื่อกระบวนการหนึ่งที่จะบรรลุถึงหนทางที่สวยงามและเหมาะสมโดยปราศจากการช่วยเหลือใด ๆ จากคนคนหนึ่งด้วยเล่า อย่างไรก็ตาม ยังมีอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ที่ชวนฉงนว่าถ้าหากดวงดาวในช่วงเวลาของเขากำลังต่อสู้เพื่อตัวคุณ จุดมุ่งหมายของคุณก็ย่อมจะได้รับชัยชนะ ดังนั้นคุณก็ควรจะเสียสละตัวเองเพื่อให้กระบวนการนั้นสั้นลง เพื่อนำสภาวะยากลำบากของระเบียบใหม่มาอยู่ใกล้ตัวขึ้น ดังที่มาร์กซ์บอก แต่ผู้คนจำนวนมากมายสามารถจะถูกโน้มน้าวให้เผชิญอันตรายเหล่านี้เพื่อที่จะย่นระยะกระบวนการซึ่งจะจบลงที่ความสุขไม่ว่าพวกเขาอาจจะทำสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตามอย่างนั้นหรือ? นี่ก็ยังเป็นสิ่งที่กวนใจผมและกวนใจคนอื่น ๆ อยู่

ในปาฐกถาทั้งหมดนี้ที่ผมอภิปรายมานั้นเป็นคำถามที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงโต้แย้งกันอยู่ อีกทั้งยังได้รับการถกเถียงและพิพาทมามากนักจนกระทั่งทุกวันนี้

 

การไขว่คว้าหาอุดมคติ

                ยังมีอีกหนึ่งหัวข้อซึ่งผมได้เขียนถึง และนี่เป็นเรื่องความคิดว่าด้วยสังคมที่สมบูรณ์แบบ แก้ปัญหาต่อความป่วยไข้ของเราทั้งหมด นักคิดฝรั่งเศสในศตวรรษที่สิบแปดบางคนคิดว่าสังคมอุดมคติที่พวกเขาคาดหวังจะต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนอื่น ๆ มองในแง่ร้ายกว่านั้น และทึกทักเอาว่าความบกพร่องของมนุษย์จะทำให้สังคมนั้นล้มเหลว บางคนคิดว่าความก้าวหน้าเป็นสิ่งที่หยุดยั้งไม่ได้ คนอื่น ๆ คิดว่าความพยายามของมนุษย์อันยิ่งใหญ่เท่านั้นที่จะบรรลุถึงได้ แต่บางทีก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ความคิดเรื่องสังคมอุดมคติได้ตั้งสมมติฐานล่วงหน้าถึงมโนทัศน์ของโลกที่สมบูรณ์แบบที่คุณค่าดีงามทั้งหลายอยู่ภายใต้ภาพที่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ยาวยืนนานกระทั่งบรรลุถึงร่วมกันได้อย่างน้อยที่สุดก็ในหลักการ มีสิ่งที่เหนือกว่านั้นเสียอีกที่ปฏิเสธตัวมโนทัศน์นี้เองอยู่ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างออกไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าความคิดนี้ดูเป็นโลกยูโทเปียสำหรับผู้ที่คิดว่าโลกเช่นนี้ไม่อาจจะบรรลุได้เนื่องจากมีอุปสรรคทางจิตวิทยา หรือวัตถุ หรือความโง่เขลาที่เยียวยาไม่ได้ ความอ่อนแอ หรือการขาดซึ่งเหตุผลของมนุษย์ขวางกั้นอยู่

ผมไม่รู้ว่าใครอาจจะคิดแบบนี้บ้าง แต่ผมคิดว่าคุณค่าสูงสุดเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้บ้าง และไม่ได้บ้างสำหรับบางอย่าง เสรีภาพ ในไม่ว่าในความหมายใด เป็นอุดมคติของมนุษย์อันเป็นนิจนิรันดร์ ไม่ว่าจะในเชิงปัจเจกหรือสังคม เช่นกันกับความเท่าเทียม แต่เสรีภาพสัมบูรณ์ (ดังที่ต้องมีในโลกสมบูรณ์แบบ) ไม่อาจจะไปได้กับความเสมอภาคสมบูรณ์ ถ้าหากมนุษย์มีเสรีที่จะทำอะไรก็ได้ตามที่เขาเลือก เมื่อนั้นคนแข็งแรงย่อมจะทำลายคนอ่อนแอกว่า หมาจิ่้งจอกย่อมกินแกะ และนี่ก็จะนำซึ่งจุดจบของความเสมอภาค ถ้าหากความเสมอภาคอันสมบูรณ์แบบสามารถบรรลุถึงได้ มนุษย์ก็จะต้องถูกสกัดกั้นไม่ให้เข้าถึงการที่สามารถมีความเหนือกว่ากันเองได้ ไม่ว่าจะในความสำเร็จเชิงวัตถุ ในเชิงปัญญา หรือในทางจิตวิญญาณ มิเช่นนั้น ความไม่เสมอภาคก็จะเกิดขึ้น นักอนาธิปไตยอย่างบาคูนิน เชื่อในความเสมอภาคเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด เขาคิดว่ามหาวิทยาลัยควรจะถูกยุบทิ้ง เพราะมันบ่มเพราะมนุษย์ผู้ได้รับการศึกษาที่ประพฤติตัวราวกับว่าพวกเขาเหนือกว่าคนที่ไม่ได้เรียน และนี่เป็นการนำมาซึ่งความไม่เท่าเทียมทางสังคม เช่นกัน โลกที่ยุติธรรมสมบูรณ์แบบ - และใครเล่าจะปฏิเสธได้ว่านี่คือหนึ่งในคุณค่าของมนุษย์ที่ประเสริฐที่สุด? - ไม่อาจจะไปกันได้กับความเมตตากรุณาอันสมบูรณ์แบบ ผมไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดตรงจุดนี้หรอก เราต้องเลือกสักอย่างว่าจะให้กฏหมายแผลงฤทธิ์เดช หรือจะให้มนุษย์เลือกที่จะให้อภัย แต่ทั้งสองคุณค่านี้ก็ไม่อาจบรรลุไปพร้อมกันได้

กล่าวอีกก็ได้ว่า ความรู้และความสุขอาจจะหรือไม่อาจจะไปด้วยกันได้ นักคิดเหตุผลนิยมตั้งสมมติฐานเอาว่าความรู้จะนำซึ่งการปลดแอกสู่อิสรภาพเสมอ มันจะปกปักษ์รักษามนุษย์จากการเป็นเหยื่อของอำนาจที่พวกเขาไม่อาจเข้าใจได้ ในบางจุด นี่เป็นความจริงอย่างไม่น่าสงสัยเลย แต่ถ้าฉันรู้ว่าฉันเป็นมะเร็ง นั่นคงไม่ได้ช่วยฉันให้มีความสุข หรืออิสระขึ้นเลย - ฉันต้องเลือกระหว่างการล่วงรู้ให้มากที่สุดตลอดเวลาตราบเท่าที่ฉันสามารถทำได้ กับการยอมรับว่ามีบางสถานการณ์ที่ความเฉยชาไม่รับรู้นั้นคือความสุข ไม่มีอะไรจะน่าดึงดูดใจไปกว่าความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นฉับพลันทันใด พลังวังชาจากธรรมชาติ ความคิดที่เจิดจรัสและเป็นอิสระ และผลงานสรรสร้างทางศิลปะแล้ว - แต่สิ่งเหล่านี้มักจะไปไม่ได้กับความสามารถในการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพและการระมัดระวัง แต่ถ้าปราศจากสิ่งเหล่านี้ แม้แต่สังคมที่มั่นคงในระดับปานกลางก็มิอาจถูกสร้างขึ้นได้เลย

เสรีภาพและความเท่าเทียม ความหุนหันพลันแล่นและความปลอดภัย ความสุขและความรู้ ความเมตตากรุณาและความยุติธรรม - ต่างก็เป็นคุณค่ามนุษย์ขั้นสูงสุดทั้งนั้น เป็นไปเพื่อตัวพวกมันเอง กระนั้นเมื่อมันไม่อาจไปด้วยกันได้ มันก็ไม่อาจจะถูกบรรลุถึงได้ทั้งหมด ตัวเลือกย่อมต้องถูกเลือก บางครั้งการสูญเสียอย่างขนานใหญ่เป็ที่ยอมรับได้ในการใฝ่แสวงหาเป้าหมายสูงสุดบางอย่างอันเป็นที่พึงพอใจ แต่ถ้า อย่างที่ผมเชื่อ นี่ไม่ใช่แค่เป็นความจริงเชิงประจักษ์แต่เป็นความจริงเชิงมโนทัศน์ด้วยแล้ว - นั่นหมายถึง ได้รับมาจากมโนทัศน์ของคุณค่าทั้งหลายเหล่านี้ - ความคิดว่าโลกสมบูรณ์แบบที่สิ่งที่ดีทั้งหมดจะถูกยอมรับก็เป็นเรื่องไม่อาจจะเข้าใจได้ แท้จริงแล้วก็คือความไม่ลงรอยทางมโนทัศน์ และถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ผมก็ไม่อาจจะคิดว่ามันจะเป็นอย่างอื่นไปได้อีก ตัวความคิดของโลกอุดมคติ ซึ่งไม่อาจจะมีการเสียสละใดยิ่งใหญ่เท่า ก็ย่อมปลาสนาการจากทัศนะไป

ถ้าหากจะย้อนกลับไปสู่พวกนักสารานุกรมและมาร์กซิสต์และขบวนการอื่น ๆ ซึ่งมีเป้าหมายชีวิตอันสมบูรณ์แบบ ดูเหมือนเป็นความคิดที่ว่าสิ่งที่โหดร้ายป่าเถื่อนทั้งปวงต้องถูกยอมรับให้เกิดขึ้นได้ เพราะถ้าปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้ว กรณียกิจในสถานภาพอันเป็นอุดมคติก็ไม่อาจจะบรรลุถึงได้ - ทั้งหมดทั้งมวลของการให้ความชอบธรรมที่ไข่ถูกตีให้แตกไปเพื่อเป้าหมายอันเป็นไข่เจียวที่สมบูรณ์ ทั้งหมดทั้งมวลของความโหดร้ายป่าเถื่อน การเสียสละ การล้างสมอง การปฏิวัติทั้งหลายเหล่านั้น ทุกสิ่งที่ทำให้ศตวรรษนี้บางทีดูเหมือนจะน่าสยดสยองที่สุดนับตั้งแต่อดีตกา หรืออุบัติการณ์ใด ๆ ในโลกตะวันตก - ทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อสิ่งใดเลย เนื่องจากจักรวาลที่สมบูรณ์แบบนั้นไม่ใช่แค่มิอาจบรรลุได้ หากแต่ยังมิอาจจะเข้าใจได้ด้วย และทุกสิ่งที่ทำไปเพื่อที่จะบรรลุนั้นล้วนตั้งอยู่บนความวิบัติทางปัญญาขนานใหญ่  

 

My Intellectual Path' © The Isaiah Berlin Literary Trust and Henry Hardy 1998

Translated by Netiwit Chotiphatphaisal and Chayanggoon Thamma-un

 

  • 1
  • โปรดดูหนังสือของเบอร์ลินที่ชื่อ Concepts and Categories: Philosophical Essays (Viking, 1979).
  • 2
  • ฟูรีเย นักสังคมนิยมยุคเริ่มแรก และแซ็ง ซิมองต์ เป็นผู้ศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อสังคมที่ถูกจัดการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สำหรับแซ็ง ซิมองต์ สังคมที่ว่าจะต้องถูกนำโดยนายธนาคารและนักวิทยาศาสตร์ และได้แรงบันดาลใจจากศิลปินและกวี ผู้เจริญรอยตามแนวคิดพวกเขาต่อมาคือพวกนักสังคมนิยมฝรั่งเศส เช่น Pécqueur, Louis Blanc, and the พวกผู้ก่อการร้ายกลุ่ม Blanqui และ ลงเอยด้วย มาร์กซ์และเอิงเกล และสาวกของพวกเขา
  • 3
  • “สิ่งที่มักจะถูกเชื่อในทุกที่มักจะถูกเชื่อโดยทุกคน.” Vincent of Lérins, Commonitorium 2. 3.
  • 4
  • Herders Sammtliche Werke, บรรณาธิการโดย  Bernhard Suphan (Berlin, 1877-1913), Vol. 5, p. 509.
  • 5
  • โปรดดู A.I. Gertsen, Sobranie sochinenii v tridtsati tomakh (Moscow, 1954- 1966), Vol. 6, pp. 33 and 335.
  • 6
  • ชาวลัทธิโรแมนติคเห็นว่าความคิดเรื่องการเคลื่อนที่ด้วยตนเองของพวกเขานั้นเป็นจุดศุนย์กลางของกิจกรรมทางประวัติศาสตร์ที่ขับเคลื่อนมุ่งหน้าไปด้วยวาระของตนเองในฐานะที่เป็นอัตวิสัยขั้นสูงสุด นี่คือสิ่งที่ไร้ซึ่งเหตุผล—ไม่ว่าชาวไบรอนจะถูกมองว่าเป็นซานตานที่ห้ำหั่นสังคม หรือวีรชนผู้กล้าที่รวบรวมทั้งพลพรรคผู้ติดตาม (เหล่าโจร ในกรณีที่เทียบกับบทละครของชิลเลอร) หรือทั้งชาติ (ไลเคอร์กัส, โมเสส—เหล่าผู้สร้างชาติที่ได้รับการยกย่องหนักหนาโดยมาเคียวิลลี—แน่นอนว่ามีความคล้ายคลึงกันมากกับพวกเขาในสมัยใหม่นี้อยู่)—ก็ย่อมสร้างรูปแบบที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างเสรีตามมา มุมมองนี้ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงโดยนักคิดอย่างเฮเกล และมาร์กซ์ ผู้ที่ต่างก็ร่ายคำสอนแตกต่างกันไปตามวิธีของตนว่ากระบวนการจะต้องสอดคล้องกับกฎเหล็กของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์—ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางวัตถุตามคำของมาร์กซ์ หรือพัฒนาการทางจิตวิญญาณตามคำของเฮเกล ด้วยประการฉะนี้เท่านั้น การปลดแอกอานุภาพของมนุษย์ออกจากแรงขับเคลื่อนที่ไร้เหตุผลจึงจะสำเร็จลุล่วงไปได้ และด้วยประการฉะนี้เท่านั้น การปกครองจึงจะเป็นไปในวิถีทางแห่งความสมบูรณ์แบบของความยุติธรรม อิสรภาพ คุณธรรม ความสุข และการตระหนักถึงตนร่วมกัน ความคิดของพัฒนาการอันมิอาจหยุดยั้งได้เช่นนี้ได้รับมรดกตกทอดมาจากวิถีปฏิบัติของชาวยิว-คริสเตียน แต่ปราศจากซึ่งแนวคิดของเจตจำนงอันศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับ หรือคำตัดสินสุดท้ายของมวลมนุษย์—การจัดแยกระหว่างฝูงแกะอันเป็นที่น่าประทับใจออกจากฝูงแพะที่ไม่น่าประทับใจ—ที่เกิดขึ้นหลังความตาย
  • 7
  • ปาฐกถาในปี 1958, หาอ่านได้ในหนังสือรวมความเรียงทั้งสองเล่มของผู้เขียน Four Essays on Liberty (Oxford University Press, 1969) และ The Proper Study of Mankind: An Anthology of Essays (Farrar, Straus and Giroux, 1998).
  • 8
  • สตาลินใช้วลี “วิศวกรรมจิตวิญญาณมนุษย์” ในสุนทรพจน์เรื่องบทบาทของนักเขียนโซเวียต กล่าวในบ้านของแม็กซิม กอร์กี้ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1932 ถูกบันทึกไว้ในเอกสารฉบับร่างที่ไม่ได้รับการเผยแพร่ในงานรวบรวมเอกสารของกอร์กี้—เค.แอล.ซีลินสกี้ “Vstrecha pisatelei s I.V. Stalinym” (“การพบปะของเหล่านักเขียนและ ไอ.วี.สตาลินิม”)—และถูกตีพิมพ์ครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ ใน A. Kemp-Welch, Stalin and the Literary Intelligentsia, 1928-39 (Macmillan [UK], 1991), pp. 128-131: สำหรับคำนี้ดู p. 131 (และสำหรับต้นฉบับที่เป็นภาษารัสเซีย “inzhenery chelovecheskikh dush,” I.V. Stalin, Sochineniya (Moscow, 1946- 1967), Vol. 13, p. 410).—H.H.
  • 9
  • ปาฐกถาในปี 1953, และทั้งสองบทได้รวมไว้แล้วในหนังสือ Four Essays on Liberty และใน The Proper Study of Mankind

 

 

 




 

  

 

 

บล็อกของ Nisit Review

Nisit Review
ด้วยประสบการณ์ที่ไม่ประทับใจ จากการเรียนรายวิชาบังคับต่างๆ ของคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาต้น จุฬาฯ ได้แก่ วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (INTRO SOC ANTHRO) วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเมืองและการปกครอง (INTRO POL GOV) วิชาตรรกะ เหตุผล และการค้นคว้าทางสังคมศาสตร
Nisit Review
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล สัมภาษณ์ชยางกูร ธรรมอัน และดานิเอล แปล ในยุคที่ถูกขนานนาม “หลังความจริง” (Post-Truth) การมาของโดนัล ทรัมป์ น่าจะเป็นสัญญาณที่ยืนยันว่าเราอยู่ในยุคนี้จริงๆ อย่างไรก็ดี หนึ่งปีภายหลังจากการขึ้นมาสู่อำนาจของเขา การเลือกตั้งระดับรัฐและท้
Nisit Review
ภาพวาดท่านรพินทรนาถ ฐากูร ระบายด้วยสีธรรมชาติ เพื่อประกอบหนังสือ ชาตินิยม ฝีมือของ สุวัลญา ศักดิ์สมบัติ นักศึกษาจิตรกรรม แห่งศานตินิเกตัน ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย ผู้แปลหนังสือ "ชาตินิยม" (Nationalism) ของรพินทรนาถ ฐากูร จะพาไปสำรวจความคิดว่าด้วยช
Nisit Review
The No-Nonsense Guide to Conflict and PeaceEdited by Helen WareNew InternationalistPublished October 1, 2006144 pages  หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อช่วยทำความเข้าใจเ
Nisit Review
ไฟที่ยังลุกลามโหมกระหน่ำปลายด้ามขวานประเทศไทยอย่างต่อเนื่องกว่า 70 ปีที่ผ่านมา ตอกย้ำถึงความรุนแรงที่ยังปะทุร้อยเท่าพันทวีในทุกๆ ปี ความสูญเสีย รอยเลือด และหยาดน้ำตาที่เกิดขึ้น กลายเป็นโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่บนแผ่นดินไทย เกิดเป็นคำถามที่คั่งค้างในใจว่าคนในพื้นที่จะอยู่กันเช่นไร แล้วเหตุใดจึงไม่ย้า
Nisit Review
Blade Runner 2049 (2017)อะไรคือความเป็นมนุษย์? เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในหนังภาคต่อที่น่าจับตามองที่สุดแห่งปี หลังจาก Blade Runner ภาคแรกที่ออกมาในปี 1982 ได้สร้างตำนานหนัง Sci-Fi ผสม Film Noir ก่อให้เกิดแนวทางที่เรียกว่า Cyberpunk อันเป็นเอกลักษณ์จนได้รับการกล่า
Nisit Review
No Enemies, No Hatred: Selected Essays and PoemsBy Liu XiaoboEdited by Perry Link, Tienchi Martin-Liao, Liu XiaForeword by Vaclav HavelHarvard University Press
Nisit Review
จากกรณีปัญหาสภานิสิตมีมติระงับการดำเนินการคัดเลือกกลุ่มตัวแทนนิสิต (CU Coronet) เนื่องจากมีกระบวนการคัดเลือกไม่โปร่งใส (รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ประกาศสภานิสิต) มติดังกล่าวนำไปสู่ปัญหาพิพาทระหว่างฝ่ายกิจการนิสิตแล
Nisit Review
เรื่อง: ณฐ อัฐวุฒิกุล และธีรภัทร อรุณรัตน์ ในวงการวิชาการด้านสังคมศาสตร์ของไทยมีเพียงไม่กี่คนที่มีวัยวุฒิที่มาพร้อมกับประสบการณ์อันโดดเด่น แน่นอนว่าหลาย ๆ คนไม่ได้อยู่ดูพัฒนาการในสังคมไทยต่อ บางคนที่ยังอยู่ถ้าไม่ป่วยไข้เอาการ ก็ป่วยการเมืองไม่กล้าจะพูดอะไรตร