Skip to main content

ไฟที่ยังลุกลามโหมกระหน่ำปลายด้ามขวานประเทศไทยอย่างต่อเนื่องกว่า 70 ปีที่ผ่านมา ตอกย้ำถึงความรุนแรงที่ยังปะทุร้อยเท่าพันทวีในทุกๆ ปี ความสูญเสีย รอยเลือด และหยาดน้ำตาที่เกิดขึ้น กลายเป็นโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่บนแผ่นดินไทย เกิดเป็นคำถามที่คั่งค้างในใจว่าคนในพื้นที่จะอยู่กันเช่นไร แล้วเหตุใดจึงไม่ย้ายครอบครัวออกจากปฐพีที่ลุกเป็นไฟ หรือพวกเขาพร้อมที่จะอยู่ เพื่อมิให้ผู้ใดมาย่ำยีภูมิกำเนิดของตน

แต่ก็มีความพยายามที่จะเล่าเรื่องราวการอพยพหลีกหนีความรุนแรงบนปลายด้ามขวานไทย ผ่านม่านแห่งวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นนามว่า “ไม่มีแผ่นดินอยู่” ผลงานปลายปากกาของนรพัลลภ ประณุทนรพาล นักเขียนอิสระที่มีผลงานบนเวทีต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องสั้นเรื่องนี้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสองผลงานสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศวรรณกรรมการเมืองรางวัล “พานแว่นฟ้า” ครั้งที่ 10 ประจำปี พ.ศ.2554 และเป็นที่น่าแปลกใจว่าในปีดังกล่าวไม่มีผู้ใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ 
 
เรื่องสั้นความยาว 7 หน้ากระดาษ เล่าเรื่องราวแบบบุคคลที่หนึ่ง โดยใช้สรรพนามแทนตัวละครว่าผม ใช้ภาษาง่ายๆ เหมือนคนทั่วไปพูด พาผู้อ่านไปอยู่ในดินแดนแห่งความขัดแย้งบนปลายด้ามขวานของไทย ที่มีตัวละครนิรนามกำลังอพยพออกจากความรุนแรง หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมจนเป็นเหตุทำให้ครอบครัวของเขาไม่มีใครเหลือรอดชีวิตอยู่นอกจากตัวเขาเอง เนื้อเรื่องถูกตัดสลับกับเรื่องราวความรุนแรงในกรุงเทพมหานครที่ถึงแม้จะมีสาเหตุที่ต่างกับไฟที่ลุกบนแผ่นดินสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่ก็มีแต่ความสูญเสียที่ไม่อาจหลีกหนีได้เช่นกัน
 
ผู้เขียนได้สร้างตัวละครให้เป็นชายชาวไทยพุทธซึ่งเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็น “ชนกลุ่มใหญ่” ในประเทศ ซึ่งมักกลายเป็นเหยื่อของโศกนาฏกรรมบนพื้นที่สีแดงแห่งนี้ ปรากฏการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายๆ บริเวณในพื้นที่ปลายด้ามขวาน โดยที่ยังไม่มีใครวิเคราะห์หรือเก็บข้อมูลอย่างชัดเจน แต่เป็นที่รับรู้เป็นการทั่วไปของคนในชุมชนนั้นๆ ในขณะที่การถูกสังหารของคนพุทธในที่ต่างๆ และการอพยพออกทำให้จำนวนคนพุทธโดยรวมในพื้นที่มีน้อยลง สถานภาพโดยรวมของชุมชนพุทธดูจะอ่อนแอ ผู้มีบทบาทในองค์กรพัฒนาเอกชนหรือภาคประชาสังคมหลายคนเชื่อว่าความอ่อนแอของชุมชนไทยพุทธส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจในเรื่องพื้นฐานของความขัดแย้ง และไม่เข้าใจรวมไปถึงนัยของมาตรการการแก้ปัญหาของรัฐตลอดจนปัญหาการเมืองเรื่องของการช่วงชิงพื้นที่ของฝ่ายต่างๆ ในความขัดแย้ง (สมอุษา บัวพันธ์, 2557) 
 
การก่อเหตุรุนแรงกับคนไทยพุทธครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งข่มขู่ คุกคาม เผา และสังหาร ทำให้พี่น้องไทยพุทธจำนวนไม่น้อยต้องอพยพออกจากพื้นที่ หลายชุมชนซึ่งเคยเป็นย่านการค้า หรือเป็นกลุ่มบ้านที่คนไทยพุทธกับมุสลิมเคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเริ่มแปรเปลี่ยนไป บ้านเรือนและร้านรวงที่เป็นของคนไทยพุทธหรือคนไทยเชื้อสายจีนเริ่มร้าง บางชุมชนเหลืออีกไม่กี่ครอบครัวเป็นชุดสุดท้าย ขณะที่บางชุมชนไม่เหลือเลย  ทำให้เห็นถึงการคิดก่อนสร้างสรรค์ตัวละคร นำไปสู่การสร้างภาพความรู้สึกและปัญหาของชาวไทยพุทธในดินแดนแห่งความขัดแย้ง
 
หากได้พินิจถึงสิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอแล้ว นับเป็นเรื่องที่แปลกสำหรับเรื่องสั้นที่มักจะเขียนแนวนวนิยายแสดงให้เห็นถึงประชาธิปไตยหรือจิตสำนึกของปถุชนในสังคม ผู้เขียนกลับเลือกที่จะยกปัญหาที่รัฐยังแก้ไขไม่ได้ และเป็นปัญหาขนาดใหญ่ที่ผู้สร้างปัญหาต้องการจะแบ่งแยกแผ่นดินให้ออกจากรัฐ โดยผ่านมุมมองของปัจเจกบุคคล
 
 ถ้ากล่าวถึงปัญหาเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปลายด้ามขวานที่กำลังลุกเป็นไฟอยู่ในขณะนี้ นับเป็นปัญหาที่กำเนิดในปี พ.ศ. 2491 เป็นการก่อกำเริบการแยกออกทางเชื้อชาติและศาสนาในภูมิภาคมลายูปัตตานี แต่ความไม่สงบดังกล่าวเริ่มบานปลายขึ้นหลังปี พ.ศ. 2547 (Wassana Nanuam, 2005) มีการเผาโรงเรียน 20 แห่ง เพื่อเปิดทางไปสู่การปล้นปืน จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส มีปืนไรเฟิล 400 กระบอก ปืนพก 20 กระบอก ปืนกล 2 กระบอกถูกปล้นไป และการจู่โจมครั้งนี้มีทหารเสียชีวิต 4 นายด้วยกัน
 
หลังจากนั้นสถานการณ์ ในสามจังหวัดภาคใต้ก็รุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มีการลอบวางระเบิดทั้งสนามบินหาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม มีการวางระเบิดตามที่ชุมชน ฆ่าครู และชาวบ้าน รวมถึงทหารตำรวจมากมาย ที่ต้องมาเสียชีวิตในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซ้ำร้ายเหตุการณ์นี้ยังร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ จนชาวบ้านไม่สามารถใช้ชีวิตปกติสุขได้ (ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย, 2556)
 
เมื่อได้เริ่มอ่านในย่อหน้าแรกก็พบข้อความตัวสีดำทึบๆ “แม้นาทีนี้จะยังไม่ตัดสินใจเด็ดขาด” ชวนให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความกังวลและสับสนภายในจิตใจของตัวละคร ตัวหนังสือถูกนำมาใช้เล่าให้เกิดมโนภาพที่ชัดเจนตลอดการอ่าน เสียงของห้องความคิดในตัวละครยังดังแว่วในหูตลอดการอ่าน ดังวรรคหนึ่งในช่วงแรกของเรื่องที่ตัวละครเริ่มกล่าวถึงครอบครัว
 
“...ถ้าตอนนี้พ่อสื่อสารกับผมได้ ผมคิดว่าพ่อคงบอกให้ผมออกไปจากที่นี้เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้เลย ผมอยากให้พ่อเข้ามาฝัน แม่ด้วย มาบอก มาแนะนำ หรือมาสั่งว่าผมต้องทำอย่างไร...” (ไม่มีแผ่นดินอยู่ : หน้า 29)
 
การถ่ายทอดถึงความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ผ่านงานเขียนเรื่องนี้ ก็ปรากฎได้อย่างเห็นชัด ไม่ว่าจะเป็นการที่หลายครอบครัวในหมู่บ้านก็กำลังจะหนีความรุนแรงนี้เช่นเดียวกับตัวละครชายนิรนาม หรือจะเป็นการสะท้อนความเป็นชาวพุทธที่นำข้าวของเครื่องใช้ของถวายวัดเพื่อทำบุญแก่ผู้ที่จากไป  และการนำข้าวของที่ไม่ใช้ไปให้บ้านข้างๆ โดยได้รับกล้วยน้ำว้าเป็นการตอบแทนน้ำใจ นอกจากนั้นยังมีการแฝงถึงความไม่ปลอดภัยของดินแดนแห่งนี้ เช่น ไม่มีร้านไหนเปิดขายของหลังพระอาทิตย์ตก บ้านที่ประกาศขายแล้วไม่มีผู้สนใจซื้อ ทหารขอความร่วมมือให้เปิดไฟเท่าที่จำเป็น เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวถ้าผู้อ่านลองจินตนาการไปอยู่ในที่แห่งนั้นจริงๆ
 
ในส่วนของบ้านที่ประกาศขายแล้วไม่มีผู้ใดซื้อ ยังขัดต่องานวิจัยของ พรพรรณ วีระปรียากูร (2555) เรื่อง “สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” แม้จะมีความเห็นจากการสำรวจว่าความรุนแรงและการอพยพเคลื่อนย้ายของประชากรจากเหตุการณ์ความไม่สงบมีผลต่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าตลาดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าของส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายมลายู ส่วนร้านค้าของคนไทยเชื้อสายจีนในเมืองต่างได้รับผลกระทบจากความรุนแรง บางคนอพยพออก บางคนปิดร้านค้าเร็วขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ดีตลาดนัดกลางคืนในท้องถิ่นก็ยังคงเป็นที่นิยมของชาวบ้าน (วิไลวรรณ , 2556) ซึ่งในงานเขียนแนวนี้ ก็ควรพึงพิจารณาถึงความถูกต้องมากกว่าการคาดเดา
 
ความน่าหวาดกลัวในปลายด้ามขวานยังปรากฎให้เห็นในอีกหลายๆ หน้า แต่มีช่วงหนึ่งของเรื่องที่พรรณนาได้อย่างน่าหวาดผวา และเป็นช่วงที่ผู้อ่านไม่อยากไปอยู่ร่วมเหตุการณ์นั้นจริงๆ ดังว่า
 
“...พลัน! เสียงปืน!
ใจผมสั่นไหวขณะมุดอยู่ในผ้าห่ม มันดังใกล้มาก อาจดังอยู่ในซอย หรือไม่ก็อาจหน้าบ้านผมด้วยซ้ำ
นัดเดียวความเงียบกลับมา ผมค่อยๆ โผล่หัวออกจากผ้าห่มแล้ว กอบเงินใส่ถุงผ้าอย่างแผ่วเบา เพราะไม่อยากให้เสียงของเหรียญทำลายความเงียบ...” (ไม่มีแผ่นดินอยู่ : หน้า 31)
 
เหตุการณ์ความไม่สงบถูกยกขึ้นมาเปรียบเทียบผ่านการดูโทรทัศน์ของตัวละคร และมีการเปรียบเทียบอย่างน่าสนใจว่าเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ มีบรรยากาศที่เหมือนกับเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือความไม่สงบ จะต่างกันก็ตรงที่เหตุการณ์ที่เกิดในปลายด้ามขวานเป็นความไม่สงบในความเงียบ แต่ในกรุงเทพฯ คือความไม่สงบอย่างเปิดเผยที่รู้ว่าใครหรือกลุ่มใดเป็นคนทำ ซึ่งก็เป็นอย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้ความสงบในความเงียบช่างเป็นอะไรที่น่ากลัวเสียเหลือเกิน
 
หากจะกล่าวถึงเรื่องราวความไม่สงบในกรุงเทพมหานครในช่วงปี 2548-2553 ก็เป็นดังเช่นที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้จริงๆ เป็นความไม่สงบอย่างเปิดเผย และมาจากกลุ่มการเมืองที่ผลประโยชน์ไม่ลงรอยกัน ผิดกับเหตุการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ที่มาจากหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ความเชื่อ หรือศาสนา เป็นความไม่สงบที่อยู่ในความเงียบที่แท้จริง
 
โศกนาฏกรรมในกรุงเทพฯ และบนปลายด้ามขวานไทยแทบไม่ต่างอะไรกัน เพียงแต่บนปลายด้ามขวานไม่มีจุดจบเสียที มีตอนหนึ่งที่ผู้เขียนพยายามจะแสดงให้เห็นถึงการพยายามแก้ปัญหาที่มองไปทางไหนก็มืดมนไปหมด ดังว่า
 
“...ผมก็อยากให้บ้านเกิดกลับมาสงบสุขเหมือนกัน ใครจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้มันกลับมา ใครที่ไม่รู้ควรเป็นใครอีกนอกจากรัฐบาล อย่างไรที่ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร วิธีใด กี่วิธี กี่แผน อีกนานแค่ไหน กี่ปี กี่ชาติ..” (ไม่มีแผ่นดินอยู่ : หน้า 35)
 
นอกจากจะแสดงให้เห็นถึง ยังมีนัยยะถึงการเรียกร้องในการแก้ปัญหาของรัฐบาล และเป็นการวิพากษ์การทำงานในการแก้ปัญหาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปในตัวด้วย อันที่จริงแล้วเหตุการณ์ในภาคใต้มีความสูญเสียและเป็นโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่พอๆ กับการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร ตลอด 11 ปีของความไม่สงบบนปลายด้ามขวาน มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 3,929 คน บาดเจ็บทั้งสิ้น 9,602 คน (คมชัดลึก, 2558) และเหตุการณ์ชุมนุมในกรุงเทพมหานคร แค่เดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียวมีผู้เสียชีวิต 85 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1,378 คน (Bangkok Post, 2010) ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสียหรือการนองเลือดบนแผ่นดินไทยไปมากกว่านี้ 
 
เรื่องราวถูกดำเนินไปผ่านการคิดของตัวละครทีละขั้นทีละขั้น ย่อหน้าเกือบสุดท้ายตัวละครตัดสินใจที่จะออกจากพื้นที่สีแดงแห่งนี้ แต่ทว่าเหตุการณ์เลวร้ายได้เกิดขึ้น เสียงปืนที่ดังออกมาหรือจะเป็นเสียงระเบิดก็คาดเดาได้ยาก ได้พาร่างของเขากลับสู่ความเงียบสงบอีกครั้ง การพรรณนาถึงญาติที่จากไปยืนอยู่ด้านหน้าเป็นแสดงให้เห็นถึงจิตขณะสุดท้ายของตัวละครนี้ ท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้ก็จบด้วยความสุขอันมาจากโศกนาฏกรรมด้วยวรรคทิ้งท้ายของเรื่องจบอย่างปริศนาว่า
 
“...หมออาจช่วยชีวิตผมไม่ทันก็ได้...” (ไม่มีแผ่นดินอยู่ : หน้า 36)
 
จุดจบของเรื่องนี้หรือเนื้อเรื่องทั้งหมดยังตีความถึงความอ่อนแอของชาวไทยพุทธในพื้นที่ที่ต้องพึ่งพิงอำนาจรัฐในการคุ้มครองรักษาความปลอดภัยก็กลายเป็นบ่อเกิดของความอ่อนแอสำหรับพวกเขา เพราะถูกมองเป็นพวกเดียวกันและสุ่มเสี่ยงกับการตกเป็นเป้าหมาย เช่น ในกรณีของครูบางคนที่ตกเป็นเหยื่อ แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายคนช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ด้วยความเต็มใจเพราะความรู้สึกร่วมหรือเห็นด้วยอันเนื่องมาจากมองโจทย์ความขัดแย้งในลักษณะเดียวกันก็ตาม (สมอุษา บัวพันธ์, 2557)
 
จากที่กล่าวมาเรื่องสั้น “ไม่มีแผ่นดินอยู่” แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัฐกับปัจเจกบุคคล ในด้านให้ความคุ้มครองความปลอดภัยในทรัพย์สินและชีวิต ตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ซึ่งเป็นธรรมดาของระบอบประชาธิปไตย ส่วนในเรื่องการนำเสนอสำนึกของพลเมืองนั้น ในเรื่องสั้นเรื่องนี้กระตุ้นให้พลเมืองทุกคนตระหนักถึงความสูญเสีย โศกนาฏกรรมและปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการเร้าอารมณ์ความรู้สึกกดดันและความกลัวผ่านตัวละครนิรนาม
 
แม้เรื่องนี้จะจบอย่างไม่มีคำตอบ แต่คำถามที่ว่าทำไมเรื่องสั้นเรื่องนี้ไม่ได้รางวัลชนะเลิศ ก็ปรากฎแก่ใจว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้ แม้จะกดดันผู้อ่านให้รู้สึกเป็นหนึ่งกับสถานการณ์นั้น แต่ก็ยังไม่ได้ปรากฎความเป็นการเมืองมากเท่าทีควร อีกทั้งตัวเนื้อเรื่องไม่ได้มีปมอะไรมาก นอกจากลีลาการเขียนที่ทำให้ผู้อ่านเสมือนได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์จริงๆ จนตั้งเป็นข้อสงสัยว่าเหตุการณ์ในปลายด้ามขวานจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ผู้เขียนได้สัมผัสเรื่องราวมาจากในพื้นที่หรือไม่
 
แต่อย่างไรก็ตามความรุนแรงบนพื้นที่สีแดงนับจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สงบสุข ข่าวบนโทรทัศน์บนหน้าหนังสือพิมพ์ก็ยังคงปรากฎให้เห็นบ่อยครั้ง เป็นเครื่องกระตุ้นย้ำเตือนถึงโศกนาฏกรรมบนปลายด้ามขวานของไทยที่ไม่มีแค่ในเรื่องสั้น เหล่าผู้กล้า ผู้เสียสละ ไม่ว่าครู ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ อาสาสมัครที่ต้องหมดลมหายใจสุดท้ายในหน้าที่ที่จะรักษาความสงบบนปลายด้ามขวาน ความรุนแรงในความเงียบนั้นมีอยู่จริง รัฐไม่รู้จะต่อสู้กับใครหรือกลุ่มไหน แผนนับร้อยแผนถูกนำมาใช้ งบจำนวนมากถูกผลาญไปในการแก้ปัญหา แต่ทว่าปัญหานี้ก็ไม่ได้บรรเทาหรือหายไปจากประเทศไทยแต่อย่างใด
 
มากไปกว่านั้นอ้างอิงสถิติของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ศจฉ.พตท.) พบว่าเหยื่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เจาะจงเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่ผู้คนทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ล้วนมีโอกาสถูกไล่ล่าและตกเป็นเป้าความโหดร้ายทารุณไม่แพ้กัน
 
ท้ายที่สุดแล้ว “ไม่มีแผ่นดินอยู่” อาจไม่ใช่เพียงเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่ยังไม่พรากหายไปจากประเทศไทย ก็พึงได้หวังแต่ว่าประเทศไทยจะกลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยอย่างสันติเหมือนที่เคยผ่านมาหลายสิบปีที่แล้ว และหวังว่าคงจะไม่มีใครเป็นเหยื่อแห่งความไม่สงบบนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกต่อไป
 

เอกสารอ้างอิง

Wassana Nanuam (August 2015). "Engagement of Malaysia and Indonesia on Counterรnsurgency in the South of Thailand" (PDF). Asia Pacific Center for Security Studies. Archived from the original on 29 September 2015. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2560.
"PM vows to seek truth". Bangkok Post. 22 May 2010. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2560.
พรพรรณ วีระปรียากูร. สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2560.
สมอุษา บัวพันธ์ และ FT Media & Friend. ไทยพุทธที่ชายแดนภาคใต้ : การรวมตัวที่เพิ่งเริ่ม. ประชาไท. 8 เมษายน 2557. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2560.
ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย (11 มีนาคม 2556). “ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้นตออยู่ที่ไหน? ดับไฟใต้ด้วยน้ำใจ ไม่ใช่น้ำลายนักการเมือง”. ผู้จัดการออนไลน์ [เข้าถึงได้จาก: www.thaiday.com/iBizchannel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000030043] . สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2560.
“11 ปีไฟใต้...ตายครึ่งหมื่น - ระเบิด 3 พันลูก”. คมชัดลึก. 4 มกราคม 2558. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2560.
 
 
 

บล็อกของ Nisit Review

Nisit Review
ด้วยประสบการณ์ที่ไม่ประทับใจ จากการเรียนรายวิชาบังคับต่างๆ ของคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาต้น จุฬาฯ ได้แก่ วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (INTRO SOC ANTHRO) วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเมืองและการปกครอง (INTRO POL GOV) วิชาตรรกะ เหตุผล และการค้นคว้าทางสังคมศาสตร
Nisit Review
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล สัมภาษณ์ชยางกูร ธรรมอัน และดานิเอล แปล ในยุคที่ถูกขนานนาม “หลังความจริง” (Post-Truth) การมาของโดนัล ทรัมป์ น่าจะเป็นสัญญาณที่ยืนยันว่าเราอยู่ในยุคนี้จริงๆ อย่างไรก็ดี หนึ่งปีภายหลังจากการขึ้นมาสู่อำนาจของเขา การเลือกตั้งระดับรัฐและท้
Nisit Review
ภาพวาดท่านรพินทรนาถ ฐากูร ระบายด้วยสีธรรมชาติ เพื่อประกอบหนังสือ ชาตินิยม ฝีมือของ สุวัลญา ศักดิ์สมบัติ นักศึกษาจิตรกรรม แห่งศานตินิเกตัน ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย ผู้แปลหนังสือ "ชาตินิยม" (Nationalism) ของรพินทรนาถ ฐากูร จะพาไปสำรวจความคิดว่าด้วยช
Nisit Review
The No-Nonsense Guide to Conflict and PeaceEdited by Helen WareNew InternationalistPublished October 1, 2006144 pages  หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อช่วยทำความเข้าใจเ
Nisit Review
ไฟที่ยังลุกลามโหมกระหน่ำปลายด้ามขวานประเทศไทยอย่างต่อเนื่องกว่า 70 ปีที่ผ่านมา ตอกย้ำถึงความรุนแรงที่ยังปะทุร้อยเท่าพันทวีในทุกๆ ปี ความสูญเสีย รอยเลือด และหยาดน้ำตาที่เกิดขึ้น กลายเป็นโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่บนแผ่นดินไทย เกิดเป็นคำถามที่คั่งค้างในใจว่าคนในพื้นที่จะอยู่กันเช่นไร แล้วเหตุใดจึงไม่ย้า
Nisit Review
Blade Runner 2049 (2017)อะไรคือความเป็นมนุษย์? เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในหนังภาคต่อที่น่าจับตามองที่สุดแห่งปี หลังจาก Blade Runner ภาคแรกที่ออกมาในปี 1982 ได้สร้างตำนานหนัง Sci-Fi ผสม Film Noir ก่อให้เกิดแนวทางที่เรียกว่า Cyberpunk อันเป็นเอกลักษณ์จนได้รับการกล่า
Nisit Review
No Enemies, No Hatred: Selected Essays and PoemsBy Liu XiaoboEdited by Perry Link, Tienchi Martin-Liao, Liu XiaForeword by Vaclav HavelHarvard University Press
Nisit Review
จากกรณีปัญหาสภานิสิตมีมติระงับการดำเนินการคัดเลือกกลุ่มตัวแทนนิสิต (CU Coronet) เนื่องจากมีกระบวนการคัดเลือกไม่โปร่งใส (รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ประกาศสภานิสิต) มติดังกล่าวนำไปสู่ปัญหาพิพาทระหว่างฝ่ายกิจการนิสิตแล
Nisit Review
เรื่อง: ณฐ อัฐวุฒิกุล และธีรภัทร อรุณรัตน์ ในวงการวิชาการด้านสังคมศาสตร์ของไทยมีเพียงไม่กี่คนที่มีวัยวุฒิที่มาพร้อมกับประสบการณ์อันโดดเด่น แน่นอนว่าหลาย ๆ คนไม่ได้อยู่ดูพัฒนาการในสังคมไทยต่อ บางคนที่ยังอยู่ถ้าไม่ป่วยไข้เอาการ ก็ป่วยการเมืองไม่กล้าจะพูดอะไรตร