ด้วยประสบการณ์ที่ไม่ประทับใจ จากการเรียนรายวิชาบังคับต่างๆ ของคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาต้น จุฬาฯ ได้แก่ วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (INTRO SOC ANTHRO) วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเมืองและการปกครอง (INTRO POL GOV) วิชาตรรกะ เหตุผล และการค้นคว้าทางสังคมศาสตร์ (LOG REAS SOC INQY) วิชาเศรษฐศาสตร์ 1 (ECONOMICS I) และวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการเรียนรู้ในชีวิตจริง 1 (EXP ENG I) ทำให้เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 2 ต้องการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักสูตรรายวิชาจากนิสิตคนอื่น เพื่อสะท้อนปัญหาและเสนอแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรรายวิชา เนติวิทย์ชวนเพื่อนร่วมคณะ ได้แก่ ชยางกูร ธรรมอัน และเกศกนก วงษาภักดี ให้มาเขียนข้อเสนอดังกล่าว และชวนเพื่อนต่างคณะ คือ ณัฐนันท์ ทองเกื้อสกุล นิสิตคณะครุศาสตร์ชั้นปีที่ 4 ให้ออกแบบแบบสอบถาม เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลจากแบบสอบถาม ซึ่งรายละเอียดการสร้างแบบสอบถาม วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลและผลการวิเคราะห์ข้อมูลจะกล่าวถึงในย่อหน้าถัดไป
เพื่อสะท้อนปัญหาของรายวิชาอย่างรอบด้าน จึงออกแบบแบบสอบถามให้ครอบคลุม 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) หลักสูตรรายวิชา: เนื้อหารายวิชา, 2) หลักสูตรรายวิชา: ความเชื่อมโยงระหว่างรัฐศาสตร์กับศาสตร์อื่น, 3) วิธีการจัดการเรียนการสอนของรายวิชา: รูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน กับวิธีการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์, 4) วิธีการจัดการสอนของรายวิชา: การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในห้องเรียน, และ 5) วิธีการวัดและประเมินผลของรายวิชา และเพื่อให้ได้รับข้อมูลสภาพปัญหาที่หลากหลาย ผู้ออกแบบสอบถามจึงเลือกใช้คำถามปลายเปิดเป็นส่วนใหญ่ โดยแต่ละข้อจะเว้นพื้นที่ว่างจำนวนหนึ่งให้ผู้ตอบแบบสอบถามตอบได้อย่างเสรี
แบบสอบถามนี้ใช้กับนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จำนวน 40 คน หลากหลายตามชั้นปีและสาขาวิชา ผู้เก็บข้อมูลใช้วิธีแจกแบบสอบถาม 2 ช่องทาง ได้แก่ แจกแบบสอบถามด้วยตนเอง และแจกแบบสอบถามออนไลน์
หลังจากรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และประมวลผลข้อมูลที่ได้รับ สามารถสังเกตเห็นปัญหาของแต่ละประเด็น ซึ่งจะสรุปผลการสำรวจเป็น 4 ประเด็นสำคัญ (อ่านข้อสรุปอย่างง่ายจากรูป Infographic) ดังนี้
หลักสูตรรายวิชา: เนื้อหารายวิชา นิสิตมีความเห็นว่าเนื้อหารายวิชาที่ควรปรับปรุง (เพิ่ม/ปรับปรุง/ตัดเนื้อหา) มากที่สุดคือ ECONOMICS Iตามมาด้วย INTRO SOC ANTHRO และ EXP ENG I ตามลำดับ ซึ่งมีนิสิตจำนวนหนึ่งกล่าวว่าวิชา INTRO SOC ANTHRO ควรเพิ่มเนื้อหามานุษยวิทยาให้ใกล้เคียงกับเนื้อหาสังคมวิทยา
และมีนิสิตอีกจำนวนมากกล่าวว่าวิชา ECONOMICS I และ INTRO SOC ANTHRO ควรปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัย เพิ่มหรือปรับปรุงทฤษฎีให้เป็นปัจจุบัน เช่น พฤติกรรมเบี่ยงเบนในปัจจุบัน และลักษณะครอบครัวซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีเพียงครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวผสม เป็นต้น
หลักสูตรรายวิชา: ความเชื่อมโยงระหว่างรัฐศาสตร์กับศาสตร์อื่น นิสิตจำนวนมากถึง 95.0% มีความเห็นว่า “วิชานอกคณะ (เช่น ECONOMICS I, EXP ENG I) ควรมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับรัฐศาสตร์” และจำนวน 75.0% กล่าวว่า “วิชานอกคณะ “จำเป็นต้อง” พัฒนาหลักสูตรรายวิชาให้มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับรัฐศาสตร์ให้มากขึ้น” แต่เมื่อถามถึงสภาพปัจจุบัน นิสิตจำนวน 67.5% กลับระบุว่า “วิชานอกคณะในปัจจุบัน “มีน้อยหรือแทบจะไม่มี” เนื้อหารายวิชาที่เชื่อมโยงกับรัฐศาสตร์” ซึ่งแสดงให้เห็นปัญหาของหลักสูตรซึ่งขาดการออกแบบให้เนื้อหารายวิชามีความเชื่อมโยงกับรัฐศาสตร์ตามที่ผู้เรียนต้องการ อนึ่ง เมื่อถามในมุมกลับว่า “วิชาคณะ (เช่น INTRO SOC ANTHRO, INTRO POL GOV) ควรมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นหรือไม่” ผลก็สอดคล้องกัน กล่าวคือ นิสิตจำนวน 65.0% กล่าวว่า วิชาคณะดังกล่าวควรมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่น
วิธีการจัดการเรียนการสอน: การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชั้นเรียน นิสิตจำนวนมากถึง 97.5% ระบุว่า รายวิชาควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชั้นเรียน นิสิตจำนวน 97.5% กล่าวว่า ตนเองชอบการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนิสิตทั้ง 100.0% กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมีประโยชน์
วิธีการจัดการเรียนการสอน: รูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน กับวิธีการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ นิสิตจำนวนมากถึง 95.0% กล่าวว่า อาจารย์ควรพัฒนาวิธีสอน และวิธีสอนที่นิสิตเสนอมามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) “อัพเดตเนื้อหาให้ทันสมัย” โดยเฉพาะวิชา INTRO SOC ANTHRO ซึ่งมีนิสิตจำนวนมากกล่าวว่า เนื้อหารายวิชานี้มีความล้าสมัย น่าเบื่อ สอนตามหนังสือเกินไป (และหนังสือก็ควรปรับปรุง), 2) “ใช้กรณีตัวอย่าง อธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรม” โดยเฉพาะวิชา ECONOMICS I ซึ่งมีนิสิตจำนวนหนึ่งเสนอว่า ควรสอนให้นิสิตสังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างแง่มุมทางเศรษฐกิจกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือยกตัวอย่างปรากฏการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน เช่น สกุลเงิน Bit Coin, และ 3) “อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชั้นเรียน กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดตาม” โดยเฉพาะวิชา INTRO SOC ANTHRO ซึ่งมีนิสิตคนหนึ่งตั้งข้อสงสัยในความถูกต้องของเนื้อหารายวิชาบางส่วน แต่ไม่มีโอกาสถกเถียงหรืออภิปรายในประเด็นเนื้อหาที่กังขาดังกล่าวกับเพื่อนหรืออาจารย์ระหว่างคาบเรียนได้อนึ่ง เมื่อถามว่านิสิตชอบวิธีสอนแบบใด นิสิตจำนวนมากถึง 72.5% ชอบวิธีสอนแบบอภิปรายกลุ่มย่อย, 60.0% ใช้กรณีตัวอย่าง, 55.0% ใช้เกมหรือกิจกรรม, 47.5% ลงมือปฏิบัติ (Practice), 45.0% ระดมสมอง (Brainstorm), 45.0% ใช้สถานการณ์จำลอง, 40.0% บูรณาการกับศาสตร์อื่น, 40.0%อภิปรายร่วมทั้งห้อง, 35.0% สาธิต (Demonstrate), 27.5% บรรยาย, 17.5% แสดงบทบาทสมมติ, และมีเพียง 7.5% ชอบวิธีแบบโครงการ (Project) เมื่อถามว่า ปัจจุบันอาจารย์มักใช้วิธีสอนแบบใด นิสิตทั้ง 100.0% ระบุว่า อาจารย์ใช้วิธีบรรยาย, 62.5% อภิปรายร่วมทั้งห้อง, 40.0%อภิปรายกลุ่มย่อย, และ 22.5% โครงการ ซึ่งนิสิตจำนวนมากถึง 62.5% มีความเห็นว่า “วิธีสอนปัจจุบันของอาจารย์ไม่เหมาะสมกับเนื้อหารายวิชา”ซึ่งวิชาที่นิสิตกล่าวถึงความไม่เหมาะสมของวิธีสอนมากที่สุดคือ INTRO SOC ANTHRO ตามมาด้วย ECONOMICS I และ EXP ENG I ตามลำดับ
อนึ่ง แบบสอบถามนี้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนไม่มาก ทำให้ความหลากหลายของกลุ่มตัวอย่างอาจยังไม่มากพอ และการใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูลก็มีข้อจำกัดในหลายประการ เช่น ความยาวของแบบสอบถามซึ่งอาจบั่นทอนความกระตือรือร้นของผู้ตอบแบบสอบถาม ความเป็นวัจนภาษาของแบบสอบถามซึ่งด้วยสังคมไทยเป็นสังคมมุขปาฐะ กล่าวคือ เป็นสังคมที่เน้นการสื่อสารด้วยการพูดมากกว่าการเขียน การให้กรอกแบบสอบถามอาจได้ข้อมูลที่น้อยกว่าการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ แต่อย่างไรก็ตาม แบบสอบถามนี้สะท้อนให้เห็นถึง “ความไม่สอดคล้องกัน” ในหลายประเด็น ได้แก่ ความไม่สอดคล้องกันระหว่างรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนกับวิธีการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ ความไม่สอดคล้องกันระหว่างความเชื่อมโยงทางเนื้อหาระหว่างวิชานอกคณะกับรัฐศาสตร์ซึ่งมีน้อยหรือแทบจะไม่มีกับความเห็นของนิสิตว่าวิชานอกคณะจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรรายวิชาให้มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับรัฐศาสตร์มากขึ้น และเห็นถึง “ความจำเป็น” ที่จะต้องปรับปรุงหลักสูตรรายวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชา INTRO SOC ANTHRO กับ ECONOMICS I ซึ่งนิสิตส่วนใหญ่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าสองวิชาดังกล่าวควรปรับปรุงเนื้อหารายวิชาและวิธีการจัดการเรียนการสอน
หลังจากวิเคราะห์และประมวลผลแบบสอบถามทั้งหมด จึงเขียนข้อเสนอแนวทางการพัฒนารายวิชาจำนวน 3 รายวิชา ได้แก่ INTRO SOC ANTHRO, INTRO POL GOV และ ECONOMICS I ซึ่งผู้อ่านสามารถอ่านข้อเสนอดังกล่าวได้จากลิงค์ข้างล่างนี้
ข้อเสนอปรับปรุงรายวิชา ECONOMICS I
จากแบบสอบถามพบว่าเนื้อหารายวิชา ECONOMICS I มีความสอดคล้องกับรายวิชาอื่น ๆ ในคณะรัฐศาสตร์น้อย อีกทั้งยังสามารถนำไปปฏิบัติใช้ควบคู่กับองค์ความรู้เชิงรัฐศาสตร์ได้น้อย และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เช่น หากมีเนื้อหารายวิชาอื่นในคณะที่เสนอแง่มุมเรื่องมิติทางเศรษฐกิจว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม เนื้อหาในรายวิชา ECONOMICS I จะยังไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในเนื้อหารายวิชา ECONOMICS I ประกอบไปด้วยทฤษฎีที่ค่อนข้างเก่า และยังไม่มีการอัปเดตเนื้อหาทฤษฎีให้เป็นปัจจุบันอย่างเช่น ทฤษฎีที่สำคัญในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมปัจจุบันอย่างทฤษฎีเกม ก็ยังมีการกล่าวถึงน้อย หรืออาจไม่มีในเนื้อหารายวิชา อีกทั้งในเนื้อหารายวิชาเองก็ยังเป็นไปในทางการอธิบายผ่านกระบวนการทางคณิตศาสตร์เสียส่วนใหญ่ ซึ่งมีการนำมาเชื่อมโยงกับศาสตร์ทางรัฐศาสตร์น้อย ส่งผลให้มิติในการอภิปรายสภาวการณ์ต่าง ๆ ในสังคมแคบลง
ฉะนั้น ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงรายวิชา ECONOMICS I คือ การปรับปรุงเนื้อหาสาระให้ทันสมัย และเพิ่มความเชื่อมโยงให้เข้ากับศาสตร์ทางรัฐศาสตร์มากขึ้นเพื่อให้นำไปปฏิบัติใช้จริงได้ นอกเหนือจากที่เนื้อหารายวิชาจะเป็นไปในทางเศรษฐศาสตร์ล้วน ๆ อย่างเดียวดังที่เป็นมา ยกตัวอย่างเช่นประมวลรายวิชา International Political Economy (IPE) ของมหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งญี่ปุ่น ที่แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างความสัมพันธ์ของนักคิด อุดมการณ์ทางการเมือง นโยบายของประเทศ และทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เข้าด้วยกัน
ข้อเสนอปรับปรุงรายวิชา INTRO POL GOV
วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับ ความหมาย ความเป็นมา และขอบข่ายของการศึกษารัฐศาสตร์ ซึ่งครอบคลุมถึงแนวคิดหลักของการศึกษาทางรัฐศาสตร์ ระบบราชการ การกำหนดนโยบายสาธารณะ โลกาภิวัฒน์ อุดมการณ์ทางการเมือง เป็นต้น วิชาดังกล่าวเป็นวิชาบังคับคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งนิสิตชั้นปีที่ 1 ต้องลงเรียนในเทอมแรก สอนโดยรองศาสตราจารย์ ดร.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา และรองศาสตราจารย์วันชัย มีชาติ
จากผลการวิจัยพบว่า นิสิตส่วนใหญ่มีความพึงพอใจกับวิชาดังกล่าว เพราะผู้สอนทั้งสอง มีวิธีการสอนที่น่าสนใจ มีการสร้างแรงบัลดาลใจให้กับผู้เรียน แต่เพื่อให้วิชานี้ครบถ้วนและรอบด้านมากขึ้น นิสิตในกลุ่มตัวอย่างจึงมีข้อเสนอดังนี้ 1) ยกกรณีตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว มันจะทำให้เห็นความเชื่อมโยงกับทฤษฎีได้มากขึ้น 2) มีการอภิปรายในห้องเรียน เพราะนิสิตอาจติดอยู่กับการเรียนในระดับโรงเรียน ซึ่งไม่ได้ตั้งคำถามหรือมีการพูดคุยกันมากนัก นอกจากนี้วิชาดังกล่าวยังต้องการทักษะการคิดวิเคราะห์ค่อนข้างมากเพราะด้วยเนื้อหาวิชาเป็นเกี่ยวข้องกับ อำนาจ ผลประโยชน์ และการเมือง หากฟังการบรรยายแล้วคิดตามเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ความรู้อยู่แค่ภายในหนังสือเท่านั้น การอภิปรายในห้องหรือการยกกรณีตัวอย่างจะทำให้ผู้เรียนเกิดการวิเคราะห์และยังทำให้เข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้น
เพื่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ภายในห้องเรียน จึงมีนิสิตในกลุ่มตัวอย่างจำนวนไม่น้อยได้เสนอการทำกิจกรรมสถาการณ์จำลอง(Simulation) โดยผู้เขียนเสนอการจำลองให้นิสิตทุกคนเป็นสส. แบ่งนิสิตออกเป็น 10 กลุ่ม (ตามความเหมาะสมของจำนวนนิสิตเซคใหญ่)มอบประเด็นใดก็ได้ให้แต่ละกลุ่มคิดข้อเสนอหาทางแก้ไข โดยสามารถลอบบี้กันได้ กฎคือแต่ละกลุ่มสามารถสนับสนุนได้จริง ๆ เพียง 1 กลุ่มเท่านั้น ให้เขียนเลขกลุ่มที่เลือกสนับสนุนส่งมาให้ผู้สอนโดยห้ามให้กลุ่มอื่นรู้ กลุ่มใดมีผู้สนับสนุนมากที่สุด กลุ่มนั้นเป็นผู้ชนะ เมื่อแต่ละกลุ่มนำเสนอข้อเสนอเรียบร้อย ให้ผู้สอนเฉลยว่าใครสนับสนุนใครบ้าง และประกาศผู้ชนะ ในกรณีที่มีผู้สนับสนุนเท่ากันหรือผู้สอนประสงค์ให้เกิดการหักมุมเพื่อความน่าสนใจ อาจทำการสร้างสถานการณ์ว่าเกิดรัฐประหาร โดยผู้สอนเลือกนิสิตคนใดก็ได้ในห้องเป็นผู้นำเผด็จการ แล้วถามนิสิตคนนั้นว่าเลือกข้อเสนอกลุ่มใด เพราะอะไร จุดประสงค์ไม่ได้อยู่ที่ว่าข้อเสนอของแต่ละกลุ่มมีลักษณะอย่างไรหรือนิสิตคนดังกล่าวเลือกกลุ่มใด แต่อยู่ที่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การคิดวิเคราะห์ของนิสิตที่เกิดขึ้นภายในกลุ่ม และเกมการเมืองที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ทำกิจกรรม มันเป็นสิ่งที่ทำให้นิสิตมีประสบการณ์และได้สัมผัสถึงกระบวนการทางการเมืองโดยตรง ทฤษฎีจึงไม่ได้เป็นแค่นาม-ธรรมหรือเป็นสิ่งที่แค่ต้องจำเพื่อไปสอบเพียงเท่านั้น
นิสิตชั้นปีที่ 1 ในเทอมแรก เป็นช่วงเวลาของการปรับตัวจากระดับโรงเรียนสู่ระดับมหาลัย นิสิตมีเหตุผลที่เลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ต่างกัน บางคนก็อยากเข้ามาเรียนจริง ๆ บางคนก็ไม่ได้อยากเรียนแต่สอบเข้าได้ นิสิตส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าแท้ที่จริงตนเองชอบรัฐศาสตร์หรือไม่ นั่นก็เพราะพวกเขาอาจจะยังไม่เคยเรียนวิชารัฐศาสตร์มาก่อน ดังนั้นแล้วในเทอมแรกจึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะทำให้นิสิตแต่ละคนค้นพบตนเองว่าชอบเรียนรัฐศาสตร์จริงหรือไม่ ถ้าหากวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเมืองและการปกครองสามารถทำให้นิสิตค้นพบตนเองได้ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งตัวนิสิตที่ได้รู้จักตนเองและคณะรัฐศาสตร์ที่ได้นิสิตซึ่งอยากเรียนจริง ทั้งนี้คงต้องปAnchorระกอบกับปัจจัยของวิชา บังคับนิสิตชั้นปีที่ 1 อื่น ๆ และความชอบของนิสิตด้วย ถึงจะไม่สามารถประกันได้ว่าอัตราการลาออกจะลดลง แต่อย่างน้อยที่สุดก็อาจมีนิสิตค้นพบว่าตนเองชอบเรียนรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
ข้อเสนอปรับปรุงรายวิชา EXP ENG I
จากผลสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่ารายวิชา EXP ENG I ไม่ได้มีเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับรายวิชาของทางคณะรัฐศาสตร์มากนัก อีกทั้งเนื้อหาในรายวิชาโดยเฉพาะด้านการเขียนยังมีรูปแบบที่เฉพาะเจาะจงเกินไป ส่งผลให้ผู้เรียนขาดความคิดสร้างสรรค์ในการเลือกสรรรูปแบบคำตอบที่จะเขียน ตัวรายวิชาเองมีการแยกตอนเรียนให้สังกัดสำหรับแต่ละคณะ แต่การคำนวณคะแนนของรายวิชากลับคิดรวมทั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้แรงจูงใจของผู้เรียนมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันมากกว่าตัวเนื้อหาสาระของรายวิชาเอง
ข้อเสนอปรับปรุงรายวิชา EXP ENG I ประการแรกคือ การแยกคิดคะแนนสำหรับแต่ละคณะ ด้วยการที่หลักสูตรของมหาวิทยาลัยจัดแบ่งให้การเรียนการสอนจัดขึ้นแยกสำหรับแต่ละคณะอยู่แล้ว จึงเป็นการสะดวกที่จะกระทำเช่นนั้น ให้ผลประโยชน์เกิดแก่ตัวนิสิต ประการที่สองคือบูรณะเนื้อหาสาระเสียใหม่ให้เกิดความเชื่อมโยงในทางศาสตร์กับรายวิชาที่เรียนในแต่ละคณะ เนื่องจากข้ออ้างเรื่องการปูพื้นฐานควรจบอยู่ที่การเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาแล้ว
ข้อเสนอปรับปรุงรายวิชา INTRO SOC ANTHRO
จากผลการสำรวจเบื้องต้น วิชาแนะนำสังคมวิทยาเบื้องต้น สอนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ แอดสกุล อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิชาที่ถูกนิสิตชั้นปีที่1 เขียนตอบในแบบสำรวจมากรองจากเศรษฐศาสตร์ที่ขอให้มีการแก้ไข วิชา กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นวิชาโดยตรงของคณะที่ถูกมองว่าต้องปรับปรุงมากที่สุด ความสอดคล้องนี้ยังตรงกับนิสิตชั้นปีที่2 ที่ได้ทำในแบบสอบถามด้วย
นิสิตผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าสิ่งที่ต้องแก้ไขได้แก่ หนังสือเรียนที่มีเนื้อหาเก่าไม่ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ตัวผู้สอนบรรยายตามสไลด์หรือการบรรยายไม่ต่างกับหนังสือเรียนจึงทำให้ไม่เห็นจำเป็นที่จะเข้าเรียนในวิชานี้ก็ได้ จึงมีนัยที่ซ่อนเร้นในการสื่อสาส์นด้วยก็คือ วิชาค่อนข้างน่าเบื่อและไม่กระตุ้นกับการศึกษา
ในอีกส่วนหนึ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามเขียนมาก็คือ วิธีการสอบ เป็นแนวท่องจำมากกว่าการจะช่วยในการทำความเข้าใจ ซึ่งจะทำให้จำได้ในระยะยาว
ในส่วนผู้วิจัย เคยเขียนเปรียบเทียบหนังสือสังคมวิทยาเบื้องต้นซึ่งเป็นผู้เดียวกับอาจารย์ในวิชานี้ กับ หนังสือเรียนของคณะสังคมวิทยา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเห็นได้ว่าเนื้อหาก็ดี หรือส่วนบรรณานุกรมของหนังสือก็ดี ซึ่งช่วยในการเบิกโลกทางความคิดให้ผู้เรียนถือว่าต่างชั้นกันมาก และเนื้อหาหนังสือเรียนของจุฬาฯยังมีข้อมูลที่ผิดหรือเขียนไม่ครบถ้วนด้วย และยังมีการอธิบายบางอย่างที่ล้าสมัยไปแล้ว เช่น เรื่องพฤติกรรมเบี่ยงเบน หรือ ครอบครัวที่ปัจจุบันไม่ได้มีแค่ครอบครัวเดียวและครอบครัวผสม
วิธีการสอบในปีที่ผ่านมานี้กับปีที่แล้วไม่ได้ต่างกันมาก ยังคงยึดถือโพยเป็นหลัก การออกตามเนื้อหาโดยไม่ต้องคิดวิพากษ์ใดๆ และที่น่าขบขันก็คือ การออกข้อสอบเชิงถามว่า อาจารย์ท่านใดสอนวิชามานุษยวิทยาแต่ไม่ได้อยู่ในภาคนั้น คำตอบที่ถูกก็คือ ผู้เขียน ไม่ได้ช่วยอะไรกับผู้เรียนแต่อย่างใด
ปัญหาที่เกิดกับวิชานี้เรื้อรังมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว
แม้กระทั่งผู้เรียนวิชานี้เองในระดับชั้นปีที่สูงขึ้นและรู้สึกรักในวิชานี้ก็ต้องผิดหวังไขว้เขวว่านี่เป็นวิชาที่จะใช่จริงหรือเปล่า จะขอยกสเตตัสทางเฟซบุ๊กของนิสิตภาคสังคมวิทยาท่านหนึ่งมา
“พอเริ่มเข้าปีหนึ่ง เราชอบวิชาของภาคปกครองมากในขณะที่ผิดหวังกับวิชาอินโทรตัวเองเพราะสอนแบบท่องจำเกินไป เรามันคนจำไม่เก่ง”
ไม่ต้องพูดถึงนิสิตภาคอื่น ๆ ที่อาจจะหมดโอกาสเข้าถึงความเป็นเลิศและความสนุกของวิชาสังคมวิทยาไป เพราะรู้สึกกลัวกับการเรียนท่องจำและการจำไปสอบ วิชาชั้นปีที่1 จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการสร้างทัศนคติที่ดีต่อวิชาเรียน
ดังนั้นข้อเสนอเบื้องต้นที่สุดของผู้วิจัยในชั้นนี้ก็คือ
- การใช้ตำราเรียนใหม่ คณะควรจะทบทวนในการเขียนตำราขึ้นมาใหม่ ถ้ายังไม่สามารถเป็นไปได้ในตอนนี้ คู่มือหนังสือที่ดีที่เป็นภาษาไทยก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก หรือหนังสือแนะนำสังคมวิทยาของ Lord Giddens ก็ไม่ยากจนเกินไปในการประกอบวิชา ยังเป็นการช่วยให้เรียนในระดับชั้นสูงขึ้นไปอีกด้วยที่ต้องอาศัยการอ่าน text
- ผู้สอน หากเป็นเซคที่ใหญ่เกินไป ทำให้ผู้สอนไม่สามารถสอนได้เต็มที่ อาจจะมีผู้สอนหลายคน เปลี่ยนเป็นเซคย่อยในลักษณะเดียวกับแนะนำ IR การจะลงวิชา IR นั้นมีเสน่ห์ นั่นก็คือ กิตติศัพท์ของอาจารย์ผู้สอนที่นิสิตพูดถึงแต่ละคนต่างกันไป ดังนั้นเหตุผลการลงก็จะต่างกันไป อีกนัยหนึ่งเป็นการฝึกนิสิตปี1ด้วย ในการได้ลอง “เลือก” แทนที่จะเป็นการบังคับ ดังนั้นนิสิตก็จะได้สัมผัสบรรยากาศของการเรียนในระดับชั้นสูงขึ้นไปที่การ “เลือก” เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีเหตุผลและความรับผิดชอบ
- การเรียนการสอน เนื่องจากผู้วิจัยมีความรู้ที่จำกัด แต่เราจะเห็นได้ว่าชื่อวิชาไม่ได้เน้น “มานุษยวิทยา” เท่าไหร่นัก และ “สังคมวิทยา” ก็ในลักษณะเชิงท่องจำเท่านั้น ถ้าหากเป็นการอ่านดังที่เสนอในข้อ 1 การลงพื้นที่และทำรายงานน่าจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้นิสิตมีความเข้าใจมากขึ้น รวมถึงต้องเพิ่มเนื้อหามานุษยวิทยาที่ในต่างประเทศถือว่าแยกสาขาออกไปด้วยให้เท่ากับปริมาณของสังคมวิทยาในปัจจุบัน
- การสอบ ต้องเลิกการออกข้อสอบแบบท่องจำชื่อโดยใช่เหตุ เช่น จำนง อดิวัฒนสิทธิ์ เขียนว่าอะไร พัทยา สายหูบอกว่าพระพรหมสร้างชนชั้น หรือศิริรัตน์ แอดสกุล เป็นผู้สอนในภาควิชาสังคมวิทยาที่สอนมานุษยวิทยาเบื้องต้นด้วย การจำชื่อไม่ใช่ว่าไม่มีประโยชน์แต่การจำอย่างพอดีและมีประโยชน์ในการต่อยอดน่าจะมีความหมายมากกว่า เช่น ถ้าให้ทำเป็นรายงานที่นิสิตต้องไปอ้างงานของเดไคร์มหรือมีดมาประกอบในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม (social facts) ย่อมทำให้เกิดความสนใจที่จะสังเกต และหาคำอธิบายที่ยั่งยืนกว่าการจำชื่อ
บล็อกของ Nisit Review
Nisit Review
ด้วยประสบการณ์ที่ไม่ประทับใจ จากการเรียนรายวิชาบังคับต่างๆ ของคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาต้น จุฬาฯ ได้แก่ วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (INTRO SOC ANTHRO) วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเมืองและการปกครอง (INTRO POL GOV) วิชาตรรกะ เหตุผล และการค้นคว้าทางสังคมศาสตร
Nisit Review
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล สัมภาษณ์ชยางกูร ธรรมอัน และดานิเอล แปล ในยุคที่ถูกขนานนาม “หลังความจริง” (Post-Truth) การมาของโดนัล ทรัมป์ น่าจะเป็นสัญญาณที่ยืนยันว่าเราอยู่ในยุคนี้จริงๆ อย่างไรก็ดี หนึ่งปีภายหลังจากการขึ้นมาสู่อำนาจของเขา การเลือกตั้งระดับรัฐและท้
Nisit Review
ภาพวาดท่านรพินทรนาถ ฐากูร ระบายด้วยสีธรรมชาติ เพื่อประกอบหนังสือ ชาตินิยม ฝีมือของ สุวัลญา ศักดิ์สมบัติ นักศึกษาจิตรกรรม แห่งศานตินิเกตัน ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย ผู้แปลหนังสือ "ชาตินิยม" (Nationalism) ของรพินทรนาถ ฐากูร จะพาไปสำรวจความคิดว่าด้วยช
Nisit Review
The No-Nonsense Guide to Conflict and PeaceEdited by Helen WareNew InternationalistPublished October 1, 2006144 pages หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อช่วยทำความเข้าใจเ
Nisit Review
ไฟที่ยังลุกลามโหมกระหน่ำปลายด้ามขวานประเทศไทยอย่างต่อเนื่องกว่า 70 ปีที่ผ่านมา ตอกย้ำถึงความรุนแรงที่ยังปะทุร้อยเท่าพันทวีในทุกๆ ปี ความสูญเสีย รอยเลือด และหยาดน้ำตาที่เกิดขึ้น กลายเป็นโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่บนแผ่นดินไทย เกิดเป็นคำถามที่คั่งค้างในใจว่าคนในพื้นที่จะอยู่กันเช่นไร แล้วเหตุใดจึงไม่ย้า
Nisit Review
Blade Runner 2049 (2017)อะไรคือความเป็นมนุษย์? เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในหนังภาคต่อที่น่าจับตามองที่สุดแห่งปี หลังจาก Blade Runner ภาคแรกที่ออกมาในปี 1982 ได้สร้างตำนานหนัง Sci-Fi ผสม Film Noir ก่อให้เกิดแนวทางที่เรียกว่า Cyberpunk อันเป็นเอกลักษณ์จนได้รับการกล่า
Nisit Review
No Enemies, No Hatred: Selected Essays and PoemsBy Liu XiaoboEdited by Perry Link, Tienchi Martin-Liao, Liu XiaForeword by Vaclav HavelHarvard University Press
Nisit Review
จากกรณีปัญหาสภานิสิตมีมติระงับการดำเนินการคัดเลือกกลุ่มตัวแทนนิสิต (CU Coronet) เนื่องจากมีกระบวนการคัดเลือกไม่โปร่งใส (รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ประกาศสภานิสิต) มติดังกล่าวนำไปสู่ปัญหาพิพาทระหว่างฝ่ายกิจการนิสิตแล
Nisit Review
เรื่อง: ณฐ อัฐวุฒิกุล และธีรภัทร อรุณรัตน์ ในวงการวิชาการด้านสังคมศาสตร์ของไทยมีเพียงไม่กี่คนที่มีวัยวุฒิที่มาพร้อมกับประสบการณ์อันโดดเด่น แน่นอนว่าหลาย ๆ คนไม่ได้อยู่ดูพัฒนาการในสังคมไทยต่อ บางคนที่ยังอยู่ถ้าไม่ป่วยไข้เอาการ ก็ป่วยการเมืองไม่กล้าจะพูดอะไรตร