ภาพวาดท่านรพินทรนาถ ฐากูร ระบายด้วยสีธรรมชาติ เพื่อประกอบหนังสือ ชาตินิยม ฝีมือของ สุวัลญา ศักดิ์สมบัติ นักศึกษาจิตรกรรม แห่งศานตินิเกตัน
ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย ผู้แปลหนังสือ "ชาตินิยม" (Nationalism) ของรพินทรนาถ ฐากูร จะพาไปสำรวจความคิดว่าด้วยชาตินิยมของฐากูร ผ่านเลนส์ของนักปรัชญาอังกฤษผู้โด่งดัง ไอเซยา เบอร์ลิน และสรุปแก่นความสำคัญที่เป็นประโยชน์แก่สังคมและสถาบันการศึกษาของไทยในยุคแห่งการไขว่คว้าการยอมรับจากสากลผสมไปกับการเพรียกหาอดีตอันดีงามที่หายไป
1
หนึ่งร้อยปีที่แล้วพอดิบพอดี (ค.ศ. 1917) ที่ รพินทรนาถ ฐากูร (Rabindranath Tagore) กวีคุรุเทพแห่งอินเดีย ได้ออกหนังสือเรื่อง ชาตินิยม (Nationalism) ซึ่งมาจากการที่ท่านออกเดินทางไปบรรยายที่ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ในปีก่อนหน้านั้น หากพูดเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ก็คล้ายออกเดินทาง world tour หลังจากที่ท่านโด่งดังเมื่อได้เป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในปี ค.ศ. 1913 หนังสือที่เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ท่านได้รับรางวัลนี้คือ คีตาญชลี รวมบทเพลง/บทกวี บทกวีที่บูชาความศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าและประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นที่ต้องการของโลกตะวันตกในยุคสมัยแห่งความตึงเครียดและความวิตกจริต
ปี ค.ศ. 1917 ยังมีความน่าสนใจประการอื่นอีก เป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามที่เลนิน (V. I. Lenin) เขียนไว้ว่า เป็นเลี่ยงไม่พ้นว่าต้องเกิดขึ้นจากการที่บรรดาจักรวรรดิต่างๆ ขยายตัวด้วยแรงผลักดันของทุนนิยมจนต้องปะทะกัน (หนังสือของเขาชื่อ Imperialism: The Highest State of Capitalism) ทหารหาญที่เป็นกรรมกรและชาวนาถูกสั่งไปรบด้วยคำโฆษณาชวนเชื่อชาตินิยม ทั้งที่ก็มิได้เป็นชนชั้นที่ได้ประโยชน์หลักแต่อย่างใด ผลของความลำเค็ญที่มีมาแต่เดิมและความลำบากสาหัสของสงครามนำพาให้เกิดการปฏิวัติรัสเซียขึ้น อนึ่ง ในอีกซีกโลกหนึ่ง ที่อินเดีย ประชาชนก็ต้องการปลดแอกจากจักรวรรดิอังกฤษ ส่วนหนึ่งพัฒนาเป็นขบวนการชาตินิยมอินเดีย คุรุเทพมีข้อวิจารณ์ต่อขบวนการนี้ จารจดไว้ใน ชาตินิยม และนวนิยาย The Home and the World (กิตติมา อมรทัต แปลเป็นไทยชื่อ หลงกลิ่นโลกีย์) ที่เล่าถึงความเย้ายวนของวาทะชาตินิยมที่ทำให้ใหลหลง แบ่งแยกกลุ่มคนตามความเชื่อเป็นพวกฮินดูและมุสลิม และละเลยความเป็นมนุษย์ จนไม่อาจทำให้ความแตกต่างอยู่ได้อย่างบรรสานสอดคล้องกัน
2
ข้ามเวลามายังทศวรรษ 1960 โลกเผชิญอะไรบ้าง
ไอเซยา เบอร์ลิน (Isaiah Berlin) นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา กล่าวไว้ในการบรรยาย รพินทรนาถ ฐากูร และสำนึกชาตินิยม (Rabindranath Tagore and the Consciousness of Nationalism, 1961) ถึงปรากฏการณ์เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ขุ่นเคืองสังคม (‘angry young men’) กลุ่มวัฒนธรรมย่อยแหกกรอบบีทนิกส์ (‘beatniks’) กลุ่มบุพผาชน (‘hip’) และกลุ่มต่อต้านนิวเคลียร์ (Aldermaston movement) ว่าสะท้อนบรรยากาศสังคมในยุคนั้น ที่คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและเป็นตัวของตัวเอง ต้องการการยอมรับการดำรงอยู่ (recognition) และการขับเคลื่นให้บรรลุอุดมคติทางสังคมและการเมือง โดยพุ่งตรงไปที่การปะทะกับ ชนชั้นนำ หรืออำนาจสถาปนา (establishment) (ลองพิจารณาเอาเถิด ว่าเหมือนหรือต่างจากปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร)
ต่อการกำเนิดของปรากฏการณ์ดังกล่าว เบอร์ลินมองด้วยสายตาทางสังคมวิทยาและประวัติศาสตร์ เห็นว่า
แต่รากของความไม่พอใจนั้นหยั่งลึกลงไปอีก ลงไปในความเปลี่ยวเปล่า ลงไปที่ความรู้สึกโดดเดี่ยว ลงไปที่การทำลายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ... การเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมและแปลงสังคมให้เป็นจักรกลทำให้เกิดการแยกส่วนของสังคม การแตกสลายของคุณค่าแห่มนุษย์ที่ลึกซึ้งที่สุด อาทิ ความห่วงหา ความซื่อสัตย์ ภราดรภาพ สำนึกต่อเป้าหมายร่วม ทั้งหมดสลายไปในนามความก้าวหน้า ที่ระบุด้วย ความเป็นระเบียบ ประสิทธิภาพ วินัย การผลิต (p. 255)
กลับมาดูที่ ชาตินิยม ของคุรุเทพ ท่านกล่าวไว้ว่า
เช่นเดียวกัน การหยุดงานประท้วงดังได้เกิดขึ้นในโลกเศรษฐกิจสอนใจอะไรเราได้บ้างเล่า อันการประท้วงนี้เกิดขึ้นอย่างไม้พุ่มหนามแหลมในดินแตกระแหงที่หยัดยืนขึ้นต่อชีวิตใหม่ทุกครั้งที่ถูกถางลง และจะเป็นอะไรไปได้อีกเล่า นอกจากจะฟ้องถึงกลไกผลิตสร้างความมั่งคั่ง ซึ่งเติบโตไม่รู้สิ้นสั่งสมความสูงมหึมาเกินสัดส่วนอย่างไม่สนความต้องการอย่างอื่นของสังคม และความเป็นจริงของคนก็ถูกกดทับยิ่งขึ้นภายใต้น้ำหนักมหาศาลนั้น ดังนี้เอง จึงเลี่ยงไม่ได้ที่สภาวะเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดความอาฆาตมาดร้ายต่อกันชั่วกาลนานระหว่างส่วนมูลฐานต่างๆ ที่ผละพ้นจากองค์รวมและพ้นความเป็นส่วนร่วมกันในอุดมคติแห่งมนุษย์ ...
ถัดมาขอได้พิเคราะห์กลุ่มคนที่เรียกตนว่าเป็นพวกอนาธิปไตย ซึ่งคือผู้ขุ่นเคืองต่อการกำหนดใช้อำนาจต่อปัจเจกบุคคลไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม เหตุประการเดียวที่ทำให้เกิดเรื่องเช่นนี้ได้คือ อำนาจกลายเป็นสิ่งนามธรรมเกินไป คือผลผลิตทางวิทยาศาสตร์จากห้องทดลองทางการเมืองของความเป็นชาติ โดยผ่านการแตกสลายของมนุษย์ในฐานะผู้มีสำนึกรู้ ...
และท่านยังได้เชื่อมโยงโจทย์ท้าทายความเป็นมนุษย์ดังนี้ กลับไปที่ประดิษฐกรรมอันเรียกว่า “ชาติ”
ชาติ ... นั้นคือรูปแบบการรวมกลุ่มที่ประชากรทั้งหมดล้วนสมาทาน ตามที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป้าประสงค์ทางกลไก ... และก็มีแง่มุมทางการเมืองด้วยเช่นกัน แต่ก็ด้วยเป้าประสงค์อันพิเศษ คือเพื่อรักษาตัวรอด เป็นเพียงมิติของอำนาจ มิใช่อุดมคติแห่งมนุษย์ และครั้นบรรพกาลนั้น ชาติจัดว่ามีที่ทางจำเพาะในสังคม จำกัดไว้แค่ผู้ชำนาญการ ทว่าเมื่อพร้อมด้วยการเกื้อหนุนจากวิทยาศาสตร์และความพรักพร้อมจากการจัดการองค์การ อำนาจนี้ก็เริ่มเติบโตและรับเอาการแสวงหาความมั่งคั่ง ถัดมาก็ได้ขยายข้ามพรมแดนด้วยความเร็วฉับพลันอันน่าสะพรึง จากนั้นก็ได้ยุแยงสังคมรอบข้างให้กระหายคลั่งได้ความร่ำรวยทางวัตถุ และตามมาด้วยความริษยาตาร้อน และต่อมาด้วยความระแวงมิอยากให้เพื่อนบ้านเติบโตขึ้นไปทรงพลังอำนาจ มาครานี้ก็มิอาจหยุดยั้งความเป็นชาติได้อีกต่อไป เนื่องด้วยการขับเคี่ยวแข่งขันได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น องค์การขยายใหญ่ขึ้น และความเห็นแก่ตัวขึ้นเถลิงอำนาจ ครั้นเมื่อชาติดำเนินไปด้วยความกระหายและความหวาดกลัวของผู้คน มันก็ได้ยึดครองพื้นที่มากขึ้นในสังคม จนสุดท้ายแล้วเป็นพลังควบคุมสังคมเสียเอง
3
ในการขับเคี่ยวนับจากระดับโลกจนมาถึงระดับระหว่างปัจเจกนี่เอง ที่เบอร์ลินเห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ และเท่าเทียมกัน นั้นยิ่งเด่นชัดขึ้น เป็น เสียงเรียกการยอมรับการดำรงอยู่ (cry for recognition) ครั้นกระทำในกลุ่มสังคมที่กำกับโดยรัฐ ก็กลายเป็น ชาตินิยม
เบอร์ลิน จำแนกพลังขับดันชาตินิยมสู่การยอมรับการดำรงอยู่ เป็นสองรูปแบบด้วยกัน ประการแรก ความทะเยอทะยานเพื่อไล่กวด เพื่อเอาชนะ เพื่อเรียนรู้จากผู้ที่เรามองว่าก้าวหน้ากว่า หรือเพื่อรุดขึ้นไปอยู่เหนือผู้อื่น ซึ่งเหล่านี้อาจเป็นไปในทางสันติก็ได้ ในทางรุนแรงก็ได้ กับประการที่สอง ความปรารถนาที่จะปลีกตัวออกจากการขับเคี่ยวแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม มุ่งที่คุณค่าของตนเอง ให้ค่าอดีตของตน การหวนกลับสู่อดีตเป็นหนทางที่น่าพิสมัย อดีตที่ทรงคุณค่าเป็นสิ่งควรปกปักรักษา (หรือตำนานวีรบุรุษ ที่อาจเป็นเรื่องกึ่งจริงกึ่งแต่ง) และปฏิเสธภายนอก อาจมองเป็นปฏิปักษ์ไปเลย
โดยสอดคล้องกันนั้นเอง ตัวอย่างของรูปแบบแรก คือญี่ปุ่น ที่คุรุเทพกล่าวในการบรรยายชาตินิยม อย่างอดทึ่งเสียไม่ได้ ต่อความเร็วในการเร่งรัดพัฒนา แต่ก็ยังได้เตือนอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า
ส่วนตัวฉันเองแล้ว มิอาจเชื่อว่า ที่ญี่ปุ่นเป็นดั่งนี้ได้ ก็ด้วยการลอกแบบตะวันตก เราไม่สามารถลอกแบบชีวิต เราไม่สามารถแสร้งเข้มแข็งได้ยาวนาน ไม่เลย ซ้ำร้าย การลอกแบบยังเป็นต้นตอของความอ่อนแออีกด้วย ด้วยบั่นทอนธรรมชาติที่แท้แห่งเรา อันดำเนินไปตามวิถีของเราเอง นี่มิต่างจากการห่อหุ้มโครงกระดูกของเราด้วยผิวกายของผู้อื่น ที่สร้างรอยแตกร้าวระหว่างผิวกายกับกระดูกอยู่ทุกอากัปกิริยาเป็นเนืองนิจ
และด้วยความที่ญี่ปุ่นเร่งพัฒนาอย่างลืมตนเพื่อไปเป็นจักรวรรดิอย่างตะวันตกนั้น ก็ลงเอยด้วยความป่าเถื่อนทารุณที่กระทำกับจีนและส่วนอื่นของโลกในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
ส่วนตัวอย่างของรูปแบบที่สอง คืออินเดีย
ความเห็นทั่วไปของพวกชาตินิยมส่วนใหญ่ในอินเดียทุกวันนี้มีว่า เราได้บรรลุความบริบูรณ์ทางอุดมคติสังคมและจิตวิญญาณขั้นสุดท้ายแล้ว งานรังสรรค์สังคมต่อไปนั้นก็ได้ลุล่วงตั้งแต่หลายพันปีก่อนที่พวกเราถือกำเนิด บัดนี้เราจึงมีอิสระที่จะดำเนินกิจการทุกอย่างไปในทางการเมือง เราไม่เคยนึกฝันเลยว่าจะต้องกล่าวโทษความไม่พร้อมทางสังคมว่าเป็นต้นเหตุของสภาวะไม่อาจพึ่งพาตนเองได้ในปัจจุบัน เพราะเราเชื่อมั่นศรัทธาตามชาตินิยมว่า ระบบสังคมของเรานี้สมบูรณ์แบบมาโดยตลอดด้วยน้ำมือของบรรพบุรุษ ผู้มีญาณเหนือมนุษย์ส่องถึงอนันตกาลและมีพลังเหนือธรรมชาติเตรียมการล่วงหน้าไม่รู้สิ้นสู่ทุกอนาคตสมัย
ก็ด้วยคำกล่าวตักเตือนอย่างตรงไปตรงมาของท่านคุรุเทพนี้เอง เมื่อบรรยายเรื่องชาตินิยมที่ญี่ปุ่นสิ้นสุดลง การตอบสนองจากสังคมจึงเป็นไปในเชิงลบ คำด่าประดังประเดมาจากนักคิดชาตินิยมญี่ปุ่นมากมาย ครั้นเมื่อท่านไปบรรยายต่อที่สหรัฐอเมริกา ก็มีข่าวลือว่าขบวนการอินเดียชาตินิยมที่นั่นต้องการสังหารท่าน
ในท่อนนี้ ขอปิดท้ายว่า
กระนั้นความปรารถนาที่จะปกครองตนเอง ได้รับการยอมรับ ได้สถานะทางสังคมและจรรยาอย่างเสมอกัน มักไม่อาจตอบสนองได้ด้วยการบรรลุอิสรภาพทางการเมือง – เบอร์ลิน (p. 258)
เราต้องไม่ลืมว่าในปัจจุบัน ผู้คนที่มีอิสรภาพทางการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นอิสระ พวกเขามีแค่กำลังเท่านั้น – ฐากูร
4
ลักษณะประการหนึ่งที่เบอร์ลินยกย่องท่านคุรุเทพเป็นอย่างยิ่ง คือการเรียนรู้ความจริงอย่างสากล ในขณะเดียวกัน ก็ไม่หลงลืมรากที่ก่อรูปตัวท่านขึ้นมา พร้อมกับความคิดวิพากษ์ รู้เลือกรับปรับใช้ให้เหมาะสมกับมนุษย์
... เขาเรียกร้องให้ฟื้นภาษาเบงกอลี สื่อกลางโดยธรรมชาติของเพื่อนร่วมประเทศของเขา ซึ่งมิใช่อาภรณ์ที่ไปหยิบยืมผู้อื่นมา ไม่ว่าจะอลังการหรือสบายเพียงใดก็ตาม กระนั้น ขณะเดียวกัน เขาก็ตระหนักว่าเป็นไปไม่ได้ดอก และไม่น่าปรารถนาเอาเลย ที่จะทำตามที่บางคนต้องการ ที่จะผิดประตูใส่อังกฤษ ที่จะชำระล้างเชื้อโรคตะวันตกออกจากตัว ที่จะหวนคืนสู่อดีต สู่ความเรียบง่ายบรรพกาลในยุคที่ยังไร้จักรกล และปฏิเสธกำนัลอันเลวร้ายจากตะวันตก ไม่ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรม และการเสื่อมถอยอีกทั้งทำลายคุณค่าตามธรรมชาติของมนุษย์ ที่ทำโดยตะวันตกนั่นแล (p. 261)
และในชาตินิยม ท่านยังพร้อมเลือกเรียนรู้ส่วนดีจากอังกฤษ แม้ว่าความเป็นชาติของอังกฤษจะกดให้อินเดียไม่พัฒนา ลดทอนสิ่งจำเป็นทุกอย่างให้เหลือแค่ประทังชีวิตรอด ให้สูญความภาคภูมิใจในตนเอง เหลือเกียรติไว้เพียงแค่การรับใช้ความเป็นชาติแห่งอังกฤษ
ฉันมีความรักอย่างสุดซึ้งและความเคารพอย่างสูงส่งต่อเผ่าพันธุ์อังกฤษเยี่ยงเพื่อนมนุษย์ ดังได้สร้างผู้คนที่มีจิตใจใหญ่ยิ่ง นักคิดที่มีความคิดอันแสนวิเศษ นักปฏิบัติผู้มีพลังใจเหลือล้น ทั้งได้ให้กำเนิดวรรณกรรมอันยิ่งยง ฉันรู้ว่าผู้คนเหล่านี้รักความเป็นธรรมและอิสรภาพ ชังคำมดเท็จ พวกเขามีจิตใจผุดผ่อง มีกิริยาท่าทางซื่อตรง เป็นมิตรเที่ยงแท้ และมีพฤติกรรมอันสัตย์ซื่อเชื่อถือได้ อีกประสบการณ์ส่วนตัวที่ฉันได้ประสบพบเจอกับปัญญาชนทางวรรณกรรมเหล่านั้น ก็ปลุกเร้าให้ฉันเกิดความเลื่อมใส ไม่ใช่แค่ต่อพลังทางความคิดหรือการพรรณนา หากแต่ต่อความเป็นมนุษย์อันหาญกล้า เราสัมผัสความยิ่งใหญ่ของคนเหล่านี้ได้ดังเราสัมผัสดวงตะวัน แต่ถ้าให้กล่าวถึงความเป็นชาติแล้ว ต่อหน้าเราก็เป็นแค่เมฆหมอกหนาในธรรมชาตินิ่งงันที่บดบังดวงตะวันนั่นเอง
ก็ท่านคุรุเทพ ตั้งแต่เด็ก เติบโตมาในบรรยากาศแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตระกูลท่านค้าขายกับตะวันตกจนร่ำรวย บิดาของท่านอุทิศตนเพื่อขบวนการการฟื้นฟูจิตวิญญาณฮินดู ให้ไปกันได้กับคุณค่าของมนุษย์จากตะวันตก ที่เรียกว่า พรหมสมาช (Brahmo Samaj) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการเบงกอล” (Bengal Renaissance) พี่น้องของท่านล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญศาสตร์และศิลปะ ทั้งอินเดียและตะวันตก อย่างสารพัด ท่านเองก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก ต้องเน้นย้ำว่า เงินที่ได้จากการบรรยายชาตินิยมนั้น ท่านนำมาตั้งมหาวิทยาลัยวิศวภารตี ที่ศานตินิเกตัน เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เปี่ยมด้วยบรรยากาศแห่งศิลปะ และเป็นการศึกษาของโลกอย่างแท้จริง
5
สู่ปัจจุบัน เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะก้าวสู่ศตวรรษใหม่ ถ้าจะหวังการยอมรับ แค่ด้วยการไล่กวด เล่นตามตัวชี้วัดแห่งอันดับโลก หรือแค่ด้วยการปลีกตัว มายึดเกาะอดีตพริ้งพราวของตนเองแล้วแต่งประเพณีมากขึ้นเสียให้รุงรัง เหล่านี้คงไม่พาเราไปไหนได้ไกลนัก แต่เราควรพัฒนาจากภายในตน และกล้าเริ่มต้นบทสนทนา ในแบบที่เบอร์ลินยกย่องฐากูรไว้ว่า
เขาพยายามบอกความจริงอันซับซ้อน โดยไม่ลดทอนให้ง่ายเกินไป จึงอาจถูกรับฟังน้อยนัก (p. 266)
ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันชาติ ธันวาคม 2560
หมายเหตุ:
- บทความของ Isaiah Berlin อ้างอิงจาก Isaiah Berlin, “Rabindranath Tagore and the Consciousness of Nationality”
- บทแปลชาตินิยมที่อ้างในนี้ ผู้เขียนบทความแปลเอง ในหนังสือ ชาตินิยม ที่จัดพิมพ์เป็นพิเศษโดย โครงการ Build Your Books ของ HOC BookCafe
บล็อกของ Nisit Review
Nisit Review
ด้วยประสบการณ์ที่ไม่ประทับใจ จากการเรียนรายวิชาบังคับต่างๆ ของคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาต้น จุฬาฯ ได้แก่ วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (INTRO SOC ANTHRO) วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเมืองและการปกครอง (INTRO POL GOV) วิชาตรรกะ เหตุผล และการค้นคว้าทางสังคมศาสตร
Nisit Review
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล สัมภาษณ์ชยางกูร ธรรมอัน และดานิเอล แปล ในยุคที่ถูกขนานนาม “หลังความจริง” (Post-Truth) การมาของโดนัล ทรัมป์ น่าจะเป็นสัญญาณที่ยืนยันว่าเราอยู่ในยุคนี้จริงๆ อย่างไรก็ดี หนึ่งปีภายหลังจากการขึ้นมาสู่อำนาจของเขา การเลือกตั้งระดับรัฐและท้
Nisit Review
ภาพวาดท่านรพินทรนาถ ฐากูร ระบายด้วยสีธรรมชาติ เพื่อประกอบหนังสือ ชาตินิยม ฝีมือของ สุวัลญา ศักดิ์สมบัติ นักศึกษาจิตรกรรม แห่งศานตินิเกตัน ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย ผู้แปลหนังสือ "ชาตินิยม" (Nationalism) ของรพินทรนาถ ฐากูร จะพาไปสำรวจความคิดว่าด้วยช
Nisit Review
The No-Nonsense Guide to Conflict and PeaceEdited by Helen WareNew InternationalistPublished October 1, 2006144 pages หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อช่วยทำความเข้าใจเ
Nisit Review
ไฟที่ยังลุกลามโหมกระหน่ำปลายด้ามขวานประเทศไทยอย่างต่อเนื่องกว่า 70 ปีที่ผ่านมา ตอกย้ำถึงความรุนแรงที่ยังปะทุร้อยเท่าพันทวีในทุกๆ ปี ความสูญเสีย รอยเลือด และหยาดน้ำตาที่เกิดขึ้น กลายเป็นโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่บนแผ่นดินไทย เกิดเป็นคำถามที่คั่งค้างในใจว่าคนในพื้นที่จะอยู่กันเช่นไร แล้วเหตุใดจึงไม่ย้า
Nisit Review
Blade Runner 2049 (2017)อะไรคือความเป็นมนุษย์? เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในหนังภาคต่อที่น่าจับตามองที่สุดแห่งปี หลังจาก Blade Runner ภาคแรกที่ออกมาในปี 1982 ได้สร้างตำนานหนัง Sci-Fi ผสม Film Noir ก่อให้เกิดแนวทางที่เรียกว่า Cyberpunk อันเป็นเอกลักษณ์จนได้รับการกล่า
Nisit Review
No Enemies, No Hatred: Selected Essays and PoemsBy Liu XiaoboEdited by Perry Link, Tienchi Martin-Liao, Liu XiaForeword by Vaclav HavelHarvard University Press
Nisit Review
จากกรณีปัญหาสภานิสิตมีมติระงับการดำเนินการคัดเลือกกลุ่มตัวแทนนิสิต (CU Coronet) เนื่องจากมีกระบวนการคัดเลือกไม่โปร่งใส (รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ประกาศสภานิสิต) มติดังกล่าวนำไปสู่ปัญหาพิพาทระหว่างฝ่ายกิจการนิสิตแล
Nisit Review
เรื่อง: ณฐ อัฐวุฒิกุล และธีรภัทร อรุณรัตน์ ในวงการวิชาการด้านสังคมศาสตร์ของไทยมีเพียงไม่กี่คนที่มีวัยวุฒิที่มาพร้อมกับประสบการณ์อันโดดเด่น แน่นอนว่าหลาย ๆ คนไม่ได้อยู่ดูพัฒนาการในสังคมไทยต่อ บางคนที่ยังอยู่ถ้าไม่ป่วยไข้เอาการ ก็ป่วยการเมืองไม่กล้าจะพูดอะไรตร